สามัญสำนึกที่ไม่สามัญอีกต่อไป

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

“รัฐบาลถูกบีบโดยสถานการณ์ มีผู้คนเรียกร้องว่าต้องทำอะไรบางอย่าง


(ผู้ดำเนินรายการถามว่า ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในการปราบปรามผู้ชุมนุมในวันนี้ (วันสงกรานต์) ถือเป็นการใช้ความรุนแรงหรือเปล่า)


            “ใช่ เป็นความรุนแรง แต่ดิฉันคิดว่าขณะนี้ผู้ชุมนุมมีการกระทำที่ผิดกฎหมาย รัฐบาลต้องรักษากฎหมาย ก็ต้องใช้กลไกของรัฐที่เป็นความรุนแรง แต่ว่าเท่าที่ดูในวันนี้ก็พยายามรักษาระดับ ไม่ให้ตาย และดิฉันคิดว่าเจ้าหน้าที่ที่ใช้ความรุนแรง ได้ถูกสั่งมาแล้ว ก็ควรจะต้องรักษามาตรฐานระดับนี้ต่อไปว่า ไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็ตาม ต้องไม่ตาย ต้องหาทางที่จะจัดการกับปัญหานี้โดยไม่มีการเสียชีวิต อันนี้ต้องเป็นคล้ายๆ กับเส้นบังคับไว้”

 

(รายการสนทนาทางโทรทัศน์ทีวีไทย เมษายน 2552)

 

..........

 

เป็นคำกล่าวของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นนัก สันติวิธี มานับทศวรรษ เป็นอดีตกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ และมักจัดอบรมด้านสันติวิธีให้กลุ่มต่างๆ เสมอ เป็นเสียงประสานที่สอดคล้องกันในห้วงเวลานี้เพื่อสนับสนุนการปราบปรามผู้ ชุมนุม ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่สื่อมวลชน คนชั้นกลางและปัญญาชนไม่น้อยทีเดียวเลือกข้างไม่สนับสนุน และไม่พยายามเข้าใจ

 

คำถาม คือว่า การใช้กำลังของรัฐสามารถใช้ได้ต่อเมื่อไม่ทำให้คนตาย (ซึ่งก็น่าสนใจว่า ใครบอกว่ามีการตาย ใครบอกว่ามีการไม่ตาย) แต่การขีดเส้นแบ่งว่า การใช้กำลังทำได้เมื่ออีกฝ่ายทำผิดกฎหมาย (หรือใช้ความรุนแรงก่อน) ควรเป็นมุมมองของผู้ที่เชื่อในสันติวิธีจริงหรือ ถ้าเอาเรื่องการทำ ผิดกฎหมาย เป็นหลักเกณฑ์ ซึ่งอนุญาตให้รัฐใช้กำลังและความรุนแรงเข้าปราบปรามได้ การประท้วงส่วนใหญ่ในโลก ซึ่งมักเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อกฎเกณฑ์และระเบียบที่มีอยู่ทั้งสิ้น (ที่เรียกว่าเป็นการดื้อแพ่งมวลชน หรือ civil disobedience นั่นเอง) เข้าหลักเกณฑ์ที่รัฐสามารถใช้กำลังปราบปรามโดยชอบธรรมได้หรือ ตราบที่รัฐไม่กระทำจนถึงตาย

 

และถ้ารวมหลักเกณฑ์หลังเข้าไปด้วย การทรมานผู้คน ทั้งการเอาตัวหัวหน้าครอบครัวมากักขัง มาซ้อมทรมานแต่ยังไม่ถึงแก่ชีวิต การพรากเขาจากครอบครัวทำให้เขาไม่สามารถหารายได้สนับสนุนสมาชิกคนอื่นและไม่ ได้อยู่ร่วมเป็นครอบครัว คงเป็นความจำเป็นอย่างหนึ่งที่รัฐต้องทำเพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์ใน จังหวัดชายแดนใต้ลุกลามใหญ่โตขึ้นด้วยกระมัง

 

ที่ สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการออกมาให้ความเห็นสำคัญในห้วงเวลาวิกฤตนั้น จำเป็นหรือไม่ที่ผู้ให้ความเห็นจะศึกษาข้อมูลให้ถ่องแท้ก่อนบ้าง น่าสงสัยว่านักสันติวิธีคนนี้ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมกับพวกเสื้อ แดงในช่วงก่อนหน้า ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ก็ดี หรือในช่วงสองสัปดาห์ก่อนที่ การก่อจลาจล จะเกิดขึ้น ซึ่งการชุมนุมที่ผ่านมาเกิดขึ้นอย่างและสันติ (โดยไม่ต้องพึ่งนักสันติวิธีเข้าไปอบรมให้ด้วยซ้ำ) หรือว่านักสันติวิธีเอาแต่สังเกตการณ์ผ่านหน้าตู้กระจกที่บ้าน ผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ที่ต่างประสานเสียงใกล้เคียงกันว่า จะไม่สนับสนุนสีแดงเพียงเพราะว่าเป็นกลุ่มที่สนับสนุนนักการเมืองคนหนึ่ง ซึ่งเชื่อกันเรียบร้อยแล้วว่า เลวบริสุทธิ์ เพียงเพราะว่าพวกเขาประสานเสียงกันเพราะๆ ไม่เป็น หรือเพียงเพราะว่าเขามีรูปร่างท่าทางต่างอย่างมากจากชนชั้นที่ได้รับการ ศึกษาสูงอย่างเรา

 

หรือเพียงเพราะว่า สังคมไทยยังชมชอบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแบบ ชั่วข้ามคืน ซึ่งในยุคนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้เลยหากปราศจากความช่วยเหลือจากรถถังและปลาย กระบอกปืน และในเมื่อเป็นรัฐประหารที่ไม่นองเลือด (อีกแล้วเมื่อเป็นการกระทำที่ไม่ทำให้ถึงตาย) ก็น่าจะชอบธรรมแบบที่นักสันติวิธีคนนี้บอก และยังช่วยกำจัดติ่งเนื้อร้ายของสังคมออกไปอย่างรวดเร็ว

 

แต่ เหมือนนักธรรมชาติบำบัดทั้งหลายเชื่อ การตัดเนื้อร้ายอาจช่วยแก้ปัญหาตรงจุดหนึ่ง แต่เมื่อสมดุลทางร่างกายสูญเสียไปแล้ว เชื้อของเนื้อร้ายที่ยังดำรงอยู่ในร่างกาย อาจส่งผลร้ายออกมาในจุดอื่นอยู่ดี ฉันใดก็ฉันนั้น ทัศนะที่เชื่อในความเปลี่ยนแปลงแบบชั่วข้ามคืน ทัศนะที่เชื่อว่า การห้าม เป็นสิ่งที่เหมาะสมและใช้ได้ผล (ตราบที่ไม่ทำให้ตาย) เป็นความเชื่อที่แทบไม่มีหลักฐานยืนยันว่าใช้ได้ผลเลยทั้งในระยะสั้นและยาว นอกจากจะเป็นทัศนะที่สะท้อนจากความติดยึดที่เกิดจากแว่นสีที่ตนเองใส่ (แต่มักจะปฏิเสธว่าไม่ได้ใส่)

 

ดู เหมือนว่าการแสดงทัศนคติที่ไม่เป็นคุณเอาเลยกับกลุ่มเสื้อแดง ซึ่งเป็นรากหญ้าของสังคม เป็นทัศนะที่ค่อนข้างแพร่หลายและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากสื่อสารมวลชน จนเป็นเหตุให้ต้องเกิดการตั้งคำถามของคนที่ไม่เคยอ้างตนเองเป็นนักสันติวิธี [1] แต่ กลับเข้าใจสามัญสำนึก รับรู้ต่อภาพความเจ็บปวดใจที่เกิดขึ้นของผู้ที่ถูกกระทำจากรัฐได้ดียิ่งกว่า แค่เห็นแถวทหารยิงเปรี้ยงป้างตรงด่านดินแดงในวันนั้นก็ทำให้ผู้เขียนเกิด ความประหวั่นพรั่นพรึงเหมือนสมัยที่ยืนอยู่หลังแนวทหารที่ยิงผู้คนบนถนน ราชดำเนินเมื่อปี 2535 แล้ว

 

บัดนี้ เป็นที่ประจักษ์มากขึ้นเรื่อยๆ และกว่าบทความนี้จะได้ตีพิมพ์คงเป็นที่ชัดเจนมากขึ้นทีเดียวว่า หลายเหตุการณ์ที่กลุ่มเสื้อแดงถูกกล่าวหาว่าเป็นฝ่ายกระทำก่อน เป็นฝ่ายยั่วยุให้ใช้ความรุนแรงก่อน และสร้างความชอบธรรมให้รัฐใช้กำลังเข้าห้ำหั่น เป็นรายงานข่าวที่บิดเบือนอย่างหน้าด้านๆ ของสื่อสารมวลชนกระแหลัก

 

เอา ง่ายๆ อย่างเรื่องของสาวเสื้อแดงที่ถูกชายแต่งชุดคล้ายทหารฉุดกระชากลากถูที่ผมของ เธอ ต่อหน้าประชาชนและทหารกล้าที่เลือกจะยืนดูเฉยๆ หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่หัวเขียวพาดหัวข่าวว่าผู้ที่กระชากผมของเธอเป็นชาว บ้านจากแฟลตดินแดงที่ไม่พอใจที่กลุ่มเสื้อแดงนำรถก๊าซมาปิดถนน และขู่จะระเบิดรถก๊าซเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับปืนเอ็ม 16 และปืนกลอูซี่ของทหาร

 

ข้อ เท็จจริงที่ผิดพลาดอย่างแรกคือ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นแถวประตูน้ำไม่ใช่หน้าแฟลตดินแดง ภาพจากมุมกล้องอื่นเผยให้เห็นชื่อถนนบริเวณนั้นว่าเป็นถนนราชปรารภ ข้อสองคือชายสะพายกล้อง (ในรูปที่ลงหนังสือพิมพ์มีการแต่งภาพเอากล้องออก) นั้นเป็นอดีตการ์ดของกลุ่มพันธมิตรฯ (ซึ่งได้ชื่อว่าสันติวิธีเพราะผู้นำของเขาบอกว่าตราบที่ไม่เอาไม้กอล์ฟไปฟาด กระบาลใคร ก็ยังไม่ถือเป็นอาวุธ) หาได้เป็นชาวแฟลตดินแดงที่ไม่พอใจกับกลุ่มเสื้อแดงไม่ ข้อสาม เรื่องการนำรถก๊าซออกไปปิดถนนหลายจุดทั่วกรุงที่เป็นปฐมเหตุให้คนเชื่อว่า พวกเสื้อแดงนิยมความรุนแรงและทำผิดกฎหมาย (สมควรปราบ ว่างั้นเถอะ) ได้รับการเปิดโปงมากขึ้นว่าเป็นการจัดฉากจากกลุ่มบุคคลอื่น [2]

 

การจัดฉากให้ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้กระทำความรุนแรงเป็นผลงานของมือที่สาม (Provocateur) ดู จะเป็นเรื่องธรรมดาสามัญเหลือเกินในหลักการด้านสันติศึกษา เป็นยุทธวิธีดาษดื่นที่รัฐมักจะใช้เพื่อแสดงความชอบธรรมในการใช้กำลังและ ความรุนแรงเข้าปราบปรามการชุมนุมประท้วง แค่นี้นักสันติวิธีไทยก็ไม่เข้าใจหรือ หรือว่ายึดแต่การเสพข่าวสารจากจอแก้วเป็นสรณะโดยไม่ใส่ใจกับเสียงวิจารณ์ สื่อกระแสหลัก หรือการตั้งคำถามต่อพฤติกรรมของสื่อ [3]

 

เมื่อ เห็นการที่สื่อมวลชนรุมเร้าซักถามผู้หญิงในภาพซึ่งถูกฉุดกระชากลากถูที่ ศีรษะ และยังมีการสร้างความชอบธรรม (อีกแล้ว) ให้กับการถูกทึ้งศีรษะด้วยว่าเป็นเพราะเธอไปถ่มน้ำลายใส่เขาก่อน และถึงกับปรามาสเธอว่าควรไปแจ้งความ ไม่ใช่มาแถลงข่าว ทำให้นึกหดหู่ใจกับบ่อน้ำจรรยาบรรณของสื่อที่ตื้นเขินเหลือเกิน เอาเป็นว่าในชั้นเรียนนิเทศศาสตร์ คุณไม่เคยเรียนเลยหรือว่าควรปฏิบัติต่อผู้ถูกกระทำอย่างไรบ้าง ควรปฏิบัติต่อแหล่งข่าวอย่างไร การที่เอาแต่ปรามาสว่า เห็นไหม ดูสิหน้าจ๋อยเลยพอมีคนโต้ว่าเขาฉุดหัวคุณเพราะคุณไปถ่มน้ำลายใส่เขาก่อน เป็นสิ่งที่เหมาะสมหรอกหรือ ชาวบ้านที่ไม่เคยออกสื่อมวลชน ยามที่อยู่ต่อหน้าผู้คนมากมาย อยู่ต่อหน้าแสงวาบของกล้อง ไม่นับว่าอยู่ต่อหน้าสื่อที่พร้อมจะห้ำหั่นฟาดฟันแล้ว เขายังจะไม่หน้าซีดเผือดพออีกหรือ

 

ที่ เขียนมาก็เพื่ออยากจะบ่นนักสันติวิธีและนักวิชาการทั้งหลายที่แสดงอาการ เลือกข้างและเลินเล่อทางวิชาการอย่างชัดเจน โปรดอย่าลืมว่า สุดท้ายปลายทางของวิกฤตครั้งนี้คือคำถามว่า ผู้คนที่หลากสีจะอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างไร สังคมไทยละเลยการเผชิญหน้าอย่างจริงจังกับความแตกต่างทางความคิด ความเชื่อ และค่านิยมมานาน ด้วยความเชื่อว่าเราเป็นไทยเหมือนกัน (ขำที่ระหว่างเกิดเหตุแตกแยกเหล่านี้ มีผู้เสนอให้กลับไปฟังเพลงชาติไทย เพลง รักกันไว้เถิด ให้มากๆ) ที่ผ่านมาเรามักเชื่อว่าเราไม่มีทางแปลกแยกจากกัน

 

แต่ เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ ไล่มาจนถึงความหลากสีในสังคมซึ่งส่งผลกระทบถึงขั้นวิกฤตในหลายด้านจนถึง ปัจจุบัน น่าจะทำให้สังคมไทยตื่นขึ้นเพื่อรับรู้อย่างจริงจังว่า ความแตกต่างในสังคมนั้นมีอยู่จริงและฝังรากแน่นอย่างที่เราไม่ตระหนักหรือ พยายามตระหนักอย่างจริงจังมาก่อน [4] แต่ ผู้เขียนเชื่อว่าเรามีศักยภาพมากพอที่จะไปพ้นจากปลักแห่งความขัดแย้งได้ แต่หวังว่าจะไม่เกิดความเสียหายจนมากเกินควร และในกระบวนการนี้ สื่อมวลชนและนักวิชาการมีบทบาทสำคัญมากในการตั้งคำถามกับพฤติการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมก่อนจะเลือกข้าง หรือแสดงความเห็นที่ส่งผลทำให้สถานการณ์บานปลายและรุนแรงขึ้น

 

และ ได้โปรดกลับมาที่ลมหายใจของท่านเอง กลับมาที่สามัญสำนึกที่ยังเหลืออยู่ของท่านเอง การนั่งเทียนจินตนาการและเขียนหนังสือในห้องไม่ทำให้ท่านสัมผัสกับความจริง มากเท่ากับการไปอยู่ร่วมกับพวกเขาตามท้องถนน การยึดติดกับภาพเดิมๆ ของสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยชนชั้นนำโดยชนชั้นล่างเป็นเพียงผู้ตามเป็นสิ่งที่ ไม่เหมาะกับยุคสมัยแล้ว [5]

 

Ralph Waldo Emerson เคยกล่าวไว้ว่า สามัญสำนึกเป็นอัจฉริยะที่แต่งกายอย่างกับกรรมกร (Common sense is genius dressed in its working clothes) ส่วน E. F. Schumacher บอกไว้ว่า คน โง่ที่พอมีสติปัญญาอยู่บ้างสามารถทำให้เรื่องราวใหญ่โต ซับซ้อนและรุนแรงกว่าที่มันควรจะเป็น ทำให้อัจฉริยะต้องเหนื่อยและใช้ความกล้าหาญมากทีเดียว กว่าจะกลับทิศทางให้เป็นตรงข้ามได้(Any intelligent fool can make things bigger, more complex, and more violent. It takes a touch of genius - and a lot of courage - to move in the opposite direction)

 

ส่วนผู้เขียนอยากบอกว่า สามัญสำนึกหาได้สามัญอีกต่อไปไม่

 

 

.....................................

 

[1] อย่างเช่น ภัควดี วีระภาสพงษ์, จดหมายเปิดผนึกจาก ภัควดีถึงนักสันติวิธี : โปรดนับศพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วยhttp://www.prachatai.com/05web/th/home/16464)

 

[2] กระทู้พันธ์ทิพย์ เจอเขียวปลอม ทำให้ขาวเขียวแดงฟ้าน้ำเงินซัดกันนัวเนีย (เก็บตก) 1 --- สื่อทีวี นสพ.หัวเขียว และ เพื่อนสมาชิกในรดน.ท่านหนึ่งที่ฟันธงอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งบัดนี้ว่า ชายเสื้อเขียวที่จิกหัวและลากสาวเสื้อแดงเป็นชาวแฟลตดินแดงไม่พอใจเรื่องรถ แก๊ส โดยบิดเบือนสถานที่และเหตุแห่งการทะเลาะทั้งสองเหตุการณ์ให้มาเชื่อมโยง สอดคล้องเป็นเหตุการณ์เดียวกัน 2. --- จนกระทั่งชาวเสื้อแดงหลายท่านเริ่มออกมาให้ข้อเท็จจริงในเรื่องสถานที่ว่า เป็นคนละที่ โดยเฉพาะภาพต่อเนื่องของคุณ mcu51 ที่สามารถอธิบายสถานที่ได้เป็นอย่างดี โปรดอ่านต่อใน http://www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P7790090/P7790090.html

 

[3] อย่างเช่น ณัฐวุฒิ รุ่งวงษ์, แมลงวันขอตอมแมลงวัน ในสถานการณ์สื่อเลือกข้าง (http://www.prachatai.com/05web/th/home/16597)

 

[4] เหมือน สมัยที่เริ่มมีการประท้วงทักษิณ ชินวัตรใหม่ ๆ และมีการเปิดโปงการโกงระดับนโยบายของเขา ผู้เขียนก็เชื่อเหมือนคนทั่วไปที่เข้าถึงข้อมูลได้มากว่า ทักษิณหาได้เหมาะกับการเป็นนายกฯ ของไทยไม่ เขาไม่คู่ควรเป็นนักการเมืองด้วยซ้ำ ถ้าจะเข้ามากอบโกยบ้านเมืองเช่นนี้ แต่ไปพูดกับคนขับแท็กซี่ทีไร เป็นอันได้ความเห็นที่แตกต่างกลับมาทุกที นักการเมืองคนไหนไม่โกง ถึงเขาโกงแต่พวกผมก็มีรายได้มากขึ้น ผ่านไปสามปี ความเห็นเช่นนี้ก็ยังปรากฏอยู่ แต่จากการปฏิบัติต่อการชุมนุมของเสื้อแดงคราวนี้ ทำให้ผู้เขียนเกิดความรับรู้ที่ลึกซึ้งมากขึ้นว่า ทำไมพวกเขาจึงยังเชื่อมั่นและศรัทธาในผู้นำอย่างทักษิณเหลือเกิน

 

[5] โปรดรีบอ่าน คำผกา, นับแต่นี้ไป ไม่เหมือนเดิม .. คนไทยเปลี่ยนไปแล้ว !!! มติชน สุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 24-30 เมษายน 2552

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท