รายงานเสวนา บทบาทสื่อไทยในสถานการณ์ความขัดแย้ง และในสายตาสื่อต่างชาติ

เมื่อวันที่ 21 ต.ค. ที่ผ่านมา สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย จัดการเสวนาหัวข้อ บทบาทสื่อไทยในสถานการณ์ความขัดแย้ง (The Thai Media's Perspective) โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท สุภิญญา กลางณรงค์ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน และประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น

 

การเซ็นเซอร์ตัวเอง และสิ่งที่สื่อไทยไม่ได้ทำ

ประวิตร กล่าวถึงกรณีที่สื่อไทยไม่นำเสนอข่าวที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงประทานสัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวต่างประเทศในสหรัฐอเมริกา ว่า เขาทราบมาว่า ในเย็นวันที่สำนักข่าวเอพีรายงานข่าวนี้ มีข้อความจากสมาคมสื่อแห่งหนึ่งถึงสื่อหนังสือพิมพ์ต่างๆ ว่า ให้ระมัดระวังในการตีพิมพ์ข่าวนี้ ซึ่งปรากฎว่าวันต่อมา มีเพียงหนังสือพิมพ์สองฉบับคือข่าวสดและประชาทรรศน์เท่านั้นที่รายงานข่าวดังกล่าว (อ่านรายละเอียดได้จาก วิกฤตการเมืองและอคติ นสพ.ไทย: กรณีพระเทพฯ ตอบเรื่องพันธมิตรฯ Thai Media Let Down: The Princess' Remark Case)

 

นอกจากนี้ หลังจากที่ข่าวสดนำเสนอข่าวดังกล่าวนี้ ก็ถูกนายสนธิ ลิ้มทองกุล นำไปกล่าวปราศรัยปลุกระดมให้มวลชนพันธมิตรบอยคอตหนังสือในเครือมติชนและข่าวสดและกล่าวด้วยว่า ข่าวสดถูกทักษิณซื้อไปแล้ว

 

ประวิตรกล่าวว่า รายงานข่าวในหนังสือพิมพ์ประชาทรรศน์ได้ติดต่อไปยังสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถึงความเคลื่อนไหวต่อกรณีที่หนังสือพิมพ์ข่าวสดและมติชนถูกคุกคาม ทว่ากลับไม่ได้รับการตอบรับใดๆ

 

สำหรับกรณีคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งนักการเมืองนั้น ประวิตรกล่าวว่า สิ่งที่ไม่ปรากฏในสื่อไทยก็คือการการวิเคราะห์ประเด็น และการทำข่าวเชิงลึกโดยสื่อมวลชนเอง

 

ประวิตรได้ตั้งข้อสังเกตว่าคำพิพากษาของศาลเป็นการรองรับความชอบธรรมของกฎหมายภายหลังการรัฐประหาร และองค์กรที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข (คปค.)

 

จีรนุช เปรมชัยพรกล่าวว่า การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 นั้นเป็นฝันร้ายสำหรับตัวเธอเอง แต่สิ่งที่ต้องคิดตามมาก็คือ การรัฐประหารอาจจะไม่ใช่ฝันร้ายสำหรับคนไทยก็ได้ ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ต้องคิดต่อว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

 

จีรนุชกล่าวว่าสิ่งขาดหายไปของสื่อไทยในปัจจุบันมี 3 ประการคือ ประการแรก คือเต็มไปด้วยความเห็นของนักวิชาการและนักวิเคราะห์ เนื่องจากการสัมภาษณ์ความเห็นนั้นเป็นสิ่งที่ง่าย และลงทุนต่ำอย่างไรก็ตาม แม้ว่าสื่อไทยจะมุ่งเน้นการสัมภาษณ์ความเห็น แต่กลับนำเสนอความคิดเห็นของคนธรรมดาสามัญในอัตราส่วนที่น้อย ประการที่ 2 ขาดความพยายามที่จะหาข้อเท็จจริงมานำเสนอ ซึ่งสิ่งนี้ถูกชดเชยโดยสื่อต่างประเทศ และประการสุดท้ายคือ ไม่ตั้งคำถามง่ายๆ บางอย่างเช่น กรณีที่พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ให้สัมภาษณ์ก่อนวันที่ 7 และหลังวันที่ 7 ต.ค. ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นเป็นส่วนหนึ่งของแผนของพล.ต.จำลอง ศรีเมือง แต่เห็นได้ว่า สื่อกลับไม่ถามพล.ต.จำลอง ต่อกรณีการให้ความเห็นของพล.อ.พัลลภว่า เป็นแผนของพล.ต.จำลองจริงหรือไม่ จีรนุชกล่าวต่อไปว่า ปัญหา 3 ประการนี้ เกิดขึ้นกับเว็บไซต์ประชาไทเช่นกัน

 

"รัฐประหารเมื่อปี 2006 ควรเป็นครั้งสุดท้าย และเราไม่จำเป็นต้องสละชีวิตใครเพื่อประชาธิปไตยอีกแล้ว มันแพงเกินไปแล้ว ดิฉันอยากจะขออัญเชิญพระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงพระราชทานสัมภาษณ์แก่สื่อต่างประเทศ ไม่ใช่ที่ทรงรับสั่งว่า I don"t think so แต่เป็นตอนท้ายของพระกระแสรับสั่งที่ทรงแนะนำข้าราชบริพารและพระสหายว่า ขอให้ทุกคนกลับไปทำงาน ดิฉัน และนี่คือสิ่งที่ประเทศไทยควรทำ สื่อควรทำหน้าที่ของตัวเอง และผู้พิพากษา ก็เช่นกัน และรวมถึงภาคส่วนอื่นๆ ของสังคมด้วย"

 

จีรนุชกล่าวว่า จากนี้ไป ควรจะมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างเปิดเผย และความขัดแย้งทางการเมืองรวมถึงสถานการณ์ความรุนแรงที่ผ่านมาไม่ควรจะจบลงไปอย่างสมานฉันท์โดยปราศจากการสืบสวนอย่างเปิดเผย เช่น เรื่องแก๊สน้ำตา ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนจริงๆ

 

สุภิญญา กล่าวว่า ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันนี้ เป็นสถานการณ์ที่ลำบากมากในการให้ความเห็นใดๆ ทั้งต่อฝ่าย พันธมิตรฯ และรัฐบาล

 

"หลังจากทำงานมากว่า 15 ปี ดิฉันคิดว่านี่คือช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุด ยิ่งกว่าในช่วงที่ดิฉันถูกฟ้องร้องจากชิน คอร์ป เพราะวิพากษ์วิจารณ์ทักษิณเสียอีก"

 

สุภิญญากล่าวว่า บรรยากาศแห่งความกลัวในสมัยที่ทักษิณอยู่ในอำนาจนั้น คือการที่สื่อกังวลเกี่ยวกับการเซ็นเซอร์ ทว่าในเวลานี้ แม้ว่าสื่อจะมีเสรีภาพมากขึ้นในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แต่สื่อกลับไม่สามารถนำเสนอข้อมูลอย่างเที่ยงตรงให้กับสาธารณะ อย่างไรก็ตามความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้ก็ถือสิ่งท้าทายสื่อที่จะทำหน้าที่ที่สาธารณะสามารถเชื่อมั่นได้

 

สุภิญญากล่าวต่อไปว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่ลงรากลึกครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่ายากต่อการสร้างความสมานฉันท์ หรือประนีประนอม แต่ก็เป็นเวลาสำหรับสื่อมวลชนที่จะทำหน้าที่เป็นเวทีและเป็นสติให้กับสังคมเช่นกัน

 

"มีบางคนพยายามวิเคราะห์ความขัดแย้งครั้งนี้ว่า คือ ความขัดแย้งระหว่างคนกินข้าวเจ้ากับข้าวเหนียว คือ คนกรุงเทพฯ ภาคกลางและคนใต้กินข้าวเจ้า แต่คนในภาคเหนือและภาคอิสานกินข้าวเหนียว จึงอาจจะพูดได้ว่า เพราะ สื่อมวลชน นักหนังสือพิมพ์ นักวิชาการและนักกิจกรรม ส่วนใหญ่กินข้าวเจ้า พวกเขาถึงได้ทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงให้คนที่กินข้าวเจ้ามากกว่าคนที่กินข้าวเหนียว และนี่ก็เป็นเหตุผลว่าทำไมพวกคุณ (สื่อต่างประเทศ) ซึ่งส่วนใหญ่กินขนมปังจึงไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ในประเทศไทย  อย่างไรก็ตามนี่คงเป็นตลกเศร้า เพราะในความเป็นจริงนั้น คนกรุงเทพฯ นั้นบางครั้งก็กินข้าวเจ้า และบางครั้งก็กินข้าวเหนียว นั่นหมายความว่าคนกรุงเทพฯ หรือประชากรในภาคเหนือและภาคอิสานไม่ได้เป็นสีแดงทั้งหมด หรือเป็นสีเหลืองทั้งหมด

 

"อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งครั้งนี้แสดงให้เห็นว่ามันยากที่จะประนีประนอมหรือสมานฉันท์ และเวลานี้ สำหรับสื่อมวลชนแล้ว แม้ว่าประชาชนส่วนหนึ่งจะแสดงความผิดหวังต่อบทบาทของสื่อ แต่อย่างไรเสีย เมื่อประชาชนเริ่มคาดหวังถึงการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และถ้าหากเราไม่อยากให้สถานการณ์ความขัดแย้งเลวร้ายลงไปกว่านี้ สื่อก็ต้องเริ่มหันกลับมาทำหน้าที่เป็นพื้นที่หรือเป็นสติของสังคม สื่อก็ต้องทำตัวให้ปลอดพ้นจากกลัวและความนิยมชมชอบ" (Free from fear and favor)

 

สุภิญญาอธิบายว่าการพูดคุยกันของสื่อในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาและการประกาศสร้างพื้นที่แห่งการตั้งสติ โดยสื่อมวลชนนั้น อย่างน้อยที่สุดคือการยืนยันว่าไม่มีใครต้องการความรุนแรง แม้ว่าในสื่อเองจะมีความแตกต่างระหว่างอุดมการณ์ทางการเมือง แต่ว่าโดยหลักการแล้ว สื่อต้องทำหน้าที่ต่อต้านความรุนแรงไม่ว่าจากฝ่ายใด รวมถึงไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร

 

สุภิญญากล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาสื่ออยู่กับความกลัวว่าจะถูกทักษิณแทรกแซงโดยการไม่ให้เงินโฆษณา แต่ว่าปัจจุบันนี้ สื่อกลัวว่าจะถูกคุกคามจากแกนนำพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นการคุกคามที่รวมไปถึงความปลอดภัยในชีวิตของตนเองและครอบครัวด้วย

 

"เหตุที่สังคมไทยทุกวันนี้สับสนมาก เราก็ไม่รู้จริงๆ ว่าจะพูดอะไรอย่างเปิดเผยได้หรือไม่ได้อย่างไรบ้าง ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องที่คนบอกว่า  เพราะมีมือที่มองไม่เห็นอยู่ข้างหลัง และแม้ว่ามือที่มองไม่เห็นจะเริ่มกลายเป็นมือที่มองเห็นได้บ้างแล้วก็ตาม แต่ว่าหลายๆ อย่างก็ยังไม่สามารถพูดได้อย่างเปิดเผย และนี่เป็นเหตุว่าทำไมเราจึงไม่สามารถจะเข้าใจอะไรได้อย่างชัดเจน เมื่อไม่เข้าใจก็ยากที่จะวิเคราะห์ เพื่อแสวงความจริง แถมยังสื่อสารไม่ได้อีก  เป็นจุดที่ทำให้สื่อทำงานยากมาก โดยเฉพาะสื่อไทย ดังนั้นหลายครั้งสื่อไทยจึงต้องพึ่งสื่อต่างชาติให้ช่วยเปิดประเด็นให้ก่อนบางเรื่อง"

 

สำหรับสื่ออินเทอร์เน็ต สุภิญญากล่าวว่าเป็นสื่อที่เปิดกว้างมากกว่าสื่อชนิดอื่นๆ แต่ทุกวันนี้สื่ออินเทอร์เน็ตกำลังเผชิญกับการเซ็นเซอร์และจะต้องเผชิญข้อจำกัดมากขึ้นๆ หลังจากที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดจากคอมพิวเตอร์ มีผลใช้บังคับ คนไทยต้องแสดงบัตรประชาชน นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องแสดงพาสปอร์ตเพื่อใช้บริการอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ และข้อมูลการใช้งานของผู้ใช้บริการจะถูกเก็บไว้ไม่ต่ำกว่า 90 วัน และขณะนี้กว่า 300 เว็บไซต์ถูกปิด เพราะว่ามีข้อความที่เข้าข่ายการกระทำความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

 

ด้านสื่อวิทยุโทรทัศน์นั้น แม้ว่าจะถูกควบคุมโดยรัฐบาล แต่รัฐบาลปัจจุบันก็ไม่ได้มีพลังที่จะไปควบคุมมากอย่างสมัยรัฐบาลไทยรักไทย อย่างไรก็ตาม สื่อวิทยุโทรทัศน์ก็ยังถูกควบคุมแทรกแซงโดยรัฐอยู่เช่นช่องของรัฐ เอ็นบีที แต่โดยภาพรวมก็มีเสรีภาพในการตรวจสอบรัฐบาลมากขึ้น แต่ก็ยังไม่กล้าที่จะวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มการเมืองอื่นๆ เช่น พันธมิตรฯ

 

ประเด็นสุดท้าย คือ ปรากฏการณ์เอเอสทีวี คือทีวีผ่านดาวเทียมซึ่งจริงๆยังไม่มีใบอนุญาต แต่คือสื่อที่เสรีที่สุด สามารถพูดได้ทุกอย่าง โดยไม่ต้องระมัดระวังอำนาจรัฐหรือกฎหมายใดๆ แม้ว่าเอเอสทีวีจะเป็นสื่อที่ผลิตความเกลียดชังมากสื่อหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถจะขอให้หยุดหรือสั่งปิดได้ เพราะต้องเคารพเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก ทว่า เมื่อ hate speech  ถูกนำเสนอซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็น่ากลัวและนำมาสู่ความรุนแรงในประเทศได้

 

"เมื่อเราสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออก แต่กลายเป็นว่าสื่อส่วนหนึ่งบิดเบือนเสรีภาพนั้น และใช้เสรีภาพไปเพื่อผลิตความเกลียดชัง และเอาไปใช้สนับสนุนแนวคิดทางการเมืองของตัวเอง มันจึงเป็นการยากที่จะไปพูดแค่คำหนึ่งคำหรือประโยคๆ หนึ่ง ว่าข้อเสนอควรเป็นอย่างไร   อย่างไรก็ตามดิฉันยังหวังกับสื่อมวลชนในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบางสื่อ เพราะว่าตราบเท่าที่พวกเขายังยืนยันที่จะทำงานหนักมากขึ้น และต้องการเป็นพื้นที่สติ ต่อต้านการรัฐประหารและความรุนแรง เราก็ยังเชื่อมั่นในสื่อได้อยู่

 

"อย่างน้อยที่สุด 2 หลักการคือ การปฏิเสธความรุนแรง และไม่เอารัฐประหาร" สุภิญญากล่าวในที่สุด

 

สื่อต่างประเทศ  กระจกและประตูของสื่อไทย

สื่อต่างประเทศหลายคนได้ให้ความสนใจแลกเปลี่ยนและตั้งคำถาม เช่น ขอคำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำว่า มือที่ 3 ขอให้ช่วยวิเคราะห์ผลทางการเมืองของการตัดสินคดีพิพากษาดีที่ดินรัชดา รวมไปถึงการวิพากษ์วิจารณ์สื่อไทยด้วยว่า เนื้อหาของสื่อไทยส่วนใหญ่อ้างอิงคำพูดของบรรดานักวิชาการมากกว่าที่จะนำเสนอข่าวหรือบทวิเคราะห์ที่ผลิตโดยตัวสื่อเองรวมถึง สื่อไทยไม่สามารถสะท้อนความคิดเห็นของคนในภาคเหนือ และภาคอิสาน ได้ ซึ่งประวิตรกล่าวเพราะสื่อไทยส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และประเทศไทยไม่มีสื่อท้องถิ่น

 

สุภิญญา กล่าวถึงบทบาทของสื่อต่างประเทศว่ามีความสำคัญต่อประเทศไทย กล่าว เพราะว่าสื่อต่างประเทศนั้นเป็นสัญญาณที่สำคัญสำหรับการเมืองไทย ตัวอย่างเช่น เมื่อการพูดคุยเรื่องว่าทำไมรัฐประหารจึงไม่ควรเกิดขึ้นตอนนี้ คำตอบคือ เพราะการรัฐประหารตอนนี้จะไม่เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ และขณะเดียวกันก็จะได้ยินว่า ทำไมเราต้องแคร์ฝรั่งหรือชาวต่างชาติ ทำไมจึงไม่ทำรัฐประหาร เพียงเพราะเราแคร์ต่างชาติ

 

อีกเหตุผลหนึ่งก็คือว่า สื่อในประเทศนั้นบางครั้งก็มีความลำบากที่จะพูดอะไรบางอย่าง ดังนั้นบางประเด็นจึงถูกพูดโดยสื่อต่างประเทศและจากนั้นสื่อในประเทศก็จะเริ่มพูดถึงประเด็นนั้นๆ ดังนั้น หากปราศจากบทบาทของสื่อต่างประเทศ สื่อในประเทศก็จะลำบากที่จะนำเสนอในบางประเด็น

 

ประวิตร กล่าวว่า สื่อไทยนั้น มีปัญหามาก เกี่ยวกับการนำเสนอรายงาน หรือการวิเคราะห์  เช่นกรณีของการพิจารณาคดีที่ดินรัชดา เป็นต้นซึ่งสื่อไทยควรเปิดการวิพากษ์และถกเถียงเป็นประเด็นๆ ไป

 

สื่อไทยยอมพ่ายแพ้บนหนทางประชาธิปไตยแล้วหรือ

คำถามที่สำคัญจากสื่อมวลชนต่างประเทศคำถามหนึ่งคือ สื่อไทยนั้นยอมแพ้แล้วต่อหนทางประชาธิปไตยแบบตะวันตกใช่หรือไม่

 

ประเด็นนี้ จีรนุชตอบว่า สื่อไทยไม่เข้าใจเพียงพอต่อหลักการประชาธิปไตยต่างหาก ก่อนหน้าที่พันธมิตรฯ  จะเคลื่อนไหว สังคมไทยก็ไม่ได้มีความเข้าใจที่เพียงพอเกี่ยวกับหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยอยู่แล้ว หลังจากนั้นสังคมไทยก็บอกว่าเราจะหาหนทางของเราเอง แต่ความจริงคือรู้ไม่พอต่างหาก เราไม่ได้มีประสบการณ์มากพอ และไม่ได้มีรากฐานที่หนักแน่นบนแนวทางประชาธิปไตย เราไม่สามารถอยู่กับความคิดแตกต่างในห้องเดียวกันได้ เราไม่สามารถพูดกันอย่างสันติได้ ถ้าเรามีความเห็นแตกต่าง ดิฉันจึงหวังว่านี่ก็เป็นโอกาสของสังคมไทยด้วยเช่นกันที่จะคิดว่าประชาธิปไตยนั้นให้อะไรคุณได้บ้าง และถ้าเราเข้าใจได้มากพอเราก็คงหาหนทางที่จะพูดคุยกับคนที่มีความเห็นแตกต่างได้

 

ประวิตรกล่าวว่ประชาธิปไตยไทยนั้นยังอายุน้อยมากคือไม่ถึง 20 ปี เมื่อย้อนกลับไปจะเห็นว่า พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง โดยก่อนหน้านั้น รัฐบาลไทยปกครองโดยผู้มีอำนาจซึ่งแทรกแซงการทำงานของข้าราชการอย่างมาก อย่างไรก็ตามเมื่อคนชั้นกลางออกมาแสดงบทบาททางการเมืองมาก ก็ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า คนชั้นกลางที่มีบทบาทนั้นเป็นประชากรที่มีอยู่ไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่การเคลื่อนไหวและรูปแบบทางการเมืองล่าสุดที่ถูกเสนอจากพันธมิตรฯ นั้นกลับไม่นับรวมคนจนซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ของประเทศกว่า 80 เปอร์เซ็นต์

 

สุภิญญา กล่าวว่า ไม่คิดว่าสื่อไทยจะเลิกล้มอุดมการณ์ประชาธิปไตย และ เรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นเรื่องสากลไม่ใช่เรื่องของตะวันตก แต่อย่างน้อยเมื่อพูดถึงประชาธิปไตยก็ต้องไม่ปฏิเสธเรื่องการเลือกตั้ง

 

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าพันธมิตรฯ นั้นได้สร้างความตระหนักขึ้นในสังคมอย่างกว้างขวางจริงๆ ทว่าเมื่อภายหลังการเคลื่อนไหวเต็มไปด้วยอารมณ์รุนแรง ก็ต้องมีการถ่วงดุล และจับตาตรวจสอบ แม้ว่าพันธมิตรฯ จะพูดถึงการปฏิวัติโดยประชาชน แต่จะกลับกลายเป็นความผิดพลาดหากจะปฏิวัติโดยไม่นับรวมคนส่วนใหญ่ของประเทศ

 

 

"แม้จะพูดว่าประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง แต่ต้องยอมรับว่าการเลือกตั้งเป็นหลักการพื้นฐาน ดิฉันไม่คิดว่าสื่อมวลชนเลิกล้มแนวทางประชาธิปไตย แต่มันต้องใช้เวลา ที่ผ่านมาประชาธิปไตยไทยเติบโตได้ด้วยการกินเลือด นี่จึงเป็นเรื่องดีที่จะจะต้องถามว่าทำอย่างไรเราจะพัฒนาประชาธิปไตยโดยปราศจากเลือด"

 

 

หมายเหตุ การเสวนาครั้งนี้จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการจัดเสวนาประจำสัปดาห์ทุกๆ วันอังคาร โดยหัวข้อจะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ของข่าวสาร ในประเทศไทยและสถานการณ์โลก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท