Skip to main content
sharethis

นอม ชอมสกี้ นักวิชาการสหรัฐฯ ชื่อดัง ผู้วิพากษ์จักรวรรดินิยมและความอยุติธรรม กล่าวในการบรรยายถึงรัฐบาลสมัยโอบาม่าว่าแม้จะต่างกับบุชในทางวาทศิลป์ แต่ไม่ได้ปรับเปลี่ยนท่าทีด้านการต่างประเทศมากนัก มีทั้งประเด็นอาวุธนิวเคลียร์อิหร่าน โจรสลัดโซมาเลีย เหตุฉนวนกาซา ฯลฯ

 

 
 
หมายเหตุผู้แปล – รายงานชิ้นนี้เป็นบันทึกการบรรยายสองครั้งของนอม ชอมสกี้ ที่ลอนดอน เผยแพร่ใน Middle East Onine เมื่อวันที่ 1 พ.ย. โดย Mamoon Alabbasi
 
นอม ชอมสกี้ เป็นนักวิชาการของสหรัฐฯ จากคณะภาษาศาสตร์และปรัชญา สถาบันเทคโนโลยีเมสซาซูเซตส์ (MIT) ผู้วิพากษ์วิจารณ์ลัทธิจักรวรรดิ์นิยม และนโยบายรัฐบาลสหรัฐฯ เช่น นโยบายต่างประเทศสมัยอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช โดยชอมสกี้ยังเคยมีส่วนในการเรียกร้อง ให้รัฐบาลอภิสิทธิ์พิจารณากฏหมายหมิ่นฯ และ เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษกฏหมายหมิ่นฯ ด้วย (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่)
 
000
 
 
สหรัฐฯ มอง ‘ความสำเร็จในการแข็งข้อ’ ว่าเป็นเหมือน ‘ไวรัส’ ที่จะ
 ‘แพร่กระจายการติดเชื้อ’ ออกไป
 
 
ขณะที่เหล่าอารยชนทั่วโลกต่างถอนหายใจด้วยความโล่งอกเมื่ออดีตผู้นำสหรัฐฯ อย่างจอร์จ ดับเบิลยู บุช พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว แต่นักวิชาการที่มีชื่อเสียงของสหรัฐฯ อย่าง นอม ชอมสกี้ ก็ยังคงเตือนว่า อย่าเพิ่งคาดการณ์หรือตั้งความหวังกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลสมัยบารัค โอบาม่า มากเกินไปนัก
 
ในการบรรยายที่จัดโดยสถาบันการศึกษาโลกตะวันออกและแอฟริกา (School of Oriental and African Studies หรือ SOAS) ชอมสกี้ กล่าวถึงการดำเนินการเบื้องหลังนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
 
โดยชอมสกี้บอกว่า เมื่อโอบาม่าเข้ารับตำแหน่งแล้ว คอนโดริซ่า ไรซ์ ก็คาดการณ์ว่าเขาจะดำเนินการตามรอยนโยบายหลายอย่างของรัฐบาลบุชสมัยที่สอง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่มีส่วนจริง แม้โอบาม่าจะมีวิธีการเชิงวาทศิลป์ที่ต่างกันก็ตาม
 
"แต่มันก็ฉลาดกว่าหากเราหันมาสนใจในเรื่องการกระทำ แทนที่จะเป็นวาทศิลป์ การกระทำบอกให้เราทราบถึงเรื่องราวที่ต่างออกไปอยู่แล้ว" เขาเสริม
 
ชอมสกี้ อธิบายว่า แนวคิดหลัก ๆ ที่เป็นประเพณีนิยมของสหรัฐฯ ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปมากเท่าไหร่ แนวคิดดังกล่าวคือความเชื่อว่าหากสหรัฐฯ ควบคุมทรัพยากรของตะวันออกกลางได้แล้ว ก็จะสามารถควบคุมโลกทั้งใบได้ ซึ่งหลักการนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ในช่วงที่สหรัฐฯ พยายามควบคุมโลกนั้น ชอมสกี้ เรียกมันว่า "หลักการแบบเจ้าพ่อมาเฟีย"
 
"เจ้าพ่อทนต่อ 'ความสำเร็จในการแข็งข้อ' ไม่ได้ มันอันตรายเกินไป ดังนั้นมันต้องถูกกำจัดเพื่อให้คนอื่น ๆ เข้าใจว่า พวกเขาไม่สามารถขัดขึ้นได้" ชอมสกี้กล่าว โดยได้อธิบายอีว่า สหรัฐฯ มอง 'ความสำเร็จในการแข็งข้อ' ว่าเป็นเหมือน 'ไวรัส' ที่จะ 'แพร่กระจายการติดเชื้อ' ออกไป
 
000
 
 
 
การที่อิหร่านจะใช้จรวดมิสไซล์โจมตี ไม่ว่าจะติดหัวรบนิวเคลียร์หรือไม่ก็ตามนั้น
มีโอกาสเทียบเท่ากับอุกกาบาตพุ่งชนโลก
 
 
อิหร่าน
สหรัฐฯ กลัวว่าจะเกิด 'ไวรัส' นี้ขึ้นในอิหร่านดังนั้นจึงได้ทำการโค่นล้มรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาของอิหร่านเสียในปี 1953
 
"เป้าหมายในปี 1953 คือการควบคุมทรัพยากรของอิหร่าน" ชอมสกี้ กล่าว
 
อย่างไรก็ตาม "ในปี 1979 ไวรัส (ของอิหร่าน) ก็ผุดขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งตอนแรกทางสหรัฐฯ พยายามสนับสนุนการทำรัฐประหาร แต่ก็ล้มเหลวไป จึงหันไปสนับสนุนให้ซัดดัม ฮุสเซน บุกรุกอิหร่านอย่างไร้ความปราณี"
 
ชอมสกี้กล่าวย้ำว่า สหรัฐฯ ยังคงพยายามกดขี่อิหร่านอย่างไม่หยุดยั้ง ไม่ว่าจะด้วยการคว่ำบาตร หรือด้วยวิธีการอื่น ๆ
 
 
อาวุธนิวเคลียร์
ชอมสกี้ยังได้เยาะเย้ยความคิดของสื่อหลักที่มักนำเสนอว่า อิหร่าน ที่กำลังจะมีอาวุธนิวเคลียร์ อาจโจมตีอิสราเอลที่มีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ก่อนแล้ว
 
"การที่อิหร่านจะใช้จรวดมิสไซล์โจมตี ไม่ว่าจะติดหัวรบนิวเคลียร์หรือไม่ก็ตามนั้น มีโอกาสเทียบเท่ากับอุกกาบาตพุ่งชนโลก เว้นแต่ว่าเหล่าผู้นำทางศาสนาของอิหร่านจะเกิดอยากสละชีพขึ้นมาและต้องการให้อิหร่านมอดม้วยไปพร้อมกับพวกเขาด้วย" ชอมสกี้กล่าว
 
เขาอธิบายต่อว่าการที่สหรัฐฯ นำอาวุธต่อต้านจรวดมิสไซล์ไปไว้ที่อิสราเอลนั้น เป็นการเตรียมไว้เผื่อมีคำสั่งโจมตีอิหร่าน และไม่ใช่เพื่อการป้องกันตัวเองเช่นที่พวกเขาพยายามให้เราเชื่อ
 
"มีการโฆษณาว่านี่เป็นการป้องกันตนเองจากการโจมตีของอิหร่าน แต่...หากจะมีการใช้อาวุธพวกนี้ขึ้นมาจริง ๆ ล่ะก็ มันก็จะได้ใช้ในการป้องกันการตอบโต้หลังจากที่สหรัฐฯ หรืออิสราเอลโจมตีอิหร่านไปก่อนแล้วเท่านั้น กล่าวคือเอาไว้ใช้กำจัดการขัดขืนจากอิหร่านนั่นเอง" ชอมสกี้กล่าว
 
 
000
 
 
ชอมสกี้ ให้เครดิตกับการเลือกตั้งในอิรักเมื่อปี 2005 ว่าเป็นผลงานของประชาชนอิรักที่ออกมาเรียกร้อง แม้ทางสหรัฐฯ จะปฏิเสธเรื่องนี้ในทีแรก
 
 
อิรัก
ชอมสกี้ เตือนความจำผู้ร่วมรับฟังว่า สหรัฐฯ เคยสนับสนุนอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน ของอิรักมาก่อน แม้กระทั่งหลังจากสงครามระหว่างอิรักกับอิหร่านจบลงแล้ว
 
"บทรักระหว่างสหรัฐฯ กับซัดดัมยังไม่จบลงแม้จะสิ้นสงครามอิรัก-อิหร่าน ไปแล้ว โดยในปี 1989 วิศวกรด้านนิวเคลียร์ของอิรักถูกเชิญให้ไปที่สหรัฐฯ เพื่อเรียนรู้เรื่องอาวุธ โดยในตอนนั้นเป็นช่วงสมัย ประธานาธิบดีจอร์จ บุช ที่ 1" ชอมสกี้กล่าว
 
การสนับสนุนของสหรัฐฯ ยังดำเนินต่อไปแม้ว่าซัดดัมจะเริ่มปฏิบัติอย่างเลวร้ายกับประชาชนของเขาเอง จนกระทั่งตอนที่อิรักบุกคูเวตในปี 1990 พวกเขาถึงเริ่มหมดความน่าชื่นชมในสายตาสหรัฐฯ เนื่องจากคูเวตเป็นประเทศที่ใกล้ชิดสหรัฐฯ มากกว่า
 
"ในปี 1990 ซัดดัมฝ่าฝืนคำสั่งหรือไม่ก็เข้าใจสหรัฐฯ ผิด จนทำให้เขาถูกเปลี่ยนจากสหายคนสนิทของสหรัฐฯ กลายเป็นฮิตเลอร์กลับชาติมาเกิด" ชอมสกี้กล่าว
 
จากนั้นประชาชนของอิรักก็กลายเป็นเหยื่อของการคว่ำบาตรและการ "สังหารหมู่" ที่ถูกสหรัฐฯ คอยหนุนหลัง
 
ชอมสกี้ อธิบายว่าแม้ว่าการบุกอิรักในปี 2003 ที่นำโดยสหรัฐฯ นั้น จะมาจากข้ออ้างที่ผิด ๆ และการโกหก จนถือเป็น "อาชญากรรมครั้งใหญ่" ผู้ที่วิจารณ์การบุกอิรักหลายคนรวมถึงโอบาม่าเอง เพียงแค่บอกว่ามันเป็น "ความผิดพลาด" หรือแค่ "กลยุทธ์ที่พลั้งเผลอ" เท่านั้น
 
ชอมสกี้ ให้เครดิตกับการเลือกตั้งในอิรักเมื่อปี 2005 ว่าเป็นผลงานของประชาชนอิรักที่ออกมาเรียกร้อง แม้ทางสหรัฐฯ จะปฏิเสธเรื่องนี้ในทีแรก
 
เขาอธิบายว่า แม้กองทัพสหรัฐฯ จะสามารถสังหารกลุ่มกบฏในอิรักมากเท่าใดก็ได้ แต่เป็นเรื่องที่ยากกว่าในการยิงประชาชนที่ชุมนุมอย่างสงบตามท้องถนนในพื้นที่เปิด จนในตอนนั้นสหรัฐฯ ต้องยอมจำนนต่อการกดดันของประชาชนอิรัก
 
แม้ว่าจะถูกกดดันให้ประกาศถอนทัพออกจากอิรัก แต่สหรัฐฯ ก็ยังคงหาวิธีวางตัวเองอยู่ในประเทศต่อไป ภายใต้รัฐบาลของโอบาม่า สหรัฐฯ ก็ยิ่งวางแผนจะขยายสถานฑูตสหรัฐฯ ในกรุงแบกแดดใหญ่โตขึ้นไปอีก จากเดิมที่ใหญ่โตมโหฬารอยู่แล้ว ชอมสกี้กล่าว
 
 
000
 
 
สหรัฐฯ จึงต้องยอมให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นชัยชนะของผู้ประท้วงที่ไม่ใช่ชาวอิรักเอง พวกเขาฆ่ากลุ่มกบฏได้ แต่พวกเขาไม่สามารถจัดการกับประชาชนนับพันบนท้องถนนได้
 
 
มองโลกในแง่ดี
ชอมสกี้ ยังเน้นว่า การกดดันในประเทศ 'ตะวันตก' เอง จะสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนที่ถูกกระทำและถูกรุกรานจากรัฐบาล 'ตะวันตก' ให้ดีขึ้นได้
 
"ในการต่อต้านสงครามอิรักกับการต่อต้านสงครามเวียดนามนั้นมีหลายจุดชวนให้เปรียบเทียบกัน แต่เรามักจะลืมไปว่า ในตอนแรกนั้นแทบไม่มีการต่อต้านสงครามเวียดนามเกิดขึ้นเลย" ชอมสกี้กล่าว
 
"ส่วนในสงครามอิรักนั้น มีการประท้วงเกิดขึ้นในหลายประเทศแม้กระทั่งก่อนที่จะดำเนินการอย่างเป็นทางการเสียอีก และมันก็ส่งผลกระทบด้วย ทำให้สหรัฐอเมริกาไม่สามารถใช้กลยุทธแบบที่เคยใช้กับเวียดนามได้ ไม่มีการใช้ระเบิด B52 ไม่มีการใช้อาวุธเคมี ในความเป็นจริง (สงครามอิรักเอง) ก็เลวร้ายพออยู่แล้ว แต่มันอาจแย่กว่านี้ก็ได้"
 
"และนอกจากนี้แล้ว รัฐบาลบุชเองก็ถอยห่างจากการมุ่งทำสงครามลง ทีละก้าวละก้าว" เขาเสริม
 
"สหรัฐฯ จึงต้องยอมให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นชัยชนะของผู้ประท้วงที่ไม่ใช่ชาวอิรักเอง พวกเขาฆ่ากลุ่มกบฏได้ แต่พวกเขาไม่สามารถจัดการกับประชาชนนับพันบนท้องถนนได้ พวกเขาถูกผูกมัดโดยข้อจำกัดภายในประเทศ พวกรัฐบาลสหรัฐฯ จึงยอมถอนตัว อย่างน้อยก็จากการมุ่งทำสงครามในระดับรูปธรรม"
 
"ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2007 สหรัฐฯ ยังคงยืนยันใน 'ข้อตกลงการคงสถานะของกองกำลัง' (Status of Forces Agreement) ที่อนุญาตให้คงกองกำลังสหรัฐฯ ไว้ในอิรัก และให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ลงทุนชาวสหรัฐฯ ในการเข้าถึงทรัพยากรของอิรัก แต่พวกเขาก็จำต้องถอยออกมา อิรักเป็นเรื่องที่น่าหวาดวิตก แต่มันก็อาจจะเลวร้ายกว่านี้"
 
"ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าการประท้วงได้ส่งผลบางอย่าง ถ้าหากไม่มีการประท้วงก็ไม่มีการดึงความสนใจ ก็จะยิ่งมีการใช้อำนาจอย่างเหิมเกริม เช่นในกัมพูชาและทางตอนเหนือของลาว" ชอมสกี้กล่าว
 
000
 
 
ถือว่าตุรกีมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าประเทศที่นำตัวเองเข้าสู่สงคราม
 
 
ตุรกี
ชอมสกี้กล่าวว่าตุรกีสามารถเลือกจะเล่นเป็น "ผู้เล่นที่สำคัญในบทบาทไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด" ได้
 
"ตุรกีจะต้องมีการตัดสินใจจากภายในประเทศว่า พวกเขาจะร่วมมือกับโลกตะวันตกและได้รับการยอมรับจากสหภาพยุโรป (EU) หรือพวกเขาจะมองความจริงและเข้าใจว่ายุโรปนั้นมีการเหยียดเชื้อชาติอย่างมากจนไม่อาจให้พวกเขาเข้าร่วมได้" ชอมสกี้กล่าว โดยอธิบายว่า ยุโรป "ยังคงพยายามปิดกั้นไม่ให้ตุรกีเข้าร่วมสหภาพยุโรปมากขึ้นเรื่อย ๆ"
 
แต่เขาก็บอกว่าตุรกีเคยเล่นเป็นพวกไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดมาก่อนในปี 2003 จากการที่รัฐบาลยอมฟังเสียงประชาชนและไม่เข้าร่วมสงครามที่สหรัฐฯ บุกอิรัก โดยประชาชนส่วนใหญ่ของชาวตุรกีมีท่าทีไม่เห็นด้วยกับการบุกอิรักของสหรัฐฯ
 
ชอมสกี้กล่าวถึงยุโรปต่อว่า 'ยุโรปใหม่' นั้นนำโดย แบร์ลุสโคนี ของอิตาลี และ อัซนาร์ ของ สเปน ผู้ที่ไม่ยอมรับความเห็นจากประชาชนที่ต่อต้านสงครามอิรัก และตัดสินใจตามบุชไปมากกว่า
 
ถ้ากล่าวในประเด็นนี้แล้ว ต้องถือว่าตุรกีมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าประเทศที่นำตัวเองเข้าสู่สงคราม จนทำให้ต่อมาสหรัฐฯ ไม่พอใจตุรกี
 
ชอมสกี้เสริมอีกว่า ในปัจจุบันตุรกีก็ยังคงแสดงความไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดโดยการปฏิเสธ ไม่ยอมเข้าร่วมขบวนการทางทหารของสหรัฐฯ และอิสราเอล
 
 
000
 
 
...ซึ่ง NATO ก็ได้ให้ความช่วยเหลือสหรัฐฯ ในเรื่องการควบคุมทรัพยากรพลังงาน แต่สหรัฐฯ เองก็ใช้ NATO เป็นเครื่องมือทำให้ยุโรปอยู่ภายใต้การควบคุม
 
 
อิทธิพลของความกลัว
ชอมสกี้ อธิบายว่ารัฐบาลฝ่าย 'ตะวันตก' ใช้ "หลักปฏิบัติของธูซีดิดิส" (ที่ว่าผู้ที่เข้มแข็งจะทำตามความต้องการตน ขณะที่ผู้อ่อนแอจะต้องทนทุกข์) ประชาชนของพวกเขาก็ถูกเหวี่ยงไปกับ "อิทธิพลของความกลัว"
 
ทางสื่อบรรษัท และปัญญาชนที่ร่วมสมคบคิด ทำให้ประชาชนเชื่อว่าอาชญากรรมและการทารุณที่กระทำโดยรัฐบาลของพวกเขานั้นเป็นการทำไปโดย 'การป้องกันตนเอง' หรือไม่ก็เป็นการ 'แทรกแซงเชิงมนุษยธรรม'
 
 
NATO
ชอมสกี้ระบุว่า โอบาม่าได้ขยายผลในสงครามอัฟกานิสถานของอดีตประธานาธิบดีบุช โดยใช้องค์กรสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) ซึ่ง NATO ก็ได้ให้ความช่วยเหลือสหรัฐฯ ในเรื่องการควบคุมทรัพยากรพลังงาน แต่สหรัฐฯ เองก็ใช้ NATO เป็นเครื่องมือทำให้ยุโรปอยู่ภายใต้การควบคุม
 
"ตั้งแต่หลังสงครามโลกไม่นานนัก ก็เป็นที่เข้าใจว่ายุโรปตะวันตกอาจเลือกเป็นประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด" ชอมสกี้กล่าว "NATO จึงมีส่วนในการช่วยต้านทานภัยร้ายชนิดนี้ให้สหรัฐฯ"
 
 
น้ำมันของตะวันออกกลาง
ชอมสกี้อธิบายว่า แหล่งน้ำมันในตะวันออกกลางเป็น "แหล่งพลังงานทางยุทธศาสตร์ที่มีอยู่มหาศาล" เป็น "หนึ่งในวัตถุทรงคุณค่ามากที่สุดของประวัติศาสตร์โลก" และเป็น "บริเวณที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์" มากที่สุดในโลก ตามคำกล่าวอ้างของ ไอเซนฮาวเวอร์
 
การควบคุมแหล่งน้ำมันในตะวันออกกลาง จะทำให้สหรัฐอเมริกาสามารถ "ควบคุมความมั่งคั่งของโลกได้"
 
ในเรื่องนี้ทำให้ สหรัฐฯ "ต้องสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการที่โหดเหี้ยม ปิดกั้นประชาธิปไตยและการพัฒนา" ในตะวันออกกลาง
 
000
 
"สิ่งหนึ่งที่ประสบความสำเร็จมากในการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายซึ่งถูกประโคมในสื่อต่าง ๆ คือ การปิดองค์กรการกุศลของอิสลามคือ บาราคัท ซึ่งถูกหาว่าสนับสนุนการก่อการร้าย"
 
"อีกสองเดือนถัดมา รัฐบาลสหรัฐฯ ถึงได้รู้ว่าพวกเขาเข้าใจผิด และสื่อก็ลงเรื่องนี้เพียงสองบรรทัดเท่านั้น
 
 
โซมาเลีย
นอกจากนี้ ชอมสกี้ยังได้กล่าวถึงต้นตอปัญหาโจรสลัดในโซมาเลีย
 
"โจรสลัดไม่ใช่อะไรที่ดีแน่ แต่ว่าพวกเขามาจากไหนกันล่ะ?"
 
ชอมสกี้อธิบายเหตุผลคร่าว ๆ อย่างหนึ่งว่า โจรสลัดเกิดมาจากการที่ประเทศในยุโรปและประเทศอื่น ๆ "ทำลายพื้นน้ำของโซมาเลียด้วยการทิ้งสิ่งปฏิกูล ซึ่งอาจมีกากนิวเคลียร์ด้วย รวมถึงการจับสัตว์น้ำที่มากเกินพอดี"
 
"แล้วเกิดอะไรขึ้นกับชาวประมงในโซมาเลียล่ะ? พวกเขาก็กลายเป็นโจรสลัด แล้วพวกเรากลับมาไม่พอใจโจรสลัด แทนที่จะไม่พอใจสิ่งที่สร้างปรากฏการณ์นี้ขึ้นมา"
 
โดยชอมสกี้ยังได้ยกอีกตัวอย่างหนึ่งซึ่งเป็นการทำร้ายโซมาเลีย
 
"สิ่งหนึ่งที่ประสบความสำเร็จมากในการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายซึ่งถูกประโคมในสื่อต่าง ๆ คือ การปิดองค์กรการกุศลของอิสลามคือ บาราคัท ซึ่งถูกหาว่าสนับสนุนการก่อการร้าย"
 
"อีกสองเดือนถัดมา รัฐบาลสหรัฐฯ ถึงได้รู้ว่าพวกเขาเข้าใจผิด และสื่อก็ลงเรื่องนี้เพียงสองบรรทัดเท่านั้น แต่ในขณะนั้น เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่กระทบโซมาเลียหนักมาก เพราะเศรษฐกิจในโซมาเลียอาศัยการสนับสนุนจากองค์กรนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งไม่ใช่แค่การบริจาค แต่รวมถึงการดำเนินกิจการธนาคารและธุรกิจต่าง ๆ ด้วย"
 
"นั่นเป็นส่วนที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจของโซมาเลีย พอปิดมันลงไป ก็ทำให้เกิดอีกปัจจัยหนึ่งในการทำลายสังคมที่กำลังอ่อนแอ และนี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง"
 
000
 
 
แต่ดาร์ฟูร์ก็เป็นประเด็นที่แพร่หลายมากในหมู่นักมนุษยธรรมตะวันตก
เพราะคุณสามารถใส่ความว่าเป็นฝีมือของศัตรูคุณได้
 
 
ดาร์ฟูร์
ชอมสกี้พูดถึงเรื่องในเขตดาร์ฟูร์ของประเทศซูดานด้วย
 
"มีเรื่องแย่ ๆ เกิดขึ้นในดาร์ฟูร์ แต่ถ้าเทียบกับที่อื่น ๆ ในเขตนั้นแล้ว ก็ไม่ถือว่าโชคร้ายมากเท่ากับเรื่องที่เกิดขึ้นในคองโกตะวันออก ซึ่งเลวร้ายกว่ามากเมื่อเทียบกับดาร์ฟูร์"
 
"แต่ดาร์ฟูร์ก็เป็นประเด็นที่แพร่หลายมากในหมู่นักมนุษยธรรมตะวันตก เพราะคุณสามารถใส่ความว่าเป็นฝีมือของศัตรูคุณได้ คุณจะต้องบิดเบือนเรื่องนี้มาก ๆ แต่คุณก็ยังสามารถบอกว่าคนผิดคือพวก 'อาหรับ' 'คนร้าย' " เขาอธิบาย
 
"แล้วเรื่องการช่วยเหลือคองโกตะวันออกล่ะ ทั้ง ๆ ที่เหตุการในคองโกมีคนถูกสังหารไปมากเป็น 20 เท่า ในเรื่องนี้ คงจะซับซ้อนไปสักหน่อยสำหรับคนที่อาศัยทรัพยากรเหมืองแร่จากคองโกตะวันออก ที่มาจากกลุ่มติดอาวุธในประเทศซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหลายชาติ โดยกลุ่มติดอาวุธพวกนี้สังหารและนำทรัพยากรแร่มาให้"
 
หรือความจริงที่ว่าเหตุการณ์ในรวันดานั้น ถือว่าแย่ที่สุดและมันก็เป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าของสหรัฐฯ ด้วย
 
000
 
 
แม้ประธานาธิบดีโอบาม่า จะมีน้ำเสียงที่แข็งกร้าวต่ออิสราเอลมากกว่าบุช
แต่ก็ไม่มีการแสดงการกดดันใด ๆ ต่ออิสราเอล
 
 
การรายงานเหตุฉนวนกาซ่าของโกลด์สโตน*
ดูเหมือนว่าชอมสกี้จะเห็นด้วยกับอิสราเอลในเรื่องที่ว่าการรายงานเรื่องสงครามฉนวนกาซาของกลุ่มโกลด์สโตนมีอคติ เพียงแต่เขาเห็นว่าอคติดังกล่าวคือารเอนเอียงไปทางอิสราเอล
 
ในรายงานของโกลด์สโตนมีการยอมรับในสิทธิป้องกันตนเองของอิสราเอล แม้ว่ากลุ่มจะต่อต้านวิธีการที่อิสราเอลใช้
 
ชอมสกี้เน้นว่า สิทธิในการป้องกันตนเองไม่ได้หมายถึงการอาศัยกำลังทหารก่อนการใช้ "วิธีการสันติจนสุดทาง" ซึ่งเป็นสิ่งที่อิสราเอลไม่เคยแม้แต่จะนำมาพิจารณา
 
เขาชี้ให้เห็นความจริงที่ว่า ทางอิสราเอลเริ่มละเมิดสนธิสัญญาหยุดยิงกับกลุ่มฮามาสก่อน เพียงแต่ไม่ได้ล่วงล้ำไปมากกว่านี้ โดยการที่อิสราเอลยังคงปิดล้อมฉนวนกาซาก็ถือว่าเป็นการทำสงครามแล้ว
 
ในเรื่องกระบวนการสร้างสันติภาพในตะวันออกกลางนั้น ชอมสกี้เห็นว่า แม้ประธานาธิบดีโอบาม่า จะมีน้ำเสียงที่แข็งกร้าวต่ออิสราเอลมากกว่าบุช แต่ก็ไม่มีการแสดงการกดดันใด ๆ ต่ออิสราเอล
 
นอกจากการการขู่ว่าสหรัฐฯ จะตัดความช่วยเหลือแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่อิสราเอลจะต้องฟังสหรัฐฯ
 
000
 
 
"ใช้สติปัญญาที่มองโลกในแง่ร้าย ด้วยพลังใจที่มองโลกในแง่ดี"
 
 
แล้วเราจะทำอย่างไรกันดี?
ทั้งหมดนี้แม้จะฟังดูเต็มไปด้วยอุปสรรค แต่การกดดันจากประชาชนนั้นสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้ จึงควรกระตุ้นให้ประชาชนดำเนินกิจกรรมและเผยแพร่ความรู้ต่อไปเรื่อย ๆ
 
"ไม่มีเหตุผลที่จะมองโลกในแง่ร้าย แต่มองมันตามความเป็นจริง"
 
ชอมสกี้ระบุว่าความเห็นจากประชาชนในสหรัฐฯ และอังกฤษ มีการรับรู้เรื่องอาชญากรรมของรัฐบาลอิสราเอล
 
"ความเห็นของประชาชนกำลังเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด"
 
และนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากอิสราเอลจะไม่ปรับนโยบายของพวกเขาหากไม่มีการกดดันจากทาง 'ตะวันตก'
 
"มีอะไรให้ต้องทำมากมายสำหรับประเทศตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ"
 
ชอมสกี้ยังได้เน้นถึงความสำคัญของการใช้กฎหมายกับกลุ่มบริษัทในประเทศตะวันตกที่ดำเนินธุรกิจกับอิสราเอลโดยละเมิดกฎหมายสากล โดยบริษัทบริติซแก๊ซในอิสราเอลอาจมีส่วนในการขโมยแหล่งก๊าซธรรมชาติในแถบชายฝั่งฉนวนกาซา ซึ่งก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ต้องมีการตรวจสอบ
 
ในช่วงสรุปการบรรยาย ชอมสกี้กล่าวโดยอ้าง อันโตนิโอ กรัมชี** เรียกร้องให้ "ใช้สติปัญญาที่มองโลกในแง่ร้าย ด้วยพลังใจที่มองโลกในแง่ดี"
 
 
ที่มา แปลจาก
Noam Chomsky: no change in US 'Mafia principle', Mamoon Alabbasi, Middle East Online, 01-11-2009
 
 
 
เชิงอรรถ
* โกลด์สโตนเป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UNHRC) โดยมีผู้พิพากษา ริชาร์ด โกลด์สโตน เป็นผู้นำกลุ่ม โดยกลุ่มนี้มีหน้าที่สืบหาความจริงด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามหลักสากล ที่กลุ่มอำนาจอิสราเอลกระทำกับชาวปาเลสไตน์ โดยเฉพาะที่ฉนวนกาซา
 
ทางอิสราเอลบอกว่าจะไม่ให้ความร่วมมือกับกลุ่มโกลด์สโตนเนื่องจากเป้าหมายการดำเนินงานที่อคติต่ออิสราเอล และยังกล่าวหาว่ากลุ่มติดอาวุธฮามาสมีส่วนร่วมกับกลุมโกลด์สโตนด้วย
 
 
** อันโตนิโอ กรัมชี นักปรัชญาการเมืองชาวอิตาลี ผู้กล่าวถึงทฤษฎีอำนาจนำ (Hegemony) ซึ่งพูดถึงการที่ผู้มีอำนาจปกครองโดยไม่จำเป็นต้องใช้กำลัง เพียงแต่ทำให้ผู้ตามยินยอมพร้อมใจตามผู้นำผ่านทางแนวคิดอุดมการณ์ที่ซึมลึกเข้าไปในระดับวัฒนธรรม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net