Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2552 เวลา 09.00 น. กลุ่มชาวบ้านผู้เสียหายจากการไปทำงานที่ประเทศโปแลนด์ จำนวน 28 คน ได้เดินทางมายังศาลจังหวัดอุดรธานี เพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้ต้องหาคดีที่ชาวบ้านร่วมกันฟ้องข้อหาผิดสัญญาทางแพ่งจากการไปทำงานต่างประเทศ และมีความเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาฐานฉ้อโกงประชาชน

สืบเนื่องจากสถานการณ์ที่แรงงานจากภาคอีสาน ได้ไปทำงานที่ประเทศโปแลนด์ผ่านการดำเนินการของนายสายชน เจริญสุข โดยมีนายนอร์เบริ์ต บาร์ยอกา (NORBERT BARLOGA) น้องเขยของนายสายชน อ้างตัวว่าเป็นเจ้าของบริษัทจัดหางาน ทำการประกาศโฆษณาและประชาสัมพันธ์ ให้คนมาสมัครไปทำงานที่ประเทศโปแลนด์ ซึ่งลักษณะของงานเป็นงานเก็บผลไม้ มีค่าตอบแทน 22,000 บาท/เดือน แต่ถ้ารวมค่าล่วงเวลา หรือโอทีก็จะมีเงินส่งกลับบ้านถึง 50,000 บาท/เดือน ทำให้มีแรงงานเป็นจำนวนมากที่สมัครใจไปทำงาน โดยต้องจ่ายเงินเป็นจำนวน 250,000 บาทถึงจะสามารถได้ไปทำงานดังกล่าว

แต่เมื่อได้ไปทำงานที่ประเทศโปแลนด์จริง กลับปรากฏว่า ทุกคนที่ไปทำงานได้ถูกจัดแบ่งเป็นกลุ่มแล้วส่งลงตามโรงงานต่างๆ ที่ขาดแรงงาน ซึ่งงานที่ทุกคนได้ทำนั้น เป็นงานอยู่ในโรงงานฆ่าสัตว์ โรงงานถลกหลังสัตว์ และเลี้ยงสัตว์ มิใช่งานเก็บผลไม้ดังที่ประกาศไว้ แต่ละเดือนต้องทำงานให้ครบ 208 ชั่วโมง ถึงจะมีสิทธิ์ได้ทำโอทีต่อ แต่มีงานให้ทำน้อยมาก และยังมีการยึดพาสปอร์ตของคนงานเก็บไว้ด้วย

บรรยากาศของการพิจารณาไกล่เกลี่ยคดีความนั้น ศาลได้เปิดโอกาสให้ผู้เสียหายได้อธิบายเหตุผลแต่ทั้งสองฝ่ายก็ไม่สามารถตกลงกันได้ ซึ่งฝ่ายแรงงานผู้เป็นโจทก์จึงได้ร้องขอให้ศาลดำเนินตามขั้นตอนของคดี ศาลจึงอ่านคำสรุปผลการไกล่เกลี่ยให้ทั้งสองฝ่ายฟัง และนัดหมายสืบพยานในวันที่ 4, 8 และ 9 ธันวาคม 2552 พร้อมให้จำเลยนัดหมายจ่ายชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้น จำนวน 30,000 บาท โดยไม่มีข้อผูกพันใดๆ ทางคดี

นางจารุวรรณ ชมชัยรัตน์ ตัวแทนแรงงาน กล่าวให้เหตุผลต่อศาลว่า “กลุ่มดิฉันเป็นผู้เสียหายที่อยากจะมาขอความช่วยเหลือจากศาล และอยากจะเรียนว่าเงินสามหมื่นที่จำเลยจะชดใช้ให้นั้น ไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้หนี้สองแสนห้าหมื่นบาท ที่ทุกคนมีติดตัว ในส่วนทางอาญานั้นก็อยากจะฟ้องร้องให้ถึงที่สุด เพื่อที่จะได้เป็นคดีตัวอย่าง โดยจะฟ้องในข้อหาที่มาฉ้อโกงประชาชน”

ด้านนายเดชา พฤกษพัฒนรักษ์ จัดหางานจังหวัดอุดรธานี ได้กล่าวให้ข้อมูลต่อศาลว่า สาเหตุที่มีแรงงานไปทำงานต่างประเทศ แล้วประสบปัญหาต่างๆ นั้น เป็นเพราะค่านิยมของคนอีสาน และกลุ่มนายหน้าที่จัดหางานใช้การประชาสัมพันธ์ถึงผลประโยชน์ที่แรงงานจะได้รับและใช้เทคนิคการโฆษณาว่ารับจำนวนจำกัดภายในระยะเวลาสั้นทำให้คนต้องดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อหาทางไปทำงานต่างประเทศ

ส่วนนางสุนีย์ ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ปรึกษากลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับความเสียหายจากการไปทำงานที่โปแลนด์ ได้กล่าวต่อศาลถึงกรณีการฟ้องร้องของคดีอาญาว่าข้อกล่าวหานั้นไม่สมเหตุสมผลกับการกระทำของนายหน้าจัดหางาน

“ที่มีการสั่งฟ้องทางอาญาว่า จัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น น่าจะเป็นการฟ้องดำเนินคดีฉ้อโกงประชาชนมากกว่า เพราะมีผู้ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก การส่งฟ้องของทางเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นได้จำแนกผู้เสียหายเป็นรายๆ ซึ่งแปลกมากที่ไม่ส่งสำนวนฟ้องเป็นกลุ่ม และก่อนหน้านี้ชาวบ้านไม่มีโอกาสได้เห็นสำนวนคดีที่ตำรวจส่งไปยังอัยการเลย จึงไม่รู้ว่าสำนวนที่ส่งไปมีข้อมูลครบถ้วนรึเปล่า เพราะการพิจารณาคดีก่อนหน้านี้ยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่และการถูกข่มขู่คุกคามที่กลุ่มนายหน้ากระทำต่อแรงงาน ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิฯ กลุ่มแรงงานด้วย” นางสุนีย์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงายว่า จากนั้นเวลาประมาณ 14.00 น. ชาวบ้านทั้งหมดได้เดินทางไปยังสถานีตำรวจภูธรอำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี เพื่อไปแจ้งความดำเนินคดีกับนายนอร์เบริ์ต หลังจากทราบข่าวว่า ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองสามารถจับตัวนายนอร์เบริ์ต ได้ แล้วจะส่งตัวมาดำเนินคดีที่สถานีตำรวจอำเภอหนองวัวซอ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net