Skip to main content
sharethis

18 พ.ย. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แถลงประนามการใช้ความรุนแรงต่อเด็กในภาคใต้ จากกรณีซุ่มยิงรถนักเรียนบนถนนสาธารณะสายปะนาเระ – สาบัน ม.4 บ้านหัวคลอง ต.บ้านนอก อ.ปานะเระจ. ปัตตานี  วันที่ 16 พ.ย. 2552 และกราดยิงร้านอาหารใกล้โรงเรียน เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2552 เวลา 21.30 น.ส่งผลให้มีนักเรียนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต เรียกร้องให้หน่วยงานด้านความมั่นคงพิจารณาปรับปรุงสภาพแวดล้อมการพัฒนาสภาพแวดล้อมเพื่อให้เด็กปลอดภัยในทุกที่ทุกเวลาทั้งในบ้าน โรงเรียนและระหว่างการเดินทาง พร้อมขอให้รัฐเร่งจับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย

000

 

แถลงการณ์
ประนามการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก
เรียกร้องทุกฝ่ายยุติอาชญกรรมต่อเด็ก คุ้มครองสิทธิเด็ก
เด็กทุกคนต้องได้รับการคุ้มครองในสถานการณ์ความไม่สงบ

จากเหตุการณ์ความรุนแรงต่อเด็กที่เกิดขึ้นอย่างน้อยสองเหตุการณ์ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2552 คือเหตุการณ์เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2552 เมื่อเวลา 17.00 น. เกิดเหตุรถจักรยานยนต์ซุ่มยิงรถรับส่งนักเรียนบนถนนสาธารณะสายปะนาเระ – สาบัน ม.4 บ้านหัวคลอง ต.บ้านนอก อ.ปานะเระจ. ปัตตานี   มีผู้บาดเจ็บเป็นเด็กนักเรียนอายุ 12-18 ปีจำนวน 3 คน เด็กชายสองคนได้รับบาดเจ็บที่แขนและขา เด็กหญิงอายุ 12 ปี ได้รับบาดเจ็บที่หัวเข่า  สามารถนำส่งโรงพยาบาลปัจจุบันได้รับความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพบกระสุนปืนขนาด 11 มม. จำนวน 4 ปลอก ยังไม่สามารถติดตามคนร้ายได้

และอีกเหตุการณ์หนึ่งเหตุเกิดเมื่อวันที่ 8 พ.ย.2552 เวลา 21.30 น. เกิดเหตุยิงด้วยอาวุธสงคราม ปืนอาก้า โดยคนร้ายใช้รถจักยานยนต์เป็นพาหนะกราดยิงร้านขายอาหารใกล้โรงเรียนปอเนาะพ่อมิ่ง หมู่ 3 ต.พ่อมิ่ง อ.ปานาเระ จ.ปัตตานี  ร้านอาหารนี้จะมีลูกค้าที่เป็นเด็กนักเรียนปอเนาะจำนวนมากหลังการละหมาดและปอเนาะพ่อมิ่งเป็นปอเนาะเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงในจังหวัดปัตตานี  เหตุการณ์นี้ทำให้เด็กนักเรียนอายุ 19 ปีและอายุ 20 ปีเสียชีวิตสองราย และมีนักเรียนบาดเจ็บอีก 3 ราย คือนักเรียนอายุ 23 ปี และเด็กนักเรียนอายุ 19 ปี บาดเจ็บสาหัสถูกยิงที่ขาและที่ท้องต้องได้รับการผ่าตัด  และเด็กหญิงหนึ่งคนอายุ 8 ปี บาดเจ็บเล็กน้อย ทั้งหมดได้รับการนำส่งโรงพยาบาลปะนาเระและปลอดภัยแล้ว ยังไม่สามารถติดตามคนร้ายได้และยังไม่ทราบสาเหตุการใช้ความรุนแรงต่อเด็กนักเรียน

แม้ว่าผู้เสียหายจะได้รับการรักษาอย่างปลอดภัยและจะได้รับเงินเยียวยาตามสมควรอันเนื่องจากเป็นผู้ได้รับผลกระทบในเหตุการณ์ความไม่สงบก็ตาม แต่ปัจจุบันพบว่าเหตุการณ์การยิงและใช้อาวุธสงครามเกิดขึ้นอย่างไม่มีเป้าหมาย   การรักษาความปลอดภัยมักจะหละหลวมแม้ว่าจะมีหน่วยงานความมั่นคงตั้งหน่วยสกัดมากมายแต่ไม่สามารถจับกุมหรือระบุเบาะแสของคนร้ายได้  และสุดท้ายผู้กระทำความผิดก็ไม่ได้การลงโทษตามกฎหมาย เป็นต้น     เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้เด็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังได้รับอันตรายอย่างต่อเนื่อง และสถาบันการศึกษาซึ่งต้องเป็นสถานที่ปลอดภัยในสถานการณ์ความขัดแย้งทางอาวุธกลับเป็นพื้นที่ที่มีแต่ความรุนแรงทั้งในทางกายภาพและส่งผลต่อจิตวิทยาของทั้งเด็กนักเรียน บุคคลกรทางการศึกษา ครู ครอบครัว ชุมชน

ประเด็นเรื่องความปลอดภัยต่อชีวิตและสิทธิของเด็กในสถานการณ์ความไม่สงบต้องได้รับการแก้ไขและปรับปรุงเพื่อนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิเด็กทั้งชีวิตให้ปราศจากการประทุษร้ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดใดก็ตามในสถานการณ์ความขัดแย้งทางอาวุธและอีกทั้งทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันในการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่ทำให้เด็กมีปลอดภัยในทุกที่ทุกเวลาทั้งในบ้านโรงเรียนและระหว่างการเดินทางในสถานการณ์ความขัดแย้งทางอาวุธที่เกิดขึ้นนี้

ทั้งนี้ในสรุปข้อสังเกตคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิเด็กต่อรายงานของประเทศไทยต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กขององค์กรสหประชาชาติ (CRC/C/THA/CO/2) ได้ระบุไว้ในข้อเสนอแนะที่ 28 เผยแพร่เมื่อวันที่ 17 มีนาคมพ.ศ. 2549 ดังนี้

“คณะกรรมการฯ กระตุ้นให้รัฐภาคี (ในที่นี้ หมายถึงประเทศไทย) ใช้ความพยายามทุกประการเพื่อเสริมสร้างความเข็มแข็งในการคุ้มครองสิทธิการมีชีวิตอยู่รอด และการพัฒนาเด็กทุกคนในรัฐภาคี  โดยเฉพาะแง่ของอดีตทหารเด็ก  เด็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการกำหนดเป็นนโยบายที่มีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ  เป็นโปรแกรมและการบริการ คณะกรรมการฯยังกระตุ้นให้รัฐภาคีคุ้มครองเดก็ทุกคนจากผลกระทบของความไม่สงบ  และประกันการกลับไปใช้ชีวิต(Reintegration) ในสังคมของเขา  กระตุ้นให้รัฐภาคีโดยร่วมมือกับองค์กรเอกชน (NGO) และองค์การระหว่างประเทศพัฒนาระบบสนับสนุนเชิงจิตวิทาสังคม (Psychosocial System) และความช่วยเหลือแก่เด็กที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากความไม่สงบและความขัดแย้ง”

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอประนามบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดก็ตามที่ได้ใช้ความรุนแรงต่อเด็กในเหตุการณ์ดังกล่าว และขอเรียกร้องให้

1) ขอให้รัฐเร่งจับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายและเคารพต่อหลักนิติธรรมโดยเร็ว  โดยขอให้มีการตรวจสอบเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งสองเหตุการณ์ข้างต้นให้เกิดความมั่นใจว่าผู้กระทำความผิดจะได้รับการจับกุมและดำเนินการตามกฎหมาย ไม่ว่าสาเหตุจะเป็นการก่อเหตุเพื่อสร้างสถานการณ์การก่อความไม่สงบหรือการก่อเหตุอันเนื่องจากสาเหตุความขัดแย้งอื่นๆ   รวมทั้งแสวงหาการเยียวยาทางด้านจิตใจแก่เด็ก ครอบครัวและชุมชนอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับการทำงานของภาครัฐ

2) ให้รัฐส่งเสริมความรู้ความเข้าใจโดยจัดการอบรมเรื่องสิทธิเด็กให้แก่ผู้นำชุมชน กำลังพลทหาร ตำรวจและพลเรือนทั้งที่ติดอาวุธและชุดมวลชนให้มีความเข้าใจเรื่องสิทธิเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเข้าใจเรื่องการคุ้มครองสิทธิเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ประเทศไทยเป็นประเทศสมาชิก

3) ขอให้ภาครัฐและภาคประชาสังคมจัดกิจกรรมสำหรับชุมชน และบุคคลกรทางการศึกษา รวมทั้งกับเด็กในชุมชนและในสถานการศึกษาอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจให้กับชุมชนในภาระหน้าที่เรื่องการปกป้องคุ้มครองเด็ก

4) ขอให้หน่วยงานด้านความมั่นคงพิจารณาปรับปรุงสภาพแวดล้อมการพัฒนาสภาพแวดล้อมเพื่อให้เด็กปลอดภัยในทุกที่ทุกเวลาทั้งในบ้าน โรงเรียนและระหว่างการเดินทางในสถานการณ์ความขัดแย้งทางอาวุธที่เกิดขึ้นนี้  เช่นการเคลื่อนย้ายวัสดุอุปกรณ์ทางทหาร รถถัง อาวุธสงคราม รวมทั้งยานพาหนะ ออกจากสถานศึกษา  การเปลี่ยนเครื่องแต่งกายของหน่วยงานความมั่นคงที่ทำหน้าที่คุ้มครองครูและนักเรียนเพื่อลดภาวะความเสี่ยงต่อการเป็นเป้าหมายต่อการก่อเหตุร้าย เป็นต้น      

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net