Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

แฟรงค์ จี. แอนเดอร์สัน ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์โคราชโพสท์ เขียนบทวิเคราะห์เกี่ยวกับการตั้งพรรคการเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ โดยเปรียบเทียบกับกรณีการตั้งพรรคการเมืองใหม่ของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หลังพฤษภา’35 ขณะเดียวกันก็วิพากษ์โครงการ “อาสาสมัครพิทักษ์ยุติธรรม” ที่ทำให้พลเมืองกลายเป็นสายลับให้รัฐบาล และเป็นการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความเห็น

บทความเดิม
“Citizen spies and new political ties”
By Frank G. Anderson
Column: Thai Traditions
Published: May 29, 2009
 

ดูเหมือนประเทศไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมาจะมีความขัดแย้งมากมายกำลังก่อตัวขึ้น อย่างแรกคือการที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเข้าร่วมเป็นสมาชิกคนแรกของ "อาสาสมัครพิทักษ์ยุติธรรม" ซึ่งมีหน้าที่สืบความลับจากพลเมืองภายในประเทศ แล้วเปลี่ยนพลเมืองส่วนหนึ่งให้กลายเป็นตำรวจหรือทหารเพื่อเฝ้าดูการกระทำหรือการใช้วาจาที่เข้าข่ายล่วงละเมิดระบอบกษัตริย์ โดยโครงการดังกล่าวนี้ดูเหมือนจะสร้างขึ้นมาเพื่อปกป้องระบอบกษัตริย์ และตามที่ผู้ก่อตั้งโครงการระบุมา มันยังทำหน้าที่ปกป้องพลเมืองที่มีเรื่องร้องเรียนเจ้าหน้าที่รัฐด้วย (หมายเหตุประชาไท- อ่านรายละเอียดได้ที่ - พีระพันธุ์ผุด“อาสาสมัครพิทักษ์ยุติธรรม”ให้คนเป็นสายลับสอดส่องกันเอง“มาร์ค”สมัครคนแรก)

จากนั้นในวันจันทร์ นายกอภิสิทธิ์ก็ได้บอกกับ ส.ส. พรรครัฐบาลว่า ประเทศไทยควรจะมีความระมัดระวังมากกว่านี้ในด้านกระบวนการต่างประเทศ ถ้าให้สรุปวาระการต่างประเทศดังกล่าวคือ เขาบอกกับว่ารัฐบาลไทยว่าประเทศไทยต้องเพิ่มระดับความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน

เมื่อพูดเรื่องความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกับเรื่องเกี่ยวกับประเทศพม่าแล้ว คงต้องอาศัยการดำเนินการที่ฉับไวอย่างมาก เนื่องจากพม่าดูเหมือนกำลังพยายามแข่งกับเกาหลีเหนือว่าใครจะเป็น "ยักษ์ดุผู้ไม่ยอมอ่อนข้อ" ได้เก่งกว่ากัน ซึ่งดูเหมือนไม่ค่อยมีใครทำอะไรประเทศนี้ได้ เพราะเขาเป็นมิตรกับประเทศมหาอำนาจอีกประเทศ

ใน ทางการเมือง กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ชุมนุมกันครั้งใหญ่ที่สนามกีฬาของ ธรรมศาสตร์ วิทยาเขตรังสิต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจประชามติว่านักเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มนี้ ควรตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาอย่างเป็นทางการหรือไม่

มีการตัดสินใจได้ในที่สุด แต่ปัญหาก็ยังคงมีอยู่ว่า ใครล่ะจะเป็นหัวหน้าพรรค ส่วนใหญ่เชื่อว่าจะเป็นนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ที่ก่อนหน้านี้เคยสัญญาไว้ว่าตนจะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ จะได้เป็น

แต่ผู้สังเกตการณ์อย่างสนธิ ก็กลับกลายเป็นกาวคอยเชื่อมประสานให้พรรคใหม่ของเขามารวมกันและทำให้กลุ่มแกนนำพันธมิตรฯ รุ่นใหม่เติบโตไปเป็นผู้มีตำแหน่งระดับสูงในการเคลื่อนไหว แต่พรรคการเมืองก็ยังเป็นสิ่งที่มีราคาต้องจ่ายมากอยู่ดี

หลังจากที่ได้ข้ามเส้นกั้นไปแล้ว นายสนธิเองคงต้องแยกตัวเองออกมาจากเครือข่าย ASTV และสื่ออื่น ๆ ในเครือ หากเขาต้องการเป็นผู้บริการพรรค ซึ่งดูเหมือนว่านายสนธิจะไม่ค่อยอยากทำอะไรแบบนี้เลย แต่เมื่อเสียงเรียกร้องเริ่มผลักดันมากเข้า ในที่สุดเขาก็คงไม่สามารถเลือกได้
ในแง่ของการหาเงินทุนสนับสนุนพรรค นายสนธิบอกว่าต้องการค่าใช้จ่ายมากกว่า 100 ล้านบาทต่อเดือน และเสนอว่าเงินทุนควรจะมาจากการบริจาครายเดือนของผู้สนับสนุนพันธมิตรฯ

นอกจากนี้นายสนธิรวมถึงผู้สนับสนุนและผู้หนุนหลังพันธมิตรฯ คนอื่น ๆ  ยังได้บอกอีกว่า พรรคพันธมิตรฯ จะคอยช่วยปกป้องสถาบันกษัตริย์และยับยั้งการคอรัปชั่นที่มีมานานในสังคมไทยโดยวิธีทางการเมือง ซึ่งในขณะเดียวกันครอบครัวและเพื่อนพ้องของคนในพรรคก็ยังต้องอาศัยส่วนหนึ่งของเงินทุนจากประชาชนในการดำรงชีวิตอยู่ดี

อย่างไรก็ตามแผนการตั้งพรรคใหม่ในครั้งนี้ชวนให้นึกถึงเรื่องคล้ายๆ กันเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าประทับใจเท่าไหร่ ในตอนนั้นมี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ผู้ซึ่งต่อมาถูกเรียกว่าเป็นนายกรัฐมนตรีไทยที่คอรัปชั่นมากที่สุด มีสุวัจน์ ลิปตพัลลภ, กร ทัพพะรังสี, พล. อ.อาทิตย์ กำลังเอก อดีตผู้บัญชาการกองทัพบก และคนอื่นๆ หารือกันเพื่อตั้งพรรคใหม่โดยมีเป้าหมายคือการกำจัดการคอรัปชั่นทางการเมือง และกำจัดการเล่นการเมืองแบบเก่าที่สร้างปัญหาให้อย่างมากมายด้วย

การจัดประชุมตั้งพรรคใหม่ของ พล.อ.ชาติชายเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1992 (พ.ศ. 2535) จนถึงตอนนี้ก็ 17 ปีมาแล้ว บางคนอาจจะอยากบอกว่า "มากันอีกแล้วสิ" มีบางคนที่สงสัยว่าพรรคใหม่ทั้งหลายนี้มันจะอยู่ไปได้นานสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะพรรคที่นำโดยกลุ่มคนคลั่งไคล้ระบบเจ้าแบบนี้ จะเปลี่ยนแปลงประเทศเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงได้น่ะหรือ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะเปลี่ยนแปลงเรื่องการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศนี้ได้หรือ

พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ต่อมากลายมาเป็นผู้นำพรรคชาติพัฒนาซึ่งตั้งขึ้นมาใหม่ แต่ตัวเขาเองเคยถูกถอดถอนด้วยข้อหาคอรัปชั่น เป็นที่รู้กันดีในทุกวันนี้ว่าเขาเป็นผู้สนับสนุนโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับภาคที่ขาดแคลนที่สุดอย่างภาคอีสาน หลัง พล.อ.ชาติชาย ถึงแก่อสัญกรรม พรรคดังกล่าวค่อยๆ ถูกยุบรวมไปกับพรรคไทยรักไทย เพียงเพื่อที่ต่อมาคณะกรรมการบริหารพรรคจะถูกศาลสั่งห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี จากการละเมิดกฎหมายเลือกตั้ง

ผลจากที่ผ่านมาทั้งหมดนี้ พอแสดงให้เห็นว่า พรรคการเมืองใหม่นั้นเป็นเพียงแค่เครื่องมือของการคอรัปชั่นอีกอย่างหนึ่ง โดยยึดถือความศรัทธาในผู้บริหารและตัวพรรคจนกลบฐานของพรรคในเรื่อง "การช่วยเหลือประเทศและประชาชนเสียมิด"

ตั้งแต่ปี 2549 ที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ถูกขับออกจากตำแหน่ง และพรรคสามพรรคที่ได้รับการสนับสนุนโดยทักษิณทั้งสามพรรคก็สิ้นฤทธิ์ การเมืองของไทยก็วุ่นวายไม่หยุดนิ่ง แต่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังมาบอกกับทุกคนทั่วโลกว่า เหตุการณ์ "ปกติ"

ปกติในที่นี้อาจหมายความว่าการกดขี่ยังคงดำเนินต่อไป การเพิกเฉยต่อการประณามในเรื่องสิทธิมนุษยชน รวมถึงการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความเห็นและสิทธิ์ในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารก็ยังคงมีอยู่ หากเป็นเช่นที่ว่าแล้ว สิ่งต่าง ๆ ก็ได้ดำเนินกลับมาเป็น "ปกติ" จริงๆ

ด้วยการมีอาสาสมัครกว่า 50,000 คน กระตือรือร้นอยากสืบความลับเพื่อนบ้านพลเมืองด้วยกัน พอมีผู้ถูกจับคนหนึ่งแล้วก็มีคนอื่นๆ ถูกจับตามมาเรื่อยๆ ทั่วประเทศ การรายงานพฤติกรรมของพลเมืองที่บังอาจแตกแถวในยุคเสมือนนาซีครองเมืองเช่นนี้ ทำให้เกิดความหวาดกลัวก่อตัวขึ้นภายในประเทศ ขณะเดียวกันประชาชนใต้ราชอาณาจักรบางส่วนก็ยังพยายามต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่ก็ไม่มีสิทธิของใครไปได้ไกลเกินกว่าอำนาจการปราบปราม ภาพลักษณ์ของไทยที่ว่ากำลังกลับไปสู่ความ "ปกติ" นั้น มันช่างดูบิดเบี้ยวแบบงานศิลป์ของปิกัสโซ่ (Piccaso-esque) ไม่ปาน


ข้อมูลผู้เขียน

แฟรงค์ จี. แอนเดอร์สัน เป็นตัวแทนของพลเมืองชาวอเมริกันที่มาอยู่ในประเทศไทย เขาเคยเป็นหน่วยอาสาสมัครเพื่อสันติภาพของอเมริกา (Peace Corps) ในประเทศไทยเมื่อปี ค.ศ. 1965-1967 (พ.ศ. 2509-2511) ทำงานด้านการพัฒนาชุมชน เคยเป็นนักเขียนอิสระและผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์โคราชโพสท์ "www.thekoratpost.com" ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาษาต่างประเทศฉบับแรกในภาคอีสาน เขาได้ใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่กับสื่อท้องถิ่นในไทยมานานกว่า 8 ปี แฟรงค์ยังเคยเรียนจบปริญญาโทในสาขาการจัดการด้านสารสนเทศและได้รับปริญญาร่วมในสาขาเทคโนโลยีการก่อสร้างด้วย
 

ที่มา
Citizen spies and new political ties, Upiasia, Frank G. Anderson, 29-05-2009

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net