เผชิญหน้ากัน มีแต่เจ๊งกับเจ๊ง (แต่) สร้างสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีแต่รวยกับรวย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หมายเหตุ - ผู้อ่านประชาไทจากเยอรมัน ส่งบทความเปรียบเทียบนโยบายระหว่างประเทศในยุโรปที่เน้นความร่วมมือมากกว่า เผชิญหน้า แล้วย้อนมามองนโยบายระหว่างประเทศของไทยและชาติอาเซียนในปัจจุบันนี้ ทำไมจะปรองดองและร่วมกันพัฒนาภูมิภาคเพื่อความเจริญสมบูรณ์พูนสุขของประชาชนทั้งมวลไม่ได้เล่า

 
 
ตั้งใจแปลงข้อความในสุนทรพจน์ของนางอันเกล่า แมร์เคลนายกรัฐมนตรีหญิงเยอรมันสองสมัยที่กล่าวตอบประธานาธิบดีซาโคซี่แห่งฝรั่งเศส ที่ประตูชัยอาร์คเดอทริโอมฟ์ (Arc de Triomphe) ในกรุงปารีส บนถนนชองเซลิเซ่ (Champs-Elysees) เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ในโอกาสรำลึกถึงเหตุการณ์สิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเสียอย่างงั้นแหละ เพื่อให้คนไทยผู้รักชาติได้นำประสบการณ์ของสองประเทศนี้ ไปเทีียบเคียงกับสถานการณ์ ตึงเครียดระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาได้ง่ายและเป็นรูปธรรมขึ้นหน่อย ส่วนข้อความ จริงที่นายกหญิงสองสมัยกล่าวก็คือ "Ein Gegeneinander kennt nur Verlierer, ein Miteinander nur Gewinner" ซึ่งแปลตามตัวตรงๆ ก็ได้ว่า “การเผชิญหน้าขัดแย้งกัน มีแต่ผู้แพ้ แต่การร่วมมือกัน มีแต่ผู้ชนะ” [1]
 
นับตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนเรื่อยมา ที่ประเทศเยอรมนีและในยุโรปมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น ที่มีความสำคัญแก่คนในประเทศเยอรมนีและคนยุโรปอย่างยิ่ง ที่แสดงให้เห็นว่าชาวยุโรปเห็นความสำคัญของการรวมตัวกันอย่างยิ่งยวด ถึงกับยอมสละอำนาจอธิปไตยส่วนหนึ่งของรัฐบาลภายในประเทศ เพื่อองค์การความร่วมมือในภูมิภาค เพื่อความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจร่วมกัน และผลพลอยได้อันสำคัญยิ่งก็คือการที่ทุกประเทศมีสันติภาพและเสรีภาพที่ถาวร ส่วนการประสานสัมพันธไมตรีอย่างแน่นแฟ้นระหว่างเยอรมนีและฝรั่งเศสหลังความเกลียดชังและขมขื่นจากสงครามโลกทั้งสองครั้งก็ยิ่งส่งผลดีต่อการรวมตัวกันของสหภาพยุโรปและสันติภาพของภูมิภาคและโลกด้วย
 
เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีของประเทศสาธารณรัฐเช็คเป็นผู้นำประเทศท้ายสุด ที่ได้ลงนามให้สัตยาบันให้กับสนธิสัญญาลิสบอน ซึ่งประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปรวมถึง 27 ประเทศได้ลงนามร่วมกันไว้เมื่อปี 2007 เพื่อเพิ่มอำนาจให้กับสหภาพยุโรปโดยเฉพาะอำนาจในการตัดสินใจ ออกกฎหมายโดยรัฐมนตรีจากประเทศสหภาพยุโรปแต่ละประเทศ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้เสียงเอกฉันท์อย่างแต่ก่อน
 
นอกจากนี้สหภาพยุโรปกำหนดให้มีตำแหน่งข้าหลวงใหญ่กิจการต่างประเทศและความมั่นคงของสหภาพ หรือตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศของสหภาพยุโรปที่ต้องแสดงจุดยืนและท่าทีของสหภาพยุโรปที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สหภาพยุโรปจึงพัฒนาก้าวไกลกว่าการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ เพื่อจุดมุ่งหมายทางเศรษฐกิจอย่างที่มีมาแต่แรกเริ่ม แต่เป็นการรวมตัวกันทั้งทางการเมืองที่จะส่งผลต่อนโยบายภายในประเทศสมาชิกและนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรปต่อภูมิภาคอื่นๆ ของโลก จุดมุ่งหมายสูงสุดของสหภาพยุโรปก็คือการมีรัฐธรรมนูญของประเทศสมาชิกในยุโรปร่วมกัน ซึ่่งหมายถึงว่ารัฐบาลในแต่ละประเทศจะมีบทบาทลดลงไปอีกและให้มีรัฐบาลหรือองค์การที่มีอำนาจเหนือชาติ (Supranational Organization) เกิดขึ้นต่อไปในอนาคต
 
วันที่ 9 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เป็นโอกาสครบรอบ 20 ปีของการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินปี 1989 ซึ่งไม่นานนักก็ตามมาด้วยการล่มสลายของสหภาพโซเวียต และการต่อสู้เรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตยของคนเยอรมันตะวันออกเอง ซึ่งหากชาวเยอรมันตะวันออกขณะนั้นยอมจำนนต่ออำนาจเผด็จการสังคมนิยมในขณะนั้นไม่ยอมออกมาเดินขบวนเรียกร้อง แต่ยอมอยู่อย่างว่านอนสอนง่ายต่อไปอย่างคนเกาหลีเหนือแล้ว อดีตนายกรัฐมนตรีเฮลมุท โคลคงไม่ได้รับสัญญานความต้องการของประชาชนและเริ่มการเจรจาติดต่อกับอดีตประธานาธิบดีมิคาอิล กอบาชอฟในสมัยนั้นเพื่อรวมประเทศเยอรมนีเ้ข้าไว้ด้วยกัน อันเป็นนโยบายใฝ่ฝันสูงสุดของพรรคซีดียู (พรรคสหภาพคริสเตียนเดโมแครท) นับตั้งแต่ยุคก่อตั้งพรรคซีดียู หลังสงครามโลกครั้งที่สอง อันมีอดีตนายกรัฐ มนตรีคอนราด อเดนาวเวอร์ซึ่งพยายามต่อสู้เรียกร้องการรวมตัวกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวของเยอรมนีตะัวันตกและตะวันออกตลอดมา
 
งานพิธีรำลึกถึงเหตุการณ์อันน่าปีติยินดีนี้นอกจากผู้นำรัฐบาลในปัจจุบันจากประเทศสำคัญๆ ในยุโรปและทั่วโลกแล้ว (สหรัฐมีนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศเป็นตัวแทน) อดีตผู้นำที่ผลักดันให้เยอรมนีรวมประเทศได้ทั้งสามคนสำคัญได้แก่ นายกอบาชอฟ นายจอร์จ บุช (ซีเนียร์) และนายโคลก็ได้มาร่วมงานพิธีด้วย ส่วนผู้นำอีกสองคนที่ก็มีบทบาทด้วยแม้จะเป็นบทบาทในทาง “มือไม่พายแต่เอา “เท้า” ้ราน้ำ” มากกว่า ได้แก่ นางแธตเชอร์ ของอังกฤษนั้นก็สิ้นสภาพออกงานไม่ได้เสียแล้ว ส่วนนายมิตเตอรองด์แห่ง ฝรั่งเศสก็สิ้นบุญไปแล้วหลายปี จึงมีแต่บุรุษเก๋ากึ๊กเท่านั้นที่มาร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีนี้ด้วย
 
มีข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่อยากนำมาเล่านิดหน่อยเกี่ยว กับเรื่องการรวมตัวประเทศของเยอรมัน นางมากาแร็ท แท็ตเช่อร์นั้นไม่เห็นด้วยกับการที่เยอรมนี จะรวมกันเป็นประเทศเดียว เพราะเธอกลัวว่าเยอรมนีจะหวนกลับมายิ่งใหญ่และมีอำนาจก่อ สงครามอีก แธตเช่อร์ไม่ไว้วางใจเยอรมนีจึงพยายามขัดขวาง มีอยู่หนึ่งครั้งในระหว่างการพบปะเจรจากัน เมื่อนายโคลบอกว่าเยอรมนีจะตัดสินใจในอนาคตทางเดินของประเทศเอง นางแท็ตเช่อร์ตอบนายโคลเป็นภาษา ฝรั่งเศสว่า “Nationalismus, n’est ce pas ?”ซึ่งแปลว่าอย่างนี้เขาเรียกว่า “ชาตินิยม ใช่ไหม” นายกรัฐมนตรีโคลของเยอรมนีซึ่งร่ำเรียนมาทางประวัติศาสตร์จึงตอบกลับนางแท็ตเชอร์ไปว่า “ความแตกต่างระหว่างผมกับคุณแท็ตเช่อร์ก็คือ คุณมีความคิดแบบก่อนหน้าเชอร์ชิลจะไปกล่าวสุนทรพจน์ที่ซูริค แต่ผมมีความคิดตามแบบสุนทรพจน์ของเชอร์ชิล” [2] ซึ่งในสุนทรพจน์์ที่เชอร์ ชิลกล่าวต่อนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยซูริค สวิสเซอร์แลนด์ เมื่อปี 1946 เขาพูดถึงลัทธิ “ชาิตินิยม” ว่าคือ สิ่งที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งและความหายนะของยุโรป และทางที่ดีที่จะสามารถธำรงสันติภาพและสร้างความสุขสถาพรให้กับประชาชนในยุโรปได้ก็คือการก่อตั้งองค์การความร่วมมือในภูมิภาคขึ้นแก่ ประเทศต่างๆ ทั่วยุโรป โดยให้เยอรมนีและฝรั่งเศสนำความร่วมมือจากประเทศต่างๆ ในยุโรป และให้ประเทศอื่นๆ อาทิ อังกฤษ อเมริกา รวมถึงสหภาพโซเวียตให้การสนับสนุนเพื่อทำให้การรวมตัวกันของประเทศต่างๆ ในยุโรปเป็นจริงและประชาชนยุโรปทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ อย่างมีความสุข [3]
 
เชอร์ชิลคือรัฐบุรุษของยุโรปและของโลกที่มีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลอย่างยิ่ง ผู้นำของประเทศต่างๆ ในอาเซียนควรจะเรียนรู้ความคิดความอ่านของผู้นำประเทศต่างๆ อย่างนี้บ้าง พวกเขาต้องเป็นทั้งผู้นำที่ดีของประเทศตัวเองและผู้นำที่ดีสำหรับอาเซียน มองหาจุดร่วมกันที่จะสรรค์สร้างมิตรภาพขึ้นมาให้ได้ ไม่ใช่หาปัญหาเพื่อมาทะเลาะกันแทนที่จะพัฒนาหาความรุ่งเรืองเพื่อประเทศ ชาติและประชาชนด้วยกันอย่างที่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนกำลังเกิดปัญหากันอยู่ ผู้นำของประเทศต้องสร้างความประนีประนอมให้กับคนในชาติ ใช้น้ำเย็นลูบกระแสชาตินิยมของคนในชาติว่าไม่ได้นำอะไรที่เป็นผลดีมาสู่ประเทศนั้นเลย ไม่ใช่กระทำในทางตรงกันข้ามอย่างที่เห็นอยู่ หรือถ้าตกเป็นเหยื่อของหลุมชาตินิยมที่ตนเองขุดไว้เพื่อจัดการกับรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้แล้วก็ เป็นเรื่องที่อาจเข้าใจได้ว่าจะให้ขุดหลุมกลบตัวเองในตอนนี้คงไม่ง่ายนัก แต่อย่างไรก็ดีรัฐบาล ไทยก็ต้องหาทางออกไม่ให้ประเทศชาติต้องตกหลุมลึกนี้ยิ่งไปกว่าที่เป็นอยู่
 
และล่าสุดเมื่อ 12 พฤศจิกายนนี้ เยอรมันและฝรั่งเศสร่วมรำลึกการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 1 ร่วมกันเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพื่อเป็นหลักประกันว่าต่อไปนี้ทั้งสองประเทศจะไม่เป็นศัตรูกันต่อไปอีกแล้ว ทั้งๆ ที่ทั้งสองประเทศเคยทำศึกรบราฆ่าฟันกันมาแล้วอย่างหนักหน่วง ทั้งในสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ทหารและพลเรือนของทั้งสองประเทศเสียชีวิตไปหลายล้านคน ประวัติศาสตร์อันน่าเจ็บช้ำขมขื่นนี้ยังไม่ยาวนานถึงหนึ่งร้อยปีเลย แต่ผู้นำและประชาชนของทั้งสองประเทศสามารถลืมความโกรธแค้นและขมขื่นของสงครามได้ ก็เพราะผู้นำของทั้งเยอรมนีและฝรั่งเศสเล็งเห็นความสำคัญของประเทศชาติและประชาชนทั้งสองประเทศมากกว่าแค่การดึงเอาความรู้สึกรักชาติหรือชาตินิยมของประชาชนมาเป็นเครื่องมือในการปกครองและเอาชนะศัตรู
 
นายกรัฐมนตรีคนแรกของเยอรมนีหลังสงครามโลกครั้งที่สอง “คอนราด อเดนาวเออร์” (KonradAdenauer) เคยกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีที่ดีนั้นไม่ใช่แค่เป็น “guter Deutscher, aber auch guter Europäer”หมายความว่าไม่ใช่แค่เป็นคนเยอรมันที่ดีเท่านั้นแต่ต้องเป็นคนยุโรปที่ดีด้วย [4] นั่นคือต้องเป็นผู้ที่มีหลักการสากลนิยมเห็นความสำคัญของประเทศในยุโรปทุกประเทศ ไม่ใช่แค่เห็นแก่ความสำคัญของประเทศเยอรมันเท่านั้น
 
ไทยกับกัมพูชานั้นแม้เคยทำสงครามกันมาแล้วเช่นกัน แต่เหตุการณ์นั้นก็ผ่านไปเกินกว่า 500 ปีแล้ว ตั้งแต่สมัยอยุธยาเมื่อเจ้าสามพระยายกทัพไปยึดดินแดนของกัมพูชาเมื่อ ค.ศ. 1431 มีเสียมราฐ ซึ่งมีนครวัด นครธมโบราณสถานที่ชาวกัมพูชารักเป็นชีวิตจิตใจ และจำปาศักดิ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของปราสาทพระิวิหารมาเป็นของไทยด้วย ความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชานั้นเทียบกันไม่ได้เลยกับสงครามอันโหดร้ายที่ฝรั่งเศสและเยอรมนีกระทำต่อกัน
 
แม้ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ 30 ปีที่แล้วที่ไทยก็มีบทบาทลับๆ ทางการทูตที่อิงกับจีนเก่าและให้การสนับสนุนเขมรแดงอย่างลับๆ จนเขมรแดงมีอำนาจและใช้นโยบายจัดการกวาดล้างพวกที่เป็นปฏิปักษ์หรือปฏิกิริยาต่อการปฏิวัติสร้างรัฐใหม่อย่างผิดพลาด ผู้คนล้มตายหลายแสนคนก็ตามก็ยังเทียบกับความโหดร้ายของสงครามระหว่างเยอรมันกัับฝรั่งเศสไม่ได้ นอกจากว่าผู้นำของประเทศและสื่อที่รับใช้ผู้นำอย่างไม่ลืมหูลืมตาเพื่อผลประโยชน์ ทางเศรษฐกิจโดยลืมศักดิ์ศรีและคุณค่าของอาชีพการงาน พยายามวาดภาพศัตรูที่ไม่มีตัวตนจริง (künstliche Feindbilder) ขึ้นมาเพื่อมุ่งประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์ของชาติและประชาชน อย่างที่นางแมร์เคลนายกรัฐมนตรีเยอรมนีบอกว่า ไม่มีวันที่เยอรมนีและฝรั่งเศสจะสร้างภาพของศัตรูที่ไม่มีตัวตนขึ้นมาอีก เพื่อสร้างความเกลียดชังซึ่งกันและกัน
 
แม้แต่ระหว่างศัตรูคู่อาฆาตอย่างฝรั่งเศสกับเยอรมนี ก็ยังสามารถหันหน้า มาปรองดองกันได้ แล้วทำไมไทยกับกัมพูชาและประเทศต่างๆ ในอาเซียนจะปรองดองและร่วมกันพัฒนาภูมิภาคเพื่อความเจริญสมบูรณ์พูนสุขของประชาชนทั้งมวลไม่ได้เล่า!
 
 
อ้างอิง
[1] Franfurter Allgemeine Zeitung, 12 November 2009, S. 2 Deutsche Fahnen am Triumphbogen
[2] Frankfurter Allgemeine Zeitung, 2 Oktober 2009, Nationalismus, n’est-ce pas ?, Feuilleton, S.33
[3] ฟังสุนทรพจน์เสียงจริงของวินสตัน เชอร์ชิลด์ได้ที่ www.ena.lu/address-given-winston-churchill-zurich-19-september-1946-022600045.html
[4] Dr. Theo Sommer, 60 Jahre Bundesrepublik im Spiegel der Zeit, “Deutschland und Frankreich , Ein Gespräch der “Zeit” mit Bundeskanzler Dr. Adenauer“ vom Ernst Friedlaender, Zeitverlag, Hamburg, 2009

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท