Skip to main content
sharethis

24 เม.ย.52


เกาหลีใต้มอบรางวัลชูเกียรติให้มินโกนาย
มูลนิธิรำลึก 18 พฤษภาคม (May 18 Memorial Foundation) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเกาหลีใต้ มอบรางวัลสิทธิมนุษยชนกวางจู (Gwangju Prize for Human Rights) ให้แก่นายมินโกนาย แกนนำกลุ่มนักศึกษาปี 1988 (2531) ในฐานะนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในพม่าโดยสันติวิธี พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 50,000ดอลลาร์


ทั้งนี้ มูลนิธิดังกล่าวก่อตั้งขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์วันที่ 18 เดือนพฤษภาคม ปี 2523 เมื่อครั้งนักศึกษาเกาหลีใต้และประชาชนในเมืองกวางจูออกมาต่อสู้เรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตย แต่กลับถูกกองกำลังทหารภายใต้คำสั่งของประธานธิบดีชูนดูวานใช้ความรุนแรงปราบปรามจนทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคนและบาดเจ็บหลายพันคน


โดยรางวัลสิทธิมนุษยชนกวางจูมีการมอบเป็นครั้งแรกในปี 2543ให้กับบุคคลหรือสถาบันที่มีส่วนผลักดันและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ขณะที่นายมินโกนายได้ถูกรัฐบาลพม่าสั่งจำคุกเป็นเวลา 65 ปีหลังออกมาประท้วงการขึ้นราคาน้ำมันของรับบาลเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2550 ที่ผ่านมา (Mizzima)


 28 เม.ย.52


ผู้หญิงขายบริการเพิ่มขึ้น หลังนาร์กิสทำเศรษฐกิจล่ม
พายุไซโคลนนาร์กิสที่พัดถล่มในพื้นที่ปากแม่น้ำอิรวดีเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว นอกจากจะคร่าชีวิตผู้คนกว่า 140,000 คนแล้ว ยังส่งผลให้ธุรกิจในพื้นที่ทรุดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้รอดชีวิตราว 2.4 ล้านคนต้องเผชิญกับความเป็นอยู่ที่ยากลำบากมากขึ้น


ล่าสุดพบวัยรุ่นหญิงในพื้นที่ปากแม่น้ำอิรวดีหันไปขายบริการทางเพศเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากประสบกับปัญหาด้านการเงินหลังเกิดพายุไซโคลนนาร์กิส แต่กลับพบว่า วัยรุ่นเหล่านั้นไม่มีความรู้เรื่องการป้องกันตัวเองจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (DVB)  


 29 เม.ย.52


ทหารพม่ายึดสวนยางชาวบ้านทำถนน
ทหารพม่ายึดสวนยางของชาวบ้านในเมืองตันพยูซยัด รัฐมอญ เพื่อตัดถนนเลียบชายฝั่งระหว่างหมู่บ้านไจ๊ก์คมี  และหมู่บ้านเซ็ตแซ โดยไม่จ่ายเงินชดเชยให้กับชาวบ้านแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังบังคับเจ้าของสวนยางรักษาความปลอดภัยและจัดหาอาหารมาให้ระหว่างที่ทหารพม่านำรถแทรกเตอร์มาปรับผิวดินอีกด้วย ขณะที่เจ้าของสวนยางบางคนถูกทหารพม่าบังคับใช้แรงงาน (
IMNA)


นักโทษพม่า 68 คนในบังกลาเทศถูกส่งตัวกลับบ้าน
นักโทษชาวพม่าจำนวน
68 คนได้รับการปล่อยตัวและถูกส่งกลับเมืองมงดอว์ รัฐอาระกันแล้วเมื่อวันอังคารที่ 28 ที่ผ่านมา หลังจากทั้งหมดถูกกักขังอยู่ในเรือนจำในบังกลาเทศเป็นเวลาหลายปี มีรายงานว่า นักโทษจำนวน 20 คนเป็นคนในพื้นที่ของเมืองมงดอว์ ขณะที่อีก 9 คนมาจากเมืองบูทีดอง ส่วนนักโทษที่เหลือพบว่ามาจากเมืองชิตเตว่ เมืองปะเล็ตวา รัฐชินและเมืองมะละแหม่ง รัฐมอญ


การปล่อยตัวนักโทษครั้งนี้มีขึ้นหลังทางการพม่าและทางการบังกลาเทศร่วมประชุมกันก่อนหน้านี้ ตามข้อมูลของทางบังกลาเทศระบุว่า ที่จริงแล้วมีนักโทษราว 130 คนที่จะได้รับการปล่อยตัวครั้งนี้ แต่ทางการพม่ายอมรับตัวนักโทษกลับมาเพียง 68 คนเท่านั้น


อย่างไรก็ตาม ในบังกลาเทศยังมีนักโทษพม่าอีกจำนวนมากที่พ้นโทษแต่ไม่สามารถกลับบ้านได้ เนื่องจากรัฐบาลพม่าไม่ให้การรับรองว่าเป็นพลเมืองของประเทศพม่า (Narinjara)


องค์กรสิทธิมนุษยชนชี้ บริษัทต่างชาติต้นตอละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า
องค์กร EarthRights International เปิดเผยในการประชุมที่กรุงจาร์กาตา อินโดนีเซีย ที่ผ่านมาว่า บริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในภาคธุรกิจก๊าซและน้ำมันในพม่าเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าอย่างต่อเนื่อง โดยยกตัวอย่างเมื่อครั้งบริษัทน้ำมันของฝรั่งเศสเข้าไปลงทุนท่อส่งก๊าซยาดานาเมื่อปี 2533 พบว่ามีประชาชนถูกบังใช้แรงงาน ถูกข่มขืน และถูกยึดที่ทำกิน


ด้านสหภาพยุโรป หรือ อียู ประกาศเพิ่มระยะเวลาคว่ำบาตรต่อรัฐบาลพม่าต่อไปอีก 1 ปี ขณะที่นักเคลื่อนไหวทั้งจากภายในและนอกประเทศได้ออกมาเรียกร้องนานาชาติให้ยุติการเข้าไปลงทุนทำธุรกิจในพม่า เพราะจะยิ่งเป็นการช่วยเหลือรัฐบาลพม่าในการกดขี่ประชาชนของตัวเอง (DVB)


 30 เม.ย.52


ท้องร่วงระบาดหนักในพม่า
โรคท้องร่วงกำลังระบาดหนักในหลายเมืองของพม่า โดยขณะนี้ยังไม่ทราบจำนวนผู้ป่วยได้ชัดเจน ซึ่งโรงพยาบาลหลายแห่งเต็มไปด้วยผู้ป่วยท้องร่วง เช่น ในโรงพยาบาลญองเลผิ่น(
Nyaung Lay Pin) ในเขตพะโค ผู้ป่วยบางคนต้องนอนพักรักษาตัวบริเวณระเบียงของโรงพยาบาล เนื่องจากไม่มีห้องรองรับผู้ป่วยเพียงพอ


ขณะที่พบผู้ป่วยรายใหม่ในเมืองญองเลผิ่น เขตพะโคและเมืองปะโคะกู่ เขตมะกวยเพิ่มมากขึ้น โดยส่วนใหญ่ในเมืองปะโคะกู่เป็นชาวบ้านฐานะยากจนไม่สามารถหาน้ำดื่มสะอาดมาดื่มได้ ซึ่งแพทย์สันนิษฐานว่า สาเหตุน่าจะมาจากสภาพภูมิอากาศ การรับประทานอาหารที่มีแมลงวันตอม และน้ำดื่มที่ไม่สะอาด(DVB)


 1 พ.ค.52


พม่าติด 1 ใน 10 เข้มงวดการใช้อินเตอร์เน็ต
คณะกรรมการคุ้มครองสื่อหรือ the Committee to Protect Journalists ออกรายงานชื่อ "10 Worst Countries to be a Blogger"ระบุ พม่าติดหนึ่งในสิบประเทศที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนของตัวเอง ในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นผ่านทางอินเตอร์เน็ต รวมถึงยังเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เข้มงวดต่อประชาชนในการใช้อินเตอร์เน็ตและเข้าถึงโลกออนไลน์


ซึ่งสาเหตุที่พม่าติดอันดับในครั้งนี้ สืบเนื่องมากจากที่รัฐบาลพม่าสั่งจำคุกนายหม่อง ทุระ หรือที่รู้จักกันในชื่อซาร์กานาเป็นเวลา 35 ปีในข้อหาบันทึกภาพภายหลังเกิดเหตุพายุไซโคลนนาร์กิสและให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวต่างประเทศ  เช่นเดียวกับที่สั่งจำคุกนายเนย์โพน แลต บล็อกเกอร์หนุ่มวัย 28 ปีในข้อหาเผยแพร่การ์ตูนล้อเลียนตานฉ่วยในเว็บบล็อกของเขา ขณะที่ 9 ประเทศที่เหลือได้แก่ อิหร่าน ซีเรีย ซาอุดีอาระเบีย ตูนีเซีย คิวบา เวียดนาม จีน อียิปต์และเตร์กเมนิสถาน(Irrawaddy, DVB)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net