Skip to main content
sharethis

วันนี้ (7 ส.ค.52) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง จัดสัมมนาเรื่อง “ประชาชนได้อะไรจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ส่วนหนึ่งในการสัมมนาการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการนำภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาใช้ ณ ห้องคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ โรงแรมรามาการ์เดนท์ กรุงเทพฯ จากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการตระเวนจัดการอบรมและสัมมนาในจังหวัดต่างๆ อาทิ ขอนแก่น เชียงใหม่ และพัทยา เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาค รวมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ... ที่กำลังจะมีการผลักดันเข้าสู่ ครม.และสภาผู้แทนราษฎร

รศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา รองคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในเชิงนโยบาย ภาษีทรัพย์สินจะเป็นแหล่งรายได้ให้ท้องถิ่นซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคง เข้มแข็ง โดยท้องถิ่นมีอิสระในการคิดเอง ทำเอง แก้ปัญหาของตนเองมากขึ้น มีบทบาทหน้าที่เพิ่มมากขึ้นในการให้บริการสาธารณะในท้องถิ่น ส่งเสริมให้ท้องถิ่นเห็นความสำคัญของการใช้ประโยชน์ทรัพยากรในพื้นที่มากยิ่งขึ้น โดยการเก็บภาษีเก็บบนฐานความสามารถในการจ่าย ซึ่งจะเป็นกลไกเสริมสร้างความเสมอภาค เท่าเทียม ส่วนข้อเสียที่มองเห็นมีอยู่ข้อเดียว คือทำให้ผู้จ่ายภาษีรู้ภาระของตนเองอย่างแท้จริงว่าต้องเสียภาษีเท่าไร ซึ่งก็หวังว่าจะเป็นส่วนที่ช่วยกระตุ้นความสนใจ ให้เกิดการทำความเข้าใจและร่วมกันตรวจสอบผู้ที่นำเงินไปใช้มากยิ่งขึ้น

ส่วนวิธีการออกแบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้เป็นภาษีทรัพย์สินนั้น รศ.ดร.สกนธ์กล่าวว่า รายได้ทั้งหมดจากการจัดเก็บภาษีตัวนี้จะเป็นของท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นกลไกสร้างความเข้มแข็งให้ท้องถิ่น ในขณะเดียวกันก็ช่วยลดภาระของรัฐบาลส่วนกลาง โดยกระบวนการจัดเก็บ การประเมินทุนทรัพย์ในการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินจะอยู่บนฐานมูลค่าของทรัพย์สิน ซึ่งจะสะท้อนผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากบริการสาธารณะต่างๆ ที่ท้องถิ่นให้กับเจ้าของทรัพย์สิน ยกตัวอย่าง ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ใจกลางเมืองอย่างในย่านสีลม สาธร ซึ่งบริการสาธารณะจะมีขนาดและจำนวนมากกว่าในแถบชานเมือง อีกทั้งยังช่วยสะท้อนภาวะเศรษฐกิจของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้รัฐบาลรู้ความแตกต่างและสามารถเข้าไปช่วยเหลืออย่างตรงจุดได้

นอกจากนี้ อัตราภาษียังแฝงอัตราก้าวหน้าไว้เพื่อให้การจัดเก็บภาษีมีความก้าวหน้าขึ้น และสามารถจัดเก็บภาษีในอัตราที่แตกต่างกันได้ในแต่ละจังหวัด 

รศ.ดร.สกนธ์กล่าวต่อมาถึงประโยชน์จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่า มี 3 ส่วน คือ 1.ประโยชน์ต่อรัฐบาล คือการสร้างความเข้มแข็งของท้องถิ่น ทำให้รัฐบาลไม่มีภาระในการที่จะต้องอุดหนุนท้องถิ่น ทำให้ไม่ต้องเร่งการจัดเก็บภาษีมากขึ้น ลดแรงกดดันของรัฐบาล เสริมสร้างโอกาสให้รัฐนำเงินส่วนต่างที่ต้องจ่ายให้กับท้องถิ่นไปใช้เพื่อการพัฒนาอื่นๆ เช่นการศึกษา หรือโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ การเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าจะช่วยสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น โดยภาษีทรัพย์สินจะช่วยลดการเก็งกำไร เพิ่มโอกาสในการมีที่ดินของประชาชน กระตุ้นการนำที่ดินมาใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ

ในข้อ 2.ประโยชน์ต่อส่วนท้องถิ่น คือ เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่การคลังท้องถิ่น การบริการสาธารณะให้กับประชาชนดีขึ้นและทั่วถึงขึ้น สะท้อนการพัฒนาของท้องถิ่น และช่วยสร้างความรับผิดรับชอบร่วมกันระหว่างประชาชนและผู้จัดเก็บภาษี อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือของท้องถิ่นในการกำกับการใช้ประโยชน์ในที่ดินและทรัพย์สินได้มากขึ้น กำกับการพัฒนาของท้องถิ่นได้มากขึ้น

3.ประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไป คือ การลดการเก็งกำไร การปั่นราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของราคา ทำให้ประชาชนมีโอกาสเป็นเจ้าของบ้านและที่ดินได้ ลดต้นทุนการผลิตสำหรับผู้ประกอบการบางประเภท และช่วยในการจัดการการใช้ที่ดินให้ถูกประเภท รวมทั้งกระตุ้นให้ประชาชนสนใจการทำงานของท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น

รศ.ดร.สกนธ์กล่าวด้วยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังเสนอกฎหมายเข้าสู่ ครม.ซึ่งการผลักดันกฎหมายต้องพึ่งความจริงใจทางการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ส่วนการนำมาใช้ขึ้นอยู่กับการเตรียมความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะต้องดูแลเรื่องการจัดเก็บ ความพร้อมของบุคลากร และการนำไปใช้ ในช่วง 2 ปีก่อนกฎหมายบังคับใช้จริงหลังจากที่การออกกฎหมาย นอกจากนี้ยังต้องมีการเตรียมความพร้อมในส่วนของการประเมินทุนทรัพย์ วิธีการบริหารจัดการ และการสร้างความเข้าใจเพื่อการยอมรับร่วมกัน ซึ่งยังคงต้องอาศัยการร่วมกันคิดร่วมกันทำอีกมาก

นายปรีชา สุขสนเทศ ผู้อำนวยการสำนักงานคลัง กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่าเห็นด้วยในหลักการและคิดว่าถึงเวลาแล้วที่กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะถูกนำมาบังคับใช้ โดยกฎหมายใหม่ที่ออกมาจะต้องมาแก้ปัญหาการจัดเก็บภาษีเดิม อาทิ การที่กฎหมายเดิมมีข้อบัญญัติอย่างกว้างๆ ในเรื่องหลักเกณฑ์การเสียภาษี ที่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจค่อยข้างมาก ซึ่งก็มีข้อดีในเรื่องการยืดหยุ่นผ่อนผัน แต่ก็มีข้อเสียหากมีการทุจริต การเสียภาษีบำรุงท้องที่ซึ่งเดิมมีการยกเว้นให้คนไม่ต้องจ่ายภาษีถึง 60 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด รวมทั้งการตกหล่นหลบหนีของผู้ที่ต้องเสียภาษี ทำให้การจัดเก็บภาษีไม่ทั่วถึง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมาย นายปรีชาว่า อาคารที่ให้เช่าส่วนใหญ่ภาษีในระบบใหม่จะลดลง อาทิ ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ในทำเลทองกลางเมือง อย่างพารากอน เซ็นทรัล อาคารคอนโดหรู หรือห้างค้าปลีก อย่างเซเวนอีเลฟเวนที่ตั้งอยู่ในแหล่งชุมชน

นอกจากนี้ในส่วนของตู้เอทีเอ็มที่ตั้งอยู่ในจุดต่างๆ ซึ่งปัจจุบันต้องเสียภาษีตู้ละ 3,000-4,000 บาท หรือเสาที่ส่งสัญญาณไฟและสัญญาณโทรศัพท์ที่เดิมต้องเสียภาษีปีละ 20,000-30,000 บาท ผู้ประกอบการเหล่านี้จะจ่ายภาษีลดลง ในขณะที่ตึกแถวทั่วไปที่มีกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ของอาคารในกรุงเทพฯ เดิมต้องเสียภาษี 4,000-5,000 บาท ประเมินคร่าวๆ แล้วต้องเสียเพิ่มเป็น 9,000 บาท บ้านที่อยู่อาศัยที่มีอยู่ 60 เปอร์เซ็นต์ของอาคารทั่งหมด จากที่เคยไม่ต้องเสียภาษีก็ต้องเสียประมาณรายละ 2,000 บาท รวมทั้งโรงเรียนต่างๆ ก็ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น ตรงนี้เป็นอีกแง่หนึ่งของการบังคับใช้กฎหมายที่ควรต้องคำนึงถึง

นายปรีชาให้ข้อมูลต่อมาว่า ที่ผ่านมาการพัฒนาของ กทม.เกิดจากเงินภาษีของประชาชนที่จ่ายให้กับ กทม. และภาษีโรงเรียนที่จัดเก็บได้จากทั้งประเทศ 17,000 ล้านบาท เป็นของ กทม.จัดเก็บกว่า 8,300 ล้าน ทั้งนี้ เงินได้ของ กทม.มีมาจาก 3 ทาง คือ จากเงินภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บให้ ภาษีที่กทม.จัดเก็บเอง และเงินอุดหนุน ซึ่งกว่า 16 เปอร์เซ็นต์ของเงินที่ กทม.ใช้เป็นภาษีที่ กทม.จัดเก็บเอง จากเป้าหมายที่ว่าเพื่อความเป็นธรรมในสังคม แต่ในอีกส่วนหนึ่งก็คือการเพิ่มรายได้ให้ท้องถิ่น แต่ตรงนี้จะไม่สามารถเกิดได้ เพราะการจัดเก็บภาษีที่ กทม.เคยได้จะลดลง

อย่างไรก็ตาม นายปรีชามีข้อเสนอให้ขยับเพดานภาษี 0.5 เปอร์เซ็นต์ให้สูงขึ้น สำหรับในที่ดินทำเลทอง ซึ่งในต่างจังหวัดอาจไม่มีมากนัก แต่ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และภูเก็ต ทำเลเหล่านี้มีมาก และหากไม่มีการปรับแก้ตรงส่วนนี้ กทม.คงก้าวต่อไปลำบาก 

นอกจากนี้ยังมีขอห่วงใยคือ เรื่องการอุทธรณ์ภาษี ซึ่งการอุทธรณ์ภาษีของ กทม.มีขั้นตอนที่มากกว่าในต่างจังหวัด คือเพิ่มเติมในส่วนที่ต้องผ่านกรรมการอุทธรณ์ ซึ่งมีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน ทั้งที่กระบวนการพิจารณาของ กทม.เดิมมีความละเอียดอยู่แล้ว การเขียนกระบวนการอย่างนี้ทำให้กระบวนการยืดยาวขึ้น อีกทั้งไม่สอดคล้องกับคณะกรรมการพิจารณาในจังหวัดต่างๆ

ทั้งนี้ ก่อนหน้าการสัมมนา นางสาวจรูญศรี ชายหาด ผู้อำนวยการส่วนนโยบายภาษีท้องถิ่นและรายได้อื่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้บรรยายสรุปเรื่อง “ภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้างและแนวทางปฏิบัติ” เกี่ยวกับภาพรวมของรายได้ท้องถิ่น เหตุผลและความจำเป็นของการนำภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาใช้ รวมไปถึงหลักการ สาระสำคัญ และประโยชน์ที่จะได้รับจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net