Skip to main content
sharethis

มติชาวบ้านสะเอียบไม่เอาทั้งเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ประกาศเขตห้ามเจ้าหน้าที่และหน่วยงานเข้าสำรวจชุมชน พร้อมตั้งทีมลูกหลาน คนรุ่นใหม่ เสริมทัพ คัดค้านจนถึงที่สุด

 
 
เช้าวันที่ 6 ก.ย.55 ที่วัดดอนชัย ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ชาวบ้านกว่า 1,000 คน จาก 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านดอนชัย บ้านดอนชัยสักทอง บ้านดอนแก้ว บ้านแม่เต้น ได้ร่วมประชุมหารือกันเกี่ยวกับเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้น ตามที่รัฐบาลได้กำหนดโครงการไว้ในกรอบแผนงานการบริหารจัดการลุ่มน้ำ มูลค่า 3.5 แสนล้านบาท และมีมติให้คัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้นจนถึงที่สุด รวมทั้งเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ระบุจะไล่ไปให้ไกลจากชุมชนและป่าสักทอง พร้อมประกาศเขตห้ามเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าสำรวจชุมชน
 
 
จากการต่อสู้คัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้นของคนสะเอียบ มากว่า 20 ปี วันนี้รัฐบาลอ้างน้ำท่วมกรุงเทพฯ แล้วรื้อฟื้นเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมาอีกครั้ง ชาวสะเอียบเห็นว่าไม่เป็นธรรมต่อชาวบ้าน และที่ผ่านมามีผลการศึกษาของ องค์การอาหารและการเกษตรโลก ระบุเขื่อนแก่งเสือเต้น สามารถ เยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้ เพียง 8 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้ข้อสรุปว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน
 
ขณะที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สรุปว่าหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะกระทบต่อระบบนิเวศน์ของอุทยานแห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปว่า พื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นทั้งอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติ ดังนั้น ควรเก็บรักษาไว้ เพื่ออนาคตของประชาชนไทยทั้งประเทศ
 
นอกจากนี้ ข้อมูลของกรมทรัพยากรธรณียังระบุว่า บริเวณที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ตั้งอยู่แนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก คือ รอยเลื่อนแม่ยม รอยเลื่อนแพร่ ซึ่งยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งชาวบ้านให้ความเห็นว่าเป็นการเสี่ยงมากที่จะสร้างเขื่อนใกล้กับรอยเลื่อนของเปลือกโลก เสมือนหนึ่งเป็นการวางระเบิดบนหลังคาบ้านของคนเมืองแพร่
 
 
กำนันเส็ง ขวัญยืน กำนันตำบลสะเอียบ แกนนำการคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น ให้ความเห็นว่ารัฐบาลควรจะฟังเหตุผลของประชาชนบ้าง
 
"ผลการศึกษาของนักวิชาการก็ได้ข้อสรุปแล้วว่าไม่ควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น แก้น้ำท่วมก็ไม่ได้ แก้น้ำแล้งก็ไม่ได้ ผลาญป่าอีกหกหมื่นห้าพันไร่ รัฐบาลกลับรื้อฟื้นขึ้นมาอีก อย่างนี้จะไม่ให้ชาวบ้านเขาประณามได้อย่างไร" กำนันเส็งกล่าว  
 
"เราเกิดที่นี้โตมากับที่นี้อายุจนปูนนี้แล้ว ตายก็ให้มันตายที่นี้ เราต้องต่อสู้ให้ถึงที่สุด เราสู้กันมายี่สิบกว่าปีแล้ว เราจะไม่ยอมอพยพย้ายไปไหน ขอให้ลูกหลานเราร่วมแรงร่วมใจสู้ให้ถึงที่สุด"นายจื่น สะเอียบคง ชาวบ้านดอนชัยสักทอง วัย 85 ปีกล่าว
 
ส่วนนางสาวชนิดา ขันทะรักษ์ ตัวแทนเยาวชนคนรุ่นใหม่ กล่าวว่า เกิดมาพอจำความได้ก็รับรู้แล้วว่าพ่อแม่ได้ต่อสู้เขื่อนแก่งเสือเต้นมาโดยตลอดมาถึงวันนี้จะยอมเขาได้ยังไง ลูกหลานโตขึ้นมาก็จะต่อสู้ สืบสานเจตนาต่อไป โดยเราจะไม่ให้มีการสร้างเขื่อนใดๆ
 
"เราไม่ยอมให้สร้างสักเขื่อนไม่ว่าจะเป็นเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน ยมล่าง ก็กระทบกับเรา ถ้าเราไม่มีที่ทำกินแล้วเราจะเอาเงินที่ไหนส่งลูกเรียน ขอให้เขาไปสร้างที่อื่นเถอะ" นายสัน แสนอุ้ม อายุ 55 ปี ชาวบ้าน ม.6 บ้านดอนแก้ว ให้ความเห็น
 
นายเล็ก สมวงค์อิน อายุ 65 ปี ชาวบ้านบ้านแม่เต้น กล่าวว่า “หน้าทำเนียบเราก็ไปนอนมาแล้ว 99 วัน เราสู้มาถึงขนาดนี้แล้ว จะยอมง่ายๆ ได้อย่างไง ถ้ายืนยันว่าเราไม่เอา เราต้องต่อสู้ร่วมกันนะพี่น้อง เราเก็บเงินสู้กันมาโดยตลอด หมดเงินไปหลายล้านแล้ว เวลาเก็บเงินไปสู้เขื่อนก็อย่าบ่น งานนี้ต้องเสียสละเพื่อบ้านของเรา"
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในตอนท้ายของการประชุม กรรมการหมู่บ้านได้ขอมติชาวบ้านที่มาร่วมประชุมกันโดยการยกมือ ซึ่งชาวบ้านทั้งหมดยกมือมีมติให้คัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน ยมล่าง ทุกคน โดยไม่มีใครเห็นด้วยแม้แต่คนเดียว
 
 
อนึ่ง ก่อนหน้านี้คณะกรรมการชาวบ้านกลุ่มราษฎรรักษ์ป่าเคยได้เสนอทางออกทางเลือกในการแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมโดยได้ยืนข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อครั้งการประชุม ครม สัญจรครั้งที่ผ่านมาที่เชียงใหม่ เนื้อหาข้อเสนอมีทั้งหมด 8 ข้อ อาทิ 1.การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การฟื้นฟูป่าไม้ การอนุรักษ์ป่า การปลูกป่าเสริม การปกป้อง พิทักษ์ รักษา และการจัดการป่า โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่จะฟื้นฟูเสถียรภาพของระบบนิเวศน์ ให้กลับคืนมาสู่สมดุล อย่างยั่งยืน2.การฟื้นฟูและพัฒนาระบบเหมืองฝาย ตามแนวทางการจัดการน้ำชุมชน
 
3.การพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก ตามลำน้ำสาขา ทั้ง 77 ลำน้ำสาขา จะกักเก็บน้ำได้มากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า โดยยังกระทบต่อชุมชนและป่าไม้น้อยกว่าอีกด้วย 4.การขุดลอกตะกอนแม่น้ำ การฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำยม การขุดลอกคูคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำกับหนองบึง การยกถนนให้สูงขึ้น หรือเจาะถนนไม่ให้กีดขวางทางน้ำ การสร้างบ้านเรือนให้อย่างน้อยชั้นล่างสุดต้องสูงกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุด
 
5.การพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ หนึ่งตำบล หนึ่งแหล่งกักเก็บน้ำ หนึ่งชุมชน หนึ่งแหล่งกักเก็บน้ำ จะกระจายแหล่งน้ำทั่วทุกชุมชน และทุกชุมชนจะได้ประโยชน์ทั่วหน้า 6.การแนะนำให้เกษตรกรการปลูกพืชอายุสั้น พันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การกำหนดให้เป็นเขตเสี่ยงภัยจากน้ำท่วม 7.การหยุดยั้งการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ขวางทางน้ำในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำยม การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้เหมาะสม
 
8.การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กสามารถดำเนินการได้โดยการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กตามแผนการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กของกรมการปกครอง
 
อีกทั้งยังมีทางเลือกในการจัดการน้ำที่ดำเนินการศึกษาโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก เสนอโครงการแก้ไขปัญหาภัยน้ำท่วมแบบเบ็ดเสร็จ 19 แบบ คือ 1.ปลูกป่าป้องกันน้ำท่วม 2.เกษตรแนวระดับป้องกันน้ำท่วม 3.อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรของชุมชน 4.ป้องกันไฟและแนวซับน้ำ 5.พื้นที่กักเก็บน้ำเพื่อป้องกันภัยน้ำท่วมบนที่สูง 6.คลองเฉลิมพระเกียรติป้องกันน้ำท่วมฉับพลัน
 
7.ชลประทานแนวระดับป้องกันน้ำท่วม 8.ศูนย์อพยพเพื่อบรรเทาภัยน้ำท่วมหมู่บ้าน 9.ตุ่มน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม 10.ถนนเฉลิมพระเกียรติป้องกันน้ำท่วม 11.สะพานและทางระบายน้ำเฉลิมพระเกียรติ 12.อ่างเก็บน้ำหน้าเมืองเพื่อป้องกันน้ำท่วม 13.แนวคันดินป้องกันเมืองเพื่อป้องกันน้ำท่วม 14.พื้นที่กักเก็บน้ำชั่วคราวป้องกันน้ำท่วม
 
15.ฝายพิเศษป้องภัยน้ำท่วม 16.ระบบเตือนภัยธรรมชาติสู่ภูมิภาค 17.โครงการศึกษาเพื่อการป้องภัยธรรมชาติ 18.ความร่วมมือกองทัพบกในการขุดคลอง คู อ่างเก็บน้ำ แนวคันดิน 19.ความร่วมมือตำรวจตระเวนชายแดน ให้ความรู้แก่ประชาชน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net