Skip to main content
sharethis

ปัญหาของเกษตรกรไทยทุกวันนี้คืออะไร ทำอย่างไรที่เกษตรกรจะสามารถลืมตาอ้าปากและมีที่ยืนของตนเอง เพราะทุกวันนี้ปัญหาของเกษตรกรไทยมีทั้งปัญหาที่ดินหลุดมือ หนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้น ราคาผลผลิตตกต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง อำนาจการถือครองปัจจัยอยู่กับนายทุน ทั้งเรื่องพันธุ์ ปุ๋ย ยา สารเคมี วัตถุดิบในการผลิต ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาเนินนานหลายปี จะทำอย่างไรให้มีการปกป้องเกษตรกรและช่วยเหลือเกษตรกรจากปัญหาที่เกิดขึ้นได้ หากวันนี้เรามี พ.ร.บ.สภาเกษตรกร แล้วปัญหาเหล่านี้จะแก้ได้จริงหรือไม่

…..

คุณเอกชัย อิสระทะ ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้

ปัญหาของพี่น้องเกษตรกร คือ ที่ดินหลุดมือ เรื่องหนี้สิน เรื่องพันธุกรรมพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ที่เป็นของบริษัท หมูไก่กุ้งก็เป็นของบริษัท ขบวนการของกลุ่มทุนเข้ามาควบคุมเกษตรกรมากขึ้น เรื่องสิทธิของเกษตรกรเป็นเรื่องที่ต้องหยิบยกมาพูดคุย ถ้าหากเราจะต้องมีกฎหมายเป็นสภาเกษตรกรแล้ว ต้องนำไปสู่การแก้ปัญหาของเกษตรกรได้จริง แต่ถ้ามีสภาเกษตรกรแล้วไม่สามารถแก้ปัญหาได้เราจะมีสภาขึ้นมาอีกทำไม ซึ่งต้องการให้พี่น้องเกษตรกรมีที่ยืน กฎหมายที่ออกมาต้องแก้ปัญหาได้จริง เวลาพี่น้องมีปัญหาก็สามารถแก้ปัญหาได้เลย ซึ่งไม่ต้องการให้ระบบราชการเข้ามาครอบงำ และเรามีการป้องกันกลุ่มนายทุน/ภาคธุรกิจอย่างไร เพราะกลุ่มเหล่านี้จะทำอะไรก็ผ่านทั้งเรื่องแผนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว หรือการทำเกษตรอินทรีย์โดยทุน แล้วเกษตรอินทรีย์ที่เป็นรายย่อยจะอยู่กันอย่างไร

คุณกิมอัง พงษ์นารายณ์ เครือข่ายองค์กรประชาชนแห่งประเทศไทย

หนี้สินของเกษตรกรเริ่มจากการกู้เงินจาก ธกส.จำนวนเงินเล็กๆ น้อยๆ ก็กลายเป็นหนี้มากขึ้น เมื่อมีหนี้มากลูกหลานก็ไม่อยากกลับมาทำนาเพราะยิ่งทำยิ่งเป็นหนี้ บางรายถึงอยากทำนาก็ทำไม่ได้เพราะที่ดินได้หลุดมือไปแล้ว วันนี้ลูกหลานออกไปรับจ้างในโรงงาน ถ้า พ.ร.บ.เกษตรฯ เป็นกฎหมายและเป็นสภาของเกษตรกร เกษตรกรควรได้รับรู้ข้อมูลมากกว่านี้ เกษตรกรควรมีบทบาทสำคัญในการนำเสนอปัญหา เสนอข้อคิดเห็น และนำไปสู่การแก้ปัญหาได้จริง

อย่างเรื่องกองทุนฟื้นฟูซึ่งในตอนนั้นคิดว่าเป็นกฎหมายที่ดีที่สุด แต่วันนี้กองทุนฟื้นฟูยังมีปัญหาและไม่เป็นอิสระ จากที่มีการขึ้นทะเบียน 3 แสนรายตั้งแต่ปี 2546 ปัจจุบันนี้ปี 2552 แก้ปัญหาของเกษตรกรได้พียง 6 พันกว่ารายเท่านั้น เพราะนอกจากการแก้ปัญหาเรื่องหนี้สินแล้วควรมีการฟื้นฟูอาชีพ ทำอย่างไรเกษตรกรจะไม่เป็นหนี้ ซึ่งถ้ามีสภาเกษตร น่าจะแก้ปัญหาได้ชัดเจนทั้งด้านครอบครัว วิถีการผลิต วัฒนธรรมพื้นบ้าน

คุณสน ลูกสูง สมัชชาองค์กรชุมชนแห่งประเทศไทย

สภาเกษตรกรเป็นความใฝ่ฝันของเกษตรกร เพราะเชื่อสภาจะสามารถ 1.จะเป็นที่รวบรวมสติปัญญาและอำนาจการต่อรอง 2.เป็นช่องทางของการนำปัญหาของเกษตรกรไปสู่นโยบายได้ 3.เป็นสภาที่กำหนดชะตากรรมของตนเอง ไม่อยากให้ใครมาดึงกันไปมาทั้งเกษตรกรรายใหญ่และบริษัทเอกชน

ซึ่งที่ผ่านมาตนก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเปิดเวทียกร่างในภาคอีสานทั้งหมด 19 จังหวัด แต่พอร่างเข้าสู่สภา กลับให้มีการแก้ไขให้อำนาจการพิจารณากลั่นกรองอยู่ที่กระทรวงเกษตรฯ ซึ่งเห็นว่าถ้ายังถูกกระทรวงเกษตรควบคุม ก็ไม่จำเป็นต้องมีสภาเกษตร เพราะมีกระทรวงเกษตรฯอยู่แล้วจะตั้งให้เสียงบประมาณทำไม

คุณชัยวัฒน์ สุรวิชัย สถาบันการเมืองภาคประชาชน

มีการถกเถียงกันเรื่องการที่จะเป็นสภาการเกษตรหรือสภาเกษตรแห่งชาติซึ่งตรงนี้ต่างกัน เราต้องการให้เป็นสภาเกษตรแห่งชาติ เพราะถ้าเป็นสภาการเกษตร คือ ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับเกษตรฯ ทั้งนายทุน ทั้งบริษัทที่ขายสินค้าการเกษตรก็เข้ามามีส่วนร่วมได้ เราจึงต้องการให้เป็นสภาของเกษตรกรจริงๆ

เรื่องสำคัญของสภาเกษตรกรคือการให้ความสำคัญเรื่องสิทธิเกษตรกร ทำอย่างไรให้เกษตรกรเข้มแข็งต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทำให้เกษตรกรที่อยู่ต่ำสุดเริ่มสร้างอำนาจของตัวเองขึ้นมา ผลักดันให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม และเห็นว่าการแก้ปัญหาของเกษตรกรเป็นแก้ปัญหาของประเทศอย่างแท้จริง

คุณประวัติ บุญนาค สมาคมสหพันธ์เกษตรกรเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ประเด็นปัญหาคือการต่อสู้ทั้งสองฝ่ายที่แย้งชิงผลประโยชน์กันในด้านการเป็นผู้นำทางการผลิต แต่ความหมายของเกษตรกรรมไม่ใช่เรื่องการเกษตรเพียงอย่างเดียวแต่เกี่ยวกับการผลิตทั้งหมด เพราะฉะนั้นการเข้ามาของบริษัท เพราะต้องการครอบงำภาคการเกษตรทั้งหมด สิ่งที่พวกเขาต้องการคือการกำหนดเขตโซนนิ่ง การกำหนดการปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ การกำหนดการผลิตให้อยู่ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งต้องทำความเข้าใจเรื่องหลักการ สาระสำคัญ องค์ประกอบ (ทั้งภาคธุรกิจ ราชการ) โครงสร้างหน้าที่ การมีส่วนร่วม ผลกระทบที่เกิดขึ้น

ในช่วงที่ร่างสภาเกษตรฯ กำลังรอการเข้าวาระการประชุมในเดือนสิงหาคม เราต้องใช้จังหวะนี้ในการทำให้ประชาชนได้ทราบเพราะที่ผ่านมาเห็นว่ายังไม่มีการวิเคราะห์กันอย่างจริงๆ

อาจารย์ไพสิฐ พาณิชย์กุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ในการร่างกฎหมายควรเริ่มจากปัญหาที่มีแล้วนำไปสู่การแก้ปัญหาต้องฟังความคิดเห็นของเกษตรกรที่พบจริงๆ เรื่องวงจรการผลิตที่นำไปสู่การเกิดหนี้สิน โครงสร้างการผลิตทำให้เกิดการตัดขาดระหว่างคนรุ่นปัจจุบันและรุ่นอนาคตของเกษตรกร เรื่องระบบสวัสดิการที่จะดูแลพี่น้องเกษตรกรยิ่งทำยิ่งจนยิ่งเจ็บทำให้เกิดการล้มหายตายจากบนเกษตรอุตสาหกรรม และเรื่องสิทธิเกษตรกรที่นักการเมืองชอบอ้างว่า เป็นกระดูกสันหลัง เป็นประชากรส่วนใหญ่ที่ต้องดูแลแต่ไม่เคยทำอะไรให้เลย กฎหมายที่จะเกิดขึ้นจะต้องตอบโจทย์การแก้ปัญหาเหล่านี้การสร้างระบบการจัดการที่ดี เช่น

1.) การแก้ปัญหาเรื่องการพึงพาตัวเอง ที่ผ่านมาพึ่งแต่ระบบราชการ ระบบการประกันราคาเมื่อผลผลิตราคาตกต่ำ หรือการเสนอแนวทางการปลดหนี้ที่ทำให้เกษตรกรไม่สามารถพึ่งตนเองได้

2.) เรื่องการตั้งกลุ่ม ปัญหาคือที่ผ่านมากลุ่มต่างๆเหล่านี้สามารถแก้ปัญหาได้แท้จริงหรือไม่ ทำอย่างไรไม่ให้ถูก
แทรกแซงจากกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆและเป็นตัวแทนเกษตรกรอย่างแท้จริง

ในมาตรา 84 หัวใจสำคัญคือการพูดถึงสิทธิเกษตรกรแม้ตอนท้ายจะมีการตั้งสภาเกษตรกรแต่ก็เป็นแค่ส่วนประกอบหนึ่งเท่านั้น ซึ่งความต้องการคือทำอย่างไรให้เกษตรกรสามารถควบคุมปัจจัยการผลิตได้ ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องเมล็ดพันธุ์ ที่ดิน แหล่งน้ำ รวมถึงการเข้าไปมีบทบาทในกลไกการตลาด เรื่องการประกันราคา ความเป็นธรรมในเรื่องการเข้าถึงปัจจัยการผลิต

อาจารย์ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แนวคิดเรื่องเกษตรกรตั้งต้นเราไม่ได้เน้นเฉพาะเกษตรกรไทยเท่านั้น เพราะเกษตรกรมีอยู่ทั่วโลก การเอาเศรษฐกิจไปผูกติดกับเรื่องอุตสาหกรรมนั้นเป็นเรื่องหลอก ถ้าดูตัวเลขของสหประชาชาติ พบว่าการแลกเปลี่ยนสินค้าที่เยอะที่สุดไม่น้อยกว่า 60 % อยู่ในหมวดของอาหาร เพราะฉะนั้นประเทศใดที่มีการประกันสิทธิเกษตรกรอย่างมั่นคงก็หมายความว่ารัฐนั้นมีความมั่นคง ประเด็นที่ต้องมีเพื่อสร้างความมั่นคงของวิถีชีวิตของเกษตรกรคือ การถือครองปัจจัยการผลิต (ประมง เพาะปลูก ที่ดิน เมล็ดพันธุ์ มีตัวอ่อนหรืออาหารที่นำมาหมุนเวียน) การเข้าถึงทรัพยากรสาธารณะอย่างและการใช้สอยสิ่งที่ชุมชนมีอยู่เดิม เรื่องการประกันความมั่นคงในเรื่องผลตอบแทนที่ควรได้รับ เรื่องการรักษาวิถีการผลิตที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของตน

การกำหนดอนาคตของเกษตรกร/เกษตรกรรายย่อยต้องไม่ลืมการพัฒนาที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางคือเรื่องของสิทธิเกษตรกร การต้องการให้เกษตรกรอาจมีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น

…..

วันนี้ พ.ร.บ.สภาเกษตรฯได้เข้าไปรอการเข้าพิจารณาในสมัยการประชุม ครม.ครั้งต่อไปคือในเดือนสิงหาคมที่จะถึง แต่ร่าง พ.ร.บ.ในปัจจุบันนี้จะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรจริงหรือไม่ เกษตรกรจะได้อะไรบ้างจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ การมีหรือไม่มี พ.ร.บ.สภาเกษตรกรจะต่างกันอย่างไร ทำอย่างไรให้เกษตรกรเข้าใจถึงอำนาจหน้าที่หรือสิทธิที่ควรจะได้ พ.ร.บ.ฉบับที่จะได้มาจะเป็นของเกษตรกรจริงหรือไม่คงต้องรอดูกันต่อไปว่า พ.ร.บ.ที่ได้มาจะเป็นอย่างไรแต่นอกเหนือจากการได้กฎหมายสภาเกษตรกรแล้วก็คือการมีส่วนร่วมของประชาชนและเกษตรกรในการทำความเข้าใจ การสร้างความตระหนักถึงสิทธิที่ควรจะได้รับมากกว่า

 

ที่มา :

-“สิทธิเกษตรกร สิ่งที่หายไปใน พ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ” ราชดำเนินเสวนาโดยสมาคมนักข่าว และคณะติดตามฯ 10 พฤษภาคม 2552
-เวทีร่าง พ.ร.บ.สภาเกษตรกร ฉบับประชาชน ห้องประชุมชั้น1 มูลนิธิสารณสุขแห่งชาติ โดยคณะติดตามฯ 27 พฤษภาคม 2552


 

 

เปรียบเทียบสาระสำคัญร่างพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ ทั้ง 2 ฉบับ


โดย อ.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ร่าง พ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ
(ฉบับคณะรัฐมนตรีซึ่งผ่านคกก.กฤษฎีกาเข้าสภาแล้ว)
ร่าง พ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ
(ฉบับภาคประชาชน เสนอไปประกบ)
 
การยอมรับหลักการ “สิทธิเกษตรกร”
มิได้ปรากฏอยู่ใน ร่างพรบ.ฉบับนี้เป็นการเฉพาะ
(ไม่มีในร่าง พรบ. ฉบับนี้)
 
 
คัดเลือกตัวแทนเกษตรกรมาอย่างไร
องค์กรเกษตรกรที่ลงทะเบียนกับราชการจึงจะมีสิทธิส่งชื่อผู้เข้าสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกสภาเกษตรกร ทั้งในส่วนของสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ ระดับจังหวัด และผู้ทรงคุณวุฒิ   คุณสมบัติไม่ห้ามธุรกิจเกษตร และไม่มีการประกันสัดส่วนเกษตรกรรายย่อย
(ม.5,18,25บอกวิธีการสรรหาแต่ชุดแรกให้ใช้ตามม.33-39
,ม.6,21 บอกคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม)
 
 
สภาเกษตรกรให้มีกี่ระดับ และวาระ
จัดให้มีสภาเกษตรกร 2 ระดับ คือ   สภาเกษตรกรแห่งชาติ และ สภาเกษตรกรจังหวัด   โดยผู้ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมได้ต้องเป็นสมาชิกที่ผ่านการคัดเลือกแล้วเท่านั้น   มีวาระ 4 ปี ไม่เกิน 2 วาระต่อกัน
(ม.7 ระดับชาติ, ม.19 ระดับจังหวัด)
 
 
สมัชชาเกษตรกรควรมีหรือไม่ กี่ระดับ สมัชชาประเด็นเฉพาะล่ะ
ไม่มีการจัดตั้งสมัชชาเกษตรกรให้เกษตรกรรายย่อยเข้ามามีส่วนร่วมโดยตรง
(ไม่มีในร่าง พรบ. ฉบับนี้)
 
 
 
อำนาจและหน้าที่ของสภาเกษตรกรจะมีมากน้อยเพียงไร
สภาเกษตรกรมีอำนาจหน้าที่ในการจัดประชุมเพื่อทำแผนแม่บท และนโยบายสาธารณะด้านการเกษตรเป็นหลัก   เพื่อนำเสนอต่อภาครัฐ   แต่ต้องผ่านการคัดกรองจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก่อนจึงจะเข้าคณะรัฐมนตรี
(ระดับชาติ ม. 10,30,31,32   ระดับจังหวัด 20)
 
 การประชุม การลงคะแนนเสียง
จัดให้มีการประชุมประจำปีเพื่อทำแผนแม่บท และนโยบาย การออกมติใช้ระบบเสียงข้างมาก
(ม.14ชาติ, 24จังหวัด)
 
 
 
ข้อผูกพันของมติสภาเกษตรกร ต่อ รัฐ - รัฐบาล ราชการ หน่วยงาน
มติของสภาเกษตรกรทีมีความจำเป็นต้องนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อนำไปปฏิบัติ   ต้องผ่านการคัดกรองจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก่อนเสมอ   รัฐบาลและราชการไม่มีข้อผูกมัดใดที่จะต้องปฏิบัติตามมติของสภาเกษตรกร
(ม.31)
 
 
 
 
การบริหารจัดการสภาเกษตรกร สำนักงานเลขาธิการ อิสระ หรือใต้รัฐ
การบริหารจัดการสภาเกษตรกรแห่งชาติ และระดับจังหวัด ให้กระทรวงเกษตรเข้าไปทำหน้าที่ในฐานะสำนักงานเลขาธิการเพื่อบริหารงานภายในองค์กร
(ม.17ชาติ ,26จังหวัด)
 
 
 
การงบประมาณและกองทุนบริหารงานรัฐ
การบริหารและจัดการงบประมาณแบบราชการ
(ม.17ชาติ ,26จังหวัด
 
การยอมรับหลักการ “สิทธิเกษตรกร”
มีเจตนารมณ์พัฒนาสิทธิเกษตรกรทั้งในส่วนหลักการ เป้าหมาย และกิจกรรมที่ส่งเสริมสิทธิเกษตรกร
(ม. 3, 5, 9, 32, 34)
 
คัดเลือกตัวแทนเกษตรกรมาอย่างไร
เกษตรกรทั้งหลายสามารถเข้ามีส่วนร่วมได้โดยตรงในวันเปิดประชุมสมัชชาเพื่อเสนอตัวเข้ารับคัดเลือกเป็นสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ   และเกษตรกรยังมีสิทธิเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องเป็นสมาชิกในองค์กรเกษตรที่จดทะเบียนกับราชการ มีผู้มีผลประโยชน์ขัดกับสภาฯ และมีการพูดถึงเกษตรกรรายย่อย
(ม.12-19 บอกวิธีการสรรหาแต่ชุดแรกให้ใช้ตามม.42-44
,ม. 14 บอกคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม)
 
สภาเกษตรกรให้มีกี่ระดับ และวาระ
จัดให้มีสภาเกษตรกรแห่งชาติเพียงระดับเดียว   เพื่อเป็นองค์กรเชื่อมระหว่างเกษตรกร กับ ภาครัฐ   โดยจะมีสมัชชาเกษตรกรเข้ามาเพิ่มเติมเพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องชนะการคัดเลือกเข้ามาเป็นสมาชิกสภาเกษตรกร มีวาระ3ปีไม่เกิน 2 วาระต่อกัน
(ม.18,19)
 
สมัชชาเกษตรกรควรมีหรือไม่ กี่ระดับ สมัชชาประเด็นเฉพาะล่ะ
จัดให้มีสมัชชาเกษตรกรเพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรเข้ามีส่วนร่วมได้โดยตรง   และมีสมัชชาให้เข้าร่วมได้หลายระดับทั้งระดับชาติ ระดับจังหวัด พื้นที่ และสมัชชาเฉพาะประเด็นที่เกษตรกรมีความสนใจ
(ม.18,19ระดับชาติ,   ม. 33-36 สมัชชา)
 
อำนาจและหน้าที่ของสภาเกษตรกรจะมีมากน้อยเพียงไร
สภาเกษตรกรมีอำนาจหน้าที่ในการจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อพัฒนา “สิทธิเกษตรกร” จัดประชุมเพื่อทำแผนแม่บท และนโยบายสาธารณะด้านชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรเป็นหลัก   เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาล และรัฐสภาโดยตรง
(ม. 7, 9)
 
การประชุม การลงคะแนนเสียง
จัดให้มีการประชุมสามัญประจำปีเพื่อทำแผนแม่บท และนโยบายพัฒนาสิทธิเกษตรกร   แต่สมาชิกอาจขอเปิดการประชุมสมัยวิสามัญได้หากมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาให้เกษตรกร    การออกมติใช้ระบบเสียงข้างมาก
(ม.28)
 
ข้อผูกพันของมติสภาเกษตรกร ต่อ รัฐ - รัฐบาล ราชการ หน่วยงาน
มติของสภาเกษตรกรทีมีความจำเป็นต้องนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อนำไปปฏิบัติ อาทิ แผนแม่บท และนโยบายสาธารณะ   ไม่ต้องผ่านการคัดกรองจากหน่วยงานใดๆ ให้นำเสนอต่อคณะรับมนตรีโดยตรง   หากคณะรัฐมนตรีรับหลักการต้องประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา รัฐบาลและราชการจึงมีข้อผูกมัดที่จะต้องปฏิบัติตามมติของสภาเกษตรกรที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
(ม.9)
 
การบริหารจัดการสภาเกษตรกร สำนักงานเลขาธิการ อิสระ หรือใต้รัฐ
การบริหารจัดการสภาเกษตรกรแห่งชาติให้มีคณะกรรมการบริหารที่คัดเลือกจากสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ 21 คน   และให้จัดตั้งสำนักงานเลขาธิการอิสระภายใต้การควบคุมของสภาเกษตรกรแห่งชาติ มิใช่มาจากราชการ
(ม.21,22 เรื่องคณะกรรมการบริหาร,   ม.39, 40, 41เรื่องสำนักงานเลขาฯ)
 
การงบประมาณและกองทุนบริหารงานรัฐ
จัดให้มีกองทุนสำหรับการบริหารงานอย่างอิสระ ภายใต้กำกับของกฎหมาย   โดยให้สำนักงานเลขาธิการฯเป็นผู้บริหารภายใต้ควบคุมของคณะกรรมการบริหารสภาเกษตรกรแห่งชาติ
(ม. 11, 37, 38, ม.44ช่วงแรกที่ก่อตั้ง)
 
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net