เลือกในสิ่งที่ดีกว่า คือ "ไม่"

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

19 สิงหาคม เป็นวันที่จะกำหนดอนาคตของเรา ผมไม่แน่ใจว่า สังคมไทยได้เรียนรู้อะไรจากการยกร่างรัฐธรรมนูญและการรณรงค์ประชามติที่ผ่านมา หากไม่หลอกตัวเองมากเกินไป และซื่อตรงต่อตนเอง ไม่มากก็น้อยคงต้องยอมรับว่าการประชามติที่ผ่านมานั้นเป็นไปอย่างไม่ตรงไปตรงมา ไม่เคารพคนที่เห็นต่าง และไม่เป็นธรรมต่อการแข่งขัน หลายกรณียังเข้าข่ายฉ้อฉล

 

การเดินไปคูหาประชามติแล้วผ่านร่างรัฐธรรมนูญ ยังเท่ากับทำให้มาตรฐานการประชามติอย่างที่เป็นอยู่ได้รับการยอมรับ และจะเป็นมาตรฐานแบบไทยๆ สำหรับใช้ในครั้งต่อไป ทั้งๆ ที่ไม่มีใครในโลกเรียกการกระทำเช่นนี้ว่าประชามติได้ การไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการร่าง การเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนจำนวนมากและส่วนใหญ่ ซึ่งยืนยันจากโพลล์หลายสำนัก

 

พึงต้องด้วยรู้ว่า การทำประชามติคือการใช้สิทธิใช้เสียงของประชาชนทุกคนอย่างเจ้าของประเทศโดยทางตรง ซึ่งกำลังเป็นวิธีที่นานาอารยประเทศนิยมใช้มากขึ้นๆ การทำให้การประชามตินี้เกิดเป็นมาตรฐานอันตราย จะทำให้การเมืองไทยเสียนิสัยและมักง่าย ซึ่งที่ผ่านมาก็มากพออยู่แล้ว

 

กล่าวอีกอย่างก็คือ การให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านด้วยประชามติครั้งนี้ จึงไม่เพียงแต่เท่ากับศูนย์แต่ยังทำให้สังคมไทยติดลบ

 

ในทางกลับกัน สังคมการเมืองไทยจะได้อะไรอีกมากหากประชามติครั้งนี้มีผลในทางไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ 2550 หนึ่งคือ เท่ากับการปฏิเสธกระบวนการร่างที่ไม่เห็นหัวประชาชน สองคือปฏิเสธที่มาของการร่าง ซึ่งจะทำให้การรัฐประหารซึ่งส่งผลเสียต่อสังคม การเมือง เศรษฐกิจ มหาศาลทำได้ยากมากขึ้น หรืออาจจะไม่เกิดขึ้นอีกเลยและพาการเมืองไทยก้าวสู่การเมืองแบบเป็นเหตุเป็นผล หรือมีโอกาสหลุดออกจากวงจรอำนาจนิยมมากขึ้น และสาม เราจะนำความสมานฉันท์กลับมาสู่สังคมไทยอย่างแท้จริงได้ เมื่อกระบวนการต่อจากนั้นเดินไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับประชาชนที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งเรื่องที่มาของผู้ร่าง กระบวนการ และเนื้อหา และวันนั้นเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะดีกว่ารัฐธรรมนูญ 2540 และร่าง 50 อย่างแน่นอน

 

อย่ากังวลไปเลยว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติจะหยิบรัฐธรรมนูญฉบับไหนมา เพราะรัฐธรรมนูญ 2534 นั้นเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นต้นเหตุของการนองเลือด การหยิบฉบับนี้มาจึงเท่ากับการเปลี่ยนชื่อ คมช.เป็นคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ และเปลี่ยนชื่อ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็น พล.อ.สุจินดา คราประยูร เปลี่ยน พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร เป็น พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ส่วน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นั้นเล่า ก็คงละม้ายคล้าย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ เข้าไปทุกที

 

รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 ที่ คมช. ร่างเอง ยังได้กำหนดให้เปรียบเทียบร่าง 50 กับร่างรัฐธรรมนูญ 40 ซึ่งนั่นหมายความว่า เป็นการกำหนดให้ใช้รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นหลัก ยกเว้นแต่ คมช.จะถ่มน้ำลายรดหน้าตัวเอง ด้วยการไม่ยอมรับในรัฐธรรมนูญ 49 ที่ตัวเองร่าง

 

เอาละ ต่อให้เราไม่เชื่อคนอย่าง พล.อ.สนธิ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยบอกว่าจะไม่มีการรัฐประหารแต่ก็รัฐประหารมาแล้ว เรายังพึงต้องรู้ว่ารัฐธรรมนูญ 16 ฉบับที่ผ่านมา ไม่มีฉบับไหนเลยที่มีบทบัญญัติว่าด้วย ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา หรือแม้กระทั่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อย่างที่เป็นอยู่ ซึ่งล้วนแต่ทำงานและมีภาระคั่งค้างอยู่มากมาย จึงเป็นอันว่า คมช. จะไม่เหลือทางไหนเลยนอกจากจะต้องหยิบรัฐธรรมนูญ 2540 ขึ้นมา และแม้จะมีการปรับใช้ แต่ด้วยเวลาที่จำกัดและล็อกเอาไว้ด้วยรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549  การปรับใช้ในสาระสำคัญจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้

 

ก็ถ้าการ "ไม่" รับร่าง ดีกว่า แล้วเราจะ "รับ" ทำไม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท