Skip to main content
sharethis


พล.ต.ท.เจตต์ มงคลหัตถี ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและสอบสวน พล.ต.ต.สาโรจน์ พรหมเจริญ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 2 (ผบก.น.2) พล.ต.ต.ฉัตรวิทย์ รามสูตร ผู้บังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ (ผบก.ตปพ.) พร้อมกำลังคุมตัวนายวีระ มุสิกพงศ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และ นพ.เหวง โตจิราการ 3 แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ผู้ต้องหาคดีสั่งการให้ก่อความไม่สงบในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) ไปขออำนาจศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เพื่อขออำนาจศาลฝากขังครั้งแรก เป็นเวลา 12 วัน ถึงวันที่ 27 เมษายน เนื่องจากต้องสอบปากคำพยานเพิ่มเติมอีกหลายปาก ตรวจสอบประวัติอาชญากร และอื่นๆ โดยขอคัดค้านการประกันตัว หลังจากได้ควบคุมตัวไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก บก.น.1 และ บก.น.2 บก.ตปพ.ร่วมกับกองกำลังจากกองพลทหารราบที่ 11 รอ. กองพล ม.2 รวม 3 กองร้อย หรือ 450 นาย พร้อมอาวุธครบมือคอยดูรักษาความปลอดภัย ตั้งแต่บริเวณศาลแพ่งตลอดเรื่อยมาจนถึงบริเวณศาลอาญา โดยภายในบริเวณศาลอาญาเจ้าหน้าที่ได้ตรวจค้นอาวุธผู้ที่จะเข้ามาติดต่อราชการศาลอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะผู้สวมใส่เสื้อแดง ทั้งนี้ ศาลเปิดทำการเฉพาะงานฝากขังและประกันตัวในบริเวณชั้น 2 และด้านหลังศาลอาญาเท่านั้น


 


ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ศาลอาญาได้นำป้ายเตือนมีข้อความซึ่งเป็นข้อกำหนดศาลอาญา ห้ามมิให้บุคคลใดประพฤติตนไม่เรียบร้อยหรือก่อความเดือดร้อนรำคาญหรือส่งเสริม ยั่วยุในบริเวณศาล หากฝ่าฝืนจะมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล มีโทษจำคุกทันที 6 เดือน และปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาวางไว้ที่หน้าศาล โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคุมเข้มทั่วบริเวณอาคารศาลแทบทุกชั้น และไม่อนุญาตให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าบริเวณศาล ส่วนกลุ่มผู้สนับสนุนนายวีระจำนวน 200 คนเศษ ทยอยเดินทางมาให้กำลังใจ และวิพากษ์วิจารณ์กำลังทหารพร้อมอาวุธปืนประจำกายมาบริเวณศาล เพราะเห็นว่าศาล น่าจะเป็นสถานที่ปลอดอาวุธ และการปิดสถานีโทรทัศน์ ดีสเตชั่น ทำให้ไม่ทราบความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง    



ขณะเดียวกัน นายคารม พลทะกลาง ทนายความของผู้ต้องหาทั้ง 3 คน กล่าวว่า ได้เตรียมหลักทรัพย์ยื่นคำร้องเป็นสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาซอยอารีย์สัมพันธ์ รวม 1.5 ล้านบาท เพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้ง 3 คน จากนั้นได้มีนายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย ส.ส.อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อไทย เดินทางมาให้กำลังใจด้วย    


 


สำหรับคำร้องฝากขังระบุพฤติการณ์สรุปว่า สืบเนื่องจากกลุ่ม นปช. ได้ชุมชุมเรียกร้องให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ องคมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ลาออกจากตำแหน่ง อันมิใช่เป็นการกระทำภายใต้ความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต โดยวันที่ 9 เมษายน 2552 เวลา 12.30 น. กลุ่มวิทยุชุมชนคนแท็กซี่ ได้ร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. นำรถแท็กซี่มาปิดสถานที่สำคัญ อาทิ ถนนรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถนนสุขุมวิท แยกสุขุมวิท 71 โดยกลุ่ม นปช.บางส่วน ไปชุมนุมรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ปิดเส้นทางจราจร โดยชุมนุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปเพื่อก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง เมื่อมีการปิดเส้นทางจราจรดังกล่าวแล้ว ผู้ต้องหาทั้งสามมีส่วนร่วมในการชุมนุมสั่งการปิดเส้นทางจราจรดังกล่าว  



โดยนายวีระผู้ต้องหาที่ 1 มีพฤติการณ์กล่าวคือ โดยในวันที่ 9 เมษายน 2552 เวลา 21.00 น. ในระหว่างที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีได้ปราศรัยผ่านระบบวิดีโอลิงก์ ผ่านจอภาพและเสียง ซึ่งติดตั้งอยู่ทำเนียบรัฐบาล นายวีระ อยู่บนเวทีปราศรัย ได้พูดปลุกระดมให้ผู้ชุมนุมล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน โดยขอให้ไปสมทบกันที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อปิดเส้นทางให้มากขึ้น โดยมีผู้ต้องหาอื่นๆ ร่วมกันกับนายวีระ นำไปสู่เหตุการณ์ไม่สงบบริเวณถนนหลายแห่งใน กทม.จนรัฐบาลได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าระงับเหตุการณ์



กระทั่งวันที่ 14 เมษายน เวลา 15.30 น. พนักงานสอบสวน สน.ดุสิต ได้ทำตามคำสั่ง บช.น.ที่ 115/52 ลงวันที่ 26 มีนาคม 2552 และคำสั่งที่ 169/52 ลงวันที่ 10 เมษายน 2552 ได้ร่วมกันแจ้งข้อหาและจับกุมตัวนายวีระ ผู้ต้องหาที่ 1 ตามหมายจับศาลอาญาที่ 986/52 ลงวันที่ 14 เมษายน 2552 นายณัฐวุฒิ ผู้ต้องหาที่ 2 ตามหมายจับศาลอาญาที่ 988/52 ลงวันที่ 14 เมษายน 2552 และ นพ.เหวง ผู้ต้องหาที่ 3 ตามหมายจับศาลอาญาที่ 991/52 ลงวันที่ 14 เมษายน 2552 โดยกล่าวหาว่า กระทำให้ปรากฏด้วยวาจา หรือวิธีการอื่นใด อันมิใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นติชมโดยสุจริตเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามกฎหมายอาญามาตรา 116 ซึ่งระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 ขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการใดให้เกิดการวุ่นวายในบ้านเมือง โดยมีอาวุธ และกระทำเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามกฎหมายอาญามาตรา 215 ชั้นสอบสวนผู้ต้องทั้งสามให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา   



ต่อมานายคารม ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง อ้างว่า การสอบสวนของพนักงานสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีอำนาจควบคุมตัว จึงขอให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวนด้วย 



ยกคำร้องประกันตัว-ตร.คุมได้7วัน
ต่อมาเวลา 14.00 น. ภายหลังไต่สวนผู้ต้องหาทั้ง 3 คนแล้ว ศาลมีคำวินิจฉัยว่า การใช้อำนาจหน้าที่ควบคุมตัวผู้ต้องหาตาม พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 12 ซึ่งตำรวจมีอำนาจหน้าที่ควบคุมตัวผู้ต้องหาได้เป็นเวลา 7 วัน และต้องควบคุมไว้ในสถานที่ที่กำหนด ซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจที่คุมขัง ทัณฑสถานหรือเรือนจำโดยจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นในลักษณะเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ ซึ่งกรณีที่มีความจำเป็นต้องควบคุมตัวต่อเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้เจ้าพนักงานร้องขอต่อศาล เพื่อขยายระยะเวลาการควบคุมตัวได้อีกครั้งละ 7 วัน แต่รวมระยะเวลาควบคุมทั้งหมดต้องไม่เกินกว่า 30 วัน เมื่อครบกำหนดแล้วหากจะต้องควบคุมตัวต่อไปให้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ศาลจึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องทั้งหมด


 


 


 


ที่มา : มติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net