Skip to main content
sharethis

 
ด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา

 

เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 3 กันยายน ที่ผ่านมา สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา จัดโครงการสัมมนา “สื่อมวลชน ชวนผู้ว่าฯ ดูความก้าวหน้าการค้าชายแดนจังหวัดสงขลา” โดยนำสื่อมวลชนทุกแขนงกว่า 100 คน เดินทางไปยังด่านพรมแดนไทย - มาเลเซีย อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา โดยออกเดินทางจากโรงแรมหาดใหญ่พาราไดส์ แอนด์ รีสอร์ท จังหวัดสงขลา โดยรถบัส 2 คันเริ่มออกเดินทาง เวลา 13.30 น. เมื่อถึงที่ทำการด่านศุลการกรสะเดา คณะทั้งหมดได้ร่วมฟังการบรรยายสรุปจากนายอาทิตย์ วิสุทธิสมาธาร ผู้ช่วยนายด่านศุลกากรสะเดา และเยี่ยมชมอาคารเอ็กซ์เรย์ตู้คอนเทนเนอร์และขั้นตอนการตรวจสอบสินค้าด้วยเครื่องเอ็กซ์เรย์

ในการนี้ นายอาทิตย์ เปิดเผยถึงโครงการก่อสร้างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ แก่สื่อมวลชนจังหวัดสงขลา ระหว่างเข้าเยี่ยมชมกิจการว่า มีที่ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เนื้อที่ประมาณ 765 ไร่ ห่างจากด่านพรมแดนสะเดาประมาณ 1.5 กิโลเมตร โดยกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อนุญาตให้กรมศุลกากรใช้ประโยชน์แล้ว แต่ปัจจุบันยังดำเนินการไม่ได้ เนื่องจากมีชาวบ้านเข้าไปบุกรุกอาศัยและแผ้วถางทำสวนยางพารา ไม้ผล และทำธุรกิจ

นายอาทิตย์ เปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาค่าชดเชยผลอาสินในที่ดินระหว่างคณะที่ปรึกษาและคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินและการชดเชยผลอาสิน ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาแต่งขึ้นมา แต่ยังไม่สามารถตกลงกันไม่ได้ เนื่องจากชาวบ้านเห็นว่า ค่าชดเชยน้อยเกินไป ทำให้ชาวบ้านไม่ยินยอมที่จะย้ายออกและไม่ยินยอมให้มีการพัฒนาด่านแห่งใหม่ แต่เชื่อว่าน่าจะเจรจาตกลงกันได้เร็วๆ นี้ สำหรับค่าชดเชยที่คณะที่ปรึกษาและคณะกรรมการชุดดังกล่าวกำหนด เช่น ต้นยางพารา ต้นละ 1,561 บาท เท่ากับไร่ละ 109,286 บาท แต่ชาวบ้านต้องการค่าชดเชยต้นละ 8,000 บาท ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าเป็นมูลค่าที่สูงเกินไป

โดยผลอาสินในที่ดินดังกล่าวที่มีผู้ครอบครองรวม 40 ราย จำนวน 58 แปลง คิดเป็นค่าชดเชย 76,500,457 บาท และสิ่งปลูกสร้าง 24 ราย จำนวน 27 แปลง คิดเป็นค่าชดเชย 4,944,400 บาท รวมค่าชดเชยผลอาสินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นเงินรวม 81,444,857 บาท โดยการกำหนดค่าชดเชยดังกล่าว ได้ยึดแนวทางของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ให้ค่าชดเชยแก่ผู้ที่ถูกเวนคืนที่ดินและค่าชดเชยผลอาสินและสิ่งปลูกสร้าง ในการพัฒนาโครงการของกรมชลประทาน

“การกำหนดค่าชดเชยดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งก็ต้องคำนวณให้ต่ำไว้ก่อน เพื่อให้รัฐไม่เสียประโยชน์ มิฉะนั้นผู้กำหนดค่าชดเชยอาจถูกดำเนินคดีได้ว่า ไม่ปกป้องผลประโยชน์ของรัฐ” นายอาทิตย์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายอาทิตย์ กล่าวว่า กรณีเมื่อมีการนำที่ดินไปพัฒนาด่านแห่งใหม่แล้ว อาจทำให้ชาวบ้านขาดรายได้ด้วย ทางคณะกรรมการจะพิจารณาเรื่องการหาอาชีพใหม่รองรับไว้ด้วย นอกจากนี้ในรายงานสรุปของคณะกรรมการศึกษาและติดตามโครงการก่อสร้างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ โดยหอการค้าจังหวัดสงขลา ซึ่งแจกให้สื่อมวลชน ระบุว่า ปี 2548 - 2550 มูลค่าการค้าผ่านด่านศุลกากรสะเดา ขยายตัวร้อยละ 20.5 ต่อปี โดยปี 2551 มีมูลค่าการค้า 244,381 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็น 506,750 ล้านบาทในปี 2555

“หากก่อสร้างด่านศุลกากรแห่งใหม่ล่าช้า จะส่งผลกระทบทำให้ด่านศุลกากรและด่านตรวจคนเข้าเมืองปัจจุบัน คับแคบ การจราจรแออัด เสียโอกาสจากจำนวนนักท่องเที่ยวผ่านด่านในช่วงปีแรกประมาณ 200,000 คน เสียโอกาสจากการขายการค้ากับมาเลเซีย หากเปิดด่านล่าช้า 4 - 5 ปี จะทำให้ประเทศไทยเสียประโยชน์เป็นเงิน 200,000 ล้านบาท” เอกสารดังกล่าวระบุ

จากนั้นคณะทั้งหมดได้เดินทางไปยังด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา บริเวณชายแดนไทย – มาเลเซีย บ้านไทยจังโหลน หรือด่านนอกเทศบาลตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 4 กิโลเมตร เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานตรวจคนเข้าเมืองและฟังการบรรยายสรุปจาก พ.ต.อ.พุฑฒิพงศ์ มุสิกูล ผู้กำกับการด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา โดยจากการสังเกตพบว่า ด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา ค่อนข้างแออัด เนื่องจากสถานที่คับแคบ และไม่ค่อยเป็นระเบียบ แม้ทางด้านได้เพิ่มตู้ตรวจหนังสือเดินทางเพิ่มขึ้น บนฟุตบาท แม้กระทั่งหน้าห้องน้ำสาธารณะ แต่ทุกช่องมีคนเข้าแถวรอตรวจหนังสือเดินทางทุกช่อง จากที่มีอยู่แล้วเป็นสิบๆ ตู้ ทั้งขาเข้าและขาออกประเทศ

 


พ.ต.อ.พุฑฒิพงศ์ มุสิกูล

พ.ต.อ.พุฑฒิพงศ์ กล่าวว่า “ปัญหาเป็นอย่างนี้มา 20 ปีแล้ว โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล แต่เราพยายามแก้ปัญหามาตลอด ช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมาล่าสุดโชคดีหน่อย เพราะคนมาเลย์มาเที่ยวกันน้อย”

ขณะที่งานทางด้านความมั่นคงพบว่า ตรวจพบบุคคลที่มีคดีต่างๆ เฉลี่ยเดือนละประมาณ 10 ราย ซึ่งมีการดำเนินการไปตามหมายที่มี เช่น หากเป็นหมายจับก็จะจับกุมทันที แต่หากเป็นหมายห้ามบุคคลออกนอกราชอาณาจักร ก็จะไม่อนุญาตให้ผ่านด่านไปได้ แต่ก็ยังพบว่า คนที่มีหมายลับลอบผ่านแดนทางช่องทางธรรมชาติ

พร้อมกันนี้ พ.ต.อ.พุฑฒิพงศ์ ได้เสนอทางออกด้วยว่า ต้องย้ายไปอยู่ที่ใหม่อย่างเดียว เพื่อให้การดำเนินงานต่างๆ มีความสะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ คือที่ที่จะสร้างด่านศุลกากรแห่งใหม่ เพราะแม้ด่านศุลกากรจะตรวจสินค้า แต่สินค้าก็มาพร้อมคน ด่านตรวจคนเข้าเมืองต้องตามไปด้วยอยู่แล้ว ที่เป็นเช่นนั้น เพราะพื้นที่ตรงนี้ขยายไม่ได้อีกแล้ว ด้านหน้าก็ถูกชุมชนรุกเข้ามาชิด ส่วนด้านหลังก็ชนชายแดนพอดี

อย่างไรก็ตาม การเดินทางไปครั้งนี้ ไม่มีโอกาสได้พบและสัมผัสกับเสียงของชาวบ้าน จึงยังไม่อาจรู้ได้ว่า สิ่งที่พวกเขาจะได้รับ เพียงพอกับการตั้งต้นชีวิตใหม่ได้หรือไม่ ในขณะที่รัฐจะได้ประโยชน์เพิ่มถึง 2 แสนล้านบาท
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net