“ผู้คน วิถีชีวิต มุมมองศักดิ์สิทธิ์ในโลกตะวันออก” มุมมองชีวิตผ่านเลนส์กล้อง ของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

 
 
หน้างานนิทรรศการที่สถาบันปรีดีฯ มีภาพของเสกสรรค์ตั้งแต่วัยหนุ่ม
 
สุชาติ สวัสดิศรี กล่าวเปิดงานนิทรรศการภาพถ่าย
 
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล (ซ้าย) และ สุชาติ สวัสดิศรี (ขวา) ขณะเดินชมภาพถ่าย
 
 
แสงดาว ศรัทธามั่น อ่านบทกวีให้แก่ เสกสรรค์
 
 
“ผู้คน วิถีชีวิต มุมมองศักดิ์สิทธิ์ในโลกตะวันออก” ประสบการณ์ 60 ปี ผ่านเลนส์กล้อง
 
หลายคนคงรู้จักนามของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในฐานะนักศึกษากิจกรรมยุค 14 ตุลาฯ หรือในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอาจจะมีบ้างที่รู้จักตัวตนของเขา มุมมองต่อสังคมต่อชีวิตของเขาผ่านหนังสือหลายเล่ม เช่น “มหาวิทยาลัยชีวิต” , “ผ่านพบไม่ผูกพัน” หรือ “บุตรธิดาแห่งดวงดาว” ฯลฯ
 
แต่ขณะเดียวกันชายผู้เพิ่งล่วงสู่วัย 60 ผู้นี้ นอกจากจะเลือกปั้นแต่งทัศนะด้วยศิลปะแห่งถ้อยคำอย่างงานวรรณกรรมแล้ว เขายังได้เลือกจะมองโลกผ่านเลนส์กล้อง และสะท้อนมุมมองผ่านศิลปะการถ่ายภาพด้วย
 
ตั้งแต่ช่วงบ่ายไปจนถึงยามค่ำของวันที่ 14 พ.ย. เหล่าเพื่อนพ้องน้องพี่ ทั้งศิลปินและผู้ชื่นชมในผลงานต่างพากันมาร่วมงานเปิดนิทรรศการภาพถ่ายของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ซึ่งจัดโดยสำนักพิมพ์สามัญชน ในชื่อ “ผู้คน วิถีชีวิต มุมมองศักดิ์สิทธิ์ในโลกตะวันออก” หรือ Eastern Corner ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์
 
เสกสรรค์ กล่าวขณะเดินชมภาพถ่ายพร้อมกับสื่อมวลชนว่า มันเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดบางมิติที่ลึกซึ้งของชีวิต ผ่านประสบการณ์การมองโลกของเขามากว่า 60 ปี เขายังบอกอีกว่าอาจมีงานเปิดตัวหนังสือรวมภาพถ่ายของเองในอนาคต
 
 
สุชาติ สวัสดิ์ศรี : เสกสรรค์ในในแง่ของผู้สร้างงานศิลปะ
 
สุชาติ สวัสดิ์ศรี นักเขียนและบรรณาธิการเจ้าของคอลัมน์สิงห์สนามหลวง ออกตัวว่าเขากับเสกสรรค์ เป็นคนที่มองกันได้อย่างเต็มตา กล่าวคือเป็นคนประเภทใกล้เคียงกัน
 
ซึ่งนอกจากสุชาติ จะคร่ำหวอดอยู่ในวงการวรรณกรรมในฐานะบรรณาธิการช่อการะเกดแล้ว ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาเขายังได้จัดแสดงผลงานภาพเขียนจิตรกรรมด้วย และในความเป็นผู้ที่ “มองกันได้อย่างเต็มตา” สุชาติ จึงได้กล่าวในช่วงเปิดงานว่า เขาเข้าใจความปรารถนาของเสกสรรค์เรื่องที่อยากทำงานศิลปะ แต่ก็ถูกกดทับไว้ด้วยสถานการณ์บางอย่างในอดีต
 
“แต่พอเวลาเปลี่ยน คนก็เปลี่ยน อย่างที่บอก” สุชาติกล่าวในขณะเปิดงาน โดยเขาได้กล่าวถึงงานภาพถ่ายของเสกสรรค์ว่า เหมือนเครื่องมือที่แสดงให้เห็นปรัชญาแนวคิดของเสกสรรค์เอง
 
“ผมเห็นภาพถ่ายของคุณเสกสรรค์แล้วผมรู้สึกว่า ภาพถ่ายนั้นเป็นมุมมองพิเศษ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือบางอย่างของเสกสรรค์ที่จะพยายามทำให้สิ่งที่เรียกว่าปรัชญาของเขา อุดมคติของเขา วิถีของเขา วิธีปฏิบัติของเขานั้น มาปรากฏในภาพ”
 
“มันก็เป็นสื่ออันหนึงเหมือนเวลาที่เราเขียนหนังสือ หรือแสดงออกซึ่งชั้นเชิงในงานศิลปะ” สุชาติกล่าว
 
ซึ่ง บก. ช่อการะเกด พูดในพิธีเปิดอีกว่างานศิลปะเป็นสิ่งที่วางอยู่ในที่ซ่อน เป็นหน้าที่ซึ่งผู้เสพย์ต้องไปค้นหาความหมายเอง ไม่มีสูตรสำเร็จ
 
“อย่างน้อยภาพถ่ายมันก็ได้บันทึกสิ่งที่เรียกว่าความเป็นเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในแง่คนทำงานศิลปะ” สุชาติกล่าว เขาขอใช้คำว่า ‘คนทำงานศิลปะ’ แทนคำว่า ‘ศิลปิน’ เพราะคำนี้ถูกใช้กันเกลื่อนจนความหมายถูกลดทอนไปแล้ว
 
 
สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย : นักอุดมคติ คนจริง และความหวังต่อคนรุ่นใหม่
 
ประชาไท ยังมีโอกาสได้พูดคุยกับสินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย ผู้จัดการสถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยในอดีตเขาเคยเป็นผู้ประสานงานและสมาชิกแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทยในปี 2518 และเคยดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปะมาหลากหลาย ทั้งยังมีผลงานดนตรีและทัศนศิลป์มาจนถึงปัจจุบัน
 
สินธุ์สวัสดิ์ มีโอกาสพบเจอและร่วมงานกับเสกสรรค์ มาก่อน เขาบอกว่าเสกสรรค์เป็นคนมีลักษณะเฉพาะตัว และมีความเด่นเมื่อเทียบกับคนอื่น ๆ อีกทั้งยังชื่นชมเขาในแง่ความเป็นคนที่เคารพและแสดงออกอย่างซื่อสัตย์ต่อความคิดของตนเอง
 
ซึ่งสิทธุ์สวัสดิ์ ได้แสดงทัศนะต่อตัวตนของเสกสรรค์ ผ่านประสบการณ์ส่วนตัวและผลงานภาพถ่ายของเขา ขณะเดียวกันก็ได้แสดงทัศนะต่อโลกปัจจุบัน ที่แม้ว่าจะไม่เอื้อต่อการสร้าง “นักอุดมคติ” เช่นในอดีต แต่ก็ยังคงมีความหวังกับการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ในอีกแบบ ที่ไม่ต้อง “ก็อปปี้” คนในอดีต
 
 
……………………
 
1.) คุณสินธุ์สวัสดิ์ มีความรู้สึกอย่างไรบ้างกับงานภาพถ่ายของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในครั้งนี้ ได้เห็นตัวตนใหม่ ๆ ของ คุณเสกสรรค์ในงานครั้งนี้บ้างหรือไม่?
งานภาพถ่ายชุดนี้ก็สะท้อนตัวของเสกสรรค์ในเวลานี้ สะท้อนความคิดของเขาที่ตกผลึก ในแง่ของการเมือง สังคม การใช้ชีวิต การมองภายในตัวตนของตัวเอง ซึ่งพักหลัง ๆ นี้เขามุ่งกลับไปหาความรู้พื้นฐานคือเรื่องของพระพุทธศาสนา และเขาก็สามารถสกัดเอาเปลือกให้เหลือแก่นได้ในบางประเด็น เหมือนเป็นหลักไมล์ของเขา ในการที่เขาเจออะไร เขาพบเห็นอะไร และเขาจะเลือกมานำเสนออย่างไร อาจจะมีสิ่งที่เขาสะสมเอาไว้มากมายก่อนที่จะมาถึงในช่วงเวลาทุกวันนี้ แต่สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เขาเลือกไว้แล้ว ว่าจะให้ปรากฏแก่สาธารณะ
 
ภาพเนี่ยมันอาจจะแค่สื่อให้สะท้อนความคิดของเขาออกมาว่า เขาคิดอย่างไรกับเรื่องของโลก กับเรื่องของชีวิต ทั้งด้านในและด้านนอก สิ่งเหล่านี้จะอยู่ในตัวเนื้องาน ซึ่งถ้าเราดูแล้วเราเข้าใจตัวของเขา ชีวิตของเขา ตั้งแต่เบื้องต้น-ท่ามกลาง-มาจนถึง ณ วันนี้ ก็จะเห็นตัวตนของเสกสรรค์ ประเสิร์ฐกุล ณ วันนี้
 
 
2.) อยากให้ยกตัวอย่างสักรูปหนึ่งว่ามันสะท้อนตัวแกอย่างไร?
มันยกขึ้นมาเป็นเคสไม่ได้ครับ ต้องยกขึ้นมาเป็นมวลรวม มันคือมิติของความเข้าใจในชีวิตมากขึ้นในระดับลึก เข้าใจวิถีความเป็นพุทธที่สะท้อนออกมาจากงานมากขึ้น
 
การที่เขาเลือกใช้เป็นภาพขาวดำ มันมีมิติมากกว่าการฉาบด้วยสีซึ่งเป็นภาพลวงตา เขาชัดเจนในประเด็นของเขาอยู่แล้วถึงเลือกใช้ตรงนี้
 
ถ้าคนที่ไม่ได้รู้จักตัวตนเขา ก็จะดูเหมือนอย่างรูปถ่ายธรรมดาง่าย ๆ ทั่ว ๆ ไป แต่เมื่อได้ศึกษาเรื่องวิธีคิดของเขาได้อ่านงานของเขา ได้ฟังเขาพูด หรือปาฐกถา แล้วได้มาเห็นชิ้นงาน จะเห็นและเข้าใจมิติมากยิ่งขึ้นว่า ณ วันนี้แล้ว เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ได้ตกผลึกและถูกยกระดับทางความคิดเรื่องการเข้าใจชีวิตมากยิ่งขึ้น
 
 
3.) ถ้ามีเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่รู้จักเสกสรรค์ ประเสริฐกุล มาก่อน แล้วเขาได้ดูงานนี้ คิดว่าเขาจะได้อะไรบ้าง?
ถ้าไม่รู้จักเสกสรรค์มาก่อนเลย ดูแล้วเขาก็อาจจะมีคำถาม ถ้าเขามีคำถามได้ก็ถือว่าได้จุดประกายความคิดแล้ว แต่ถ้าเกิดดูแล้วไม่รู้สึกอะไรเลย...ก็จบ
 
แต่ถ้าเกิดคำถามเขาก็สามารถค้นหาต่อได้ ซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่ยาก เข้า google กดคำว่า "เสกสรรค์ ประเสริฐกุล" ลงไป มันก็ง่ายเข้าว่าจะไปอ่านงานตัวไหนดี ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ หรือแก่นความคิดของเขาที่ตกสะเก็ดอยู่ตามที่ต่าง ๆ ก็สามารถหาได้ไม่ยาก สำหรับคนที่สนใจ
 
แต่ถ้าเขาไม่สนใจ อย่างไรเสียก็ไม่เกิดแรงบันดาลใจตัวนี้ แต่มันจะเหมาะสำหรับคนที่คิดว่ามาดูแล้วอยากจะให้เกิดอะไรบางอย่างในชีวิตของตัวเองด้วย การได้เรียนรู้ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ก็คือการได้เรียนรู้ตัวเราเองด้วย แล้วผู้จัดงานก็อยากให้มันเกิดประโยชน์มากกว่าเป็นแค่การแสดงงานชุดหนึ่งเท่านั้น
 
4.) โดยส่วนตัวคุณสินธุ์สวัสดิ์เองแล้ว ส่วนไหนของคุณเสกสรรค์ที่คุณชื่นชอบมากที่สุด?
ตั้งแต่ 14 ตุลาฯ มา สิ่งที่คุณเสกสรรค์เด่นชัดมาก คือเขาเชื่อมั่นตัวเองสูง และเคารพความคิดตัวเองสูงมาก และเขาสามารถใช้ชีวิต เลือกทางเดินของชีวิตได้อย่างไม่ตกหล่น ซึ่งเขาพร้อมที่จะก้าวเดินอย่างลูกผู้ชายที่ควรเป็น ตรงนี้ไม่ได้หมายความว่าดูถูกลูกผู้หญิง แต่มันมีสิ่งที่เรียกว่า "ผิดก็คือผิด" "ถูกก็คือถูก" แล้วมันก็ดำเนินไปได้ ตรงไหนที่ผิดก็ยอมรับว่ามันผิด เขามีตรงนี้สูงมาก
 
และลักษณะตรงนี้เองที่ทำให้เขาเป็นผู้นำทางความคิด เพราะว่าเขาทำตอกย้ำในสิ่งที่เขาเชื่อ ไม่ใช่ทำในสิ่งที่ต่อหน้าและลับหลังไม่เหมือนกัน เขาเชื่ออย่างไรเขาแสดงออกอย่างไรก็ทำแบบนั้น
 
ฉะนั้น ในช่วงต่าง ๆ ของชีวิตเขาจะไม่เหมือนกัน แล้วก็ผ่านขั้นตอนการเรียนรู้ชีวิตต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นพอตกผลึกมา ณ วันนี้ เขาก็ยอมรับตัวตนเขา ณ วันนี้ แล้วก็พร้อมจะบอกกับสังคมว่า วันนี้เขาคิดอย่างไร
 
ตัวนี้คือ "ความเป็นเสกสรรค์" ที่มีน้อยในตัวคนอื่นอาจจะมีบ้าง แต่ในสังคมไทย ต่อหน้ากับลับหลังไม่ค่อยเหมือนกัน ส่วนใหญ่จะแต่งคำสวยหรูเวลาอยู่ในสังคม พออยู่อีกบริบทหนึ่งก็เปลี่ยนไป แต่คุณเสกสรรค์ไม่ได้เป็นอย่างนั้น
 
 
5.) มีอะไรที่รู้สึกไม่เห็นด้วยกับคุณเสกสรรค์บ้างไหม?
ไม่มีนะ ที่ไม่มีก็เพราะว่า กระบวนการที่ผ่านมา ถ้าคนอยู่รุ่นนั้นจะเขาใจว่า ความกดดันต่าง ๆ ในการเลือกผิดเลือกถูก การแสดงออกต่าง ๆ มันถูกสถานการณ์หล่อหลอม ไม่ได้ว่าทุกอย่างจะอยู่ที่ตัวเขาหมด
 
ความมีอัตตานี้ผมว่าทุกคนมี คนที่มีอุดมคติ คนที่มีอุดมการณ์นี้มันมีหมด ถ้าไม่มีอัตตาก็คงไม่ยึดมั่นในความดีความชั่วถึงขนาดตรงนั้น ซึ่งคุณเสกสรรค์เขามีตรงนั้น ถ้าไม่มีตรงนั้นเขาก็ไม่มีพลังขับสิ่งต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนกระบวนการช่วงที่ผ่านมา ซึ่งคนอื่น ๆ ก็มีแบบนี้เหมือนกัน
 
ฉะนั้นถ้ามันทำออกมาแล้วไม่สำเร็จมันก็ต้องยอมรับ คูณจะเลือกทำอย่างไรระหว่างฆ่าตัวตายหรือจะมีชีวิตอยู่เพื่อจะยอมรับในความผิดพลาดแล้วก็ทำสิ่งใหม่ สร้างสิ่งใหม่ เพื่อที่จะทำให้คนอื่นเข้าใจได้ หรือว่าเดินไปข้างหน้าได้
 
ผมจึงเห็นว่าเขามีความกล้าหาญ มีความเป็นตัวของตัวเอง และเป็นแบบอย่างให้กับคนที่ทำงานเพื่อสังคมและมีอุดมคติ
 
 
6.) กับเด็กรุ่นใหม่ในประเทศเราตอนนี้ คิดว่าจะมีคนที่ทำได้อย่างคุณเสกสรรค์อีกหรือไม่?
ผมไม่คิดว่ามีคุณเสกสรรค์คนเดียวแล้วจะนำพาอะไรได้ ต้องเข้าใจสถานการณ์บริบททางสังคมในช่วงที่ผ่านมามันถูกขับเคลื่อนจนกลายเป็นกระแส จนกลายเป็นกระบวนการ พอเป็นกระบวนการมันไม่ได้หมายถึงนาย ก. นาย ข. แต่มันหมายถึงมวลชนทั้งหมด สติปัญญาทั้งหมดของคนมหาศาลที่เกิดขึ้นและถูกขับเคลื่อนไป
 
คุณเสกสรรค์ก็เป็นเหมือนตัวขับเคลื่อนหรือเฟืองตัวนึงในการที่จะหมุนไป หมุนไปตามจังหวะที่มันควรจะเกิด ถูกกาลเวลา ถูกสถานที่ขับเคลื่อนไป ในขณะเดียวกันขบวนการทั้งหมดมันได้ถูกยกระดับและขับเคลื่อนไปแรง ฉะนั้นกระแสธารอันนี้มันถึงมุ่งไปข้างหน้าได้อย่างพร้อมเพรียงกันกับคนมหาศาล เข้ากับบริบทของสังคม ซึ่งตอนนั้นต้องการคนแบบนี้ขึ้นมา
 
แต่ ณ วันนี้ การไหลบ่าของวัฒนธรรม จะเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะบริโภคนิยม ทุนนิยม ทุนสามานย์ อะไรก็แล้วแต่มันมหาศาลกว่าเยอะ ประเภทที่กดกริ๊กเดียวแล้วคุณก็มีความรู้เท่าเทียมกันได้หมดเลยในคอมพิวเตอร์ มันทำให้ไม่เกิดความยากลำบากในการหาข้อมูล ในการเรียนรู้เรื่องโลก ซึ่งความสะดวกเกินไปในบางเรื่อง ในบางประเด็นมันทำให้คนละเลยในแง่ของการตะกายหรือไขว่คว้า มันไปสู่ในแนวราบเหมือนกันหมดทุก ๆ ด้าน ฉะนั้นมันไม่มีตัวกระตุ้นให้คนเกิดความทะยานอยาก ที่จะเป็นนักอุดมคติ มันจึงยากที่จะมีเกิดคนแบบคุณเสกสรรค์ ณ วันนี้
 
โลกมันไปในอีกมิติหนึ่งซึ่งไม่เหมือนกัน ซึ่งมันเปรียบเทียบยาก ถ้าให้พูดถึงในแง่ของจิตวิญญาณ ถ้ามีได้มันก็จะก่อเกิดประโยชน์กับสังคม ไม่ใช่เพียงแค่คุณเสกสรรค์ คุณเสกสรรค์เป็นแค่ตัวอย่างของคน ๆ เดียวในกระบวนการทั้งหมด ที่มีความรับผิดชอบต่อคนในสังคม
 
คิดว่าถ้าคนรุ่นใหม่มีอะไรแบบนี้มาก ๆ ประเทศชาติก็จะน่าเป็นห่วงน้อยลง
 
 
7.) จากที่คุณสินธุ์สวัสดิ์กล่าวมาถึงสังคมในยุคปัจจุบัน ที่มีลักษณะเป็นแนวราบแล้วทำให้คนมีความเป็นนักอุดมคติน้อยลง การเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสังคมจะยังเกิดขึ้นอยู่หรือไม่ หรือว่ามันหมดไปแล้ว?
เกิดได้ครับ ผมยังเชื่อ ยังมีความหวังกับคนรุ่นใหม่ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเราต้องไม่มองเฉพาะวงแคบ ๆ ซึ่งมันมีพัฒนาการ การเรียนรู้ร่วมกันในสังคม ไม่ใช่ในสังคมไทยอย่างเดียว อย่างปีก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีการชูคำว่า Hope ที่แปลว่าความหวัง เป็นการรณรงค์ของโอบาม่า ซึ่งถือเป็นกระแสความคิดที่ก้าวหน้า แต่ว่าในความเป็นประธานาธิบดีจะนำไปสู่อะไรแค่ไหนก็อีกเรื่อง
 
หรือเรื่องของ ออง ซาน ซูจี ที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการรณรงค์ แม้แต่สหรัฐฯ แทนที่จะมีท่าทีแข็งกระด้างอย่างเดียว แต่ใช้ให้เป็นประโยชน์ ทำให้ภาพของรัฐบาลพม่าเปลี่ยนไปในทางอ่อนข้อลง
 
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เด็กไทยไม่เรียนรู้ พวกเขาก็เรียนรู้เหมือนกัน เพียงแต่สภาวะความสุขงอมของสถานการณ์ในบ้านเมืองเรามันยังไม่ถึงขนาดแบบนั้น แต่ผมก็ไม่ได้สิ้นหวังกับคนรุ่นใหม่ มันมีมิติ มีเงา มันไม่ได้แบนราบ มีทั้งด้านสว่างด้านมืด มีทั้งสีสันต่าง ๆ ท่ามกลางการเรียนรู้นี้ หากเกิดสภาวะทำให้เขาออกมาทำงานเพื่อสังคม ผมก็เชื่อว่าคนรุ่นใหม่เขาพร้อมที่จะทำหน้าที่เพื่อสังคม เพียงแต่ในรูปแบบในวิธีการ ไม่ต้องไปก็อปปี้คนรุ่นก่อน ๆ ว่าจะเป็นแบบนี้ ๆ มันไม่ใช่ มันก็เป็นอีกรุ่นหนึ่งของเขา
 
………………………
 
 
งานนิทรรศการภาพถ่าย “ผู้คน วิถีชีวิต มุมมองศักดิ์สิทธิ์ในโลกตะวันออก” ของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล จะยังคงจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 27 พ.ย. ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ (สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท