Skip to main content
sharethis


นายอินทอง ไชยลังกา (ซ้าย) ตัวแทนเครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือและวิทยุชุมชน 22 ยื่นยื่นหนังสือข้อเสนอหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตวิทยุชุมชนต่อ พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะทำงานด้านกิจการกระจายเสียงวิทยุชุมชนในคณะอนุกรรมการวิทยุกระจาย เสียงและวิทยุโทรทัศน์


 


 


เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. ที่โรงแรมดิเอ็มเพรส ถ.ช้างคลาน จ.เชียงใหม่ เครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือและวิทยุชุมชน 22 แห่ง นำโดยนายอินทอง ไชยลังกา เข้ายื่นหนังสือข้อเสนอหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตวิทยุชุมชนต่อ พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะทำงานด้านกิจการกระจายเสียงวิทยุชุมชนในคณะอนุกรรมการวิทยุกระจาย เสียงและวิทยุโทรทัศน์


 


โดยเนื้อหาของหนังสือระบุว่า สืบเนื่องจาก พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 กำหนดให้คณะกิจการโทรคมนาคมทำหน้าที่ออกใบอนุญาตชั่วคราวให้แก่วิทยุชุมชนในระหว่างที่ยังไม่มี กทช. เครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือและวิทยุชุมชนภาคเหนือ 22 แห่ง จึงรวบรวมข้อเสนอที่ได้จากการจัดเวทีหารือกับวิทยุชุมเพื่อทำหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตวิทยุชุมชน 11 ข้อเสนอ ได้แก่


 


1.การออกใบอนุญาต การออกใบอนุญาตประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชนต้องมาจากความต้องการของ ชุมชน โดยชุมชนเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ


 


2. แผนคลื่นความถี่ ให้มีการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุให้ประชาชนได้ใช้ไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบ โดยพิจารณาจากช่วงคลื่นความถี่วิทยุ 87-108 MHz


 


3. การหารายได้ การดำเนินการวิทยุชุมชน ผู้รับใบอนุญาตประเภทบริการชุมชนห้ามหารายได้จากโฆษณา เนื่องจากเป็นข้อบังคับตามมาตรา 21 ของกฎหมายการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551


 


4. เนื้อหารายการ เนื้อหาของรายการต้องเป็นรายการที่มีสาระไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบ ตามกฎหมายการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551


 


5. ค่าธรรมเนียมและค่าตอบแทนการใช้คลื่นความถี่ การดำเนินการสถานีวิทยุชุมชนของภาคประชาชนควรได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม และค่าตอบแทนการใช้คลื่นความถี่ เนื่องจากเป็นการประกอบกิจการที่ไม่แสวงหารายได้ตามที่กฎหมายประกอบกิจการ กระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 กำหนดไว้


 


6. พื้นที่การให้บริการ พื้นที่การกระจายเสียง ต้องมีรัศมีการกระจายเสียงไม่ต่ำกว่า 15 กิโลเมตร หรือครอบคลุมตามขนาดพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการของ สมาชิกในชุมชน


 


7. ลักษณะทางเทคนิคที่พึงประสงค์ ความสูงของเสาจากระดับพื้นดินไม่เกิน 30 เมตร และกำลังส่งของคลื่นไม่เกิน 100 วัตต์ แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงสภาพภูมิประเทศและต้องสามารถกระจายเสียงได้ครอบคลุม พื้นที่ให้บริการ


 


8. กลไกการกำกับดูแลภาคประชาชน ให้คณะกรรมการตามมาตรา 78 หรือคณะอนุกรรมการคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ตามมาตรา 79 สนับสนุนให้มีกลไกให้ภาคประชาชนมีการรวมตัวกันเพื่อกำกับดูแลการดำเนิน กิจการวิทยุชุมชน


 


9. การออกประกาศหลักเกณฑ์เกี่ยวกับวิทยุชุมชน การออกประกาศหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับวิทยุชุมชนต้องเปิดให้ภาคประชาชนมีส่วน ร่วมในการกำหนดกติกา ข้อบังคับ ก่อนจะมีผลบังคับใช้


 


10. การตรวจสอบวิทยุชุมชน กทช. โดยศูนย์เฝ้าฟังฯควรทำหน้าที่ตรวจสอบวิทยุชุมชนผู้ขอรับใบอนุญาตว่าอยู่ใน หลักเกณฑ์ของวิทยุชุมชนที่ได้กำหนดไว้


 


11. การประกาศหลักเกณฑ์วิทยุชุมชน เมื่อมีการกำหนดหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตวิทยุชุมชนแล้วให้มีการประกาศต่อ สาธารณะเพื่อได้รับทราบทั่วกัน ด้วยจิตคารวะ


 


เครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือ ที่ร่วมยื่นแถลงการณ์ครั้งนี้ประกอบด้วย วิทยุชุมชนคลื่นเสียงเด็ก อ.แม่สาย จ.เชียงราย วิทยุชุมชนสันป่าตอง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่จุดปฏิบัติการเตรียมความพร้อมวิทยุชุมชนอำเภอเวียงแหง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ จุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนเมืองเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่วิทยุชุมชนคนหางดง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ จุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนคนเหนือเขื่อน อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ วิทยุชุมชนคนลุ่มน้ำวาง อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่วิทยุชุมชนมนต์เสียงธรรม อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่วิทยุชุมชนคนห้วยทราย อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ MAP Radio อ.เมือง จ.เชียงใหม่วิทยุชุมชนบ้านโป่ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ วิทยุชุมชนสภาวัฒนธรรม อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ วิทยุชุมชนบ้านสันคะยอม สถานีกู้ภัยนพรัตน์ อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่


 


วิทยุชุมชนคนนาน้อย อ.นาน้อย จ.น่าน วิทยุชุมชนภูกามยาว กิ่งอำเภอภูกามยาว จ.พะเยาวิทยุชุมชนคนรักถิ่น อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา วิทยุชุมชนคนบ้านโฮ่ง อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน วิทยุชุมชนคนเมืองหละปูน อ.เมือง จ.ลำพูน วิทยุชุมชนดอยหลังถ้ำ อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน จุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนคนเมืองลี้ อ.ลี้ จ.ลำพูน วิทยุชุมชนคนเมืองปาย อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน และวิทยุชุมชนคนแม่ลาน้อย อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน


นายอินทอง ไชยลังกา ตัวแทนเครือข่ายกล่าวว่ามีสถานีวิทยุบางแห่งก่อตั้งขึ้นโดยใช้ชื่อวิทยุชุมชน แต่แท้กลับเป็นวิทยุธุรกิจ หากำไร ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของชุมชนจริง ส่วนเครือข่ายวิทยุชุมชนที่ดำเนินงานโดยไม่แสวงผลกำไร ทำเพื่อประโยชน์ของชุมชนจริง ต้องการให้มีกรอบที่ชัดเจนในการจำแนกวิทยุชุมชนออกจากวิทยุธุรกิจ เพื่อจะได้ชัดเจนในการให้ใบอนุญาตประกอบกิจการ และป้องกันไม่ให้วิทยุประเภทอื่นมาแอบอ้างใช้ชื่อวิทยุชุมชนในการขอใบอนุญาต ประกอบกิจการด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net