ชาวบ้านยกขบวนบุก สผ. ขอร่วมพิจารณาอีไอเอโรงไฟฟ้าหนองแซง บริษัทถอนเรื่องอ้างข้อมูลไม่ครบ

เมื่อวันที่ 30 เม.ย.52 เวลา 11.00 น. กลุ่มชาวบ้านเครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม จากอำเภอหนองแซง จ.สระบุรี  และอำเภอภาชี จ.พระนครศรีอยุธยานับร้อยคน  นำโดยนายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ข้าราชการในพื้นที่ จ.สระบุรี และ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หยุดสนับสนุนโรงไฟฟ้าหนองแซง  เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เกษตรกรรมปลูกข้าว 2 ปี 5 ครั้ง และเป็นพื้นที่เตรียมการประกาศผังเมือง เป็นเขตอนุรักษ์ชนบทเกษตรกรรม ซึ่งควรเป็นพื้นที่สงวนไว้ให้กับชาวบ้านไว้ทำการเกษตรกรรมไม่ใช่สร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่


 

หลังจากนั้นกลุ่มชาวบ้านได้เดินทางไปยังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ (สผ.) เนื่องจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) โครงการพลังงานของ สผ.จะมีการพิจารณารายงานอีไอเอเป็นครั้งที่ 3 แต่ปรากฏว่าบริษัท เพาเวอร์ เจเนอเรชั่นซัพพลายจำกัด เจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าก๊าช ขอถอนการพิจารณาให้ความเห็นชอบการพิจารณารายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 29 เม.ย. เนื่องจากมีข้อมูลไม่ครบถ้วนจึงขอไปดำเนินการให้เรียบร้อยก่อนจะนำเสนอต่อไปทั้งนี้ หากอีไอเอไม่ผ่าน ใบอนุญาติอื่นๆ ก็จะไม่ผ่านการอนุมัติตามไปด้วยเช่นกัน 

 

นายตี๋  ตรัยรัตนแสงมณี ประธานเครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม กล่าวว่า ทาง สผ.รับปากว่าหากบริษัทส่งอีไอเอมาให้ คชก.พิจารณาอีกเมื่อใด จะแจ้งให้ชาวบ้านในพื้นที่ทราบ และจะเปิดให้เข้าชี้แจงกับคชก.ด้วย 20 นาที

 

เขากล่าวถึงปัญหาที่ผ่านมาว่า บริษัทอาศัยช่องว่างทางกฎหมายเข้ามาซื้อที่ดินโดยชาวบ้านไม่รู้และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานและคณะกรรมการประมูลโรงไฟฟ้าเอกชน ไม่สนใจตรวจสอบว่าที่ดินโรงไฟฟ้าเสนอมาตอนยื่นเรื่องประมูลเป็นที่ดินในเขตร่างผังเมืองเป็นพื้นที่อนุรักษ์ชนบทเกษตรกรรม ซึ่งไม่สามารถทำโรงงานขนาดใหญ่ได้อยู่แล้ว   

 

"โรงไฟฟ้าก๊าซใช้น้ำใน 1 วัน เท่ากับชาวนาทำนาได้ 54 ไร่ ดังนั้นในหน้าแล้งหรือฝนทิ้งช่วงโรงไฟฟ้าจะแย่งน้ำชาวนาก่อให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำมากขึ้น เพราะทุกปีชาวบ้านจะถูกบอกให้ลดพื้นทีทำนาปรังในหน้าแล้ง เพราะชลประทานไม่สามารถจัดสรรน้ำได้เพียงพอ ปัจจุบันพื้นที่อำเภอหนองแซง อำเภอภาชี เป็นพื้นที่ไข่แดง ของ จ.สระบุรี ที่ทำการเกษตร และผลิตข้าว พืชผัก ผลไม้ ฟาร์มผักปลอดสารพิษ ฟาร์มไก่ ฟาร์มผลไม้ ชาวบ้านไม่ต้องการให้มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่หรือโรงงานอุตสาหกรรมมาตั้งในพื้นที่ ปล่อยมลพิษให้กับคน และสัตว์ในพื้นที่" นายตี๋ กล่าว

  นายตี๋ ระบุว่า ที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 2 ปี บริษัทเพาเวอร์ เจเนอร์เรชั่นซับพลาย หรือ บริษัท กัลฟ์ เจพี เข้ามาประชาสัมพันธ์ ในพื้นที่ ได้ใช้วิธีแจกเงินให้กับผู้นำชุมชุน ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เช่นเดียวกับ หัวคะแนน ส.ส.ใช้เงินซื้อเสียงเลือกตั้ง ควบคู่ไปกับการประชุมชี้แจงข้อดีของโรงไฟฟ้าเพื่อหวังเสียงสนับสนุนจากชาวบ้านรอบพื้นที่ และนำจำนนวนชาวบ้านที่เข้าฟ้งการชี้แจงข้อดีโรงไฟฟ้าไปใส่ไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อให้หัวข้อการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่สมบูรณ์และผ่านการอนุมัติอีไอเอ

" เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม ได้ตรวจสอบการทำงานของข้าราชการในพื้นที่ พบว่าข้าราชการและเจ้าหน้าที่ อบต.กำนันผู้ใหญ่บ้าน ส่วนใหญ่สนับสนุนโรงไฟฟ้า เนื่องจากได้รับเงินหรือผลประโยชน์บางอย่างแล้วชักจูงให้ราษฎรเชื่อว่าต้องสร้างโรงงานเพื่อให้ท้องถิ่นเจริญ โดยกำนัน ต.หนองน้ำใส อ.ภาชี ยอมรับว่าร่วมกับนายอำเภอทั้ง 2 อำเภอ ว่าได้รับเงิน 1 ล้านบาท จากโรงไฟฟ้าและได้ทำการแจกจ่ายไปหมดแล้ว  เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าข้างโรงไฟฟ้าโดยรับเสื้อจากโรงไฟฟ้า ชาวบ้านถูกทำให้เชื่อว่าโรงไฟฟ้าเอกชนเป็นนโยบายรัฐที่ข้าราชการต้องสนับสนุน ข้าราชการในจังหวัดและทุกกระทรวงไม่ปฎิบัติตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองทีดี่ พ.ศ. 2546 ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการทุกกระทรวงสั่งการให้ข้าราชการไม่สนับสนุนโรงไฟฟ้าเอกชน และตรวจสอบว่าบริษัทโรงไฟฟ้าจ่ายสินบนหรือผลประโยชน์ให้คนในพื้นที่เพื่อหวังสนับสนุนโรงไฟฟ้าเท่านั้น"  นายตี๋ กล่าว

 

ทั้งนี้โรงไฟฟ้าหนองแซง เป็นโรงไฟฟ้าก๊าซเอกชน ของบริษัทเพาเวอร์ เจเนอร์เรชั่นซัพพลาย จำกัด กำลังการผลิต 1,650 เมกะวัตน์ มีเป้าหมายจะก่อสร้างในพื้นที่หมู่ที่ 1 ต.หนองกบ อ.หนองแซง จ.สระบุรี และ หมู่ 4 บ้านธรรมสินโสภา ต.หนองน้ำใส อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา บริษัท เพาเวอร์ เจเนอเรชั่นซัพพลาย จำกัด เป็นบริษัทลูกของบริษัทกัลฟ์เจพี จำกรัด ซึ่งมีบริษัทต่างชาติสัญชาติญี่ปุ่นถือหุ้น 50 % เท่ากับ บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นคือ บริษัท เจเพาเวอร์ เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าหนองแซงด้วยครึ่งหนึ่ง

 

ในส่วนของสถานภาพปัจจุบัน โรงไฟฟ้าหนองแซงเป็นโรงไฟฟ้าเอกชนทีผ่านการคัดเลือกในชุดโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ 4 โรง (IPP) ผ่านการคัดเลือกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2550 ซึ่งขณะนี้ยังไม่ผ่านการอนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมีการส่งรายงานอีไอเอเป็นครั้งที่  แล้วทั้งนี้ก่อนหน้านี้คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ได้ทำหนังสือครั้งที่ 17 / 2551 ให้คำแนะนำถึงโครงการดังกล่าวเพื่อให้ปรับปรุงแก้ไขมาแล้วเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2551

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท