แถลงข่าวตั้งศูนย์รับเรื่องราวข้อมูลคนหายฯ จากเหตุการณ์ชุมนุม นปช.เดือนเมษา

วันนี้ (15 เม.ย.) เวลา 11.00 น. ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ร่วมกับ เครือข่ายเดือนตุลา เครือข่ายราษฎรนักเขียนศิลปินประชาธิปไตย (PWAD) แถลงข่าวจัดตั้งศูนย์รับเรื่องราวข้อมูลคนหายในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองเดือนเมษายน ในช่วงระหว่างการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่มีขึ้นตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2552

 

น.ส.สุวลักษณ์ กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์ทางการเมืองที่ร้อนระอุที่ผ่านมามาโดยตลอด การสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงพบว่าไม่ได้รับการรายงานที่พูดถึงการใช้ความรุนแรงของรัฐแม้แต่น้อย แต่การใช้ความรุนแรงส่วนใหญ่ที่รายงานเป็นการกระทำของกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดง และรัฐบาลก็ระบุว่ากระสุนปืนที่นำมาใช้เป็นของปลอม ไม่เป็นอันตราย ทั้งที่หลักฐานจากรูปถ่าย คลิปวิดีโอข้อมูลข่าวสารจากสื่อมวลชนต่างประเทศ และการสอบถามกลุ่มผู้ชุมนุมหลายรายยืนยันว่ากระสุนที่นำมาใช้เป็นกระสุนจริง มีการเล็งปืนยิงใส่ผู้ชุมนุมจริง และนำศพออกไปเพื่อไม่ให้มีหลักฐาน ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่ยอมรับว่ามีคนตายจากการสลายการชุมนุมโดยกำลังทหาร

 

เราจึงจัดให้มีศูนย์รับเรื่องเหล่านี้ เพื่อให้ญาติผู้ตายหรือผู้เสียหายมาแจ้งเรื่องร้องเรียนกับเราได้ โดยจะประสานงานกับมูลนิธิ 14 ตุลา เครือข่ายเดือนตุลา เครือข่ายราษฎรนักเขียนศิลปินประชาธิปไตย เพื่อสืบหาข้อเท็จจริง

 

น.ส.สุลักษณ์ กล่าวต่อว่า ในเบื้องต้นทราบข้อมูลว่ามีคนตายประมาณ 60 กว่าคน แต่ยังหาหลักฐานไม่ได้ จึงยังไม่กล้ายืนยัน โดยข้อมูลดังกล่าวได้จากการพูดคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมาก ดังนั้นศูนย์ฯ จะเร่งหาหลักฐานมาพิสูจน์เรื่องนี้ให้ได้ หากมีคนตายจากกรณีดังกล่าวจริงขอเรียกร้องนายกรัฐมนตรียุบสภาหรือลาออกเพื่อ รับผิดชอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

 

นอกจากนั้นเพื่อเป็นการแสดงความจริงและเพื่อบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ทางการเมืองต่อไป ในส่วนของสถานศึกษาจะมีการจัดนิทรรศการภาพถ่ายเหตุการณ์รุนแรง ต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย เช่น พฤษภาทมิฬ 2535 รวมถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 12-13 เม.ย.2552 นี้ด้วย โดยจะมีการเผยแพร่ข้อมูลตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เริ่มที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และหากมีนิสิตนักศึกษาต้องการเข้าร่วมกิจกรรมก็สามารถติดต่อมาที่ สนนท.ได้

 

ด้านนางวิภา ดาวมณี จากเครือข่ายคนตุลา กล่าวยืนยันว่า การทำงานของศูนย์รับเรื่องราวคนหายฯ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเมือง หรือพรรคการเมือง แต่เป็นเรื่องของมนุษยธรรม ในส่วนของศูนย์รับเรื่องราวคนหายฯ ตั้งใจจะรับเรื่องคนหาย บาดเจ็บ รวมทั้งเด็กที่พลัดหลงกับผู้ปกครอง ส่วนการทำงานของเครือข่ายเดือนตุลา จะเข้าไปมีส่วนในการชำระประวัติศาสตร์เหตุการณ์ครั้งนี้ ทั้งนี้จะมีนายสมบัติ บุญงามอนงค์ จากมูลนิธิกระจกเงาเป็นที่ปรึกษาของศูนย์ แต่เป็นการเข้าร่วมโดยส่วนตัวเพื่อเป็นที่ปรึกษาในการจัดทำฐานข้อมูล และประสานกับโรงพยาบาลต่างๆ โดยมีนิสิตนักศึกษาเป็นอาสาสมัครรับเรื่อง

 

นางวิภา ได้ขอให้คนที่ไม่กล้าแสดงตัวว่าได้รับความรุนแรงออกมาแสดงตัว ส่วนหน่วยงานหรือบุคคลที่ต้องการจะมาร่วมเป็นอาสาสมัครก็สามารถมาเข้าร่วมได้ นอกจากนี้ยังได้เรียกร้องไปถึงสื่อมวลชนที่อยู่ในระดับผู้ปฏิบัติงานในภาคสนาม ซึ่งอาจไม่ได้รับความยุติธรรมในวิชาชีพ ไม่มีโอกาสสะท้อนความจริงทางวิชาชีพเพราะข่าวหรือข้อมูลไม่ได้รับการเผยแพร่ ให้ลุกขึ้นมาสะท้อนความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

 

ด้านนายชัยนรินทร์ กุหลาบอ่ำ ผู้ประสานงานศูนย์รับเรื่องราวคนหายฯ กล่าวว่า ทางศูนย์ฯ ต้องการหาความจริงที่เป็นกลางที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาได้รับรู้เรื่องราวโดยการบอกเล่าที่แม้จะถือว่าเป็นสิ่งดี แต่ก็ต้องการข้อมูลที่พิสูจน์ตรวจสอบได้ ในส่วนนี้คิดว่าผู้เสียหายจริงน่าจะให้ข้อมูลตรงนี้ได้ดีที่สุด หรือคนที่ได้ถ่ายภาพหรือบันทึกคลิปเหตุการณ์เอาไว้ ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย ไม่เลือกว่าจะเป็นใคร เพียงมีจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

 

"ทำอย่างไรให้เรายืนอยู่ในความเป็นมนุษย์ ที่มีเหตุผล ให้นำหนักกับเขาอย่างเท่าเทียมกัน" นายชัยนรินทร์กล่าว

 

เขากล่าวด้วยว่าหากมีเบาะแสการเสียชีวิตจริงๆ ก็จะมีการสืบเสาะหา ทั้งนี้เขาได้ตั้งข้อสังเกต 2 ข้อ ถึงการคลี่คลายสถานการณ์ของรัฐว่ามีความถูกต้องชอบธรรมมากน้อยแค่ไหน "การเคลียร์" ของหน่วยงานความมั่นคงนั้นหมายถึงอะไร หากตรงนี้คือการไม่ให้คนชุมนุมอยู่บนพื้นที่ทางการเมืองตรงนี้เป็นไปโดยถูกต้องหรือไม่ และมีการสร้างความรุนแรงทั้งทางรายการรวมทั้งจิตใจหรือไม่ ส่วนการใช้ทหาร ตั้งข้อสังเกตว่าไม่มีครั้งใดที่จะเป็นไปตามระเบียบขั้นตอนสันติวิธี และตามคำกล่าวอ้างต่างๆ ของโฆษกไม่ว่าจะของรัฐบาลหรือกองทัพนั้นมีความเป็นจริงมากแค่ไหน

 

ทั้งนี้ ศูนย์รับเรื่องราวฯ จะตั้งโต๊ะรับเรื่องที่อนุสรณ์สถานตั้งแต่ 09.00-17.00 น ไม่เว้นวันเสาร์-อาทิตย์ รวมทั้งสามารถแจ้งมาได้ทางเบอร์โทรศัพท์ 083-812-5659 หรืออีเมลล์ ontontmong@hotmail.com และคาดการณ์ว่าจะมีการนำเสนอข้อมูลความคืบหน้าในการปฏิบัติงานทุกๆ 3 เดือน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท