Skip to main content
sharethis

ข่าว "ปลิงเข็ม" ระบาดในกว๊านพะเยา แพร่สะพัดไปอย่างกว้างขวาง ก่อนหน้าช่วงเทศกาลสงกรานต์ไม่กี่วัน และจนถึงวันนี้ “ปลิงเข็ม” ก็ยังคงดำรงอยู่ไม่หมดไป ส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อ "กว๊านพะเยา" คือ หน้าตาอันสวยงามด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดพะเยา

ไม่เพียงแต่การท่องเที่ยวที่เงียบเหงาอยู่แล้ว ที่สำคัญ คือ กว๊านพะเยา เป็นแหล่งผลิตน้ำประปาที่ใช้สำหรับดื่มกินในเขตตัวเมืองพะเยาและดอกคำใต้

และน่าสงสารไม่แพ้กัน คือ ความเป็นอยู่ของชาวประมง ซึ่งไม่อาจลงน้ำไปหากินปลาได้ เนื่องจากหวั่นกลัวอันตรายจากปลิงที่จะชอนไชเข้าสู่ร่างกาย

สาเหตุของปรากฏการณ์ปลิงเข็ม ข้อมูลชัดเจนมาจากคุณภาพของน้ำที่เน่าเสียในกว๊านพะเยา ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำมาก

ในขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามจะออกมาแก้ปัญหา แต่ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงก็ไม่สามารถแก้ได้ ปรากฏการณ์ “กว๊านพะเยา” เชิงลบเช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยประชาชนไม่อาจมีส่วนร่วม หรือ กว๊านพะเยา พื้นที่ชุมน้ำระดับนานาชาติ กับเรื่องน้ำเน่าเสียจะแก้ไม่ได้ไปตลอดกาล

เสียงจากชาวประมง

นายสมชาย แผ่นทอง ชาวประมงพื้นบ้านซอยสันแกลบดำ ชุมชนวัดบุญยืน กล่าวว่า การระบาดของปลิงมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจในช่วงเดือนเมษายน แม้จะทราบดีว่า ฤดูนี้น้ำแห้ง สัตว์ต่างๆอาจถูกบีบให้มีพื้นที่หากินน้อยลง ซึ่งอาจพบง่ายขึ้น แต่ในปีที่ผ่านมาช่วงเวลาเดียวกันกลับไม่เจอมากเช่นปัจจุบัน และจนถึงเดือนพฤษภาคม ยังพบเห็นอยู่จำนวนมากในหลายพื้นที่

ชาวประมงกว๊านพะเยา เชื่อว่าสาเหตุที่เป็นเช่นนี้มีหลายประการ เช่น ปริมาณน้ำที่เน่าเสียเพิ่มขึ้นจากการปล่อยน้ำทิ้งของชุมชนรอบกว๊านพะเยา จากร้านอาหาร จากการผลิตประปา การเน่าเสียของผักตบชวา โดยเฉพาะส่วนหนึ่งมาจากน้ำทิ้งในชุมชนของตนเองด้วยที่ปล่อยน้ำลงสู่กว๊านพะเยา

จึงอยากให้หน่วยงานประมงจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการรณรงค์และแจ้งข้อมูลให้กับประชาชนทราบ พร้อมทั้งหาวิธีปราบปลิงเข็มที่ตอนนี้ชาวประมงไม่สามารถลงหาปลาได้ เนื่องจากกลัวอันตรายจากปลิงเข็มที่จะมาชอนไชเข้าสู่ร่างกาย

ปกติจะพบปลิงเข็มที่ติดตามตัวเต่าและตะพาบน้ำ แต่ตอนนี้มีจำนวนมากขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน อาจจะเกิดจากสาเหตุที่น้ำกว๊านพะเยาแห้งกว่าปกติ และเกรงว่าจะเกิดอันตรายหากมีการเข้าไปเกาะกับอวัยวะภายในร่างกาย”


สำรวจพื้นที่กว๊านในอีกหลายจุด

นายจันทร์ติ๊บ ฟูเฟือง ชาวประมงบ้านสันต้นผึ้ง ต.บ้านต๋อม อ.เมือง จ.พะเยา กล่าวว่า สภาพน้ำกว๊านพะเยาตั้งแต่ต้นปี 2552 มีสีขุ่น จนมองไม่เห็นพื้นน้ำ เนื่องจากมีการขุดลอกกว๊านพะเยาในหลายจุด นอกจากนี้ยังพบการระบาดของปลิงเข็ม ซึ่งเป็นปลิงขนาดเล็กเท่ากับไส้เดือนขนาดเล็ก มีตัวสีแดง ระบาดไปทั่วชุมชนรอบกว๊านพะเยา โดยเฉพาะเขตประมงบ้านสันแกลบดำ ชุมชนวัดบุญยืน ซึ่งเป็นแหล่งระบาดมากที่สุด

สำหรับการระบาดครั้งนี้ นายจันทร์ติ๊บเชื่อว่า เกิดจากคุณภาพน้ำที่ไม่ปกติ เพราะมีกลิ่นเหม็นคาว ทำให้ปลิงเหล่านี้ ที่ปกติจะพบเจอน้อย โดยจะพบปลิงเข็มเกาะอยู่กับเต่า หอยเชอรี่ หรือ ปลาบางชนิด แต่ปัจจุบันมีจำนวนปลิงเข็มเพิ่มขึ้น และยังชอบกลับมาทำร้ายชาวประมงและว่ายไปทั่ว

"
ปัจจุบันชาวประมงหาปลาในกว๊านพะเยาลำบากมากขึ้น จากเดิมที่มีปริมาณและชนิดของปลาน้อยลงอยู่แล้ว ผลน่าจะมาจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง รวมถึงผลกระทบจากโครงการพัฒนากว๊านพะเยาและแม่น้ำอิง ซึ่งมีตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ไม่นับผลกระทบจากน้ำเสียจากพื้นที่ต่างๆทั้งเหนือน้ำและพื้นที่ใกล้เคียง


นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชี้ปิงเข็มชอบน้ำเสีย

นายสุพีระ ลัดดาชยาพร นักวิชาการสิ่งแวดล้อมระดับชำนาญการพิเศษ สำนักงานสิ่งแวดล้อม ภาคที่ 2 ลำปาง กล่าวว่า จากการตรวจสอบน้ำกว๊านพะเยา พบว่า โดยลักษณะของกว๊านพะเยาที่เป็นเหมือนอ่างกระทะ จึงมีการสะสมน้ำเสียจากชุมชนทุกทิศทุกทาง ทั้งภาคธุรกิจและประชาชนรอบกว๊านพะเยา ซึ่งคงต้องอาศัยความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาช่วยดูแลและจัดสรรงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมในกว๊านพะเยา ทำให้น้ำกว๊านพะเยาฟื้นตัวให้ทันต่อสถานการณ์ที่เป็นสัญญาณอันตรายนี้

นักวิชาการสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขณะนี้จำนวนและชนิดของปลาในกว๊านพะเยาลดลงมาก ในขณะที่มีสิ่งมีชีวิตที่ทนต่อสภาพน้ำเสียเพิ่มขึ้น เช่น ปลิงเข็ม ซึ่งเชื่อว่ามาจากน้ำเสียในกว๊านพะเยา ทำให้เกิดการแพร่กระจาย จากเดิมที่น้ำในกว๊านยังไม่เสียมาก สิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะอยู่ในพื้นที่จำกัด และที่น่าเป็นห่วงอีกประการหนึ่ง คือ การสูบน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาในเขตเทศบาลเมืองพะเยาและดอกคำใต้ เพราะถ้าหากมีน้ำเสียเกิดขึ้นแล้ว ต้องมีการเข้มงวดในระบบการผลิตน้ำประปา ไม่เช่นนั้นจะส่งผลต่อสุขภาพของคนทั้งเมืองได้


ประมงจังหวัดเร่งแก้ปัญหากำจัดปลิง

นายเข็มชาติ จิวประสาท กล่าวว่า ตอนนี้น้ำในกว๊านอยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรมเข้าขั้นเสีย ช่วงนี้มีข่าวปลิงเข็มระบาดอาจจะเกี่ยวข้องกับคุณภาพน้ำหรือสภาพอากาศเป็นไปได้ทั้งนั้น ตอนนี้ประมงจังหวัด กำลังหาวิธีจัดการกับการระบาดของปลิงและคุณภาพน้ำเสียที่เกิดขึ้นโดยการรวบรวมข้อมูลจากชาวประมง จากการวิจัยคุณภาพน้ำ เพื่อเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งมีความห่วงและอยากให้มีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ในเบื้องต้นเราใช้วิธีการโรยปูนขาวรอบชุมชนข้างกว๊านพะเยาเพื่อให้น้ำตกตะกอน แต่ไม่ได้ผลเท่าที่ควร วิธีการหลายอย่างที่คิดขึ้น เช่น การใช้สารเคมี ซึ่งถ้าใช้จริงจะไม่มีความคุ้มค่าทั้งงบประมาณและผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในกว๊านพะเยา เพราะกว๊านพะเยากินเนื้อที่กว่า 12,000 ไร่ จึงต้องใช้สารเคมีมหาศาล และอาจส่งผลเสียกับพืชน้ำและสัตว์น้ำ แต่วิธีการใช้ลูกปลาที่กินสัตว์ขนาดเล็กอาจนำไปใช้ได้”

ประมงจังหวัด กล่าวอีกว่า การแก้ไขปัญหาของคุณภาพน้ำเสีย กับการกำจัดปลิงเข็มต้องแยกออกจากกันหรือทำร่วมกัน ถ้าผลวิจัยบ่งชี้ว่ามีความเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวข้องกัน ส่วนเหตุผลของปลิงระบาดในครั้งนี้อาจเกี่ยวพันกับคุณภาพน้ำที่แย่ลงจริง เพราะคุณภาพน้ำตอนนี้มีค่าบีโอดีสูงในหลายจุด ตอนนี้ทางประมงจังหวัดกำลัง ร่วมมือกับจังหวัดพะเยา หาวิธีจัดการเป็นภาพรวมทั้งกว๊านพะเยาและหาจังหวะแจ้งข้อมูลที่ถูกต้องกับชาวบ้าน เพื่อเตรียมการแก้ไขร่วมกัน

ประปาการันตีไม่มีปลิง

นายบัณฑิต สุวรรณาวุธ ผู้จัดการสำนักงานประปาพะเยา เปิดเผยกรณีชาวบ้านหวั่นจะมีปลิงเข็มหลุดลงไปอยู่ในน้ำประปาที่ประชาชนผู้ใช้น้ำในเขตเทศบาลเมืองพะเยา และ อ.ดอกคำใต้ ในปัจจุบันว่า ไม่มีความเป็นไปได้ที่ปลิงเข็มจะเข้าไปอยู่ในน้ำประปา เนื่องจากน้ำประปาที่สูบขึ้นจากกว๊านพะเยามีกระบวนการบำบัดและกรองเชื้อโรคหรือสิ่งมีชีวิตที่จะหลุดเข้ามาในท่อสูบน้ำประปาตามมาตรฐานสากลแล้ว

"
ปัจจุบันประปาพะเยา มีการสูบน้ำจากกว๊านพะเยาประมาณ 18,000 - 19,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และแจกจ่ายน้ำประมาณ 15,000 ลบ..ต่อวัน ซึ่งกระบวนการกว่าจะเป็นน้ำดื่มน้ำใช้มีกว่า 6 ขั้นตอน โดยแต่ละขั้นตอนผ่านสารฆ่าเชื้อและกรองอย่างละเอียด"

ผู้จัดการสำนักงานประปาพะเยา กล่าวอีกว่า สำหรับความกังวลเกี่ยวกับสภาพน้ำเน่าเสียที่เกิดขึ้นในกว๊านพะเยาปัจจุบัน ทางประปามั่นใจว่าจะไม่มีผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำ เพราะสภาพน้ำกว๊านพะเยายังสามารถผลิตเป็นน้ำที่ใช้ในการอุปโภคและบริโภคได้ ซึ่งปกติที่ในช่วงฤดูร้อนมกราคม-เมษายน น้ำในกว๊านพะเยาจะมีค่าบีโอดีสูงหรือเน่าเสียมากกว่าฤดูกาลอื่น แต่การประปาพะเยาได้ออกแบบการวางท่อสูบน้ำออกไปจากฝั่งไกลกว่าจุดน้ำเน่าเสียริมฝั่งค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงอยากให้คนพะเยารักษาน้ำกว๊าน อย่าให้เสียเหมือนเช่นปี 42- 43 เพราะถ้าน้ำกว๊านพะเยาเสียใหญ่อีกครั้ง ประปาคงต้องหาแหล่งน้ำดิบให้กับการผลิตน้ำประปาใหม่


เทศบาลเมืองพะเยาเสนอเป็นวาระจังหวัด

นายศรายุท กัลยา นายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองพะเยา กล่าวว่า ข่าวเรื่องปลิงเข็มได้ทำลายบรรยากาศการท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์อย่างมาก ซึ่งตามข่าวที่นำเสนอบอกว่ามีจำนวนมาก แต่เมื่อเข้าไปสำรวจก็พบว่ามีไม่มากตามข่าว อย่างไรก็ตามทางเทศบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปหาข้อมูลและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ซึ่งทราบว่าปลิงเข็มนั้นแพ้ปูนขาว จึงนำปูนขาวไปโรยตามจุดสำคัญๆ ที่ชาวบ้านแจ้งเบาะแสเข้ามา

นายกเทศมนตรีเมืองพะเยา กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาปัญหากว๊านพะเยาไม่ได้มีเฉพาะเรื่องน้ำเสียเท่านั้น แต่ยังพบปัญหาด้านต่างๆ อาทิ ความตื้นเขิน ปัญหาวัชพืชผักตบ ฯลฯ ซึ่งแม้จะมีกลไกคณะกรรมการกว๊านพะเยาระดับจังหวัด แต่ก็ไม่สามารถทำงานได้จริง เนื่องจากยังขีดวงหรือจำกัดการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ดังนั้นโอกาสนี้ตนจึงขอเสนอให้ปัญหากว๊านพะเยาเป็น "วาระของจังหวัด" โดยให้ทุกองค์กรท้องถิ่นในจังหวัด เข้ามามีส่วนร่วมทั้งหมด เพราะกว๊านพะเยาไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง ชาวดอกคำใต้ ภูกามยาว จุน เชียงคำ หรือแม้แต่เทิง เชียงของ จ.เชียงราย ก็ได้รับประโยชน์ โดยเบื้องต้นต้องมีเจ้าภาพหลัก และลงขันให้การสนับสนุนด้านงบประมาณจากองค์กรท้องถิ่นทุกแห่ง อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาไม่ตำกว่า 10 ปี

"
กว๊านพะเยาเป็นของหน้าหมู่ ไม่ใช่ของคนรอบกว๊าน ดังนั้นผมอยากเสนอให้เป็นวาระของจังหวัด โดยมีเจ้าภาพหลัก เป็น อบจ. หรือใครก็ได้ที่อยู่ติดในพื้นที่ โดยทุกองค์กรท้องถิ่นลงขันกันในแต่ละปี เทศบาล/อบต.ละ 5 หมื่น ถือว่าไม่มาก ส่วนเทศบาลเมืองและ อบจ.อาจจะมากหน่อย เพื่อมาอนุรักษ์และฟื้นฟูกว๊านพะเยาและแม่น้ำอิงทั้งระบบ จะแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาอะไรก็มีแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ รับรองถ้าสิบปีทำต่อเนื่องแก้ปัญหาได้แน่นอน"

อย่างไรก็ตาม นายกเทศมนตรีเมืองพะเยา ได้เสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับกว๊านพะเยา โดยเฉพาะการมอบอำนาจหน้าที่ดูแลจัดการกว๊านพะเยาให้กรมประมงผู้เดียว เนื่องจากไม่สอดคล้องกับความจริงปัจจุบัน ขัดต่อรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยการมีส่วนร่วมและดูแลจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยชุมชน


ปัญหากว๊านยังวนเวียนอยู่ในกระแสเดิม

กว๊านพะเยา ถือเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่กว่า 24,500 ไร่ ซึ่งมีชุมชนเมืองล้อมรอบ ใช้ประโยชน์เพื่อการผลิตน้ำประปา การประมง การเกษตร รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยในช่วงที่ผ่านมาพบปัญหาที่เกิดขึ้นในกว๊านพะเยาในหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ ปัญหาคุณภาพน้ำเน่าเสีย ปัญหาความตื้นเขิน ปัญหาวัชพืช ปัญหาการบุกรุกที่ดินรอบกว๊านพะเยา ปัญหาโครงการพัฒนาของรัฐ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัญหากว๊านพะเยาได้สร้างความขัดแย้งในท้องถิ่นหลายระดับ อาทิ ปัญหาระหว่างชุมชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ องค์กรพัฒนาเอกชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ องค์กรพัฒนาเอกชนกับชาวบ้าน ปัญหาการเมืองท้องถิ่น ปัญหาชุมชนกับชุมชนด้วยกันเอง ท่ามกลางความขัดแย้งเหล่านี้ ไม่เคยมีสักครั้งที่จะนำไปสู่เวทีการแก้ปัญหากว๊านพะเยาได้เลยแม้แต่น้อย

ในขณะที่ข้อกฎหมายเกี่ยวกับกว๊านพะเยา ถูกผูกขาดโดยอำนาจรัฐ ซึ่งเป็นประกาศว่าด้วยเรื่องการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ โดยกรมประมงแต่เพียงผู้เดียว จังหวัดโดยผู้ว่าราชการจังหวัด ท้องถิ่นโดยองค์การบริหารปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนก็ไม่มีสิทธิที่จะเข้าไปบริหารจัดการกว๊านพะเยาได้อย่างแท้จริง

บทบาทในกว๊านพะเยาที่ดูเหมือนจะเด่นชัดที่สุด สำหรับคนในท้องถิ่น ก็คือ การจัดประเพณีลอยกระทง เท่านั้นเอง

ในขณะที่กลไกคณะกรรมการพัฒนากว๊านพะเยา โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ที่พยายามดึงเอาหลายฝ่ายเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาและพัฒนากว๊านพะเยาก็แทบจะไม่มีการประชุมหรือขับเคลื่อนประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นแม้แต่น้อย

ที่น่าสนใจ คือ คณะกรรมการชุดดังกล่าวแทบจะไม่มีชาวบ้านและองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปมีส่วนร่วมแม้แต่น้อย

ปัญหาโครงการพัฒนาในกว๊านพะเยา ปัญหาข้อขัดแย้งวัดกลางกว๊าน ปัญหาสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน ปัญหาปลิงเข็ม จึงยังคงดำรงอยู่ไม่ถูกลบหรือทำให้สถานการณ์ความรุนแรงลดลงแม้แต่น้อย

นี่คือ เรื่องเล่าที่ไม่มีวันจบในกว๊านพะเยา


คุณภาพน้ำของกว๊านพะเยา เมื่อมาเปรียบเทียบกับ มาตรฐานคุณภาพน้ำผิวดินพบว่า ส่วนใหญ่จัดอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม เทียบได้กับแหล่งน้ำประเภทที่
4 ซึ่งระบุว่าเป็นแหล่งน้ำที่ได้รับน้ำทิ้งจากกิจกรรมบางประเภท และสามารถใช้ประโยชน์เพื่อการอุตสาหกรรม ส่วนการอุปโภคบริโภคต้องผ่านการฆ่าเชื้อโรคตามปกติ และผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำเป็นพิเศษก่อน

ดัชนีชี้วัดที่สำคัญและส่งผลต่อคุณภาพน้ำส่วนใหญ่ที่ทำจัดอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม คือ ความสกปรกในรูปบีโอดี ซึ่งจัดว่าเป็นปัญหาที่สำคัญต่อเนื่องในทุกครั้งที่มีการตรวจวัดคุณภาพน้ำ พบค่าสูงสุดในเดือนมกราคม 2552 ที่จุดตรวจวัดบริเวณหน้าอนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง โดยมีค่าเท่ากับ 8.5 มก./. (มาตรฐานคุณภาพแหล่งน้ำผิวดินไม่ควรมีค่าเกินกว่า 2.0 มก./.) เมื่อพิจารณาจากการตรวจวัดแต่ละครั้ง ก็พบว่าแต่ละจุดเก็บน้ำส่วนใหญ่มีค่าบีโอดีสูงเกินมาตรฐานทุกครั้ง

ซึ่งการที่ค่าความสกปรกในรูปบีโอดีที่มีค่าสูงจนเกินมาตรฐานนั้น แสดงให้เห็นถึงปริมาณสารอินทรีย์ในกว๊านพะเยาที่มีปริมาณมาก จนทำให้จุลินทรีย์มีความต้องการใช้ออกซิเจนในกระบวนการย่อยสลายสารอินทรีย์ในแหล่งน้ำสูง

ส่วนการที่สารอินทรีย์มีปริมาณมากในกว๊านพะเยานั้น อาจมาจากการชะล้างสิ่งปฎิกูลจากชุมชน หรือสิ่งปฎิกูลจากการเลี้ยงสัตว์ลงสู่แหล่งน้ำ นอกจากนี้ยังมาจากการที่มีพืชน้ำและผักตบชวาในกว๊านเป็นจำนวนมาก เมื่อเน่าตายลงจึงเป็นแหล่งของสารอินทรีย์

โสภิศ ไชยยาว / นักวิชาการประมง
ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดพะเยา

จากการตรวจสอบเบื้องต้น ปลิงเข็มชนิดนี้เป็นปลิงที่พบมานานแล้ว ไม่ใช่ปลิงชนิดใหม่ แต่ช่วงนี้เกิดการระบาดครอบคลุมบริเวณ มีจำนวนมากน้อยต่างกันในแต่ละพื้นที่ โดยบริเวณที่พบมากจะเป็นฝั่งหน้าอนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมืองและชุมชนชาวประมง จากการทดสอบใช้สารเคมีในปริมาณเข้มข้น เช่น สารฟอร์มาลีน ใส่ในน้ำที่ปลิงอาศัย แต่ไม่ได้ผล จึงใช้วิธีการนำลูกปลาแต่ละชนิด มาขังรวมกับปลิงเข็ม เช่น ลูกปลานิล ปลาใน ซึ่งผลออกมาเป็นที่น่าพอใจ ลูกปลาสามารถกินปลิงได้ ถ้าใช้วิธีปล่อยปลาเพื่อกำจัดปลิง อาจจะเห็นผลในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ประมงจังหวัดต้องเลือกวิธีที่ไม่ส่งผลกระทบกับกว๊านพะเยามากที่สุด ส่วนการแพร่ขยายจะเกี่ยวข้องกับคุณภาพน้ำที่เสียอยู่ในกว๊านพะเยาหรือไม่ ขณะนี้กำลังทดสอบคุณภาพน้ำในแต่ละระดับ ที่สัมพันธ์กับการแพร่ขยายจำนวนปลิงเข็ม ซึ่งในเร็วๆนี้จะสามารถสรุปได้

อภิรุจี ปราสาท /ร้านอาหารน้องอัง ชุมชนบ้านท่า

ทุกวันนี้เรื่องปลิงเข็มระบาด คนในพื้นที่จะทราบดีแต่ไม่อยากพูดถึง เพราะจะกระทบต่อการท่องเที่ยว ส่วนนักท่องเที่ยวต่างจังหวัด ที่มาทานอาหารจะทราบว่ามีปลิงเข็มจากสื่อต่างๆ เขาจะถามว่าปลานำมาจากไหน กว๊านพะเยาหรือไม่ ซึ่งทำให้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์พอสมควร เนื่องจากปลิงระบาดช่วงเทศกาลสงกรานต์ นักท่องเที่ยวลดเพราะกลัวปลิง คนทานอาหารก็น้อยลงตามไปด้วย แต่อาหารที่ขายข้างกว๊านพะเยา คนในพื้นที่จะทราบดีว่าปลอดภัย เพราะปลาเป็นปลาที่เลี้ยงในบ่อปิด และกุ้งที่นำมาจากกว๊านพะเยา ต้องผ่านการแช่น้ำประปาอีกครั้งหนึ่งให้สะอาด

แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นในตอนนี้ที่อาจหนักว่าปลิงเข็ม คือ กลิ่นน้ำเน่าจากกว๊านพะเยา ซึ่งเหม็นโชยเข้ามาในร้านอาหาร บางครั้งนักท่องเที่ยวก็ทนไม่ไหว ไม่เข้าร้านก็มี 

ยายสมรัก (บริการปล่อยนก เต่า ปลา ข้างกว๊าน)

ยายไม่รู้ว่าเกิดจากน้ำเสียหรือ เกิดจากสาเหตุอะไร ที่ทำให้ปลิงเข็มมีจำนวนมาก แต่ที่แน่ๆตอนนี้มันมากับเต่า มันอยู่ใต้ท้องเต่ามาก ปกติยายจะรับเต่ามาจาก ประมงจังหวัด เพื่อมาขาย ให้บริการคนที่ทำบุญโดยการปล่อยเต่า แต่ตอนนี้ทางประมงไม่ให้นำเต่ามาขาย เพราะอาจเป็นการแพร่พันธุ์ปลิงเข็ม ถ้าเต่าเป็นพาหะจริง ต้องออกนโยบายงดการทำบุญโดยการปล่อยเต่าลงกว๊านพะเยา ตอนนี้กว๊านพะเยามีกว่า 10 รายที่ขายเต่าเพื่อปล่อยลงกว๊านพะเยา ส่วนสินค้าอย่างอื่นก็ขายได้ปกติ มีบ้างที่เข้ามาถามเรื่องปลิงแต่น้อยราย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net