อำนาจภาคประชาชน กับ "ประชาธิปไตยที่กินได้"

ระหว่างที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 24  พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์  กำลังแต่งตั้งรัฐมนตรีขึ้นมาบริหารประเทศชั่วคราวอยู่นี้  ก็ปรากฏกระแสข่าวในวงสื่อมวลชนว่ารัฐบาลชุดดังกล่าวเสนอทาบทามบุคคล ซึ่งมีส่วนเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของบรรษัทธุรกิจการเกษตรส่งออกขนาดยักษ์  และกลุ่มบุคคลที่เคยรับใช้ระบอบทักษิณมาเป็นรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงต่างประเทศ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม    เครือข่ายต้านการค้าเสรี 10 เครือข่ายจึงได้แถลงคัดค้านการกระทำดังกล่าวเพราะขัดกับแนวเศรษฐกิจพอเพียงที่รัฐบาลใหม่ประกาศว่าจะยึดเป็นแนวทางอย่างสิ้นเชิง 

 

ด้วยเหตุนี้ทำให้สงสัยในจุดยืนของรัฐบาลชุดใหม่นี้เป็นอย่างยิ่งว่าสุดท้ายจะเข้าอีหรอบเดิมหรือไม่ คือละเลยประชาชน เฉพาะอย่างยิ่งคนจน  ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ    อ.ชัชวาล ปุญปัน ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน แสดงความเห็นต่อปรากฏการณ์ที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ อ.ชัชวาล ยังสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนด้วยว่า พลังที่สำคัญในการปฏิรูปอย่างแท้จริง ก็คือ "พลังของประชาชน" นั่นเอง

 

อาจารย์มีความเห็นต่อสถานการณ์ในขณะนี้อย่างไร รวมถึงการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย

 

ผมคิดว่าแม้ว่าจะกำลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ก็พบว่า คปค.ยังคงมีอำนาจอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ ซึ่งไม่ได้ยกเลิกอำนาจ คปค. ออกไป ในขณะเดียวกันก็มี คมค. คณะมนตรีความมั่นคงขึ้นมาดูแลแทน ซึ่งนักกฎหมายก็พูดกันว่า ไม่มีข้อไหนในรัฐธรรมนูญที่จะยุบ คปค. คือจริงๆ คปค. ไม่ได้สลายไปไหน ยังคงมีอำนาจครอบงำอยู่

 

ทั้งนี้อาจมองได้ว่า เป็นความปรารถนาดีของ คปค.ที่เข้ามายึดอำนาจ แต่เราหวังว่าจะอยู่ไม่นาน แต่ในขณะเดียวกันในการร่างรัฐธรรมนูญ กลับยังคงให้อำนาจ คปค.อยู่ คล้ายกับมาตรา 17 (ในอดีตสมัยที่มีรัฐบาลเผด็จการ) ซึ่งอยู่ในมาตรา 37 ที่กล่าวว่า "ประกาศหรือคำสั่งใดที่มีขึ้นก่อนและหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญยังใช้ได้อยู่" นั่นก็หมายความว่า แม้จะมีรัฐบาลใหม่แล้วก็ตามแต่คำสั่งใดๆ ที่มาจาก คปค. และกำลังจะเปลี่ยนเป็นคณะมนตรีความมั่นคงนี้ ก็ยังสามารถออกคำสั่งหรือออกประกาศได้อีกโดยชอบตามรัฐธรรมนูญอย่างนี้เป็นต้น จึงน่าเป็นห่วงทีเดียวว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อรัฐธรรมนูญเขียนเปิดช่องไว้อย่างนี้ พวกเราก็น่าจะต้องช่วยกันจับตามองด้วย "เพราะแผ่นดินนี้เป็นของเราทุกคน ไม่ใช่อำนาจของใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น"

 

นอกจากนี้ โดยส่วนตัวแล้ว ผมก็ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิก ล้มล้างรัฐธรรมนูญปี 40 เพราะอย่างที่เรารู้กันว่าไม่ใช่ว่าการปฏิวัติทุกครั้งจะต้องฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง ผมจึงคิดว่าลึกๆ แล้วชนชั้นนำของไทยเราไม่ค่อยชอบรัฐธรรมนูญปี 40 นี้เท่าไรนัก ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิมีเสียง มีองค์กรอิสระค่อยทำหน้าที่ตรวจสอบได้ อีกทั้งนักกฎหมายที่เข้ามาแก้รัฐธรรมนูญหรือเข้ามาเป็นที่ปรึกษานี้ ต่างก็เป็นนักกฎหมายที่เขียนให้รัฐบาลเผด็จการมาโดยตลอด ฉะนั้นมันสะท้อนให้เห็นว่าลึกๆ แล้วชนชั้นนำก็ไม่ชอบรัฐธรรมนูญฉบับปี 40

 

แล้วภาคประชาชนควรจะเคลื่อนขบวนกันต่อไปอย่างไร ถ้าพึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้

ผมจึงคิดว่ามันเป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะต้องสู้ เพื่อให้มีสิทธิมีเสียง โดยเฉพาะประชาชนที่ด้อยโอกาส และไม่มีพื้นที่ทางสังคม ซึ่งผมคิดว่าประชาชนจะต้องไม่รออัศวินขี่ม้าขาว อัศวินควายดำ หรืออัศวินคปค. ก็ดี เราไม่ควรไว้ใจแต่เราต้องดำเนินการเลย ก็คืออยากผลักดันเรื่องอะไรก็ทำเลย เช่น การปฏิรูปที่ดิน กฎหมายเรื่องภาษี หรือโครงการขนาดใหญ่ที่มันมีผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ เราจะอยู่เฉยไม่ได้ ต้องลุกขึ้นมาปฏิบัติ ก็เหมือนกับยุคพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีประเด็นเรื่องเขื่อนปากมูล ท่อก๊าซเมืองกาญจน์ ก็ไม่เคยเห็นหัวคนจนเหมือนกัน

 

กระทั่งมาสมัยนายกฯทักษิณ ที่ทำท่าว่าจะดีในช่วงแรกๆ ไปกินข้าวกับสมัชชาคนจน แต่ตอนหลังมาก็ไล่ขึ้นรถไปอย่างไม่สนใจเลย จากประสบการณ์เหล่านี้ ภาคประชาชนต้องเรียนรู้ การเปลี่ยนแปลงจึงต้องไม่รออำนาจตรงนี้มาช่วย ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้

 

ภาคประชาชนก็ต่อสู้ ขับเคลื่อนประเด็นกันมาตลอดอยู่แล้ว เป็นระยะเวลาที่ยาวนานเช่นกัน

แต่หลายประเด็นกลับไม่เป็นผลนัก อาจารย์คิดว่าอะไรเป็นอุปสรรค

 

ปัญหาคือ ในยุคทักษิณ เราไม่มีพื้นที่ทางสื่อเลยนะ ถูกยึดไปหมดเลย แม้กระทั่งพื้นที่สื่อของชนชั้นกลางก็ยังถูกยึดไปเลย เช่นกรณีของคุณสนธิ รายการถูกปลดออกซึ่งเป็นของชนชั้นกลางโดยแท้เลย ฉะนั้นยิ่งไม่ต้องพูดถึง คนยากจนหรือคนที่สูญเสียโอกาสยิ่งไม่มี ไม่มีเวทีผลักดันเรื่องเหล่านี้เลย

 

ผมเสนอว่าจะทำอย่างไรให้พื้นที่เหล่านี้เปิด อาจมีเวทีสาธารณะ การระดมญัตติสาธารณะให้เกิดขึ้นให้ได้ อาจทำเป็นข้อเรียกร้องจากพลังร่วมกันในการเรียกร้อง เช่น ว่าด้วยเรื่องพลังงาน ซึ่งแต่เดิมที่รัฐสร้างตัวเลขความต้องการพลังงานขึ้นมาแล้วมาสร้างเขื่อน สร้างท่อก๊าซ สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ส่งผลกระทบให้ประชาชน ทำให้ชาวบ้านเสียเปรียบ ซึ่งจริงๆ รัฐจะทำอย่างนั้นไม่ได้ มันยุ่งไปหมด เราก็เห็นมาในรัฐบาลเกือบทุกยุคแล้ว

 

การปฏิรูปสื่อนี้จึงถือเป็นหัวใจอย่างหนึ่งเลยทีเดียว เพราะว่าเมื่อไรก็ตามที่เรามีพื้นที่สื่อที่มีจรรยาบรรณ  ซึ่งเราก็ไม่สามารถจะเรียกร้องทุกทีไป ก็คงไม่ไหว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อโทรทัศน์ที่เป็นสื่อที่เซ็นเซอร์ตัวเองมากที่สุด ตราบใดที่ยังคงเซ็นเซอร์ตัวเองอยู่ ยังไม่ทันมีอำนาจอะไรมากมายก็รีบตีกรอบของตัวเองแล้ว ผมจึงคิดว่าสื่อโทรทัศน์ไม่ใช่เป็นสื่อแท้ แต่เป็นสื่อเทียม ที่ดูเหมือนจะเป็นสื่อประชาธิปไตยแต่ไม่ใช่ มันเป็นตัวแทนของคนเพียงกลุ่มน้อย ไม่ใช่ของคนกลุ่มใหญ่ในประเทศที่เสียเปรียบ

 

อะไรคือทางออก หรือข้อเสนอแนะต่อปัญหานี้ค่ะ

 

เราต้องหาทางสร้างสื่อ ที่ประชาชนเข้าถึงได้ จึงเสนอว่าสื่อน่าจะสร้างเครือข่ายร่วมกันจะได้มีพลังมากขึ้น และนำเสนอที่ไม่ใช่จากจุดใดจุดหนึ่ง เพียงจุดเดียว อำเภอใดอำเภอเดียวที่มีปัญหาเรื่องที่ดิน การบุกรุกที่ดิน แต่นำเสนอปัญหาโดยเชื่อมเครือข่ายทั่วประเทศให้ได้ด้วย เช่น กลุ่มที่ปัญหาถ่านหินที่แม่เมาะ ก็จะเชื่อมกับที่เวียงแหง จ.เชียงใหม่ รวมถึงเชื่อมโยงกับกลุ่มบ่อนอกบ้านกรูดที่ต่อสู้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินด้วย ผมคิดว่าต้องเชื่อมโยงกัน นโยบายส่วนบนก็ต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชน ประชาชนก็ต้องเคลื่อนไหวต่อสู้ ผลักตัวเองขึ้นไป สิ่งนี้มันรอไม่ได้

 

ไม่เพียงแค่นี้ ผมทราบมาว่ามีนักวิชาการท่านหนึ่งที่ศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายไทย พบว่ากฎหมายไทยกว่า 1 พันฉบับ ทั้งหมดเอื้อประโยชน์ต่อคนมั่งมี คนรวยเกือบทั้งหมด มีเพียงแค่ 10 กว่าฉบับเท่านั้นเองที่พูดถึงคนด้อยโอกาส เอาเฉพาะกฎหมายมันก็ไม่เป็นธรรมแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่ผลักขึ้นไปไม่แสดงจุดยืน ไม่รวมพลังกันก็คงยากมากเลยในประเด็นด้านกฎหมาย แล้วผมคิดว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ดีอันหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลยังไม่เข้มแข็งและต้องฟังประชาชน ทุกภาคส่วน ช่วงนี้คิดว่าภาคประชาชนต้องเสนอญัตติขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นด้านพลังงาน เรื่องชนเผ่า-กลุ่มชาติพันธุ์ การแย่งชิงพื้นที่ (ทรัพยากร) การปฏิรูปที่ดิน กฎหมายภาษี และอื่นๆ เป็นต้น

 

ทั้งนี้โดยกลุ่มนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน รวมทั้งตัวผมเองด้วยเห็นพ้องต้องกันว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่น่าจะอยู่นาน คณะรัฐมนตรีชุดนี้มีหน้าที่เพียงอย่างเดียว คือ การจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริต ยุติธรรม ไม่ได้มีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อคนทั้งประเทศเลือกตั้งคนเข้ามาดำรงตำแหน่ง คณะรัฐมนตรีชุดใหม่นี้จึงจะมีความชอบธรรมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการร่างรัฐธรรมนูญก็เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปทางการเมือง

 

พอหันมาพูดถึงการยอมรับ ที่ไม่ใช่เพียงมาจากประชาชนเท่านั้น แต่หมายรวมถึงในเวทีของนานาชาติด้วย ส่งผลให้นโยบายต่างประเทศของไทยต้องปรับเปลี่ยนด้วยหรือไม่ เช่น การเดินหน้าเอฟทีเอกับสหรัฐ

 

มันมีการตั้งคำถามอย่างนี้เช่นกัน นโยบายที่ทำกับต่างประเทศควรจะยืนไว้เพื่อไม่ให้เสียความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเป็นห่วงก็คือว่า เป็นทัศนะเกี่ยวกับการค้าขาย ผลประโยชน์ทั้งสิ้น เช่นเรื่องเอฟทีเอเห็นว่าไม่สมควรเดินหน้าต่อ เพราะไทยเสียเปรียบ แต่พอเราไปรับปากว่าเรายังรักษาไว้เหมือนเดิม จึงทำให้สหรัฐก็มีโอกาสรุกคืบเจรจาการค้ากับเรา จึงเห็นด้วยว่าต้องจับตาดูเรื่องนี้ให้ดีอย่างใกล้ชิด เขาจะใช้จุดอ่อนตอนนี้มาใช้เจรจาต่อรองกับเราหรือไม่ ซึ่งอันตรายมาก

 

และทุกภาคส่วนต้องเข้ามาปรึกษาหารือร่วมกัน ช่วยลุกขึ้นมามอง และร่วมหากลไกทางสังคม ว่าจะทำอย่างไรที่จะผลักดันให้ความโปร่งใสมันเกิดขึ้น พูดง่ายๆ คือ เมื่อมีการเจราจาข้อตกลงใดๆ ได้อะไร เสียอะไร แลกกับอะไร จะต้องบอกให้กับสังคมได้รับรู้ด้วย ไม่บอกไม่ได้ ภาคประชาชนจะมีวิธีการอย่างไรที่ให้รัฐบอกสิ่งเหล่านี้ ซึ่งผมก็ไม่รู้ เพราะตัวอย่างจากรัฐบาลที่แล้ว ขนาดเราล่ารายชื่อกว่า 5 หมื่นรายชื่อ เรายังทำอะไรไม่ได้ ถูกสกัดนู่นนี่มากมาย

 

ต่อไปข้างหน้าจะเป็นอย่างไร อะไรคือจุดยืนของคปค.

 

ตอนนี้ ผมคิดว่า หาก คปค.ยังไม่ทำหน้าที่เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนที่ประชาชนเรียกร้องแล้ว (เช่น การกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม และการกระจายอำนาจอย่างสมดุลให้ทุกภาคส่วนในสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ) ก็ยิ่งไม่มีความชอบธรรม และยังส่อเจตนาว่า เอาเข้าจริงๆ แล้ว การปฏิรูปครั้งนี้ ก็ทำเพื่อคนชนชั้นกลางเท่านั้นเอง แต่ไม่ใช่เพื่อตอบหรือแก้ปัญหาของคนชนชั้นรากหญ้า หรือระดับชาวบ้านแต่อย่างใด

 

เราจะเห็นว่าแม้แต่การเปิดรับฟังความคิดเห็น คปค.ก็จะฟังแต่คนในเมือง นิสิตนักศึกษาเท่านั้น ถ้าเป็นชาวบ้านก็สกัดเขาเลย ไม่ให้เข้ามาหรืออะไรก็ตาม เพราะเขาคิดว่าชาวบ้านเป็นพวกกลุ่มเดียวกับกลุ่มทักษิณหมดเลย ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ ชาวบ้านมีปัญหาและอยากจะแสดงความคิดเห็นแต่กลายเป็นว่าถูกสกัดไปหมด

 

คปค. คิดอยากจะตอบปัญหาคนในเมืองเท่านั้นเอง จริงๆ แล้ว ดูเหมือนว่าไม่อยากจะเข้าใจปัญหาของคนที่มีความทุกข์มากที่สุดในสังคมเลย ก็อย่าไปคิดต่อเลยว่า คปค.จะมีวิธีการแก้ไขปัญหาได้อย่างไร ฉะนั้นจึงได้บอกว่าชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาผลักดันปัญหาด้วยตนเองเลย

 

ตอนนี้สังคมก็มุ่งไปที่ประชาธิปไตยที่เป็นโครงสร้างส่วนบน อาจารย์คิดเห็นอย่างไรกับประชาธิปไตยของชาวบ้าน เป็นประชาธิปไตยที่กินได้

 

หลักคิดที่พูดกันเสมอ คือ ประชาธิปไตย อำนาจที่มาจากประชาชน เพื่อประชาชน โดยประชาชน อะไรทำนองนี้... มันเป็นวาทกรรมที่หลอกให้ชาวบ้านเชื่อว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ทั้งๆ ที่ประชาธิปไตยเป็นของชนชั้นกลางและคนชนชั้นสูงเท่านั้นเอง (หัวเราะ) คือเขาก็พยายามบอกให้ชาวบ้านว่าคุณควรจะเชื่อนะ ซึ่งระบบนี้มันทำให้คนค่อนข้างจะงอมืองอเท้า ผมคิดว่าประชาธิปไตยที่กินได้ คือ สิ่งที่เราสามารถดำรงชีวิตในลักษณะที่เราเป็นเจ้าของอนาคตของเรา เรากำหนดเองได้ เรากำหนดนักการเมืองได้ เรากำกับเขาได้ ไม่ใช่ปล่อยให้นักการเมืองเข้ามาเสพสุขเสวยอำนาจไปทุกๆ สี่ปี แต่เราทำอะไรไม่ได้เลย นอกจากหย่อนบัตรเลือกตั้ง

 

ประชาธิปไตยที่กินได้ย่อม หมายถึง พลังประชาชน ที่มีอำนาจกำกับรัฐบาล กำกับนโยบายต่างๆ ที่ทุกสียงมีสิทธิเท่าเทียมกัน เราไม่ต้องการนักการเมืองที่ไม่ยอมให้ชาวบ้านมีอำนาจตัดสินใจอะไร เขาจัดการทำเองหมดโดยอ้างว่าเขาหวังดีต่อประเทศชาติ อีกทั้งชาวบ้านไม่มีความรู้อะไร ทำอย่างนี้ไม่ได้ และไม่ต้องการให้นักการเมืองมาขายนโยบายให้เรา แต่เรา (ชาวบ้าน) จะเป็นฝ่ายกำหนดนโยบายให้นักการเมืองเอาไปทำ ต้องเป็นอย่างนี้ "อำนาจต้องอยู่ที่ประชาชน"

 

สิริลักษณ์ ศรีประสิทธิ์
สำนักข่าวประชาธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท