แรงงานและเกษตรกรลำพูนร่วมจัดวันแรงงาน เรียกร้องให้แก้ รธน. เป็นประชาธิปไตยปูทางสู่รัฐสวัสดิการ

 

 



 

1 พ.. 52 - สหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ (สอส.) สหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ (สออส.) เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ เครือข่ายแรงงานภาคบริการ เครือข่ายสวัสดิการจังหวัดลำพูน กลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ (นกน.) และกลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ ได้มีการจัดงานรำลึก"วันกรรมกรสากล" ขึ้นที่จังหวัดลำพูน โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 500 คน มีการเดินขบวนแจกแถลงการณ์ ป้ายสะท้อนปัญหาต่างๆของผู้ใช้แรงงาน เช่น ปรับค่าจ้างค่าต่ำวันละ 233 บาท เงิน 2000 บาทแก้ปัญหาคนจนไม่ได้ แรงงานข้ามชาติคือมนุษย์ ประเทศไทยต้องมีรัฐสวัสดิการ กระจายการถือครองที่ดิน ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิเลือกตั้งในสถานประกอบการ ฯลฯ จากตลาดแม่บัวเงิน ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน มายังเวทีปราศรัย ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เมื่อมาถึงได้มีการแสดงดนตรีวง UNION BAND รายการวัฒนธรรมของแรงงานข้ามชาติ และการแสดงจินตลีลาประกอบเพลง "คนนำทาง"

 

ต่อมานายรัชชานนท์ นนทธรรม ประธานสหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ (สออส.) ได้กล่าวเปิดงานว่า วันกรรมกรสากล หรือ วันเมย์เดย์ (May Day) มีจุดกำเนิดมาจากการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพในยุโรปและอเมริกา ในยุตของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่เปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรไปสู่สังคมอุตสาหกรรมมากขึ้น ส่งผลให้ผู้คนอพยพจากการผลิตภาคเกษตรกรรมไปเป็นแรงงานภาคอุตสาหกรรม ซึ่งผู้ใช้แรงงานต้องประสพกับการถูกกดขี่ขูดรีดจากนายทุนโรงงานอุตสาหกรรม เช่น ถูกบังคับให้ใช้แรงงานเยี่ยงทาส ต้องทำงานหนักถึงวันละ 14-16 ชั่วโมงโดยไม่มีวันหยุด รวมทั้งไม่มีสวัสดิการและมาตรฐานคุ้มครองความปลอดภัยในการทำงานแต่อย่างใด

 

สภาพดังกล่าว เป็นสาเหตุทำให้ผู้ใช้แรงงานมีการเคลื่อนไหวเพื่อการต่อสู้การกดค่าจ้างแรงงานและให้ลดชั่วโมงการทำงานลง ซึ่งแนวความคิดนี้ได้ขยายไปหลายประเทศทั้งในยุโรป, อเมริกา, ละติน อเมริกา, ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

 

ช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2429 คนงานแห่งเมืองชิคาโก ประเทศอเมริกา ได้นัดหยุดงานครั้งใหญ่และจัดการชุมนุมเดินขบวนเพื่อเรียกร้องระบบสามแปด คือ ทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง การต่อสู้ครั้งนั้นอำนาจรัฐ และนายทุนได้ใช้กำลังเข้าปราบปรามอย่างรุนแรงรงงานที่ออกมาเรียกร้องเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ภายหลังจากนั้น สหพันธ์คนงานแห่งอเมริกาก็ได้ฟื้นการต่อสู้เรียกร้องระบบสามแปดอีกครั้งหนึ่ง โดยมีมติให้เดินขบวนทั่วประเทศเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2433

 

ขณะเดียวกันในช่วงนั้นก็เริ่มมีแนวคิดที่จะประกาศวันที่แน่นอนให้เป็น วันสามัคคีต่อสู้ของขบวนการกรรมกรทั่วโลก จนกระทั่ง พ.ศ.2432 ที่ประชุมของสภาสังคมนิยมสากล ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศส ได้มติให้วันที่ 1 พฤษภาคม 2433 เป็นวันเดินขบวนเรียกร้องให้ลดชั่วโมงทำงานตามที่สหพันธ์คนงานแห่งอเมริกาได้กำหนดไว้แล้ว และได้ กำหนดให้ วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันกรรมกรสากล

 

นายอนุชา มีทรัพย์ ประธานสหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ (สอส.) ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้กับ นายบรรหาร บูรณประภา รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้

 

1. ให้มีการปรับฐานค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ให้เท่ากันทั่วประเทศ เป็นวันละ 233 บาท เนื่องจากภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้นทั่วประเทศ ให้มีการปรับฐานค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ให้เท่ากันทั่วประเทศ เป็นวันละ 233 บาท เนื่องจากภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้นทั่วประเทศ

 

2. ขอให้รัฐบาลยกเลิก มาตรา 75 ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน กรณีนายจ้างสั่งให้ลูกจ้างหยุดงานชั่วคราว ทั้งนี้เนื่องจากนายจ้างได้ใช้ประโยชน์ช่องว่างทางกฎหมายนี้ มาใช้เพื่อเป็นการกดดันการรวมกลุ่มของคนงานและทำลายสหภาพแรงงาน

 

3. ขอให้รัฐบาลบังคับใช้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ......(ฉบับผู้ใช้แรงงาน)

 

4. ให้รัฐบาลประกาศบังคับใช้ พระราชบัญญัติส่งเสริมคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ พ.ศ. .......(ฉบับของผู้ใช้แรงงาน)

 

5. ให้รัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนในการขยายความคุ้มครองด้านสุขภาพไปยังแรงงานในภาคส่วนต่างๆทั้งแรงงานนอกระบบ แรงงานภาคบริการและแรงงานข้ามชาติ โดยการเข้าถึงกองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทนและขอให้ทุกจังหวัดจัดตั้งคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยมีคณะกรรมการในรูปแบบพหุภาคี ประกอบด้วย ตัวแทนภาครัฐ ตัวแทนนายจ้าง ตัวแทนลูกจ้าง (แรงงานในระบบ / แรงงานนอกระบบ /แรงงานภาคบริการ /แรงงานข้ามชาติ )และตัวแทนภาควิชาการ(นักวิชาการด้านแรงงาน / องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน /ทนายความด้านแรงงาน)

 

6. รัฐควรเปิดจดทะเบียนรอบใหม่ให้กับแรงงานข้ามชาติ ทุกคน เนื่องจากแรงงานข้ามชาติเป็นกลุ่มแรงงานที่สำคัญในการเสริมสร้างเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ แต่ในปัจจุบันกลับมีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่อยู่นอกระบบ ผิดกฎหมาย ถูกเอารัดเอาเปรียบจากกลุ่มผู้มีอิทธิพลต่างๆ

 

7. รัฐต้องมีมาตรการปลดหนี้สินเกษตรกรและกระจายการถือครองที่ดินให้เกษตรกร ตลอดทั้งมีมาตรการที่ชัดเจนในการจัดสรรที่อยู่อาศัยให้คนจนเมืองด้วย เนื่องจากผู้ใช้แรงงานในภาคเกษตรกรรมจำนวนมาก ซึ่งเป็นรุ่นพ่อแม่ของผู้ใช้แรงงานนอกภาคเกษตรกรรม ก็ประสบชะตากรรมเดียวกัน ที่สำคัญได้รับผลกระทบจากปัญหาภาวะหนี้สินภายใต้กลไกตลาดที่ไม่เป็นธรรม และปัญหาการไม่มีที่ดินทำกินหรือไม่เพียงพอ ขณะที่คนจนเมืองกลายเป็นคนไร้บ้านจำนวนไม่น้อย

 

8. ด้านการปฏิรูปการเมืองและสังคม ตลอดทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 ให้เป็นประชาธิปไตยซึ่งได้มีการเรียกร้องให้ลดบทบาทระบอบราชการ อำนาจนอกระบบ อำนาจตุลาการที่ไม่เป็นธรรมและเชื่อมโยงกับประชาชนแต่อย่างใด สำหรับผู้ใช้แรงงานนั้น ต้องมีการเปิดให้ผู้ใช้แรงงานมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ประชาธิปไตย โดยเฉพาะการให้สิทธิผู้ใช้แรงงานเลือกตั้งในสถานประกอบการด้วยเช่นกัน

 

9. รัฐต้องมีมาตรการการเก็บภาษีที่ก้าวหน้าเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการ และนำงบประมาณจากภาษีมาสร้างสวัสดิการพื้นฐาน "จากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน" เช่น การศึกษา การสาธารณสุข ฯลฯ อย่างถ้วนหน้าเท่าเทียมกัน

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท