Skip to main content
sharethis



ระดมความเห็นปรับปรุงทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่เป็นพื้นที่สาธารณะรอบล่าสุด อดีต ผอ.เรือนจำแนะอนุรักษ์อาคารเก่าไว้ เพราะเข้าข่ายโบราณสถาน อาจปรับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเก็บค่าชมได้ "ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์" แย้ง สิ่งสร้างความสะเทือนใจไม่ควรเก็บรักษาและยกย่อง อ้างความเชื่อล้านนาทิศเหนือถือเป็นส่วนหัวของเมืองเป็นพื้นที่มงคลแต่กลับนำมาใช้คุมขังนักโทษ แถมนำอิฐกำแพงเมืองเก่าไปสร้างกำแพงเรือนจำและค่ายทหาร



การรับฟังข้อเสนอการปรับปรุงพื้นที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่
เป็นพื้นที่สาธารณะครั้งล่าสุดเมื่อ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา



 


จากกรณีที่มีมติคณะรัฐมนตรีให้ย้ายทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ซึ่งตั้งอยู่กลางเมืองเชียงใหม่ไปยังที่แห่งใหม่ที่อำเภอแม่แตง จ.เชียงใหม่ ในปี พ.ศ.2552 และให้ปรับปรุงพื้นที่เดิมเป็นสวนสาธารณะ เนื่องจากสถานที่เดิมไม่สามารถรองรับผู้ต้องขังที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นได้ โดยเทศบาลนครเมืองเชียงใหม่ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อให้การดำเนินโครงการปรับปรุงพื้นที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่เดิมเป็นสวนสาธารณะสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งปัจจุบันทัณฑสถานหญิงแห่งใหม่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างโดยคืบหน้าไปกว่าครึ่ง


 


ทั้งนี้พื้นที่ดังกล่าวนั้นอยู่ในบริเวณเดียวกับหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ หอศิลป์ล้านนา และหอประวัติศาสตร์เมืองซึ่งมีพื้นที่เชื่อมโยงถึงกันหมด ซึ่งรวมถึงที่ตั้งทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ที่จะมีการปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นสวนสาธารณะด้วย


 


สำหรับบริเวณที่ตั้งทัณฑสถานหญิงเดิมนี้ถือว่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างมากเนื่องจากเป็นเขตพระราชฐานของราชวงศ์ผู้ปกครองเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีอายุยืนยาวมากกว่า 700 ปี ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นเรือนจำเมื่อปี พ.ศ.2445 ในช่วงปฏิรูปการปกครองมณฑลเทศาภิบาล ที่มีการผนวกประเทศราชเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลกลาง


 


โดยภายในพื้นที่ดังกล่าวมีการพบบ่อน้ำที่มีอายุกว่า 700 ปี ใกล้เคียงกันมีศาลเจ้าพ่อมือเหล็กที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่เคารพนับถือตั้งแต่สมัยพญามังราย ซึ่งถือว่าเป็นโบราณสถานที่ล้ำค่าและเหลืออยู่นับตั้งแต่สมัยราชวงศ์มังราย


 


 


ยืนยันเปิดความทุกความคิดเห็น อนุกรรมการฯ ทำหน้าที่รวบรวม


นายประมวล เพ็งจันทร์ รองประธานกรรมการ คณะอนุกรรมการด้านการรับฟังความคิดเห็นประชาชน โครงการปรับปรุงพื้นที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่เดิมเป็นสวนสาธารณะ ได้กล่าวถึงจุดยืนของคณะอนุกรรมการฯ ว่า เป็นเพียงแค่ผู้รวบรวมความคิดเห็นแล้วประมวลเสนอกลับไปยังทุกท่านเพื่อหาข้อสรุปเท่านั้น ทางคณะอนุกรรมการฯ ไม่ได้มีธงนำว่าจะต้องปรับปรุงในรูปแบบใด และได้อธิบายว่าถึงแม้ชื่อโครงการจะระบุว่าปรับปรุงให้เป็นสวนสาธารณะ แต่คำว่าสวนสาธารณะก็มีความหมายหลากหลาย ชาวเชียงใหม่สามารถที่จะนิยามได้ว่าสวนสาธารณะที่จะเกิดขึ้นนั้นควรจะมีลักษณะอย่างไร


 


"หากต้องการปรับปรุงพื้นที่นี้ในรูปแบบอื่นที่นอกเหนือจากการปรับปรุงให้เป็นสวนสาธารณะนั้นก็สามารถทำได้ เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีนั้นมาจากความต้องการของคนเชียงใหม่ในสมัยก่อนที่ได้ผลักดันเรื่องนี้ ถ้าหากผลประชาพิจารณ์ออกมาว่า ความต้องการของคนเชียงใหม่ในตอนนี้ไม่ได้ต้องการให้เป็นสวนสาธารณะก็สามารถทำได้ เพราะคำว่าสวนเราได้ให้ความหมายว่าเป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนสามารถใช้ได้"


 


 


อดีต ผอ.เรือนจำ แนะอนุรักษ์อาคารเรือนจำเพราะเข้าข่ายโบราณสถาน


ด้านนางเนาวรัตน์ ธนะศรีสุธารัตน์ อดีตผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับอาคารในพื้นที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ โดยกล่าวว่าตัวอาคารนั้นมีความแข็งแรง สามารถรองรับผู้ต้องขังได้ถึง 1,391 คน และมีอากาศถ่ายเทสะดวก ถ้าหากมีการดัดแปลงอาคารให้มีการใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่นก็สามารถทำได้ ซึ่งอาคารส่วนนี้ก่อสร้างขึ้นตั้งแต่ ปี พ.ศ.2445 จึงควรที่จะอนุรักษ์ไว้เนื่องจากเป็นอาคารเก่าแก่เกิน 100 ปี ซึ่งเข้าข่ายโบราณสถาน หรืออาจจะปรับให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอย่างในต่างประเทศที่มีการเก็บค่าเข้าชมเรือนจำเก่า


 


 


"ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์" เสนอสิ่งที่ก่อให้เกิดความสะเทือนใจไม่ควรเก็บรักษาและยกย่อง


รศ.ดร.ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์ เจริญเมือง เลขาธิการมูลนิธิสถาบันพัฒนาเมือง (จ.เชียงใหม่) ได้ให้เหตุผลว่าพื้นที่ตั้งทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่นี้เดิมเป็นที่ตั้งหอคำเวียงแก้ว ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่มงคลของเมืองตามความเชื่อพื้นฐานของคนล้านนาโบราณที่เห็นว่าเมืองมีส่วนประกอบคล้ายสรีระของคน โดยพื้นที่ดังกล่าวนั้นตั้งอยู่ด้านทิศเหนือซึ่งเป็นเสมือนส่วนหัวของเมือง แต่กลับถูกใช้เป็นพื้นที่คุมขังนักโทษ ซึ่งจะต้องมีพิธีกรรมในการฝังสิ่งอัปมงคลต่างๆ ที่ประตูคุก ทั้งที่พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่มงคลของเมือง ฉะนั้นควรที่จะมีการฟื้นฟูให้เป็นพื้นที่มงคลอีกครั้ง เพื่อความเป็นสิริมงคลของเมืองเชียงใหม่


 


"ตามหลักสากลแล้วหากโบราณสถานใดก่อให้เกิดความขัดแย้งหรือสะเทือนใจต่อประชาชนเจ้าของพื้นที่ สถาปัตยกรรมนั้นจะไม่ได้รับการเก็บรักษาและยกย่อง และถึงแม้ว่าอาคารในเขตทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่บางหลังจะมีความเก่าแก่เกิน 100 ปี แต่ไม่ได้มีความงามหรือคุณค่าทางสถาปัตยกรรมมากพอที่จะต้องอนุรักษ์ไว้"


 


 


เผยมีการรื้ออิฐจากกำแพงเมืองเก่าไปสร้างกำแพงคุกและค่ายทหาร


ทั้งนี้ รศ.ดร.ดวงจันทร์ ได้เปิดเผยข้อมูลว่าได้มีการรื้ออิฐจากกำแพงเมืองไปสร้างกำแพงคุกและกำแพงค่ายกาวิละ ซึ่งเป็นค่ายทหาร โดยยืนยันได้จากการให้ข้อมูลของลูกอดีตสัสดีเรือนจำกลางเชียงใหม่ในสมัยนั้น ฉะนั้นจึงควรที่จะนำอิฐของกำแพงเมืองเดิมที่ส่วนหนึ่งได้ถูกนำไปสร้างเป็นกำแพงของทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ให้นำกลับไปเสริมกำแพงเมืองในจุดต่างๆ และถ้าหากต้องการอนุรักษ์อาคารเดิมหรือคุกใต้ดินไว้ก็ควรที่จะรื้อถอนอาคารเก่าแก่บางหลังไปไว้ที่ทัณฑสถานหญิงแห่งใหม่เพื่อใช้เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับเรือนจำ


 


จากเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและนักวิชาการที่ผ่านมานั้นพบว่ามีความคิดเห็นตรงกันที่ต้องการให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สาธารณะ หรือที่เรียกว่า ข่วงหลวง เนื่องจากเมืองเชียงใหม่ยังไม่มีพื้นที่สาธารณะใหญ่กลางเมืองโดยพื้นที่จะมีการปรับปรุงนี้ควรที่จะมีลักษณะเอนกประสงค์ และเป็นพื้นที่โล่งที่ประชาชนสามารถเดิน วิ่ง ออกกำลัง รวมทั้งสามารถให้องค์กรต่างๆใช้ในการจัดงานต่างๆ ได้


 


 


สรุปแนวทางการปรับปรุงเรือนจำเป็นพื้นที่สาธารณะหลังการระดมความเห็น


การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งแรกนั้นมีการเสนอความเห็นค่อนข้างจะหลากหลายโดยสามารถสรุปได้เป็น 3 แนวทางหลัก คือ 1. ควรอนุรักษ์พื้นที่ทัณฑสถานไว้เหมือนเดิมทั้งหมด เพราะถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งของเชียงใหม่ 2.ควรอนุรักษ์แบบผสมผสาน อนุรักษ์ไว้บางส่วนในสิ่งที่สมควรอนุรักษ์ เนื่องจากอาคารยังมีสภาพดีสามารถนำไปปรับใช้งานได้ 3.ควรรื้ออาคารเดิมออกทั้งหมด เพราะเป็นอดีตที่ไม่น่าจดจำเนื่องจากเป็นการนำเขตพระราชฐานของล้านนามาสร้างเป็นเรือนจำโดยสยาม


 


ต่อมาในเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 นั้นได้มีข้อสรุปว่าไม่ควรที่จะอนุรักษ์อาคารเดิมไว้ทั้งหมด เพราะถ้าหากต้องการให้คนรุ่นหลังได้ทราบถึงความเป็นมาของพื้นที่นั้นก็สามารถใช้วิธีการอื่นได้โดยที่ไม่ต้องอนุรักษ์อาคารไว้ทั้งหมด จึงควรที่จะมีการปรับปรุงให้มีการใช้งานในรูปแบบอื่นมากกว่า ซึ่งในครั้งนี้ได้มีข้อเสนอให้รื้ออาคารออกทั้งหมดแล้วทำเป็นข่วงเมืองแทนโดยที่ไม่ต้องปรับปรุงให้เป็นสวนสาธารณะ ให้เป็นข่วงของเมืองเชียงใหม่เหมือนสนามหลวงของกรุงเทพฯ เพื่อให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่คนจำนวนมากสามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้ เนื่องจากเมืองเชียงใหม่ไม่มีพื้นที่รองรับการใช้งานของเมือง ซึ่งลานบริเวณสามกษัตริย์ และข่วงประตูท่าแพที่มีอยู่นั้นมีขนาดเล็กไม่สามารถรองรับความต้องการใช้พื้นที่ได้เพียงพอ


 


สำหรับความคิดที่ต้องการจะปรับปรุงพื้นที่เป็นข่วงสาธารณะนั้นก็ยังมีแนวทางย่อยที่แตกต่างออกไปเป็น 2 แนวทาง คือเก็บรักษาอาคารบางส่วนหรือเก็บคุกไว้เพื่อเป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของพื้นที่ กับการรื้อถอนอาคารทั้งหมดยกเว้นบริเวณศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็กซึ่งมีอายุราว 500 ปี เพื่อการขุดค้นและศึกษา เนื่องจากคาดว่าน่าจะมีซากโบราณสถานในช่วงที่เป็นเขตพระราชฐานอยู่ใต้พื้นที่ดังกล่าว


 


 


ที่ประชุมยังกังขาสาธารณะจะใช้พื้นที่ได้หรือไม่หากกรมศิลปากรขุดพบโบราณสถาน


สำหรับการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา มีข้อสรุปว่าให้ดำเนินการรื้อถอนรั้วและอาคารที่มีการสร้างใหม่ในเขตพื้นที่ทัณฑสถานหญิงเดิมเพื่อดำเนินการสุ่มขุดค้นพื้นที่ดังกล่าวว่ามีซากโบราณสถานอยู่ข้างใต้หรือไม่ ส่วนอาคารที่มีอายุเก่าแก่นั้นทางคณะกรรมการดำเนินงานโครงการปรับปรุงทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่เดิมเป็นสวนสาธารณะซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายภาคส่วนจะทำหน้าที่พิจารณาว่าควรที่จะมีการรื้อออกหรือไม่


 


ทั้งนี้ในช่วงที่มีการสุ่มขุดค้นพื้นที่นั้นจะเปิดให้ประชาชนได้เข้าศึกษา ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างความตื่นตัวให้กับชาวเชียงใหม่ได้ โดยจะมีการให้ข้อมูลถึงความเป็นมาของโครงการและเชิญชวนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดการใช้พื้นที่ ซึ่งหากการสำรวจขุดค้นนั้นพบเจอซากโบราณสถานอยู่ข้างใต้ก็ยินดีที่จะให้มีการดำเนินการอนุรักษ์ตามแนวทางที่เหมาะสม โดยหากมีการซากโบราณสถานในบริเวณนี้จริงจะทำให้พื้นที่ส่วนนี้จะต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดของกรมศิลปากรที่ไม่ให้มีการสร้างหรือการใช้พื้นที่ในบริเวณดังกล่าว และกรมศิลปากรจะเป็นผู้เข้ามาดำเนินการ ซึ่งที่ประชุมไม่แน่ใจว่าหากเป็นเช่นนั้นชาวเชียงใหม่จะยังสามารถมีสิทธิในการกำหนดการใช้ประโยชน์พื้นที่แห่งนี้อีกหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net