ยังมีอีก...หลายศพ หลายชีวิตต้องคิดถึง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ








มุมคิดจากนักเรียนน้อย เป็นผลงานภาคปฏิบัติในชั้นเรียนของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่ส่งมาให้ประชาไทพิจารณานำเผยแพร่ เยาวชนที่สนใจสามารถส่งผลงานมาได้ที่ netcord@prachatai.com

 

 


นพพล  อาชามาส

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

           

 

19 พ.ค.2549 กำลังตำรวจและทหารเข้าปิดล้อมและตรวจค้นพื้นที่บ้านกูจิงลือปะ เพื่อค้นหาผู้ต้องสงสัยคดีซุ่มยิงทหารเสียชีวิต และจับผู้ต้องหาไป 2 คน แต่หลังจากเจ้าหน้าที่ถอนกำลังไป มีการปลุกระดมชาวบ้านให้มาชุมนุมกันหน้าโรงเรียนกูจิงลือปะ และเกิดการจับตัวครู 2 คน คือครูจูหลิง ปงกันมูล และครูศินีนาฎ ถาวรสุข ไปขังไว้ในห้องเก็บของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หลังจากนั้นมีชายคลุมหน้าจำนวนหนึ่งเข้ามาในห้องแล้วใช้ไม้ทุบตีครูทั้งสองจนบาดเจ็บ โดยครูจูหลิงบาดเจ็บสาหัสจนสลบ และต้องนอนไม่รู้สึกตัวอยู่ในโรงพยาบาลกว่า 8 เดือน  จนกระทั่งเมื่อวันที่ 8 ม.ค.2550 ครูจูหลิงก็เสียชีวิตลง ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ด้วยภาวะปอดอักเสบติดเชื้ออย่างรุนแรง

 

กรณีครูจูหลิงได้รับความสนใจและติดตามจากสื่อมวลชนและสังคมอย่างสูง อาจเพราะกรณีนี้เป็นตัวแทนของการสูญเสีย มีลักษณะเป็นสัญลักษณ์ที่น่าสะเทือนใจจากความรุนแรง ผู้เสียชีวิตเป็นครู เป็นผู้หญิง เป็นชาวพุทธ เป็นคนต่างถิ่นที่ตกเป็นเหยื่อของเหตุการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงการที่สถาบันต่างๆ ให้ความสนใจ เข้ามาช่วยเหลือ ให้การอุปถัมภ์ อย่างไรก็ตามกรณีครูจูหลิงนั้นเป็นเพียงกรณีหนึ่งในหลายเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในพื้นที่ เป็นหนึ่งชีวิตในหลายพันชีวิตที่ต้องสูญเสียสังเวยให้กับความไม่สงบ  ยังมีผู้คนอีกหลายชีวิตที่บาดเจ็บ ล้มตายไม่เว้นวัน และถูกลืมเลือนจากสังคมในเวลาไม่นาน หรือแม้กระทั่งไม่เคยถูกจดจำ

 

3 ปีที่ผ่านไป เหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกำลังค่อย ๆ กลายเป็นความเคยชิน ข่าวการตายที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ถูกแทนที่ด้วยคำที่มีความหมายเพียงสถานการณ์อย่างเดียว เช่น "ไฟใต้เดือด..." "โจรใต้ฆ่าวันเดียว 5 ศพ" "ระเบิดร้านน้ำชา..." ฯลฯ จนดูราวกับว่าชีวิตผู้คนที่บาดเจ็บ ล้มตายนั้น ไร้คุณค่าไปเสียสิ้น พื้นที่การรับรู้ข่าวเรื่องชีวิต ความรู้สึกของชาวบ้าน การช่วยเหลือ ข้อเรียกร้องต่างๆ ในพื้นที่ ถูกแทนที่ด้วยรายงานสถานการณ์ไปเสียหมด เช่น มีการฆ่ากันที่นั่น ระเบิดเกิดที่นี่ มีคนตายกี่คน เป็นต้น และในท้ายที่สุดความรุนแรงนั้นกำลังจะกลายเป็นเรื่องปกติ เรื่องธรรมดา ที่เกิดขึ้นจนคนชาชิน ไม่รู้สึกรู้สากับการตาย ราวกับชีวิตมนุษย์ไร้ค่าโดยสิ้นเชิง

 

เหตุการณ์ครูจูหลิง แม้จะน่าสะเทือนใจและสะท้อนความรุนแรงในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี แต่ก็ยังมีชีวิตและผู้สูญเสียอีกจำนวนมากที่ต้องการความช่วยเหลือ ต้องการความเข้าใจ และต้องการความเป็นธรรม แต่กลับไม่ได้รับการใส่ใจ  มีทั้งฝ่ายรัฐ  ชาวบ้านบริสุทธิ์ หรือฝ่ายที่ถูกเรียกเป็น "โจร" ต่างก็บาดเจ็บ ล้มตาย สูญเสียไม่ต่างกัน แต่กลับไม่ได้ถูกรับรู้ในพื้นที่สื่อและสังคมอย่างเท่าเทียม เช่น เสียงชาวไทยมุสลิมที่พูดภาษามลายู ดูจะไม่ได้รับการนำเสนอในสื่อเท่าที่ควร  สื่อจึงจำเป็นต้องนำเสนอข่าวในมิติที่รอบด้าน เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ระวังการเสนอข่าวที่ไปส่งเสริมโครงสร้างความรุนแรง คำนึงถึงความรู้สึกของผู้สูญเสียทุกฝ่ายให้มากขึ้น และสังคมเอง แม้จะต้องระลึกถึง และคารวะคนอย่างครูจูหลิง แต่การยกชูเหตุการณ์ใดเหตุการณ์เดียว โดยหลงลืมเหตุการณ์อื่น ชีวิตอื่น ที่ต่างยังต้องการความเป็นธรรมอีกมาก คงไม่สามารถทำให้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นสิ้นสุดลงไปได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท