ฌาปนกิจ “กระจ่าง ตุลารักษ์” คณะราษฎรคนสุดท้ายแล้ว

ญาติจัดพิธีฌาปนกิจศพ ร.ท.กระจ่าง ตุลารักษ์ สมาชิกคณะราษฎรคนสุดท้าย อย่างเรียบง่ายแล้ว เตรียมนำอัฐิมาบรรจุกระดูกที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน เช่นเดียวกับผู้ก่อการคณะราษฎรท่านอื่น

 

 






 
ตามที่มีรายงานข่าวว่า ร.ท.กระจ่าง ตุลารักษ์ สมาชิกคณะราษฎรคนสุดท้าย ซึ่งสิ้นลมอย่างสงบเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2552 ที่ผ่านมา อันตรงกับวันครบรอบการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 77 ปีพอดีนั้น ล่าสุด ไทยอีนิวส์ รายงานว่า ญาติของ ร.ท.กระจ่างได้จัดพิธีฌาปนกิจศพอย่างเรียบง่ายแล้วเมื่อ 28 มิ.ย. จากนั้นจะนำอัฐิมาบรรจุกระดูกที่วัดประชาธิปไตย หรือวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน เช่นเดียวกับผู้นำคณะราษฎรสำคัญท่านอื่นๆ เช่น นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา และนายพันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นต้น
 
ร.ท.กระจ่างจากไปอย่างสงบ รวมอายุ 98 ปี ซึ่งญาติได้นำศพไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่ฌาปนกิจสถานเทศบาลนครยะลา มีพิธีรดน้ำศพ ในวันที่ 25 มิ.ย. เวลา 15.00 น. และได้ทำพิธีฌาปนกิจ ในวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมานี้
 
ผู้ใช้นามแฝงว่า dr_salum รายงานบรรยากาศการจัดงานฌาปนกิจศพทางประชาไทเว็บบอร์ดว่า "ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เดินทางรอนแรมไปไกลเพื่อร่วมงานนี้" และว่าพิธีฌาปนกิจเป็นไปอย่างเรียบง่าย มีผู้มาร่วมงานราวไม่เกิน 100 คน บรรยากาศในงานมีพวงหรีดจากนักการเมืองรุ่นเก่าๆ มาร่วม "ท่านผู้นี้ ก็คงจะเป็นที่จดจำของคนไทยที่รักประชาธิปไตยไปอีกนาน"
 
ด้านนางอภิลักษณ์ ลากชุ่มศรี อายุ 59 ปี ลูกสาว ร.ท.กระจ่าง เปิดเผยว่า หลังจากทำพิธีฌาปนกิจเสร็จแล้ว จะนำกระดูกไปเก็บไว้ที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กทม. (สำหรับวัดนี้มีชื่อในตอนแรกตั้งว่าวัดประชาธิปไตย เป็นที่เก็บอัฐิของคณะผู้ก่อการคณะราษฎร์หลายคน-ไทยอีนิวส์)
 
"การที่ ท่านมาเสียชีวิตในวันที่24มิถุนายนนี้ รู้สึกแปลกดี รู้สึกว่าคุณพ่อคอยวันนี้ เพื่อนๆของคุณพ่อที่ไปร่วมงานวันลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็ได้ทราบหมด และได้มีการยืนไว้อาลัยให้ 1 นาที ที่วัดพระศรีมหาธาตุ ก็ยืนไว้อาลัยให้ เพื่อนๆ ที่ กทม.รู้ข่าวนี้กันหมดแล้ว คุณพ่อเคยเล่าให้ฟังว่า เคยเข้าร่วมกับคณะราษฎร์ เมื่ออายุประมาณ 18 ปี ไปอยู่กับคุณลุงสงวน ตุลารักษ์” นางอภิลักษณ์ ลากชุ่มศรี กล่าว
 
 
 

เปิดเผยวีรกรรมขณะทำงานกู้ชาติกับเสรีไทย
 
หนังสือตำนานเสรีไทยบันทึกประวัติวีรกรรมของกระจ่างไว้ว่า เขาเกิดที่อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อพ.ศ.2456 เป็นบุตรนายนัฐ ตุลารักษ์ และเป็นน้องชายนายสงวน ตุลารักษ์ เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศจีนคนแรก ได้รับการชักชวนจากพี่ชายให้เข้าร่วมการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ขณะเป็นนักเรียนกฎหมาย ต่อมาได้รับราชการทหาร แล้วเดินทางไปปฏิบัติงานเสรีไทยที่ประเทศจีนกับคณะของพี่ชาย ภายหลังสงครามได้รับพระราชทานยศทหารเป็นร้อยโท
 
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2489 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.เขต 1 ขอนแก่น ต่อมาไปประกอบอาชีพส่วนตัวที่ จ.ยะลา เปิดโรงเลื่อยไม้ที่บ้านกาบู ต.กายูบอเกาะ อ.รามัน และสมรสกับนางพวงเพ็ชร หรือ สวนเพ็ชร โกวิทยา อดีตนางงามท้องถิ่น จ.ปัตตานี มีบุตรธิดา 4 คน
 
บทบาทของการเป็นเสรีไทยที่สำคัญของกระจ่างเกิดขึ้นในช่วงที่ตอนแรกก่อตั้งขบวนการเสรีไทย ภารกิจหลักคือการติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือจีน สหรัฐฯ และอังกฤษ เพื่อให้สัมพันธมิตรทราบว่ามีองค์การใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่นโดยคนไทยผู้รักชาติได้จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยแล้ว และต้องการร่วมมือกับสัมพันธมิตรในการต่อต้านญี่ปุ่น และจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นในต่างประเทศ นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าเสรีไทยพยายามดำเนินการเรื่องนี้มาแต่ต้น แต่เพิ่งจะสำเร็จเป็นครั้งแรกในต้นปี2486 เมื่อส่งนายจำกัด พลางกูร เล็ดลอดจากไทยไปถึงนครจุงกิง ประเทศจีน และสามารถติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรได้ อย่างไรก็ตามตั้งแต่เดือนเมษายน ถึงกรกฎาคม 2486 นายปรีดีไม่ได้รับการติดต่อใดๆ จากนายจำกัดเลย
 
นายปรีดีจึงตัดสินใจส่งอีกคณะนำโดยนายสงวน ตุลารักษ์เล็ดลอดออกจากไทยไปจีนเพื่อสืบข่าวนายจำกัด โดยมีกระจ่างร่วมคณะไปด้วย โดยออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปโดยรถไฟถึงพระตะบอง กัมพูชา เมื่อ 14 กรกฎาคม 2486 ไปถึงจุงกิงวันที่ 1 กันยายนปีเดียวกัน ตลอดการเดินทางต้องเสี่ยงถูกญี่ปุ่น ซึ่งยึดครองประเทศอินโดจีนอยู่จับกุม โดยเฉพาะขณะเดินทางจากเมืองมองกาย ชายแดนเวียดนามเข้าสู่เมืองตงเฮงของจีนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2486 นายกระจ่างไปสืบที่แนวหน้าแล้วแนะนำคณะทั้งหมดปลอมตัวเป็นชาวเวียดนามเดินปะปนคนจีนถือกระจาดเหมือนพ่อค้าเข้าไปเพื่อตบตาญี่ปุ่น ส่วนนายกระจ่างเดินตัวเปล่าตามหลังไป
 
"เราเดินทางรอนแรมมาเป็นเวลาถึง 1 เดือนเต็มหลังจากออกประเทศไทยมา เป็นการเดินทางที่แสนทุรกันดารนั่งเกี้ยวและลงเรือสลับกันไป" นายสงวนพี่ชาย นายกระจ่างบันทึกไว้ตอนหนึ่ง เมื่อถึงจีนได้ไปพำนักกับหมอสงวน ว่องวานิช นายห้างอังกฤษตรางูผู้ต่อต้านญี่ปุ่นถูกเนรเทศมาอยู่จีนระยะหนึ่ง จนคณะสามารถติดต่อกับนายจำกัดได้ในปลายเดือนกันยายน ก่อนที่นายจำกัดจะเสียชีวิตลงในวันที่ 7 ตุลาคม นายกระจ่างเป็นผู้เก็บอัฐิไปลอยอังคารที่แม่น้ำแยงซีเกียง
 
 
 

จำกัด พลางกูร


 
นายจำกัดเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งลำไส้ในวัยเพียง 26 ปี กล่าวกันว่าเพราะภารกิจที่ตรากตรำ การที่ถูกทางการจีนควบคุมตัวไว้ไม่ต่างจากนักโทษขณะปฏิบัติภารกิจกู้ชาติ เขากล่าววาจาสุดท้ายอย่างแผ่วเบาว่า "เพื่อชาติ--เพื่อhumanity..."
 
ทั้งนี้ก่อนรับภารกิจออกเดินทางมาจีนเพื่อติดต่อฝ่ายสัมพันธมิตรนายปรีดีให้โอวาทเขาว่า "เพื่อชาติ เพื่อhumanity นะคุณ เคราะห์ดีที่สุดอีก 45 วันก็คงได้พบกัน เคราะห์ไม่ดีนักอย่างช้าอีก 2 ปีก็ได้พบกัน และถ้าเคราะห์ร้ายที่สุด ก็ได้ชื่อว่าสละชีวิตเพื่อชาติไป" ... จำกัดเป็นบัณฑิตเกียรตินิยมจากอ๊อกฟอร์ด เมื่อศึกษาจบเข้ารับราชการที่กระทรวงศึกษาธิการระยะหนึ่ง และถูกให้ออกจากราชการ เพราะทัศนคติต่อต้านการใช้อำนาจของผู้มีอำนาจในเวลานั้น เมื่อญี่ปุ่นยึดครองประเทศไทย ได้เข้าร่วมกับปรีดีก่อตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้น
 
 
จากนั้นเดินทางไปคุนหมิงเข้าฝึกอบรมการก่อวินาศกรรม การรับส่งวิทยุโดยรหัสลับ และการทหาร2เดือน จนต้นปี2487จึงเดินทางไปเมืองเจียงเฉิน ติดชายแดนเวียดนามอีก2เดือน แล้วเข้าสู่ประเทศไทยในเดือนเมษายน2478 และไปตั้งสถานีวิทยุรับ-ส่งข่าวกับจุงกิงที่หลวงพระบาง ประเทศลาว
 
ต้นเดือนกรกฎาคม2487เดินทางถึงพรมแดนไทย-ลาว สามารถติดต่อกับเสรีไทยสายอีสานได้หลายคน และได้รายงานให้นายปรีดีทราบ
 
กระจ่าง ยังได้รับภารกิจนำไมโครฟิล์มบันทึกข้อความนัดหมายให้นายปรีดีจัดคยไปรับการ ขึ้นบกจากเรือดำน้ำของนายทหารเสรีไทยสายอังกฤษในปลายเดือนธันวาคม2486 ซึ่ง ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิทสวัสดิวัตทรงมอบให้แก่นายจำกัดไว้เมื่อเสด็จมาพบ นายจำกัดที่จุงกิงในเดิอนสิงหาคม2486 แต่เนื่องจากนายกระจ่างยังไม่ได้เดินทางเข้าไทยจนกระทั่งปี2487 ดังนั้นเมื่อหน่วย"พริชาร์ด"ของกองกำลัง136 ซึ่งมี ร.ต.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และคณะเดินทางมาถึงโดยเรือดำน้ำของราชนาวีอังกฤษมาถึงฝั่งไทยที่จังหวัด พังงาตามวันเวลาที่นัดหมายไว้ในไมโครฟิล์มดังกล่าว จึงไม่มีฝ่ายไทยไปรอรับ ทำให้ทางการอังกฤษต้องสั่งยกเลิกปฏิบัติการพริชาร์ดไปในที่สุด
 
กระจ่าง ตุลารักษ์ เคยให้สัมภาษณ์ลงในนิตยสารสารคดีถึงเหตุการณ์วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง2475 ซึ่งเขาเป็น 1 ในสมาชิกคณะผู้ก่อการ 115 คน ว่า
 
"ต่างคน ต่างเดินทางแยกย้ายไปตามจุดนัดหมาย ของตัวเอง ทุกหมู่เหล่า มีชาวบ้านอย่างเรา ไปอยู่ด้วย ถนนราชดำเนินตอนนั้น เงียบมาก พี่ชายบอกว่า เดี๋ยวมีคนเอาปืนมาให้ ผมคิดอย่างเดียวว่า ตั้งใจมาทำงานให้สำเร็จ เขาสู้ ก็สู้กับเขา ตายก็ตาย...”
 
ส่วนคุณค่าของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ครั้งนั้น เขากล่าวทิ้งท้ายว่า "สิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อเช้ามืด วันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นทรัพย์สมบัติ ของประชาชนคนรุ่นหลัง"...
  
 
ที่มา: เรียบเรียงโดย: ทีมข่าวไทยอีนิวส์ และ คุณ dr_salum ใน ประชาไทเว็บบอร์ด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท