Skip to main content
sharethis



ปัญหาตึกสูงในเมืองเชียงใหม่ยังเป็นปัญหาคาราคาซังที่ฝ่ายประชาชนเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง   ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ฝ่ายประชาชนในเมืองเชียงใหม่โดยเฉพาะในเขตตำบลสุเทพที่มีอาคารสูงขึ้นอย่างหนาแน่นได้พยายามผลักดันให้ อบต.สุเทพ ร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลสุเทพ ฉบับที่.... พ.ศ.2550มีการกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง  ดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิด หรือบางประเภทในตำบลสุเทพ  จนกระทั่งนำไปสู่การเปิดเวทีรับฟังความเห็นเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2550  และความคิดเห็นของประชาชนดังกล่าวยังจะนำไปสู่การพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมเข้าสู่ พ.ร.บ.ผังเมืองรวมเชียงใหม่เพื่อยกร่างกฎหมายผังเมือง และข้อบัญญัติตำบลออกมาบังคับใช้ในพื้นที่ต่อไป


 


ดันข้อบัญญัติตำบลควบคุมอาคารสูง


 


นายธัญศักดิ์  แสงศรีจันทร์ ปลัด อบต.สุเทพ กล่าวว่าการผลักดันข้อบัญญัติควบคุมอาคารสูงของตำบลสุเทพมาจากการผลักดันของประชาชน  แต่เนื่องจากการออกข้อบัญญัติดังกล่าวกระทบสิทธิของบุคคลหลายฝ่ายทั้งผู้ประกอบการ เจ้าของที่ดิน   และการที่ อบต. จะทำการออกข้อบัญญัติใดๆ ก็ตาม ถ้าหากว่าขัดกับกฎหมายแม่บท ก็ไม่ได้เป็นอำนาจของ อบต. แล้ว เพราะต้องผ่านคณะกรรมการจังหวัด แล้วส่งเรื่องต่อไปดำเนินการให้คณะกรรมการส่วนกลางของกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นชอบการออกข้อบัญญัติตำบลอีกที


 


ทั้งนี้ นายธัญศักดิ์ ชี้แจงเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่ถือเป็นปัญหาของกระบวนการออกข้อบัญญัติตำบลว่า หากเป็นกฎหมายปกติทั่วไป ก็เป็นอำนาจของ อบต. สามารถที่จะออกข้อบัญญัติ และบังคับใช้ได้เลย แต่ร่างข้อบัญญัติตำบลที่กำลังทำการเสนอกันอยู่เป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ไม่ได้มาจากรากฐานวัฒนธรรมประเพณี หรือศาสนา แต่กฎหมายฉบับนี้ โดยทั่วไปแล้วเป็นกฎหมายรอนสิทธิ กล่าวคือ กรรมสิทธิ์ในผืนที่ดินของบุคคล ไม่ว่าจะอยู่ใต้ดินหรือสูงขึ้นไปในอากาศถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์ เพราะฉะนั้นตรงนี้เองที่บุคคลสามารถที่จะทำอะไรก็ได้ ไม่ว่าใต้ดินหรือบนอากาศ ถ้ากฎหมายไม่ได้ห้ามเอาไว้


 


"การสร้างอาคารสูงได้ไปบดบังภูมิทัศน์  เมื่อประชาชนเห็นว่าไม่ไหวแล้ว จึงสามารถขอร่างกฎหมายขึ้นมาเพื่อจะได้นำมาขัดเกลาตามความคิดเห็นของประชาชนทำให้ออกมาเป็นข้อบัญญัติตำบลต่อไป" นายธัญศักดิ์ ชี้แจง


 


ด้าน รศ.ดร. ธเนศวร์ เจริญเมือง ภาควิชาการเมืองการปกครองท้องถิ่น คณะรัฐศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวว่าหลายท่านได้พูดแล้วถึงความเดือดร้อนที่ต้องเผชิญอยู่ เวลานี้มีพี่น้องประชาชนจำนวนหนึ่งเดือดร้อน สถานที่ที่กำลังก่อสร้างอยู่ก็มีเรื่องเดือดร้อนขึ้น ก็เป็นปัญหา นอกจากนี้ข้อบัญญัติที่จะเกิดขึ้นนั้น คำถามคือ ต่อไปใครจะเป็นคนดูแล ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ เพราะฉะนั้น วิธีการจัดการของ อบต. สุเทพคือเมื่อหมู่บ้านแต่ละหมู่บ้านมีการเลือกสมาชิกสภา อบต. หมู่บ้านละ 2 คน เข้าไปอยู่ในสภา  แต่ละหมู่บ้านจะตกลงกันเลยว่าต้องมีตัวแทนหมู่บ้านละ 1 คน เป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุมกับสภา ถ้าใครไม่ไปปรับ 200 บาท เอาเงินเข้ากองกลางการพัฒนา เป็นต้น ซึ่งจะทำให้สามารถติดตามการทำงานได้จริง


 


รศ.ดร. ธเนศวร์ กล่าวต่อว่าการผลักดันข้อบัญญัติตำบลนั้นฝ่ายประชาชนเป็นผู้เรียกร้องให้ฝ่ายบริหารเป็นคนจัดเวทีรับฟังความเห็น  เพราะฉะนั้นวิธีการควบคุมการดำเนินงานของฝ่ายบริหาร ต้องนำเข้าสู่สภา การร่างข้อบัญญัตินี้หวังว่าจะเป็นก้าวที่เราจะมีข้อบัญญัติอื่นๆ ต่อไปอีก   ถ้า อบต. ของเราเข้มแข็ง พี่น้องประชาชนก็เข้มแข็ง


 


นอกจากนี้ รศ.ดร. ธเนศวร์ มีข้อเสนอต่อแนวทางการยกร่างข้อบัญญัติตำบลสุเทพ ดังนี้คือ 1. ข้อบัญญัตินี้ต้องออกเร็วๆ โดยวิธีการรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนในเวทีเพื่อเข้าสู่สภาตำบลโดยเร็ว


 


2. เรื่องการตรวจสอบ ตามที่ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นไปนั้น มีหอพัก และอาคารต่างๆ เกิดขึ้นไปแล้ว เราจะทำอย่างไร บางอย่างที่ทำแล้วไปแล้วต้องทำการแก้ไขปรับปรุงตามที่มีประชาชนเสนอ เช่น สถานที่ที่สร้างกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ มีปัญหาน้ำ ส่งเสียงดังรบกวนตอนกลางคืน หรือทำธุรกิจอะไรบางอย่างซึ่งไม่สมควร ต้องทำการแก้ไข


 


นอกจากนี้ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ตนมีข้อสังเกตประการหนึ่งเกี่ยวกับแนวทางการตรวจสอบ ซึ่งจะไม่นำไปสู่การดำเนินการตรวจสอบ หากไม่มีประชาชนร้องเรียนปัญหา ดังนั้นจึงขอเสนอวิธีแก้ปัญหาดังกล่าวคือ 1. ต้องทำให้สภา อบต. เปิดการประชุมโดยเชิญพี่น้องประชาชนเข้าร่วมด้วย 2. เป็นไปได้หรือไม่ว่า ที่จะมีการประชุมแบบนี้เป็นประจำ เช่น อาจจะเดือนละครั้ง หรือ 2 เดือนต่อ 1 ครั้ง หรือ 3 เดือนต่อ 1 ครั้ง เป็นต้น โดยมีการประชุมพบปะกันระหว่างฝ่ายบริหารกับพี่น้องประชาชน หากพี่น้องประชาชนมีความเดือดร้อน ปัญหา หรือมีคำถามอยากรู้ว่าจะแก้ไขอย่างไร ก็ให้มาถามในวันประชุมนี้ซึ่งมีทั้ง นายก อบต. และ ปลัด อบต. อยู่ด้วย


 


"อบต.สุเทพ ของเราจะเริ่มต้นการสร้างประชาธิปไตยแบบประชาชนมีส่วนร่วมแบบใหม่ ด้วยการมีรายการฝ่ายบริหารพบประชาชน จะเป็นเดือนละครั้ง 2 เดือนต่อ 1 ครั้ง ในแต่ละเป็นหมู่บ้าน หรือรวมกลุ่มหมู่บ้านมาประชุมเป็นครั้งๆ ไป แล้วหาสถานที่ในการเตรียมการจดประชุมพบปะพูดคุยกัน แล้วก็จะได้เสนอได้ว่าปัญหาต่างๆ ที่เสนอไปแล้วนั้นได้รับการแก้ไขอย่างไรบ้าง หรือที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขนั้นมีปัญหาอุปสรรคอะไร ทำไมถึงยังไม่แก้ แล้วฝ่ายประชาชนและฝ่ายบริหารก็นัดกันไปดูสภาพปัญหาที่ประชาชนร้องเรียนมาในสถานที่จริงเลยว่าเกิดอะไรขึ้น เป็นต้น" รศ.ดร. ธเนศวร์ กล่าว 


 


เร่งออกกฎคุมเข้มอาคารสูงยังไม่สาย


 


ประชาชนผู้อยู่อาศัยบ้านแดนตะวัน หมู่ 8 ซ.วัดอุโมงค์ รายหนึ่ง กล่าวว่า ตนย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่ซอยวัดอุโมงค์ หมู่ที่ 8 ตั้งแต่ปี 2518 ซึ่งเห็นว่าอันที่จริงข้อบัญญัติตำบล เรื่อง การควบคุมอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ ควรมีมาตั้งแต่เมื่อ 6 ปีที่ผ่านมาแล้ว เพราะแต่เดิมพื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่น่าอยู่ มีความรื่นรมย์ แต่ขณะนี้ชาวบ้านที่อยู่อาศัยเดิมต่างได้รับเดือดร้อนกันไปหมด อย่างไรก็ตาม การทีเรามาร่วมผลักดันให้มีการออกข้อบัญญัติตำบลครั้งนี้ แม้ว่าจะช้าไปสักนิด แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย


 


"ผมคิดว่าชาวบ้าน 95% ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างอาคารสูง เพราะคนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ที่นี่เป็นคนมาอยู่ดั้งเดิม ชอบความสงบ ไม่ชอบความวุ่นวาย แต่ในขณะเดียวกันคนที่เข้ามาสร้างอาคารสูงส่วนใหญ่ 95% ผมเชื่อว่าไม่ได้เป็นคนในท้องถิ่น นอกจากนี้เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายคนก็ไม่ได้เป็นคนท้องถิ่น ซึ่งไม่ได้ทราบความคิดความเห็นของประชาชน จึงมีการอนุมัติการก่อสร้างไปจนก่อความเดือดร้อนขนาดนี้ เพราะฉะนั้นมันเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ด้วยว่าทำอะไรไปโดยชอบธรรมหรือไม่" แหล่งข่าวรายเดิม กล่าว


 


ทั้งนี้ แหล่งข่าวรายเดิม กล่าวเสริมว่า อันที่จริงมีกฎหมายสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ในเรื่องการก่อสร้างอาคารสูงเกิน 4 ชั้น ระบุว่า ผู้มีอำนาจในการให้อนุมัติก่อสร้าง ต้องออกหนังสือแจ้งให้ผู้อยู่อาศัยข้างเคียงได้รับทราบก่อน ว่าจะให้ความยินยอมในการก่อสร้างหรือไม่  ไม่ใช่ว่ามีการอนุมัติไปโดยไม่บอกอะไร แล้วมาสร้างความเดือดร้อนทีหลัง เพราะฉะนั้น เราในฐานะประชาชน ต้องช่วยตรวจสอบดูว่าเจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้อนุมัติให้ก่อสร้างทั้งในส่วน อบต. และ กองบิน ซึ่งเป็นข้าราชการนั้นทำหน้าที่โดยชอบหรือไม่


 


"อันที่จริงผมคิดว่าควรกำหนดให้อาคารมีความสูงไม่เกิน 12 เมตร โดยเฉพาะพื้นที่โซนที่ 1 ควรแบ่งออกเป็น 2 ส่วน กล่าวคือ โซนเด็ดขาดห้ามมีอาคารสูง ส่วนบริเวณอื่นนอกจากนี้ ก็ห้ามสูงเกิน 12 เมตร นอกจากนี้ควรมีคณะกรรมการเข้ามาตรวจสอบการก่อสร้างอย่างละเอียดด้วยว่าถูกต้องหรือไม่ ทั้งย้อนหลัง ที่กำลังสร้าง และที่จะสร้างในอนาคต พร้อมกับเชิญประชาชนเข้าร่วมตรวจสอบด้วย การก่อสร้างอาคารต้องดูแบบด้วยว่าประชาชนเดือดร้อนหรือไม่ มีความปลอดภัยหรือไม่ อย่าอนุมัติแบบมั่วๆ ไม่อย่างนั้นคนที่อนุมัติจะโดนเสียเอง" แหล่งข่าวรายเดิมกล่าว


 


วันนี้ ภาคประชาชนมีเจตนารมย์พร้อมเพรียงออกมาเรียกร้องให้อาคารที่ชักจะสูงเสียดฟ้า ลดต่ำลงมาอีกหน่อย จะได้ไม่สร้างปัญหาและผลกระทบไปมากกว่านี้ เพื่อให้ชุมชนน่าอยู่ พลังประชาชนที่เข้มแข็ง บวกกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ทำหน้าที่เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง เชื่อว่าการผลักดันร่างข้อบัญญัตินี้จะบรรลุผลสำเร็จได้.


 


ทิพย์อักษร มันปาติ


สำนักข่าวประชาธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net