Skip to main content
sharethis

ทิพย์อักษร มันปาติ
สำนักข่าวประชาธรรม


ความเป็นจริงที่เกิดจากนโยบายการจัดการทรัพยากรอย่างไร้การมีส่วนร่วมของประชาชน และไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง เช่นการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับที่อยู่อาศัยทำกินดั้งเดิมของประชาชนในท้องถิ่น ที่ผ่านมาได้ส่งผลให้ประชาชนทั่วประเทศที่อาศัยอยู่ในเขตป่าต้องกลายเป็นคนผิดตามกฎหมาย ไม่สามารถอยู่อาศัยทำกินได้อย่างชอบธรรมมาจนกระทั่งปัจจุบัน


ในพื้นที่ภาคใต้ การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 99 ตอนที่ 72 ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2527 เป็นอุทยานแห่งที่ 42 ของประเทศ มีผลทำให้ประชาชนจำมากที่อยู่อาศัยในเขตพื้นที่เทือกเขาบรรทัด ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน เหตุการณ์การดำเนินคดีทางแพ่งและอาญากับชาวบ้านในข้อหาบุกรุกป่า การยึดที่ดินทำกิน โดยเจ้าหน้าที่รัฐยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าที่ผ่านมาประชาชนผู้อยู่อาศัยทำกินมาก่อนการประกาศเขตป่าอุทยานฯ จะพยายามแสดงหลักฐานร่องรอยการทำกินที่พิสูจน์ได้ว่าที่ดินมีการสืบทอดมาจากหลายรุ่นคนก็ตาม


แรงกดดันจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับที่อยู่อาศัยทำกิน ทำให้ชุมชนแห่งหนึ่งลุกขึ้นมาจัดการทรัพยากรชุมชนกันเอง โดยมีแนวทางในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน สร้างรูปธรรมตัวอย่างให้เห็นว่าคนก็อยู่กับป่าได้


ชุมชนยืนหยัด ยืนยันสิทธิทำกินในที่ดินเดิม


บ้านทับเขือ-ปลักหมู หมู่ที่ 1 ตำบลช่อง อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ตั้งอยู่บนเขาพับผ้า เทือกเขาบรรทัด รอยต่อระหว่างตรัง-พัทลุง มีประชากรประมาณ 60 ครอบครัว 270 คน ชุมชนก่อตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีประชาชนทยอยเข้ามาบุกเบิกทำกินในพื้นที่ป่าซึ่งหมดอายุการสัมปทานใน พ..2507 และขยายชุมชนมาจนปัจจุบัน


นายสมนึก พุฒนวล ชาวบ้านทับเขือ-ปลักหมู .ช่อง อ.นาโยง จ.ตรัง กล่าวว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นับตั้งแต่ประมาณปี พ.. 2507 เป็นต้นมา มีคนมาบุกเบิกที่ดิน และปักหลักทำกินอยู่ที่หมู่บ้านจนถึงปัจจุบันนี้ โดยประกอบอาชีพทำไร่ทำสวน ปลูกผัก ผลไม้ ปลูกยางพารา


ทั้งนี้ สภาพป่าในช่วงที่คนรุ่นแรกๆ เริ่มเข้ามาบุกเบิกทำกิน มีต้นไม้ใหญ่ถูกตัดโค่นไปแล้ว เพราะเกิดจากการสัมปทาน สภาพป่ากลายเป็นป่าเสื่อมโทรมแล้ว ชาวบ้านที่เข้าไปบุกเบิกทำกินก็ถางที่ปลูกข้าวไร่ หลังเก็บเกี่ยวข้าวก็ปลูกยางพาราพันธุ์พื้นเมือง และปลูกพืชอื่นๆ ผสมผสานแซมในสวนยางพาราด้วย เช่น มังคุด ทุเรียน ลางสาด ลูกเนียง สะตอ


ภายหลังต่อมา มีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ทำให้ที่ไร่ ที่สวน สวนยางพาราที่ชาวบ้านทำไว้ถูกยึดหมด สวนยางพาราก็เลยกลายเป็นป่ายางพารา เพราะคนส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถทำมาหากิน หรือปลูกพืชผักทำกินหรือเพื่อนำไปขายหาเลี้ยงชีพได้ จึงอพยพออกไปหางานทำข้างนอก เข้าไปในเมือง ปล่อยให้สวนรกร้าง แต่คนบางส่วนยังอยู่ที่เดิมเพราะไม่มีที่ดินทำกินที่อื่น มีแต่ที่ดินที่ได้รับตกทอดมาให้อาศัยทำกิน แต่ก็ทำมาหากินอย่างลำบากมากขึ้นเมื่อที่ดินถูกประกาศเป็นเขตอุทยาน


"หลังจากมีการประกาศอุทยานฯ ชาวบ้านก็ไม่สามารถอยู่ได้ ตอนแรกๆ จะตัดยางพาราก็ไม่ได้ ไม่ให้ทำอะไรสักอย่าง คนทำมาหากินในป่าไม่ได้ บางส่วนยังอยู่อาศัยที่เดิม แต่ออกไปทำงานรับจ้างหาเลี้ยงชีพในเมือง คนบางส่วนก็ย้ายเข้าไปอยู่ในเมืองเลย" นายสมนึก กล่าว


นายสมนึก กล่าวต่อว่า การที่ชาวบ้านไม่สามารถทำกินบนที่ดินดั้งเดิมได้อย่างชอบธรรม ทำให้เกิดแรงกดดันหลายอย่าง ชาวบ้านบางส่วนมีโอกาสไปแลกเปลี่ยนปัญหากับองค์กร เครือข่ายอื่นๆ พบว่าในพื้นที่เทือกเขาบรรทัดยังมีอีกหลายชุมชนที่ประสบปัญหาเหมือนกัน ดังนั้น เราจึงคิดกันว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้สังคมเห็นว่าเรามีสิทธิที่จะอยู่อาศัยและทำกินในที่ดินดั้งเดิมของตนเอง ต่อมาจึงก่อตั้งองค์กรชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู ขึ้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550 และเข้าร่วมเป็นสมาชิกของเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด


ทั้งนี้ การก่อตั้งองค์กรชุมชนฯ ขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจกรรม รณรงค์ให้ความเข้าใจกับสังคมเห็นว่าชาวบ้านไม่สามารถที่จะอยู่ได้ เพราะถูกนโยบายรัฐพยายามไล่ต้อน ดังนั้น การแสดงให้เห็นถึงความชอบธรรมที่ชาวบ้านสามารถอยู่ในที่ดินได้ จึงเริ่มต้นด้วยการ1. จัดการทรัพยากรชุมชน กันป่าออกจากที่ทำกินให้ชัดเจน โดยมีการเดินแนวเขตกันป่า ป่าที่กั้นเอาไว้ สมาชิกในชุมชนจะเข้าไปบุกรุกไม่ได้แต่ต้องช่วยกันดูแล รวมทั้ง พยายามนำแนวคิดการเกษตรแบบผสมผสานไม่ใช้สารเคมีกลับคืนมา 2. จัดการที่ดินและที่อยู่อาศัยของชุมชน โดยการจัดทำโฉนดชุมชน


"โฉนดชุมชน" กันที่ดินหลุดสู่มือนายทุน


โฉนดที่ดินชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู เป็นแนวทางในการจัดการที่ดินทำกินชุมชน มีกฎระเบียบของชุมชนในการดูแลรักษาป่า เน้นการเกษตรแบบสวนผสม หรือทำสวนยางพาราแบบสวนสมรม เพื่อใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ปัจจุบันมีสมาชิกในชุมชนเข้าร่วมดำเนินการจำนวน 46 ครัวเรือน


ทั้งนี้ ชุมชนได้ใช้ที่ดินส่วนบุคคลสร้างศูนย์ประสานงานและปลูกผักแปลงรวม เช่น ต้นสะตอ ต้นเนียง และพืชผักต่างๆ มีเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ สำหรับเป็นพื้นที่สาธารณะของสมาชิกองค์กรชุมชนบ้านทับเขือ โดยกลุ่มสมาชิกจะนำผลผลิตจากสวนไปขายและนำเงินมาใช้ทำกิจกรรมต่างๆ ขององค์กรชุมชน


หลักการในการทำโฉนดชุมชน ดำเนินการเดินสำรวจรังวัดแปลงที่ดินของสมาชิกองค์กรชุมชนฯ แต่ละคน เพื่อทำประวัติในการถือครองที่ดิน เช่น มีการบุกเบิกเมื่อไหร่ มีการสืบทอดมากี่ชั้นคน แต่ละชั้นคนมีการใช้ประโยชน์ที่ดินทำกินอย่างไรบ้าง ปลูกพืชอะไรบ้าง เป็นต้น หลังจากทำการรังวัดและจัดทำรายละเอียดข้อมูลการถือครอง และการใช้ประโยชน์ที่ดินเสร็จแล้ว จะนำเข้าที่ประชุมขององค์กรสมาชิก เพื่อให้สมาชิกเซ็นรับรอง


นายสมนึก กล่าวเสริมว่า ตามระเบียบกติกาขององค์กรฯ ระบุข้อหนึ่งว่า หากจะมีการซื้อขายที่ดินสมาชิกจะต้องแจ้งคณะกรรมการ ซึ่งวิธีนี้ก็เป็นการกันไม่ให้ที่ดินหลุดมือไปสู่นายทุนได้ อย่างไรก็ตาม ในอนาคตเราคิดกันว่าน่าจะปรับข้อนี้ไม่ให้มีมีการซื้อขายได้เลย นี่คือเป้าหมายในอนาคตที่เราจะต้องคิดทำกันต่อไป


นอกจากนี้ ในส่วนของที่ดินทำกินของชุมชน เราก็พยายามสร้างรูปแบบการเกษตรที่เอื้อต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศน์ กล่าวคือ รณรงค์ให้สมาชิกในองค์กรชมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู ทำการเกษตรแบบยั่งยืน โดยการปลูกพืชหลากหลายภายใต้สวนยางพารา ไม่หวังพึ่งการปลูกยางพาราเชิงเดี่ยวตามที่รัฐบาลส่งเสริมอย่างเดียว นี่คือการเกษตรที่ช่วยรักษาความสมดุลของธรรมชาติได้


นายสมนึก กล่าวอีกว่า โฉนดชุมชนเป็นเพียงวิธีการหนึ่งในการจัดการระบบกรรมสิทธิ์ กล่าวคือ หากกล่าวกันตามกฎหมายของรัฐ เราก็เป็นคนผิด แต่พวกเราจะไม่ยอมรับกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะเราอาศัยทำกินอยู่ที่นี่มาหลายรุ่นคน พวกเราไม่มีที่ทำกินตรงอื่นแล้ว เราก็ต้องหยุดอยู่ตรงนี้


"การจัดทำโฉนดชุมชนก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความชอบธรรมให้เราทำกินอยู่ในที่ดินเดิม เพื่อกันที่ดินของเราไม่ให้หลุดไปสู่มือของนายทุน เราต้องการให้ผืนดินผืนนี้ตกทอดต่อไปยังลูกหลาน"










กฎระเบียบการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน องค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด บ้านทับเขือ-ปลักหมู หมู่ที่ 1 . ช่อง อ.นาโยง จ.ตรัง


1. ห้ามทำลายป่าสมบูรณ์
2. สายห้วยที่มีน้ำไหล ห้ามทำลายห้ามแผ้วถาง ให้เว้นบริเวณริมสายห้วย
3. กำหนดแนวเขตป่าแก่กับพื้นที่ทำกิน โดยการปักหลักเขตให้ชัดเจน
4. ป่าไส (พื้นที่ป่าที่สามารถเข้าไปทำกินได้) หากจะทำกินให้ยื่นความประสงค์ให้คณะกรรมการพิจารณา เมื่อคณะกรรมการเห็นชอบให้ตัดร่องปลูก
5. ยางพาราที่หมดสภาพแล้ว ให้แจ้งคณะกรรมการก่อนเพื่อพิจารณาดำเนินการในการโค่นปลูกใหม่ทดแทน ถ้าไม่แจ้งกรรมการทางองค์กรจะไม่รับผิดชอบ
6. สมาชิกคนใดหากไม่เคารพตามกฎระเบียบเพียง 3 ครั้ง ถือว่าสมาชิกคนนั้นสิ้นสุดจากการเป็นสมาชิก
7.บุคคลใดที่ไม่มีรายชื่อเป็นสมาชิกองค์กรจะไม่รับผิดชอบ
8. แปลงใดที่มีป่าสมบูรณ์เป็นเกาะกลาง ห้ามโค่น แผ้วถาง ให้รักษาไว้เป็นไม้เพื่อเอาไว้ใช้สอย
9. ไม้ใหญ่ในแปลงยางให้เว้นไว้เพื่อเอาไว้ใช้สอย
10. สมาชิกขององค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด (ทับเขือ-ปลักหมู) ต้องเข้าร่วมกิจกรรมขององค์กรและเครือข่าย
11. ห้ามล่าสัตว์ที่กำลังจะสูญพันธุ์
12. สัตว์น้ำ ห้ามวางยา ช็อตปลา
13. พยายามลด ละ เลิก การใช้สารเคมี เช่น ยาฆ่าหญ้า เป็นต้น
14. สมาชิกที่จะเปลี่ยนมือการใช้ประโยชน์ที่ดิน ต้องแจ้งให้กรรมการทราบ
15. สมาชิกมีความจำเป็นที่จะใช้ไม้ ให้แจ้งกรรมการเพื่อพิจารณา (ห้ามทำไม้เพื่อการค้าอย่างเด็ดขาด)


สร้างความมั่นคงในที่ดิน - สร้างอธิปไตยทางอาหารในป่ายางพารา


วีถีการผลิตแบบเน้นพึ่งพิงพืชเศรษฐกิจที่รัฐบาลส่งเสริมเป็นหลัก ที่ผ่านมา นอกจากไม่อาจเป็นข้อรับประกันให้ชาวบ้านผู้ปลูกยางพาราเชิงเดี่ยวมีอาหารเลี้ยงคนในครอบครัวได้แล้ว ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ ทำลายสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ซ้ำร้าย เมื่อพื้นที่ทำกินกลายเป็นพื้นที่หวงห้าม เหตุเพราะถูกผนวกเข้าเป็นเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ทำให้การกรีดยางพาราที่เคยทำมาแต่เดิม กลายเป็นการลักขโมยของป่า และตอกย้ำให้เกิดภาพที่ว่าป่ายางพาราของชาวบ้านคือสาเหตุของการทำลายป่า ทำลายระบบนิเวศน์ ส่งผลให้เกิดผลกระทบทั้งต่อรายได้และการอยู่อาศัยในที่ดินเดิม


การลุกขึ้นมาปฏิบัติการสร้างความมั่นคงให้กับที่ดินทำกิน จัดทำโฉนดชุมชน มีกฎระเบียบในการใช้ที่ดิน ร่วมกันดูแลอนุรักษ์ผืนป่าอย่างชัดเจน พร้อมทั้งสร้างอธิปไตยทางอาหารที่ไม่ยึดติดกับการปลุกยางพาราเพียงอย่างเดียว คือความพยายามทลายความคิดการถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บุกรุกทำลายป่า และทำลายสิ่งแวดล้อม


นายกิ้มพงษ์ สังวรกิตติวุฒิ อายุ 71 ปี หรือ ลุงเคว ชาวบ้านบ้านทับเขือ ซึ่งอยู่อาศัยมาไม่น้อยกว่า 50 ปีแล้ว บนแปลงที่ดินทั้งหมด 8 ไร่ ที่มีอยู่ นอกจากปลูกยางพาราแล้ว ยังปลูกพืชอาหารและสมุนไพรกว่า 100 ชนิด ภายใต้สวนยางด้วย


ลุงเคว กล่าวว่า ตนอยู่ที่นี่มานานแล้ว ที่ดินที่มีอยู่ก็ได้รับสืบทอดมา หากเจ้าหน้าที่ป่าไม้จะมาไล่ออกไปจากที่ดิน ก็จะไม่ยอมออกไป ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน เพราะทำกินอยู่ที่นี่มานาน ไม่ได้บุกรุกป่า ไม่ได้บุกรุกป่าอย่างที่เจ้าหน้าที่บอก

















พืชผสมผสานในป่ายางพาราของลุงเคว


พืชชั้นที่ 1 (ชั้นคลุมดิน)
อาหาร : ผักกูด (300 ต้น), บัวบก, กระชาย, ขมิ้น, กระทือ, เปราะ, สาบแร้งสาบกา (ผักชีฝรั่ง), ตะไคร้, ผักบุ้ง, ชะพลู, เอาะดิบ, บอนส้ม, มะเขือ, ตำลึง, กล้วยหัว, มันหล่น, มะอึก, ถั่ว, อัญชัน, ผักกาดนกเขา, บอนเต่า, ตามัต
สมุนไพร : มะแว้งเครือ, อุตพิษ, ว่านชักมดลูก, ฟ้าทะลายโจร, สาคูวิราศ, ไพลแดง, หญ้าหนวดแมว, ว่านหางจระเข้, ท้าวพันราก, ไพ, หอมแดง, หูหมี, ขมิ้นชัน, ขัดหนา, น้ำนมราชสีห์, ผักราด


พืชชั้นที่ 2
อาหาร : ผักหวานป่า-เขลียง (700 ต้น), พริก (10 ต้น), พริกไทย (150 ต้น), กล้วย (50 กอ), ผักหวานบ้าน (250 ต้น), มันสำปะหลัง (10 ต้น), ข่า (100 กอ), มะละกอ (3 ต้น), มะเม่า (7 ต้น), ชะอม (1 ต้น), เล็บครุฑ (10 ต้น), แก้วมังกร (1 ต้น), พลู (2 กอ), ทับทิม (2 ต้น), บุก
สมุนไพร : บอระเพ็ด, คล้า, หมากผู้
ไม้ดอกไม้ประดับ : ประมาณ 20 ชนิด เช่น โมกข์, ผักกูดหนาม


พืชชั้นที่ 3
อาหาร : ลองกอง (7 ต้น), มังคุด (4 ต้น), ส้มโอ (1 ต้น), มะนาว (1 ต้น), มะม่วงหิมพานต์ (2 ต้น), เนียง (4 ต้น), จำปาดะ (15 ต้น),ไผ่ตง (6 กอ)


พืชชั้นที่ 4 (ชั้นบนสุด)
พืชเศรษฐกิจ : ยางพารา 1-3 ปี (1,000 ต้น), ธัมมัง (3 ต้น)
อาหาร : สะตอ (12 ต้น), มะพร้าว (20 ต้น), หมาก (200 ต้น), เหรียง (4 ต้น), ทุเรียน (13 ต้น), มะมุด (4 ต้น), มะม่วง (1 ต้น), มะขาม (2 ต้น), ขนุน (1 ต้น)


การจัดการทรัพยากรโดยชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู โดยมีแนวทางที่ชัดเจนเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในที่ดินทำกิน และแสดงเจตนารมณ์ที่จะดูแลรักษาทรัพยากรให้ยั่งยืน ไม่ปล่อยให้ที่ดินซึ่งเห็นร่วมกันว่าเป็นของส่วนรวมหลุดไปสู่กลุ่มคนอื่นใดที่อาจนำไปแปรสภาพเพื่อสร้างความมั่งคั่งส่วนตัว แนวทางดังกล่าวนี้คือการยืนยันสิทธิที่จะอยู่ทำกินอย่างชอบธรรม และยืนหยัดว่าคนที่อยู่ท่ามกลางผืนป่า ไม่ได้เป็นผู้บุกรุกป่าอย่างที่หน่วยงานราชการชอบเหมารวมและไล่ออกไปอยู่ที่อื่นโดยไม่ดูความเป็นจริงอยู่ร่ำไป


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net