ศาลฎีกาไม่รับพิจารณาใหม่ คดีหมิ่นอดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตรมีสายสัมพันธ์กับ บริษัทยักษ์จีเอ็มโอ

วานนี้ ( 30 เม.ย.) เวลา 09.00 น. อาคารศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลฎีกานัดฟังคำตัดสินคดีที่ นายอนันต์ ดาโลดม อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ฟ้อง นายเดชา ศิริภัทร ผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญและประธานเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน กรณีหมิ่นประมาท ว่าบรรษัทจีเอ็มโอซื้อตำแหน่งอธิบดีให้ ตั้งแต่ปี 2543 โดยคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิด แต่จำเลยฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

 

ศาลฎีกาพิพากษาให้ยืนตามคำพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ไม่รับพิจารณาใหม่ โดยคำตัดสินของศาลชั้นต้นได้พิจารณาไว้ดีแล้ว   

 

นายเดชา กล่าวกับผู้สื่อข่าวภายหลังรับฟังคำตัดสินว่า ประเด็นที่ถูกตัดสินให้มีความผิดจริงตั้งแต่ในชั้นของศาลชั้นต้นคือ กรณีการกล่าวหาว่า นายอนันต์ ได้รับการแต่งตั้งให้เข้ามาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยการซื้อตำแหน่ง แต่ส่วนตัวคิดว่าการวิพากษ์วิจารณ์กระทำโดยเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง วิจารณ์โดยสุจริต ไม่ได้ทำเพราะมีความโกรธเคืองกันเป็นการส่วนตัว และสิ่งที่นำมาพูดได้อ้างข้อมูลจากรายงานข่าวเชิงวิเคราะห์ของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ (ชื่อในขณะนั้น)

 

นายเดชาให้ข้อมูลว่า ในชั้นฎีกาได้มีการยกประเด็น เรื่ององค์ประกอบของการหมิ่นประมาท 3 อย่าง โดยยอมรับว่าได้พูดข้อความหมิ่นนั้น และเป็นการพูดในที่สาธารณะ แต่ในส่วนองค์ประกอบทีว่ายืนยันว่าสิ่งที่พูดเป็นความจริงนั้น ไม่ได้มีการยืนยันว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นความจริงแต่เป็นการพูดตามข้อมูลที่อยู่ในหนังสือพิมพ์ แต่คาดว่าไม่ได้มีการพิจารณาโดยให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าว   

 

ทั้งนี้ เขาตั้งข้อสังเกตว่า การที่หนังสือพิมพ์ดังกล่าวมีการตีพิมพ์เผยแพร่อยู่แล้วกลับไม่มีการฟ้องร้อง โดยอ้างว่าข้อมูลในหนังสือพิมพ์ที่กระจายในวงกว้างไม่ทำให้เกิดความเสียหาย แต่การนำมาพูดทำให้เกิดความเสียหายตรงนี้เป็นสิ่งที่น่าสงสัยในการกระทำของผู้ฟ้อง แม้ศาลจะตัดสินแล้วว่าเป็นสิทธิของผู้ฟ้องที่จะฟ้องหรือไม่ฟ้องใคร

 

ในส่วนการบังคับคดี นายเดชากล่าวว่า การที่ศาลไม่รับพิจารณาใหม่ ก็คงต้องกลับไปที่คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ซึ่งในตอนนั้นหลังจากฟังคำพิพากษาของสารชั้นต้นแล้วตนเองพร้อมด้วยนางเบญจมาศ ศิริภัทร นายประกันได้นำเงินจำนวน 20,000 บาท ไปชำระค่าปรับตามคำพิพากษาแล้ว ส่วนโทษจำคุกที่รอลงอาญา 1 ปี ได้ปรึกษาทนายทราบว่าการลงโทษได้สิ้นสุดอายุไปแล้ว

 

เมื่อสอบถามถึงการดำเนินการต่อไป นายเดชากล่าวว่าจากการพูดคุยกับกลุ่มเครือข่ายและผู้ที่มาร่วมให้กำลังใจ มีความคิดตรงกันว่า จริงๆ แล้วคดีหมิ่นไม่ควรมารวมกับกรณีเช่นนี้ที่ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นการติชม วิพากษ์วิจารณ์บุคคลสาธารณะ เพื่อประโยชน์สาธารณะ ในเรื่องของพฤติกรรมและนโยบาย ซึ่งคิดว่าจะนำไปสู่การรวมรวมกรณีการหมิ่นประมาทที่คล้ายกันนี้ มานำเสนอต่อสาธารณะและน่าจะมีการสัมมนาพูดคุยเพื่อนำไปสู่การแก้ไขก็หมายในประเด็นดังกล่าว

 

"กรณีแบบเราไม่ควรเป็นคดีหมิ่นประมาท ไม่อย่างนั้นก็เกิดกรณีอย่างนี้อีกเรื่อยๆ แล้วใครจะอยากมาร่วมตรวจสอบ มาวิพากษ์วิจารณ์ " นายเดชากล่าว

  

อนึ่ง การพิพากษาของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2545 ศาลอาญาใต้พิพากษาให้จำเลยคือ นายเดชา มีความผิดตามประมวลอาญา 328 ลงโทษจำคุก 1 เดือน ปรับ 20,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก (คำฟ้องทีให้จำเลยลงพิมพ์โฆษณาคำพิพากษาคดีนี้ทั้งหมดในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 3 ครั้ง) จากนั้นนายเดชาได้มีการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลในวันที่ 14 ส.ค.2545

 

ทั้งนี้ การฟ้องคดีดังกล่าว อ้างถึงกรณีที่นายเดชา ซึ่งเป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีฝ้ายบีทีหลุดสู่แปลงเกษตรกร และมีบทบาทสำคัญในขบวนการเกษตรกรรมทางเลือกมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ปี 2527 ได้รับเชิญจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ให้เป็นวิทยากร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 ก.ย.42 ที่โรงแรมปริ๊นซ์ พาเลซ แขวงมหานาค เขตป้อม ปราบฯ กทม.เรื่อง แนวทางการพัฒนาเกษตรแบบยั่งยืน โดยนายเดชาได้บรรยายถึงปัญหาของการปฏิบัติตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (แผนฯ 8) เกี่ยวกับโครงการ เกษตรยั่งยืนที่ไม่เกิดผลในทางปฏิบัติเนื่องจากระบบกระบวนการทำงานและระเบียบปฏิบัติของหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

โดยให้เหตุผลประกอบคำบรรยาย ว่า สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้โครงการเกษตรยั่งยืนไม่สามารถดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมได้เกิดจากผู้บริหารของหน่วยงานระดับกรม อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตรที่ใช้งบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้าง ซื้อปุ๋ย สารเคมี เมล็ดพันธุ์แจกเกษตรกร ซึ่งตนเห็นว่า การจัดซื้อจัดจ้างเช่นนี้ผู้บริหารน่าจะได้รับผลประโยชน์

 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมานายเดชา และเครือข่ายสิทธิภูมิปัญญาไทย ได้พยายามชี้ให้เห็นความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของ นายอนันต์ ดาโลดม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กับบริษัทข้ามชาติมอนซานโต้ที่ต้องรับผิดชอบกรณีการทำให้พืชจีเอ็มโอ คือฝ้ายบีทีหลุดออกไปปลูกในพื้นที่เกษตรหลายหมื่นไร่ทั้งๆ ที่ไม่ผ่านการทดสอบเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพ และได้นำไปสู่กรณีที่เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน 5 องค์กร ได้นำเรื่องเข้าแจ้งความต่อกองปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ดำเนินการกับอธิบดีคนดังกล่าวในข้อหาละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งจนกระทั่งบัดนี้ ยังไม่มีความคืบหน้าแต่ประการใด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท