ครม.ไฟเขียวร่างกฎหมายคุมม็อบ ที่สตช.เสนอ

 
วันที่ 6 ต.ค. 52 เมื่อเวลา 13.30 น. นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบในหลักการร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ

นายปณิธานกล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้เสนอมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว ล่าสุด คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกายกร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยยึดหลักไม่ให้กระทบกับสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ และจัดระบบการควบคุมพื้นที่ในการชุมนุม รวมทั้งกำหนดบทลงโทษให้สอดคล้องกับสถานการณ์การชุมนุม

นายศุภชัย ใจสุมทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมครม.ให้ความเห็นชอบหลักการร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ ซึ่งมีเนื้อหาสาระ 12 มาตราและที่ประชุมครม.เห็นว่า การพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ยังมีรายละเอียดไม่ครอบคลุม เพียงรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้ข้อสังเกตุจำนวนมากจึงมอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นหน่วยงานหลักในการยกร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว

สำหรับสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ประกอบด้วย

1. กำหนดนิยามศัพท์ของคำว่า

“การชุมนุมสาธารณะ” “ที่สาธารณะ” “ผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ” และ “เจ้าพนักงาน”

2. กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ

3. กำหนดมาตรการเพื่ออำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยในการชุมนุมสาธารณะ โดยกำหนดให้ผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะมีหนังสือแจ้งต่อเจ้าพนักงานในท้องที่ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 5 วัน พร้อมรายละเอียดเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ วิธีการ สถานที่ วัน เวลา และระยะเวลาที่จะจัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ จำนวนผู้เข้าร่วมการชุมนุมสาธารณะโดยประมาณ และชื่อที่อยู่ของผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ

4. กำหนดเงื่อนไขที่ผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะต้องปฏิบัติเพื่อคุ้มครองไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญและไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เช่น ไม่ชุมนุมใกล้พระบรมมหาราชวังในระยะ 500 เมตร ไม่ชุมนุมใกล้โรงพยาบาล หรือโรงเรียนขณะเปิดทำการในระยะ 200 เมตร หรือสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ไม่ปิดล้อมสถานที่ราชการหรือสถานที่ทำการของส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ ไม่นำ ยินยอม หรือปล่อยปละละเลยให้มีการนำอาวุธเข้าไปในที่ชุมนุมสาธารณะ เป็นต้น

5. ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมและออกไปจากสถานที่ชุมนุมโดยเร็ว ในกรณีที่การชุมนุมสาธารณะฝ่าฝืนกฎหมาย หรือน่าจะมีการกระทำอันเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของผู้ชุมนุม บุคคลอื่น หรือของรัฐ

6. หากผู้ชุมนุมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งให้เลิกการชุมนุม ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจสั่งใช้กำลังเข้าแก้ไขสถานการณ์การชุมนุมได้เท่าที่จำเป็นแก่สถานการณ์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

7. เจ้าพนักงานอาจขอกำลังทหารหรืออาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ได้

8. กำหนดบทลงโทษผู้กระทำความผิด ดังนี้ กรณีผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะฝ่าฝืนมาตรา 5 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะฝ่าฝืนมาตรา 6 หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานตามมาตรา 7 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีผู้เข้าร่วมการชุมนุมสาธารณะมีหรือพกพาอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด ต้องระวางโทษเพิ่มเป็นสองเท่าของความผิดที่กฎหมายกำหนดไว้

และเมื่อเวลา 14.00 น. พล.ต.ต. อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล แถลงข่าวภายหลังคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอว่า กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือช่วยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถดูแลการชุมนุมให้เกิดความสงบเรียบร้อย โดยไม่ลิดรอนสิทธิของประชาชน

"ผมเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้จำเป็นต่อการชุมนุมอย่างยิ่ง และไม่ใช่เป็นการลิดรอนสิทธิ แต่เป็นการอำนวยความสะดวกของผู้ชุมนุม ทำให้การชุมนุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามรัฐธรรมนูญ 2550 ม.63 วรรคสอง โดยกำหนดโทษทั้งผู้ชุมนุมและแกนนำที่ไม่เชื่อฟังคำสั่งเจ้าหน้าที่ เพราะที่ผ่านมาแกนนำไม่เชื่อฟังคำสั่งเจ้าหน้าที่ทำให้การชุมนุมไม่เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย " รอง ผบช.น.กล่าว

“บ้านเมืองเราขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องกติกาการชุมนุม สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมในที่สาธารณะเข้าคณะรัฐมนตรี ซึ่งเพิ่งมีมติให้ร่างพรบ.ฉบับนี้ผ่านแล้ว จากนั้นก็จะนำเข้ากฤษฎีกาเพื่อตีความหากไม่มีการแก้ไข ก็จะนำเข้าสภาและออกเป็นกฎหมายการดำเนินการกับผู้ชุมนุมก็จะมีความชัดเจนขึ้น เช่น การรวมตัวชุมนุมจะต้องไม่ใกล้พระราชวังกี่เมตร ต้องห่างจากโรงพยาบาล สถานศึกษาเท่าใด ห้ามปิดล้อมสถานที่ราชการ สนามบิน ซึ่งจะมีความผิดระบุอยู่ในตัวจะไม่มีการจับมั่ว ห้ามพกพาอาวุธ” รอง ผบช.น. กล่าว

พล.ต.ต.อำนวย กล่าวยืนยันว่า นครบาลมีมาตรการดำเนินการกับกลุ่มผู้ชุมนุมมาตรฐานเดียวกัน หากผู้ชุมนุมกลุ่มใดมีการปิดการจราจรทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนก็จะต้องถูกดำเนินการเหมือนกันหมด และขอให้ผู้ชุมนุมอย่าไปกลัว พรบ.ฉบับนี้

ทั้งนี้ ย้อนไปเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.52 เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม จัดงานเสวนาว่าด้วยพัฒนาการของการชุมนุมและการจัดการการใช้เสรีภาพในการชุมนุมในสังคมไทย ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รศ.ดร.บรรเจิด สิงคเนติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มิติของร่างกฎหมายเรื่องการชุมนุมในเมืองไทย จะเน้นที่การจำกัดควบคุมซึ่งเป็นกฎหมายจากภาครัฐ ซึ่งเขาเห็นว่า หากจะมีกฎหมายการชุมนุม กฎหมายนั้นก็ต้องมาจากภาคประชาชน

"ผมคิดว่ากฎหมายต้องเริ่มจากภาคประชาชน มิเช่นนั้น หากให้ภาครัฐออกกฎหมาย มันมาจากมุมมองที่จะจำกัดเสรีภาพ แต่หากมาจากประชาชน กฎหมายนี้ก็จะถูกกำหนดเพื่อการแสดงออกทางความเห็น"

บรรเจิดกล่าวถึงประเด็นที่มักมีความกังวลกันว่า การชุมนุมมักกระทบต่อการใช้เส้นทางสาธารณะ ซึ่งเขาเห็นว่า มันเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับโดยสภาพอยู่แล้ว การชุมนุมอาจกระทบเส้นทางจราจรบ้าง

นักวิชาการจากคณะนิติศาสตร์กล่าวว่า การชุมนุมที่กระทบเส้นทางจราจร แตกต่างจากการบล็อคถนน แต่แม้ว่าในแง่กฎหมายแล้วการบล็อคถนนจะถือว่าเกินขอบเขตของการใช้เสรีภาพ อีกทั้งระยะหลัง การชุมนุมยังได้กลายเป็นแฟชั่นในการต่อรองเจรจา แต่อีกด้านที่ต้องคำนึงคือ แง่ของฝ่ายบริหารก็ต้องดำเนินการเจรจาแก้ไขปัญหาด้วย

สารี อ๋องสมหวัง กลุ่มประชาชนผู้ไม่เอาสงครามกลางเมืองกล่าวว่า ภาคประชาชน เอ็นจีโอ ไม่ได้มีอาชีพชุมนุม แต่การชุมนุมถือเป็นเครื่องมือของคนที่ไม่มีปากไม่มีเสียง เมื่อไม่มีทางอื่นที่จะบอกปัญหาแล้ว การชุมนุมจึงเป็นเครื่องมือของการต่อรองทางการเมือง ซึ่งนี่อาจจะเป็นพัฒนาทางการเมืองของการชุมนุม

"การชุมนุมก็เป็นเรื่องที่ทำอยู่ และรัฐไม่ต้องคิดอะไรมาก มันคือการเปิดโอกาสให้ประชาชนบอกเรื่องของตัวเอง และรัฐก็ควรทำหน้าที่ตอบสนองปัญหาของการชุมนุมให้ได้มากที่สุด และจะทำอย่างไรที่จะแก้ไขกลไกปัญหาของข้าราชการที่นำมาสู่การออกมาชุมนุมของประชาชนได้"

สารีกล่าวเพิ่มเติมว่า ในสภาพที่ประชาชน มีการชุมนุมที่ถือเป็นมาตรการท้ายๆ ของการแก้ปัญหา สิ่งที่ยอมรับไม่ได้คือ การขออนุญาตชุมนุม

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ฉบับ สตช. นี้ ยังมีข้อพิจารณาอยู่ว่าการบังคับใช้อาจมีปัญหา เช่น การขออนุญาตการชุมนุมล่วงหน้า ว่าจะขัดต่อสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่หลายฝ่ายเห็นพ้องกันว่าจำเป็นต้องมีกฎหมายเพื่อบริหารจัดการชุมนุม ว่าจะมีเครื่องมือมาดูแลการชุมนุมให้ให้เกิดความรุนแรงได้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม มีผู้อ่านนำเสนอในเว็บไซต์โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (www.ilaw.or.th) ซึ่งเป็นเว็บไซต์รณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมเสนอและแก้ไขกฎหมายฉบับต่างๆ ว่า ประเทศไทยน่าจะกฎหมายควบคุมการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่รัฐด้วยเช่นกัน โดยกำหนดมาตรฐานว่าตำรวจ ทหารสามารถถือครองอาวุธอะไร ในสถานการณ์ใด มีอาวุธประเภทใดที่ใช้กับประชาชนได้บ้าง และกำหนดลำดับของมาตรการควบคุมฝูงชนอย่างชัดเจน

 
ที่มา: www.ilaw.or.th

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท