Skip to main content
sharethis

ประธานาธิบดีเซลายาของฮอนดูรัสถูกทหารจับตัวและส่งออกนอกประเทศ ก่อนที่จะมีการลงประชามติแก้รัฐธรรมนูญ ชาวฮอนดูรัสชุมนุมต่อต้านทหารหนุนประธานาธิบดี หลายประเทศรวมทั้งสหรัฐ และละตินอเมริกา ออกมาประณามรัฐประหาร ฮูโก้ ชาเวซ เรียกร้องให้โค่นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร

 

 
หญิงคนหนึ่งเดินผ่านโฆษณาหน้าในหนังสือพิมพ์เป็นรูปของประธานาธิบดี มานูเอล เซลายา
มีข้อความเขียนว่า “เมล (อีกชื่อหนึ่งของมานูเอล): นี่คือรัฐประหาร”
(Getty Images / Daylife)
 
 

รัฐประหารในฮอนดูรัส หยุดการลงมติแก้รัฐธรรมนูญ

เมือวันที่ 28 มิ.ย. ที่ผ่านมาประธานาธิบดี มานูเอล เซลายา (Manuel Zelaya) ของฮอนดูรัส ถูกทหารฮอนดูรัสจับกุมและส่งตัวไปยังคอสตาริกา โดยก่อนหน้านี้มานูเอล เซลายา ได้วางแผนให้มีการลงมติในวันที่ 28 มิ.ย. เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อขยายให้ประธานาธิบดีมีวาระดำรงตำแหน่งเป็นสองสมัย ขณะที่ทางศาลสูงสุดของฮอนดูรัสตัดสินให้การลงประชามติในครั้งนี้ไม่เป็นไปตามกฎหมาย
 
สำนักข่าว BBC รายงานว่า ประธานาธิบดี มานูเอล ถูกทหารล้อมบ้านพักจับกุมตัวก่อนการเปิดให้ลงประชามติหนึ่งชั่วโมง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการรัฐประหารในฮอนดูรัส โดยการลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ได้รับการคัดค้านจากศาลสูงสุดของฮอนดูรัสและรัฐสภาฮอนดูรัส ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานทางรัฐสภาก็ได้แต่งตั้ง โรเบอร์โต มิเชลเลทตี (Roberto Micheletti) ประธานสภาขึ้นเป็นประธานาธิบดีแทน โดยโรเบอร์โต มีสังกัดในพรรคเสรีนิยมเช่นเดียวกับมานูเอล แต่ทางบีบีซีระบุว่าเขาเป็นคู่แข่งของมานูเอล
 
สตีเฟน กิบส์ ผู้สื่อข่าวในพื้นที่ของบีบีซีรายงานสถานการณ์ในวันที่ 28 ว่า มีรถหุ้มเกราะอยู่ตามท้องถนน และกองทัพก็ยิงแกีสน้ำตาเพื่อขับไล่กลุ่มผู้สนับสนุนประธานาธิบดีที่อยู่หน้าบ้านพักของเขา โดยหลังจากที่มานูเอล เซลายาถูกลักพาตัวมายังคอสตา ริกา เขายังคงบอกว่าตนเป็นประธานาธิบดีที่มีความชอบธรรมอยู่และเรียกร้องให้ชาวฮอนดูรัสออกมาต่อต้านผู้ที่ขับไล่เขาออกจากประเทศ โดยบอกว่า "นี้เป็นแผนการของพวกชนชั้นนำที่ต้องการทำให้ประเทศแยกตัวเองจากโลกและดำรงอยู่ภายใต้สถาวะยากแค้นถึงที่สุด"
 
จากนั้นทางสภาฮอนดูรัสก็ออกมาแสดงจดหมายลาออกของมานูเอล เซลายา แต่เซลายาปฏิเสธว่าเป็นจดหมายปลอม
 
โรเบอร์โต มิเชลเลทตี ในฐานะผู้นำชั่วคราวของฮอนดูรัสระบุว่าเขาจะดำรงตำแหน่งจวบจนกระทั่งวาระทางการเมืองของมานูเอล เซลายา หมดลงในวันที่ 27 ม.ค. ปีหน้า (2010) โดยจะมีการเลือกประธานาธิบดีใหม่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนปีนี้
 
ผู้นำชั่วคราวของฮอนดูรัสยังออกมากล่าวด้วยว่าเขาแน่ใจว่าร้อยละ 80 ถึง 90 ของประชากรฮอนดูรัสจะต้องรู้สึกดีกับสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้แน่
 
 
ตำรวจปราบจลาจลและทหารประจำการอยู่หน้าทำเนียบประธานาธิบดี
(Getty Images / Daylife)
 
กลุ่มผู้สนับสนุนมานูเอล เซลายา พากันชุมนุมร้องเพลงชาติฮอนดูรัส หน้าทำเนียบประธานาธิบดี
(Reuters Pictures / Daylife)
 
 

ประท้วงต้านรัฐประหารในฮอนดูรัส

หลังจากเหตุการณ์รัฐประหารโดยมีจับกุมตัวประธานาธิบดีมานูเอล เซลายา ประชาชนที่สนับสนุนเซลายาหลายร้อยคนออกมาประท้วง โดยมีบางคนสวมหน้ากาก ถิอท่อนไม้ วางแนวป้องกันด้วยโซ่รั้ว พังป้ายโฆษณา ที่ใจกลางกรุงเทกูซิกาลปา (Tegucigalpa) เมืองหลวงของฮอนดูรัส และยังมีการปิดถนนที่นำไปยังที่ทำการประธานาธิบดี
 
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่ามีเสียงปืนดังขึ้นหลังจากมีรถบรรทุกเข้ามาบริเวณนอกที่ทำการประธานาธิบดี จากนั้นก็มีรถพยาบาลตามมาโดยไม่ทราบว่าฝ่ายใดเป็นผู้ยิง แต่มีผู้เห็นเหตุการณ์ผู้หนึ่งบอกว่าเป็นการยิงปืนขึ้นฟ้า และยังไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ
 
นอกจากนี้ยังมีบางกลุ่มดึงเสื้อเชิ้ตขึ้นมาคลุมหัวขว้างปาหินใส่รถที่ผ่านในบริเวณนั้น มีการเผายางรถยนต์และซุ้มขายหนังสือพิมพ์ที่แสดงการสนับสนุนรัฐประหาร มีกลุ่มทหารท่าทางอิดโรยถือปืนกลอัตโนมัติเรียงแถวอยู่ภายในรั้วอาคารที่ทำการประธานาธิบดี
 
โดยกลุ่มผู้สนับสนุนเซลายา ยังได้ละเมิดกฏการกักบริเวณโดยชุมนุมข้ามคืนอยู่รอบที่ทำการประธานาธิบดี ประชาชนในเมืองหลวงของฮอนดูรัสพากันปิดบ้านและร้านค้าเนื่องจากกลัวความรุนแรงจะเกิดขึ้น
 
ฮูโก้ ชาเวซ ประธานาธิบดีเวเนซุเอลล่า กล่าวว่าการชุมนุมของกลุ่มผู้สนับสนุนเซลายานั้นเป็นการกบฏจากคนยากจนในประเทศ "หากพวกคณาธิปไตยละเมิดกฏเกณฑ์ ประชาชนก็มีสิทธิ์ออกมาต่อสู้ ขัดขืน พวกเราเป็นพวกเดียวกัน" ชาเวซกล่าว
 
มานูเอล เซลายา (กลาง) เดินมาพร้อมกับดาเนียล ออร์เตกา (ซ้าย) ปธน. นิคารากัว และ ฮูโก้ วาเวซ (ขวา) ขณะที่กำลังเดินทางเข้าร่วมพบปะหารือในกรุงมานากัว ประเทศนิคารากัวในวันที่ 29 มิ.ย.
(Reuters Pictures / Daylife)
 
 

นานาชาติร่วมประณามรัฐประหาร

ในคืนวันที่ 28 มิ.ย. ฮูโก ชาเวซ ประธานาธิบดี เวเนซุเอลลา รวบรวมพรรคพวกผู้นำฝ่ายซ้ายในประเทศบริเวณใกล้เคียงมาร่วมหารือกันในกรุงมานากัว ประเทศนิคารากัว ในที่ประชุมหารือครั้งนี้ประกอบด้วย ราฟาเอล คอร์เรีย ประธานาธิบดีเอกวาดอร์, ดานิเอล ออร์เตกา ประธานาธิบดีนิคารากัว, อิโว โมราเลส ประธานาธิบดีโบลิเวีย และ เลขาธิการองค์กรความร่วมมือกลุ่มประเทศในทวีปอเมริกา (Organization of American States หรือ OAS) โดยล่าสุด มานูเอล เซลายา ก็เดินทางมาเข้าร่วมการหารือครั้งนี้ด้วย
 
ฮูโก้ ชาเวช กล่าวว่าเขาจะทำทุกวิถีทางเพื่อล้มผู้ที่ขับไล่เซลายา และบอกว่าหากเอกอัครราชฑูตเวเนซุเอลลาถูกฆ่าหรือมีการส่งกองทัพเข้าไปในเขตสถานฑูตเวเนซุเอลลาแล้วจะมีการตอบโต้ทางการทหารเกิดขึ้น ประธานาธิบดีเวเนซุเอลลายังได้ประกาศว่าหากมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นหลังการรัฐประหารในครั้งนี้เขา "จะโค่นล้มมัน จะโค่นล้มมัน รู้ไว้ด้วย"
 
โดยชาเวซยังได้บอกอีกว่าจะต้องมีการสืบสวนว่าทางการสหรัฐฯ มีส่วนเกี่ยวข้องเหตุการณ์รัฐประหารในครั้งนี้ด้วยหรือไม่ ซึ่งทางการสหรัฐฯ ก็ออกมาปฏิเสธ
 
รัฐมนตรีต่างประเทศของเอกวาดอร์ออกมาบอกว่าจะไม่ยอมรับรัฐบาลอื่นนอกจากรัฐบาลของเซลายา ขณะที่ประธานาธิบดีของอาร์เจนตินา คริสตินา คิทซ์เนอร์ บอกว่ารัฐประหารครั้งนี้ทำให้นึกถึงช่วงที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ละตินอเมริกา
 
ประธานาธิบดี ลูอิซ อิกนาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ของบราซิลก็ออกมากล่าวในรายการวิทยุวันที่ 29 มิ.ย. ว่าประเทศบราซิลจะไม่ยอมรับรัฐบาลฮอนดูรัสที่ไม่มีเซลายาเป็นประธานาธิบดี เนื่องจากเซลายาได้รับเลือกตั้งจากการลงคะแนนโดยตรง ซึ่งเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย
 
รัฐมนตรีต่างประเทศของคิวบา บรูโน รอดริดจ์ ปาร์ริลล่า ก็ออกมากล่าวประณามรัฐประหารในครั้งนี้ด้วย
 
กลุ่มผู้สนับสนุนมานูเอล เซลายา ในนิคารากัว ออกมาโบกธงนิคารากัวและธงฮอนดูรัส
(Reuters Pictures / Daylife)
 
ด้านประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ออกมาแถลงว่า "ผมขอให้ผู้ทำงานเกี่ยวข้องกับการเมืองและสังคมในฮอนดูรัสเคารพหลักประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และหลักของกฏบัตรประชาธิปไตยในประเทศเขตทวีปอเมริกา (Inter-American Democratic Charter)" ขณะที่ ฮิลลารี่ คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ระบุว่าการทำรัฐประหารประธานาธิบดีมานูเอล เซลายา เป็นการละเมิดกฏบัตรประชาธิปไตยในประเทศเขตทวีปอเมริกา และสมควรถูกประณาม
 
ด้านรัฐมนตรีต่างประเทศของฝรั่งเศสแถลงว่าประเทศฝรั่งเศส "ขอประณามการทำรัฐประหารที่กำลังเกิดขึ้นในฮอนดูรัส" และยังบอกอีกว่าการจับกุมตัวและขับไล่นักการฑูตในฮอนดูรัส เป็นการละเมิดอนุสัญญาเวียนนาขั้นรุนแรง และเป็นเรื่องยอมรับไม่ได้
 
ขณะที่นายกรัฐมนตรีของสเปน โฆเซ หลุยส์ รอดริจซ์ ซาปาเตโร ก็ออกมาประณามการ "กักขังและขับไล่" ประธานาธิบดีมานูเอล ของฮอนดูรัส และเรียกร้องให้มีการคืนตำแหน่งให้กับมานูเอลโดยเร็วที่สุด
 
ประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีนหรือไต้หวัน นายหม่า อิง-เจียว (Ma Ying-Jeou) ยกเลิกแผนการเดินทางไปเยือนฮอนดูรัส
 
บัง คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ ก็ออกมาประณามการก่อรัฐประหาร และเรียกร้องให้มีการคืนตำแหน่งให้กับตัวแทนที่ได้รับการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตย
 
โรเบอร์โต มิเชลเลทตี ประธานสภาฯ ฮอนดูรัสและผู้นำชั่วคราว ออกมาเรียกร้องว่า "พวกเราเคารพทุกคนและพวกเราก็แค่อยากขอร้องให้พวกเขาเคารพเราด้วย และปล่อยให้เราอยู่อย่างสงบ เพราะว่าประเทศเรากำลังจะมีการเลือกตั้งที่อิสระและโปร่งใสในเดือนพฤศจิกายนนี้แล้ว"
 
ในวันที่ 29 มิ.ย เอนริค ออร์เตส รัฐมนตรีต่างประเทศของฮอนดูรัสที่ได้รับการแต่งตั้งจากมิเชลเลทตี ออกมาระบุผ่านสถานีวิทยุ HRN ว่าไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้น โดยกล่าวว่ากองทัพแค่ออกมาปกป้องรัฐธรรมนูญ "ที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ต้องการแก้ไขโดยปราศจากหลักการและเป็นการดำเนินการอย่างผิดกฏหมาย"
 
ผู้นำชั่วคราวของฮอนดูรัสยังออกมากล่าวตอบโต้เสียงประณามจากนานาชาติว่า "ไม่มีใคร ไม่ว่าจะเป็นบารัค โอบามา หรือคนอย่าง ฮูโก้ ชาเวซ ที่จะมีสิทธิข่มขู่ประเทศนี้"
 
 
กลุ่มผู้สนับสนุนมานูเอล เซลายา ในคอสตา ริกา แสดงการทักทายเซลายาหลังการแถลงข่าว
(Reuters Pictures / Daylife)
 
 
 

สถานีวิทยุเรียกร้องให้ชาวฮอนดูรัสกลับสู่ภาวะปกติ

เช้าวันที่ 29 มิ.ย. สถานีวิทยุสองแห่งของฮฮนดูรัส คือ เรดิโอ อเมอริกา (Radio America) และ เรดิโอ เอชอาร์เอน (Radio HRN) ที่เป็นสื่อของฝ่ายตรงข้ามประธานาธิบดีมานูเอล ขอร้องให้ชาวฮฮนดูรัสกลับสู่ภาวะปกติและไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับองค์กรพลเมืองที่พยายามผลักดันให้มานูเอล เซลายา กลับคืนสู่ตำแหน่ง
 
สำนักข่าว ANSA ของอิตาลีรายงานว่า สถานีโทรทัศน์ในฮอนดูรัสไม่มีการนำเสนอข่าว และสื่อต่างประเทศเช่น CNN และ Telesur ถูกคลื่นรบกวน โดยข้อมูลที่ได้รับการสื่อสารออกมา มาจากทางฝั่งรัฐบาลปัจจุบันของฮฮนดูรัสเท่านั้น ยังไม่มีองค์กรสิทธิมนุษย์ชนภายในประเทศหรือสถานีวิทยุใดที่ออกมาประณามการปิดกั้นสื่อในฮฮนดูรัส
 
กอนซาโล เวิร์จ นักข่าวของอาร์เจนติน่าที่ประจำอยู่ในกรุงเทกูซิกาลปา เล่าถึงเหตุการณ์ในวันที่ 28 มิ.ย ว่าเขาตื่นขึ้นเมื่อได้ยินเสียงเฮลิคอปเตอร์และเสียงหวอ เมื่อมองจากที่พักไปยังที่ทำการรัฐบาลแล้วก็พบว่ามีทหารกำลังล้อมพื้นที่มาพร้อมกับรถถัง
 
เมื่อเวิร์จ เปิดโทรทัศน์และวิทยุก็พบว่ามีการรายงานเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น แต่ในอีกไม่กี่นาทีถัดมาการแพร่ภาพก็ถูกตัดขาด ทำให้ต้องอาศัยคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือในการต่ออินเตอร์เน็ตและรับข้อมูลจากสื่อ
 
ประชาชนจำนวนมากให้การต้อนรับเซลายา เมื่อเขาเดินทางมาถึงกรุงมานากัวในวันที่ 29 มิ.ย.
ในรูปเขากำลังโดยสารอยู่บนรถบัส
(Reuters Pictures / Daylife)
 
 
 

เรื่องราวของประธานาธิบดี ผู้ถูกรัฐประหารทั้งที่ยังอยู่ในชุดนอน

มานูเอล เซลายา มีบทบาททางการเมืองจากการเข้าร่วมพรรคเสรีนิยมฮอนดูรัส (Partido Liberal de Honduras หรือ PLH) ในปี 1970 เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองมากมายภายในพรรคเสรีนิยม และเคยอยู่แผนกการลงทุน ในกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคมของฮอนดูรัส (Honduran Social Investment Fund หรือ FHIS) ในสมัยรัฐบาลของ คาร์ลอส โรเบอร์โต ฟลอเรส เขาได้เสนอโครงการเปิดเขตปกครอง (Open counties programme) ซึ่งเป็นโครงการเพื่อลดการรวมศูนย์จากส่วนกลางในด้านการตัดสินใจ และคืนอำนาจให้กับท้องถิ่น โดยที่ทั้งการแบ่งส่วนตามเขตเทศบาลและแบ่งตามชาติพันธ์หรือชุมชนดั้งเดิม ซึ่งเขาวางแผนจะดำเนินโครงการนีอีกครั้งในวาระที่เขาเป็นประธานาธิบดี
 
ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งมานูเอล เคยให้คำมั่นว่าจะมีการเพิ่มจำนวนตำรวจเป็นสองเท่าจาก 9,000 นาย เป็น 18,000 นาย และยังได้ริเริ่มโครงการดัดสำนึก (re-education) กับกลุ่มมิชฉาชีพแก็งค์ใหญ่ที่ชื่อว่า มารา ซัลวาตรุชา (Mara Salvatrucha) ซึ่งคู่แข่งของเขาอย่าง เปเป โลโบ จากพรรคชาตินิยมมีแนวทางจัดการแก็งค์นี้ต่างออกไปโดยเสนอให้ลงโทษประหารแก็งค์นี้
 
มานูเอล เซลายา ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 27 ม.ค. 2005 โดยได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 49.9 จากผู้มาใช้สิทธิ์ทั้งหมด และมีที่นั่งในสภา 62 ที่นั่ง ขณะที่ โลโบ จากพรรคคู่แข่งได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 46.2 และมีที่นั่งในสภา 55 ที่นั่ง
 
ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีผู้ที่เป็นฝ่ายซ้ายจะชื่นชมเขาในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ และการปฏิรูปสังคม ในขณะเดียวกันบางครั้งมันก็ทำให้เขามีความได้เปรียบด้านอำนาจทางเศรษฐกิจในฮอนดูรัส ขณะที่ฝ่ายหัวอนุรักษ์แสดงท่าทีต่อต้านนโยบายต่างประเทศของเขา อย่างเรื่องที่เขาร่วมเป็นพันธมิตรกับฮูโก้ ชาเวซ ประธานาธิบดีเวเนซุเอลลา การให้ฮอนดูรัสเข้าร่วมกลุ่มสหพันธ์โบลิเวียนเพื่อประชาชนแห่งทวีปอเมริกา (Bolivarian Alliance for the People of Our America หรือ ALBA) ซึ่งเป็นกลุ่มที่เวเนซุเอลลาตั้งขึ้นมาเมื่อต่อต้านเขตการค้าเสรีของอเมริกา (Free Trade Area of the Americas หรือ FFTA) รวมทั้งตัวมานูเอลเองยังได้กล่าววิพากษ์สหรัฐฯ และมีการเผชิญหน้าในภาคธุรกิจอยู่ตลอดเวลา
 
อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตว่าในช่วงที่มานูเอล เซลายา ดำรงตำแหน่งอัตราการก่ออาชญากรรมเพิ่มสูงขึ้น และในช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2007 เซลายาก็มีคำสั่งให้สถานีโทรทัศน์และวิทยุออกอากาศรายการสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาลเป็นเวลาสองชั่วโมงต่อวัน ซึ่งทำให้กลุ่มสหภาพนักข่าวในประเทศออกมาวิพากวิจารณ์อย่างรุนแรง และฝ่ายค้านก็เรียกเซลายาว่าเป็น "เผด็จการ"
 
มานูเอล เซลายาจะได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นเวลาสี่ปีจนกระทั่งหมดวาระในวันที่ 27 มกราคม 2010 โดยในรัฐธรรมนูญของฮอนดูรัสระบุไว้ว่าประธานาธิบดีจะดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียวเท่านั้น
 
จนกระทั่งในปีนี้ (2009) เซลายาก็ออกมาเรียกร้องให้มีการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้รัฐธรรมนูญใหม่อนุญาตให้ประธานาธิบดีคนก่อนได้รับเลือกตั้งเข้ามาอีกครั้งได้ ซึ่งมานูเอลตั้งกระทู้ว่า "พวกคุณเห็นด้วยหรือไม่หากจะมีการตั้งกล่องลงคะแนนกล่องที่สี่ในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกันยายน 2009 เพื่อตัดสินว่าควรให้สภาร่างรัฐธรรมนูญยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่"
 
โดยทางศาลสูงสุดของฮอนดูรัส ทางรัฐสภา อัยการสูงสุด และกรรมาธิการการเลือกตั้งระดับสูงของฮฮนดูรัส ประกาศว่าประชามติของเซลายาในครั้งนี้ผิดกฏหมาย ทำให้รัฐสภาเริ่มพิจารณาถอดถอนเซลายา นอกจกานี้ยังมีประชาชนหลายพันคนออกมาประท้วงต่อต้านเซลายาในวันที่ 27 มิ.ย. ที่ผ่านมา
 
 
 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

 
Honduran leader forced into exile, BBC, 28-06-2009
 
Chaos erupts after Honduras coup, Mica Rosenberg, Reuters, 29-06-2009
 
World leaders condemn Zelaya's overthrow, France24, 28-06-2009
 
Ousted president, replacement duel for Honduras, WILL WEISSERT and FREDDY CUEVAS, AP, 29-06-2009
 
Media in Honduras Call for “Normalcy” After Change of Power, Dean Graber, Blog:Knight Center for Journalism in Americas (University of Texas at Austin), 29-06-2009
 
ALBA presidents condemn coup and back Zelaya, Granma International, 29-06-2009

 

 

ข้อมูลเสริม

http://en.wikipedia.org/wiki/Politics_of_Honduras (เข้าดูเมื่อ 29 มิ.ย. 2009)
http://en.wikipedia.org/wiki/Manuel_Zelaya (เข้าดูเมื่อ 29 มิ.ย. 2009)

(เข้าดูเมื่อ 29 มิ.ย. 2009)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net