Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

แก่น สารของประชาธิปไตย คือ ประชาชนใช้อำนาจในการปกครองตนเอง โดยที่การใช้อำนาจนั้นมีการปฏิบัติอย่างเป็นวิถีชีวิต วิถีชุมชน วิถีสังคม วิถีประเทศ

ใน วิถีดังกล่าวทุกคนสามารถใช้วิจารณญาณของตนเองหรือมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ว่า อะไรคือสิ่งที่ดีสำหรับตน หรืออะไรคือนโยบายที่ดีสำหรับชุมชน สังคมประเทศชาติ โดยผ่านการใช้ชีวิตที่รักในเสรีภาพ และกระบวนการทางการเมือง เช่น การเลือกตั้ง การมีส่วนรวมของประชาชน เวทีสาธารณะต่างๆ ภายใต้หลักประกันเสรีภาพในการพูดความจริงและการแสดงความคิดเห็น

หัวใจ ของการใช้อำนาจของประชาชนในการเลือกสิ่งที่ดีสำหรับตน และเลือกนโยบายหรือแนวทางที่ดีสำหรับชุมชน สังคม ประเทศชาติ คือ "อิสรภาพทางปัญญา" ซึ่งหมายถึงความมีอิสระจากการครอบงำทางความคิด ความเชื่อ สามารถใช้วิจารณญาณในการตัดสิน จริง เท็จ ถูก ผิด ดี ชั่ว ได้ด้วยตนเอง

ในหนังสือ "ธรรมะกับการเมือง" ท่านพุทธทาสภิกขุ เสนอว่าอิสรภาพทางปัญญาเป็นเงื่อนไขจำเป็นของการสร้างการเมืองเพื่อประโยชน์ สุขของประชาชน แนวทางสร้างอิสรภาพทางปัญญาจะต้องปฏิบัติตามหลักกาลามสูตรที่ว่า

1.อย่าเชื่อเพราะฟังตามๆ กันมา 2.อย่าเชื่อเพราะถือเป็นประเพณีสืบต่อกันมา 3.อย่าเชื่อเพราะการเล่าถือ 4.อย่าเชื่อเพราะอ้างตำราหรือคัมภีร์ 5.อย่าเชื่อเพราะอ้างหลักตรรกะ 6.อย่าเชื่อเพราะการอนุมาน 7.อย่าเชื่อเพราะดูลักษณะอาการน่าเชื่อถือ 8.อย่าเชื่อเพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว (หรือตั้ง “ธง” ไว้แล้ว) 9.อย่าเชื่อเพียงเพราะมองรูปการณน่าจะเป็นไปได้ และ 10.อย่าเชื่อเพราะนับถือว่าท่านผู้นี้เป็นครูของเรา (หรืออย่าเชื่อด้วยเหตุผลเพียงว่า เรื่องนั้นเรื่องนี้ออกมาจากปากของ “กูรู” ด้านนั้นๆ)

ประเด็นหลักของกาลามสูตร คือ “ความจริงต้องตัดสินด้วยการพิสูจน์ทราบ” ไม่ใช่ตัดสินด้วย “ความเชื่อ” ใน “แหล่งอ้างอิง” (ข้อ 1-4) “วิธีการ” (5-9) หรือ “ตัวบุคคล” (10) เพราะ ความจริงไม่ได้เป็นความจริงเพราะความเชื่อ (หรือไม่เชื่อ) ในสิ่งเหล่านั้น แต่มันเป็นความจริงเพราะผ่านการพิสูจน์ หรือเราได้พิสูจน์แล้วว่ามันจริง

ดัง นั้น การแสวงหาความจริงจึงจำเป็นต้องมีอิสรภาพทางปัญญา คือมีอิสระในการแสวงหาความจริงที่มุ่งตรงไปสู่การพิสูจน์ที่ “ตัวความจริง” โดยตรง โดยไม่ถูกครอบงำหรือถูกทำให้เบี่ยงเบนด้วยความเชื่อในแหล่งอ้างอิง วิธีการ หรือตัวบุคคล ดังกล่าว

ในสังคม ประชาธิปไตยที่เรียกร้องการใช้ “เหตุผล” ในการอยู่ร่วมกัน อิสรภาพทางปัญญายิ่งมีความจำเป็น แต่เรากลับพบว่าในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยาวนาน การขาดหรือการไม่ได้ใช้อิสรภาพทางปัญญาเป็น “ปมเงื่อน” สำคัญอย่างหนึ่งของความขัดแย้งที่ไม่สิ้นสุด

ประการแรก คู่ขัดแย้งแต่ละฝ่ายใช้ “การเลือกข้าง” เป็นเกณฑ์ในการตัดสิน “ความจริง” และ “ความถูกต้อง” ในการตัดสินใจทางการเมือง โดยไม่ตั้งคำถามต่อความจริงความถูกต้องที่ฝ่ายตนเองเสนอ และไม่เปิดใจรับฟังหรือพิจารณาความจริงความถูกต้องที่ฝ่ายตรงกันข้ามหรือที่ ฝ่ายอื่นๆ เสนอ

จึงทำให้แต่ละฝ่ายเลือกเชื่อ เฉพาะ “ความจริง” ที่ฝ่ายตนสร้างขึ้น มองเห็นเฉพาะความถูกต้องชอบธรรมในการต่อสู้ของฝ่ายตน หากจะมีความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในฝ่ายตนก็เป็นเพียงความจำเป็น เหตุสุดวิสัย หรือเป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเป้าหมายที่ชอบธรรมของฝ่ายตนเอง ขณะเดียวกันก็ตั้งป้อมปฏิเสธ “ความจริง” ของฝ่ายตรงข้ามและฝ่ายอื่นๆ และมองเห็นแต่ความผิด ความไม่ชอบธรรมของฝ่ายตรงข้ามหรือฝ่ายอื่นๆ

ดัง นั้น ความจริง ความถูกต้องที่ได้มาจาก “เกณฑ์การเลือกข้าง” จึงเป็นความจริงความถูกต้องที่ “ถูกตัดตอน” ถูกตัดแต่ง ลดทอน เพิ่มขยายเฉพาะส่วนที่เชื่อว่าเป็นผลดีแก่ฝ่ายตนและเป็นผลร้ายแก่ฝ่ายตรงกัน ข้าม (รวมทั้งฝ่ายอื่นๆ ที่ไม่เอาด้วยกับฝ่ายตน)

ประการที่สอง สื่อมวลชนและนักวิชาการที่ควรจะเป็นกลาง โดยการนำเสนอข้อเท็จจริง ความคิดเห็น และวิพากษ์วิจารณ์ขั้วขัดแย้งทั้งสองฝ่ายอย่างตรงไปตรงมาและอย่างสมดุล แต่สื่อมวลชนและนักวิชาการบางส่วนกลับเลือกข้างเสียเอง ทำให้ยิ่งเป็นการไปเพิ่มการผลิตซ้ำ “ความจริงตัดตอน” ส่งผลให้ความขัดแย้งยิ่งสลับซับซ้อนและยากที่จะหาทางออก

ประการที่สาม สื่อกระแสหลักและนักวิชาการบางส่วนที่พยายามแสดงบทบาท “เป็นกลาง” ดูเหมือนจะตกอยู่ในโลกของ “ความกลัว” เช่น กลัวอำนาจรัฐ กองทัพ กลัวถูกบอยคอตจากทั้ง 2 ขั้ว หรือกระทั่งกลัวจะถูกสังคมมองว่าท่าทีที่เป็นกลางไม่ “เวิร์ก” เพราะนอกจากจะไม่ทำให้เกิดความสมานฉันท์ระหว่าง 2 ขั้วได้แล้ว ยังไม่สามารถให้คำตอบต่อกระแสความต้องการ “การเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมือง” ที่ถูกปลุกขึ้นโดยมวลชน “เหลือง-แดง”

ประการที่สี่ ความ เชื่อที่ว่า “ต้องดำรงความเป็นฝักฝ่ายไว้ให้มั่นคงเพื่อชัยชนะในวันข้างหน้า” เป็นความเชื่อที่อิงอยู่กับประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองยุคเก่า หรือการเมืองที่สามารถแบ่งขั้วได้อย่างชัดเจนเป็นฝ่ายซ้าย-ขวา หรือฝ่ายนายทุน-ชนชั้นกรรมาชีพ เป็นความเชื่อที่ไม่ได้ถูกตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์จากทุกฝ่ายอย่างเพียง พอ

เช่น (อย่างน้อย ก็) ไม่ได้ตั้งคำถามหรือถกเถียงกันอย่างกว้างขวางจริงจังว่า ถ้าสีใดสีหนึ่งชนะแล้วประเทศชาติและประชาชนโดยรวมจะได้อะไร โครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ สังคมจะถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นธรรมขึ้นอย่างไร ช่องว่างทางเศรษฐกิจจะลดลงด้วยวิธีการอย่างไร “ประชาธิปไตยที่แท้จริง” ที่แต่ละฝ่ายกล่าวอ้างมี “หน้าตา” อย่างไร ฯลฯ

นอกจากทั้ง 4 ประการ ดังกล่าว จะเป็นอุปสรรคของการใช้อิสรภาพทางปัญญาในการทำความเข้าใจและหาทางออกจาก ปัญหาความขัดแย้งที่เป็นอยู่ “อิสรภาพทางปัญญา” โดยตัวของมันเองแล้วก็เป็นสิ่งที่มีปัญหาด้วยเช่นกัน ในแง่ที่มันยากยิ่งที่จะมีอิสรภาพทางปัญญาได้ในท่ามกลางการบ่าไหลท่วมทับของ ข้อมูลข่าวสารในโลกยุคปัจจุบัน เพราะเราไม่สามารถที่จะนำข้อมูลที่ล้นเกินและซับซ้อนมาพิจารณาได้อย่าง ละเอียดทุกแง่มุมจนสามารถ “พิสูจน์ทราบความจริง” ได้ด้วยตนเองในทุกกรณี (หรือแม้แต่ในกรณีส่วนมากของปัญหาการเมืองที่เป็นอยู่)

ยิ่งท่ามกลางสถานการณ์ “สงครามการผลิตสร้างความจริง” ผ่านสื่อทุกประเภทในเวลานี้ ยิ่งอาจทำให้คนไขว้เขวได้ง่ายๆ (ทางเลือกที่ปลอดภัยของแต่ฝ่ายจึงเลือกรับเฉพาะข้อมูลของฝ่ายตนหรือที่สนับสนุนความเชื่อของฝ่ายตน)

แต่ อย่างไรก็ตาม คุณค่าของ “หลักกาลามสูตร” หรือ “หลักอิสรภาพทางปัญญา” อยู่ที่การเรียกร้องให้เรามีท่าทีแบบ “สัจจานุรักษ์” หรือ “ท่าทีรักษาสัจจะหรือความจริง” คนที่มีท่าทีดังกล่าวจะไม่ด่วนเชื่อหรือปฏิเสธข้อมูลข่าวสารที่ได้มาง่ายๆ จะเปิดกว้างรับฟังข้อมูลความคิดเห็นทุกด้าน แล้วพิจารณาตัดสินจริง-เท็จ ถูก-ผิด ตามข้อเท็จจริงและเห็นผล ท่าทีเช่นนี้เองที่ส่งเสริมวิถีประชาธิปไตย

คน ไทยนั้นมักถูกชักจูงด้วยการโฆษณาชวนเชื่อที่มากับลัทธิบริโภคนิยม ลัทธิการเมืองแบบเงินนิยม การเมืองเก่าแบบอำนาจนิยม และการเมืองแบบตัดตอนความจริงที่เป็นอยู่ในขณะนี้ อาจไม่ใช่เพราะคนไทยส่วนใหญ่ด้อยการศึกษา แต่อาจเป็นเพราะระบบการศึกษาไม่ชัดเจนและไม่มุ่งมั่นในการสร้างกระบวนการ เรียนรู้ให้คนตระหนักในคุณค่าของการแสวงหาอิสรภาพทางปัญญา และถือว่าวิถีชีวิตที่มีค่าคือวิถีชีวิตที่แสวงหาหรือมีอิสรภาพทางปัญญา

ซึ่ง นอกจากจะเป็นวิถีชีวิตที่สร้าง “อิสรภาพ” หรือ “ความเป็นตัวของตัวเอง” อย่างแท้จริงแล้ว ยังส่งเสริมวิถีประชาธิปไตย หรือส่งเสริมความสามารถในการใช้อำนาจปกครองตนเองของประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ


 

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในมติชนรายวัน 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11390

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net