ติมอร์ตะวันออกป่วนหนัก-ต้องขอกองกำลังต่างชาติช่วยยุติการปะทะรายวัน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ภาพจากรอยเตอร์

 

ประชาไท—26 พ.ค. 2549 สถานการณ์ปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างทหารฝ่ายรัฐบาลของติมอร์ตะวันออก และกองกำลังทหารซึ่งถูกปลดออกจากหน้าที่จำนวน 600 นาย เกิดขึ้นตั้งแต่วันอังคารที่ 23 พฤษภาคม 2549 โดยกองกำลังทหารที่ถูกปลดประจำการเกิดความไม่พอใจรัฐบาลที่สั่งปลดพวกตน จึงก่อการจลาจลตามท้องถนน ณ กรุงดิลีซึ่งเป็นเมืองหลวงของติมอร์ตะวันออกจนเกิดเป็นการปะทะกันรายวัน

 

ล่าสุด กองกำลังทหารที่ถูกปลดประจำการบุกเข้ายึดและปิดล้อมสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเปิดฉากยิงกับเจ้าหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาลในวันที่ 25 พฤษภาคม 2549

 

การโจมตีกินเวลานาน 1 ชั่วโมง จากนั้นที่ปรึกษาการทหารและตำรวจขององค์การสหประชาชาติได้เจรจาหยุดยิงกับทหารที่ถูกปลด แต่การเจรจาไม่เป็นผลสำเร็จ และมีการยิงปะทะกันจนมีตำรวจเสียชีวิต 9 นาย บาดเจ็บ 27 นาย รวมถึงที่ปรึกษาตำรวจขององค์การสหประชาชาติอีก 2 นาย

 

ยอดรวมผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ยืดเยื้อทั้ง 4 วัน มีจำนวนประมาณ 20 คน ทำให้รัฐบาลติมอร์ตะวันออกเกิดความวิตกว่าเรื่องจะบานปลายจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง จึงร้องขอให้ประเทศต่างๆ อันได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ โปรตุเกส และมาเลเซีย ส่งกองกำลังช่วยเหลือมายังประเทศของตน

 

ทั้งนี้ ทางการออสเตรเลียได้ส่งหน่วยคอมมานโด 130 นาย และทหาร 1,300 นาย เข้าไปประจำการในติมอร์ตะวันออก ในขณะที่นิวซีแลนด์เตรียมส่งทหารเข้าไปช่วยเหลืออีก 120 นาย ทหารจากโปรตุเกส 120 นาย และมาเลเซีย 500 นาย

 

อย่างไรก็ตาม การยิงปะทะกันในเมืองหลวงยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องบริเวณใกล้ทำเนียบประธานาธิบดี ทำให้อาคารบางแห่งถูกเผา ชาวต่างชาติและชาวติมอร์ตะวันออกพากันหลบหนีออกจากเมืองเพื่อรักษาชีวิต

 

ในอดีต ติมอร์ตะวันออกเคยเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส จากนั้นได้ถูกอินโดนีเซียยึดครองตั้งแต่ปี 2518 จนถึงปี 2542 จึงมีการลงประชามติเพื่อขอแยกตัวเป็นเอกราช เป็นเหตุให้เกิดการนองเลือดเนื่องจากกองกำลังติดอาวุธที่สนับสนุนให้เกิดประเทศติมอร์ตะวันออกต้องการต่อต้านกองกำลังทหารอินโดนีเซีย ทำให้เกิดการต่อสู้กันอย่างรุนแรง และมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

 

ครั้งนั้น ประเทศออสเตรเลียได้นำกองกำลังภายใต้การสนับสนุนของสหประชาชาติเข้าแทรกแซงในติมอร์ตะวันออกเพื่อยุติเหตุการณ์วุ่นวาย จากนั้นสหประชาชาติได้เข้ามาดูแลต่อ และนำไปสู่การประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการของประเทศติมอร์ตะวันออกในปี 2545

 

ปัญหาสำคัญประการหนึ่งหลังจากติมอร์ตะวันออกได้รับเอกราชแล้ว คือ ระบบการเมืองภายในประเทศที่อยู่ในระยะการสร้างชาติ ก่อให้เกิดกลุ่มทางการเมืองต่างๆ ขึ้นมากมาย เป็นเหตุให้มีความขัดแย้งเพื่อแย่งชิงอำนาจทางการเมือง

 

อย่างไรก็ดี ทุกฝ่ายต่างให้การยอมรับบทบาทของซานานา กุสเมา ผู้นำพรรคซีเอ็นอาร์ทีให้ดำรงตำแหน่งประมุขคนแรกของประเทศ แต่ติมอร์ตะวันออกก็ยังมีปัญหาเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองและการแข่งขันเพื่อแย่งชิงอำนาจระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ อยู่เช่นเดิม

 

นอกจากนี้ ติมอร์ตะวันออกยังคงประสบปัญหาความไม่พร้อมในด้านต่างๆ อาทิ ปัญหาการขาดงบประมาณ ปัญหาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อัตราการว่างงานสูง ประชากรการศึกษา การแพทย์ไม่เจริญเพียงพอ และขาดแคลนบุคลากรในสาขาต่างๆ ทำให้เกิดปัญหาสาธารณูปโภค การรักษาความมั่นคงภายใน และปัญหาการป้องกันภัยคุกคามจากกองกำลังที่เห็นต่างจากรัฐบาล

 

การปล่อยให้กองกำลังของต่างชาติเข้ามาช่วยปราบปรามความวุ่นวายภายในติมอร์ตะวันออก ถูกมองว่าเป็นความล้มเหลวของรัฐบาลที่ไม่อาจรักษาความมั่นคงปลอดภัยภายในประเทศได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท