Skip to main content
sharethis

การจัดทำกติกาโลกในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนตามแผนปฏิบัติการบาหลีภายใต้ “อนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC)” ได้ดำเนินมาเป็นวันที่ 9 นอกจากผลเจรจาที่คืบหน้าแล้ว ในวันนี้ ประชาชนจาก 5 ชาติเอเชียจะเป็นพยานต่อให้การต่อ “ศาลประชาชน” ศาลจำลองเพื่อเผยผลกระทบจากโลกร้อนด้วย

 

 
(5 ต.ค. 52) นอกตึกที่ทำการองค์การสหประชาชาติในกรุงเทพฯ จะคึกคักเต็มไปด้วยสีสันการเรียกร้อง ขณะที่ในห้องเจรจาเร่งเต็มที่แต่ยังคงได้เพียงลดจำนวนหน้าเอกสารเจรจาไป 35 หน้า จากเดิม 170 หน้าเมื่อ 28 ก.ย. เหลือราว 135 หน้าวันนี้ (เอกสารอย่างไม่เป็นทางการ)
 
องค์กรประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชนเอเชียนำทัพจัดเดินขบวนใหญ่จากสวนสันติชัยปราการสู่สถานที่เจรจาโลกร้อน UNESCAP โดยมีชาวบ้านเอ็นจีโอไทยและระดับโลกเข้าร่วม รวมกว่า 1,500 คน เรียกร้องให้เสียงนอกเวทีเจรจาถูกนำไปพิจารณาดำเนินการสำหรับข้อตกลงโลกร้อนกรุงเทพและโคเปนเฮเกน
 
“นี่คือการรวมพลังของสหประชาชนเอเชียสำหรับการเจรจาโลกร้อนภายใต้การดำเนินการของสหประชาชาติ เราต้องการแสดงให้เห็นว่าเสียงของประชากรอาเซียนั้นต้องถูกรับฟังและบรรจุเข้าไปในการเจรจาอย่างเป็นผลที่กรุงเทพฯ ถึง โคเปนเฮเกน” กิ่งกร นรินทรกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรมกล่าว
 
“เราจำเป็นต้องเดินขบวนเพราะเห็นตรงกันว่า ไม่มีความหวังว่าการแก้ปัญหาวิกฤตโลกร้อนอย่างมีนัยสำคัญนั้นจะเกิดขึ้นอย่างเท่าทันความเร่งด่วนของปัญหา ภายใต้การดำเนินการของ UNFCCC ดังนั้นทางหนึ่งคือรวมพลังให้เห็นและส่งเสียงเรียกร้องการดำเนินการที่มากพอและเท่าทันปัญหาจากเวทีเจรจา ให้พวกเขาได้เร่งดำเนินการ ให้รับรู้ว่าภาคประชาชนกำลังจับตามองอยู่” กิ่งกรกล่าว
 
“ประชาชนเอเชียควรมีสิทธิแสดงความต้องการต่อการดำเนินการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจังเพราะเราเป็นภูมิภาคที่พื้นที่ใหญ่มาก ประชากรส่วนใหญ่ของโลกก็อยู่ที่นี่ และคนที่จะได้รับผลกระทบหนักก็อยู่ที่นี่ ดังนั้นการดำเนินการก็ควรให้เราเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย เราจะติดตามใกล้ชิดจนถึงโคเปนเฮเกน” กิ่งกร ประกาศท่ามกลางผู้เข้าร่วมเดินขบวนด้านหน้า UNESCAP บ่ายวันนี้
 
ไดน่า เฟนเตสฟิน่า ผู้ประสานงานโครงการรณรงค์นานาชาติเพื่อปฏิบัติการลดโลกร้อน หรือ tcktcktck-Asia เปิดเผยว่านอกจากการเดินขบวนแสดงพลังวันนี้ กลุ่มประชาชนเอเชียจะร่วมกันกดดันการเจรจาด้วยการนำ “พยานโลกร้อน” หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อน 5 คนจากประเทศในเอเชีย (หนึ่งคนเป็นชาวนาไทย) ในปัจจุบันมาให้ปากคำใน “ศาลประชาชน” ซึ่งจะจัดขึ้นที่โรงแรงปรินซ์พาเลซ พรุ่งนี้ (6 ต.ค.)
 
“การเปิดเผยความจริงผลกระทบโลกร้อนผ่านผู้ได้รับผลกระทบจริงผ่าน “ศาลประชาชน” ครั้งนี้เป็นหนึ่งในศาลประชาชนที่จัดขึ้นรวม 125 ครั้งใน 17 ประเทศทั่วโลกก่อนการเจรจาโลกร้อนโคเปนเฮเกน ซึ่งครั้งนี้ที่เวทีเจรจากรุงเทพ เราเลือก “พยานโลกร้อน” ที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียให้เป็นผู้เปิดเผยความจริงผลกระทบที่พวกเขาได้รับจากภาวะโลกร้อนตอนนี้ เราหวังว่าด้วยความจริงเหล่านี้ จะทำให้ผู้แทนเจรจาประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะจากประเทศพัฒนาแล้วจะตระหนักถึงความเร่งด่วนและความรุนแรงของสิ่งที่พวกเขาเจรจา” ไดน่ากล่าว
 
นอกจากกลุ่มอนุรักษ์และกลุ่มสิทธิมนุษยชน องค์กรประชาชนและเอ็นจีโอที่เข้าร่วมการเดินขบวนวันนี้รวมถึงกลุ่มคนจนเมือง (สลัม) กลุ่มชนเผ่า กลุ่มผู้หญิง กลุ่มเยาวชน กลุ่มแรงงาน และประชาชนทั่วไปที่สนใจ ทั้งจากประเทศไทย ประเทศในเอเชียและจากนอกเอเชีย
 
 
ความคืบหน้าในห้องเจรจา 5 ต.ค.
1. ได้เอกสารไม่เป็นทางการเรียกว่า non-paper ของแต่ละห้อง 5 ห้อง (ส่วน AWG-KP ไม่มีเอกสาร เจรจาแต่ตัวเลขตามรายละเอียดด้านล่าง)
2. จากร่างที่เสนอเข้าที่ประชุมกรุงเทพ เป็น non-paper สามารถลดจำนวนหน้าได้ 35 หน้า (จาก 170 หน้า) เฉพาะส่วน Adaptation ร่างทางการสำหรับเจรจาน่าจะออกวันพฤหัสบดี
3. ขั้นตอนจากนี้แต่ละห้องจะทำ non-paper ให้เป็นร่างสำหรับเจรจาในห้องตัวเอง (รายประเด็น) แล้วเริ่มการเจรจา ได้เท่าไรก็เท่านั้น สรุปส่งเข้าที่ประชุมบาร์เซโลน่า สรุปส่งเข้าโคเปนเฮเกน
 
การเจรจาโลกร้อนกรุงเทพ (28 ก.ย.-9 ต.ค. 52)
ความคืบหน้า
คณะทำงานด้าน
พิธีสารเกียวโต
AWG-KP
คณะทำงาน
ด้านทิศทางระยะยาว
AWG-LCA
วิสัยทัศน์
Shared vision
การปรับตัวรับมือ
Adaptation
การลดก๊าซ
Mitigation
กลไกการเงิน
Finance
ถ่ายทอดเทคโนโลยีฯ
Tech Transfer & Capacity Building
จำนวนหน้าเอกสารเจรจา
 28 ก.ย.
-
15
36
63
22
34
4 ต.ค.
รวม
-
15
36
63
22
34
5 ต.ค.
รวม 135 หน้า
-
15
23
49
23
19+6=25
ลดลง(หน้า)
-
0
13
Draft ใหม่คาดออกพฤหัสนี้
14
+1
9
 
 
 
“ความคืบหน้าการเจรจาโลกร้อน ผ่านปากคำทีมเจรจาไทย”
 
สัมภาษณ์ อารีวัฒนา ทุมมาเกิด
หัวหน้าทีมเจรจาไทย ส่วนคณะทำงานด้านทิศทางระยะยาว (AWG-LCA)
 
 
ที่ผ่านมาภาพรวมการเจรจาเป็นอย่างไร
ถ้าจะพูดภาษาชาวบ้านละก็ สัปดาห์ที่ผ่านมาเราเจรจากันว่าด้วยเรื่องจะดำเนินการเจรจากันอย่างไรดี จากร่างเอกสารที่มีอยู่ (Consolidate Text)
 
 
ช่วยให้รายละเอียดแต่ละส่วนในการเจรจาของ AWG-LCA (ส่วนที่จะบอกว่าหลังพิธีสารเกียวโตทิศทางการลดโลกร้อนจะเป็นอย่างไร)
ส่วนแรกการปรับตัวรับมือโลกร้อน (Adaptation) เราก็ร่วมกับกลุ่มประเทศยากจน G77 เรียกร้องให้ข้ามขั้นตอนปกติ(ซึ่งต้องเริ่มจาก เป้าหมาย วัตถุประสงค์ หลักการนำไปปฏิบัติ แล้วค่อยเป็นวิธีปฏิบัติ ..เป็นต้น) ให้กระโดดไปพิจารณาส่วนที่จำเป็นและสำคัญ คือวิธีปฏิบัติเลย จะได้ไม่เสียเวลา คือตรงเข้าไปคุยเรื่องที่เห็นไม่ตรงกันเลย แต่กลุ่มประเทศร่ำรวย (Anex I) ก็จะค้าน บอกไม่ได้หรอกต้องคุยตั้งแต่เริ่ม ก็ทำให้ต้องเจอกันครึ่งทางว่าโอเคงั้นไปจัดกลุ่มประเด็นที่จะต้องเจรจากัน ได้เป็น Consolidate Text ขึ้นมา
ทุกส่วน ทั้งการลดก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) กลไกการเงิน (Finance) การถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer & Capacity Building) ก็จะมีกระบวนการคล้ายเดียวกัน ทำให้ทุกห้องได้ออกมาเป็น Consolidate Text (รวมประเด็นคล้ายกันเข้าด้วยกัน เพื่อทำให้จำนวนหน้าลดลง และเจรจาง่ายขึ้น)
สำหรับคนทั่วไปอาจฟังดูแปลก ๆ หน่อย แต่การกระบวนการตรงนี้ก็จำเป็นและจะทำให้ประเด็นที่แต่ละส่วนเห็นต่างชัดเจน เวลาตรงไหนเราเห็นต่างกันก็จะวงเล็บเอาไว้ก่อน พอเจรจาก็จะคุยหาทางเจอกันครึ่งทางหรือต่อรองกันเท่าที่จะทำได้ จนสามารถถอดวงเล็บได้ ในทางหลักการก่อนเข้าเวทีเจรจาโคเปนเฮเกนนี้ วงเล็บเหล่านี้ควรถูกถอดออกหมด แต่ถ้าจำเป็นจริง ๆ ถอดไม่ได้ (ตกลงกันไม่ได้) ก็ค้างไว้ได้
 
ในรายละเอียดสามารถมีความเห็นแตกต่าง ๆ ในที่ประชุมได้เยอะมาก อย่างเรื่องความรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซในอดีต พอคุยกันจนบอกว่าต้องรับผิดชอบ ประเทศพัฒนาแล้วปล่อยมาก่อนทำให้โลกร้อนวิกฤตตอนนี้ ต้องรับผิดชอบ เขาบอกโอเค แต่พอคุยว่าจะเริ่มนับตั้งแต่เมื่อไร ประเทศพัฒนาแล้วก็บอกจะเริ่มนับปี 1990 (2533) ซึ่งเป็นปีฐานการคำนวณตามพิธีสารเกียวโตเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก บรรดาประเทศกำลังพัฒนาก็บอกไม่ได้ นี่เราพูดถึงความรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซในอดีต ต้องนับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งเป็นตัวการใหญ่ คือราวปี 1850 นี่แค่ตัวอย่างนะ
 
ในส่วนการลดก๊าซ (Mitigation) ประเด็นหลักก็เป็นเรื่องจะลดโดยรายประเทศ หรือจะต้องตั้งรายภาค (sectural approach) เช่นภาคพลังงานต้องลดก๊าซเท่านั้น เท่านี้ไหม แนวโน้มก็อาจเป็นไปได้ว่าจะต้องกำหนดให้แต่ละประเทศ (พัฒนาแล้ว) ต้องลดรายประเทศ และกำหนดเป้าการลดรายภาค ด้วย ภายในปีที่ตกลงกันได้ นี่ก็อยู่ระหว่างการเจรจา
 
ส่วนกลไกการเงิน (Finance) ข้อเจรจาก็เป็นเรื่องประเทศกำลังพัฒนาบอกให้ประเทศพัฒนาแล้วดำเนินการตามที่มีพันธะสัญญา คือที่รับปากจะให้เงินเพื่อการปรับตัว Adaptation Fund ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วก็แย้ง ประชาคมยุโรป (อียู) ก็บอกเราขอเสนอกลไกการเงินใหม่ที่ยุติธรรมกว่า ด้วยการให้ประเทศกำลังพัฒนามีส่วนร่วมในการใส่เงินลงไปสำหรับการปรับตัวด้วย ซึ่งก็โดนคัดค้านหนักทีเดียว
 
ส่วนการถ่ายทอดเทคโนโลยี ประเด็นเจรจาหลักก็เรื่องประเทศกำลังพัฒนาเสนอให้หาทางกำจัดความลำบากในการใช้เทคโนโลยีแก้โลกร้อนที่ติดลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร ทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งส่วนใหญ่ประเทศพัฒนาแล้วเป็นเจ้าของ ทางประเทศพัฒนาแล้วก็บอกให้เอาเงินส่วนกลางอย่าง กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) มาซื้อสิแล้วเอาไปใช้ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องเจรจา ผ่านการคุยเรื่องร่างต่าง ๆ เรื่องการถอดวงเล็บอย่างที่บอก
 
 
สถานการณ์การเจรจาส่วนคณะทำงานด้านพิธีสารเกียวโต (AWG-KP) เป็นอย่างไร
AWG-KP ง่ายกว่า ซับซ้อนน้อยกว่าเพราะเจรจาก่อน AWG-LCA สองปี ค่อนข้างลงตัวในส่วนอื่น ยกเว้นที่ต้องเจรจากันเรื่องตัวเลข ว่าถ้าจะใช้พิธีสารเกียวโตต่อระยะสองจะตั้งเป้าเท่าไร เอาปีฐานไหน ใครต้องลดเท่าไร ส่วนใหญ่เป็นการต่อรองเจรจาตัวเลขเป็นหลัก
 
 
แล้วจุดยืนการเจรจาของไทยเป็นอย่างไร
เรียกว่าใช้หลัก no regret policy คือไม่ให้บ้านเราต้องเสียเปรียบ จะลดก๊าซก็ทำแต่ทำตามศักยภาพ จะไม่ยอมประเภทไปรับว่าจะทำแล้วมาบังคับภาคอุตสาหกรรมในประเทศ ทำให้ต้องเสียหายทางเศรษฐกิจทำนองนี้ ไม่มี
 
 
จริงไหมที่จะมีการรวมเสียงอาเซียนเพื่อทำข้อเสนอเป็นทางการสำหรับโคเปนเฮเกน
ก็คุยกัน และหวังว่าจะเป็นอย่างนั้น เราอยากให้เสียงอาเซียนเข้าสู่โคเปนเฮเกนด้วย จริงแล้วในอาเซียนเอง ไทยเราเป็นคนที่พยายามผลักดันให้เกิดเสียงอาเซียนในเวทีโลกร้อน
 
 
ได้ข่าวจะมีการจัดตั้งหน่วยงานใหม่เรื่องโลกร้อน ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
ตอนนี้ก็ยังไม่ชัดเจน เท่าที่ทราบคือมีการพูดถึงการมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ด้านนี้ให้ชัดเจน เพื่อประสิทธิภาพการดำเนินการด้านโลกร้อนที่นับวันจะเพิ่มความสำคัญ ในทางปฏิบัติยังไม่มีอะไรออกมาเป็นทางการถึงวันนี้นะ
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net