Skip to main content
sharethis

ธวัชชัย ชำนาญ


 


การพัฒนาที่ไม่หยุดยั้ง ไม่มีวันจบสิ้น และวาทกรรมการพัฒนาที่พรั่งพรูออกจากบรรดาผู้นำในหลายๆ ประเทศ เพียงเพื่อผลประโยชน์ของคนไม่กี่คนที่ได้รับการตอบสนองจากการพัฒนาเหล่านั้น เขื่อนเป็นอีกวาทกรรมหนึ่งที่ทั้งรัฐและทุนต่างกล่าวว่า "เขื่อนอยู่กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน" การมีชีวิตที่ดีขึ้นหากเขื่อนผุดขึ้นบนแม่น้ำสายใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนลำน้ำโขงสายหลักที่หล่อเลี้ยงและยืนหยัดคู่วิถีชุมชนมานานหลายชั่วอายุคน


 




แผนที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ที่มีแม่น้ำโขงไหลผ่าน


 


เยือน "เชียงของ" เมืองเล็กๆ ใน จ.เชียงราย ที่มีชายแดนติดแม่น้ำโขง และกำลังจะเจริญอย่างรวดเร็ว ในฐานะ "ประตูใหม่สู่อินโดจีนและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง" โดยมีแม่น้ำโขงเป็นเส้นทางเชื่อมโยง แต่บทเรียนของการพัฒนาก็ได้สร้างความหวั่นวิตกให้คนในพื้นที่ต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับพวกเขาในอนาคต


 


และคำถามสำคัญคือ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อความสูญเสียจากนโยบายการพัฒนาในภูมิภาคนี้ของผู้คนริมฝั่งโขง เมื่อพวกเขาอาจจะต้องทนรับต่อผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปหากไม่สามารถหยุดยั้งสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคต่างมุ่งหาประโยชน์สูงสุดจากแม่น้ำโขงสายหลักนี้ ไม่ต่างกัน


 



 ทิวทัศน์ริมฝั่งน้ำโขงที่ อ.เชียงของ


 


ในระดับภูมิภาค ผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาที่มุ่งสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ และจะส่งผลต่อวิถีชีวิตของคนริมโขงอย่างไม่มีวันเรียกกลับคืน เนินนานมาก็ยังไม่ได้มีคำตอบที่แน่ชัดในการแก้ปัญหาหรืออกมาแสดงความรับผิดชอบ จากผู้มีเกี่ยวข้องทั้งในและระหว่างประเทศ


 


ล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาได้เกิดอุทกภัยริมฝั่งโขง ตั้งแต่ อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ไปจนถึง จ.หนองคาย นครพนม และเวียงจัน ยิ่งทำให้เกิดคำถามซ้ำขึ้นมาอีกว่า จริงหรือไม่ที่เขื่อนจีนส่งผลกระทบต่อประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง


 


 


เสียงจากชุมชนคนริมน้ำ ผลกระทบของความเปลี่ยนแปลง


 


บุญคง บุญวาส ผู้ใหญ่บ้าน บ้านปากอิงใต้ ต.ศรีดอนชัย อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งเป็นพื้นที่และประสบอุทกภัยกล่าวว่า ในช่วงปี 2544-ปี2551 ปริมาณของน้ำโขงเริ่มที่จะขึ้นลงผิดปกติ ส่วนในปีนี้สังเกตได้จากช่วงเดือนสิงหาคมที่เมื่อก่อนแม่น้ำอิงจะดันแม่น้ำโขง แต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมาน้ำโขงกลับดันน้ำอิงขึ้นไปแทน จากทุกปีที่ชาวบ้านเคยทำการเกษตรริมโขง พอมาถึงปีนี้ก็ไม่สามารถทำการเกษตรได้เหมือนเมื่อก่อน เพราะระดับน้ำที่ขึ้นลงไม่เป็นเวลา ไม่เป็นไปตามฤดูการณ์ และน้ำท่วมก็ได้ทำให้พืชเกษตรเกิดความเสียหาย


 


ทั้งนี้ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะอุทกภัยในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงเหตุการณ์หนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยผู้ใหญ่บุญคงเล่าว่า เมื่อก่อนผู้คนในหมู่บ้านมีการทำประมงหาปลามากที่สุดในหมู่บ้านแถวฝั่งโขง มีเรือในการหาปลา ประมาณ 70 ลำ มาถึงปัจจุบันเหลือเรือหาปลาประมาณ 3 ลำ เนื่องจากระบบนิเวศเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างรวดเร็ว จนทำให้ชาวบ้านต้องเปลี่ยนอาชีพ ไปทำอย่างอื่นแทน ส่วนใหญ่จะไปเป็นกรรมกรในตัวเมืองเพื่อไปใช้แรงงาน ลูกหลานก็ไปเรียนในกรุงเทพมากขึ้น


 


ส่วน พรสวรรค์ บุญทัน ผู้ใหญ่บ้าน บ้านห้วยลึก 1 ใน 6 หมู่บ้าน ที่ประสบภัยอุทกภัยของ อ.เวียงแก่น กล่าวว่า ในระยะแรกชาวบ้านหวยลึกไม่ทราบสาเหตุของปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้นของแม่น้ำโขง เพราะเมื่อก่อนถ้าปริมาณน้ำโขงสูงขึ้นก็จะอยู่ในปริมาณไม่เกิน 1 ศอก และต่อมาบ้านของตนและชาวบ้านที่อยู่บริเวณแม่น้ำโขงต้องย้ายออกหมดเพราะตลิ่งที่พังนั้นเริ่มขยายตัวกว้างขึ้นจากแม่น้ำโขงประมาณ 4-5 ไร่


 


ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้ บ้านของผู้ใหญ่พรสวรรค์ 3 หลังต้องจมไปกับน้ำ ส่วนในเรื่องของรายได้ จากเดิมที่มีรายได้ส่วนใหญ่ในการส่งลูกหลานเรียนมาจากการประมง และการเกษตร ตอนนี้ได้ถูกทำลายไปหมด


 


ผู้ใหญ่พรสวรรค์ เล่าต่อว่าการย้ายถิ่นฐานเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2549 เนื่องจากตลิ่งพังทุกปี และวิถีชีวิตก็เริ่มเปลี่ยนไป โดยประมาณปี 2550 เริ่มมีการเปลี่ยนอาชีพไปทำเกษตร ซึ่งได้รับผลกระทบเช่นกันในเรื่องสารพิษ จนมาถึงปี 2551 พื้นที่เกษตรเหล่านั้นได้รับความเสียหาย ชาวบ้านติดหนี้ ธ... กันเยอะ แม้ว่า ธ...มีการพักชำระหนี้และให้ค่าเสียหายไร่ละ 600 บาท แต่จนถึงบัดนี้ยังไม่ได้รับเงิน


 


ทั้งนี้ เมื่อชาวบ้านได้เฝ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ทำให้รู้ว่าเขื่อนเป็นสาเหตุของการขึ้นลงของน้ำที่ผิดปกติ ผิดธรรมชาตินั้น เนื่องจากการระบายน้ำออกจากเขื่อนในปริมาณทีละมากๆ และการปล่อยน้ำเพื่อความสะดวกของเรือเดินสินค้า


 


ผู้ใหญ่พรสวรรค์กล่าวอีกว่า ในตอนนี้การพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงก็ยังคงดำเนินต่อไป ล่าสุดในประเทศลาวจะมีการสร้างเขื่อนปากแบงโดยบริษัทต้าถัง ของจีน ซึ่งถ้าสร้างเขื่อนปากแบงชาวบ้านทั้งไทย ลาวจะได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะถ้าสร้างเขื่อนนี้ขึ้นก็จะเกิดน้ำท่วมบริเวณที่ดินชาวบ้าน และจะมีความรุนแรงมากกว่าที่เป็นอยู่


                                                                                                                              


เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมามีการสำรวจพื้นที่บริเวณที่จะได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากแบงของเหล่านักศึกษามหาวิทยาลัยราชฎัชเชียงราย ทำให้รับรู้ได้ว่าผลกระทบดังกล่าวมีอยู่จริง เพราะถ้าไม่มีผลกระทบนักศึกษาคงจะไม่ต้องลงมาสำรวจ และถ้าเขื่อนปากแบงเกิดขึ้น ภาวะน้ำท่วมคงเกิดขึ้นอย่างหนักในบ้านหวยลึก ปากอิงใต้และอีกหลายหมู่บ้าน ในอำเภอเวียงแก่น


 


"ถ้าสร้างเขื่อนปากแบงนี้ก็เหมือนกับเอาน้ำมาขังไว้บริเวณที่ชาวบ้านอาศัยอยู่" นายพรสวรรค์กล่าวถึงสิ่งที่เขาหวาดหวั่น


 



การกัดเซาะของตลิ่งริมฝั่งน้ำ


 



สภาพตลิ่งพัง บริเวณบ้านห้วยลึก อ.เชียงของ


 



สภาพตลิ่งที่พังกินพื้นที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ


 


 


จากข้อสงสัย"น้ำโขงขึ้นลงผิดปกติ" ถึงการบ่งชี้ผลกระทบที่จากการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขง


 


เสียงตัวแทนจากชุมชนบ้านหาดบ้าย อ.เชียงของ จ.เชียงราย ให้ข้อมูลว่า การเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงที่ส่งผลผลกระทบต่อวิถีชาวบ้านอย่างมาก ทั้งทางด้านการเกษตรบริเวณริมฝั่งโขง จนกระทั้งมีน้ำท่วมโดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้พืชผลเหล่านั้นเสียหาย การหาปลาของชาวบ้านก็หาได้ยากมากเมื่อเทียบกับก่อนจีนสร้างเขื่อน การระเบิดแก่งได้สร้างผลกระทบต่อที่อยู่ของปลา การหาปลาจากที่เมื่อก่อนหาได้มาก แต่มาตอนนี้ปลาหาได้ยาก มีไม่ถึง 50% ถ้าเทียบกับเมื่อก่อน สาเหตุมาจากการขึ้นลงของน้ำผิดปกติในวันเดียวกัน ทำให้ปลาไม่สามารถอยู่ได้


 


ด้านตัวแทนจากลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยของชาวบ้านถึงความเปลี่ยนแปลงในช่วงปี 2547- ปี2548 ก็ได้ทราบถึงระบบนิเวศของแม่น้ำที่เปลี่ยนไป เพราะว่ามีโครงการพัฒนาเขื่อนตอนบนแม่น้ำโขงที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ ปี 2538


 


ดังข้อมูลที่รับรู้กันในวงผู้ติดตามการพัฒนาดังกล่าวว่า เขื่อนมันวานเป็นเขื่อนแรกของโครงการสร้างเขื่อนพลังงานไฟฟ้า 8 เขื่อน ในแม่น้ำโขงตอนบนของประเทศจีน ที่เริ่มก่อสร้างและทำการผลิตไฟฟ้าได้เมื่อปี 2539 โดยที่ไม่ได้มีการปรึกษากับประเทศเพื่อนบ้านทางตอนล่างของแม่น้ำ และไม่ได้มีการทำ EIA สำหรับโครงการ


 


ตัวแทนจากลุ่มรักษ์เชียงของกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงที่ชาวบ้านสังเกตเห็น คือ ระดับน้ำที่มันไม่เป็นปกติ ซึ่งแม่น้ำโขงในช่วงฤดูแล้งประมาณ เดือนกันยายนระดับน้ำก็จะลดระดับลงไปเรื่อยๆ และเวลาน้ำขึ้นมันก็ขึ้นอยู่กับปริมาณของฝน แต่ในตอนนี้ถึงฝนไม่ตกน้ำก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาระดับน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เมตร ซึ่งทำให้พื้นที่เกษตรของชาวบ้านเสียหาย เนื่องจากระดับน้ำที่ท่วมสูงขึ้นอย่างรวดเร็วผิดปกติ


 


ผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นระบบลูกโซ่ กล่าวคือ จากการขึ้นลงของระดับน้ำผิดปกตินั้นทำให้ "ไก" (สาหร่ายในแม่น้ำโขงเป็นอาหารของทั้งคนและสัตว์) ไม่สามารถอยู่ได้ ปลาก็ไม่มีอาหารทำให้พันธุ์ปลาลดน้อยลง ซึ่งมันส่งผลกระทบในวงกว้างมากของชาวบ้านหาดบ้าย และหมู่บ้านอื่นๆ ที่พึ่งพิงแม่น้ำโขง


 


ตัวแทนจากลุ่มรักษ์เชียงกล่าวยืนยันด้วยว่า จากผลการสำรวจและทำวิจัย สาเหตุของน้ำท่วม ตลิ่งพังมาจากเขื่อนอย่างแน่นอน เพราะนับก่อนที่ไม่มีเขื่อน ระบบนิเวศยังปกติอยู่ แต่เมื่อมีเขื่อนเกิดขึ้นทุกอย่างก็เริ่มเปลี่ยนไป ส่วนผู้ที่จะมารับผิดชอบในเรื่องนี้ ก็ละเลยกับผลกระทบที่ชาวบ้านได้รับ ชาวบ้านต้องช่วยเหลือตัวเองอย่างมากในการดำรงชีวิตไปตามความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น


 


 "การประกอบอาชีพของชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไปมากตั้งแต่มีการสร้างเขื่อน และการพัฒนาต่างๆ ในลุ่มแม่น้ำโขง" และนี้คือประโยคที่เรามักได้ยินซ้ำๆ จากการลงพื้นที่


 


นอกจากนี้ การพูดคุยในขณะลงพื้นที่ ชาวบ้านได้กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาว่า พวกเขาพร้อมที่จะคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ติดอยู่ที่ว่าทางหน่วยงานเหล่านั้น เช่น คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission) หรือ MRC พร้อมที่จะคุยหรือเปล่า และบางครั้งหน่วยงานของรัฐบาลในไทยยังต้องมาหาข้อมูลเรื่องระดับน้ำจากชาวบ้านด้วยซ้ำ นอกจากนี้ชาวบ้านยังได้เคยไปยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือไปยังสถานทูตจีน แต่ก็ไม่เคยได้รับความเห็นกลับมา


 


ส่วนเพื่อนชาวจีนซึ่งเข้าร่วมดูงานในครั้งนี้ได้ให้ข้อเสนอแนะแก่ชาวบ้านว่า การไปยื่นหนังสือของชาวบ้านบางครั้งอาจจะยังเป็นการปฏิบัติการที่น้อยไป ที่จะทำให้รัฐบาลจีนได้เห็นความเดือดร้อนและลงมือแก้ไขปัญหาของชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านน่าจะไปติดต่อทางรัฐบาลไทยเพื่อให้ประสานไปทางรัฐบาลจีนอีกทางหนึ่ง เพื่อที่จะทำให้เสียงของชาวบ้านมีน้ำหนักมากขึ้น


 



 



 


เรือของจีนมารอรับสินค้า ที่ท่าเรือเชียงแสน โดยกรรมกรขนสินค้าเป็นคนในพื้นที่


 


 


ผลกระทบจากโครงการความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง


 


ในขณะที่ชาวบ้านต่างมีความมั่นใจว่าสาเหตุของการเกิดน้ำท่วมในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเกิดจากเขื่อนในประเทศจีน ช่วงฤดูร้อนเดือนเมษาในปี 50 คนเชียงราย ในพื้นที่ อ.เชียงแสน ก็ได้เจอกับสถานการณ์วิกฤติแม่น้ำโขงแห้งขอด จนแผ่นดินไทย-ลาวยื่นเกือบชิดติดกัน ถึงขั้นเดินข้ามถึงกันได้ ทั้งที่ในปีก่อนหน้านั้นซึ่งก่อนหน้านั้นได้เกิดน้ำโขงเอ่อท่วมในพื้นที่ และในครั้งนั้นชาวบ้านต่างบอกกันเป็นเสียงเดียวว่า ผลกระทบนั้นมาจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงทางตอนบนของประเทศจีนเช่นกัน


 


แต่นอกจากนโยบายพัฒนาโดยการสร้างเขื่อนแล้ว การพัฒนาด้านการค้าการลงทุนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงก็ได้ส่งผลกระทบของสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตของผู้คนริมน้ำไม่ต่างกัน ดังเช่นกรณีของ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย


 


.มิติ ยาประสิทธิ จากกลุ่มรักษ์เชียงแสน บรรยายถึงวิถีชีวิตของชาวเชียงแสนที่ผูกพันอยู่กับแม่น้ำโขงว่า พื้นที่เมืองเชียงแสนเดิมเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ เป็นแหล่งประมงของชาวบ้าน เป็นท่าเรือของชาวบ้านในการซื้อขายสินค้ากันระหว่างไทย ลาว กัมพูชา จนบัดนี้พื้นที่สาธารณะของชาวบ้านเหล่านั้นถูกแย่งชิงไปโดยเรือสินค้าที่มาจากจีน กล่าวได้ว่าตอนนี้เมืองเชียงแสนได้ถูกผลักดันให้เป็นไปทางด้านการค้าและอุตสาหกรรม เพราะเป็นผลมาจากการจด FTA (เขตการคาเสรีระหว่างไทยจีน) และจากเมื่อก่อนชาวบ้านเคยทำเกษตร ทำประมง ส่วนท่าเรือที่ชาวบ้านเคยใช้จอดเรือประมง ตอนนี้เป็นเรือสินค้าที่มาจากจีนมาจอดเต็มไปหมด ทำให้ชาวบ้านต้องเปลี่ยนอาชีพไปเป็นกรรมกรท่าเรือ


 


หลังจากการจด FTA สิ้นค้าของจีนก็เริ่มเข้ามาแน่นอนว่าไปต้องเสียภาษี แต่มีข้อสังเกตตรงที่เวลาสินค้าของไทยส่งไปจีนชาวบ้านต้องเสียค่าเบี้ยใบ้รายทาง ถึง 13% การกีดกันสินค้าของไทยโดยทางการจีน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อไม่นานมานี้ ด่านตรวจพืชของไทยได้ตรวจพบแมลงและสารเคมีในผลไม้ ทำให้ทางการไทยสั่งตรวจสอบอย่างเข้มงวด ทางการจีนไม่พอใจ จึงได้สั่งกักสิ้นค้าของไทยและให้ทางการไทยทำมาตรฐานสินค้าก่อนส่งไปจีน แต่เวลามีการตรวจสอบสินค้าของจีน ซึ่งพบแมลงและสารปนเปื้อนทางการจีนกลับตอบโต้ด้วยวิธีเดียวกันคือการกักสินค้าของไทย


 


.มิติ กล่าวต่อว่า คนเชียงแสนสงสัยถึงความเจริญที่มากับแม่น้ำโขงคืออะไรกันแน่ การจด FTA ของรัฐบาลไม่ได้เอื้อให้กับชาวบ้าน เพราะเรือสินค้าที่เข้ามาขายและขนส่งสินค้าในไทยจะเป็นเรือสินค้าของจีนทั้งหมด แต่ถ้าเป็นเรือของคนไทยจะขึ้นไปจีนลำบากมากเนื่องจาก กฎกติกาหลายๆ อย่าง ชาวบ้านเลยตั้งขอสงสัยว่า FTA เป็นการค้าขายระหว่างรัฐกับรัฐ หรือว่าเป็นการค้าขายระหว่างไทยกับมาเฟียจีนกันแน่ เพราะว่าเวลาไทยเอาสินค้าเข้าไปขายทางจีนจะไม่จ่ายเงินทั้งหมด แต่จะจ่ายเงินในส่วนที่เหลือเป็นกระเทียมแทน ซึ่งชาวบ้านฝั่งไทยปลูกกระเทียมกันเยอะมากแล้ว ทำให้ชาวบ้านไม่มีทางเลือกต้องนำกระเทียมกลับมาจากจีน ทำให้กระเทียมล้นตลาด ราคากระเทียมตกต่ำ


 


ส่วน FTA ที่เรียกว่า FTA ภาคประชาชนที่ชาวบ้านฝั่งไทยซื้อขายกับฝั่งลาว จะแตกต่างกันตรงที่เมื่อชาวลาวมาขายสินค้าให้กับฝั่งไทยเขาก็จะซื้อสินค้าจากชาวบ้านฝั่งไทยกลับไปด้วย โดยคนเชียงแสนกับคนลาวไม่ได้เชื่อว่าแม่น้ำโขงเป็นพรมแดนกั้นระหว่างประเทศ แต่แม่น้ำโขงได้เป็นตัวเชื่อมทางอารยะธรรมสองฝั่งโขง


 


.มิติ กล่าวอีกว่า วิกฤตของแม่น้ำโขงเกิดขึ้นจาการระเบิดแก่ง เพื่อการคมนาคม และการสร้างเขื่อนในจีนที่ทำให้น้ำท่วมอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ที่สำคัญก็คือเวลาเรือสินค้าของจีนจะมาส่งสินค้า ทางจีนเขาจะปล่อยน้ำจากเขื่อนเรือของเขาจึงมาได้ แต่เวลาเรือของไทยจะนำสินค้าไปจีน มันไม่สามารถขึ้นไปได้ ต้องแจ้งทางการจีนไปเป็นลำดับขั้น เพื่อที่จะให้เขาเปิดเขื่อนเพื่อเอาสินค้าจากไทยขึ้นไป ในส่วนนี้ชาวบ้านต้องเสียเงินเป็นพิเศษ ถ้าอยากให้เขื่อนของจีนเปิดก่อนกำหนด เพราะสินค้าเป็นสินค้าสดถ้ารอให้เขื่อนจีนเปิด สินค้าก็จะเน่าเสีย


 


"ในปีนี้น้ำท่วมเชียงแสนถึง 3 ครั้ง ทำให้สินค้าเกษตรเสียหาย เพราะการขึ้นลงของแม่น้ำโขงผิดปกติ ทั้งหมดที่พูดมานั้น บุคคลที่ช่วยเราได้นั้นคงหนีไม่พ้น ประชาชนและรัฐบาลทั้งลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม" อ.มิติ กล่าว


 


การอธิบายของอาจารย์มิติ ทำให้เห็นถึงกระบวนการพัฒนาทั้งในเรื่องเขื่อน และโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ GMS ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านริมฝั่งโขงมากกว่าการได้ผลประโยชน์จากโครงการพัฒนาเหล่านี้


 


"เขื่อน" แทนที่จะช่วยป้องกันน้ำท่วม กลับทำให้น้ำท่วมหนักกว่าเก่า การระเบิดแก่งเพื่อเดินเรือก็ทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไปแทนที่เป็นที่อยู่ของปลา โครงการ GMS แทนที่ผลประโยชน์จะได้กับชาวบ้าน ผลประโยชน์ก็ถูกกลืนไปโดยกลุ่มนายทุนเพียงไม่กี่คน และท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่ชาวบ้านริมฝั่งโขงได้รับคือ กากเดนของการพัฒนาที่กลุ่มคนเหล่านั้นทิ้งไว้ โดยไร้ซึ่งการแก้ไขอย่างจริงจัง


 


 


 


 


 


หมายเหตุ: การเดินทางลงสำรวจพื้นที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมนานาชาติลุ่มแม่น้ำโขง "เรื่องเขื่อนแม่น้ำโขงสายหลัก-เสียงประชาชนข้ามพรมแดน" ในระหว่างวันที่ 13-14 พ.ย.51 ภายหลังจากเสร็จสิ้นการประชุม โดยโครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในภูมิภาคอินโดจีนและพม่า หรือ เธียร์ร่า (TERRA) จัดลงพื้นที่เมื่อวันที่ 15-16 พ.ย.51 มีผู้เข้าร่วมการเดินทางทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง อาทิเช่น ผู้เข้าร่วมจากประเทศลาว จีน กัมพูชา เกาหลี และเวียดนาม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net