Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

(1)

ช่วงไม่กี่วัน/เดือนที่ผ่านมา “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” (creative economy) ได้กลายเป็นคำพูดที่ติดปากของหลายๆ คนไม่ว่านักออกแบบ นักประดิษฐ์คิดค้น นักธุรกิจ ตลอดจนถึงรัฐมนตรี(ช่วย)หลายท่านและรวมถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี หากเราตามข่าวเศรษฐกิจในหน้าหนังสือพิมพ์ เราจะพบว่ารัฐบาลปัจจุบันใช้งบประมาณในหลายๆ โครงการ (เริ่ม) ที่ดูเป็นการผัน (ผลาญ???) งบประมาณไปใช้กับวาทกรรมนี้ได้อย่างไม่น่าเชื่อ แต่หลายโครงการก็น่าจะส่งผลได้อย่างน่าพอใจ (หวังเช่นนั้นจริงๆ) แนวความคิดนี้ยังถูกโยงไปเป็นนโยบายในการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งช่วงเดือนมีนาคม 2552 ที่ผ่านมา TCDC ได้จัดเสวนาที่ตั้งคำถามทันยุคทันสมัยว่า “Creative Economy จะเป็น ‘ทางรอด…ทางเลือก’ ให้กับเศรษฐกิจไทยได้หรือไม่ ?” แต่พอแนวโน้มเศรษฐกิจเริ่มส่อแววดีขึ้น แนวคิด “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ก็ผันไปเป็นความฝันของ “การสร้างมูลค่า” ทางเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืนด้วยคำว่า “Creative Thailand” ประเด็นที่เราน่าจะต้องถามคือ ทำไมต้องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ? หากมันเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (จริง!!!)….แล้วไง (ต่อ)?


(2)

ที่จริงการเกิดขึ้นของนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นนโยบายด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานทางศิลปะ (Art-Related Industries) เกิดจากการปรับตัวครั้งใหญ่ของนโยบายเศรษฐกิจโลกช่วงทศวรรษ 1990 โดยเริ่มแนวคิดในรัฐบาลของออสเตรเลียและเกาหลี (แต่รัฐบาลที่ริเริ่มแนวคิดนี้ในทั้งสองประเทศแพ้การเลือกตั้งเลยไม่ได้มีการประกาศใช้) นโยบายที่ว่านี้มาเกิดเป็นรูปเป็นร่างจริงในอังกฤษ สมัยที่โทนี่ แบลร์ นำพรรคแรงงาน ด้วยคำขวัญ “แรงงานใหม่” หรือ “New Labour” (กลับมาเป็นรัฐบาลหลังจากที่พรรคอนุรักษ์นิยมครองอำนาจมาเกือบ 20 ปี) เมื่อ ปี ค.ศ. 1997 รัฐบาลของเขาได้มีการประกาศแผนงานที่เรียกว่า “Creative Industries Task Force 1998” (CITF 1998) ขึ้นในปี ค.ศ.1998 โดยหวังว่าจะเป็นแนวทางของการสร้างเสริมศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศอังกฤษให้กลายเป็นประเทศชั้นนำใน “อุตสาหกรรมสร้างสรรค์” หรือ “Creative Industries”

สำหรับในแผนงานที่ว่านี้นิยามอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไว้ว่า “กิจกรรมต่างๆ อันมีที่มาจากการสร้างสรรค์ การพัฒนาทักษะและความสามารถ อันมีผลต่อการสร้างมูลค่าและการสร้างงาน รวมทั้งคำนึงถึงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาของผู้ที่สร้างผลงาน” (CITF 1998) ในแผนงานนี้ได้จัดแบ่งประเภทงานอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไว้ 16 ประเภท ดังนี้ โฆษณา, งานสถาปัตยกรรม, ศิลปะ, ตลาดของเก่า, หัตถกรรม, การออกแบบ, การออกแบบแฟชั่น, ภาพยนตร์, ซอฟต์แวร์บันเทิง, ดนตรี, ทีวี, วิทยุ, ศิลปะการแสดง, สิ่งพิมพ์, และการออกแบบซอฟต์แวร์

จะว่าไป “ความคิดสร้างสรรค์” ไม่ว่าจากงานศิลปะ การออกแบบ อุตสาหกรรมบันเทิง หรืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ฯลฯ กับสร้างมูลค่าเศรษฐกิจไม่ใช่เพิ่งเกิด ในแง่การผลิต การบริโภค สินค้าและบริการโดยตัวของมันเองมีการสร้างมูลค่าเพิ่มผ่านปัจจัยด้านความคิดสร้างสรรค์อยู่ทั้งนั้น แต่ที่ความสำคัญของมันมาเกิดขึ้นนั้นเพราะมันเพิ่งถูกเขียนในไวยากรณ์ของนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจ ภาพชัดเจนตอนที่โทนี่ แบลร์ ประกาศใช้ Creative Industries Task Force 1998 ได้จัดตั้งหน่วยงานใหม่ Department of Culture, Media and Sport (ที่ปรับยุบหน่วยงานมาจาก Department of National Heritage และรวมกับหน่วยงานที่ก่อตั้งขึ้นใหม่) ขึ้นมารับผิดชอบดูและงานนี้โดยตรง (ร่วมกับหลายหน่วยของรัฐและเอกชน) ได้ทำให้ “ความคิดสร้างสรรค์” เป็นเรื่องจัดการได้ (โดยรัฐ) ไม่ใช่เป็นเรื่องของพรสวรรค์หรือทักษะฝึกฝนเท่านั้น ในปัจจุบันหากจะคิดถึงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในยุคของแบลร์ ก็น่าจะคิดถึงวงดนตรีอัลเทอร์อย่าง Oasis และทีมฟุตบอลแมนยูไนเต็ดที่กลายเป็นภาพลักษณ์ของ “Cool Britannia”

(3)

ในอีกแง่มุมหนึ่งที่กล่าวถึงกันสำหรับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ก็คือ นโยบายเศรษฐกิจในแบบเสรีนิยมใหม่ (Neo-liberal economic) โดยกระแสของเสรีนิยมใหม่ที่ว่านี้เกิดจากการปรับตัวของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและทุนในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในยุคกลาง 1970 โดยรัฐและกลุ่มทุนหันมาให้ความร่วมมือกับการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ- เทคโนโลยี – วัฒนธรรม- ทรัพย์สินทางปัญญาของทุนนิยมแบบยุคหลังอุตสาหกรรม (post-industrial age) โดยอุตสาหกรรมจะเปลี่ยนไป ไม่เน้นการลงทุนในการผลิตขนาดใหญ่ เน้นเทคโนโลยี ไม่จำเป็นต้องมีระบบสายการผลิต ไม่จ้างแรงงานจำนวนมาก มูลค่าสามารถเกิดจากระบบลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร ทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นฐานของระบบเศรษฐกิจในระบบทุนนิยม

เสรีนิยมใหม่ที่ว่านี้ได้สร้างเงื่อนไขใหม่ของระบบเศรษฐกิจโลกด้วย ทั้งนี้เราจะเห็นว่าเริ่มตั้งแต่ยุคของเรื่องภาษีศุลกากรระหว่างประเทศ (GATT) ยุค 1990 ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นองค์กรการค้าโลก (WTO) เราจะเห็นว่ารัฐในประเทศมหาอำนาจทุนนิยมและประเทศกำลังพัฒนา ประเทศยากจน รับผลโดยตรง เช่นในหลายประเทศต่างๆ (รวมทั้งไทย) ต้องมีการปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์ เรื่องสิทธิบัตร การปกรองทรัพย์สินทางปัญญาทั้งในประเทศและการค้าระหว่างประเทศ ประเด็นที่สำคัญที่ถูกกล่าวถึงมากก็คือทรัพย์ทางปัญญาในสินค้าอุปโภคบริโภค (ซึ่งรวมถึงสินค้าอุตสาหกรรมบันเทิง) และสิทธิบัตรยา เราจะเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเริ่มในยุคที่รัฐต่างใช้นโยบายส่งเสริมที่รัฐและเอกชนร่วมกันจัดการระบบเศรษฐกิจ ไม่มีมือที่มองไม่เห็นแบบยุคเสรีนิยมเดิมอีกต่อไป

แต่การใช้นโยบาย ใช่ว่าจะเป็นการส่งเสริมศักยภาพของความคิดสร้างสรรค์ของเสรีนิยมใหม่เสมอไป บางครั้งก็กลับเป็นตัวลดทอนเสียด้วยซ้ำ ดังตัวอย่างเช่น ในเวทีการประชุมแกตต์ที่กรุงบรัซเซล ประเทศเบลเยี่ยมในปี ค.ศ. 1993 ได้เกิดข้อถกเถียงด้านสื่อวัฒนธรรมในระดับนโยบายเป็นครั้งแรก โดยมีแกนนำที่มาจากสหภาพแรงงานผู้ผลิตภาพยนตร์ของยุโรปที่เห็นว่าภาพยนตร์ไม่ใช่เป็นเพียงสินค้า หากแต่เป็นสิ่งที่แสดงออกถึงภาษาและวัฒนธรรมที่สามารถสื่อข้ามพรมแดนกันได้ ดังนั้น กลุ่มสหภาพแรงงานผู้ผลิตที่ประกอบไปด้วย ผู้กำกับ นักแสดง คนเขียนบท คนในฝ่ายผลิต ฯลฯ จึงเห็นว่าควรจะพิจารณาเรื่องนี้ในด้านของนโยบายด้านสื่อสารวัฒนธรรมด้วย มากกว่าที่จะมองว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ควรส่งเสริมให้มีการลงทุนเสรีและปกป้องวัฒนธรรมชาติ แม้ว่าข้อเสนอจะไม่มีผลต่อการประชุมเรื่องนี้มากนัก แต่ก็ถือได้ว่านี่คือการผูกประเด็นที่ขัดแย้งกันอยู่ของสินค้าวัฒนธรรม การค้าเสรีและวิถีชีวิตเข้าด้วยกันเป็นครั้งแรกในเวทีการค้าในรอบของการประชุมแกตต์ ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงกลุ่มเคลื่อนไหวใหม่สุดของการขบวนการเคลื่อนทางสังคมรูปแบบใหม่ (the newest of new social movement) ที่ผู้เคลื่อนไหวเป็นกลุ่มที่ประสานไปด้วยคนที่ทำงานอันเกี่ยวเนื่องกับศิลปะ ความคิดสร้างสรรค์และงานอื่นที่เกี่ยวข้องในหลายๆ ส่วน

ที่ผ่านมาในแง่งานวิชาการด้านสังคมศาสตร์ เราจะเห็นว่าในโลกของประเทศอุตสาหกรรมตะวันตกที่มีประสบการณ์ในแนวคิดและ/หรือมีการใช้นโยบายอุตสาหกรรมสร้างสรรค์จากการส่งเสริมของรัฐมากว่าทศวรรษ ได้เกิดการถกเถียงถึงความแตกต่างในเรื่องของ “มูลค่า” ทางเศรษฐกิจและ “คุณค่า” ทางสังคมของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่ไม่ใช่แค่เน้นในเรื่องของมูลค่าเศรษฐกิจและอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจเท่านั้น หากต้องมองและเข้าใจเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในฐานะที่เป็นส่วนขับเคลื่อนในมิติสังคม-วัฒนธรรมและการเมืองด้วย หรือกล่าวในอีกแง่หนึ่งคือการให้ความสำคัญกับ “คุณค่า” ทางด้านจริยธรรมและคุณธรรม เชื่อมโยงทั้ง “มูลค่า” ทางเศรษฐกิจและ “คุณค่า” ทางสังคมเข้าไว้ด้วยกัน หรือที่ อดัม อาร์วิดสัน (Adam Arvidsson) นักสังคมวิทยาชาวสวีเดนผู้ศึกษาเรื่องอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในยุโรปใช้คำว่าระบบเศรษฐกิจนี้ว่า “เศรษฐกิจจริยธรรม” (Ethical Economy)

ดังนั้น สิ่งสำคัญของความยั่งยืนในการผลิตและการบริโภคของเศรษฐกิจสร้างสรรค์นั้นต้องเกิดจากสิ่งสร้างสรรค์ที่เปลี่ยนแปลงจากฐานราก เกิดจากกลุ่มคนทำงานที่เป็น “immaterial labour” ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (หรือกระบวนการแรงงานภายใต้ความสัมพันธ์/กดทับของทุนและการผลิตความรู้ที่ คาร์ล มาร์กซ์เรียกว่า General Intellect) เข้ามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ฐานรากสังคมร่วมกัน การให้โอกาส ความใจกว้าง การยอมรับและการส่งเสริมกันและกัน ฯ ลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ที่เปรียบเสมือนกับ “ห่วงโซ่” ที่ช่วยปูทางไปสู่การผนึกกำลังของแรงงาน (สมอง) ที่จะเปลี่ยนแปลงโลก นี่คือข้อคิดในมิติที่เปรียบเสมือนแรงโต้ตอบอย่างสร้างสรรค์ที่มีต่อระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์แบบเสรีนิยมใหม่

(4)

สำหรับประเทศไทยนั้น เราจะพบว่าปัจจุบันทั้งภาครัฐบาลและเอกชนได้ให้ความสนใจในเรื่องที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์หรืออุตสาหกรรมสร้างสรรค์เป็นอย่างมาก แม้ไม่มีนโยบายด้านอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมหรืออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ชัดเจน แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่าการใช้นโยบายดังกล่าวเริ่มคล้ายๆ กับยุคของการพัฒนาไปสู่กระบวนการทันสมัย (Modernization) ที่เริ่มในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1 แม้จะยังไม่มีนโยบายของรัฐที่ชัดเจน เช่นจีน เกาหลีและสิงคโปร์ แต่รัฐบาลไทยก็ได้เริ่มดำเนินการสนับสนุนมาได้ระยะหนึ่ง หากนับตั้งแต่ยุคของรัฐบาลทักษิณ 1 ช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดแผนงานต่างๆ ที่กระจายอยู่ตามกระทรวงหรือหน่วยงานจัดตั้งใหม่ เช่น กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, กรมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ รวมทั้ง สำนักงานศิลปะร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งได้แสดงให้เห็นถึงความสนใจต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในไทย ในขณะที่ในภาคเอกชนโดยเฉพาะด้านการศึกษามหาวิทยาลัยเอกชนไม่ว่ามหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัยรังสิต รวมทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐอย่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบังฯ เริ่มปรับหลักสูตรระดับปริญญาตรีทั้งด้านวิทยาศาสตร์ ศิลปศาสตร์ นิเทศศาสตร์ให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์

เราอาจไม่จำเป็นต้องเริ่มต่อต้านเรื่องนี้ แต่สิ่งที่เราต้องทำคือ การศึกษาอย่างลึกซึ้งและรอบด้านอีกมากของแนวทางอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยภายใต้บริบทโลก รวมถึงแนวทางการส่งเสริมการปฏิบัติการอย่างมีรูปธรรมที่ชัดเจนในแนวทางการเปลี่ยนแปลงสังคมยุคหลังพัฒนาการนิยม (post-developmentalism context) แม้ว่าเราจะมีการประชุม เสวนา สัมมนา เรื่องนี้อยู่บ่อยๆ ปัจจุบันงานวิชาการทั้งในสายของบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ ยังให้ความสนใจเรื่องนี้น้อย

ดังนั้น ความเข้าใจในเรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์จึงควรเป็นการมองในแง่ของกระบวนการ (สร้างสรรค์) สังคมในมิติต่างๆ และสิ่งสำคัญนโยบายของมันต้องเปิดให้มีการสนับสนุนและส่งเสริมให้มี “พื้นที่” ของ “การมีส่วนร่วม” ที่มากขึ้นจากทั้งรัฐ เอกชน และชุมชน ไม่ใช่เป็นนโยบายแบบเดิมๆ ที่เป็นแบบจากบนลงล่าง แบบที่กำลังเป็นอยู่ และกำลังจะเป็นไปในอนาคต (ตามที่รัฐบาลปัจจุบันได้ว่าไว้)

 

*หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเรื่อง “เศรษฐกิจจริยธรรมยุคหลังพัฒนาการนิยม” จากงานสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2552 จัดโดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net