Skip to main content
sharethis

สมัชชาคนจนเขื่อนหัวนา รวมพลเรียกประชุมคณะทำงานฯ หลัง 2 ปี ที่กรมชลประทานไม่เหลียวแล การเคลื่อนไหวของชุมชนเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนเรื่องสิทธิและความเป็นธรรมในพื้นที่


 



 


เมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา ชาวบ้านในนามกลุ่มสมัชชาคนจน กรณีปัญหาเขื่อนหัวนา ประมาณ 500 คน ชุมนุมที่บริเวณหอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา ศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อขอเข้าร่วมรับฟังการประชุมผลการดำเนินงานของคณะทำงานระดับจังหวัดเกี่ยวกับการตรวจสอบทรัพย์สินของราษฎรที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนหัวนา และติดตามผลการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีคำสั่งให้แต่งตั้งให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้ร่วมกันศึกษา ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ปัจจุบัน


 


นอกจากนี้ ยังมีข้อเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องชี้แจงกรณีที่มีข่าวว่าจะมีการเสนอเรื่องให้ถมลำน้ำมูนเดิมเพื่อบังคับน้ำให้เปลี่ยนทางมาผ่านเขื่อนหัวนาเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และพบว่าในพื้นที่เริ่มมีการดำเนินการเคลื่อนไหวเพื่อก่อสร้างโครงการดังกล่าวแล้ว ทั้งที่ยังติดมติครม. 25 ก.ค.2543 ซึ่งให้ยุติการดำเนินการใดๆ โดยเฉพาะการถมลำน้ำมูนเดิมจนกว่าจะศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมแล้วเสร็จ


 


นายสุ่น หงส์อินทร์ ชาวบ้าน ต.ส้มป่อย อ.ราษีไศล กล่าวว่า "เขื่อนหัวนาสร้างมานานแล้ว แต่ชาวบ้านยืนยันไม่ให้ถมลำน้ำมูนเดิมและไม่ยอมให้มีการปล่อยน้ำให้ไหลผ่านบานประตูเขื่อนเพราะยังไม่มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม นอกจากนี้ตอนสร้างเขื่อนบอกว่าจะก่อสร้างเป็นฝายยางเท่านั้น แต่เมื่อลงมือก่อสร้าง กลับสร้างเขื่อนคอนกรีตขนาดใหญ่ 14 บานประตู เมื่อชาวบ้านรู้ว่าถูกหลอกจึงรวมตัวกันคัดค้านมาตลอดและจะไม่ยอมให้มีการถมลำน้ำมูนเดิมเด็ดขาด"


 


ทั้งนี้ ชาวบ้านวิตกกังวลต่อการละเมิดมติ ครม.ของกรมชลประทานเจ้าของโครงการฯ ด้วยการดำเนินการถมลำน้ำมูนเดิมเป็นอย่างมาก เนื่องจากปัญหาเดิมเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ยังคงไม่มีความคืบหน้า และเป็นระยะเวลากว่า 2 ปีแล้ว ที่การเปิดเผยข้อมูลที่เป็นจริงและการเรียกประชุมคณะทำงานตรวจสอบทรัพย์สินฯ ระดับจังหวัด ตามคำสั่งที่ 106/2550 จ.ศรีสะเกษ เรื่องรับรองผลการรังวัดเพื่อเป็นหลักประกันให้กับราษฎรไม่ให้ซ้ำรอยเขื่อนราษีไศล ได้ขาดหายไป


 


000


 


ข้อเสนอในการมาชุมนุมของชาวบ้านจาก 3 อำเภอซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนหัวนา คือ อ.กันทรารมย์ อ.ราษีไศล และ อ.อุทุมพรพิสัย ต่อเนื่องจากการที่ทางกลุ่มสมัชชาคนจนได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลไป 3 ข้อ เมื่อปี 2541 คือ 1.ให้ยุติการถมดินลงในแม่น้ำมูนเดิมและห้ามมีการดำเนินการใดๆ กับเขื่อนหัวนาทั้งสิ้น 2.ให้มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ก่อนจะดำเนินการปิดเขื่อนหัวนา


 


3.ให้เร่งดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินราษฎรที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนหัวนาพร้อมกับให้มีการรับรองสิทธิ์การทำประโยชน์ในพื้นที่ของชาวบ้านตามบัญชีรายชื่อที่กลุ่มสมัชชาคนจนได้เสนอไปทั้งหมดประมาณ 800 กว่าราย จากทั้ง 3 อำเภอ ซึ่งได้มีการดำเนินการไปใน 2 อำเภอคือกันทรารมย์ และราษีไศล ยังขาดแต่ อ.อุทุมพรพิสัยพื้นที่บ้านโนน ต.รังแร้ง ที่การรังวัดที่ดินยังเหลือค้าง ทำให้การดำเนินการรับรองสิทธ์ไม่คืบหน้า และหมักหมมปัญหามานานนับสิบปี


 


ในวันนี้ข้อเสนอหลักๆ ของชาวบ้านก็ยังคงวนเวียนอยู่ที่เดิม เพราะแม้เวลาผ่านไป รัฐบาลผ่านมากี่ยุคกี่สมัย ปัญหาของชาวบ้านที่รอการแก้ไข ก็ยังคงต้องรอการแก้ไขอยู่เช่นเดิม


 


000


 


การประชุมเริ่มต้นขึ้นเมื่อเวลา 10.00 น. โดยจัดเป็นเวทีเปิดรับฟังความคิดเห็น มี นายประวัติ รัฐิรมย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ประธานคณะทำงานตรวจสอบทรัพย์สินฯ ระดับจังหวัดซึ่งรับมอบอำนาจจากผู้ว่าฯ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ร่วมด้วยตัวแทนชาวบ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งตัวแทนกรมชลประทาน นายอำเภออุทุมพรพิสัย นายอำเภอกันทรารมย์ ปลัดอำเภอราศีไศล ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัด สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ฯลฯ


 



 


ทั้งนี้ ในตอนแรกจังหวัดมีกำหนดจัดประชุมที่ห้องประชุมเล็กความจุ 30 คน เพราะห้องประชุมใหญ่มีงานอื่น แต่ชาวบ้านได้เรียกร้องให้มีการเปิดห้องประชุมใหญ่เพื่อให้ชาวบ้านทุกคนเข้ารับฟังการประชุมของคณะกรรมการฯ ตามที่ได้มีการพูดคุยกันไว้ในวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ต้องมีการเจรจาระหว่างแกนนำชาวบ้านกับทางจังหวัด ขณะที่ชาวบ้านทั้งหมดได้เดินไปตั้งแถวที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัด รอการเข้าร่วมประชุม


 


ท้ายที่สุดทางจังหวัดยินยอมตามข้อตกลงที่ให้ไว้ เปิดห้องประชุมอำเภอเมือง ศาลากลาง จ.ศรีสะเกษ ให้ชาวบ้านทั้งหมดเข้าร่วมประชุม


 


ผลสรุปการประชุม นายประวัติ ในฐานะประธานในที่ประชุม กล่าวว่า จะทำตามข้อเรียกร้องที่ให้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานฯ ระดับอำเภอและระดับจังหวัด และให้ส่งถึงมือตน ไม่เกินวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552 แล้วจะนำเสนอผู้ว่าฯ ลงนามแต่งตั้งต่อไปหรือหากท่านผู้ว่าฯ มอบหมายให้ลงนามก็จะจัดการให้ทันที และจะรับรองผลการดำเนินงานและเสนอผลการดำเนินงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัดต่อไป โดยใช้รายชื่อผู้ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนหัวนาระหว่างบัญชีรายชื่อที่สมัชชาคนจนเสนอและของชลประทานควบคู่กัน ส่วนปัญหาการรังวัดในเขตพื้นที่ อ.อุทุมพรพิสัย ให้ติดตามการแก้ไขปัญหาในระดับอำเภอต่อไป


 


นายประวัติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเพิ่งย้ายมาดำรงตำแหน่งที่จังหวัดศรีสะเกษ ได้ราว 2 เดือน กล่าวด้วยว่า ที่มารับช่วงการทำงานต่อจากนี้ก็จะทำหน้าที่อย่างดีที่สุดเพื่อให้ปัญหาของพี่น้องได้รับการแก้ไขโดยเร็วที่สุด


 


000


 


แม้ว่าจะได้คำรับรองจากรองผู้ว่าราชการจังหวัด แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้ชาวบ้านเรียนรู้ว่า การแก้ปัญหาไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเกิดขึ้นหากไม่มีการติดตามผล


 



 


"พวกเรามาวันนี้แม้ทางจังหวัดจะรับปากข้อเสนอทั้ง 3 ข้อเหมือนเดิมอย่างไม่มีข้อแม้ แต่ไม่รู้ว่าในทางปฏิบัติจะเป็นอย่างไร เพราะที่แล้วๆ มาก็เคยมีคำสัญญาที่รัฐรับปากเราไว้แล้วไม่ทำตาม โกหกไปวันๆ เราโดนหลอกมาบ่อยแล้ว" นายสมบัติ โนนสังข์ ชาวบ้าน ต.โนนสัง อ.กันทรารมณ์ จ.ศรีสะเกษ กล่าว


 


นายสมบัติกล่าวอีกว่า วันนี้พี่น้องมากันเยอะก็ดีแล้วเพราะจะได้ยินคำสัญญาที่เขาให้ไว้ด้วยหูตัวเอง และพี่น้องก็จะได้รู้ว่าเขาจะทำตามหรือไม่ นอกจากนี้พวกเราจะทำการสังเกตสถานการณ์การถมลำน้ำมูนเดิมอย่างใกล้ชิด เพราะในวันนี้ก็ไม่มีข้อสรุปในเรื่องนี้ว่าจะมีทิศทางไปอย่างไร


 


ด้านนายแดง คาววี ชาวบ้านต.เมืองคง อ.ราษีไศล กล่าวว่า "วันนี้เมื่อพี่น้องอยากมาฟังการประชุม มาตามเรื่อง ก็ได้ฟังแล้ว ที่เห็นเขาพูดดี รับปากทุกอย่างง่ายๆ ให้ดำเนินการเลย แต่อยากให้พี่น้องฟังคำที่เขาพูดแล้วก็กลั่นกรองด้วยว่าเขาจะทำอย่างไรต่อ ทำจริงหรือไม่"


 


นางสำราญ สุระโคตร ชาวบ้านต.หนองอึ่ง อ.ราษีไศล กล่าวเสริมว่า "วันนี้ถ้ามาแค่ 4-5 คนเหมือนก่อนก็ไม่ได้รู้เรื่องแน่ ดีแต่ว่าเรามากันมากเขาก็เลยมาคุยกับเรา ทำให้มีการประชุมคณะกรรมการฯ และก็ได้มติที่ประชุมให้มีการส่งใบตรวจสอบทรัพย์สินให้กรมชลประทานในวันที่ 3-4 ก.พ. นี้ ที่หัวงานเขื่อนราศีไศล และในวันที่ 11 ก.พ. 2552 จะมีการประชุมอีกครั้งเพื่อรับรองการตรวจสอบทรัพย์สินและสิทธิการทำประโยชน์ โดยจะเอาข้อมูลที่กรมชลประทานทำไว้กับข้อมูลและเอกสารที่ชาวบ้านมีมาตรวจสอบคู่กันไปก่อนที่จะมีการรับรอง"


 


000


 


นับตั้งแต่ปี 2543 เป็นเวลากว่า 9 ปีแล้ว ที่เขื่อนหัวนา ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จแต่ไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากยังไม่ได้ก่อสร้างทำนบดินปิดกั้นลำน้ำมูนเดิมเพื่อเปลี่ยนเส้นทางน้ำให้ไหลผ่านเขื่อน เพราะมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 25 ก.ค.2543 ยุติการดำเนินการใดๆ โดยเฉพาะการถมลำน้ำมูนเดิม จนกว่าจะมีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมแล้วเสร็จ พร้อมทั้งให้ตรวจสอบทรัพย์สินของราษฎร


 


เริ่มต้นโครงการเขื่อนหัวนา หรือ "ฝายหัวนา" เป็นส่วนหนึ่งของโครงการโขง-ชี-มูล ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 8 เม..2532 โดยให้สร้าง "ฝายยาง" กั้นแม่น้ำมูน แต่ในปี 2535 กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานผู้รับผิดชอบโครงการ ได้ดำเนินการก่อสร้างเป็นเขื่อนคอนกรีต 14 บานประตู ซึ่งถือว่าเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโครงการโขง-ชี-มูล (ขนาดใหญ่กว่าเขื่อนราษีไศล 2 เท่า) กั้นแม่น้ำมูนบริเวณบ้านกอก ต.หนองแก้ว อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ ก่อนที่แม่น้ำชีจะไหลบรรจบกับแม่น้ำมูนที่ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ก่อนที่การศึกษาความเหมาะสมของโครงการโขง-ชี-มูล จะแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2536 และไม่มีรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมมารองรับ


 


ส่วนพื้นที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ ที่ผ่านมาไม่เคยถูกระบุไว้ในเอกสารของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน โดยในเวทีเปิดเผยข้อมูลโครงการเมื่อวันที่ 1 ..2543 ณ ศาลาประชาคม จ.ศรีสะเกษ นายช่างหัวหน้าโครงการเขื่อนหัวนาชี้แจงว่ายังไม่ทราบพื้นที่ผลกระทบที่แท้จริง


 


นอกจากนั้น การใช้ประโยชน์จากการสร้างเขื่อนหัวนาตามเป้าประสงค์ของการกักเก็บน้ำ ต้องมีการปรับพื้นที่ปักขอบเขตอ่างเก็บน้ำเขื่อนหัวนา และมีการก่อสร้างทำนบดินปิดกั้นลำน้ำมูนเดิม ซึ่งคาดว่าอาจต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างเพิ่มอีกนับร้อยล้านบาท


 


000


 


"เขื่อนหัวนา" ถูกชาวบ้านกลุ่มสมาชิกสมัชชาคนจนชุมนุมคัดค้านมาตั้งแต่เริ่มต้นการก่อสร้าง โดยให้เหตุผลว่าการก่อสร้างโครงการจะทำให้น้ำท่วมไร่นา การสูญเสียที่ดินทำกิน สูญเสียพื้นที่ป่าบุ่งป่าทาม (พื้นที่ชุมน้ำ) และส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะปัญหาน้ำเค็ม แต่ก็มักถูกตั้งคำถามถึงผลกระทบที่ยังไม่เห็นภาพความเป็นจริง


 


ภายหลังเมื่อการก่อสร้างเขื่อนแล้วเสร็จ กรณีความขัดแย้งจึงมุ่งไปที่การชดเชย การตรวจสอบและรังวัดที่ดินทำกินของราษฎรที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโครงการและการพิสูจน์สิทธิ์พร้อมทั้งสำรวจพื้นที่ทำประโยชน์ร่วมกัน การรับรองสิทธิ์ รวมทั้งให้มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมให้แล้วเสร็จก่อนที่จะมีการดำเนินโครงการต่อไป


 


ต่อมาในปี 2545 โครงการได้ถูกโอนภารกิจให้กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และได้มีความพยายามในการตั้งคณะกรรมการในการแก้ไขปัญหาต่าง แต่ความทุกข์ของชาวบ้านก็ยังไม่ได้การสะสางมาจนถึงปัจจุบัน


 


000


 


ในวันนี้ปัญหาเขื่อนหัวนาของภาครัฐคืองบประมาณมหาศาลที่ได้ทุ่มลงไปกับโครงการเขื่อนหัวนาแต่ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งตรงนี้จะเป็นเหตุผลให้รัฐต้องดำเนินการบางอย่างเพื่อให้โครงการเสร็จสมบูรณ์แม้จะถูกขัดขวางจากกลุ่มชาวบ้าน ดังนั้น การตรวจสอบทรัพย์สิน รังวัด รับรองผล ควรดำเนินงานอย่างเร่งด่วน แม้ว่าที่ผ่านมาการอนุมัติทำโครงการขนาดใหญ่นี้ ไม่ได้สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากชาวบ้านในพื้นที่ตั้งแต่ต้น และผ่านมาแล้ว 17 ปี (เริ่มก่อสร้างในปี 2535) แต่เพิ่งกำลังมีการศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมก็ตามที


 


หากรัฐเห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนโดยแท้จริง ต้องไม่ใช้ข้ออ้างที่จะหลีกเลี่ยงการชดเชยความเสียหายแก่พวกเขา และไม่ใช้การยื้อเวลา เพราะไม่ใช่เพียงเรื่องทรัพย์สิน หรือที่ดิน แต่สุดท้ายชาวบ้านคือผู้ที่ต้องยอมรับผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นอย่างเลือกไม่ได้


 



 


 


 


 


...............................................................................


 


หมายเหตุ :ข้อมูลบางส่วนจากเว็บไซต์ เสียงคนอีสาน http://www.esaanvoice.net


 


ที่มารูปภาพ : เสียงคนอีสาน


 


อ่านเพิ่มเติม:


ชาวบ้านชุมนุมตามงานคณะทำงานฯ แก้ปัญหาเขื่อนหัวนา เหตุงานไม่คืบกว่า 2 ปี


รายงาน : เขื่อนราษีไศล - เขื่อนหัวนา บาดแผลจากโครงการโขง ชี มูล ที่รอเยียวยา (จบ)

รายงาน : เขื่อนราษีไศล - เขื่อนหัวนา บาดแผลจากโครงการโขง ชี มูล ที่รอเยียวยา (1)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net