4 ปี "ตากใบ" อีกหนึ่งตุลาฯ ความจริงที่อาจจางไปในสายหมอก

เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 51 ที่ห้องจี๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) จัดงานครบรอบ 4 ปีการสลายการชุมนุมหน้า สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส พร้อมจัดเวทีเสวนา "เลือดตากใบในสายหมอก ความสูญเสียที่ถูกเมิน"

 

 

"ไกรศักดิ์" ชี้ "ลัทธิสามานย์" คือความรุนแรงแฝงยังอยู่ในสังคมไทย

นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ตากใบเป็นความทรงจำ เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย จากการลงไปเยี่ยมผู้ถูกจับกุมจากเหตุการณ์ประมาณ 800 คนใน 3 คุก พบว่าเกือบทุกคนมีบาดแผลและถูกทำในหลายสิ่งที่ไม่ใช่การกระทำต่อมนุษย์ ทั้งนี้ เข้าใจว่าคนส่วนใหญ่ที่ถูกจับกุมไม่ใช่ผู้มาประท้วง ผู้มาประท้วงมีประมาณ 240 คน มีเยาวชนอายุ 12- 14 ปีราว 30 คนถูกจับกุมด้วย ผู้โดนจับกุมส่วนใหญ่เป็นคนที่กำลังเดินเข้าออกไปทำงานที่มาเลเซีย ต่อมากลายเป็นผู้อยู่ในบัญชีดำหมดทุกคน

 

นายไกรศักดิ์ เล่าด้วยว่า ในการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่จะได้รับการโกหกซึ่งๆหน้า ไม่ว่าแม่ทัพ ตำรวจ ผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกคนไม่พูดความจริงและบอกว่าไม่มีการยิงเข้าไปในผู้ประท้วง แต่จากการตรวจสอบพบว่ามี 7 คนโดนยิง และรายงานของตำรวจระบุว่ามี 22 คนโดนยิงและเสียชีวิตคาที่ก่อนถูกบรรทุกแล้วทับซ้อนไป

 

"เรื่องนี้เป็นโศกนาฏกรรมผมจะที่ไม่มีวันลืมจนตาย และจะไม่ให้ลูกหลานหรือใครก็ตามลืมวันนี้เพราะว่าประเทศไทยเป็นรัฐที่มักจะใช้ความรุนแรงต่อประชาชน และเชี่ยวชาญมากในการบิดเบือนประวัติศาสตร์ แล้วก็ลบมันออกไปเหมือนไม่เคยเกิดขึ้น ไม่ว่า 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภา ตากใบ กรือเซะ ที่เศร้าโศกมากที่สุดสำหรับผมคือการไปเห็นซากศพของทีมฟุตบอลทั้งทีมที่สะบ้าย้อย ไม่เคยเห็นว่ารัฐไทยสามารถใช้ความรุนแรงประหารชีวิตเยาวชนไทยโดยไม่มีข้อกล่าวหาใดๆทั้งสิ้น"

 

นายไกรศักดิ์ ระบุอีกว่า ประสบการณ์ของกรือเซะ สะบ้าย้อย ตากใบ ไม่ใช่เรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่รัฐไทยใช้ความรุนแรงกับประชาชนของตัวเองมาตลอด แล้วมักบอกหรือถ่ายทอดว่าไม่เคยเกิดขึ้นหรือเกิดก็ไม่ใช่ความผิดของใครทั้งสิ้น

 

"เราเคยมีอดีตนายกรัฐมนตรีเมื่อไม่กี่สัปดาห์มานี้บอกว่า  6 ตุลา เห็นมีคนตายเพียงคนเดียว ทั้งๆที่มีคนตายเป็นร้อย คนที่เกิดในวัยอายุ 40-50 ปี เห็นคนโดนแขวนคอลากออกมาฆ่ากันที่ธรรมศาสตร์เป็นกองๆ แล้วคนที่เป็นนายกฯไทยบอกว่าตายคนเดียวได้อย่างไร นายสมัคร สุนทรเวช เป็นคนที่เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของนักการเมืองที่เลวที่สุดที่สังคมไทยผลิตขึ้นมา เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของความชั่วร้ายที่สุดของการเมืองไทยที่ปลุกระดมเป็นเดือนๆให้คนมาฆ่าคน พอฆ่ากันเสร็จแล้วบอกว่าไม่มีการฆ่า ลัทธินี้เป็นลัทธิสามานย์ชนที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง ลัทธิสามานย์ที่อ้างตัวว่าเป็นประชาธิปไตย เป็นลัทธิสามานย์ที่แฝงตัวในการเมืองไทยมาตลอดและทุกวันนี้ก็ยังอยู่" นายไกรศักดิ์กล่าว

 

จากนั้น เขากล่าวต่อไปว่า ไม่แปลกใจว่าทำไมใต้จึงมีกลุ่มก่อการต่างๆใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพราะนักก่อการต่างจะไม่สามารถประสบความสำเร้จใดๆได้ และจะล้มเหลวอย่างสิ้นชิงถ้าไม่มีรัฐสามานย์ในประเทศไทย

 

ทั้งนี้ ประเทศไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มาจนถึงปัจจุบัน ความรุนแรงที่แฝงในรัฐไทยไม่ได้หายไปไหน แม้แต่ในศูนย์กลางวัฒนธรรมที่กำลังไปสู่ประชาธิปไตยหรือไปสู่สิทธิเสรีภาพมากขึ้น ตัวอย่างที่ดีที่สุดที่มีหลักฐานมากที่สุดคือ 14 ตุลา ที่รู้ว่าใครเป็นรัฐบาล ใครเป็นผู้บัญชาการทหารบก หรือรู้ว่าใครเป็นอะไร แต่มีเจ้าหน้าที่สักคนโดนจับหรือไม่

 

"6 ตุลา ก็เห็นชัดเจนว่าใครถือปืน มีหลักฐานทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์ว่าใครพูดยุแหย่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้น ไม่มีอะไรเกิดขึ้น มีแต่นิรโทษกรรมหรืออภัยโทษ มิหนำซ้ำคนเหล่านี้ยังกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีก โอว.คุณพระช่วย"

 

 

ชี้ 70% คนไทยตายเพราะน้ำมือ จนท.

นายไกรศักดิ์ ชี้ว่า รายงานกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนปี 2549 ที่ออกมาแล้วระบุว่า 70 % ของการตายของประชาชนในประเทศไทยเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ หมายความว่าตำรวจ ทหาร แทนจะทำให้อยู่เย็นเป็นสุข มีความปลอดภัยกลับทำให้เราเสียหาย เดือดร้อน ตาย บาดเจ็บ พิการ

 

"ทุกคนนึกว่าประเทศเป็นประเทศที่ที่สันติ เป็นประเทศที่คนคนอยู่ร่วมเย็นเป็นสุข แต่ลึกๆแล้วเป็นประเทศที่นิยมความรุนแรงและค่อนข้างมีนโยบายตลอดเวลาที่ไม่ได้แถลงการณ์ออกมาว่าตำรวจ ทหาร ฆ่าประชาชนได้โดยไม่ผิดกฎหมาย"

 

นายไกรศักดิ์ กล่าวอีกว่า รายงานสหประชาชาติรายงานปี 2548 ระบุว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่งถึงขั้นที่ นายโคฟี่ อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติต้องตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อมาสอบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ กล่าวว่า ไทยละเมิดสิทธิมนุษยชนถึง 26 เรื่อง ไม่ว่าจะเรื่องกรือเซะ ตากใบ การหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร หรือเรื่องการตายของ 30 หัวหน้าองค์กรพัฒนาเอกชน เป็นต้น

 

เขากล่าวอีกว่า คนตามขอบสังคมถ้าประท้วงผู้นำจะโดนเก็บโดนฆ่า ความรุนแรงในการปราบปรามผู้ต่อต้านผลประโยชน์ของบรรษัทหรือของชนชั้นผู้ปกครองจะโดนกระทำความรุนแรงตลอดเวลา แต่จะไม่มีรายงานออกมาชัดเจน

 

"กรณีของภาคใต้เป็นกรณีพิเศษ เพราะเหตุการณ์ของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงและเรามีผู้นำที่อยากเป็นพันธมิตรอย่างชัดเจนกับประเทศมหาอำนาจที่กำลังประกาศสงครามกับชาวมุสลิม การกระทำอันนี้จะสะท้อนให้เห็นว่าเขาอยู่ข้างเดียวในการสงครามกับผู้ก่อการร้ายซึ่งตีความไว้กว้างมากคือชาวมุสลิมทั้งโลก

 

"การที่ปืนหาย 400 กระบอกโดยไม่มีร่องรอยใน พ.ศ.2546 ทำให้รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร อับอายมาก การปราบปรามรุนแรงถึงขั้นที่ส่งกำลังลงไปถึง 10 กองพันซึ่งเป็นการปราบปรามแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จับคนมาทรมาน คนราว 7,000 คนที่โดนจับถูกทรมานเกือบทุกคน ต่อมาถูกปล่อยมาบ้าง ปัจจุบันยังเหลืออีกราวพันคนและดำเนินคดีมีน้อยมาก"

 

 

"ทักษิณ" คือฆาตกรของมนุษยชาติ เจอคุก 2 ปีน้อยไป

นายไกรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า "ประเด็นสำคัญคือ การเรียกร้องที่เลยไปถึงการเอาผิดผู้ที่กระทำผิด คนที่มีอำนาจมากที่สุดที่ไปอยู่ที่ตากใบ จังหวัดนราธิวาสในวันที่มีการฆ่ากันก็คือนายกรัฐมนตรีไทย คนที่ลงไปอยู่ในวันที่มีการฆ่ากัน 11 จุด ในเหตุการณ์กรือเซะก็คือนายกฯไทย หากเป็นที่อื่นคงถูกขึ้นศาลโลกเป็นอาชญากรไปแล้ว แต่นี่โดนคดีเดียวโวยวายประเทศวุ่นวาย เรื่องซื้อที่ดินราคาถูกเท่านั้นโดนจำคุก 2 ปีน้อยเกินไปแล้ว ผมถือว่าคนนี้เป็นฆาตกรของมนุษยชาติ"

 

เขายังกล่าวว่า  "คิดว่าไทยต้องผ่านความรุนแรงยิ่งกว่านี้ก่อนที่มันจะดีขึ้นซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่ต้องการ และพยายามจะปฏิเสธมากที่สุด แต่เท่าที่เห็นมาแล้ว อำนาจที่ได้สร้างความรุนแรงเกิดที่ฉีกออกไปจากประวัติศาสตร์เหนือกว่าธรรมะใดๆทั้งสิ้นที่เราเคยเห็นมายังดำรงอยู่ คิดว่าการต่อสู้ของประชาชนทุกวันนี้ ถ้ายังให้ความชอบธรรมต่อความรุนแรง ถ้าเราไม่วิพากษ์วิจารณ์ต่อต้านพฤติกรรมหรือวาทศิลป์ของการใช้ความรุนแรง ต่อต้านการยุแหย่ของการใช้ความรุนแรง มันจะไม่มีวันสงบ ไม่มีวันสร้างวัฒนธรรมที่อยู่เย็นเป็นสุขได้" นายไกรศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

 

 

"สันติอาสา"ชี้ไม่ใช่สลายการชุมนุมแต่เป็นการล้อมปราบ

นารี เจริญผลพิริยะ หัวหน้าโครงการสันติอาสาสักขีพยาน กล่าวว่า ได้เข้าไปทำงานเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตจากกรณีตากใบ 85 คน บาดเจ็บสาหัสประมาณ 108 คน และมีที่ไม่ได้แสดงตัวอีกหลายคนซึ่งพบว่ามีอาการช้ำใน กระอักเลือด บางคนกินข้าวแล้วอาเจียน แต่ไม่กล้าไปหาหมอแผนปัจจุบัน เนื่องจากหลังเหตุการณ์ในช่วงแรกๆชาวบ้านรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ร้ายเพราะรัฐมองผู้ชุมนุมในสายตาผู้ร้ายและจับกุมผู้เข้าร่วม มีการฟ้องในคดีที่เรียกว่า "58"  คือนำผู้เข้าร่วมชุมนุม 58 คนมาฟ้องในข้อหา  7 ข้อ  โดยข้อหาที่สร้างความกังขามากคือ ข้อหาแรกที่ว่าร่วมกันข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันไม่ชอบด้วยหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธปืน หรือวัตถุระเบิด

 

"ข้อหาข้อแรกนั้นยุ่งที่สุด คนที่ถูกใช้ความรุนแรงคือผุ้ชุมนุม รัฐเลือกใช้ความรุนแรงในการจัดการสลายการชุมนุม อาจเพื่อปกป้องตนเองจึงใช้การกล่าวหาว่าผู้ชุมนุมเป็นผู้ยั่วยุให้กระทำ มีการตามจับ บางคนที่บาดเจ็บสาหัสถูกล็อคกุญแจติดกับเตียง คนที่ช้ำในจึงไม่กล้าไปโรงพยาบาลเพราะกลัวถูกสอบสวนจึงต้องไปหาหมอบ้าน"

 

นารี กล่าวต่อว่า การสลายการชุมนุมนั้นมีหลักการ หลักสำคัญคือก่อนใช้กำลังต้องใช้อย่างอื่นก่อน เริ่มจากการเจรจา และถ้าต้องใช้กำลังจะต้องประกาศก่อนว่าถ้ายังชุมนุมจะผิดกฎหมายอะไร เพื่อให้ผู้ชุมนุมได้ตัดสินใจ

 

"แต่มีปัญหาคือฟังไม่รู้เรื่อง เจ้าหน้าที่ใช้โทรโข่งประกาศในขณะที่ผู้ชุมนุมมีเป็นพันคน ตำรวจบอกว่าประกาศแล้วแต่ผู้ชุมนุมบอกว่าไม่ได้ยิน ตรงนี้รัฐต้องรับผิดชอบเพราะต้องมีเครื่องมือ นอกจากนี้เมื่อสลายการชุมนุม ชาวบ้านต้องการออกจากพื้นที่แต่รัฐได้ปิดกั้นไม่ให้ออก เมื่อว่ายน้ำออกไปเจ้าหน้าที่ก็ยิงลงไปในน้ำ"

 

นารี กล่าวว่า การสลายการชุมนุมคือการไม่ให้รวมกัน  แต่ให้ไปที่อื่นไม่ได้หมายถึงการฆ่าหรือการจับยกเว้นผู้ที่ที่ไม่ไป แต่ในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ไม่ได้เปิดทางออกและมีลักษณะการล้อมปราบไม่ใช่การสลายการชุมนุมดังที่รัฐบอก

 

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ระบุว่ามีแผนต้องการจับคนเพียง 100-200 คน แต่เก็บคนไว้เป็นพันคน รถที่นำมาจึงไม่พอในการบรรทุกคน เมื่อนำคนขึ้นรถจึงมีปัญหา รถคันที่มีผผู้เสียชีวิตที่สุดจุคนราว 90 คน ในขณะที่รถบรรจุคนตามปกติได้เพียง 49 คน แผนและวิธีการจัดการจึงไม่ถูกต้องตามกรรมวิธี

 

"เคยไปฟังที่ศาล พล.ท.พิศาล วัฒนพงษ์คีรี (อดีต) แม่ทัพภาคที่ 4 ให้การว่าไม่ได้สั่ง เรื่องนี้จึงน่ากลัว เพราะถ้าไม่ได้สั่งเรื่องทั้งหมดเดินไปได้อย่างไร พล.ท.พิศาลบอกว่าเมื่อมีเสียงปืนยิง ทหารดูแลได้ผลักตัวให้ล้ม เมื่อลุกขึ้นมาทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ถ้าเป็นเช่นนั้นก็เป็นเรื่องอันตราย หรือเหตุการณ์ในวันที่ 7 ต.ค. ที่กรุงเทพฯก็หาคนสั่งไม่ได้ คนที่มีหน้าที่สูงสุดในที่นั้นบอกไม่ได้สั่งแล้วทั้งหมดเดินไปได้อย่างไรโดยมีคนตายมากขนาดนี้ซึ่งเป็นปัญหาของประเทศไทย"

 

นารี บอกอีกว่า เมื่อได้ถามว่าสอบสวนลูกน้องว่าละเมิดคำสั่งหรือ ได้รับคำตอบว่านำมาสอบแล้วแต่ไม่เห็นผล และเมื่อถูกนำออกจากตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 แล้วจึงไม่ต้องสอบอะไรต่อ

 

"การขนส่งที่ทำแบบซ้อนกันอาจจะเพราะมีความโกรธหรือมีอคติเป็นทุนเดิมจึงมาออกกับผุ้ชุมนุมได้ นอกจากนี้ยังมีความกลัวด้วย ผู้ชุมนุมบอกว่ารถหยุดเป็นระยะๆ ซึ่งการเดินทางจากที่เกิดเหตุไปค่ายอิงคยุทธบริหารใช้เวลาไม่น่าเกิน 1 ชั่วโมงครึ่ง แต่คันที่ใช้เวลานานที่สุดในการเดินทางใช้เวลาถึง 5 ชั่วโมง มีการบอกว่าถูกวางตะปูเรือใบ แต่ผู้ให้การบอกว่าทหารหยุดกินข้าว"

 

ทั้งนี้ นารี บอกว่า ชาวบ้านรู้สึกดีขึ้นเมื่อเกิดความพยายามฟ้องกลับเรียกค่าเสียหายคืนจากรัฐ  เพราะตามกฎหมายผู้ชุมนุมไม่ได้มีอาวุธมา แม้ทางข้าราชการบอกว่างมอาวุธได้ในแม่น้ำ แต่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงบอกว่าไม่มีมูล เพราะถ้ามีอาวุธจริงน่าจะมีการต่อสู้ ดังนั้นผู้อยู่ในเหตุการณ์จึงเป็นผู้ชุมนุม แต่เขาอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกหรือกฎหมายเผด็จการที่ชุมนุมเกิน 5 คนไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ต่อมามีความพยายามรวมตัวกันเพื่อฟ้องร้องกลับ ซึ่งเป็นประโยชน์ที่ทำให้ตระหนักว่าชีวิตประชาชนมีค่าและมีความหมาย มิฉะนั้น เขาตายไปเฉยๆก็ได้ กรณีตากใบไม่ได้จบแค่วันนั้น แต่มีปัญหาอีกหลายอย่าง ปัจุบันบางคนยังถูกคุกคามจากคดีความต่างๆ

 

 

นักวิชาการโชว์งบประมาณทหารนับแสนล้านเพื่อความมั่นคง

ด้านนายอัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง นักวิชาการอิสระ กล่าวถึงตากใบกับความสูญเสียของประชาชาติไทว่าเพื่อสนองตัณหาของพวกคลั่งชาตินิยม อำนาจมืดและผลประโยชน์

 

"ตากใบแม้จะไม่ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์แห่งชาติ แต่โศกนาฏกรรมวันที่ 25 ตุลาคม 2547 อีกร้อยพันปีมีหรือคนที่นั่นจะลืมเลือนไปจากจิตวิญญาณและความทรงจำ"

 

เขากล่าวต่อว่า ท่ามกลางความสับสนที่ถูกวาง การต่อรองที่มีเลสใน ภาคใต้ยังมีอะไรที่ลึกซึ้งแต่หาคำตอบไม่ได้ เมื่อแม่ทัพภาคที่ 4 ไม่ได้สั่ง แต่ที่โรงแรมรอยัลปริ๊นเซสคนหน้าเหลี่ยมนอนอยู่ที่นั่น กำลังที่ถูกวางอย่างมีเป้าหมาย ทางออกจากการชุมนุมไม่มี ด่านทั้ง 13 จุดที่เป็นทางออกคนพุทธถูกไล่ให้กลับบ้านแต่คนมุสลิมให้อยู่ ที่สภ.อ.ตากใบ มีผู้ชุมนุมเพียง 300-500 คน แต่คนเดินถนนไปมาถูกจับไปด้วยจึงไปยัดเยียดกันบนรถ1,300 คน 29 คัน ใจกลางผู้ชุมนุมก็มีแต่เจ้าหน้าที่

 

อัฮหมัดสมบูรณ์ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตกว่า 3,000 คน ในขณะที่เงินภาษีถูกใช้ไปกว่า 150,000,000,000 บาท หรือ 30,000,000,000 บาทต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ 82,000,000 บาทเป็นเฉพาะงบประมาณของผู้ใช้อำนาจ เพื่อการปราบปรามความไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้ ไม่รวมเงินเดือนปกติ อยากเรียกร้องว่าคนไทยถูกแบ่งแยกตั้งแต่เปลี่ยนชื่อจากสยามเป็นไทย เอกลักษณ์ของชนชาติสยามหายไปหมดแล้ว แต่ที่เห็นชัดและยังคงมีอยู่คืออัตลักษณ์ของชนชาติมลายูที่ยังคงอยู่ที่ปลายด้ามขวานของสยามประเทศ วันนี้ลองมาคิด มาคุยเรื่องคนชายขอบชายแดนใต้ให้มากขึ้น เปลี่ยนมิติความหมายของคำว่าแบ่งแยกดินแดนเป็นมิติแห่งการร้องหาความเป็นธรรมของคนชายขอบ ศักดิ์ศรีตัวตนคนมลายูที่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างรัฐชาตินี้

 

"ตากใบขอให้วันนี้เป้นบทเรียนที่ขอให้มาวางระบบและกระบวนการพัฒนาประเศในทุกด้าน โดยเฉพาะการศึกษาในทุกสถาบันสอนให้มีคุณธรรม อย่าได้มีหลักสูตรถือดีถือเก่งเฉพาะตน คนชาติอื่นๆทั้งในบ้านนอกบ้านล้วนด้อยกว่าตน อย่าได้มีหลักสูตรการรู้วิธีฆ่าคนให้ตายเร็วที่สุดคือชัยชนะเหนือศัตรู นี่คือสิ่งทีมันเกิดขึ้นในประเทศไทย"

 

 

ทนายชี้ ก.ยุติธรรมช้า 4 ปี ไต่สวนการตายยังไม่จบ

นายกิจจา อาลีฮิจเฮาะ รองเลขาธิการศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าวว่า คดีตากใบทั่วโลกรวมทั้งสหประชาชาติให้ความสนใจ มีการตั้งคณะกรรมการหาข้อเท็จจริงหลายคณะ ทั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาความมั่นคงจังหวัดชายแดนใต้  วุฒิสภา ได้หาข้อเท็จจริงในการสลายการชุมนุมประท้วงหน้าสภ.อ.ตากใบ อีกคือคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงกรณีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ ซึ่งทั้งสองคณะล้วนชี้ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐประมาท ทำงานบกพร่องต่อหน้าที่ โดยกฎหมายแล้วสามารถเอาผิดได้ กรณีนี้ไม่ว่าเจตนาหรือไม่ การเล็งเห็นผลการทับซ้อนในรถบรรทุกย่อมเกิดการตายแน่นอน

 

กรณีตากใบเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ กระบวนการยุติธรรมครั้งสุดท้ายคือการย้าย พล.ท.พิศาล แม่ทัพภาคที่ 4 ออกจากพื้นที่แต่ไม่มีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ต่อมาเลย ในขณะที่ชาวบ้าน 58 คนถูกดำเนินคดี แต่สุดท้ายมีการต่อรองเมื่อทางทนายความได้ยื่นฟ้องต่อจำเลยได้แก่ กระทรวงกลาโหม กองทัพบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายกรณีที่ญาติเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนในการละเมิด โดยฟ้องไปหลายสิบล้านต่อรองแล้วได้มา 42,000,000 บาท

 

อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ยังถามหาอยู่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องได้ถูกดำเนินคดีหรือไม่ รวมไปถึงหลายๆคดีที่เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจนอื่นๆด้วย ซึ่งตั้งแต่เกิดเหตุการณ์มีคดีอิหม่ามยะผาเพียงคดีเดียวเท่านั้นที่เจ้าหน้าที่รัฐถูกดำเนินคดี

 

คดีที่ยังค้างต่อมาอีกเป็นคดีไต่สวนการตาย ขณะนี้ 4 ปี แล้ว ยังไม่มีอะไรคืบหน้า ซึ่งพนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องขอไต่สวนการตาย 87 คนในปี 2548 เดิมต้องสืบพยานราว 2,300 ปาก แต่ต่อมาตกลงกันให้สืบพยานเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องจริงๆจึงเหลือราว 100 ปาก ปัจจุบันเหลือสืบพยานอีกราว 40 ปาก คิดว่าปลายปีนี้คงยังไม่จบ

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากระยะเวลาเนิ่นนานเกินไป หลายคนที่ฟ้องได้แก่ญาติผู้ตายจะไม่อยากเอาเรื่องเอาราวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทำให้เจ้าหน้าที่ฮึกเหิมว่าถ้าเวลาเนิ่นนานไปญาติพี่น้องจะไม่ติดตามคดีการตายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ นอกจากนี้ยังมีการข่มขู่ให้เกิดความกลัวเยอะมาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท