Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สตรีเหล่านี้ต้องออกมาต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิของตน ออกมานอนกลางดินกินกลางถนน เพราะมีคนกลุ่มหนึ่งรังแกพวกเขา พวกเขาได้รับความเดือดร้อน พวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้วจึงต้องเลือกใช้วิธีนี้ วิธีที่แม้จะทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนแต่ก็เป็นการเดือดร้อนชั่วครู่ชั่วคราว แต่สำหรับพวกเขาแล้วมันเป็นความเดือดร้อนแสนสาหัสมาก ที่จะมีโรงงานไฟฟ้า กำลังการผลิต 1,600 เมกกะวัตต์ ของบริษัท เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด มาสร้างติดกับชุมชนของเขา แล้วจะส่งผลกระทบในด้านต่างๆมากมายตามมา ไม่ว่าจะไม่มีน้ำทำนา เกิดมลพิษ เกิดโรค และที่สำคัญคือไม่มีที่นาทำกิน

 
แต่ก็มีอีกเหตุสำคัญที่เป็นแรงผลักดันให้พวกเขาออกมาในครั้งนี้ก็คือ ในวันที่ 22 กันยายน 2552 การที่โรงไฟฟ้าได้นำกลุ่มคนพร้อมทั้งอาวุธ และเครื่องจักร เข้าไปทำลายที่นาของชาวบ้านซึ่งกำลังจะเก็บเกี่ยวผลผลิตในไม่กี่วันเสียหาย อีกทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือชาวบ้านแต่อย่างใด เพียงแต่ยืนคุมเชิงดูเหตุการณ์ความเดือดร้อนของชาวบ้านเท่านั้น
 
ยายสายใย อยู่ในเขตอำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี “บ้านยายอยู่ใกล้เขตก่อสร้างโรงไฟฟ้าประมาณ 500 เมตร ยายอยู่ที่นี้มาตั้งแต่เกิด อยู่มาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่า ทำนามาตลอดชีวิต ทำนาเช่า 18 ไร่ ได้ข้าวประมาณ 80-90 ถังต่อไร่ แต่ที่นาตอนนี้ทางเจ้าของได้ขายให้บริษัทฯ ไปแล้ว ที่ยายต้องออกมาชุมนุมในครั้งนี้ก็เพราะ ถ้ามีโรงไฟฟ้าจะทำให้เกิดมลพิษ เกิดภาวะโลกร้อน เกิดโรคทางเดินหายใจ และยายยังไม่มีที่ทำกินอีกด้วย”
 
ป้าลัย อยู่ในเขตอำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี “บ้านป้าติดที่ดินที่บริษัทฯได้ซื้อไป แล้วจะสร้างโรงไฟฟ้ามีแค่คลองกั้น เดิมป้าทำนาแต่แข้งขาไม่ค่อยดีตอนนี้เลยไปรับจ้างเฝ้าสวนมะเขือญี่ปุ่น งานก็มีฉีดยาบ้าง ตัดแต่งกิ่งบ้าง ป้ามาชุมนุมนี้ก็เพราะว่าป้ากลัวว่าน้ำฝนมันจะกินไม่ได้ เพราะป้าก็กินก็ใช้น้ำฝน แล้วมลพิษมันเยอะ และป้าเคยไปดูที่โรงไฟฟ้าแก่งคอย เด็กๆที่นั้นอาบน้ำแล้วผิวหนังเปื่อย ป้าก็กลัวว่ามันจะเป็นอย่างนั้น”
 
ยายหอมเย็น อยู่ในเขตอำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา “ยายเช่านาทำอยู่ 35 ไร่ ได้ข้าวประมาณ 60-70 ถังต่อไร่ ยายทำนามาตั้งแต่เล็กแต่น้อย มันเป็นอาชีพของยาย แต่ถ้าโรงไฟฟ้ามาสร้าง ยายก็จะเดือดร้อนเรื่องน้ำ เพราะใกล้ๆที่ยายทำนาเขาจะสร้างอ่างเก็บน้ำในโรงไฟฟ้า ยายกลัวว่าจะไม่มีน้ำทำนา”
 
ป้าหน่อย อยู่ในเขตอำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา “ป้าทำนาเช่า 24 ไร่ ได้ประมาณ 70 ถังต่อไร่ ป้าก็กลัวปัญหาเรื่องน้ำ เพราะน้ำในคลองรพีภัทร (ซึ่งขุดโดยเจ็กตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕) เป็นคลองท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์นั้น ในหน้าแล้งพวกเราก็ยังแย่งน้ำกันทำนา แล้วถ้ามาสร้างอ่างเก็บน้ำของโรงไฟฟ้า พวกเราก็ยิ่งแย่เพราะโรงไฟฟ้าใช้น้ำแต่ละวันเท่ากับใช้น้ำทำนา 200 ไร่”
 
ป้านิด อยู่ตำบลหนองกบ อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี “ป้าทำนาเป็นหลักทำกับสามีกันสองคน เมื่อว่าง ก็จะไปรับงานจ้างพวกงานก่อสร้าง ป้าทำนา 30 ไร่ ได้ข้าวประมาณ 80-90 ถังต่อไร่ ป้ามาชุมนุมก็เพราะป้าเดือนร้อนถ้าโรงไฟฟ้ามาสร้าง ป้ากลัวว่าจะมีปัญหาเรื่องน้ำเพราะโรงไฟฟ้าจะสูบน้ำจากคลองไปใช้ อีกยังกลัวมลพิษเรื่องควันเพราะบ้านป้าอยู่ใต้โรงไฟฟ้า ห่างไม่เกิน 1 กิโลเมตร”
 
สตรีทั้ง 5 นี้ อายุอานามแต่ละคนก็ไม่ต่ำกว่า 45 ปี ความจริงแล้วน่าจะอยู่ที่บ้านอย่างเป็นสุข ไม่ต้องออกมาลำบาก แต่เนื่องด้วยว่าพวกเขาไม่ได้รับความชอบธรรม ถูกเอารัดเอาเปรียบ จากกลุ่มคน ไม่ว่าจะเป็นนายทุนหรือหน่วยงานราชการซึ่งไม่เคยให้ความดูแลช่วยเหลือแต่อย่างใด เมื่อชาวบ้านพึ่งใครไม่ได้ชาวบ้านก็ต้องพึ่งตนเอง และใช้วิธีการแบบนี้ที่จะต่อรองกับเหล่าผู้มีอำนาจทั้งหลาย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net