ผ่ารัฐธรรมนูญ 50 ก่อนลงประชามติ (ตอนที่ 3) : ปฏิรูปสื่อสู่ประชาธิปไตย จะไปถึงหรือไม่ ?

กองบรรณาธิการ
สำนักข่าวประชาธรรม

ระหว่างที่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนญ (สสร.) กำลังแปรญัตติรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 จวนเจียนจะเสร็จสิ้น และเตรียมที่จะให้ประชาชนลงประชามติในเร็ววันนี้ ท่ามกลางกระแสประชาชนที่มีทั้งคัดค้านและตอบรับการร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ เนื้อหาสาระในรัฐธรรมนูญที่กำลังยกร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงความเห็นของประชาชนส่วนต่างๆ ต่อรัฐธรรมนูญนับว่าเป็นหัวใจสำคัญสำหรับประชาชนที่จะใช้เป็นข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจว่าจะรับ หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ สำนักข่าวประชาธรรม จึงได้ทำการเจาะลึกเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 พร้อมสัมภาษณ์ความเห็นของภาคประชาชนส่วนต่างๆ มาประกอบการตัดสินใจ ในประเด็นต่างๆ ที่มีความสำคัญ เช่น ประเด็นเรื่องการเจรจาการค้า สิทธิชุมชน ระบบการเมือง คนชายขอบ ฯลฯ โดยจะนำเสนออย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ โปรดติดตาม

สิทธิและเสรีภาพสื่อในรัฐธรรมนูญ 2550

ข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นในสังคมก่อนที่จะมีการแปรญัตติในประเด็นสื่อในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ฉบับรับฟังความคิดเห็น อยู่ในหมวดที่ 3 สิทธิและเสรีภาพของบุคคลในราชอาณาจักรไทย(เพิ่ม) ส่วนที่ 7 เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อสารมวลชน โดยประเด็นร้อนที่มีการถกเถียงกันคือ มาตรา 47 ซึ่งประชาชนเสนอให้มีการเพิ่มเติมและตัดออก ดังนี้

มาตรา 47 คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ให้มีองค์กรของรัฐ (ตัด) ที่เป็นอิสระองค์กรหนึ่ง (ตัด) ทำหน้าที่ในการจัดสรรคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่ง และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน (เพิ่ม)

การดำเนินการตามวรรคสองต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรมความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะอื่น รวมทั้งการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม รวมทั้งต้องจัดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะ

การกำกับการประกอบกิจการตามวรรคสองต้องมีมาตรการเพื่อมิให้มี (เพิ่ม) การควบรวม หรือการครองสิทธิข้ามสื่อ (เพิ่ม) หรือการครอบงำระหว่างสื่อมวลชนด้วยกันเอง หรือโดยบุคคลอื่นใด ซึ่งจะมีผลเป็นการขัดขวางเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารหรือปิดกั้นการได้รับข้อมูลข่าวสารที่หลากหลาย

ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคมมิได้ ไม่ว่าในนามของตนเองหรือให้ผู้อื่นเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นแทน หรือจะดำเนินการโดยวิธีการอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ที่สามารถบริหารกิจการดังกล่าวได้ในทำนองเดียวกับการเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการดังกล่าวมิได้

ก่อนที่จะมีการอภิปรายแปรญัตติ มาตรา 47 เพียง 1 วัน มีองค์กรสื่อ 21 องค์กร และเครือข่ายนักวิชาการและเอกชน ร่วมกันยื่นหนังสือต่อประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ผ่าน ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อคัดค้านการรวม กสช.-กทช. หรือการกำหนดให้มีเพียงองค์กรเดียว ในการจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพราะเห็นว่ากิจการดังกล่าวมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน และไม่เชื่อมั่นว่าจะป้องกันการผูกขาดอำนาจได้

ประเด็นที่สำคัญที่ประชาชนเสนอให้ตัดออกคือ คำว่า องค์กรของรัฐ และ องค์กรหนึ่ง แต่เมื่อวันที่ 13 มิ.. 50 ที่ผ่านมา สสร. ทำการโหวตแปรญัตติญัตติด้วยเสียงชนะเกินครึ่ง ให้คงไว้ซึ่งคำว่า องค์กรรัฐ และ องค์กรหนึ่ง พร้อมด้วยการกำหนดระยะเวลาภายใน 180 วัน ให้มีการจัดตั้งองค์กรรัฐที่เป็นอิสระองค์กรหนึ่ง ทำหน้าที่ในการจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม

แปรญัตติเหลือองค์กรเดียว
หวั่นรวบอำนาจจัดการสื่อ

อาจจะเรียกได้ว่าการลงมติแปรญัตติในมาตรานี้ของ สสร. สร้างความเจ็บปวดหัวใจให้กับประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการยุบรวมองค์กรอิสระอย่างมาก ด้วยเหตุผลที่คัดค้านไปแล้วว่า องค์กรอิสระองค์กรเดียว ไม่รับประกันการคานอำนาจ หรือถ่วงดุล เพื่อร่วมตรวจสอบกระบวนการทำงาน ควรมีการแบ่งแยกหน้าที่ให้ชัดเจน และไม่ซ้ำซ้อนกันระหว่างเรื่องเทคโนโลยี และเนื้อหาสาระของสื่อ

อย่างไรก็ตาม นายสวิง ตันอุด สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญกล่าวถึงการแปรญัตติในมาตรา 47 ว่า หากมีการเขียนคำว่าองค์กรหนึ่ง ไว้ในมาตรา 47 ในร่าง รัฐธรรมนูญ 2550 เห็นว่าจะเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ จะทำให้เหมือนกับรัฐธรรมนูญ 2540 ทันที กล่าวคือ ยังคงมี กสช. และ กทช. ซึ่งตอนนี้เป็นปัญหาคาราคาซังอยู่ สสร.จึงตกลงกันว่าจะเขียนเจตนารมณ์ลงในบทเฉพาะกาลเพื่อบอกว่า คำว่าองค์กรหนึ่งจะเป็นสภาสื่อสารแห่งชาติ โดยมี 3 เรื่องใหญ่ๆ อยู่ภายใต้องค์กรนี้ แบ่งตามภารกิจ อันประกอบด้วย 1. การจัดการคลื่นความถี่ 2. การพัฒนาสื่อ โดยแบ่งตามเนื้อหา ไม่แบ่งตามการจัดสรรคลื่นเหมือนที่ผ่านมา 3. กองทุนพัฒนาสื่อ โดยหักเอามาจากผลประโยชน์ใดๆ เข้ามาไว้ในการกองทุนนี้เพื่อนำมาสนับสนุนสื่อชุมชนทั้งหลาย และมีองค์ประกอบ ที่ประกอบไปด้วย ตัวแทนนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ สื่อชุมชน และผู้บริโภค

ส่วนการคงไว้ซึ่งคำว่าองค์กรรัฐ ไม่ตัดออกตามที่ประชาชนเสนอนั้น สสร. ให้เหตุผลการอภิปรายแปรญัตติว่า หากไม่ระบุคำว่าองค์กรรัฐไว้ ก็กลัวว่าจะหลุดไปเป็นขององค์กรเอกชน ดังนั้น จึงต้องมีคำว่าองค์กรรัฐ รัฐทำการสนับสนุนแต่ต้องเป็นอิสระ

"อันที่จริงไม่ได้บอกว่าเมื่อเป็นองค์กรเดียวแล้วจะครอบคลุมไปหมดทุกอย่าง ทั้งนี้เพราะภายใต้องค์กรเดียว จะมีอยู่ 3 เรื่อง จะทำให้มีความเป็นเอกภาพมากขึ้น แต่ตอนนี้เราไปติดอยู่กับคำว่าองค์กรหนึ่ง กลัวว่าจะทำหน้าที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เป็นการบริหารแบบเผด็จการ อย่างไรก็ตาม สสร. ตกลงกันแล้วว่าจะมีการคุยนอกรอบในเรื่องนี้ และจะเขียนไว้ในบทเฉพาะกาล หากมีการเบี้ยวขึ้นมาเราก็ต่อสู้เต็มที่ เพราะทุกอย่างที่พูดคุยกันในสภามีการบันทึกการประชุม สามารถไปรื้อเอาบันทึกการประชุมมาสู้ได้" นายสวิง กล่าว

นายสวิง กล่าวต่อว่า การเขียนเพิ่มเติม มาตรา 47 ในบทเฉพาะกาล จะต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ตอนนี้เราต้องทำให้เร็ว ไม่อย่างนั้นก็เป็นปัญหาคาราคาซัง ถ้ายิ่งเร็วได้ก็ยิ่งมีประโยชน์กับประชาชน ทั้งนี้ การเขียนกฎหมายลูกออกมาจะต้องเขียนตามบทเฉพาะกาล เพราะว่าไม่สามารถเขียนรายละเอียดของทุกๆ เรื่องลงในมาตราได้โดยตรง

"คำว่าองค์กรหนึ่ง ขึ้นอยู่กับวิธีมองที่หลากหลายของแต่ละคน แต่ตอนนี้ขอล็อคคำว่าองค์กรหนึ่งเอาไว้ก่อน เพราะการที่เราไปติดอยู่กับคำว่าองค์กรหนึ่ง ทำให้แก้ปัญหาเก่าไม่ได้ คือ กสช. ที่ไม่สามารถจัดตั้งขึ้นได้สักที ส่วนองค์กรที่มีอยู่แล้วคือ กทช. ก็มีปัญหา ดังนั้นการเขียนคำว่าองค์กรหนึ่งเอาไว้ก็เพื่อที่จะแก้ปัญหาเก่า หมายความว่า เพื่อที่จะรื้อระบบอันเก่าทิ้ง คือ กสช. และ กทช. แล้วตั้งระบบใหม่ขึ้นมาแทน" นายสวิง กล่าว

ด้าน ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ คณะการสื่อสารมวลชน ม.เชียงใหม่ และรองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) กล่าวว่า การแปรญัตติของ สสร. ให้มีองค์กรอิสระองค์กรหนึ่ง เป็นสิ่งที่ค่อนข้างชัดว่าพยายามขัดขวางการปฏิรูปสื่อ เพราะการยุบรวมสะท้อนให้เห็นว่าเป็นความต้องการในลักษณะของการจัดการแบบอำนาจเบ็ดเสร็จ ไม่ต้องการเสียงต่าง ไม่ต้องการโครงสร้างที่มีการคานอำนาจ

"การที่จะมีประชาธิปไตยได้นั้น จะต้องมีกระบวนการจัดการที่จะใช้สื่อแบบมีส่วนร่วมของประชาชน และมีการคานอำนาจ แต่การบอกว่าให้มีองค์กรเพียงองค์กรเดียว มาทำหน้าที่ดูแลด้านการจัดสรรคลื่นความถี่ และการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ชี้ให้เห็นแล้วว่า ต้องการเสียงที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเพียงเสียงหนึ่ง ที่จะมีเสียงดังกว่าเสียงอื่นๆ และทำให้การจัดสรรให้เป็นไปตามความต้องการของคนกลุ่มหนึ่ง ประชาชนไม่มีสิทธิที่จะมีตัวแทนเพื่อเข้าไปอยู่ในโครงสร้างเพื่อสร้างดุลยภาพ และสร้างความสมดุลในการจัดสรรคลื่นความถี่ ตรงนี้แสดงให้เห็นว่าประชาชนสูญเสียสิทธิเสรีภาพไปเรียบร้อยแล้ว" ดร.จิรพร กล่าว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญปี 2540 พยายามจะแก้สิ่งที่เป็นปัญหาในอดีต ซึ่งเกิดความไม่ชอบธรรมในการจัดสรรคลื่นความถี่ เพราะว่าเป็นการตัดสินใจจากองค์กรภาครัฐ ประชาชนไม่มีส่วนร่วม และการตัดสินใจนั้นก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้มีอำนาจ ทำให้เกิดการกระจุกตัวของการใช้คลื่น สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่สังคมไทยยอมรับไม่ได้ จึงเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญ 2540 อย่างไรก็ตาม ในอดีตเป็นการรวบอำนาจที่มีปัญหา แม้ว่าจะมีมากกว่า 1 องค์กร กล่าวคือ กรมไปรษณีย์และโทรเลข ดูแลเรื่องคลื่นความถี่ ส่วนกรมประชาสัมพันธ์ดูแลเรื่องเนื้อหาในการประกอบกิจการ ดังนั้นจะเห็นว่า ในอดีตก็มีอย่างน้อย 2 องค์กร ซึ่งคานอำนาจกันและกัน

"ความพยายามที่จะแก้ไขความเป็นธรรม และความไม่เป็นประชาธิปไตยในเรื่องของสื่อ อยู่ในเจตนารมณ์และข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ในร่างรัฐธรรมนูญ 2550 กลับบอกว่าให้มีองค์กรอิสระองค์กรเดียว ยิ่งเท่ากับว่าได้รวบกรมไปรษณีย์และโทรเลข และรวบหน้าที่ของกรมประชาสัมพันธ์ มาไว้เป็นหนึ่งเดียว ถ้าหากว่าองค์กรนี้ถูกแทรกแซงด้วยอำนาจรัฐและอำนาจทุน องค์กรนี้ก็จะกลายเป็นองค์กรผูกขาดที่ไม่มีเสียงค้านเลย และประชาชนก็จะต้องอยู่ภายใต้องค์กรนี้ซึ่งเป็นเพียงคนไม่กี่คน ก็มีความเสี่ยงต่อการอยู่ภายใต้อิทธิพลจากการแทรกแซงของการเมืองและธุรกิจได้ ตรงนี้ไม่สามารถให้หลักประกันเชิงโครงสร้างได้เลยว่าจะเป็นการปฏิรูปสื่อที่แท้จริง" ดร.จิรพร กล่าวย้ำ

การโหวตที่ไร้เสียงประชาชน

นางสาวปัณณพร ไพบูลย์วัฒนกิจ ผู้ประสานงานเครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือ กล่าวว่า ในสภามีการอภิปรายแปรญัตติในมาตรา 47 ไม่ถึง 2 ชั่วโมง ทั้งๆ ที่เป็นประเด็นเรื่ององค์กรทำหน้าที่ในการจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม อันเป็นผลประโยชน์มหาศาลของประเทศชาติ ก็รู้อยู่แล้วว่าสื่อมีอิทธิพล แต่ดูเหมือนว่ารัฐสภายังไม่เอาใจใส่ และมีการให้ข้อมูลเรื่องนี้น้อยมาก รีบและรวบรัด ว่าจะเอาหรือไม่เอาองค์กรอิสระองค์กรเพียงองค์กรเดียวหรือไม่

ทั้งนี้ แม้ว่า สสร.จะมาจาก 100 คน ทั่วประเทศ แต่คำถามคือ เป็นตัวแทนในการสื่อสารและการตัดสินใจให้กับประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน เพราะมองว่า สสร. แต่ละคนก็มีความชำนาญกันคนละด้าน มีน้อยคนที่จะเข้าใจและรู้เรื่ององค์กรอิสระด้านสื่อ ดังนั้นจึงมองว่า การเอาเสียงจาก สสร. 100 เสียง ลงความเห็นว่าเอาหรือไม่เอาองค์กรอิสระองค์กรหนึ่งหรือไม่ ยังไม่ใช่การขีดเส้นตายเสียทีเดียวของอนาคตของสื่อในเมืองไทยว่าจะเป็นอย่างไร

"หากแปรญัตติเป็นไปอย่างไม่รอบคอบ และรอบด้าน มีการรีบโหวตคะแนนเสียงเรื่ององค์กรอิสระองค์กรหนึ่ง ในมาตรา 47 ท่ามกลางความสับสนงุนงงภายในรัฐสภา การเอาเสียงข้างมากลากไป จะนำไปสู่ปัญหา อาจมีการเอาเป็นพรรคพวก หรือล็อบบี้ โดยที่ไม่ได้มาจากหลักการและเหตุผลที่มีผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง จะทำลายอนาคตของชาติได้อย่างแน่นอน" นางสาวปัณณพร กล่าว

นางสาวปัณณพร กล่าวต่อว่า ถ้าหากรัฐธรรมนูญ 2550 ยังมีคำว่าองค์กรหนึ่ง ในมาตรา 47 วรรคสอง ยังไม่ได้แก้ไขตามที่ประชาชนเสนอไป รัฐธรรมนูญต้องฟังเสียงของประชาชน และหน้าที่ของ สสร. คือการเอาเสียงของประชาชนมาพูดในสภา เพื่อให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญตามเสียงของประชาชน แต่ดูเหมือนมีการผิดขั้นตอน กล่าวคือ สสร.มีการอภิปรายและพิจารณากันเอง ใช้เสียงข้างมากตัดสินใจ แล้วไปจบที่รัฐสภา ไม่ได้จบที่ประชาชน ถ้าเป็นอย่างนี้จะมีกระบวนการรับฟังเสียงประชาชนไปทำไม กระบวนการร่วมคิด ร่วมสร้างรัฐธรรมนูญ เป็นของ สสร. อย่างนั้นหรือ แต่ประชาชนไม่ได้มีมีส่วนร่วมจริง

"ต้องตีความให้แตกว่ากระบวนการมีส่วนร่วมนั้น ประชาชนมีส่วนร่วมจริงหรือไม่ ถ้าหากประชาชนไม่ยอมรับประชามติ หรือคว่ำรัฐธรรมนูญ 2550 ก็คงต้องย้อนถามว่า ที่ผ่านมานั้นประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดมาตราต่างๆ ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ จึงทำให้ประชาชนไม่ลงประชามติรับรอง หรือเป็นเพียงแค่ความต้องการจาก สสร. กลุ่มเดียวที่มาจากการแต่งตั้งโดย คมช. ซึ่งถูกครหาว่าไม่มีความเป็นประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งของประชาชนอยู่แล้ว" นางสาวปัณณพรกล่าว

สื่อภาคประชาชนเลิกหวังรัฐธรรมนูญ 50

นางสาวปัณณพร กล่าวว่า ตอนนี้ประชาชนไม่อาจหวังพึ่งรัฐธรรมนูญแล้ว แต่มองไกลกว่านั้นคือจะทำอย่างไรให้สิทธิเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชนมีมากขึ้น เพราะตอนนี้ไม่จำเป็นว่าจะมีกฎหมายมาคุ้มครองรองรับ เพราะแม้ว่าที่ผ่านมา วิทยุชุมชน หรือสื่อภาคประชาชน จะมีกฎหมายรองรับ แต่รัฐบาลก็ไม่เคยนำมาใช้อย่างจริงจัง เช่น รัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 40 รวมทั้ง พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.. 2543 ซึ่งรัฐไม่สามารถดำเนินการจัดสรรคลื่นความถี่ให้กับประชาชนได้ เพราะรอการจัดตั้ง กสช. ดังนั้นประชาชนก็คิดกันว่า ควรจะรับรองสิทธิและสถานภาพ มีการคุ้มครอง ปกป้องสิทธิกันเองมากกว่าจะไปฝากชีวิตเรื่องสิทธิและเสรีภาพไว้กับรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว

"การมีกฎหมายรองรับเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นเรื่องดี แต่กระบวนการในการร่างกฎหมายหรือกติกาของสังคมร่วมกันนั้น ตอนนี้ประชาชนโดยส่วนใหญ่อยู่ในฐานะเป็นผู้รับฟัง แม้จะมีการรับฟังเสียงจากประชาชน แต่เอาเข้าจริงก็ไม่เคยนำเสียงประชาชนไปปฏิบัติ รัฐบาล หรือกลุ่มผู้มีอำนาจในสังคม ไม่เคยจริงใจ และใส่ใจฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง เป็นเพียงการสร้างความหวังให้กับประชาชนไม่รู้กี่รอบแล้ว" นางสาวปัณณพร กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน ดร.จิรพร กล่าวทิ้งท้ายว่า ตอนนี้การปฏิรูปสื่อไทยมาถึงจุดที่ท้าทายมาก ว่าภาคประชาสังคมโดยตรงว่าจะมีส่วนร่วมในการปฏิรูปสื่ออย่างไร จะปล่อยให้ สสร. หรือนักกฎหมายจำนวนหนึ่งร่างไปแล้วเราก็ยอมรับ หรือเราจะเข้าไปมีสิทธิ์มีเสียงในการที่จะกำหนดเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพด้านสื่ออย่างไร เพราะตอนนี้เหมือนกับว่าสิ่งที่เราทำกันมาหลายขั้นตอน และหลายปี แล้วอยู่ๆ วันหนึ่ง คณะ สสร.ก็มาบอกว่า เสียงส่วนใหญ่บอกว่ามีองค์กรอิสระองค์กรเดียวแล้วเราก็ยอมรับโดยที่ไม่พยายามที่จะชี้แจงหรือพยายามผลักดันให้เห็นว่าความต้องการของภาคประชาชนจริงๆ นั้นคืออะไร

"ตอนนี้เกมการเมือง เหมือนกับบีบให้ภาคประชาชนรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในกระบวนการประชาธิปไตย แต่แท้ที่จริงแล้ว เราอยู่ในกระบวนการประชาธิปไตยที่ไม่ถูกต้อง เป็นกระบวนการประชาธิปไตยเทียม เพราะทุกอย่างมีความพยายามที่จะทำให้เกิดความถดถอยของการปฏิรูปสื่อที่ชัดเจนมาก ตั้งแต่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การพยายามที่จะแก้กฎหมาย พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ การประชุมรณรงค์เรื่องแผนแม่บท ซึ่งเป็นการเปลี่ยนให้การปฏิรูปสื่อนั้นถอยหลังกลับไปสู่อำนาจรัฐตามเดิม ตรงนี้จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมากว่า เราจะยอมจำนน หรือจะยืนหยัดต่อสู้ในสิทธิเสรีภาพด้านสื่อของประชาชน" ดร.จิรพร กล่าวทิ้งท้าย

แม้การแปรญัตติในรายมาตราต่างๆ ในร่างรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย 2550 ฉบับรับฟังความคิดเห็น ซึ่งมีเจตนารมณ์การมีส่วนร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ ของประชาชน จะยังไม่แล้วเสร็จ แต่ผลโหวตของ สสร. ในมาตราที่เกี่ยวกับสื่อกลับออกมาแบบเบี้ยวๆ ไม่เป็นไปตามข้อเสนอของประชาชน หรือนี่เป็นเพราะว่าเสียงประชาชนยังดังไม่พอที่จะทำให้ร่างทรงทางความคิดทำงานให้กับประชาชนได้จริง.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท