Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จอม เพชรประดับ


 


 


เพราะสื่อคือ...อำนาจ และผลประโยชน์


 


องค์กรสื่อ มีจุดกำเนิดมาจากชนชั้นกลาง หรือชนชั้นปกครอง ที่ต้องการจะรักษาอำนาจตัวเอง


จึงใช้ สื่อ เพื่อรักษาอาณานิคมแห่งอำนาจของตัวเองไว้ สื่อยังถูกใช้เป็นบันไดเพื่อไต่เต้าขึ้นสู่อำนาจที่สูงขึ้น และผลประโยชน์ที่มากขึ้น นี่คือความจริงอีกด้านหนึ่งขององค์กรสื่อและบทบาทของนักสื่อสารมวลชน


 


ประชาชนจำนวนไม่น้อย อาจจะรู้สึกแปลกใจว่า ทำไมนักสื่อสารมวลชนทั้งหลาย มักจะใช้คำว่า "มวลชน" หรือ "ตัวแทนประชาชน" หรือ "สิทธิเสรีภาพของประชาชน" มากล่าวอ้างอยู่เสมอ และคำกล่าวอ้างลักษณะเช่นนี้ ก็มักจะถูกย้อนถามกลับมาด้วยเหมือนกันว่า เป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนจริงหรือ หรือว่าเป็นสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนด้วยกันเอง


 


เฉพาะอย่างยิ่งสภาพสังคมไทยในตอนนี้ที่แตกแยกแบ่งขั้วกันอย่างรุนแรง มีการใช้องค์กรสื่อเป็นอาวุธต่อสู้กัน รวมทั้งพยายามผลักดันให้สื่อเลือกข้างอย่างชัดเจน คำถามหรือข้อสงสัยของสังคมที่มีต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนจึงมีความถี่ และดังมากขึ้น


 


ถ้าอธิบายข้อสงสัยนี้ด้วยใจที่เป็นธรรม ก็อาจจะมีเค้าความจริง เพราะหากพิจารณาจากการก่อกำเนิดขึ้นและการดำรงอยู่ขององค์กรสื่อ รวมทั้งการปฎิบัติหน้าที่ขององค์กรสื่อทั้งหลาย เกือบจะไม่มีประชาชนหรือภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมเลยแม้แต่น้อย (ยกเว้นทีวีไทยที่มีสภาผู้ชม ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ที่รอการพิสูจน์ความเป็นองค์กรสื่อสาธารณะ)


 


แต่หากพิจารณาตามหลักการสากลของการปฎิบัติหน้าที่สื่อสารมวลชน หากสื่อสารมวลชนไม่มีสิทธิเสรีภาพในการปฎิบัติหน้าที่ ประชาชนเองก็ไม่อาจจะรับรู้ข้อเท็จจริงหรือข้อมูลข่าวสารได้อย่างกว้างขวางและทั่วถึงด้วยเช่นกัน ดังนั้นการแสวงหาความโปร่งใส ความเสมอภาค เพื่อเข้าใจสังคม หรือการถกเถียงทางปัญญา เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาของสังคมประเทศชาติก็ไม่อาจเกิดขึ้น


 


ในอีกสถานะหนึ่ง องค์กรสื่อ เปรียบเสมือนสำนักแห่งความคิด ที่ช่วยสร้างเสริมคุณค่าทางจิตใจและช่วยสร้างปัญญา ช่วยการกระตุ้นความคิดเพื่อแสวงหาคำตอบ เป็นสำนักที่ช่วยสร้างค่านิยมให้กับคนในสังคม กับบทบาทนี้ก็อาจจะมีข้อคำถามด้วยเหมือนกันว่า แล้วความคิด ค่านิยม หรือจิตสำนึกนี้ ใครเป็นผู้กำหนดขึ้นภายในองค์กรสื่อ


 


คำตอบก็คงจะอยู่ที่ประชาชนหรือผู้บริโภคสื่อเองว่า เมื่อได้รับข้อมูลข่าวสาร ข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านแล้ว จะตัดสินใจ หรือมีวิจารณญาณอย่างไร ก่อนที่จะนำไปสู่การกำหนดเป็นค่านิยม สร้างจิตสำนึก และสร้างทัศนคติให้เกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนจะต้องเป็นทัศนคติ หรือค่านิยมที่เป็นสากลและสร้างสรรค์


 


ในทางกลับกัน องค์กรสื่อเองก็มักมีคำกล่าวอ้างอยู่เสมอเช่นกัน เมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทำหน้าที่ไม่สร้างสรรค์ ไม่มีความรับผิดชอบ ไม่สร้างเสริมคุณธรรมที่ดี ไม่มีจรรยาบรรณในการทำหน้าที่ ตัวอย่างเช่น ข้อขัดแย้งระหว่างสถานีโทรทัศน์ที่เน้นผลิตละครน้ำเน่าในช่วงเวลาไพร์มไทม์ กับกลุ่มนักวิชาการหรือประชาชนที่ถามหาความรับผิดชอบของคนทำสื่อโทรทัศน์


 


เหตุผลที่เรามักได้ยินคำกล่าวอ้างจากคนทำสื่อในบางครั้งก็คือ สื่อสารมวลชนมีหน้าที่เพียงแค่นำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริงให้กับประชาชนได้รับรู้ให้มากที่สุดและรอบด้านที่สุด ส่วนประชาชนจะคิดหรือพิจารณาอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับวิธีคิด วิจารณญาณ หรือการวินิจฉัยของประชาชนเอง คำอธิบายนี้ ผู้บริโภคหรือประชาชนที่ฟังก็อาจจะบอกว่า เป็นคำพูดที่ไม่รับผิดชอบของสื่อมวลชนด้วยเหมือนกัน


 


เพราะหากต้นธารของข้อมูลข่าวสารเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่บริสุทธิ์ อคติ หรือมีส่วนผสมของความเชื่อแนวคิด ค่านิยมของตัวผู้ส่งข่าว หรือมีผลประโยชน์แอบแฝงเข้ามาปนเปื้อนผสมผสานเข้าไปด้วย ก็ไม่ต่างอะไรกับการใช้ข้อมูลข่าวสารเพื่อล้างสมอง หรือควบคุมความคิดของผู้คน โดยไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนผู้รับสารได้ใช้ความคิด หรือใช้วิจารณญาณของตัวเองอย่างแท้จริง


 


ที่ยกคำแย้ง หรือข้อคำถามที่สังคมมีต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนมาพูดถึง เพราะคำถามลักษณะเช่นนี้มีมากขึ้นในยุคปัจจุบัน หากคนทำสื่อ หรือองค์กรสื่อเองไม่สนใจต่อข้อสงสัยเหล่านี้ หรือมองว่าเป็นข้อสงสัยหรือคำถามชวนหาเรื่อง เป็นคำถามของฝ่ายตรงกันข้าม ก็ยิ่งจะทำให้ช่องว่างระหว่างองค์กรสื่อหรือคนข่าวกับประชาชนขยายวงกว้างและห่างไกลกันมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการสอดคล้องกับความคิดเดิมของประชาชนที่มองว่า องค์กรสื่อกับภาคประชาชน เป็นคนละกลุ่ม คนละพวกกัน


 


โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความขัดแย้งระหว่างขั้วอำนาจที่ห้ำหั่นกันอยู่เวลานี้ มีความพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะใช้สื่อหรือดึงสื่อเข้ามาเป็นพวกหรือยืนข้างเดียวกับตน หรือความพยายามของผู้ที่หวังจะได้อำนาจ โดยอาศัยเสื้อคลุมสื่อมวลชนเพื่อเดินเข้าสู่เส้นทางแห่งอำนาจ


 


ความพยายามผลักดันหรือกดดันให้สื่อเลือกข้างมีมากขึ้น โดยอ้างว่าข้างที่ตัวเองยืนนั้นเป็นข้างที่ถูกต้อง และเสียสละทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมอย่างแท้จริง แต่ความถูกต้องหรือผลประโยชน์เพื่อส่วนรวมที่กล่าวอ้างของแต่ละฝ่าย ก็ไม่ได้ผ่านการพิสูจน์หรือชี้วัดให้ประชาชนประจักษ์ชัดแต่อย่างใด


 


ความพยายามและปรากฎการณ์ในลักษณะเช่นนี้เอง ที่ทำให้ภาพการปฎิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนในเวลานี้ถูกตั้งคำถาม และถูกจับตามองจากสังคมอย่างที่ไม่เคยกิดขึ้นมาก่อน รวมทั้งการผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาใช้สื่อของรัฐ เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง จนทำให้ประชาชนสับสน ประกอบกับคนทำสื่อหรือสำนักสื่อบางแห่ง ก็ใช้ความเป็นสื่อสารมวลชนเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเอาเป็นเอาตายด้วยเหมือนกัน


 


ความจริงที่ต้องยอมรับ ในความเป็นองค์กรสื่อปัจจุบันคือ การผสมผสานระหว่างอำนาจ ผลประโยชน์ และการทำหน้าที่สื่อสารมวลชน บ้างก็บอกว่าเป็นการทำหน้าที่เพื่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน แต่หนักไปทางแสวงหาอำนาจทางการเมือง บ้างก็บอกว่าเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา แต่ก็หนักไปทางแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจ บ้างก็ผสมผสาน คละเคล้ากันไป แต่ไม่ว่าองค์กรสื่อแต่ละสำนักจะมีส่วนผสมของอำนาจหรือผลประโยชน์อย่างไร สิ่งที่ยังคงไม่เปลื่ยนนั่นก็คือ การเป็นองค์กรที่ไม่ถูกตรวจสอบอย่างจริงจังจากสังคม แม้ว่าในทางกฎหมายจะทำได้อย่างเต็มที่ แต่ด้วยคุณลักษณะและองค์ประกอบของความเป็นองค์กรสื่อ ทำให้ประชาชนเองไม่กล้า และยำเกรงกลัวต่ออำนาจและอิทธิพลของสื่อมวลชน


 


องค์กรสื่อทั้งหลายนั้นไม่ต้องการถูกตรวจสอบอย่างใกล้ชิดและจริงจัง ทั้งจากรัฐบาลและจากสังคม เพราะจะเป็นการขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ด้วยเหตุนี้ องค์กรสื่อจึงได้ร่วมกันจัดตั้ง สมาคมวิชาชีพสื่อสารมวลชน ขึ้น เพื่อตรวจสอบดูแล และท้วงติงกันเอง แต่บทพิสูจน์ในรอบหลายปีที่ผ่านมา สมาคมวิชาชีพสื่อก็ไม่แตกต่างจากสมาคมวิชาชีพอื่น ๆ ที่ยังคงมองประชาชน หรือผู้บริโภคไม่ใช่คนพวกเดียวกับตน ไม่ได้สนใจปกป้องคุ้มครองประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการปฎิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนเท่าที่ควร มุ่งเน้นแต่เฉพาะสิทธิประโยชน์และสวัสดิภาพสวัสดิการของคนในวิชาชีพเป็นหลัก ถึงกระนั้นหน้าที่นี้ก็ดูแลไม่ทั่วถึงเต็มที่กับปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับคนข่าวในวิชาชีพเดียวกัน


 


การตรวจสอบหรือท้วงติงกันเองขององค์กรสื่อไม่ได้ผล เพราะความเป็นพรรคพวกเพื่อนฝูง ความเกรงอกเกรงใจ ในความเป็นคนวิชาชีพเดียวกัน


 


แล้วประชาชนผู้บริโภคข้อมูลข่าวสาร จะมีตัวช่วยอะไรบ้างในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่านองค์กรสื่อทั้งหลาย รวมทั้งจะได้รับการปกป้องดูแล จากผลกระทบของการปฎิบัติหน้าที่สื่อมวลชนได้อย่างไร เรื่องนี้ดูเหมือนไม่อาจจะหวังพึ่งหน่วยงานใด หรือใครได้ นอกจากต้องพึ่งตัวเอง


 


สิ่งที่ผู้บริโภคสื่อทำได้โดยไม่ต้องกลัวถูกล้างสมอง และตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองนั่นก็คือ เพิ่มแว่นขยาย เพื่อช่วยกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารที่ผ่านการนำเสนอของแต่ละสำนักข่าวให้มากขึ้น รวมทั้งติดตามภูมิหลัง การเคลื่อนไหว และแนวนโยบายขององค์กรสื่อนั้น ๆ หรือแม้กระทั่งคนข่าวที่นำเสนอข่าวนั้นมาพิจารณาและการตัดสินใจประกอบด้วย


 


การศึกษาภูมิหลังขององค์กรสื่อ แต่ละองค์กร โดยเฉพาะองค์กรสื่อที่อยู่ในความสนใจของเราเองว่า มีที่มา มีจุดยืน หรือมีหลักการอย่างไร คงต้องอาศัยหลักการพิสูจน์เปรียบเทียบกันมากพอสมควร เช่น เมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญๆ ขึ้น เป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบหรือสร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่ประชาชนคนหมู่มาก บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นมีท่าทีอย่างไร การให้พื้นที่กับข่าวนั้นมากน้อยแค่ไหน และคนข่าวของสื่อนั้น จะโน้มเอียงไปในทิศทางใด เช่น แสดงความกระตือรือร้น เดือดเนื้อร้อนใจ กับปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนส่วนใหญ่หรือไม่ และถ้าเป็นเหตุการณ์ปฎิวัต รัฐประหารเกิดขึ้น ยิ่งจะเป็นการพิสูจน์จุดยืนและอุดมการณ์ขององค์กรสื่อแต่ละสำนักได้เป็นอย่างดี


 


เมื่อความคาดหวัง และการตรวจสอบและตั้งคำถามจากสังคมเพิ่มมากขึ้นเช่นนี้ คนทำสื่อ หรือคนข่าว ในแต่ละสำนักข่าว ก็จะต้องหันมาสำรวจตรวจสอบตัวเองกันมากขึ้นด้วยเช่นกัน ไม่เฉพาะแต่การตรวจสอบข้อเท็จจริงที่นำเสนออกไปว่าครบถ้วนสมบูรณ์และรอบด้านมากน้อยเพียงใดเท่านั้น แต่คงต้องหันมาตรวจสอบตัวเองด้วยว่า ข้อมูลข่าวสารที่นำเสนอออกไปนั้น มาจากความรู้สึกชอบไม่ชอบ โกรธเกลียด อิจฉาริษยา หรือผลประโยชน์ของตัวเอง หรือขององค์กรผสมปนเปื้อนเข้าไปด้วยหรือไม่


 


ผู้เขียนยังจำคำสอนของอาจารย์ขรรค์ชัย บุนปาน และอาจารย์พงษ์ศักดิ์ พยัควิเชียร ผู้บริหารของหนังสือพิมพ์มติชน และนักข่าวอาวุโสอีกหลายท่านขององค์กรสื่อแห่งนี้ ที่ได้สั่งสอนอบรมทุกครั้งของการประชุมข่าวในแต่ละวัน ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นชีวิตนักข่าวของผู้เขียนเองเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้วว่า


 


 "ก่อนที่พวกคุณจะออกจากบ้านไปทำงานทุกเช้า ต้องหัดดูตัวเองในกระจก และถามตัวเองทุกครั้งก่อนไปทำงานว่า เราเป็นใครมาจากไหน กำลังทำอะไร และกำลังทำเพื่อใคร"


 


คำตอบคงอยู่ในใจของนักข่าว หรือนักสื่อสารมวลชนทุกคนดีอยู่แล้ว


 


 


 


อ่านบทความก่อนหน้านี้


- จอม เพชรประดับ บันทึกอดีตคนหน้าจอ 2: ปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปสื่อ ปฏิรูปผู้สื่อข่าวการเมือง


- บันทึก (อดีต) คนหน้าจอ "จอม เพชรประดับ" (1): แกล้งโง่ และหลอกตัวเอง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net