Skip to main content
sharethis

วันนี้ 28 กรกฎาคม เวลา 10.00 น.นางสาวพรหมลักษณ์ ศักดิ์พิชัยมงคล คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ พร้อมด้วยนายจ้างได้เดินทางไปประสานงานให้ความช่วยเหลือเด็กชายพล (ชื่อที่ระบุในเอกสารการเกิด) หรือเด็กชายอับดุลลาห์ (ชื่อที่ระบุในเอกสาร ตม.) อายุ 3 ขวบ ซึ่งถูกกักตัวพร้อมมารดาอยู่ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) สวนพลู ในความผิดฐานเข้าเมืองผิดกฎหมาย
 
สืบเนื่องจากที่ วานนี้ (27 ก.ค.52) สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (SWIT) และโครงการบางกอกคลินิก ได้รับแจ้งจากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมเด็กชายพล (อับดุลลาห์) ซึ่งเป็นบุตรของนางโมโม่ แรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่และทำงานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา ณ ตลาดนัดแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรปราการ ต่อมาได้ถูกกักตัวอยู่ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) สวนพลู และคาดว่าทาง ตม.จะมีการดำเนินการเพื่อส่งเด็กชายคนดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร จากนั้น SWIT และโครงการบางกอกคลินิกได้ประสานงานไปยัง คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติฯ สภาทนายความ ต่อกรณีดังกล่าวเพื่อขอความช่วยเหลือ

นางสาวปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว ผู้จัดการสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (SWIT) กล่าวว่า เมื่อเวลาประมาณ 22.00 น. วันที่ 27 ก.ค.52 ได้ร่วมกันเจ้าหน้าที่จาก SWIT และโครงการบางกอกคลินิกเดินทางไปยังสำนักงาน ตม.สวนพลู เนื่องจากเกรงว่าเด็กชายพล (อับดุลลาห์) จะถูกส่งกลับในคืนดังกล่าว ซึ่งจากการสังเกตการณ์และสอบถามข้อมูลของกลุ่มที่ถูกส่งกลับพบว่าเด็กชายพลมีรายชื่อจะต้องที่ถูกส่งกลับด้วย แต่ก็ได้รับการยืนยันจากร้อยเวรว่ายังไม่ถูกส่งกลับ โดยมีการขีดฆ่าชื่อของเด็กชายคนดังกล่าวแล้ว

ด้านนางสาวพรหมลักษณ์ กล่าวให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ล่าสุดว่า เด็กชายพล (อับดุลลาห์) และนางโมโม่มารดา ได้รับการปล่อยตัวจาก ตม.สวนพลู แล้วเมื่อเวลาประมาณ 15.11 น.และกำลังจะเดินทางกลับที่พักที่ จ.สมุทรปราการ

นางสาวพรหมลักษณ์กล่าวด้วยว่า การจับกุมครั้งนี้ทั้งเด็กชายพล (อับดุลลาห์) และมารดา ถูกตั้งข้อหาลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ซึ่งในกรณีของนางโมโม่ มารดาเป็นปัญหาจากการประสานงานระหว่างกระทรวงแรงงานและกระทรวงมหาดไทยในเรื่องการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวรอบใหม่ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจบางส่วนยังไม่ได้รับทราบข้อมูล ทั้งที่มีการจดทะเบียนไปแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา ในขณะที่ตำรวจก็ทำงานแบ่งส่วน คือเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ตรวจจับ แล้วส่งต่อมายังตำรวจ ที่สำนักงาน ตม.แต่ไม่มีการประสานงานที่ต่อเนื่องในเรื่องข้อมูล

นางสาวพรหมลักษณ์กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาว่า การออกนโยบายควรให้มีการสั่งการที่ทั่วถึงทั้งประเทศ  ในส่วนการคุ้มครองลูกที่เกิดจากแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่และทำงานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ให้ได้มีสิทธิอาศัยตามพ่อหรือแม่ ควรให้มีการเร่งออกกฎกระทรวงในส่วนนี้ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 7 ทวิ วรรค 3 พ.ร.บ.สัญชาติ ที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 พ.ศ.2551

สำหรับกระบวนการที่อาจดูล่าช้านั้น นางสาวพรหมลักษณ์ กล่าวว่าเนื่องจากขั้นตอนที่ต้องประสานงานกับหลายภาคส่วน ต้องมีการประสานกับทางเขตสาธร ในการตรวจ ท.ร.38/1 (เอกสารรับรองรายการทะเบียนประวัติ) ว่าให้อยู่ในราชอาณาจักรได้หรือไม่ ต้องมีการทำหนังสือรายงานผู้บังคับบัญชา และมีการสอบพยาน

ทั้งนี้ ในคืนวันที่ 27 ก.ค.52 คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ต่อกรณีดังกล่าว และคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติฯ ได้ส่งจดหมายถึงผู้บัญชาการ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สวนพลู) ขอให้ระงับการส่งกลับเด็กชายพล ออกนอกราชอาณาจักรไทยและปล่อยตัวเด็กกลับคืนสู่ครอบครัวโดยทันที

จดหมายดังกล่าวระบุว่า โดยข้อเท็จจริง เด็กชายพล (อับดุลลาห์) เป็นบุตรของนางโมโม่ แรงงานต่างด้าว ที่ได้ต่ออายุใบอนุญาตทำงาน เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.52  (มีเลขประจำตัวประชาชน คือ 00-1101-106903-2) ดังนั้นจึงถือว่าเป็นบุคคลในครอบครัว หรือเป็นผู้ติดตามของแรงงานฯ ที่ได้รับอนุญาตให้มีสิทธิอาศัยและสิทธิทำงานชั่วคราวในประเทศไทย

อีกทั้งเด็กชายพล (อับดุลลาห์) เป็นบุคคลที่เกิดในประเทศไทย กล่าวคือ เกิดเมื่อวันที่ 4 ก.พ.49 ณ โรงพยาบาลสมุทรปราการ ได้รับการออกสูติบัตรประเภทบุตรของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ประเภท ท.ร.03 ซึ่งเป็นบุคคลภายใต้มาตรา 7 ทวิ วรรค 3 พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 พ.ศ.2551 กล่าวคือ อยู่ในระหว่างการกำหนดสถานะบุคคลและฐานะการอยู่ที่จะต้องคำนึงถึงหลักความมั่นคงและหลักสิทธิมนุษยชน โดยกระทรวงมหาดไทยจะประกาศเป็นกฎกระทรวง การพรากเด็กอายุ 3 ขวบไปจากแม่ และครอบครัวของเด็กย่อมเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อหลักสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และการส่งเด็กชายพล (อับดุลลาห์) ออกนอกราชอาณาจักร ด้วยเหตุที่ว่ามีความผิดฐานเข้าเมืองผิดกฎหมาย  จึงกระทำไม่ได้

นอกจากนี้ ทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ต้องอธิบาย ให้เหตุผลให้ได้ก็คือ เด็กชายพล (อับดุลลาห์) อายุ 3 ขวบ ออกนอกราชอาณาจักรนั้น ทาง ตม. จะถูกส่งไปยังด่านใด ส่งไป ณ ประเทศใด และมั่นใจได้อย่างไรว่าเด็กจะไม่เผชิญกับภัยต่อชีวิต ร่างกาย

ยิ่งไปกว่านั้น การส่งเด็กชายพล (อับดุลลาห์) ออกนอกราชอาณาจักร  โดยอ้างว่านางโมโม่ ผู้เป็นแม่ยินยอมที่จะออกนอกราชอาณาจักรพร้อมเด็กชายพล (อับดุลลาห์) นั้น อาจถูกตั้งเป็นข้อสังเกตได้ เนื่องจากนางโมโม่ เพิ่งไปต่อใบอนุญาตทำงานเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

และภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.1966  ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี ผูกพันให้ประเทศไทยต้องเคารพต่อสิทธิของเด็กที่จะได้รับการคุ้มครองโดยมาตรการต่างๆ ที่จำเป็น จากสังคมและรัฐ โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา เผ่าพันธุ์แห่งชาติหรือสังคม ทรัพย์สิน หรือกำเนิด (ข้อ 24) และจะต้องเคารพต่อสิทธิในการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวตาม (ข้อ 23)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net