Skip to main content
sharethis

เครือข่ายพนักงานบริการแห่งประเทศไทย เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประมวลอุบัติเหตุและอุบัติภัยที่เกิดกับพนักงานบริการ ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาจนถึงเหตุการณ์ไฟไหม้ซานติก้าผับ โดยระบุว่า ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับแรงงานภาคบริการมาจากสาเหตุหลายประการ อาทิ ปัญหาสภาพการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของธุรกิจกับพนักงานบริการ ปัญหาการขาดหลักประกันในสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยในชีวิต และขาดโอกาสที่จะขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ เพราะถูกอ้างว่า เป็นอาชีพที่สังคมไม่ยอมรับและสถานบริการคือสถานที่ที่ผิดกฏหมาย หรือเป็น "แหล่งอบายมุข"


 


ทั้งนี้ เครือข่ายพนักงานบริการฯ ได้จัดการสัมมนาระดมความเห็นเพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหา มีข้อเสนอ 4 ข้อคือ


 



  1. ให้เลิกอ้างว่า "สถานบริการ" เป็น "แหล่งอบายมุข" เพราะสถานบริการคือ สถานที่ที่อนุญาตให้จดทะเบียนได้ถูกต้องตามกฏหมายสถานบริการ พ.ศ.2542 จึงไม่ใช่สถานที่ที่ผิดกฏหมาย และต้องมีมาตรฐานความปลอดภัย และการคุ้มครองอุบัติภัย ทั้งต่อผู้ที่มาใช้บริการ รวมถึุงพนักงานทุกคนด้ว
  2. ให้ยอมรับว่า "สถานบริการ" คือ "สถานประกอบการ" ตามกฏหมายแรงงาน เพื่อปรับเปลี่ยนสภาพการทำงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอิทธิพลมาเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง "นายจ้าง" กับ "ลูกจ้าง"
  3. ให้แรงงานภาคบริการได้รับสวัสดิการและการคุ้มครองตามกฏหมายแรงงาน เช่นเดียวกับแรงงานภาคอื่น และให้ยอมรับว่า งานบริการ คืองานอาชีพบริการ คือแรงงานภาคบริการ
  4. ให้จัดตั้งกองทุนพนักงานบริการ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต การศึกษา และสุขภาพพนักงานบริการ โดยหักรายได้จากภาษีที่เก็บจากธุรกิจภาคบริการและการท่องเที่ยว

 


 


000000


 


บทเรียน "ซานติก้า"


พนักงานบริการต้องได้รับการคุ้มครอง


จดหมายเปิดผนึก


ถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ


จาก เครือข่ายพนักงานบริการ แห่งประเทศไทย


 


30 มกราคม 2552


 


ข่าวร้าย ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ พ.ศ.2552 ได้ถูกถ่ายทอดออกอากาศทางทีวีไปทั่วประเทศ และในหลายประเทศทั่วโลก


 


ไฟไหม้ "ซานติก้าผับ" ภาพไฟลุกโชน ไม่เพียงได้ติดตาผู้คนในสังคม ที่เฝ้าดูการฉลองปีใหม่เท่านั้น แต่ทำให้อีกหลายคนคิดถึงอุบัติภัยร้ายแรงที่เกิดขึ้นในสถานบันเทิงที่เคยเกิดขึ้นแล้ว และเกิดขึ้นอีก


 


แรงงานภาคบริการจำนวน 250,000 ที่ทำงานตามสถานบริการ เช่น อาบอบนวด นวดแผนโบราณ คาราโอเกะ อะโกโก้ บาร์เบียร์ ค้อกเทล เลาจน์ ซาวน่า บ้านสาว ฯลฯ และแรงงานที่ทำงานอิสระ เช่น เรียกทางโทรศัพท์ นวดตามชายหาด สวนสาธารณะ นั่งดื่มแบบฟรีแลนซ์ ฯลฯ ในแหล่งท่องเที่ยวทำรายได้หลักให้ประเทศตลอดมา หลายสิบปี ก็ไม่ได้รับสวัสดิการและการคุ้มครองใดๆ


 


ในระยะเวลาสี่ปีที่ผ่านมา ได้มีเหตุการณ์อัีนไม่คาดฝันเกิดขึ้นกับคนอาชีพบริการหรือ "พนักงานบริการ" ติดต่อกันมา เช่น เหตุเกิดไฟไฟม้ในสถานบริการ ที่บาร์รู้ท 999 พัทยา มีพนักงานเสียชีวิต 7 คน พนักงานบาร์ พัฒน์พงศ์ถูกฆาตกรรมเสียชีวิตบริเวณสวนลุม และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ที่ผ่านมา พนักงานบริการถูกฟันแขนขาด ขณะขี่จักรยานยนต์เดินทางกลับบ้าน ซึ่งเป็นอุบัติเหตุและภัยที่เกิดขึ้นกับอาชีพบริการอันสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในสถานที่ทำงานและนอกสถานที่ทำงาน


 


นอกจากนั้น ยังมีความเสี่ยงในความเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากการทำงานในหน้าที่ เช่น อาชีพนวดแผนโบราณ ต้องสัมผัสกับน้ำมัน อาบอบนวด ต้องสัมผัสกับสบู่และครีมอาบน้ำ คนที่ทำงานในซาวน่า ต้องอยู่ในห้องอบไอน้ำ วันละหลายชั่วโมง พนักงานโชว์ต้องเสี่ยงกับการใช้อุปกรณ์โชว์เพื่อสร้างความตื่นเต้นและหวาดเสียว บ้างต้องเล่นกับไฟ หรือโชว์อาบน้ำในห้องปรับอากาศ ต้องทนหนาวสั่น และพนักงานทั้งหมดต้องถูกบังคับให้ดื่มเหล้า แอลกอฮอล์ให้มากที่สุด เป็นต้น


 


ปัญหาภัยภิบัติธรรมชาติ เช่น สึนามิ คนที่ทำงานบาร์หน้าหาดได้หายไปพร้อมกับบาร์ทั้งหมดที่หาดป่าตองและหลายหาดในภูเก็ต มีจำนวนมากที่เสียชีวิต และอีกจำนวนไม่น้อยที่บาดเจ็บ แต่รอดชีวิตมาได้ แต่ก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ จากหน่วยงานของรัฐ ในขณะที่เจ้าของธุรกิจบาร์และโรงแรมใหญ่ๆ ได้รับชดเชยค่าเสียหายให้อย่างรวดเร็ว


 


ปัญหาที่เกิดขึ้นกับแรงงานภาคบริการ จึงเห็นได้เด่นชัดว่ามาจากสาเหตุหลายประการที่เกิดจากปัญหาสภาพการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของธุรกิจกับพนักงานบริการ ปัญหาการขาดหลักประกันในสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยในชีวิต และขาดโอกาสที่จะขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ เพราะถูกอ้างว่า เป็นอาชีพที่สังคมไม่ยอมรับและสถานบริการคือสถานที่ที่ผิดกฏหมาย หรือเป็น "แหล่งอบายมุข"


 


หากเกิดความเจ็บป่วย หรืออุบัติภัยใดๆ อันเนื่องมาจากการทำงานก็ตาม ความเจ็บป่วยและความสูญเสียที่เกิดขึ้นเป็นความรับผิดชอบของพนักงานทั้งสิ้น จะมีผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจจำนวนน้อยมาก ที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ รวมถึงความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐก็ยื่นมือมาไม่ถึง


 


เครือข่ายพนักงานบริการจึงได้จัดสัมมนาขึ้นเพื่อระดมความคิดเห็นเพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาและเผยแพร่ข้อเท็จจริงให้สังคมภายนอกได้รับรู้ถึงปัญหาของแรงงานภาคบริการ


 


เครือข่ายพนักงานบริการขอเสนอแนวทาง ดังนี้



  1. ให้เลิกอ้างว่า "สถานบริการ" เป็น "แหล่งอบายมุข" เพราะสถานบริการคือ สถานที่ที่อนุญาตให้จดทะเบียนได้ถูกต้องตามกฏหมายสถานบริการ พ.ศ.2542 จึงไม่ใช่สถานที่ที่ผิดกฏหมาย และต้องมีมาตรฐานความปลอดภัย และการคุ้มครองอุบัติภัย ทั้งต่อผู้ที่มาใช้บริการ รวมถึุงพนักงานทุกคนด้วย
  2. ให้ยอมรับว่า "สถานบริการ" คือ "สถานประกอบการ" ตามกฏหมายแรงงาน เพื่อปรับเปลี่ยนสภาพการทำงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอิทธิพลมาเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง "นายจ้าง" กับ "ลูกจ้าง"
  3. ให้แรงงานภาคบริการได้รับสวัสดิการและการคุ้มครองตามกฏหมายแรงงาน เช่นเดียวกับแรงงานภาคอื่น และให้ยอมรับว่า งานบริการ คืองานอาชีพบริการ คือแรงงานภาคบริการ
  4. ให้จัดตั้งกองทุนพนักงานบริการ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต การศึกษา และสุขภาพพนักงานบริการ โดยหักรายได้จากภาษีที่เก็บจากธุรกิจภาคบริการและการท่องเที่ยว

 


 


ภาคีความร่วมมือพนักงานบริการด้านเอดส์


และเครือข่ายพนักงานบริการแห่งประเทศไทย


พนักงานบริการ กทม. และปริมณฑล พัฒน์พงศ์ สุขุมวิท มีนบุรี นนทบุรี


สมุทรปราการ สมุทรสาคร


พนักงานบริการ ภาคตะวันออก จากพัทยา ชลบุรี ระยอง


พนักงานบริการ ภาคเหนือ จากเชียงใหม่ แม่สาย เชียงราย แม่สอด ตาก


พนักงานบริการ ภาคใต้ จากระนอง ภูเก็ต พังงา กระบี่ สงขลา สุไหงโก-ลก


พนักงานบริการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนืิอ จากอุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น มุกดาหาร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net