Skip to main content
sharethis



21 ธ.ค.51 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.) ได้ออกคำแถลงข้อเสนอปัญหาเร่งด่วนต่อรัฐบาลใหม่ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยมีข้อเสนอในหลายด้าน คือ 1.ปัญหาเศรษฐกิจ สังคมและความยากจนโดยให้ผลักดันนโยบายรัฐสวัสดิการและอื่นๆ 2.ด้านปัญหาสิทธิมนุษยชนและกระบวนการยุติธรรม ให้เร่งคลี่คลายกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายกรณีในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ปฏิรูประบบยุติธรรม ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และอื่นๆ 3. ด้านปัญหาประชาธิปไตย การปฏิรูปการเมืองและรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจะต้องคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา โดยยึดหลักนิติธรรมและความสมานฉันท์อย่างเคร่งครัด ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในกาปฏิรูปการเมือง


 


 





 


ข้อเสนอปัญหาเร่งด่วนต่อรัฐบาลใหม่


ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี


 


 


            ด้านปัญหาเศรษฐกิจ สังคมและความยากจน


 


1.รัฐบาลจะต้องเร่งแก้ปัญหาความยากจนโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ช่องว่างคนรวยและคนจน คนในชนบทและคนในเมือง สูงติดอันดับโลก โดยใช้นโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจชนบท การกระจายรายได้ที่เป็นธรรม ปฏิรูประบบภาษี โดยให้มีการเก็บภาษีทรัพย์สิน-ภาษีมรดกอัตราก้าวหน้า เพื่อสร้างสังคม-ประชาธิปไตย (Social-Democracy) และสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง


 


2.รัฐบาลต้องมีนโยบายรัฐสวัสดิการ ผลักดันให้เกิดการประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีประสิทธิภาพ ไม่เลือกปฏิบัติ การประกันการว่างงานและสนับสนุนการศึกษาเป็นบริการสาธารณะที่รัฐจัดหาให้ โดยเน้นการกระจายโอกาสทางการศึกษาอย่างเป็นธรรม สนับสนุนการพัฒนาการศึกษาภาคพลเมือง (Civic Education)


 


3.รัฐบาลต้องมีนโยบายปฏิรูปที่ดิน จำกัดการถือครองที่ดิน และกระจายสู่เกษตรกรที่ไร้ปัจจัยในการผลิต รวมถึงส่งเสริมระบบสหกรณ์โรงสีที่ประชาชนร่วมเป็นเจ้าของ เพื่อป้องกันการค้ากำไรของพ่อค้าคนกลางแบบเก่าดังที่ผ่านมา


 


4. รัฐบาลจะต้องรับรองสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ให้สอดคล้องกับหลักสากลและปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิแรงงานข้ามชาติ ขจัดอุปสรรคในการที่แรงงานข้ามชาติจะเข้าถึงสิทธิต่างๆ และการปฏิบัติหน้าที่ การเข้าถึงความยุติธรรมและการคุ้มครองทางกฎหมาย เช่น การเสียภาษี การเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนและกองทุนประกันสังคม เป็นต้น


 


5.รัฐบาลต้องปฏิรูปกระทรวงแรงงาน เพื่อทำให้กระทรวงแรงงานให้เป็นกระทรวงเพื่อผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง เพราะรัฐบาลมีกระทรวงที่ดูแลผลประโยชน์ให้ฝ่ายกลุ่มทุนมากมายหลายกระทรวงและทำหน้าที่ให้กับฝ่ายทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น แต่คนงานซึ่งมีมากถึง 36.5 ล้านคน กลับไม่มีกระทรวงที่ดูแลประโยชน์ให้พวกเขาอย่างจริงจัง ดังนั้น รัฐบาลจะต้องปฏิรูปกระทรวงแรงงานเพื่อสนับสนุนสิทธิของแรงงาน ส่งเสริมสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองของผู้ใช้แรงงานอย่างจริงจัง เพราะในสังคม-ประชาธิปไตย คนงานถือเป็นหุ้นส่วนกับผู้ประกอบการที่เรียกว่า Social Partnership หากแรงงานไม่สามารถรวมตัวกันได้คนงานก็จะมีสภาพเหมือนทาสในเรือนเบี้ยที่ถูกกำหนดโดยนายทาสเท่านั้น ซุ่งทำให้ผู้ใช้แรงงานถูกเอารัดเอาเปรียบท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบัน


 


            ด้านปัญหาสิทธิมนุษยชนและกระบวนการยุติธรรม


 


1.รัฐบาลจะต้องคลี่คลายปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาซึ่งถูกเลือกปฏิบัติจากผู้มีอำนาจ เพื่อให้มีการดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมโดยยึดหลักนิติธรรม ไม่ว่าจะเป็นกรณีการฆ่าตัดตอนในสงครามปราบปรามยาเสพติด นโยบายอำนาจนิยมและการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยยึดหลักสิทธิมนุษยชนและความสมานฉันท์ รวมถึงการเร่งคลี่คลายคดีนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน (Human Rights Defenders) ที่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นกรณีการอุ้มหายทนายสมชาย นีละไพจิตร การลอบสังหารนายเจริญ วัดอักษร พระสุพจน์ สุวโจ และความรุนแรงในพื้นที่เสี่ยงจากความขัดแย้งในสงครามการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างกลุ่มทุนผู้อิทธิพลกับชุมชน โดยรัฐบาลจะต้องมีนโยบายในการปกป้องคุ้มครองนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในพื้นที่เสี่ยงภัยอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการจัดทำ บัญชีขาว (White List)  เพื่อให้ความช่วยเหลือและปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงภัย เพื่อให้ไม่ซ้ำรอยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในอดีตซึ่งมีการคุกคาม ข่มขู่และลอบสังหารอย่างแพร่หลาย


 


2.รัฐบาลจะต้องปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ เพื่อลดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะการซ้อม-ทรมาน การฆ่านอกระบบกฎหมาย และการอุ้มหาย เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมสามารถมีบทบาทในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะต้องทบทวนการให้อำนาจสอบสวน-สืบสวนแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจโดยไม่มีการคานอำนาจอย่างเหมาะสม ซึ่งจำเป็นต้องมีการปฏิรูปตำรวจอย่างเร่งด่วน รวมถึงกฎหมายที่ล้าหลังและขัดหลักสิทธิมนุษยชนสากล


 


3.รัฐบาลจะต้องให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ โดยเฉพาะ ธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC)  ที่รัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรี นายชวน หลีกภัย ได้ไปลงนามไว้แล้ว และอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการถูกบังคับให้บุคคลสูญหาย และดำเนินการแก้ไขกฎหมายให้สอดรับกับอนุสัญญาต่างๆ เพื่อสร้างบรรทัดฐานด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยให้ทัดเทียมสากล รวมถึงในด้านสิทธิแรงงาน รัฐบาลต้องให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ  ฉบับที่ 87 และ 98 โดยเร่งด่วน


 


4. รัฐบาลจะต้องยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และแก้ไขกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ปรับปรุง พ.ร.บ.กฎอัยการศึก และถอนร่างกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง เช่น ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะ  และร่างพระราชบัญญัติแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์


 


            ด้านปัญหาประชาธิปไตย การปฏิรูปการเมืองและรัฐธรรมนูญ


 


1.รัฐบาลจะต้องคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา โดยยึดหลักนิติธรรมและความสมานฉันท์อย่างเคร่งครัด จะต้องมีการดำเนินการสอบสวนลงโทษผู้กระทำผิดที่ก่อความรุนแรงอย่างไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงที่มาจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลกลุ่มใดก็ตาม เพื่อสร้างหลักประกันให้สังคมต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของพลเมืองในอนาคต โดยเฉพาะเหตุการณ์ความรุนแรงทีเกี่ยวข้องกับการชุมนุมมวลชนที่ผ่านมา  ทั้งจะต้องลงโทษเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เลือกปฏิบัติ และยอมตนป็นเครื่องมือทางการเมืองของนักการเมืองและผู้มีอิทธิพล ทั้งทางวินัยและอาญา


 


2.รัฐบาลจะต้องรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามหลักกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่อย่างเคร่งครัดในห้วงแห่งความขัดแย้งที่ยังไม่คลี่คลาย โดยการสนับสนุนสิทธิมนุษยชนของทุกฝ่ายภายใต้กติการะหว่างประเทศ ในการบริหารราชการแผ่นดิน การดำเนินนโยบายของรัฐบาล และการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐส่วนต่างๆ จะต้องไม่เลือกปฏิบัติและรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน


 


3.รัฐบาลจะต้องผลักดันการปฏิรูปการเมืองและสังคมใหม่โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในรูปของสภาปฏิรูปการเมืองหรือคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปรัฐธรรมนูญในส่วนที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในอนาคต จากการมีส่วนร่วมของสังคม โดยไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์แก่กลุ่มผลประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ อันจะเป็นการลดความขัดแย้งลงในระยะยาว


 


21 ธันวาคม 2551


คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.)


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net