ก้าวต่อไป การประกาศ "มาบตาพุด" เป็น "เขตควบคุมมลพิษ"

สืบเนื่องจาก การประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (บอร์ดสวล.) ซึ่งมี นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้มีมติประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดและตำบลบ้านฉางเป็นเขตควบคุมมลพิษเป็นเขตควบคุมมลพิษ ตามที่ศาลปกครองระยองมีคำพิพากษา ในวันที่ 3 มี.ค.52 แต่ให้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองที่มีคำวินิจฉัยระบุคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ ละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่เรื่องการประกาศเขตควบคุมมลพิษ

 

วานนี้ (17 มี.ค.) เครือข่ายสิ่งแวดล้อมผู้ทำงานร่วมกับเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก อาทิ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) มูลนิธินโยบายสุขภาวะ โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และกลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต และประชาชนผู้ฟ้องคดี จัดแถลงข่าว "ก้าวต่อไปหลังมีคำพิพากษา เขตควบคุมมลพิษ มาบตาพุด และกรณีความเห็นคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ" ณ ห้องประชุมชั้น 4 มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เพื่อชี้แจงสร้างความเข้าใจต่อสาธารณะ รวมทั้งกำหนดท่าทีต่อกรณีดังกล่าว

 

สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ผู้รับมอบอำนาจยื่นฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต่อศาลปกครองระยอง ในคดีสิ่งแวดล้อมข้างต้น กล่าวว่า ในส่วนผลทางกฎหมายการยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองที่มีคำวินิจฉัยระบุคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ ละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่เรื่องการประกาศเขตควบคุมมลพิษของ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาตินั้น จะมีผลให้ไม่ต้องผูกพันที่จะประกาศเขตควบคุมมลพิษภายใน 60 วันตามคำพิพากษาของศาล

 

ส่วนที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจะประกาศเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่ดังกล่าวนั้นถือเป็นอำนาจหน้าที่ ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเงื่อนเวลา 60 ตามคำสั่งศาลปกครองระยอง

 

 

มาตรา 59 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535

"ใน กรณีที่ปรากฏว่าท้องที่ใดมีปัญหามลพิษซึ่งมีแนวโน้มที่จะร้ายแรงถึงขนาด เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อ คุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้ ท้องที่นั้นเป็นเขตควบคุมมลพิษเพื่อดำเนินการ ควบคุม ลด และขจัดมลพิษได้"

 

 

"การเห็นด้วยกับผล (ให้ประกาศเขตควบคุมมลพิษ) แต่ไม่เห็นด้วยกับเหตุ (คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติละเลยไม่ประกาศเขตควบคุมมลพิษ) มันแยกกันไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การอุทธรณ์จะมีผลทุเลาต่อการบังคับคดีภายใน 60 วัน" สงกรานต์กล่าว

 

สงกรานต์อธิบายเพิ่มเติมว่า ในการฟ้องคดีของกลุ่มชาวบ้านนั้นมีเหตุของการยื่นฟ้อง คือ การที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติละเลยไม่ประกาศให้พื้นที่ตำบลมาบตาพุด และเทศบาลเมืองมาบตาพุด ตลอดจนพื้นที่ข้างเคียงที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรงเป็นเขตควบคุมมลพิษ และมีคำขอให้ศาลพิพากษาให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศให้ พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตควบคุมมลพิษ ซึ่งศาลก็ได้ตัดสินตามนั้น

 

ทั้งนี้ การอุทธรณ์เหตุดังกล่าวจะมีผลให้การบังคับคดีตามที่ศาลมีคำพิพากษาให้ประกาศเขตควบคุมมลพิษ ต้องล่าช้าออกไปอย่างน้อย 1-2 ปี คือจนกว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด

 

สำหรับการประกาศเขตควบคุมมลพิษของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ นั้นแตกต่างกับการประกาศเขตควบคุมมลพิษตามคำพิพากษาศาล โดยในส่วนพื้นที่ที่จะประกาศเขตควบคุมมลพิษและช่วงระยะเวลา เป็นสิ่งที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ จะเป็นผู้กำหนด อาจไม่ตรงกับคำพิพากษาศาล ซึ่งสามารถทำได้เร็วกว่าคำพิพากษาของศาล แต่ในส่วนคำพิพากษาศาลหากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ ไม่ปฏิบัติตามสามารถฟ้องบังคับคดีได้ ส่วนการประกาศตามอำนาจของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ เองนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้

 

 

16 มี.ค.52 ศาลปกครองระยองมีคำพิพากษาให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประกาศให้ท้องที่เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด ในเขตท้องที่รวม 5 ตำบล ได้แก่ ใน ต.มาบตาพุด ต.ห้วยโป่ง ต.เนินพระ ต.มาบข่า และต.ทับมา (3 ตำบลหลัง เทศบาลเมืองมาบตาพุดครอบคลุมพื้นที่เป็นบางส่วน) รวมทั้ง ต.บ้านฉาง อ.บ้านฉาง ทั้งตำบล เป็นเขตควบคุมมลพิษ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

 

 

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ หรือการเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังไม่มีการพูดคุยที่แน่ชัดเกี่ยวกับเรื่องพื้นที่และการกำหนดระยะเวลาในการประกาศเขตควบคุมมลพิษ เหล่านี้ถือเป็นเรื่องที่ต้องจับตาดู อย่างไรก็ตาม ในส่วนกระบวนการทางคดีต้องมีการสู้กันต่อไปในชั้นศาลปกครองสูงสุด

 

ไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวว่าการประกาศเขตควบคุมมลพิษเป็นสิ่งที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ สามารถดำเนินการได้เลย แต่ที่ผ่านมากลับละเลย ไม่เห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อม ไม่คำนึงถึงชีวิตผู้คนที่ต้องสูญเสียเพื่อชดเชยความมั่งคั่งที่ได้มา การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่มาบตาพุดต้องใช้หลายหลายมาตรการ และใช้เวลาหลายสิบปีกว่าจะมาถึงวันนี้ที่จะมีการประกาศเขตควบคุมมลพิษโดยใช้อำนาจของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ

 

ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ต้องตระหนักถึงกันอย่างถ้วนหน้าในเรื่องของการลงทุนที่ทำลายชีวิต ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในส่วนของนักลงทุนที่ต้องรับผิดชอบต่อชีวิตคน สังคม และสิ่งแวดล้อมที่จะตกทอดไปถึงลูกหลานในวันข้างหน้า

 

ไพโรจน์กล่าวถึงข้อเสนอเกี่ยวกับก้าวต่อไปหลังมีคำพิพากษา เขตควบคุมมลพิษในพื้นที่มาบตาพุดว่า 1.คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติควรเร่งประกาศให้มาบตาพุดเขตควบคุมมลพิษโดยเร็ว และควรดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษ อย่างเข้มงวดกวดขัน 2.สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ ให้ได้เข้าถึงข้อมูล ร่วมเสนอมาตรการแก้ไขเยียวยา รวมทั้งกระบวนการกำกับและติดตามผลการดำเนินงาน

 

"ให้เป็นการทำงานร่วมระหว่างองค์กรท้องถิ่นและองค์กรประชาชน โดยมีรัฐบาลให้การสนับสนุน ไม่ใช้ปล่อยให้ต้องเผชิญหน้ากับการแก้ปัญหาเพียงลำพัง" ไพโรจน์กล่าวแสดงความคิดเห็นโดยมองว่าการจัดการหรือต่อรองกับฝ่ายผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่มีทั้งทุน และอำนาจ เป็นสิ่งที่ยากเกินไปหากไม่มีรัฐมาช่วยหนุนเสริม

 

สุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่าการประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษเป็นความเห็นที่สอดคล้องกันของทั้งฝ่ายบริหารและตุลาการ จึงสมควรให้ประกาศทันทีโดยไม่มีการประวิงเวลา หลังจากมีการนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (17 มี.ค.) และก่อนหน้านี้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบ ก็ควรมีการดำเนินการต่อในขั้นของการประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

สุทธิกล่าวด้วยว่าเครือข่ายภาคประชาชนต้องการเห็นแผนลดและขจัดมลพิษที่ตรงจุดในการแก้ปัญหา โดยตระหนักถึงสภาพที่แท้จริงของพื้นที่ และทิศทางที่จะเดินไปข้างหน้าต้องยกระดับกฎหมายให้นำไปสู่การปฏิบัติที่ครบองค์ประกอบ

 

"ไม่ใช้ประกาศเพื่อประกาศ แต่ต้องนำไปสู่การแก้ปัญหาที่แท้จริง" สุทธิกล่าว

 

 

 

บทวิเคราะห์ "เครดิต สวิส"

 

(17 มี.ค.52) เครดิต สวิส ธนาคารเอกชนและวาณิชธนกิจแห่งสวิตเซอร์แลนด์ ออกบทวิเคราะห์กรณีศาลปกครองมีคำสั่งให้เขตอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง เป็นเขตควบคุมมลพิษ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมไม่ยื่นอุทธรณ์ ว่า คำสั่งดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบมากต่อโครงการที่มีอยู่เดิมหรือที่กำลังดำเนิน อยู่ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เพราะประเมินว่าการเพิ่มมาตรการควบคุมสิ่งแวดล้อมจะสร้างภาระค่าใช้จ่ายการ ลงทุนน้อยกว่า 10 % ต่อปี นอกจากนี้ประเมินว่าจะไม่มีผลกระทบมากต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ เช่นกัน แม้ว่าคำสั่งของศาลจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวจะค่อยๆ ส่งผลกระทบทางลบต่อทั้ง ปตท.และปูนซิเมนต์ไทย ซึ่งอาจจะทำให้ทั้งสองบริษัทเน้นการลงทุนไปยังต่างประเทศแทน
 

"แม้ว่าอุตสาหกรรมต่างๆ จะประเมินว่าคำสั่งของศาลจะทำให้การลงทุนลดลงมาก แต่เราเห็นว่าในระยะสั้นจะส่งผลกระทบในวงจำกัด เพราะการจะพัฒนากฎระเบียบใหม่ในการควบคุมมลพิษจะต้องใช้เวลานานพอสมควร ดังนั้นเรื่องต้นทุนที่มีต่ออุตสาหกรรมจึงเป็นเรื่องที่บริหารจัดการได้" บทวิเคราะห์ระบุ
 

บทวิเคราะห์ระบุว่า อย่างไรก็ตามในระยะยาว การประกาศเขตควบคุมมลพิษใน จ.ระยองอาจส่งผลกระทบมากต่อโครงการปิโตรเคมีและโรงกลั่นที่จะเกิดขึ้นใหม่ อย่างไรก็ตามเรากลัวมาตรการควบคุมมลพิษที่เข้มงวดน้อยกว่ากลัวความไม่แน่นอน ของกระบวนการทางการเมืองในการควบคุมมลพิษ เพราะเท่าที่พูดคุยกับตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรม พบว่าสิ่งที่คนเหล่านี้กังวลคือความไม่แน่นอนว่ากฎระเบียบควบคุมมลพิษที่จะ ออกมาใหม่จะเป็นอย่างไร เนื่องจากขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้ตัดสินใจในขั้นสุดท้าย เราหวังว่าคงไม่ยุ่งเหยิงแบบกรณีของอินโดนีเซียที่ทุกสิ่งอย่างในการควบคุม มลพิษขาดความชัดเจนว่าอยู่ในอำนาจของใครระหว่างเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นกับ รัฐบาล
 

บทวิเคราะห์ระบุว่า ประเทศไทยยังไม่มีบรรทัดฐานแข็งแกร่งในการพัฒนากระบวนการออกกฎระเบียบควบคุม มลพิษ แม้ว่าไทยจะมีการประกาศเขตควบคุมมลพิษไปแล้ว 17 เขต แต่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตท่องเที่ยว มีเพียง 2 แห่งที่เป็นเขตอุตสาหกรรมคือสมุทรปราการและสระบุรี แต่ทั้งสองแห่งก็ไม่ประสบปัญหากดดันมากเท่ากับมาบตาพุด เพราะสมุทรปราการเป็นแหล่งอุตสาหกรรมสิ่งทอซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่อัสดงแล้ว ส่วนสระบุรีเป็นแหล่งอุตสาหกรรมซีเมนต์ซึ่งไม่ยุ่งยากในการลดฝุ่น ดังนั้นมาบตาพุดจะเป็นบททดสอบแรกที่หนักหนาสำหรับไทย
 

การตัดสินใจเกี่ยวกับมาบตาพุด อาจจะทำให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและโรงกลั่นที่เป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่าง รวดเร็วของไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ชะลอตัวลง ขณะที่แรงจูงใจใหม่ๆ ในการผลิตมีน้อยลง ตามทฤษฎีแล้วผู้ลงทุนก็อาจหนีจากมาบตาพุดที่แออัดไปลงทุนในแถวภาคใต้แทน แต่รัฐบาลก็ยังไม่ได้ให้การสนับสนุนต่อแผนการพัฒนาลงทุนในระยะยาวเพื่อสร้าง แรงจูงใจและเตรียมสาธารณูปโภคพื้นฐานในภาคใต้ ชัยชนะในคดีมาบตาพุดอาจทำให้องค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ต่อต้านการขยายการลงทุนดังกล่าวในภาคอื่น
 

"เราตระหนักว่าพัฒนาการทางการเมืองและเศรษฐกิจของไทยดำเนินมาถึงจุดที่วาง ความสำคัญต่อคุณค่าทางสิ่งแวดล้อมไว้สูงและเต็มใจน้อยลงที่จะทนต่ออากาศและ น้ำที่มีมลพิษเพื่อแลกกับการเติบโตทางจีดีพี เราคิดว่าอุตสาหกรรมที่ปล่อยมลพิษสูงจะได้รับการสนับสนุนน้อยลงจากรัฐบาลและ สังคมส่วนใหญ่" บทวิเคราะห์ระบุ
 

ที่มา: มติชนออนไลน์

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

- บอร์ดสิ่งแวดล้อมยืนยันประกาศ "มาบตาพุด" เป็นเขตควบคุมมลพิษ

- ก้าวต่อไปการแก้ปัญหามลพิษ "มาบตาพุด" หลัง "คำพิพากษา"

- ชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ ศาลสั่ง "มาบตาพุด" เป็น "เขตควบคุมมลพิษ"

- นัดแรกคดี "ชาวมาบตาพุด" ฟ้อง "คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ" ตุลาการแถลงให้ประกาศเป็น "เขตควบคุมมลพิษ"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท