Skip to main content
sharethis

 








ทีมข่าวอิศรา โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา


 



          "พ่อไปไหน..." เป็นคำถามเรียกน้ำตาจากคนเป็นแม่ เมื่อถูกลูกน้อยถามถึงพ่อบังเกิดเกล้า หลังจากที่พ่อหายตัวไปจากบ้านเพราะถูกจับกุมในคดีความมั่นคง 


          แม้ตามตัวบทกฎหมาย "รัฐ" ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบใดๆ กับครอบครัวที่อยู่ข้างหลังของบุคคลที่ตกเป็นผู้ต้องหา หรือถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดแล้วถูกควบคุมตัวตามกระบวนการยุติธรรม ยิ่งไปกว่านั้นอาจมีคนสรุปง่ายๆ ว่า "ถ้าไม่อยากเดือดร้อนก็อย่าไปทำผิดสิ" 


          ทว่าในโลกของความเป็นจริงดูจะมีมิติที่ต้องมองมากกว่านั้น โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีมิติของสภาพสังคมและวิถีชีวิตแตกต่างจากภาคอื่นๆ ของประเทศไทยอย่างสิ้นเชิง


           โครงการการเข้าถึงความยุติธรรมและการคุ้มครองทางกฎหมาย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดทำรายงานเสนอสภาพปัญหาและความจำเป็นเร่งด่วนของการจัดให้มีความช่วยเหลือและส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิของครอบครัวผู้ต้องขังในคดีความมั่นคง 


          คำว่า "ครอบครัว" ที่ว่านี้มีทั้ง "ผู้หญิง" ซึ่งทำหน้าที่เป็นภรรยาและเป็นแม่ของลูกๆ มีทั้ง "เด็ก" ซึ่งเป็นลูกในวัยต่างๆ กัน ตั้งแต่วัยรุ่น 18 ปี จนถึงทารกแบเบาะ นอกจากนั้นยังมี "คนเฒ่าคนแก่" ซึ่งเป็นพ่อแม่หรือพ่อตาแม่ยายของผู้ต้องขัง ตามลักษณะของครอบครัวขยายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย 


 


ตามดูครอบครัว 400 ผู้ต้องขัง


          มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับองค์กรเครือข่ายในพื้นที่ ได้แก่ ศูนย์ทนายความมุสลิม กลุ่มบ้านอาสาเพื่อเด็กและเยาวชน กลุ่มผู้หญิงกับสันติภาพ และกลุ่มคนทำงานอิสระอื่นๆ ได้ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลของครอบครัวผู้ต้องขังที่ต้องการความช่วยเหลือ รวมทั้งการเยี่ยมเยียน สอบถาม และเป็นกำลังใจให้กับแต่ละครอบครัวจากทั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสี่อำเภอของ จ.สงขลา


          จากการสำรวจจำนวนผู้ต้องขังเบื้องต้นแยกตามเรือนจำจังหวัดต่างๆ ได้แก่ เรือนจำจังหวัดยะลา เรือนจำจังหวัดนราธิวาส เรือนจำจังหวัดปัตตานี และเรือนจำจังหวัดสงขลา พบว่ามีผู้ต้องขังคดีความมั่นคงไม่น้อยกว่า 428 คน 


          ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและองค์กรเครือข่ายได้เข้าเยี่ยมเยียนครอบครัวของผู้ต้องขังเหล่านี้จำนวน 249 ครอบครัว พบว่าผู้ต้องขังเกือบทั้งหมดเป็นผู้ที่ถูกคุมขังก่อนถูกดำเนินคดีหรือระหว่างพิจารณาคดี การถูกคุมขังส่งผลกระทบต่อครอบครัวของพวกเขาที่มีฐานะยากลำบากอยู่แล้วเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ที่แก่ชรา ภรรยาที่ไม่ได้ทำงาน รวมทั้งเด็กๆ ซึ่งเป็นลูกของผู้ต้องขังที่กำลังเติบโตทั้งก่อนวัยเรียนและในวัยกำลังศึกษาเล่าเรียน


          ข้อมูลที่ได้จากการเยี่ยมเยียนครอบครัวของผู้ต้องขัง พบว่าผู้ต้องขังเกินกว่าครึ่งมาจากครอบครัวที่มีเด็กๆ อยู่ในครอบครัวถึง 140 กรณี ส่วนที่เหลือเป็นผู้ต้องขังที่สมรสแล้วแต่ยังไม่มีลูกหรือยังไม่ได้สมรส แต่มีพ่อแม่ที่อายุมากหรือเจ็บป่วยต้องได้รับการดูแล และในจำนวน 140 กรณีที่มีเด็กในความดูแลนั้น มีเด็กที่อายุไม่เกิน 18 ปีจำนวน 367 คน


          เมื่อนำข้อมูลจำนวนเด็กที่สำรวจได้ 367 คนมาแบ่งตามวัย จะพบว่ามี "เด็กเล็ก" ที่อายุไม่ถึงขวบหรืออยู่ในวัยเรียนระดับอนุบาลมากถึง 151 คน โดยส่วนหนึ่งพบว่าผู้ต้องขังจำนวนไม่น้อยถูกจับกุมขณะภรรยากำลังตั้งครรภ์ เด็กน้อยลืมตาดูโลกโดยไม่เห็นหน้าพ่อ และได้รู้จักพ่อของเขาที่เรือนจำ หรือเด็กในวัยช่างเจรจาแต่ยังไม่รู้ประสา ก็จะมีคำถามสม่ำเสมอเจือด้วยความไม่เข้าใจกับผู้เป็นแม่ว่า "พ่อไปไหน" 


          นอกจากนี้ เด็กในวัยกำลังเจริญเติบโต กำลังกิน กำลังเรียน มีจำนวนมากที่สุดคือ 122 คน เด็กๆ อยู่ในวัยเรียนรู้ ช่างพูดช่างสังเกต เด็กหลายคนถูกเพื่อนร่วมชั้นพูดจาหยอกล้อว่าเป็น "ลูกโจร" เป็นผลทางจิตใจต่อเด็กอย่างมาก รวมถึงเด็กหลายคนที่อยู่ในเหตุการณ์ที่พ่อ "ถูกจับ" เขาเห็นทุกอย่างและมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ความร่าเริงลดลง กลายเป็นเงียบขรึมและขาดเรียนบ่อย อีกส่วนหนึ่งคือเด็กวัยรุ่นที่หลายคนยังไม่รู้ทิศทางของชีวิต เพราะอาจไม่ได้เรียนต่อ หรืออาจต้องหยุดเรียนกลางคันเนื่องจากไม่มีเสาหลักของครอบครัว รายจ่ายเรื่องการเรียนจึงขาดคนดูแล


 


ภรรยาแอบร้องไห้-เด็กๆ คับแค้น


          รายงานของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ยังระบุว่า แม้เรื่องการขาดรายได้ดูจะเป็นความเดือดร้อนลำดับต้นๆ ของครอบครัวเหล่านี้ แต่การสำรวจมุ่งสอบถามถึงความเดือดร้อนทางใจก่อน ซึ่งก็พบหลายความรู้สึก ได้แก่ 


          - ความวิตกกังวล ผู้เป็นภรรยาจะประสบปัญหาเช่นนี้มาก ส่วนใหญ่ต้องระบายออกด้วยการร้องไห้ เพราะเธอได้ฝากชีวิตไว้กับผู้เป็นสามี ภรรยาหลายคนมีหน้าที่ดูแลบ้านและลูกๆ บางคนไม่ได้ทำงานและไม่มีรายได้เป็นของตนเอง เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ เธอจำเป็นต้องใช้เวลาในการตั้งหลักชีวิต ต้องหางานทำ ต้องหารายได้เพื่อเลี้ยงดูลูก วิตกเรื่องอนาคตของลูก และยังกังวลห่วงใยสามีที่ถูกคุมขัง


          - ความคับข้องใจ หลายกรณีที่ทั้งผู้เป็นภรรยาและผู้เป็นแม่ไม่เข้าใจถึงสาเหตุที่สามีหรือลูกชายของพวกเธอถูกจับกุม ไม่รู้ว่าทำไมการพิจารณาคดีจึงยาวนาน และเมื่อไหร่จะได้รับการปล่อยตัว นอกจากนี้ด้วยความเชื่อส่วนตัวของแต่ละคนต่อบุคคลผู้เป็นที่รักของตนว่าเป็นคนดี ไม่ได้กระทำอย่างที่ถูกกล่าวหา ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความคับข้องใจ


          - ความโกรธแค้นของเด็ก มีเด็กหลายคนได้รับผลกระทบทางใจจากการล้อเลียนของเพื่อนที่โรงเรียน การถูกกล่าวหาว่าเป็นลูกโจร ทำให้เด็กรู้สึกโกรธแค้น เด็กชายบางคนมาเล่าให้แม่ฟังว่าอยากต่อยเพื่อนที่พูดเช่นนั้น ส่วนเด็กหญิงที่เจอเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันเลือกวิธีเงียบ ไม่โต้ตอบ แต่เธอสารภาพว่าอยากร้องไห้


 


หมดทางเรียน-ไม่มีเงินไปโรงพยาบาล


          นอกจากผลกระทบทางจิตใจ ยังมีความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจและสังคมที่ต้องเผชิญ ได้แก่


          - การทำงานหนัก ภรรยาหลายคนต้องเริ่มต้นทำงานทั้งที่ไม่เคยทำ และหลายคนต้องทำงานเพิ่มขึ้นเพื่อให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายซึ่งต้องรับผิดชอบเพียงลำพัง และยังมีภาระการเลี้ยงดูลูกที่ไม่มีพ่อของเด็กมาช่วยแบ่งเบา หลายคนไม่มีความรู้ในการประกอบอาชีพอื่นนอกจากการกรีดยางซึ่งมีรายได้ไม่มากนัก ปัญหาเรื่องรายได้จึงเป็นปัญหาสำคัญที่สุด 


          - ความเจ็บป่วย หลายครอบครัวมีผู้อยู่ในความดูแลของผู้ต้องขังเป็นทั้งผู้พิการ เจ็บป่วย และเป็นผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว จากที่เคยได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง กลับกลายเป็นไม่มีแม้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปโรงพยาบาล


          - ทุนใช้จ่ายเพื่อขอรับทุนการศึกษา ครอบครัวผู้ต้องขังเดือดร้อนตั้งแต่ทุนตั้งต้นในการดำเนินการเพื่อขอรับทุนการศึกษา และมีหลายครอบครัวที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน


          - การตีตราทางสังคม แม้จะมีหลายชุมชนที่ครอบครัวผู้ต้องขังอาศัยอยู่แสดงความเข้าใจและเห็นใจ ไม่ได้มองว่าเป็นคนไม่ดี แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นในแง่นี้ทั้งหมด หลายแห่งที่ผู้เยี่ยมเยียมเดินทางไปหาครอบครัวผู้ต้องขัง เมื่อมีการสอบถามเส้นทางเพื่อทราบตำแหน่งบ้าน ก็จะได้รับการย้ำถามด้วยความสงสัยว่า "จะไปทำไมที่บ้านโจร" 


 


แนะรัฐเร่งเยียวยาครอบครัวผู้ต้องขัง


          รายงานของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม สรุปข้อเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหาข้างต้น แบ่งเป็นในระดับนโยบายหรือรัฐบาล 


          1.ขอให้จัดหาทุนการศึกษาแก่บุตรทุกคนของผู้ต้องขังคดีความมั่นคง ซึ่งอาจประกอบด้วยทุนตั้งต้น และทุนดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อตรวจสอบการใช้ทุนของผู้รับทุนและประเมินผลการให้ทุน


          2.ขอให้จัดหาทุนประกอบอาชีพสำหรับครอบครัวของผู้ต้องขังคดีความมั่นคง เพื่อสร้างให้เกิดสุขภาวะที่ดีของครอบครัวผู้ต้องขังระหว่างรอการพิจารณาคดี  


          ในระดับปฏิบัติของหน่วยงานรัฐหรือองค์กรภาคประชาสังคม


          1.จัดกิจกรรมเยียวยาครอบครัวผู้ต้องขัง โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี โดยใช้หลักจิตวิทยาผสมผสานกับหลักการทางศาสนา ตลอดจนกระบวนการกลุ่มสนับสนุนฟื้นฟูสภาพจิตวิทยาสังคมของเด็ก


          2.จัดกิจกรรมปรับทัศนคติเด็ก สร้างทัศนคติเชิงบวกเพื่อป้องกันผลเชิงลบในความคิดเด็กต่อสังคมและต่อสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น


          3.จัดกิจกรรมปรับทัศนคติเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจจับกุมในพื้นที่ โดยเน้นย้ำเรื่องสิทธิ หลักนิติธรรม และพื้นฐานมุมมองต่อผู้ถูกจับกุมว่าเป็นผู้ต้องสงสัย ไม่ใช่ผู้กระทำผิด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นทาง


          นอกจากนั้นยังมีข้อเสนอแนะด้านกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ 


          1.กำหนดให้มีคณะผู้พิพากษาพิจารณาคดีความมั่นคงที่มีความอาวุโส มีจำนวนองค์คณะมากขึ้น เพื่อดำเนินการพิจารณาคดีได้อย่างรวดเร็ว ลดเวลาในการควบคุมผู้ต้องขัง


          2.เสริมศักยภาพการให้ความช่วยเหลือในคดีอาญาต่อผู้ต้องขังคดีความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณการสนับสนุนทนายความเอกชน  สภาทนายความ เพื่อให้การพิจารณาคดีต่อเนื่องดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ


           ในขณะที่ "รัฐ" โดยฝ่ายความมั่นคง กำลังเร่งงานมวลชนตามยุทธศาสตร์ "เอาชนะที่หมู่บ้าน" การเริ่มต้นดูแลครอบครัวของผู้ต้องขังที่เป็นผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่ชายแดนใต้อย่างจริงจังและจริงใจ อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการ "ชนะใจ" เพื่อสร้างสันติสุขอย่างยั่งยืนในดินแดนปลายด้ามขวานก็เป็นได้...


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net