รัฐศาสตร์-รปศ.วิชาการ 9: บทความเต็ม การปฏิบัติการร่วมทางการเมือง: กรณีพันธมิตรฯ (จบ)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ชื่อบทความเดิม: กรอบโครงความคิดในการปฏิบัติการร่วมทางการเมือง (Collective Action Frames): กรณีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)

 

 

อุเชนทร์ เชียงเสน

นักศึกษาปริญญาโท สาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

คลิกที่นี่เพื่ออ่านตอนที่ 1

 

 

2.2 การเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในรอบที่สอง

 

การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ในรอบที่สอง แยกไม่ออก/เป็นความต่อเนื่องของการเคลื่อนไหวรอบแรก คือ กำจัด "ระบอบทักษิณ" หรือ "กู้ชาติ" โดยพันธมิตรฯ ได้ให้เหตุผลว่าปัญหาต่างๆ ที่เขานิยาม "ยังไม่สามารถได้รับการแก้ไขให้เสร็จสิ้นในสมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่มาจากการรัฐประหาร" จึงเป็นต้อง "รื้อฟื้น" พันธมิตรฯขึ้นมาใหม่ "เพื่อพร้อมดำเนินการต่อสู้กับพฤติการณ์ของรัฐบาลนายสมัครที่จะทำงานรับใช้ระบอบทักษิณในทุกรูปแบบ"

 

ดังนั้น กรอบโครงความคิดการวิเคราะห์/วินิจฉัยปัญหาจึงเป็นเรื่องที่เห็นพ้องต้องกันและถูกวางไว้หนักแน่นตั้งแต่ในช่วงแรกอย่างที่ได้สรุปไว้ข้างต้น นอกจากนั้น กรอบโครงความคิดดังกล่าวนี้ ถูกเน้นย้ำ ผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่องจากฝ่ายต่างๆ ทั้งอดีตพันธมิตรฯ ฝ่ายคณะรัฐประหาร และผู้สนับสนุนอื่นๆ ในช่วงหลังการรัฐประหาร ท่ามกลางการต่อสู้คัดค้านของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารและ/หรือสนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรี และพรรคไทยรักไทย

 

การได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอีกครั้ง นับตั้งแต่การเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้รับชนะในการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม 2550 ที่เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่พรรคไทยรักไทยเดิมถูกยุบ นักการเมือง/แกนนำคนสำคัญจำนวน 111 คนถูกตัดสิทธิทางการเมือง, และกระบวนการและกลไกต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้นโดยคณะรัฐประหารที่พยายามสกัดกั้นการกลับมาของอดีตพรรคไทยรักไทย นอกจากจะตอกย้ำกรอบโครงความคิดดังกล่าว ทำให้"ระบอบทักษิณ" และ "ระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง" เลวร้ายทวีคุณขึ้นไปอีกมากแล้ว สิ่งที่มีนัยสำคัญ คือ มุมมองต่อ "ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง" ที่ยังคงเลือกหรือสนับสนุนนักการเมืองชั่วต่อไป ทั้งที่พันธมิตรฯ พยายามเปิดโปงให้ข้อมูลความเลวร้ายอย่างต่อเนื่องมากกว่า 2 ปี

 

ความเกรี้ยวกราดต่อผู้ประชาชนผู้เลือกตั้งที่ยังผู้สนับสนุนอดีตพรรคไทยรักไทย [พรรคพลังประชาชน] โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหว และกลุ่มอื่นๆ ที่ออกมาต่อต้านรัฐประหารและท้าทายพันธมิตรฯ ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน เป็นการทั่วไป ในทุกระดับของผู้ชุมนุม ไม่เว้นแม้แต่แกนนำบางคนที่ไม่น่าจะตื้นเขินในการเข้าใจปัญหาทางการเมืองแบบง่ายๆ อย่างที่กล่าวมา รูปธรรมของความคิดและความเกรี้ยวกราดนี้เห็นได้จากคำเรียก "ผู้สนับสนุนรัฐบาล" หรือฝ่ายคัดค้านต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ในการเสวนาเรื่อง "เหลียวหลังแลหน้าการเมืองไทย" ซึ่งจัดเป็นการชุมนุมทางวิชาการ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 28 มีนาคม 2551 ศ.ดร. คนดัง ซึ่งเป็นวิทยากร เรียกกลุ่มผู้ชุมนุมสนับสนุนรัฐบาลที่กำลังชุมนุมอยู่ที่บริเวณสนามหลวงว่า "พวกกะเฬวะฬาก ที่เห่าหอนอยู่ที่สนามหลวง" อย่างไรก็ตาม หลังจากได้สติ ศ.คนดังกล่าว จึงอธิบายใหม่ ว่า

 

ผมไม่โกรธพี่น้องชาวอิสาน ผมมองว่านักการเมืองชั่วต่างหากที่มันไปมอมเมาพวกเขา คุณเอาความรู้ เอาการศึกษา เอาโอกาสทางเศรษฐกิจไปให้เขาสิ ประเทศจึงเจริญ แต่ที่ผ่านมาคุณเอาประชานิยมเฮงซวย ไปหลอกลวงเขา ไปมอมเมาเขา ทำให้เขายิ่งยากจนยากไร้ต่อไป ไม่งั้น ไอ้ สุนัขรับใช้ ไอ้หมารับจ้างทั้งหลาย คงไม่มาเห่าหอนอยู่ที่สนามหลวงอย่างตอนนี้หรอก [26]

 

การตอบรับจากผู้เข้าร่วมในการชุมนุมด้วยเสียงตบมือยาวและเสียงเฮดังสนั่นนั้น ไม่ใช่เฉพาะในกรณีนี้ที่ผู้พูดมีลักษณะสุดขั้ว ก้าวร้าวรุนแรงมากเท่านั้น แต่ปรากฏเป็นปกติในเวทีการปราศรัย ย่อมสะท้อนถึงการรับกรอบโครงความคิดการวิเคราะห์นี้

 

กรอบโครงความคิดในการปฏิบัติการร่วมทางการเมืองของพันธมิตรฯ

 

นายพิภพ ธงไชย แกนนำ ได้สรุปภารกิจในการเคลื่อนไหวในรอบแรกไว้ว่า "งานของพันธมิตรฯ คือการโค่นล้มระบอบทักษิณและให้ตัวนายกฯ ทักษิณออกจากการเมือง" [27] ขณะเดียวกันนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานฯ ก็ได้อธิบายในลักษณะเช่นเดียวกันว่า การเคลื่อนไหวในรอบแรก "เราคิดเรื่องกู้ชาติ เราก็มุ่งแต่จัดการทักษิณ" แต่การการเคลื่อนไหวในรอบสองนี้ แกนนำได้คิดเรื่อง "สร้างชาติ" ซึ่ง "มันต้องไปไกลกว่าเรื่องทักษิณแล้ว การเมืองใหม่ต้องพ้นทักษิณ ไปไกลกว่าเรื่องรัฐสภานักเลือกตั้ง [28] เนื่องจากได้ประเมินการเคลื่อนไหวต่อสู้ในช่วงแรกแล้วพบว่า "การพุ่งเป้าไปที่การโค่นล้มระบอบทักษิณ การขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้พ้นจากตำแหน่งอย่างเดียว มันไม่ได้แก้ปัญหาของประเทศอย่างแท้จริง และในทางการเคลื่อนไหว อาจจะเป็นการเตะหมูเข้าปากสุนัขก็ได้ คือไล่ทักษิณไป แต่ได้นอมินีทักษิณมา" [29]และอธิบายการต่อสู้ในครั้งใหม่นี้ว่าเป็นการชูธงผืนใหม่และใหญ่กว่าเดิม คือ

           

การชูธง "สร้างชาติ" ภายใต้วาทกรรมการเมืองใหม่ ไปให้พ้นระบบรัฐสภาของนักเลือกตั้ง หรือประชาธิปไตยแบบ 4 วินาที หรือลัทธิเลือกตั้งเป็นใหญ่

 

"การเมืองใหม่" ใน ความหมายของพันธมิตรฯ จึงเป็นการเมืองที่เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง ลดอำนาจหน้าที่ของตัวแทนหรือผู้แทนลง เพิ่มบทบาทและอำนาจให้กับประชาชนมากขึ้น [30]

 

"การเมืองใหม่" ในฐานะกรอบโครงความคิดในการปฏิบัติการร่วมทางการเมือง

 

หลังจากมีการเสนอแนวคิดเรื่อง "การเมืองใหม่" ในเวทีปราศรัย และการเสนอผ่านบทความ " "การเมืองใหม่"ภายใต้การต่อสู้ของพันธมิตรฯ" ของสุริยะใส กตะศิลา ในวันที่ 25 มิถุนายน 2551 (หลังจากชุมนุม 1 เดือน) นั้น ผู้คนจำนวนหนึ่งค่อนข้างที่จะ "ดูแคลน" การเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ เนื่องจากเห็นว่าเป็นเพียงสิ่งประดิษฐ์หรือ "ของเล่น" ที่นำมาสร้างประเด็น สร้างข่าว ไม่นับรวมการออกมาแถลงแก้ไขดัดแปลงสูตรหลายครั้งหลังจากถูกวิพากษ์วิจารณ์ ที่ยิ่งทำให้ "การเมืองใหม่" ดู"ไร้สาระ" มากขึ้นในสายตาปัญญาชนบางส่วน

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเหตุผลในการนำเสนอขณะนั้นที่แท้จริงคืออะไร แต่ถ้าพิจารณาจากการเคลื่อนไหวทั้งหมด นับตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน และพิจารณาเนื้อหาอย่างละเอียด ก็จะสามารถที่จะเห็นได้ว่า "การเมืองใหม่"เป็น "พิมพ์เขียว" หรือกรอบโครงความคิดในการปฏิบัติการร่วมทางการเมืองของพันธมิตรฯ เลยทีเดียว

 

2.2.1 กรอบโครงความคิดวิเคราะห์/วินิจฉัยปัญหา

 

การเสนอความคิดเรื่อง "การเมืองใหม่" ของพันธมิตรฯ นั้น มีการอภิปรายเนื้อหาที่สำคัญโดยแกนนำ บนเวทีปราศรัยในช่วงวันที่ 4- 6 กรกฎาคม 2551

 

ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 นายสนธิ ลิ้มทองกุล อธิบายสภาพการณ์ปัญหาการเมือง/การเลือกตั้ง ว่า

 

พี่น้องครับทุกๆครั้งที่มีการเลือกตั้ง พี่น้องมีสิทธิ์อะไรบ้างในการเลือกตั้ง ตอบผมซิ 4 วินาที 4 วินาทีพี่น้อง พี่น้องเข้าในคูหา แล้วพี่น้องเดินไปหยอดนับหนึ่งถึงสี่ หนึ่งถึงสี่แล้วจบไหม จบ มันไม่สนใจพี่น้องแล้ว ประชาชนที่ได้สามร้อยห้าร้อยให้ไปหยอด กลายเป็นอะไร กลายเป็นลูกจ้างรายวันชั่วคราวของนักการเมืองใช่ไหม แค่นั้นเอง แล้วพวกนี้ก็เอาสิทธิอันนี้ เหมือนอย่างที่ไอ้เป็ดเหลิมบอกว่าผมมาจากการเลือกตั้ง เข้าใจหรือยัง เฉพาะฉะนั้นแล้ว นี่คือความพินาศฉิบหายของบ้านเมือง...

 

พี่น้องจำได้ไหมสมัยที่เราไล่ พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร เขาทำไมต้องรีบยุบสภา เขาจะพูดอยู่คำเดียว ให้ประชาชนตัดสิน ทำไมเขาต้องพูดคำนี้ เพราะเขาขากถุยออกมา เขารู้อยู่แล้วไอ้ประชาชนที่ตัดสินก็คือลูกจ้างรายวันที่รับสามร้อยห้าร้อย ใช่ไม่ใช่ [เสียงผู้ชุมนุมตอบ: ใช่].... พอเขาได้อำนาจมา สิ่งที่เขาทำ ทำอย่างไร เขาก็ย้ายตำรวจ ย้ายผู้ว่าฯ เขาก็สั่งตำรวจ สั่งผู้ว่า เขาก็เอางบประมาณมาลดแลกแจกแถม แล้วก็ไปหาเสียง แทนที่จะใช้เงินตัวเองเขาก็เอาเงินภาษีอากรของเราไปจ่ายให้ เสร็จเรียบร้อยแล้ว พอถึงวันเลือกตั้งก็เข้ามาอีกสามร้อยกว่าเสียง สี่ร้อยกว่าเสียง สามร้อยเจ็ดสิบเสียง แล้วมาเถียงกับเรา อ้างกับเราว่า "ประชาชนเลือกผมเข้ามา" [31]

 

นี่คือ ลักษณะ "การเมืองแบบเก่า" ที่กินเข้าไปสู่ "กระดูก" ที่ไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ด้วยระบบรัฐสภา ซึ่ง "ใครมีเงินสักหมื่นล้านก็สามารถที่จะซื้อประเทศไทยได้ใช่ไหม อย่าว่าแต่ประเทศไทยเลย มันเปลี่ยนสถาบันกษัตริย์มันยังเปลี่ยนได้เลย เห็นหรือยัง มันอ้างคำเดียว [ประชาชนเลือกผมเข้ามา]"

 

เมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์ถกเถียงเรื่องการเมืองใหม่อย่างกว้างขวางจากส่วนต่างๆ ทั้งเห็นด้วยและคัดค้าน พันธมิตรฯได้แถลงการณ์ ฉบับที่ 20/2551 เรื่อง "การเมืองใหม่" ในวันที่ 8 กันยายน 2551 เพื่อทำ "ความเข้าใจ" และ "เพื่อความเป็นเอกภาพและความชัดเจนในการเคลื่อนไหวของการชุมนุม" ซึ่งถือได้การวิเคราะห์ ระบุปัญหาที่ชัดเจนและ "เป็นทางการ" ว่า

 

การเมืองในปัจจุบันเป็นระบบการเมืองอุบาทว์ ถูกผูกขาดโดยนักเลือกตั้งในพื้นที่เขตเลือกตั้งและนายทุน ที่ยังคงเต็มไปด้วยปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียง ทุจริตการเลือกตั้ง ใช้อิทธิพลและระบบอุปถัมภ์ในท้องถิ่นเพื่อข่มขู่ประชาชน อีกทั้งยังใช้อำนาจรัฐและอำนาจเงิน เพื่อให้ได้ชัยชนะในการเลือกตั้งทุกวิถีทาง......

 

เมื่อการเลือกตั้งเต็มไปด้วยการทุจริตฉ้อฉลและใช้เงินเป็นตัวตั้ง ทำให้การเมืองไทยกลายเป็น "ธนาธิปไตย" เกิดการตอบแทนบุญคุณต่อนายทุนของพรรคการเมือง รัฐบาลซึ่งประกอบไปด้วยพรรคการเมืองที่ฉ้อฉล จึงมุ่งแต่จะทุจริตคอร์รัปชั่น กระทำผิดต่อกฎหมายบ้านเมือง ทรยศต่อคำถวายสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว...

 

เมื่อนักการเมืองส่วนใหญ่ในระบบปัจจุบันมุ่งแต่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง จึงทำให้กลไกการตรวจสอบทั้งจากกระบวนการยุติธรรม สื่อสารมวลชน และประชาชน ต้องถูกทำร้าย ทำลาย และคุกคามทุกรูปแบบจากระบบการเมืองอุบาทว์ในปัจจุบัน....

 

เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงเห็นว่าเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเมืองใหม่ในราชอาณาจักรไทย

 

จะเห็นได้ว่า กรอบโครงความคิดวิเคราะห์/วินิจฉัยปัญหา การระบุหรือนิยามปัญหาของพันธมิตรฯ นั้น นับตั้งแต่รายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร:ขบวนการ "ถวายคืนพระราชอำนาจ" - พันธมิตรฯ: ขบวนการ "มาตรา 7 ตามรัฐธรรมนูญ- [รวมทั้งการปฏิรูปการเมืองภายใต้การนำของ คมช.: รัฐธรรมนูญ 2550] - พันธมิตรฯ: การเมืองใหม่ ทั้งหมดนี้ล้วนโยนความผิดไปให้ "นักการเมือง/นักเลือกตั้ง" ที่ไร้จริยธรรม, "ผู้ออกเสียงเลือกตั้ง" ที่ซื้อได้ด้วยเงิน, "ระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง" ที่เต็มไปด้วยการซื้อสิทธิ์ขายเสียง ที่เปิดโอกาสให้มีการใช้ "เงิน" เข้ามาสู่อำนาจทางการเมืองได้ แต่ระดับความรุนแรงของปัญหานั้นถูกเน้นย้ำ สั่งสม พัฒนาแสดงให้เห็นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับเวลาและสถานการณ์

 

2.2.2 กรอบโครงความคิดในการเยียวยารักษา: การเมืองใหม่

 

กรอบโครงความคิดในการเยียวยารักษาย่อมสัมพันธ์หรือถูกจำกัดขอบเขตโดยกรอบโครงความคิดวิเคราะห์/วินิจฉัยปัญหา แต่อย่างไรก็ตาม การรักษาหรือเยียวยานั้นย่อมขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของปัญหา ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการในการประเมินความรุนแรงร้ายของปัญหา มิใช่โดยตัวมันเอง และในกรณีที่มีกรอบโครงความคิดวิเคราะห์/วินิจฉัยเหมือนกัน แต่ก็ไม่จำเป็นต้องมีการเยียวยารักษาที่เหมือนกัน เช่น เห็นปัญหาของระบบทุนนิยมเหมือนกัน แต่ในการเยียวยารักษานั้นก็มีได้ทั้งในระดับการปฏิรูปจนไปถึงการปฏิวัติ

 

ดังที่ได้อย่างที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า ขบวนการถวายคืนพระราชอำนาจ และพันธมิตรฯ มาตรา 7 ไม่ได้เสนอกรอบโครงความคิดในการรักษาเยียวยาอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม นอกจากเสนอวิธีการ อย่างไรก็ตาม มิใช่ว่า ความพยายามดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ นั่นคือ "การปฏิรูปการเมืองภายใต้การนำของ คมช" แต่ยังไม่รุนแรงเพียงพอที่จะจัดการปัญหาได้ ทำให้เกิดรัฐบาลอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นี่คือที่มาของการอธิบายของนายสนธิ ลิ้มทองกุล และการเมืองใหม่ว่า

 

การชุมนุมครั้งนี้จะไม่ไล่รัฐบาลอย่างเดียว ต้องยึดอำนาจรัฐด้วย เราไม่ขับไล่สมัครอย่างเดียวต้องสร้างการเมืองใหม่ให้เกิดขึ้นด้วย ไหนๆ ก็สู้มาแล้วต้องร่วมกันสร้างชาติ สร้างการเมืองใหม่.... การไล่สมัครเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติการเมืองไทย อาชีพนักการเมืองควรจะหมดไปได้แล้ว [32]

           

ในบทความ ""การเมืองใหม่" ภายใต้การต่อสู้ของพันธมิตรฯ" นายสุริยะใส กตะศิลา ได้อธิบายหลักการของ "การเมืองใหม่"ว่า

 

"การเมืองใหม่" ใน ความหมายของพันธมิตรฯ... เป็นการเมืองที่เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง ลดอำนาจหน้าที่ของตัวแทนหรือผู้แทนลง เพิ่มบทบาทและอำนาจให้กับประชาชนมากขึ้น

 

ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่ให้ความสำคัญกับที่มาหรือกระบวนการในการตัดสินใจในการใช้อำนาจเท่านั้น แต่ต้องสร้างหลักประกันว่าประชาชนทุกสาขาอาชีพ ทุกชนชั้นจะเข้าถึงอำนาจในการตัดสินใจหรือกำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรม

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เขาเสนอก็คือ ที่มาของผู้ที่จะใช้อำนาจการเมือง คือ "เสนอสูตรผสมของผู้เข้าสู่อำนาจในสัดส่วน 70:30 กล่าวคือ เพิ่มกระบวนการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็น ร้อยละ 70 และลดที่มาของผู้ดำรงตำแหน่งโดยวิธีการเลือกตั้งลงเหลือร้อยละ 30" และต่อมาได้อธิบายเพิ่มเติมว่า

 

70 ต่อ 30 ในความหมายของเราก็คือ ลดระดับการปกครองโดยระบบตัวแทนของนักการเมือง หรือผลแพ้-ชนะของการเลือกตั้ง ลงเหลือแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ เราต้องยอมรับว่าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ระบบเลือกตั้งมีอิทธิพลชี้ขาดการเมืองไทยทุกยุคทุกสมัย ที่ผ่านมาจะเห็นว่ามันไปไม่ได้ แล้วอีก 70 เปอร์เซ็นต์ ในความหมายก็คือว่า เพิ่มพื้นที่ทางการเมืองให้กับการเมืองทางตรงหรือประชาธิปไตยทางตรง หมายความว่าเราต้องเปิดพื้นที่ให้กับชาวไร่ชาวนา กรรมกร คนยากจน คนในชนบท คนพิการ คนชายขอบ พ่อค้าวานิช นักธุรกิจ ต้องเปิดพื้นที่ให้คนเหล่านี้เข้ามามีส่วนร่วม มีตัวแทนที่แน่นอน.. [33]

           

ทั้งนี้ ในการปราศรัยโดยแกนนำพันธมิตรในช่วงวันที่ 4 กรกฎคม 2551 - 6 กรกฎาคม 2551 นั้นได้เน้นย้ำกรอบการวิเคราะห์ปัญหา อธิบายการแก้ไขปัญหาด้วย "โมเดล 70: 30" และขยายความให้ครอบคลุมประเด็นต่างๆ อย่างละเอียดกว้างขวาง

 

วันที่ 4 กรกฎาคม 2551 นายสนธิ ลิ้มทองกุล อธิบายว่า เนื่องจากการเมืองเก่าไม่เปิดโอกาสให้คนดี และประเทศไทยเป็นที่รวมของทุกชนชั้น ทุกเชื้อชาติ ศาสนา ประกอบด้วยหลายส่วน ทั้งเชื้อพระวงศ์ ศักดินา ข้าราชการ พ่อค้าประชาชน คนยากคนจน จึงเป็นเหตุให้การเมืองใหม่เสนอ "โมเดล 70:30" ขึ้นมาเป็นตุ๊กตา เพื่อที่จะตอบโจทย์ทางการเมืองที่สำคัญคือ "จะทำอย่างไรที่จะออกแบบให้ทุกส่วนได้มีสิทธิ์เท่าเทียมกัน ไม่ใช่ผูกขาด" ทั้งนี้ การเมืองใหม่ไม่จำเป็นต้องมีฝ่ายค้านเพราะตัวแทนกลุ่มอาชีพต่างๆ จะแสดงความไม่เห็นด้วยกับนโยบายเองหากเห็นว่าไม่ถูกต้อง

 

นอกจากนั้น นายสนธิ ลิ้มทองกุล ยังได้เสนอ"บทบาททหาร" ใน "การเมืองใหม่" ที่สำคัญ ที่ "อนุญาตให้ทหารสามารถเข้ามาเปลี่ยนแปลงการเมืองได้เลย ไม่ต้องอาย" ภายใต้เงื่อนไข 4 ประการ ที่ "ต้องระบุให้ชัดเจนในการเมืองใหม่" คือ ข้อที่ 1 "มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แล้วรัฐบาลไม่ทำอะไรเลย เหมือนรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช" ข้อที่ 2 "มีเจตนาที่จะล้มล้างระบอบกษัตริย์... หากรัฐบาลไม่ทำอะไรเลย อย่างรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช" ข้อที่ 3 "มีการฉ้อราษฎร์บังหลวง ไม่โปร่งใส... ทหารสามารถมีสิทธิที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงได้เลย เหมือนกับที่รัฐบาลสมัคร สุนทรเวชทำ" ข้อที่ 4 "มีการยกอธิปไตยให้กับต่างชาติ สมรู้ร่วมคิด ทหารก็เข้ามาได้ทันที เหมือนรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช"

 

ขณะที่นายพิภพ ธงไชย เสนอว่า แม้พรรคพลังประชาชนจะออกไปแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งดูจะเป็น"การเมืองน้ำดี" กว่าจะเข้ามาแทน ก็ยังเป็นการเมืองเก่า เพราะยังไม่มีตัวแทนของประชาชนทุกอาชีพอยู่ในสภา และหากมีการยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ ก็ยังเป็นการเมืองเก่า เพราะการเลือกตั้งก็ยังเป็นการซื้อสิทธิขายเสียงเหมือนเดิม

 

นอกจากนั้น แกนนำต่างๆ ยังได้นำเสนอว่า การเมืองใหม่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสารพัด เช่น แก้ไขปัญหาความยากจน, จนกระจุกรวยกระจาย (สมศักดิ์ โกศัยสุข) แก้ไขปัญหาน้ำมันแพง ราคาพืชผล (สนธิ ลิ้มทองกุล) จะมีคำตอบให้ชาวไร่ชาวนาในเรื่องการปฏิรูปที่ดิน การประกันราคาข้าว ลูกหลานเรียนฟรี (พิภพ ธงไชย) [34]

 

เมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์ "โมเดล 70:30" ว่าเป็น "ประชาธิปไตยแบบโควตาอ้อย" [35] หรือไม่เป็นประชาธิปไตย พันธมิตรฯ ก็ได้มีการพัฒนาปรับปรุงสูตรการเมืองใหม่ขึ้นมาหลายครั้ง เช่น

 

20 กันยายน 2551 พันธมิตรฯ ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงเรื่องการเมืองใหม่ โดยได้สรุป เป้าหมายของ "การเมืองใหม่" 2 ประการ คือ (1) "สนับสนุนให้คนดีมาปกครองบ้านเมือง ป้องกันไม่ให้คนไม่ดีมีอำนาจ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคมทุกภาคส่วน" และ (2) "ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมือง" โดยการเมืองใหม่จะไม่จำกัดอยู่เพียงนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง แต่จะยังเปิดกว้างให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมทางการเมืองทุกระดับ เช่น ผู้แทนจากกลุ่มวิชาชีพต่างๆ ผู้แทนจากภาคประชาชนที่หลากหลาย ผู้แทนจากภาคสังคมที่แตกต่าง ฯลฯ ซึ่งขึ้นอยู่กับการออกแบบรัฐธรรมนูญร่วมกันของประชาชนทุกภาคส่วนในสังคมเพื่อให้เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง

 

ทั้งนี้ "เพื่อบรรลุเป้าหมายในการทำให้เกิดการเมืองใหม่ได้นั้น ต้องขับไล่รัฐบาลอันธพาลหุ่นเชิดขายชาติชุดนี้ให้พ้นจากตำแหน่งโดยเร็วที่สุด" และ "เราพร้อมสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองในปัจจุบัน บนเงื่อนไขที่จะต้องปฏิรูปการเมืองโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และพร้อมที่จะสะสางปัญหาความเลวร้ายของระบอบทักษิณด้วยกระบวนการยุติธรรมและความจริงใจ หรือ ถ้าจะกล่าวอย่างกระชับชัดเจนมากขึ้นก็คือ สนับสนุนการรัฐประหาร [ไม่ว่าจะโดยตรงหรืออ้อม] เพื่อจัดการกับระบอบทักษิณและปฏิรูปการเมือง สร้างการเมืองใหม่นั่นเอง

 

28 กันยายน 2551 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้กล่าวปราศรัยกับผู้ชุมนุม โดยเสนอหลักการที่เป็นหัวใจที่สำคัญที่สุดของการเมืองใหม่ ในฐานะที่ตนเองเป็น "ผู้จุดประกาย" ว่า

 

การเมืองใหม่จะคิดยังไงก็ตาม หลักสำคัญที่สุดที่ต้องชูเอาไว้เลย การเมืองใหม่ที่เกิดขึ้นนั้น ต้องทำให้สถาบันกษัตริย์เข้มแข็ง และใครมาล้มล้างไม่ได้ จะออกแบบอย่างไรก็ตาม ขอให้ออกแบบให้สถาบันกษัตริย์เข้มแข็ง และคืนพระราชอำนาจ คืนให้กับพระองค์ท่านครับ [36]

 

นอกจากนั้นยังเห็นว่า การที่รัฐบาลในขณะนั้นจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา "การเมืองใหม่" เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นการให้ "โจรเป็นคนออกกฎจับโจร" มีเพียง "ประชาภิวัฒน์" ของพันธมิตรฯ เท่านั้นที่จะเริ่มต้นการเมืองใหม่ได้

 

1 ตุลาคม 2551 มีการจัดสัมมนาการเมืองใหม่ (ครั้งที่ 3) ได้ข้อสรุปที่สำคัญ คือ

 

1) เปลี่ยนจากเดิมที่ใช้โมเดล 70: 30 เพิ่มเป็น 50: 50 โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 400 คน มาจากการเลือกตั้ง 200 คน สรรหาจากทุกสาขาอาชีพ 200 คน สมาชิกวุฒิสภา150 คน มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน และคัดสรรอีก 74 คน [เหมือนรัฐธรรมนูญ 2550]

 

2) ที่มาของนายกฯ และรมต. มาจากการคัดเลือกของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งที่มาจากการเลือกตั้งและสรรหา ทั้งนี้นายกฯจะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่นั้นยังรอความเห็นจากประชาชน และคัดค้านการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง เนื่องจาก "ฝ่ายที่ตั้งหน้าตั้งตาคอยบั่นทอนสถาบันกษัตริย์จะเอาไปอ้าง คนจะหลงเชื่อเขา ซึ่งเรายอมไม่ได้"

 

3) ให้มีการตั้ง "สภาประชาชน" ขึ้นมาคู่ขนานกับรัฐสภา โดยสมาชิกมาจากการสรรหาจากภาคประชาชนทุกส่วนในประเทศ เริ่มตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน การทำงานของสภาประชาชน จะเน้นการปลูกจิตสำนึกด้านการเมืองให้กับประชาชน ทำหน้าที่ให้ความรู้ ตรวจสอบ คัดค้าน และถอดถอนอำนาจรัฐ โดยเป็นอิสระ/ไม่ขึ้นอยู่กับอำนาจรัฐ แต่อำนาจของสภาประชาชนจะต้องถูกรับรองโดยรัฐธรรมนูญ [37]

 

5) กรณีที่นักการเมืองทำผิดกฎหมายเลืองตั้ง ให้ตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต เพราะการตัดสิทธิ์เพียง 5 ปีนั้นน้อยเกินไป เมื่อผ่านพ้นช่วงเวลาดังกล่าวไปแล้วก็สามารถ "กลับมาโกงใหม่" ได้ [38]

 

21 ตุลาคม 2551 พันธมิตรฯได้ปรับปรุงข้อเสนอเรื่องการเข้าสู่อำนาจเพื่อที่จะให้ "มาจากการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์" โดยแบ่งออกเป็นการเลือกตั้งโดยตรง และการเลือกตั้งจากตัวแทนสาขาอาชีพ [39] รวมทั้งมีข้อเสนอในการปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, การพัฒนาแรงงานทางภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ โดยข้อเสนอต่างๆ ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การประชาพิจารณ์ "ภายหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐ" [40]

           

บทสรุปการเมืองใหม่ : ธง 4 ผืน

 

29 ตุลาคม 2551 พันธมิตรฯ ได้ทำการสรุปสาระสำคัญของการเมืองใหม่หลังจากที่มีการสัมมนามาถึง 6 ครั้ง โดยเปรียบเป็น "ธง 4 ผืน" ประกอบด้วย

 

ธงผืนที่ 1: ประชาชนชาวไทยมีหน้าที่พิทักษ์รักษา ปกป้องและเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง

 

ธงผืนที่ 2: ทำให้ประชาชนทุกสาขาอาชีพ และทุกภาคส่วนในสังคมมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริง

- เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกสาขาอาชีพและทุกภาคส่วนในสังคมในอำนาจทางการเมือง

- เพิ่มการมีส่วนร่วมทางการเมืองในการตรวจสอบทางการเมือง และถอดถอนโดยสภาประชาชน

- เพิ่มการมีส่วนร่วมตรวจสอบ ถอดถอน และการฟ้องร้องต่อนักการเมืองและพรรคการเมือง

 

ธงผืนที่ 3: ส่งเสริมให้คนดีปกครองบ้านเมือง ป้องกันมิให้คนไม่ดีมีอำนาจ

- การปฏิรูปนักการเมือง การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม, การปฏิรูปตำรวจ, การปฏิรูปองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ

 

ธงผืนที่ 4: ทำให้พลเมืองเข้มแข็ง เพื่อวางรากฐานทำให้การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไทยมีความเข้มแข็งและยั่งยืน [41]

 

และได้เสนอแนวทางที่จะนำไปสู่การเมืองใหม่ว่า

                       
การเมืองใหม่ที่มีธงนำ 4 ผืนไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายใต้รัฐฉ้อฉลไม่ยอมเสียสละ ฉะนั้น พันธมิตรจึงยืนหยัดในแนวทางสองประการ คือ 1.คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ฟอกความผิดตัวเอง และ 2.มุ่งขับไล่รัฐบาลให้ออกจากการบริหารประเทศ เพื่อนำไปสู่การเมืองใหม่ [42]

           

โดยสรุป กรอบโครงความคิดในการเยียวยารักษา หรือ "การเมืองใหม่" ของพันธมิตรฯ แม้จะมีการพัฒนาปรับปรุง เปลี่ยนคำ/ใช้คำใหม่ๆ หรือขยายขอบเขตให้กว้างขวาง รอบด้านมากขึ้น จนทำให้การเมืองใหม่ กลายเป็น"ยาวิเศษ" ที่สามารถจะรักษาได้ทุกโรค แต่ "การเมืองใหม่" ในฐานะกรอบโครงความคิดในการเยียวยารักษานั้น (1) สอดคล้องต้องกันกับการวิเคราะห์/วินิจฉัยของพันธมิตรฯ อย่างแม่นยำ คือ จุดรวมศูนย์ความเลวร้ายของสังคมการเมืองไทยทั้งหมดไม่ว่าเรื่องใด เกิดขึ้นจากพฤติกรรมรวมหมู่ของนักการเมืองและผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งที่เห็นแก่เงิน และ (2) จึงมีทิศทางที่เป็นเอกภาพในการจัดการกับความชั่วร้ายดังกล่าว คือ มีหลักชี้นำในการออกแบบการเมืองใหม่ คือ (1) "ส่งเสริมให้คนดีมาปกครองบ้านเมือง และป้องกันไม่ให้คนไม่ดีมีอำนาจ ตามกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" [43] (2) ลดอำนาจของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงพรรคการเมืองที่นักการเมืองสังกัด และผู้เลือกตั้งที่เลือกนักการเมืองเหล่านั้น [ซึ่งพันธมิตรฯ เข้าใจเอาเองว่า เป็นการเพิ่มอำนาจให้กับประชาชน] อย่างตรงไปตรงมาที่สุด กล่าวคือ

 

(1) ลดจำนวนหรือสัดส่วนนักการเมืองที่จะเข้าสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้ง (ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา) โดยเสนอให้มีการสรรหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยใช้สัดส่วนสรรหา: ต่อเลือกตั้ง เริ่มจาก 70:30 (25 มิถุนายน 2551) มาเป็น 50: 50 (2 ตุลาคม 2551) หลังจากถูกวิพากษ์วิจารณ์ คัดค้านมากขึ้นเรื่อยๆ จึงเสนอสูตรใหม่ "เพื่อให้มีการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์" โดยให้มีการเลือกตั้งทั่วไปครึ่งหนึ่ง และเลือกตั้งตาม "ตัวแทนอาชีพ"ครึ่งหนึ่ง [โดยไม่ระบุว่าเลือกตั้งอย่างไร หรือต่างกับการสรรหาอย่างไร] (21 ตุลาคม 2551) ขณะที่สมาชิกวุฒิสภา มีทั้งมาจากการเลือกตั้งและการสรรหาเหมือนรัฐธรรมนูญ 2550

 

(2) ทำให้การได้รับชนะจากการเลือกตั้งไม่มีผลหรือมีอิทธิพลน้อยลงในการกำหนดผู้นำฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล [สุริยะใสใช้คำว่า "ลดระดับการปกครองโดยระบบตัวแทนของนักการเมือง หรือผลแพ้-ชนะของการเลือกตั้ง"] จากการลดสัดส่วนในข้อ (1) และมาตรการที่ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งแบบปกติ กับ การสรรหา [เลือกตั้ง? แบบตัวแทนสาขาอาชีพ] เป็นผู้คัดเลือกนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี

 

นอกจากนั้น ยังเปิดกว้าง [รอการประชาพิจารณ์ ?] ว่านายกรัฐมนตรีจะต้องมาจากการเลือกตั้งหรือไม่

 

ในประเด็นนี้ผู้เขียนเห็นว่า สาเหตุที่พันธมิตรฯ ไม่เสนออย่างตรงไปตรงมาว่านายกฯ ไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งก็เพราะเกรงว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ ต่อต้านอย่างรุนแรง เป็นจุดอ่อนให้ถูกโจมที่ได้ง่าย อย่างที่เคยเกิดขึ้นในช่วงการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 และในทางตรงกัน หากเห็นว่านายกฯ ต้องจากการเลือกตั้งก็มีเหตุผลเพียงพอที่จะเสนอประเด็นนี้โดยทันที เพื่อไม่ให้เป็นจุดอ่อนให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะต้องการเปิดช่องให้ "คนดี" ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเข้ามาเป็นผู้นำรัฐบาล และดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

 

เมื่อมีเป้าหมายที่จะทำให้ผลแพ้ชนะในการเลือกตั้งไม่มีผลต่อการกำหนดผู้นำรัฐบาล จึงเป็นเรื่องปกติที่พันธมิตรฯ จะปฏิเสธการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง และเท่าทีปรากฏ ถึงแม้ไม่ได้กล่าวถึงการเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อแบบเขตประเทศ แต่ย่อมสรุปได้ว่า พันธมิตรฯ คัดค้านระบบบัญชีรายชื่อเขตประเทศอย่างแน่นอน เนื่องจากเห็นว่ามีนัยของการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง หรือเป็น"ระบบกึ่งประธานาธิบดี" ดังที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้อภิปรายไว้

 

ทั้งหมดนี้จะส่งผลต่อระบบหรือกระบวนการเลือกตั้ง [ที่ไม่มีเพียง 4 วินาทีอย่างที่กว้างอ้าง] บทบาทของพรรคการเมืองอย่างลึกซึ้ง ทำให้การเมืองในเชิงการแข่งขันทางนโยบายของนักการเมือง/พรรคการเมืองเป็นเรื่องที่ไม่มีความสำคัญอีกต่อไป และแน่นอนที่สุด นี่คือการไม่ยอมให้การตัดสินใจของ "ประชาชน" ที่ "เห็นแก่เงิน" "ขายเสียง" มีส่วนในการกำหนดหรือชี้ขาด "ชะตากรรมของประเทศ"

 

3) พร้อมกันนั้น ก็สร้างมาตรการในการควบคุมกำกับอย่างเข้มงวดรุนแรง เพื่อไม่ให้รัฐบาลดำเนินการบริหารที่ผิดพลาด "ร้ายแรง" โดยมาตรการที่สูงสุดเป็นรูปธรรมและทำได้ง่ายมากกว่าการเดินขบวน หรือมาตรการอื่นๆ เช่น ตุลาการภิวัฒน์ หลายเท่า คือ การให้บทบาททหารในการควบคุมนักการเมือง/รัฐบาล โดยการทำให้การแทรกแซงทางการเมืองของทหารหรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง "การรัฐประหาร" เป็นมาตรการที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

 

ขณะเดียวกันก็เพิ่มมาตรการในการควบคุมกำกับที่ไม่รุนแรงมากเท่ามาตรการแรก คือ การจัดตั้ง "สภาประชาชน" ขึ้นมาควบคู่กับรัฐสภา [ซึ่งยังไม่มีการระบุที่มาหรือคุณสมบัติที่ชัดเจนแน่นอนว่าเป็นอย่างไร] และการถอดถอนฟ้องร้องนักการเมืองและพรรคการเมืองในฐานะปัจเจกบุคคล [44] พร้อมกันนั้นก็เสนอให้มีบทลงโทษอย่างรุนแรงต่อนักการเมืองที่กระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้ง โดยเสนอให้ตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต

 

4) ถวายคืนอำนาจที่ "สำคัญชี้ขาด" ให้แก่พระมหากษัตริย์ คือ"ผู้บัญชาการเหล่าทัพอยู่ในพระราชอำนาจของราชบัลลังก์" โดยให้พระมหากษัตริย์" มีอำนาจในการแต่งตั้งหรือเปลี่ยนแปลงระดับผู้บัญชาการทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ" [45]

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้อเสนอที่ให้ทหารสามารถเข้ามาเปลี่ยนแปลงการเมือง/รัฐบาลได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายนั้น นอกจากเป็นการดึงอำนาจควบคุม บังคับบัญชาทหารออกจากนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนแล้ว การเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ นี้ยังเป็นการให้อำนาจกับพระมหากษัตริย์ใช้ผ่านทหารที่อยู่ในพระราชอำนาจของพระองค์ ในการควบคุม/จัดการกับรัฐบาลที่บริหารงานไม่เป็นไปตามพระราชประสงค์ คือ ไม่เป็น "คนดี" หรือทำให้เกิดการสั่นคลอนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

 

ดูเหมือนว่าพันธมิตรฯ เองก็ตระหนักถึง "ปัญหา" ของ "การเมืองใหม่" ที่สำคัญนี้ ดังนั้นเมื่อถูกวิจารณ์ว่า "การเมืองใหม่" ก้าวข้ามหลักการประชาธิปไตย หลักการ "1 คน 1 เสียง" คำตอบที่ได้ก็มีเพียง "ถ้าเรายึดมั่นอยู่กับประชาธิปไตยแบบตะวันตกแล้วขยับอะไรไม่ได้ แก้ปัญหาอะไรๆ ไม่ได้ การเมืองก็ยังเป็นการเมืองเก่า" [46] หรือ "อย่าไปยึดติดว่าประชาธิปไตยต้องเลือกตั้ง เพราะนั่นคือกระพี้ เพราะถ้าเราเลือกโจรเข้ามาก็จะเป็นสภาโจร" [47] และล่าสุดจึงมีแนวโน้มที่จะทำให้การเมืองใหม่มีความเป็นนามธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ

 

2.2.3 กรอบโครงความคิดจูงใจ (Motivational frame)

 

กรอบโครงความคิดในการจูงใจให้ผู้คนเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหว โดยการสร้างแนวความคิดหรือกลุ่มคำศัพท์ใหม่ขึ้นมานั้น ในกรณีพันธมิตรฯ จะพบได้ว่ามีการใช้กลุ่มคำศัพท์สำหรับการจูงใจหลายชนิด ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้ศึกษาว่าจะจัดการหรือพิจารณาจัดประเภทแยกแยะอย่างไร แต่ในส่วนนี้จะพิจารณา 2 เพียงส่วนคือ (1) วิกฤติและความร้ายแรงของปัญหา (2) สงคราม เนื่องจากเห็นว่าโดดเด่นเป็นพิเศษ และน่าสนใจในแง่ของการกำกับหรือชี้นำอย่างสำคัญต่อขบวนการเคลื่อนไหว

 

ว่าด้วยวิกฤติและความร้ายแรง

 

หากติดตามการแสดงความเห็นหรือการเคลื่อนไหวทางการเมือง จะเห็นได้ชัดเจนว่าคำว่า "วิกฤต" ที่ทั้งแสดงให้ถึงความเข้มข้นรุนแรงของปัญหาและสภาวะเร่งด่วนฉุกเฉิน/ไม่ปกติ จะถูกนำมาใช้โดยนักรณรงค์ทางการเมือง เพื่อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนบางอย่างที่ตนต้องการ สนับสนุนการกระทำของตนเสมอ หรือหาทางออกในลักษณะที่ "พิเศษ" เช่น "เลือดจะนองท้องช้าง [ถ้าไม่รีบแก้ไข]" , "สังคมจะล่มสลาย" ขณะที่คนอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่งกลับเห็นว่าเป็น "ปกติ" จนเกิดคำศัพท์ที่เรียกคนเหล่านั้นว่า "เซลแมนขายวิกฤติ" [48] ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า "วิกฤต" เป็นเสมือน (1) "ผลิตภัณฑ์" ที่ถูกนำมาแร่ขายต่อผู้ซื้อ ทั้งนี้การจะตัดสินใจซื้อหรือไม่นั้นนอกจากเรื่องคุณภาพของผลิตภัณฑ์หรืออื่นๆ แล้ว ยังขึ้นอยู่กับความสามารถในการโฆษณา/"โวหาร" ของผู้ขาย และ (2) "ผลิตภัณฑ์" ในฐานะที่มนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้น ไม่ได้ดำรงอยู่โดยตัวเอง แล้วมนุษย์ผู้มีความรู้สามารถหรือมีเครื่องมือที่ดีเหนือคนอื่นมองเห็นหรือค้นพบได้

 

ตัวอย่างรูปธรรมของการนำเรื่อง"วิกฤต" มาใช้จูงใจ และปัญหาของ "วิกฤติ" ตามที่กล่าวมาข้างต้นนี้ สามารถที่จะเห็นได้ หากย้อนกลับไป ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2548 ซึ่งเป็นการไม่ง่ายนักที่จะโน้มน้าวว่าเป็น "วิกฤต" นั้น นายสนธิ ลิ้มทองกุล ในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ได้นำกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณมีข้อความ ตอนหนึ่งว่า

 

สถานการณ์ของประเทศไทย ณ บัดนี้ เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า วิกฤตกำลังเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน ทั้งวิกฤตทางสังคม วิกฤตทางจริยธรรม วิกฤตทางเศรษฐกิจ และวิกฤตทางการเมือง เป็นวิกฤตที่ไม่อาจปัดเป่าได้ด้วยระบบการเมืองและคณะผู้นำทางการเมืองที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน [49]

 

ดังนั้นจึงต้องหาทางแก้ในลักษณะที่ "พิเศษ" โดยการถวายคืนพระราชอำนาจเพื่อพระราชทานผู้นำในการปฏิรูปการเมือง ทั้งนี้ไม่ว่าจะพิจารณาจากรัฐธรรมนูญหรือ "ประเพณี" ใดๆ ในระบอบประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ไม่อนุญาตให้ทำได้

 

อีกตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนที่ "วิกฤต" ถูกนำมาใช้เพื่อสนับสนุนการกระทำของตนเองและเรียกร้องให้หมู่พวกเข้าร่วมการสนับสนุน คือ กรณีฝ่าย "ผู้นำ" ภาคประชาชนที่เคยเห็นว่าการใช้ประเด็นเรื่อง "พระราชอำนาจ" เป็นเครื่องมือในทางการเมืองนั้นเป็นการ "ถอยหลังเข้าคลอง" [ซึ่งผู้เขียนไม่มีข้อสงสัยในความเชื่ออันลึกซึ้งนี้ของพวกเขาเหล่านั้น] แต่เมื่อต้องการจะเข้าร่วมขบวนการ"ถวายคืนพระราชอำนาจ" หรือยอมรับกลุ่มคำศัพท์ที่สนธิสร้างขึ้นในการอธิบายเหตุการณ์ก็เป็นได้ พวกเขาก็ให้เหตุผลและอธิบายว่า เนื่องจากสถานการณ์ในขณะนั้น "ระบอบทักษิณ" มีเข้มข้นความรุนแรงมากเข้าขั้น "วิกฤต" [50] และต่อมาในแถลงการณ์เรียกร้อง "นายกพระราชทาน" นั้น ก็ได้มีการบรรยายสภาวการณ์ในขณะนั้นว่าเป็นวิกฤตรอบด้าน เป็น "วิกฤตครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น มีระดับของความรุนแรงและความเสียหายไม่น้อยกว่าการสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อของประชาชนดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในอดีต"

 

ทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นว่า พันธมิตรฯ ได้ตีความสถานการณ์ในขณะนั้นว่าเป็น "วิกฤตที่สุดในโลก" [51] เป็น "ปัญหาและวิกฤตที่ร้ายแรงที่สุด" โดย "ระบอบทักษิณ คือ มหันตภัยที่ใหญ่หลวงที่สุดและอันตรายที่สุดของประเทศไทย ของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และของคนไทยทุกคน" [52] ดังนั้นจึง "จำเป็น" ต้อง "โค่นล้ม" กำจัดให้สิ้นไม่ว่าจะโดยวิธีการใดก็ตามเพื่อนำพาสังคมไทยออกจากวิกฤต

 

อย่างไรก็ตาม การที่กระบวนการทุกอย่างยังคงดำเนินการไปอย่างปกติ แล้วรอคอยอธิบายเหตุการณ์เกิดขึ้นเอง [ไม่เกี่ยวกับการกระทำของตน] ว่าเป็น "วิกฤต" เพียงอย่างเดียวนั้นยังไม่เพียงพอในการระดมการสนับสนุนหรือชักจูงโน้มน้าวคนอื่นๆ ได้ ดังนั้น พันธมิตรฯ จึงไม่เพียงใช้แต่กลุ่มคำศัพท์ "วิกฤต"มาอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเองเท่านั้น ยังกระทำการเคลื่อนไหวด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้เกิดสถานการณ์ที่ทำให้คนอื่นเห็นคล้อยตามหรือเห็นด้วยกับการใช้กลุ่มคำศัพท์นี้ และเห็นว่า "ไม่มีทางออกอื่น" เช่น การยืนยันที่จะชุมนุมขับไล่รัฐบาลทักษิณ ต้องมีการปฏิรูปการเมืองก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใหม่ หลังจากการยุบสภา การบอยคอยและปฏิเสธการเลือกตั้งและผลการเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เพื่อให้กระบวนการแก้ไขปัญหาต่างๆ ตามข้อเรียกร้องของตน ไม่สามารถที่จะเป็นได้ตามช่องทางในระบบการเมืองปกติ

 

ทั้งนี้ การยอมรับว่าสถานการณ์ดังกล่าวเป็นสภาวะ "วิกฤต" นั้นไม่เพียงเกิดขึ้นในหมู่พันธมิตรฯ เองเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับปัญญาชนอีกจำนวนมาก รูปธรรมนี้แสดงออกโดยการยอมรับว่าการรัฐประหารเป็นเรื่อง "จำเป็น"

 

สำหรับการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ในรอบที่สองนี้ ตามคำอธิบายของพันธมิตรฯ เอง เป็นการต่อต้านการกลับมาของสิ่งที่ "ชั่วร้าย" คือ การ "ฟื้นฟูระบอบทักษิณ" ให้กลับคืนมาเหมือนช่วงเวลา "วิกฤตที่สุดในโลก" ในอดีต โดยนายพิภพ ธงไชย ได้เปรียบ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เหมือน "ผีคอยหลอกหลอนสังคมไทย" ดังนั้นพันธมิตรฯ จึง "ไม่มีทางเลือกต้องปราบผีตัวนี้" [53] หลังจากนั้นความร้ายแรงของ "ผี" ก็ถูกประโคมขึ้นเรื่อยๆ โดยประเด็นที่สำคัญและเป็นจุดศูนย์กลางที่แสดงให้เห็นความร้ายแรงรุนแรงของปัญหาของ "ระบอบทักษิณ" หรือ "วิกฤต" ในหมู่ประเด็นอื่นๆ [เรื่องการชายชาติกรณีเขาพระวิหาร, การทุจริตคอรัปชั่น, การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อฟอกความผิดให้กับทักษิณ ฯลฯ] ที่โดดเด่นที่สุด คือ เรื่องพระมหากษัตริย์ [54] ดังนั้น ในส่วนนี้จึงขอพิจารณาเฉพาะประเด็นนี้เท่านั้น

 

แม้ว่าเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์จะพิจารณาได้ว่าเป็นการนำอุดมการณ์ชาตินิยมที่มีกษัตริย์เป็นศูนย์กลางจักรวาลทัศน์ [ราชาชาตินิยม] มาใช้เป็น "เครื่องมือ" ในการทำลายคู่ต่อสู้ทางการเมือง และปลุกระดมผู้คนที่จงรักภักดี [หมายความว่าผู้ประกอบการอาจจะไม่ได้มีความคิดความเชื่อหรือศรัทธาในเรื่องดังกล่าวจริง] แต่การที่ประเด็นนี้ถูกนำมาใช้เป็น "เครื่องมือ" ได้ก็สะท้อนให้เห็นถึงการประเมินประสิทธิภาพในการจูงใจผู้เข้าร่วม ความสอดคล้องต้องกันกับแนวคิดของผู้คนที่ต้องการระดม นอกจากนั้น สิ่งที่ควรพิจารณาก็คือ การที่ผู้ประกอบการจะคิดหรือมีแรงจูงใจอย่างไร ไม่สำคัญ [และเป็นไปได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้ที่จะสำรวจตรวจสอบ "ความจริงแท้" ของมัน] เท่ากับสิ่งที่ผู้ประกอบการแสดงออกมา เพราะมีเพียงสิ่งเหล่านี้เท่านั้นที่ปรากฏและเป็นที่รับรู้ของผู้คนในฐานะกรอบความคิดหลักของขบวนการ และผู้คนตัดสินใจเข้าร่วมด้วยกรอบโครงความคิดนี้

 

 การใช้ประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์มาชี้ให้เห็นถึงความรุนแรงของปัญหาในการเคลื่อนไหวรอบที่สองนี้ ปรากฏได้อย่างชัดเจนและเป็นทางการอย่างรวดเร็ว [ในช่วงก่อนการรื้อฟื้นพันธมิตรฯ สื่อในเครือข่ายผู้จัดการได้กระทำการนำร่องไว้ดีแล้ว] รูปธรรมที่เป็น "ทางการ" นี้แสดงออกในแถลงการณ์พันธมิตรฯ ในวันที่ 22 เมษายน 2550 ว่า ความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชาชนเพื่อรื้อฟื้นระบอบทักษิณนั้น "เข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ" [55] รวมทั้งการปราศรัยของแกนนำทั้ง 5 คน ในวันที่ 25 เมษายน 2551 และแถลงการณ์พันธมิตรฯ ฉบับที่ 8/2551 เรื่อง "หยุดสร้างเงื่อนไขรัฐประหาร!" วันที่ 14 พฤษภาคม 2551 ว่า

 

บัดนี้... ได้เกิดขบวนการคุกคามต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างต่อเนื่องจนอยู่ในภาวะอันตรายอย่างยิ่ง... ทั้ง ในรูปแบบของการแสดงออก การให้สัมภาษณ์ การลงข้อความและรูปภาพในเว็บไซต์ ใบปลิว นิตยสาร ซีดี อีกทั้งรัฐบาลชุดนี้กลับปล่อยให้มีรัฐมนตรีบางคนที่มีทัศนคติเป็นอันตรายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มาเข้าร่วมบริหารงานในรัฐบาลหุ่นเชิดชุดนี้อีกด้ว

 

ทั้งนี้ พันธมิตรฯ ได้พยายามนำส่วนต่างๆ รวมทั้งเรื่องที่ชี้ชัดได้ว่าเป็นเรื่องที่ "ประดิษฐ์" ขึ้นมาเอง มาประมวลเชื่อมร้อยเข้าด้วยกัน ทั้งที่เกี่ยวข้องกับบุคคลในรัฐบาล อดีต "ระบอบทักษิณ" และส่วนอื่นๆ ที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับรัฐบาล มาตีความเพื่อแสดงให้เห็นความร้ายแรงของปัญหา และการ "คุกคาม" ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น การแสดงความเห็นผ่านบทความของ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล, วารสาร/เวปไซต์ฟ้าเดียวกัน, เวปไซต์ข่าวประชาไท ฯลฯ รวมทั้งกรณีการไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ของนายโชติศักดิ์ อ่อนสูง และการใส่เสื้อ "ไม่ยืน ไม่ใช่อาชญากร คิดต่าง ไม่ใช่อาชญากรรม" ของนางสาวจิตร คชเดช ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมอินเตอร์ชั่นแนลแห่งประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการต่อสู้ของนายโชติศักดิ์ [56]

 

กรณีนายโชติศักดิ์ อ่อนสูง ในวันที่ 20 กันยายน 2550 ซึ่งเป็นวันที่เขาได้เดินทางไปที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวันเพื่อรับทราบข้อหา "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 พร้อมกับเพื่อนๆ อีกจำนวนหนึ่งที่เดินทางไปให้กำลังใจ พร้อมชูป้ายและสวมเสื้อที่มีข้อความว่า "ไม่ยืน ไม่ใช่อาชญากร คิดต่าง ไม่ใช่อาชญากรรม" นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา ระบบสรรหาจากสาย "วิชาการ" และนางจินดารัตน์ เจริญชัยชนะ ผู้ดำเนินรายการ ได้นำกรณีนายโชติศักดิ์มาอภิปรายในรายการ "ยามเฝ้าแผ่นดิน" โดยเสนอว่ากรณีนี้เป็นรูปธรรมของ "กระแสอุดมการณ์ใหม่ของระบอบประชาธิปไตยเฉยๆ" เชื่อมโยงกับกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคไทยรักไทย นอกจากนั้นยังระบุว่า "ได้มีการก่อรูปของแนวร่วมอุดมการณ์ใหม่ที่ยึดถือประชาธิปไตยเฉยๆ และก็ปฏิเสธประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" โดยสังเกตจากกลุ่มคนในเวปไซต์ต่างๆ และคนที่ลงชื่อสนับสนุนนายโชติศักดิ์ และสรุปว่านี่เป็น "ภูเขาน้ำแข็งที่ซ่อนอยู่ใต้น้ำ" ของ "ความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้เป็นระบอบประชาธิปไตยของประชามหาชน" [57]

 

วันที่ 23 เมษายน 2550 ในรายการ "ยามเฝ้าแผ่นดิน" นายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้วิเคราะห์ในประเด็นนี้ว่า หากมอง "ป่าทั้งป่า" จะเห็นการประสานงานร่วมมือกันของคน 3 กลุ่มที่แตกต่างกัน แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือ 1) กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ "ไม่เอา" ทักษิณ และ "ไม่เอา" กษัตริย์ 2) กลุ่มนักการเมืองเลว คือ พรรคพลังประชาชนและกลุ่มของอดีตนายกรัฐมนตรี 3) ฝ่ายซ้ายอกหักซึ่งทำงานเป็นที่ปรึกษาของอดีตนายกรัฐมนตรี โดยกลุ่มนี้เห็นว่า ทุนสามานย์ดีกว่าศักดินาล้าหลัง ทั้งสามกลุ่มนี้ร่วมมือกันเพื่อ "โค่นล้ม" ศักดินา [58]

 

วันที่ 25 เมษายน 2551 ในรายการ "ยามเฝ้าแผ่นดินภาคพิเศษ" ครั้งที่ 2 หอประชุมใหญ่ ม. ธรรมศาสตร์ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้กล่าวถึงกรณีนายโชติศักดิ์ อ่อนสูง ว่า

 

โดนล้างสมองจากบรรดาหมอผีทั้งหลายที่อยู่ใกล้คุณทักษิณ ที่บ้าลัทธิมาร์กซ์ สอนเรื่องสถาบันกษัตริย์ว่าไม่ดี สอนเรื่องโน้นเรื่องนี้ มันถึงมีเรื่องมีราวเกิดขึ้น ถึงมีเรื่องมีราวว่าทำไมมีเด็กจบจากธรรมศาสตร์ เข้าไปในโรงภาพยนตร์แล้วไม่ยอมลุกขึ้นทำความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี [59]

 

ในวันที่ 24 เมษายน 2550 หลังจากนายโชติศักดิ์ อ่อนสูง ได้เดินทางไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพียง 2 วัน นางสาวจิตรา คชเดช ได้สวมเสื้อสีดำรณรงค์สกรีนข้อความ "ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร คิดต่างไม่ใช่อาชญากรรม" ออกรายการ "กรองสถานการณ์" ในหัวข้อ"ทำท้อง...ทำแท้ง" ช่องเอ็นบีที หลังจากนั้นกรณีนี้ก็ถูกหยิบยกขึ้นมาโดยสื่อในเครือผู้จัดการเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการโจมตีนายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งดูแลเอ็นบีทีอยู่ในขณะนั้น [60] และเชื่อมโยงให้เห็นถึงความร้ายแรงของปัญหาที่กำลังคุกต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยในรายการ "ยามเฝ้าแผ่นดิน" วันที่ 28 เมษายน 2551 นายคำนูณ สิทธิสมาน ได้อธิบายว่าเรื่อง "ไม่ยืน" ว่า

 

ก็อาจจะใช่ ว่าการไม่ยืน มันไม่ได้ไปทำร้ายใคร แต่ถ้าผมจะมองคำว่าอาชญากรอย่างกว้าง หมายถึง อาชญากรต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผมอาจจะตีความได้ว่า การไม่ยืน หรือการรณรงค์ว่าไม่ยืน ก็ไม่ผิดนั้นเนี้ย คืออาชญากรที่จะทำร้ายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข [61]

 

ชัยอนันต์ สมุทวณิช คอลัมนิสต์ในผู้จัดการรายวัน/ออนไลน์ และปัญญาชนผู้ทำงานทางความคิด สนับสนุนการเคลื่อนไหวตั้งแต่ต้น ได้ทำให้ความคิดเรื่องดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นว่า "มีคนมากระซิบผมว่าอีก 20 ปี ประเทศไทยจะเป็นสาธารณรัฐแน่นอน" ในบทความเรื่อง "Republic of Thailand" อธิบายว่า เรื่อง "ไม่ยืน" ไม่ใช่เป็นเรื่องของ " คนห่ามหรือคนบ้า" แต่มีการทำเป็นขบวนการ คือ "ขบวนการ Republic of Thailand" ที่มีอยู่ทั้งในและต่างประเทศ โดยในประเทศนั้นมีอยู่หลายแห่ง คือ ในมหาวิทยาลัยบางแห่งมีอาจารย์ที่มีความเห็นว่า "ประเทศไทยไม่จำเป็นจะต้องมีสถาบันพระมหากษัตริย์" และมีกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งที่เป็นฝ่ายซ้ายเก่า ทำหนังสือและใบปลิว ตลอดจนพูดคุยกับชาวบ้านในทำนองหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อีกส่วนหนึ่งของขบวนการนี้คือ การเคลื่อนไหวโจมตีประธานองคมนตรี ทั้งนี้ "จะเป็นการบังเอิญหรือไม่ก็ไม่ทราบ แต่กลุ่มผู้สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นสาธารณรัฐนี้ก็สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วย และกลุ่มที่ไปประท้วงหน้าบ้านสี่เสาฯ ก็ชัดเจนว่าเป็นกลุ่มสนับสนุนพ.ต.ท.ทักษิณ"

 

ในตอนท้าย ชัยอนันต์ สรุปว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในตอนนี้แตกต่างไปจากในอดีต กล่าวคือ ในอดีตนั้นแม้จะมีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแต่ก็เป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่ในเวลานี้มีการจัดตั้งอย่างเป็นระบบ คือ 1. มีความคิด 2. มีการจัดตั้งองค์กร และเครือข่ายเพื่อเผยแพร่ความคิด 3. มีเงินทุนสนับสนุน 4. มีการใช้การสื่อสารผ่านเวปไซต์และการจัดพิมพ์วารสารใบปลิว ตลอดจนหนังสือ 5. มีการส่งคนไปปลุกปั่นคนในชนบทและแท็กซี่ในกรุงเทพฯ [62]

 

แม้ว่าตัวอย่างที่ยกมาทั้งสองกรณีนี้ นำมาจากสื่อในเครือผู้จัดการเป็นหลัก ซึ่งอาจจะมีข้อโต้แย้งได้ว่าไม่เกี่ยวข้องกับพันธมิตรฯ แต่ข้อโต้แย้งนี้ก็ไม่เป็นประเด็นอีกต่อไป หากได้ติดตามการปราศรัยโดยผู้ประกอบการหรือคนอื่นๆ บนเวทีปราศรัย ซึ่งกระทำแบบเดียวกัน

 

กล่าวโดยสรุปคือ สถานการณ์ในปัจจุบัน สำหรับพันธมิตรฯ เข้าขั้นวิกฤติ มีความรุนแรงถึงขั้นขอขาดบาดตาย เนื่องจากมีการจัดตั้งอย่างเป็นขบวนที่จะล้มล้าง "โค่นล้ม" สถาบันกษัตริย์ และสร้างระบอบการเมืองใหม่ที่ไม่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือ "ระบอบประธานาธิบดี" ขึ้นมา ดังนั้น จึงไม่เป็นที่แปลกใจที่ผู้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวที่ "จงรักภักดี" นั้น จะเข้าใจว่าการกระทำของตน คือ การต่อสู้กับ "ระบอบทักษิณ" นั้นเป็นการ "ช่วยชาติ ช่วยรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์" และ "ผมยอมตายและมีคนไทยอีกมากที่พร้อมจะยอมตายเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์" [63] หรือภายใต้สถานการณ์ที่ฉุกเฉินนั้น "ผมไม่เคยกลัว เพราะผมมาที่นี่เพื่อประเทศชาติและในหลวงของผม", "ฉันตายเพื่อในหลวงได้" [64] ทั้งนี้เนื่องจากพวกเขาและเธอเหล่านั้นได้ตระหนักถึงภัยที่กำลังคุกคามชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างร้ายแรง ตามกรอบโครงความคิดที่ผู้ประกอบการเคลื่อนไหวได้สร้างขึ้นนี้

 

ว่าด้วยสงคราม

 

การจัดการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2551 "เพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550 และระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" นั้น นายสนธิ ลิ้มทองกุล อธิบายว่าเป็น "สงครามครั้งสุดท้าย" [65] เนื่องจากไม่ใช่เป็นเพียงแต่การต่อต้านการแก้รัฐธรรมนูญเพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเพียงวิธีการหรือสิ่งที่พรางตา แต่ทั้งหมดนี้เป็นการ "ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เริ่มต้นระบอบสาธารณรัฐ พี่น้องจะยอมไหม (ไม่ยอม) ยอมไหม (ไม่ยอม) ยอมไหม (ไม่ยอม)" และนี่จึงเป็น "สงครามครั้งสุดท้าย" [66]

 

หลังจากนั้น การระดมผู้คนเข้าร่วมปฏิบัติการทางการเมืองเพื่อกดดันรัฐบาลหรือบรรลุเป้าหมายบางอย่างที่วางไว้ ก็ใช้กลุ่มคำศัพท์ "สงคราม" ตลอดเวลา อย่างเช่น 'สงคราม 9 ทัพ' กรณีปฏิบัติการบิดล้อมทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 20 มิถุนายน 2551, "สงครามครั้งสุดท้าย" ยึดอำนาจรัฐโดยประชาชน บุกยึดเอ็นบีที กระทรวงที่สำคัญ และยึดทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 26 สิงหาคม 2551 เป็นต้น

 

กรณี "ปฏิบัติการไทยคู่ฟ้า", "สงครามครั้งสุดท้าย ยึดอำนาจรัฐโดยประชาชน" ก่อนสว่าง ก่อนลงมือปฏิบัติการ แกนนำพันธมิตรฯ ได้ขึ้นเวทีจุดเทียนชัยนำฤกษ์ และอ่าน"ปรกาศพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ฉบับที่ 12/2551 เรื่อง กำหนดเป้าหมายและวิธีการชุมนุมสร้างประวัติศาสตร์การเมืองไทย" มีข้อความตอนหนึ่งว่า

 

ณ บัดนี้ได้มาถึงเวลาเช้าวันอังคารที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2551 อันเป็นวันที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจัดชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยมีพลังของกองทัพประชาชนกู้ชาติ ที่ยิ่งใหญ่ ห้าวหาญ เกรียงไกร เปี่ยมไปด้วยพลังทางศีลธรรม ที่สมควรได้รับการคารวะอย่างสูงยิ่ง

 

ทั้งนี้ มีการเรียกผู้เข้าร่วมว่า "กองทัพประชาชนกู้ชาติ" ตลอดคำประกาศ [4 ครั้ง] และเรียกภารกิจในการต่อสู้นี้ว่า "ภารกิจศักดิ์สิทธิ์"

 

นอกจากนั้น ยังมีคำเรียกอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสงครามอีกจำนวนมาก เช่น การเรียกหน่วยรักษาความปลอดหรือการ์ดว่า "นักรบศรีวิชัย, เรียกผู้ชุมนุมว่าทหารเสือพระราชินี-พระเจ้าอยู่หัว ฯลฯ

 

ไม่เพียงพันธมิตรฯ จะใช้กลุ่มคำศัพท์ "สงคราม" เท่านั้น แต่ยังมีการปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมรองรับอีกด้วย อย่าง (1) การทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมมีลักษณะเป็น "กองกำลัง" ด้วยการ "ติดอาวุธ" หรือสิ่งที่สามารถใช้เป็นอาวุธได้ให้กับผู้เข้าร่วมชุมนุมบางส่วน เช่น ท่อนเหล็ก/ไม้ ไม้กอล์ฟ ไม่เบสบอล หรือล่าสุดมีการยอมรับจากผู้ประสานงาน สุริยะใส กตะศิลา ว่า "การ์ดผู้ติดตามแกนนำ ที่มีใบอนุญาตที่ออกโดยกระทรวงมหาดไทย ก็สามารถพกพาอาวุธ[ปืน]ในที่ชุมนุม" [67] ได้ (2) การแต่งกายที่มีลักษณะคล้าย "นักรบ" เช่น การแต่งชุดสีดำ ปิดหน้าตา [เห็นได้จากกรณีการบุกยึดเอ็นบีที ที่นำทีมโดยนายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ และนายนัชเซอร์ ยีมะ] หรือในช่องเวลาออกปฏิบัติการนอกสถานที่ (3) การทำให้สถานที่ชุมนุมเป็น "สนามรบ" โดยการจัดตั้งป้อมค่ายตามจุดต่างๆ ล้อมรอบที่ชุมนุม ฯลฯ

 

นอกจากนั้น ผู้ประกอบการยังใช้ผู้ชุมนุมอย่าง "ทหาร" เช่น การสั่งการให้นำกำลังไปยึดเอ็นบีที การสั่งการ [ผ่านเวที] ให้บุก/โจมตีกองบัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อจับตัวนายตำรวจผู้สั่งการให้ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมในทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 29 สิงหาคม 2551 มาลงโทษที่เวทีปราศรัยในทำเนียบในตอนค่ำ [จนเกิดเหตุการณ์การระเบิด การปะทะกันระหว่างตำรวจและผู้ชุมนุม หน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ] หรือ การปิดล้อมรัฐสภา ในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ล้วนมีความเสี่ยงต่อความรุนแรงและการสูญเสียของกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งสิ้น [68]

 

3. สรุป: "ฝ่ายที่สาม", ทำไม "ตีคนเลว ตีคนชั่ว ไม่บาป", "เจอที่ไหนฆ่ามันทิ้ง" ได้

 

นอกจากเรื่อง "วิกฤต" ความร้ายแรงของปัญหา และ "สงคราม" ในความหมายของสภาวะที่ไม่ปกติ ฉุกเฉิน ที่เรียกร้องให้ทุกคนเสียสละแล้ว สิ่งที่ดึงดูดผู้เข้าร่วมที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ "ความหวัง" ซึ่งถูกสร้างขึ้นในหลายทาง เช่น (1) การแสดงตนเป็น "พ่อหมอ" [69] มีครูอาจารย์ดี มีญาณวิเศษ นั่งสมาธิแล้วมีนิมิตรู้การณ์ล่างหน้าถึงการเปลี่ยนแปลงในอนาคต (2) ความสามารถในการวิเคราะห์สถานการณ์ของแกนนำที่เสมือนนั่งอยู่ในจิตใจของกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในเร็ววัน [จะมีการเปลี่ยนแปลงใน 5 วัน 7 วัน, เป่านกหวีดดีเดย์ครั้งแล้วครั้งเล่า] แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ผู้คนมีความหวังหรือมีความมั่นใจในชัยชนะที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เมื่อพิจารณาจากข้อเรียกร้องที่ยากจะประสบความสำเร็จโดยการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯเอง ยุทธศาสตร์ และประสบการณ์การเคลื่อนไหวรอบที่ผ่านมา คือ การได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายที่ 3 หรือมี "ผู้ช่วย" หรือ "แม่ยกพันธมิตรฯ" ซึ่งแกนนำอย่างนายสนธิ ลิ้มทองกุล พยายามแสดงให้ผู้เข้าร่วมเห็นตลอดเวลา [70]

 

ในการเริ่มต้นเคลื่อนไหวในรอบแรก มองโลกในแง่ดี พันธมิตรฯ อาจจะไม่ได้คิดถึงตัวช่วยดังกล่าว แต่เมื่อมีการยุบสภาในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 แล้วยังคงยืนยันที่จะไล่รัฐบาลและเสนอให้มีการปฏิรูปการเมืองก่อนการเลือกตั้งต่อไป ซึ่งแน่นอนย่อมไม่สามารถที่จะดำเนินการได้ตามขั้นตอนปกติ ทำให้พันธมิตรฯ ต้องหา "ผู้ช่วย" ซึ่งการแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมของความคาดหวังนี้ คือ "นายกพระราชทานตามมาตรา 7" โดยอธิบายความว่า เป็นไปได้เนื่องจากเคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทย อย่างรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน หลังเหตุการณ์พฤษภา 35 แต่เมื่อไม่สำเร็จตามข้อเรียกร้อง ก็พยายามที่จะทำให้กระบวนการ ช่องทางตามระบบการเมืองปกติทุกอย่างไม่สามารถที่จะดำเนินการได้ ทำให้เกิดความรู้สึกว่า "วิกฤต" ไร้ทางออก หากปล่อยให้เหตุการณ์ดำเนินต่อไปจะนำไปสู่ปัญหาร้ายแรง และในที่สุด จึงนำไปสู่การรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549

 

ประสบการณ์ที่สำคัญของพันธมิตรฯ ในรอบแรก โดยรวม [ไม่จำเป็นต้องเป็นของทุกคนและไม่จำเป็นต้องมีการสรุปบทเรียนร่วมกัน] ที่สำคัญน่าจะมีดังต่อไปนี้

 

(1) เพียงการ "ชุมนุม" ขับไล่รัฐบาลเพียงอย่างเดียวต่อให้คนนับล้าน [ตามที่กล่าวอ้าง] ก็ไม่อาจ "โค่นล้ม" รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่ได้รับความนิยมของประชาชนได้ หรือต่อให้มีการยุบสภา คนเหล่านี้ก็จะกลับมาอีกครั้งดังที่เกิดขึ้นในกรณีพรรคไทยรักไทยและพลังประชาชน ซึ่งในรอบสองนี้ผู้ประกอบการหลายคนได้อธิบายประสบการณ์นี้ไว้อย่างเด่นชัดแล้ว

 

(2) ในแง่ของกองกำลังนั้น กองกำลังที่จะทำการ "ล้ม" รัฐบาลได้จริง คือ "ทหาร" ของพระราชา

 

(3) แต่การจะทำรัฐประหารได้นั้นต้องมีข้ออ้างรองรับที่ฟังขึ้นเพียงพอ

 

(4) ดังนั้น จะต้องทำให้เกิด "วิกฤต" คือ ช่องทางหรือกลไกปกติทำงาน ดำเนินการไม่ได้ เกิด "ช่องว่าง" ตามรัฐธรรมนูญ หรือ เกิดสภาวะ "ไร้ระเบียบ"

 

(5) ประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ การทำให้เกิดความรุนแรง [หรือทำให้คนเชื่อว่าจะเกิดความรุนแรงหรือความสูญเสีย] นอกจากจะทำให้รัฐบาลสูญเสียความชอบธรรมแล้ว จะให้ความชอบธรรมกับการรัฐประหารหรือการเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองโดยกระบวนการอื่นๆ

 

(6) แต่ทั้งนี้ จากประสบการณ์ในยุค คมช. ที่ล้มเหลว คนจำนวนมาก ทั้งจากฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านรัฐประหาร ไม่พอใจในการทำงาน ด้วยเหตุผลต่างๆ ดังนั้น เงื่อนไขต้องรุนแรงเข้มข้นกว่าเดิม จึงจะทำให้การแทรกแซงทางการเมือง การรัฐประหาร ดูชอบธรรม ได้รับการยอมรับ และเพื่อให้เป็นไปตามที่ตนต้องการ จะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการ "กำหนด" อำนาจรัฐด้วย

 

ประสบการณ์เหล่านี้ถูกนำมาใช้ในการเคลื่อนไหวในรอบที่สองทั้งหมด หรืออย่างน้อยก็ปรากฏในการเรียกร้อง

 

การทำความเข้าใจกรอบโครงความคิดในการปฏิบัติการร่วมทางการเมืองของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมนั้น ผู้เขียนเห็นว่า ต้องตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่า กรอบโครงความคิดเหล่านี้เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาผ่านการตีความเหตุการณ์หรือโลกภายนอก โดยมีผู้ประกอบการเป็นผู้แสดงบทบาทสำคัญในกระบวนการดังกล่าว [ซึ่งไม่จำเป็นต้องเท่ากับความเชื่อที่ "แท้จริง" ของผู้ประกอบการ] ขณะที่ผู้เข้าร่วมเคลื่อนไหวนั้นก็ย่อมรับหรือเห็นร่วมกับกรอบโครงหลักที่ถูกสร้างขึ้น แม้ในแง่ปัจเจกอาจจะมีความแตกต่างในรายละเอียดปลีกย่อย แต่เป็นความแตกต่างที่ยอมรับกันได้

           

หากพิจารณาจากกรอบโครงความคิดหลักที่บทความได้พยายามทดลองเสนอมา จะเห็นได้ว่า สำหรับพันธมิตรฯ แล้ว ปัญหาทั้งหมดรวมศูนย์อยู่ที่นักการเมือง "ชั่ว" และ "ผู้เลือกตั้ง" ที่เห็นแก่เงิน และทั้งหมดนี้รวมกันอยู่ใน "ระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง" กรอบวิเคราะห์นี้ถูกวางพื้นฐานมาเป็นเวลานานนับสิบปี ด้วยแนววิเคราะห์วัฒนธรรมการเมืองที่เห็นว่า การล้มลุกคลุกคลานของประชาธิปไตย เกิดจากการที่ประชาชนมีวัฒนธรรมทางการเมืองที่ไม่สอดคล้องกับระบบประชาธิปไตย ปัญหานี้ถูกเน้นย้ำมากขึ้นเมื่อนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามามีบทบาทสำคัญชี้ขาดในรัฐสภา หลังจากหมดยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ และความร้ายแรงของนักการเมืองและผู้เลือกตั้งที่ "ขายเสียง" ไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ นี้ เหมือนมีฉันทามติร่วมกันในสังคมการเมืองไทยว่าปรากฏสูงโดดเด่นที่สุดในสมัยรัฐบาลทักษิณ

 

การเยียวยารักษาจึงต้องใช้วิธีการที่รุนแรงพอที่จะรักษาสาเหตุของโรคได้ ดังที่กล่าวมาแล้ว และดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงวิธีการ เพราะการต่อสู้กับสิ่งที่เลวร้ายเป็นสิ่งที่ดี ยิ่งทำให้ฝ่ายศัตรูยิ่งแล้วร้ายขึ้นเท่าไหร่ การต่อสู้กับศัตรูก็ยิ่งเป็นสิ่งที่ดีมากขึ้นเท่านั้น การขยายประเด็นความรุนแรงของปัญหา "วิกฤต" ไปสู่การล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ สร้างสาธารณรัฐ ก็ยิ่งทำให้ฝ่ายศัตรูยิ่งเลวร้ายขึ้นเลวร้ายขึ้น ขณะที่การต่อสู้ของตนก็กลายเป็นสงคราม/ภารกิจศักดิ์สิทธิ์การจูงใจผู้เข้าร่วมด้วยกลุ่มคำศัพท์สงคราม และการทำให้การชุมนุมเป็นการทำสงครามก็ทำให้ตรรกะของสงครามครอบงำผู้กระทำการ ดังนั้น ศัตรู คือ ผู้ที่ต้องถูกทำลาย

 

กรอบความคิดเหล่านี้ถูกพัฒนา ทำให้เข้มข้น ทำให้ง่ายขึ้นง่ายขึ้นในการต่อสู้ที่เนิ่นนานและยังไม่ชนะเด็ดขาดอย่างที่คาดไว้

 

สำหรับบางคำถามเกี่ยวกับข้อความที่ยกมาในตอนต้น จากการสำรวจกรอบโครงความคิดที่ได้นำเสนอมาทั้งหมด สามารถที่จะอธิบายได้ดังต่อไปนี้

 

กรณี "สายจากทางบ้าน" แน่นอนย่อมไม่เป็นที่สงสัยว่า แกนนำพันธมิตรฯ บอกให้เขาพูดหรือให้เขาตั้งใจจะฆ่า "โชติศักดิ์" ทิ้งหรือไม่ แต่เป็นเพราะรับหรือเชื่อโดยไม่มีข้อสงสัยต่อกรอบโครงความคิดที่ผู้ประกอบการและสื่อในเครือผู้จัดการสร้างขึ้น โดยการชี้ให้เห็นถึงความรุนแรงเข้มข้นของปัญหา ยอมรับการวิเคราะห์ของนายคำนูณ สิทธิสมาน ที่ออกอากาศก่อนรายการ Metro life, เชื่อว่ามีความพยายามที่จะโค่นล้มสถาบันพระมากษัตริย์และสถาปนาสาธารณรัฐ, เชื่อว่านายโชติศักดิ์เป็นหนึ่งในขบวนการนั้น และเป็น"อาชญากรต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ดังนั้น ในฐานะ "ผู้จงรักภักดี" เพื่อปกป้องสิ่งที่ตนรัก เมื่อกฎหมายดำเนินการเอาผิดกับ "มัน" ไม่ได้ อาชญากร ต้องโดน วิสามัญฆาตกรรม ฯลฯ

 

กรณี "ผู้ดำเนินรายการ1" แน่นอนย่อมไม่เป็นที่สงสัยว่า แกนนำพันธมิตรฯ ได้แนะนำให้เขาเสนอความคิดดังกล่าว หรือไปลอบฆ่า "ไอ้พวกนี้เนี่ย..." และสถานีมีนโยบายนี้หรือไม่ แต่อาจเป็นเพราะเขาเป็นเหมือน"สายจากทางบ้าน" หรือเห็นว่า ประเด็นนี้เป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง "ขอใช้หน่อย" ด้วยความรู้สึกว่า การกระทำนี้เป็นเรื่องปกติในสภาวะสงคราม และจึงกระทำการอย่างร่าเริง

 

กรณีนายสมศักดิ์ โกศัยสุข "ตีคนเลว ตีคนชั่ว ไม่บาป" แน่นอนย่อมไม่เป็นที่สงสัยว่า แกนนำพันธมิตรฯ คนใดบอกให้เขาพูดอย่างนั้น แต่เขาพูดในสิ่งที่เขาเชื่อ และบอกกับคนอื่นอย่างนั้น

 

 

……………………………………………………………..

 

 

หมายเหตุ บทความนี้เขียนเสร็จตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน จึงไม่ได้อ้างอิงข้อมูลที่เกิดขึ้นในช่วงหลัง คือ การยึดสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง ในการวิเคราะห์

 

อ้างอิง:

 

[26] ดาวน์โหลดคำปราศรัยนี้ได้ที่ URL mms://tv.manager.co.th/videoclip/radio/1002/1002-2897.wma ข้อความที่อ้างถึงอยู่ในช่วงนาทีที่ 58.45 ถึง 59.10

 

[27] กองบรรณาธิการ "พิภพ ธงไชย: พันธมิตรหลัง'ม.7'," แทบลอยด์, ไทยโพสต์, 30 เมษายน 2549

 

[28] "จับเข่าคุย สุริยะใส กตะศิลา ว่าด้วยการเมืองใหม่ และการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ," แทบลอยด์, ไทยโพสต์, 29 มิถุนายน 2551

 

[29] "โค่นระบอบทักษิณไม่ได้ 'การเมืองใหม่' ก็เกิดขึ้นยาก.. เฉลยนุ่มๆ แบบ 'สุริยะใส"," เนชั่นสุดสัปดาห์ 17, 840 (4 กรกฎาคม 2551), หน้า 25

 

[30] สุริยะใส กตะศิลา ""การเมืองใหม่" ภายใต้การต่อสู้ของพันธมิตรฯ," ผู้จัดการออนไลน์, 25 มิถุนายน 255

 

[31] ดาวน์โหลดคำปราศรัยเรื่องการเมืองใหม่ของสนธิ ลิ้มทองกุล ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2541 ได้ที่ URL mms://tv.manager.co.th/videoclip/radio/1002/1002-3802.wma

 

[32] คำปราศรัยของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ในคืนวันที่ 21 มิถุนายน 2551 อ้างจาก "ก้าวอีกก้าว แหลมคม ปฏิวัติ มุ่งยึด "อำนาจรัฐ" ก้าว ใหม่ "พันธมิตร","คอลัมน์ วิภาคแห่งวิพากษ์, มติชนรายวัน, 23 มิถุนายน 2551, หน้า 3

 

[33] "โค่นระบอบทักษิณไม่ได้'การเมืองใหม่' ก็เกิดขึ้นยาก.. เฉลยนุ่มๆ แบบ 'สุริยะใส"," เนชั่นสุดสัปดาห์ 17, 840 (4 กรกฎาคม 2551) , หน้า 25

 

[34] "ประมวลข้อเสนอการเมืองใหม่ "พันธมิตรฯ" ในรอบ 48 ชั่วโมง," ประชาไท, 6 กรกฎาคม 2551

 

[35] ดูตัวอย่างใน ประภาส ปิ่นตบแต่ง, "ประชาธิปไตยแบบโควตาอ้อย," กรุงเทพธุรกิจ, 25 มิถุนายน 2551; ยุกต์ อิสรนันทน์ "ความสับสนของสุริยะใส พันธมิตรประชาชนเพื่ออะไร? และประชาธิปไตยแบบโควต้าอ้อย," ประชาไท, 25 มิถุนายน 2551 โดยยุกต์ อิสรนันทน์ อธิบายเหตุผลที่เรียกโมเดล 70:30 ของพันธมิตรฯ ว่า "ประชาธิปไตยแบบโควตาอ้อย เนื่องมาจากโมเดลนี้มีความคล้ายคลึงกับ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลของรัฐ ซึ่งกำหนดให้ชาวไร่ได้รับผลประโยชน์ 70% และผู้ประกอบการได้ประโยชน์ 30% แต่มีข้อแตกต่างกัน คือ ในขณะที่พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลได้ให้ประโยชน์แก่ชาวไร่ หรือ คนส่วนใหญ่ถึง 70% และ ผู้ประกอบการหรือชนชั้นนายทุนเพียง 30% แต่ประชาธิปไตยแบบโควตาอ้อยของพันธมิตรฯ ได้ให้อำนาจแก่คนกลุ่มน้อยหรือส.ส.ที่มาจากการแต่งตั้งถึง 70% และให้อำนาจแก่ประชาชนเพียง 30% ดังนั้น ประชาธิปไตยแบบโควต้าอ้อยกลับล้าหลังยิ่งกว่าโควตาอ้อยเสียอีก

 

[36] ตัวอย่างเช่น ในฐานะ จอมทัพ "พระองค์ท่านต้องมีอำนาจในการแต่งตั้งหรือเปลี่ยนแปลงระดับผู้บัญชาการทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ" "สนธิ ลิ้มทองกุล: ขึ้นต้น "การเมืองใหม่" ลงท้าย "คืนพระราชอำนาจ"," ประชาไท, 30 กันยายน 2551

 

[37] เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ซึ่งเป็นคนริเริ่มนำเสนอแนวคิดนี้ต่อพันธมิตรฯ ได้นำเสนอความคิดไว้ในบทความ ""สภาประชาชน" การเมืองภาคประชาชน" แต่ไม่มั่นใจว่าพันธมิตรฯ รับข้อเสนอของเนาวรัตน์ในรายละเอียดมากน้อยแค่ไหน

 

[38] "การเมืองใหม่พันธมิตรฯ: เลือกตั้ง 50% แต่งตั้ง 50% ยังอุบที่มานายกฯ ขอปรึกษา "ประชาชน" ก่อน" , ประชาไท, 3 ตุลาคม 2551

 

[39] "พธม.กลับลำการเมืองใหม่ ที่มาจากเลือกตั้งทั้งหมด" ไทยรัฐ, 22 กันยายน 2551

 

[40] "เสนอเข็มทิศ "พันธมิตรฯ" เตรียมทำ "สมุดปกขาวการเมืองใหม่" ให้ประชาพิจารณ์ทั่วประเทศ" , ประชาไท , 22 ตุลาคม 2551

[41] พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย "การเมืองใหม่:ประชาภิวัฒน์ สรุปต้นร่างจาการสัมมนาประชาชนเพื่อปฏิรูปการเมืองไทย ร่างที่ 2/2551 วันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551" (เอกสารอัดสำเนา) หรือดูที่ "พันธมิตรฯ ชู "4 ธงธรรม" นำสู่การเมืองใหม่," ผู้จัดการออนไลน์, 29 ตุลาคม 2551

 

[42] "พันธมิตรสรุปธง 4 ผืนการเมืองใหม่" มติชนรายวัน, 30 ตุลาคม 2551, หน้า 14

 

[43] "พันธมิตรฯ ชู "4 ธงธรรม" นำสู่การเมืองใหม่," ผู้จัดการออนไลน์, 29 ตุลาคม 2551

 

[44] "พันธมิตรฯ ชู "4 ธงธรรม" นำสู่การเมืองใหม่," ผู้จัดการออนไลน์, 29 ตุลาคม 2551 เป็นที่น่าสังเกตว่า "เท่าที่ปรากฏ" ไม่มีข้อเสนอเรื่อง "การควบคุมตรวจสอบนักการเมืองโดยตุลาการ" ใน "การเมือง ใหม่" [ถ้าไม่มีจริง] อาจเป็นเพราะพันธมิตรฯ เห็นว่า "ตุลาการ" ได้แสดงบทบท "ภิวัฒน์" ก่อนหน้านี้ในระดับที่ตนพอใจแล้ว

 

[45] สนธิอธิบายว่า "การเมืองใหม่ต้องรักษาพระสังฆราช ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ให้อยู่ในพระราชอำนาจของราชบัลลังก์ ราชบัลลังก์ถึงจะมั่นคง ถึงจะไม่มีใครมาจาบจ้วง หรือเจตนาจะล้มล้าง" ดู "สนธิ ลิ้มทองกุล: ขึ้นต้น "การเมืองใหม่" ลงท้าย "คืนพระราชอำนาจ"," ประชาไท, 30 กันยายน 2551

 

[46] กองบรรณาธิการ ""พิภพ ธงไชย": "การเมืองใหม่" ช่วงชิงอำนาจ," แทบลอยด์, ไทยโพสต์, 21 กันยายน 2551

 

[47] "ปราโมทย์ เฉ่งอัยการเตะถ่วงคดียุบพรรควอนทหารกล้าร่วมการเมืองใหม่," ผู้จัดการออนไลน์, 16 กันยายน 2551

 

[48] ผู้เขียนไม่มั่นใจว่าคำนี้ใครหรือกลุ่มใดใด้ "ประดิษฐ์" หรือใช้มาก่อน แต่จำได้ว่าในสมัยทำกิจรรมนักศึกษา ได้ยินคำนี้ครั้งแรกจากนายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการวารสาร ฟ้าเดียวกัน

 

[49] สนธิ ลิ้มทองกุล และ สโรชา พรอุดมศักดิ์, เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร: ถวายคืนพระราชอำนาจ, หน้า 338

 

[50] ดู "สัมภาษณ์สุริยะใส กตะศิลา: ล้มทักษิณไม่พอ ต้องล้มระบอบทักษิณ," ประชาไท, 7 กุมภาพันธ์ 2549

 

[51] ดู ตัวอย่างการใช้คำนี้ของพันธมิตรฯ ได้ที่ แถลงการณ์พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ฉบับที่ 1/2551 เรื่อง คำเตือนก่อนเกิดกลียุค, 24 กุมภาพันธ์ 2551

 

[52] แถลงการณ์พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ฉบับที่ 10/2549, 19 กรกฎาคม 2549

 

[53] ดู "พันธมิตรฯ ฮึ่มสู้ทุกรูปแบบขยายแนวร่วมต้าน "ระบอบแม้ว" คืนชีพ," ผู้จัดการออนไลน์, 25 กุมภาพันธ์ 2551 และ "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออกแถลงการณ์ "คำเตือนก่อนเกิดกลียุค" ต้าน "ระบอบทักษิณ" คืนชีพ ," ประชาไท, 26 กุมภาพันธ์ 2551

 

[54] ผู้เขียนเคยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการนำประเด็นเรื่องการนำประเด็นพระมหากษัตริย์มาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ระหว่างรอบแรกและรอบที่สอง ในประเด็นสำคัญ 2 ประการคือ 1) การนำประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์มาโจมตีรัฐบาลนั้น ในรอบแรก คือ ความไม่จงรักภักดี ละเมิดพระราชอำนาจเป็นด้านหลัก แต่รอบสอง ไปไกลมากกว่านั้น คือ มีความพยายามในการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อก่อตั้งสาธารณรัฐ 2) การใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือในรอบแรก คนที่มีบทบาทสำคัญคือนายสนธิ ลิ้มทองกุล และเครือข่ายของเขาในสื่อเครือผู้จัดการ ขณะที่พวกผู้นำ "ภาคประชาชน" ยังมีอาการเขินอาย แต่ในรอบสองนี้ นอกจากถูกเปิดขึ้นอย่างรวดเร็วแล้ว ยังเป็นที่ยอมรับและใช้กันอย่างถ้วนหน้า ดูใน "อารยะขัดขืนของนักปรัชญา Vs อารยะขัดขืนของพันธมิตร (ตอนที่ 2) ," ประชาไท, 20 มิถุนายน 2551

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงระหว่างระหว่างรอบแรกและรอบที่สอง คือ หลังการรัฐประหารนั้น ประเด็นนี้ถูกนำมาใช้โดยสื่อในเครือผู้จัดการ และแนวร่วมอย่างกว้างขวางและรุนแรงแล้ว

 

[55] คำประกาศพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เรื่อง "เดินหน้าต้านระบอบทักษิณ และการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อฟอกผิดตนเอง" 22 เมษายน 2550 แถลงหลังจากที่แกนนำพันธมิตรฯ พร้อมตัวแทนองค์กรแนวร่วมจากทั่วประเทศ ได้ประชุมเพื่อหารือถึงสถานการณ์ทางการเมือง ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว

 

[56] เช่น "เผยโฉม "โชติศักดิ์" ไม่ยืนตรงเพลงสรรเสริญ-โทษถึงคุก! ,"โดย ทีมข่าวอาชญากรรม, ผู้จัดการออนไลน์, 24 เมษายน 2551 ; " "โชติแสบ" โผล่เรียกสื่อต่างชาติไปทำข่าว "ไม่ยืน" หน้าโรงพัก," ทีมข่าวอาชญากรรม ผู้จัดการออนไลน์, 29 เมษายน 2551: รายการวิทยุ FM 97.75 คลื่นยามฝ้าแผ่นดิน ในเครือผู้จัดการในรายการ " metro life" ในวันที่ 29 และ 30 เมษายน 2551 ได้หยิบกรณีนี้มาโจมตี และมีการระดมความเห็นในการทำร้ายร่างกายนายโชติศักดิ์ อ่อนสูง; ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ "ขบวนการล้มเจ้ากับปฏิบัติการหลังราหูยก !!," ผู้จัดการรายวัน, 6 พฤษภาคม 2551

 

[57] "ยามเฝ้าแผ่นดิน: แฉ "นายใหญ่" จ้องปลด "หมัก"- แก๊งหมิ่นสถาบันพล่านเต็มเว็บเครือข่าย "แม้ว"," ผู้จัดการออนไลน์, 22 เมษายน 2551

 

[58] นายสนธิ ได้ทำการสรุปแนววิเคราะห์ และเน้นย้ำเรื่อง "3 ประสาน" อีกครั้งหนึ่งในเวที "ยามเฝ้าแผ่นดิน ภาคพิเศษ ครั้งที่ 2" ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 25 เมษายน 2551 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดู "ยามเฝ้าแผ่นดิน ภาคพิเศษ: แฉ 3 ประสานระบอบทักษิณเจตนาล้ม รธน." ผู้จัดการออนไลน์, 26 เมษายน 2551

 

[59] "ยามเฝ้าแผ่นดิน ภาคพิเศษ: แฉ 3 ประสานระบอบทักษิณเจตนาล้ม รธน.-สถาบัน," ผู้จัดการออนไลน์, 26 เมษายน 2551

 

[60] ดูตัวอย่างได้ในรายการ "ยามเฝ้าแผ่นดิน" ในวันที่ 28 เมษายน 2550 ["ยามเฝ้าแผ่นดิน : จี้ "เพ็ญ"แจงเสื้อรณรงค์ "ไม่ยืน" โผล่ NBT - "หมัก" ด่า "คนหัวเถิก" กระทบ "ปีย์,"" ผู้จัดการออนไลน์, 29 เมษายน 2551]; 2 พฤษภาคม 2551 ["ยามเฝ้าแผ่นดิน : สวนเว็บ "ประชาไท" แฉหลาน "สุริยะ" โยงนิตยสารหมิ่นสถาบัน,"ผู้จัดการออนไลน์, 2 พฤษภาคม 2551]; 6 พฤษภาคม 2550 ["ยามเฝ้าแผ่นดิน : แฉแผนใช้ "ทัพเทพ-ทัพถ่อย" ฟื้น "ระบอบแม้ว" - ท้า "เพ็ญ" แพร่เทปฉาวทาง "เอ็นบีที"," ผู้จัดการออนไลน์ , 7 พฤษภาคม 2551]; 14 พฤษภาคม 2551 ["ยามเฝ้าแผ่นดิน : ชี้วิกฤตชาติจ่อเสียดินแดน - สลดหนังสือหมิ่นฯ วางแผงได้," ผู้จัดการออนไลน์, 14 พฤษภาคม 2551]; 16 พฤษภาคม 2551 ["ยามเฝ้าแผ่นดิน : "สนธิ" แฉหลักฐานใหม่ "เพ็ญ" สุดจาบจ้วง - เปิดโปง "จิ๋ว" รับแผน "แม้ว" ตัดตอน "จักรภพ-หมัก"," ผู้จัดการออนไลน์, 16 พฤษภาคม 2551] โดยใน 2 ครั้งหลังนี้จะเน้นเรื่องวารสาร/เวปไซต์ฟ้าเดียวกัน

 

[61] "ยามเฝ้าแผ่นดิน: จี้ "เพ็ญ" แจงเสื้อรณรงค์ "ไม่ยืน" โผล่ NBT - "หมัก" ด่า "คนหัวเถิก" กระทบ "ปีย์"" ผู้จัดการออนไลน์, 29 เมษายน 2550

 

[62] ชัยอนันต์ สมุทวณิช, "Republic of Thailand" ผู้จัดการออนไลน์, 25 พฤษภาคม 2551

 

[63] ความเห็นที่ 1 ต่อท้ายบทความ "Republic of Thailand"

 

[64] "รอยเตอร์รายงาน: เสียงจากผู้ชุมนุมต้านรัฐบาล "เราจะตายเพื่อในหลวง"," ประชาไท, 3 กันยายน 2551, แปลจาก ""We'll die for King" say defiant Thai protesters" http://www.reuters.com/article/worldNews/idUKBKK30552420080902?sp=true

 

[65] "สงครามครั้งสุดท้าย" เป็นคำที่สนธิน่าจะเป็นผู้ริเริ่มใช้เป็นคนแรกๆ ในหมู่แกนนำ แต่ต่อมาก็กลายเป็นคำขวัญ/สโลเกน [ดูจากฉากหลังเวทีและการอธิบายของพันธมิตรฯ เอง] ต่อจากนั้น จึงพัฒนามาเป็น "การเมืองใหม่" ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2551 เมื่อได้ยินคำนี้ครั้งแรก ผู้เขียนเกิดความสงสัยว่าน่าจะนำมาจากเพลง "แองเตอร์นาซิอองนาล" หรือไม่ แต่ก็ไม่ได้ทำการตรวจสอบในตอนนั้น และไม่คิดว่า พันธมิตรฯ จะกล้าดึงเอาวัฒนธรรมของ "ฝ่ายซ้ายปฏิวัติ" มาใช้เป็นสโลแกนในการต่อสู้มากถึงขนาดนี้ [แม้ในช่วงแรกจะมีการนำเพลงนี้มาร้องในเวทีก็ตาม] ต่อมาเมื่อได้อ่านหนังสือที่เขียนโดยนายคำนูณ สิทธิสมาน มือขวาของนายสนธิ ใน ปรากฏการณ์สนธิ ในบทที่ 24 "เสื้อเหลือง ผ้าพันคอสีฟ้า" หน้า 275-276 ก็พอจะสรุปได้ว่า นำมาจากเพลงนี้ ทั้งนี้ คำนูณอธิบายว่า เคยใช้คำที่มาจากเพลงคือ "นี่เป็นการต่อสู้ครั้งสุดท้าย" มาเป็นสโลแกนในการรณรงค์เชิญชวนให้ผู้คนเข้าร่วมชุม โดยลงโฆษณาเต็มหน้าในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ วันที่ 18 กันยายน 2549 ก่อนการรัฐประหาร 1 วัน

 

[66] ดู "ยามเฝ้าแผ่นดิน : "สนธิ" ลั่น "25 พ.ค." สงครามครั้งสุดท้าย!"" ผู้จัดการออนไลน์, 24 พฤษภาคม 2551; ""สนธิ" เปิดโปงแก้ รธน.เป้าหมายเปลี่ยนระบบสาธารณรัฐ," ผู้จัดการออนไลน์, 25 พฤษภาคม 2551 และ ดาวน์โหลดคำปราศรัยในวันดังกล่าวได้ที่ URL mms://tv.manager.co.th/videoclip/radio/1002/1002-3015.wma

 

[67] "สุริยะใส บอกพันธมิตรไม่มีการพกพาอาวุธ" INN News, 29 ตุลาคม 2551

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท