Skip to main content
sharethis


นักกิจกรรมพม่าที่กรุงเทพ จุดเทียนเนื่องในวันสิทธิมนุษยชนพม่า เมื่อ 13 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยในวันนี้มีการเปิดตัวการณรงค์ล่าชื่อ 888,888 ชื่อเรียกร้องปล่อยตัวนักโทษการเมืองด้วย (ที่มา: Reuters/Irrawaddy)


 



โปสเตอร์ที่ใช้ในการรณรงค์ (ที่มา: http://www.fbppn.net/?page_id=325)


 


 


องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนพม่าที่ปฏิบัติงานอยู่ในประเทศไทย ได้แก่ สมาคมให้ความช่วยเหลือนักโทษการเมืองในพม่า (Assistance Association for Political Prisoners—Burma หรือ AAPP) และสมัชชาเพื่อประชาธิปไตยในพม่า (the Forum for Democracy in Burma - FDB) ซึ่งมีองค์กรต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าหลัก ที่มีสมาชิก 7 กลุ่ม พวกเขาถือโอกาสใน "วันสิทธิมนุษยชนพม่า" เปิดตัวการรณรงค์ระดับนานาชาติ "ปล่อยนักโทษการเมืองในพม่าเดี๋ยวนี้" (Free Burma"s Political Prisoners Now) (www.fbppn.net) เมื่อ 13 มี.ค. ที่ผ่านมา


 


โดยในประเทศไทยมีการเปิดตัวการรณรงค์ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) ในกรุงเทพมหานคร และที่ศูนย์นานาชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


 


 


ตั้งเป้า 888,888 รายชื่อ ยื่นก่อนครบกำหนดปล่อยตัวออง ซาน ซูจี


โดยการรณรงค์ดังกล่าวจะทำการล่ารายชื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองในพม่า โดยตั้งเป้าจะล่ารายชื่อให้ได้ 888,888 รายชื่อภายในวันที่ 24 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันครบกำหนดการปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) จากการถูกกักบริเวณในบ้าน


 


โดยมีการรณรงค์ล่าชื่อทั้งในประเทศไทย ออสเตรเลีย แคนาดา ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ อังกฤษ และอีกหลายประเทศ


 


สาเหตุที่นักกิจกรรมพม่าเลือกวันที่ 13 มีนาคม เป็นวันเปิดตัวการณรงค์ เนื่องจากวันดังกล่าวถือเป็น "วันสิทธิมนุษยชนพม่า" ซึ่งวันดังกล่าว เป็นที่ผู้นำฝ่ายประชาธิปไตยพม่ารวมทั้งออง ซาน ซูจี จัดการรำลึกถึงการเสียชีวิตของ 2 นักกิจกรรมพม่า โพน หม่อ (Phone Maw) และ ซอ หน่าย (Saw Naing) อันเนื่องจากเหตุปะทะกับตำรวจในปี 1988


 


สำหรับการล่ารายชื่อนี้ จะมีการยื่นต่อนายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติด้วย โดยก่อนหน้านี้นาย บัน คี มุน เคยเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองในพม่าด้วย


 


 


เผยพม่าขังนักโทษการเมืองมากกว่า 2,100 คน


"เหตุผลหลักของการรณรงค์ เพื่อสร้างความตระหนักแก่ประชาคมนานาชาติถึงสภาพอันเลวร้ายที่นักโทษการเมืองในพม่าต้องเผชิญ และเพื่อสร้างแรงกดดันต่อรัฐบาลทหารพม่า" นายเทต หน่าย (Tate Naing) เลขาธิการ AAPP ระบุ


 


"การปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมดเป็นก้าวที่สำคัญของการสร้างประชาธิปไตยและความปรองดองของพม่า" เขากล่าว


 


เลขาธิการ AAPP ผู้นี้ยังกล่าวว่า การเลือกตั้งในปี 2553 ของพม่าจะไม่มีความหมาย ถ้าในวันเลือกตั้งยังไม่มีการปล่อยนักโทษการเมือง


 


ขิ่น โอมาร์ (Khin Omar) จาก FDB กล่าวว่า "หากไม่มีการปล่อยนักโทษทางการเมือง ย่อมไม่เกิดสันติภาพและเสถียรภาพขึ้นในประเทศ


 


สำหรับขิ่น โอมาร์ เป็นนักกิจกรรมจากพม่า ที่ถูกรัฐบาลทหารพม่ากันไม่ให้เข้าพบระหว่างการประชุมอาเซียนซัมมิทในประเทศไทย พร้อมกับนักกิจกรรมจากกัมพูชาที่ถูกผู้นำของประเทศตนปฏิเสธให้เข้าพบเช่นกัน


 


ข้อมูลจากกลุ่มผู้รณรงค์ล่ารายชื่อระบุว่าขณะนี้มีนักโทษการเมืองมากกว่า 2,100 คน เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวหลังเหตุการณ์ประท้วงของพระสงฆ์และประชาชนในเดือนสิงหาคม 2550 นักโทษการเมืองเหล่านี้ล้วนเผชิญความทุกข์ทรมานอยู่ในเรือนจำของพม่า โดยสาเหตุที่ทำให้พวกเขาต้องโทษจำคุกเกิดจากการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยและทำงานในประเด็นสิทธิมนุษยชน


 


คำพูดของออง ซาน ซูจี ที่ว่า "นักโทษการเมืองไม่ได้ก่ออาชญากรรมใดมากไปกว่าการแสดงออกซึ่งความเชื่อทางการเมืองของพวกเขาผ่านคำพูดและการกระทำ" ถูกใช้ในแผ่นพับของการรณรงค์ดังกล่าวด้วย


 


"นักโทษการเมืองที่ถูกจับขณะปฏิบัติงาน มากกว่าที่ถูกจับมากกว่าพวกที่เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง แต่พวกเรารู้ว่าเหตุผลที่แท้จริงในการจับกุมพวกเขาเป็นเรื่องการเมือง"


 


ซูจี เป็นเลขาธิการพรรค NLD ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของพม่า และในรอบ 19 ปีนี้ เธอถูกกักบริเวณภายในบ้านถึง 13 ปี และได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในขณะที่ยังถูกจับกุม


 


 


ชะตากรรมของเมียะ เอ จากปากคำของลูกสาว


นอกจากออง ซาน ซูจี ยังนักโทษการเมืองคนอื่นๆ ในพม่า อย่างนายเมียะ เอ (Mya Aye) ต้องฉลองวันคล้ายวันเกิดวัย 54 ปี แต่เพียงลำพัง เมื่อวันที่ 10 มี.ค. ที่ผ่านมาในเรือนจำเมืองลอยก่อ รัฐคะเรนนี


 


อิรวะดี เปิดเผยถึงชะตากรรมของเมียะ เอ นักโทษการเมืองวัน 54 ปี ซึ่งเขาต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 65 ปี ในข้อหาร่วมทำกิจกรรมทางการเมือง เขาถูกจับเมื่อ 21 สิงหาคม 2550 ที่บ้านพักพร้อมกับนักกิจกรรม 12 ราย ในจำนวนนี้มีทั้ง มิน โก นาย (Min Ko Naing) โก โก จี (Ko Ko Gyi) เท วิน อ่อง (Htay Win Aung) มิน เซยา (Min Zeya) จ่อ มิน ยู (Kyaw Min Yu หรือ Jimmy) หลังจากพวกเขาเป็นผู้นำประท้วงการขึ้นราคาน้ำมันและราคาสินค้า เมื่อ 19 สิงหาคมของปีนั้น


 


เมียะ เอ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง และเป็นหนึ่งในผู้นำของสมาคมบัณฑิตเพื่อประชาธิปไตย (Graduated Old Student Democratic Association - GOSDA) ช่วงการเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 2531 โดยเขาถูกจับเป็นครั้งแรกเมื่อ 20 มิถุนายน 2532 หลังเป็นผู้นำเดินขบวนประท้วง ถูกลงโทษจำคุก 8 ปี แต่เขาถูกปล่อยก่อนกำหนดในปี 2539


 


ไว นิน พวินท์ ถ่อน (Wai Hnin Pwint Thon) บุตรสาวของเมียะ เอ กล่าวผ่านบันทึกเทปวิดีโอว่า "เมื่อฉันอายุ 5 เดือน พ่อของฉันต้องโทษ 8 ปี จากการร่วมเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 1988 (พ.ศ. 2531) ฉันพบกับพ่อครั้งแรกเมื่ออายุ 4 ปี แต่พ่อก่อต้องติดคุกอีกโดยที่ฉันไม่มีโอกาสที่จะได้กอดเขา"


 


บุตรสาวของเขากล่าวว่า หลังจากที่เมียะ เอ ได้รับการปล่อยตัวในปี 2539 เมียะ เอ ยังคงทำกิจกรรมทางการเมืองเรียกร้องให้มีการฟื้นฟูเสรีภาพ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนขึ้นในพม่า


 


"สัสดีเรือนจำทรมานเขาทุกวิถีทาง ทั้งช็อตไฟฟ้า ทั้งการคุกคามทางเพศ และกดขี่นานา" ไว นิน พวินท์ ถ่อน กล่าว


 


"เมื่อฉันอายุมากขึ้น ฉันจึงเข้าใจถึงสาเหตุที่พ่อต้องติดคุก ฉันชื่นชมการอุทิศของเขาเพื่อประเทศนี้ และเพื่อประชาชนของเขา ฉันคิดว่าเขาเป็นคนที่กล้าหาญ"


 


 


ที่มาของข่าว: แปลและเรียบเรียงจาก


Political Prisoners Doubled in Two Years, Say Activists, By WAI MOE, Irrawaddy,


http://www.irrawaddy.org/article.php?art_id=15302


 


Signatures Wanted to Free Political Prisoners, By MIN LWIN, Irrawaddy, Wednesday, March 11, 2009 http://www.irrawaddy.org/article.php?art_id=15283


 


Free Burma"s Political Prisoners Now, http://www.fbppn.net/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net