Skip to main content
sharethis

ชี้ทหารพม่ายังอยู่ในรัฐฉานถึง 180 กองพัน คิดเป็น 1 ใน 4 ของกำลังพลทั้งหมด เสนอจะสร้างสันติภาพแท้จริงต้องถอนทหารออกจากพื้นที่สู้รบในรัฐฉาน ให้ประชาสังคมมีบทบาทในการสร้างสันติภาพ พร้อมแก้ไขโครงสร้างทางการเมืองซึ่งเป็นอุปสรรคต่อสังคมและเศรษฐกิจของรัฐฉาน 

หมายเหตุ: เมื่อวันที่ 4-5 มิ.ย. ที่ผ่านมา องค์กรประชาสังคมในรัฐฉานพื้นที่ต่างๆ 16 องค์กร ได้จัดประชุมถึงสถานการณ์ปัจจุบันในรัฐฉาน โดยมีข้อเสนอปรากฏเป็นแถลงการณ์ร่วม โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

แถลงการณ์ร่วมองค์กรชุมชนรัฐฉาน ประเทศพม่า
กรณีสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันและกระบวนการสันติภาพ

12 มิถุนายน 2555

ระหว่างวันที่ 4-5 มิถุนายนที่ผ่านมา ประชาชนจากองค์กรชุมชนต่างๆ จากทางเหนือ ใต้ ตะวันออก และตอนกลางของรัฐฉาน อาทิ องค์กรด้านสตรี เยาวชน สิ่งแวดล้อม พัฒนาชุมชน สื่อ สุขภาพ การศึกษา วรรณกรรมและวัฒนธรรม แรงงาน ตลอดจนพระสงฆ์และชาวนา ได้มีเวทีเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองปัจจุบันในรัฐฉาน โดยเฉพาะกระบวนการเจรจาสันติภาพที่มีการดำเนินการอยู่ในขณะนี้

ข้อห่วงใยของผู้เข้าร่วมมีดังนี้

1. ชีวิตประจำวันของชุมชนยังคงตกอยู่ในความหวาดกลัวอันเนื่องมาจากการขยายกำลังกองทัพพม่าเข้ามาในพื้นที่รัฐฉาน ซึ่งปัจจุบันมีฐานอยู่ถึง 180 กองพัน นับเป็นส่วนหนึ่งส่วนสี่ของกองทัพพม่า โดยมีการสร้างกองทัพภาคแห่งที่ 12 ในรัฐฉานในช่วงการเลือกตั้งปี 2554 ที่ผ่านมา และถึงแม้มีการทำสัญญาหยุดยิงในรัฐฉาน ยังคงมีการสู้รบในหลายพื้นที่ในรัฐฉาน และการมุ่งทำร้ายประชาชน ละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐฉานอย่างต่อเนื่องแต่กลับไม่มีการลงโทษ

2. การเลือกตั้งเมื่อปี 2010 และการสร้าง “ประชาธิปไตย” ไม่ได้ยกระดับชีวิตของประชาชนในรัฐฉานให้ดีขึ้น เนื่องจากรัฐธรรมนูญทหารฉบับปี 2008 ยกให้กองทัพอยู่เหนือกฎหมาย ผู้แทนจากพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งไม่มีอำนาจในการหยุดยั้งการกระทำผิดของของทัพ หรือปกป้องสิทธิของชุมชนท้องถิ่น

3. การเจรจาหยุดยิงกับกองกำลังกลุ่มต่างๆ ในรัฐฉานยังไม่บรรลุไปถึงขั้นที่เป็นการเจรจาทางการเมืองที่จะหยิบยกประเด็นที่เป็นรากเหง้าของโครงสร้างปัญหาความขัดแย้งขึ้นมาหารือ โดยเฉพาะประเด็นการขาดสิทธิของประชาชนชาติพันธุ์และกองทัพที่มีอำนาจครอบงำอย่างต่อเนื่อง การนำประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาเจรจาเป็นทางเดียวที่จะนำไปสู่สันติภาพอย่างยั่งยืน

4. ปัญหาการเมืองเชิงโครงสร้างกำลังส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจในรัฐฉาน โดยเฉพาะประเด็นสำคัญที่สุด คือ ภาคเกษตรกรรม เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่คือชาวนาชาวไร่ ปัญหาหลักที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในรัฐฉานคือ กองทัพพม่าที่ตั้งกองกำลังกระจายอยู่ และรัฐบาลในระดับรัฐที่ไร้ซึ่งอำนาจในการปกป้องชาวนา ที่ดิน และเสรีภาพในการทำไร่ทำนา นอกจากนี้ การกระบวนการหยุดยิงกับกองกำลังกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ที่มี “การพัฒนา” อาทิ การลงทุนขนาดใหญ่ ก่อนที่ปัญญาการเมืองจะได้รับการแก้ไขนั้น จะยิ่งสร้างความเสียหายให้แก่ภาคเกษตรกรรม ทั้งนี้เพราะการลงทุนโดยปราศจากนโยบายปกป้องผลกระทบของชุมชน ที่จะรับรองว่าชุมชน ต้องยอมรับโครงการอย่างเสรีและมีการแจ้งข้อมูลให้ชุมชนทราบล่วงหน้า ตลอดจนปกป้องวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ทำให้ชาวบ้านสูญเสียที่ดินให้แก่ โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ อาทิ โครงการท่อส่งน้ำมันและก๊าซ เขื่อนผลิตไฟฟ้า เหมืองแร่ และอุตสาหกรรมขาดใหญ่อื่นๆ การลงทุนที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้จะยิ่งโหมความขัดแย้งให้รุนแรงยิ่งขึ้น

5. วิกฤติยาเสพติดทั้งการผลิตและเสพในรัฐฉานมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับกองกำลังทหารพม่าที่อยู่ในรัฐฉานและเจ้าหน้าที่ระดับรัฐที่ไร้อำนาจ

6. โครงสร้างรัฐบาลระดับรัฐในปัจจุบันอ่อนแอ ไม่สามารถผลักดันสิทธิในภาษาชาติพันธุ์และวัฒนธรรม เพื่อให้นำมาสอนในโรงเรียนในรัฐฉานได้

7. ความพยายามของนานาชาติที่จะสนับสนุนกระบวนการสันติภาพในพม่านั้นเป็นสิ่งน่ายินดี แต่ก็มีเป้าหมายหลักเพื่อกดดันกลุ่มชาติพันธุ์ให้อยู่ภายใต้อำนาจรัฐธรรมนูญ ทหารฉบับปี 2008 ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่ยกให้กองทัพอยู่เหนือกฎหมาย และปฏิเสธสิทธิความเท่าเทียมของประชาชนชาติพันธุ์นั้น นับว่าเป็นหัวใจสำคัญของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ความพยายามกดดันกลุ่มชาติพันธุ์ให้อยู่ภายใต้อำนาจรัฐธรรมนูญดังกล่าว ยิ่งเป็นการขยายเวลาของความขัดแย้งให้ยาวนานยิ่งขึ้น

8. ในขณะที่ทหารกองทัพพม่ายังคงละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยไม่มีการลงโทษใดๆ จึงไม่ปลอดภัยหากผู้พลัดถิ่นภายในประเทศและผู้ลี้ภัยตามชายแดนจะกลับไปยังบ้านเดิมในรัฐฉาน

9. กองทัพพม่าที่กระจายกำลังมากมายในรัฐฉานซึ่งปฏิเสธที่จะถอนกำลังนับตั้งแต่เริ่มการเจรจาหยุดยิง เป็นปัจจัยสำคัญที่ขัดขวางไม่ให้ชุมชนและภาคประชาสังคมในรัฐฉานมีส่วนร่วมในกระบวนการปรองดอง ด้วยเหตุนี้ การเจรจาสันติภาพจึงกลายเป็นเรื่องระหว่างกองทัพเท่านั้น แต่ทั้งนี้ สันติภาพที่แท้จริงและยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อชุมชนและภาคประชาสังคมมีบทบาทนำกระบวนการนี้

 

เราจึงมีข้อเสนอต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการสันติภาพ ดังนี้

1. รัฐธรรมนูญปี 2008 เป็นอุปสรรคหลักของการแก้ไขปัญหาสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบันของรัฐฉาน ซึ่งจะทำได้ด้วยการแก้ไขโครงสร้างทางการเมืองโดยการเจรจาทางการเมืองและการมีส่วนร่วมของพรรคการเมือง กองกำลัง และภาคประชาสังคม

2. กองทัพพม่าต้องลดจำนวนทหารในรัฐฉาน และถอนกำลังออกจากพื้นที่การสู้รบต่างๆในรัฐฉาน และอนุญาต ให้ประชาสังคมในรัฐฉานมีบทบาทนำกระบวนการสันติภาพ เพื่อสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนบนแผ่นดินของเรา

3. รัฐบาลและองค์กรทุนจากต่างประเทศที่ต้องการสนับสนุนกระบวนการสันติภาพควรมีความเป็นกลาง และไม่ควรใช้ทุนเป็นเงื่อนไขกดดันให้กลุ่มชาติพันธุ์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2008 การตัดสินใจในเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมต้องมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชน และความช่วยเหลือควรส่งตรงไปยังชุมชน

4. สำหรับโครงการขนาดใหญ่ที่ดึงใช้ทรัพยากรธรรมชาติในรัฐฉานมาใช้ในปัจจุบัน รัฐบาลพม่าและนักลงทุนต่างชาติต้องระงับโครงการเหล่านี้โดยทันที รวมทั้งโครงการท่อก๊าซและน้ำมัน โครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้า การทำเหมือง และการทำไม้ โครงการพัฒนาเหล่านี้จะนำมาพิจารณาอีกได้ก็ต่อเมื่อความขัดแย้งทางการเมืองได้จบลงอย่างแท้จริง และนโยบายป้องกันผลกระทบต่อชุมชนมีการบังคับใช้

ร่วมลงนามโดย

1. เครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่
2. องค์กรสิ่งแวดล้อมไทใหญ่
3. กลุ่มตัวแทนชาวไร่ชาวนาจากรัฐฉาน
4. กลุ่มตัวแทนเยาวชนจากรัฐฉาน
5. คณะกรรมการสุขภาพไทใหญ่
6. คณะกรรมการ การศึกษาไทใหญ่
7. มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่
8. พลังเยาวชนไทใหญ่
9. กลุ่มเยาวชนเพื่อสันติภาพ
10. กลุ่มแรงงานสามัคคี
11. กลุ่ม ดิน หมอก ใหม่
12. เครือข่าย เยาวชนไทใหญ่
13. ตัวแทนค่ายผู้ลี้ภัย บ้านกุงจ่อ
14. คณะกรรมการ องค์กรพัฒนาและช่วยเหลือ ไทใหญ่ (Shan Relief and Development Committee)
15. องค์กรแห่งรัฐฉาน
16. สหพันธ์คนงานข้ามชาติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net