วิกฤติประชาธิปไตยในอุ้งตีนพันธมิตร

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

กำพล จำปาพันธ์

นับแต่ยุคสมัยของการเปลี่ยนระบอบการปกครอง พ.ศ.2475 เป็นต้นมา ระบบประชาธิปไตยรัฐสภาถูกท้าทายจนนำไปสู่วิกฤติการณ์ครั้งใหญ่อยู่ 3 ครั้งด้วยกัน คือ 1.การโต้กลับของกลุ่มกษัตริย์นิยมต่อบทบาทคณะราษฎรและการเปลี่ยนระบอบการปกครอง 2.การปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตยภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) และ 3. การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่มาพร้อมกับ "นอมินี" ของพวกเขา (ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้มากอำนาจและบารมีจากสถาบัน, ราชนิกูล, ข้าราชการ, ทหาร, ตุลาการ, สื่อ, เอ็นจีโอ และนักวิชาการบางส่วน)

            การท้าทายครั้งที่ 1 เริ่มตั้งแต่การปิดสภาของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา กบฏบวรเดชในปีพ.ศ.2476 จนถึงรัฐประหาร 2490 โดยในระยะสุดท้ายกลุ่มกษัตริย์นิยมก้าวเข้ามามีบทบาทเคลื่อนไหวการเมืองกันอย่างคึกคัก พร้อมกับการหมดบทบาทลงของคณะราษฎรสายพลเรือน ปรีดี พนมยงค์ ผู้นำกลุ่มต้องลี้ภัยไปต่างแดนพร้อมข้อหาว่ามีส่วนพัวพันในกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ต่อมาระบบทหารเป็นใหญ่หลัง 2490 เกิดความขัดแย้งภายในจนตัวมันเองวิวัฒน์ไปสู่ระบอบเผด็จการเต็มขั้นภายใต้การขึ้นสู่อำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อนที่ระบอบนี้จะล่มจมลงจากการต่อสู้ของนักศึกษาประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

            การท้าทายครั้งที่ 2 เป็นความขัดแย้งครั้งใหญ่ระหว่างรัฐกับขบวนการประชาชนทั้งที่อยู่ภายใต้ร่มธงชี้นำจาก พคท. และที่ไม่อยู่ใน พคท. แต่ก็มีแนวโน้มสนับสนุนแนวคิดและจุดยืนของ พคท. ความขัดแย้งนี้รุนแรงถึงขั้นแตกหักเป็นสงครามประชาชนสู้รบระหว่างรัฐกับ พคท. เป็นเวลานาน สุดท้ายยุติลงโดยการหันเข้าร่วมโครงการพัฒนาชาติไทย มีเหตุการณ์ป่าแตกเป็นหัวเลี้ยวสำคัญ คนป่าคืนเมือง กระแสแนวคิดสังคมนิยมตกเป็นกระแสรอง (ของกระแสรอง) อีกครั้ง หลังจากครอบงำความเป็นซ้ายมานานหลายปี การต่อสู้ของขบวนการต่อต้านรัฐบาลในยุคการท้าทายครั้งที่ 2 นี้มีคุณูปการมากมาย แต่กล่าวโดยสรุปได้ว่า นำมาซึ่งการปรับตัวของรัฐและชนชั้นนำไทย เกิดแนวโน้มที่จะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แม้จะมีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างประชาธิปไตยในแบบของชนชั้นนำรัฐกับประชาธิปไตยในแบบฉบับของขบวนการปฏิวัติสังคมนิยมก็ตาม การปรับตัวดังกล่าวมีผลทำให้ฝ่ายอมาตยาธิปไตยต้องอ่อนกำลังลงอย่างเห็นได้ชัด เกิดบรรยากาศการเมืองที่เรียกกันว่า "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" พร้อมความหวังที่จะเกิด "ประชาธิปไตยเต็มใบ" ในอนาคตอันใกล้ ผนวกกับกระแสการต่อสู้ในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ทำให้แนวคิดและข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมืองได้รับการขานรับในเวลาต่อมา จนในที่สุดก็นำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ซึ่งเป็นฉบับเดียวที่มีสมญาว่า "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" (นอกเหนือจากที่เคยมีฉบับทหาร, ฉบับใต้ตุ่ม และฉบับนักศึกษากันมาแล้ว)

            ส่วนการท้าทายครั้งล่าสุดนี้มีแนวโน้มเป็นตรงกันข้ามกับครั้งที่ 2 ไม่เป็นหลักประกันแต่อย่างใดว่า หากชัยชนะตกเป็นของฝ่ายต่อต้าน ระบบการเมืองจะไม่ถูกปรับเปลี่ยนไปในทิศทางเผด็จการอำนาจนิยม ทางโน้มและวงจรของประวัติศาสตร์ข้างต้นทำให้น่าคิดว่า การท้าทายครั้งล่าสุดนี้อาจจบสิ้นลงเหมือนดังกรณีการท้าทายครั้งที่ 1 คือนำมาซึ่งระบอบเผด็จการอำนาจนิยมสุดขั้ว หากชัยชนะตกเป็นของฝ่ายต่อต้าน เพราะขบวนการต่อต้านมีลักษณะไม่เป็นประชาธิปไตย ทั้งยังเป็น "นอมินี" และ/หรือ "หุ่นเชิด" (หากจะเรียกตามศัพท์ของพวกเขาเอง) ของกลุ่มชนผู้มีอภิสิทธิ์ชั้นสูงในสังคม คล้ายคลึงกับขบวนการต่อต้านรัฐบาลคณะราษฎรระหว่างทศวรรษ 2490-2500 ที่มีกระบวนการหลังพิงวัง อาศัยกระแสความนิยมในสถาบันชั้นสูงเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวและเรียกร้องการสนับสนุนในวงกว้าง อีกทั้งแนวคิดและวิธีการหลายอย่างก็คล้ายคลึงกัน (ระหว่างกลุ่มพันธมิตรฯ กับกลุ่มกษัตริย์นิยมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2) เป็นต้นว่า ในขบวนการมีการใช้แนวคิดว่าด้วยสถาบันและความจงรักภักดีกันอย่างบ้าคลั่ง ไม่มีเหตุผล ใช้การใส่ร้ายป้ายสีทางการเมือง (โดยเฉพาะกรณีการใส่ร้ายป้ายสีว่า "ปรีดีฆ่าในหลวง") ผูกขาดความจงรักภักดีอย่างเป็นระบบ ใช้ข้อหาคอมมิวนิสต์และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพปราบปรามกลุ่มผู้คิดต่างจากตน ฯลฯ

            ความแตกต่างในระดับรายละเอียดเช่นว่า กลุ่มพันธมิตรฯ ใช้วิธีการรุนแรงถึงขั้นยึดทำเนียบ ปิดล้อมสภา ยึดทำเนียบ ฯลฯ ไม่เป็นสาระสำคัญมากพอที่จะเทียบขบวนการนี้กับขบวนการต่อต้านคณะราษฎรไม่ได้ เนื่องจากแนวคิดและวิธีการของทั้งสองมีความสอดคล้องตรงกัน เพียงแต่ระดับความบ้าคลั่งอาจต่างระดับกันได้ ซึ่งก็เป็นธรรมดาเพราะหากทำเหมือนเช่นที่ทำในช่วงทศวรรษ 2490 ก็เชื่อแน่ได้ว่าขบวนการนี้จะไม่เป็นปัญหามากเท่าที่เป็นอยู่นี้ จากประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ได้ก่อเกิดวิถีอำนาจและความชอบธรรมขึ้นในระบบเป็นของตนเองมากพอ จนรัฐประหารที่เกิดขึ้นในวันที่ 19 กันยายน 2549 ไม่มีความชอบธรรมอย่างทั่วด้าน ขบวนการต้านรัฐประหารยกระดับตนเองจากกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยกระจัดกระจาย กลายเป็นกองทัพมวลชนสำคัญที่ท้าทายอำนาจคณะนายทหาร รัฐบาล และผู้มีบารมีเหนือกองทัพ ตามมาด้วยการตีแสกหน้ารัฐประหารโดยประชาชนในระดับรากหญ้า ด้วยผลการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 พวกเขาเลือกเอานายสมัคร สุนทรเวช และพรรคพลังประชาชนมาเป็นรัฐบาล ซึ่งนั่นเป็นนัยสำคัญที่ยืนยันว่า ระบบความชอบธรรมที่ประชาชนร่วมกันเป็นเจ้าของในระบบประชาธิปไตย ได้ขยายผลรุกฆาตจนทำให้รัฐประหารไม่ประสบความสำเร็จในการชี้นำเบี่ยงเบนประชาชนให้หันไปไกลจากครรลองของความเป็นประชาธิปไตย

            และเมื่อกลุ่มพันธมิตรฯ จัดการชุมนุมอย่างยืดเยื้อจนถึงยึดทำเนียบไปเป็นสมบัติส่วนตัวของการ์ดและแกนนำ วิถีอำนาจและความชอบธรรมของระบบที่สร้างขึ้นใหม่นี้ มีผลทำให้กลุ่มพันธมิตรฯ เผชิญวิกฤติอย่างรอบด้านเช่นกัน ถึงขั้นผู้นำขบวนการมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนหันไปใช้แนวทางไสยศาสตร์ (โกตั๊บ ณ โกเต๊ก) ต่อมาจึงเกิดการสู้แบบจนตรอกยึดดอนเมืองและสุวรรณภูมิ เกิดวิกฤติซ้อนวิกฤติเข้ามา แปรเปลี่ยนประเด็นปัญหาครอบคลุมจากมิติการเมืองสู่เศรษฐกิจ การยึดสนามบินนั้นสร้างความเสียหายอย่างมหาศาล แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ลดระดับตนเองจากนักเคลื่อนไหวภาคประชาชนกลายเป็นเพียงผู้ก่อการร้ายกระทำการเยี่ยงโจร ดิบ เถื่อน และอนารยะอย่างยิ่ง

            ขณะที่การท้าทายครั้งที่ 2 นำไปสู่ความตึงเครียดภายในระบบและสะท้อนปัญหาภายในของระบบโดยตัวมันเอง ซึ่งที่จริงก็เป็นปัญหาที่ส่งผ่านมาแต่ครั้งรัฐประหารพ.ศ.2501 ภายหลังจึงเกิดการปรับตัวภายในหมู่ชนชั้นนำผู้กุมอำนาจรัฐ เพื่อสนองตอบต่อการเคลื่อนไหวกดดันจากนักศึกษา ประชาชน และ พคท. แต่การท้าทายครั้งที่ 3 นี้ไม่ใช่วิกฤติภายในตัวระบบแต่อย่างใด ระบบประชาธิปไตยรัฐสภาถูกพิสูจน์โดยทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ไปแล้วว่าเหมาะสมกับสังคมไทย (อย่างน้อยก็ในขณะปัจจุบันนี้) และประชาชนส่วนข้างมากของสังคมก็เรียกร้องต้องการสิ่งนี้ อีกทั้งพวกเขายังมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตยมากกว่าแกนนำพันธมิตรและผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองนี้อยู่หลายเท่าตัวนัก นี่เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ต้องล้มเหลวไปในการสกัดกั้นพรรคพลังประชาชนไม่ให้ได้รับเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม 2550

ปัญหาคือ ในวิกฤติการท้าทายครั้งที่ 3 นี้เกิดอะไรขึ้น ทำไมชนชั้นนำไทยปัจจุบันจึงไม่อาจปรับตัวเข้ากับระบบประชาธิปไตยที่เติบกล้าขึ้นในสังคมไทยตลอดช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา และสถานการณ์ประเภท "ชาวบ้านก้าวหน้า แต่ชนชั้นนำล้าหลัง" นี้จะยุติลงได้อย่างไร?

            ประเด็นนี้ต่างหากที่ไม่เคยได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง ที่ผ่านมาผู้มีอำนาจมักมุ่งแต่จะพัฒนาชาวบ้าน เหมาเอาอย่างง่าย ๆ ว่าชาวบ้านยังไม่เป็นประชาธิปไตย ขายเสียง เห็นแก่เงิน เลือกคนไม่ดี ฯลฯ ที่จริงแล้วผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองนี้ต่างหากที่ไม่มีสปิริตประชาธิปไตย ทั้งยังคิดว่าตนมีกลไกพิเศษที่สามารถทำการเปลี่ยนแปลงได้โดยวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเสียอีก กล่าวง่าย ๆ คือ แทนที่เราจะคิดเปลี่ยนแปลงชาวบ้าน ทำไมไม่ลองคิดกลับกันว่าทำอย่างไรชนชั้นนำไทย (โดยเฉพาะในหมู่ผู้เปี่ยมล้นด้วยอำนาจและบารมีต่าง ๆ ) จึงจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบประชาธิปไตย เพราะพวกเขาทำตัวอยู่นอกระบบเสมอ (ทั้งทางความคิดและจารีตปฏิบัติในการแก้ปัญหา) จึงมีกลไกพิเศษต่าง ๆ สำหรับเล่นงานตัวแทนของประชาชนอยู่ตลอด และเพราะพวกเขาชอบจะลอยตัวอยู่เหนือระบบ เป็นอภิสิทธิ์ชนที่ไม่ถูกตรวจสอบ (โดยเปรียบเทียบกับการตรวจสอบตัวแทนประชาชนแล้วที่มีอยู่ก็ห่างไกลกันยิ่งนัก) ฉะนั้นในยามที่เห็นว่าตัวแทนจากระดับรากหญ้า สร้างปัญหากระทบผลประโยชน์ของพวกเขา ก็จะอันตรายต่อประชาธิปไตยมากขึ้นเท่านั้น

            ทำยังไงให้เขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบนะครับ ไม่ใช่กีดกันออกไป และไม่ใช่จะเอามามีอำนาจเหนือคนอื่น ๆ ด้วย เพราะในระบบประชาธิปไตยทุกคนต้องเท่ากัน (แม้อาจไม่เป็นจริงในบางกรณีก็ตาม แต่ในทางหลักการและการปฏิบัติต่อกันในระบบ ทุกคนต้องเท่ากัน ไม่มีใครอยู่เหนือกติกาดังที่เป็นอยู่) แน่นอนทุกคนคงไม่มีใครอยากเห็นการทำลายล้างกันอย่างเอาเป็นเอาตาย แม้ว่าเราจะรู้สึกสมเพชกับความไม่เอาไหนบวกความเลวร้ายต่าง ๆ อันมีสาเหตุมาจากกลุ่มชนชั้นนำจารีตผู้มีอภิสิทธิ์มากมายเพียงใดก็ตาม

            เมื่อมองจากมุมนี้ กลุ่มพันธมิตรฯ เป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่สมยอมถวายตัวเป็น "หุ่นเชิด" ให้แก่อภิสิทธิ์ชนในสังคมนี้อย่างเต็มที่ มีเป้าหมายสนองตอบต่อกลุ่มผู้มีอำนาจนอกระบบประชาธิปไตย "ระบอบสนธิ" ที่กำลังฟักไข่อยู่ในม็อบเป็นระบอบเผด็จการของชนชั้นอภิสิทธิ์ชน ข้อเสนอรัฐประหารและ "การเมืองใหม่" ของขบวนการนี้โดยนัยถือเป็นการแยกกลุ่มชนผู้มีอภิสิทธิ์ออกไปสร้างระบบใหม่ของตนเองขึ้นมาแทนที่ระบบเดิม (ซึ่งมีความเป็นประชาธิปไตยอยู่แล้วในตัว) กล่าวง่าย ๆ คือ เป็นความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงเชิงระบบที่ขยายมาจากความไม่พอใจรัฐบาลและกลุ่มการเมืองไทยรักไทยที่เป็นตัวแทนจากรากหญ้า ขบวนการนี้เป็นอันตรายต่อระบบประชาธิปไตยไทยอย่างทั่วด้าน เนื่องจากชอบเคลื่อนไหวโดยใช้ตีนมากกว่าหัวคิด (เช่น ตีนที่ป่ายปีนเข้ายึดทำเนียบ ตีนที่ยึดดอนเมือง ตีนที่ยึดสนามบินสุวรรณภูมิ ตีนที่ชอบจะเดินไปเจอกระบองและกระสุนแก๊สน้ำตาของเจ้าหน้าที่ ตีนที่ชอบจะเต้นยั่วให้ใช้ความรุนแรง ตีนที่ดาวกระจายป่วนเมืองไปที่ต่าง ๆ ตีนที่... ฯลฯ ) ใช้ความรุนแรงแต่พูดพร่ำอหิงสาและอารยะขัดขืน ชอบกดปราบความเห็นต่าง ผูกขาดความจงรักภักดี ใช้ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเล่นงานฝ่ายตรงข้าม เพียงเพื่อจะบรรลุเป้าหมายข้อเรียกร้องของตนก็มักกระทำการละเมิดสิทธิและสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม เอาความเสียหายของประเทศและชีวิตประชาชนมาเป็นเครื่องต่อรอง ฯลฯ

            ที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือ การเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้ไม่ว่าจะจบสิ้นลงโดยวิธีการใดและ/หรือจะใช้เวลาสั้นยาวเพียงใดก็ตาม ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นนั้นเดาได้ว่าจะกินวงกว้างขยายจากมิติการเมืองและเศรษฐกิจสู่มิติสังคม วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้สนับสนุนทั้งในกลุ่มพันธมิตรฯ และฝ่ายรัฐบาลคงต้องต่อสู้ขับเคี่ยวกันต่อไปอีกนาน การเคลื่อนไหวด้วยตีนเช่นที่กลุ่มพันธมิตรฯ กระทำอยู่นี้อาจยุติโดยง่ายหากเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบทำการปราบปรามอย่างจริงจัง แต่การต่อสู้ทางความคิดหลังวิกฤติการท้าทายครั้งนี้นั้นอาจจะลึกซึ้งและยาวนานมากกว่าครั้งใดที่เคยเป็นมาก็ได้

            กล่าวโดยสรุป ด้วยเหตุที่การท้าทายครั้งที่ 3 นี้ขบวนการต่อต้านรัฐไม่มีความเป็นประชาธิปไตย เมื่อเทียบกับขบวนการต่อต้านในยุคการท้าทายครั้งที่ 2 การปรับตัวของรัฐสนองตอบต่อข้อเรียกร้องของฝ่ายต่อต้านจึงเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นและไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างแท้จริง เพราะดังที่กล่าวข้างต้นคือ การท้าทายครั้งที่ 3 นี้ไม่ได้มีสาเหตุมาจากปัญหาของระบบโดยตัวมันเอง และการปรับตัวต่อขบวนการนี้จะทำให้ประชาชาติและประชาธิปไตยอ่อนแอจนย้อนกลับไปสู่ความขัดแย้งในยุคการท้าทายครั้งที่ 1 ซึ่งจะนำความเสียหายมาสู่สังคมและประเทศมากกว่าที่เป็นอยู่นี้อีกไม่รู้กี่เท่า ฉะนั้น ภารกิจเฉพาะหน้าที่สำคัญอันหนึ่งของขบวนการประชาธิปไตยในสถานการณ์ปัจจุบันจึงได้แก่ การปกป้องผลแห่งชัยชนะของประชาชนเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ให้คงอยู่ต่อไปนั่นเอง.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท