Skip to main content
sharethis

"สังคมต้องช่วยกันกำกับความขัดแย้งนี้  ตรวจสอบความขัดแย้งนี้  ที่มันไม่ควรจะไปในทางที่เลยเถิดมากกว่านี้  แต่ยอมรับให้เขาสามารถขัดแย้งกันได้ และรณรงค์ความเห็นของตัวเองได้อย่างเต็มที่...ให้อยู่ในกรอบ ไม่ปะทะกัน ไม่เกิดการเผชิญหน้า ไม่นำไปสู่ความรุนแรง และสังคมพยายามหาทางออกอย่างอื่นให้มันไปได้"

 

"มันต้องเป็นความอดกลั้นของสังคมเหมือนกัน ไม่ใช่เพียงแต่ 2 ฝ่าย กองเชียร์หรือฝ่ายอื่นๆ ก็ไม่ควรอยากจะให้ตัดสินเร็วๆ คนไทยไม่อดทนพอที่จะเห็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ จะรู้สึกว่าทำไมไม่จัดการเสียที  ทำไมรัฐบาลไม่จัดการเสียที  หรือทำไมพันธมิตรฯ ไม่ชนะเสียที แรงแบบนี้มันเข้ามากระทบทั้ง 2 ฝ่าย"

   

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ได้ออกคำแถลงเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา แสดงจุดยืนที่ชัดเจน 6 ประการ คือ 1.สนับสนุนเสรีภาพในการชุมนุม รัฐบาลต้องไม่ใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม 2.คัดค้านการใช้ความรุนแรง  หรือสร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรงของทุกฝ่าย  ไม่ว่ารัฐบาล  พันธมิตรฯ หรือ นปช. เพราะจะกลายเป็นเงื่อนไขนำไปสู่รัฐประหาร 3.คัดค้านรัฐประหารและพร้อมจะเคลื่อนไหวคัดค้านทันทีถ้าเกิดขึ้น 4.ต้องนำหลักนิติธรรมมาใช้กับทุกคนที่กระทำผิด ต้องไม่ใช้วิถีทางการเมืองในการตัดสินความผิดถูกของบุคคล 5.แก้รัฐธรรมนูญปี 2550 เพื่อปฏิรูปการเมือง โดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญจากตัวแทนกลุ่มองค์กรต่างๆ และประชาชนมีส่วนร่วม  6.ปฏิรูปเศรษฐกิจพร้อมกับปฏิรูปการเมือง

    

คำแถลงดังกล่าว-แม้ไม่พูดโดยตรง แต่ก็ชัดเจนว่า กป.อพช.ไม่ร่วมการเคลื่อนไหวกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่สะพานมัฆวานฯ แต่แยกตัวออกมาเป็นฝ่ายที่ 3 เพื่อเสนอทางเลือกใหม่

    

แม้เอ่ยชื่อ กป.อพช.อาจไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่องค์กรที่ร่วมแถลงก็คือ NGO และองค์กรภาคประชาชนส่วนใหญ่ที่เคลื่อนไหวมีบทบาทในขณะนี้-รวมทั้งที่เคยเคลื่อนไหวต่อสู้ "ระบอบทักษิณ" มาอย่างเข้มข้น เช่น มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม, สมัชชาคนจน, เครือข่ายสลัมสี่ภาค  และมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ที่เคยอยู่ภายใต้การนำของสุวิทย์ วัดหนู, กลุ่ม FTA Watch และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอดส์  ที่เคยชุมนุมต่อต้านการทำ FTA สนับสนุนการทำ C/L และล่าชื่อไล่รัฐมนตรีสาธารณสุข, สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ยื่นฟ้องศาลปกครองคัดค้านการนำ กฟผ.และ ปตท.เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ,มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เคยต่อสู้คัดค้านพืช GMO รวมถึงคัดค้านการสร้างเขื่อน, คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ สมาคมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เครือข่ายผู้หญิงพิทักษ์สิทธิ์  มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  และสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย เป็นต้น

    

ความขัดแย้งเนื้อหาใหม่

    

ไพโรจน์เพิ่งขึ้นมาเป็นประธาน กป.อพช. แทนอาจารย์จอน  อึ๊งภากรณ์  เมื่อหลายเดือนก่อน  ระยะนี้เขาจึงมีบทบาททั้งการแถลงข่าว ให้สัมภาษณ์ หรือร่วมเสวนาอยู่บ่อยครั้ง

    

ยอมรับว่าคำแถลงครั้งนี้ชัดเจนว่า กป.อพช.ไม่ได้ร่วมกับพันธมิตรฯ

     

"จุดยืนเรื่องรัฐธรรมนูญก็ต่างกัน เพราะก่อนหน้าลงประชามติ กป.อพช.ประกาศชัดเจนว่าไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในเนื้อหาหลายเรื่อง"

    

"ข้อเสนอที่ชัดเจนที่เราเสนอเรื่องการปฏิรูปการเมือง เพราะเราคิดว่าควรจะเป็นรัฐธรรมนูญที่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้าไปมีบทบาทกำหนด อย่างน้อยในเรื่องการพัฒนาซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบกับชีวิตชนบทมาก กระทบชีวิตผู้คนเยอะ ในเรื่องรัฐสวัสดิการหรือสังคมสวัสดิการ  ในเรื่องการปฏิรูประบบภาษี  การลดช่องว่างระหว่างผู้คน  ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ของสังคมไทยที่ไม่เคยประสบความสำเร็จ  ที่จริงเราก็พยายามผลักดันให้มีในรัฐธรรมนูญ  อย่างน้อยเป็นแนวทาง  แม้ว่าตัวจะรัฐธรรมนูญอาจจะไม่ใช่เป็นตัวบังคับ  แต่เป็นทิศทางของสังคมว่าควรจะเดินไปข้างหน้าอย่างไร"

    

"เรื่องที่สำคัญคือ  การขยายบทบาทของตุลาการ โดยเฉพาะเรื่ององค์กรอิสระกับวุฒิสมาชิก ซึ่งเดิมปฏิเสธพรรคการเมืองเข้ามาครอบงำ แต่ก็ไม่ไปไกลถึงขั้นนี้ แทนที่จะขยายไปที่ระบบราชการ  ให้ขยายไปที่การมีส่วนร่วมของประชาชนได้ไหม  ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2550 ไปไม่ถึง"

    

"องค์กรอิสระทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ช., กกต., กรรมการสิทธิมนุษยชน ผู้ตรวจการแผ่นดินฯ พยายามออกแบบให้มาตรวจสอบการใช้อำนาจในรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่พอใช้ไปสักระยะหนึ่งกลับถูกครอบงำจากพรรคการเมือง ก็เกิดวิกฤติที่เราเจอ  พอมาแก้ใหม่กลับไปหาตุลาการที่คิดว่าเป็นสถาบันที่อิสระ แต่เราคิดว่าควรจะไปให้ไกลว่านั้น  คือเปิดให้ภาคสังคมเข้ามาสิในกระบวนการสรรหา ซึ่งตรงนี้ไม่ไป  เอาการตรวจสอบพรรคการเมืองกลับมาสู่ระบบราชการ  แทนที่จะไปให้ถึงภาคประชาชน  อันนี้ก็เป็นประเด็นที่เราไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ"

    

มองความขัดแย้งในขณะนี้ว่าเป็นวิวัฒนาการของการเมือง เป็นการต่อสู้ในประเด็นใหม่

    

"ผมคิดว่าสังคมไทยตั้งคำถาม 2เรื่องที่ขัดแย้งกัน คือ ความชอบธรรมในการเข้าสู่อำนาจ  กับความชอบธรรมในการใช้อำนาจ การเมืองหลังปี 2540 เป็นต้นมา ไม่เพียงแต่พูดถึงความชอบธรรมในการเข้าสู่อำนาจ แต่กำลังพูดถึงความชอบธรรมในการใช้อำนาจ รัฐบาลทักษิณถูกตรวจสอบการใช้อำนาจว่าไม่ชอบธรรม แม้จะได้อำนาจมาจากฉันทามติด้วยการเลือกตั้ง แต่พอคุณใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมเพียงพอ  ไม่ว่าการใช้อำนาจโดยไม่คำนึงถึงหลักนิติธรรม เช่นเรื่อง 2,500 ศพ, การใช้อำนาจเบียดบังผลประโยชน์  มันทำให้ถูกตรวจสอบ  ก็เลยเกิดข้อถกเถียงถึงความชอบธรรม 2 อย่าง"

    

"เป็นข้อถกเถียงใหญ่ในสังคมไทยที่พัฒนาไปจากเดิม  เดิมเราเถียงกันว่าขึ้นสู่อำนาจชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรมประเด็นเดียว ตอนหลังมาพูดถึงแม้ว่าคุณได้อำนาจโดยชอบธรรม มาจากการเลือกตั้งของประชาชน  แต่ถ้าคุณใช้อำนาจโดยไม่ชอบธรรม  ก็จะถูกท้าทายในความชอบธรรม  และคุณทักษิณก็ถูกท้าทาย จะเห็นได้ว่าการต่อสู้ในช่วง 2 ปีจนถึงทุกวันนี้ 2 ประเด็นนี้ก็ยังเป็นประเด็นใหญ่ในสังคมไทย  ขณะที่ฝ่ายพรรคพลังประชาชนหรือไทยรักไทยยืนยันว่าเขามาจากการเลือกตั้งเขามีความชอบธรรมจากประชาชนที่เลือกเขา อีกฝ่ายก็บอกว่าแม้คุณจะมาจากการเลือกตั้ง  แต่คุณใช้อำนาจไม่ชอบธรรม"

     

"ถ้ามองในแง่พัฒนาทางการเมือง  ผมคิดว่ามันเป็นผลผลิตที่สำคัญ  คือการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเดิมเราจะเน้นเรื่องการขึ้นสู่อำนาจ เพราะเราต่อสู้กับระบอบเผด็จการ  ทหารที่เข้ามาสู่อำนาจโดยไม่ต้องได้รับความเห็นชอบ แต่เราสู้ว่าต้องมาจากตัวแทนประชาชน แต่หลังปี 2535 ผลผลิตของรัฐธรรมนูญ 2540สังคมไทยได้ผลิตสิ่งที่เรียกว่าการเมืองภาคประชาชน  หรือการเมืองที่มีการตรวจสอบการใช้อำนาจ หลังจากคุณได้อำนาจแม้โดยชอบธรรมก็ตาม  แต่พอคุณใช้อำนาจเมื่อไหร่จะต้องถูกตรวจสอบ  และพอการเมืองภาคประชาชนเติบโตขนาดนี้ก็เลยตรวจสอบการใช้อำนาจตลอด เพราะฉะนั้นความชอบธรรม 2 ชนิดนี้เกิดขึ้น ที่ต่อสู้กันขณะนี้และต่อสู้กันในระดับที่ยังไม่ลงตัว  ฝ่ายหนึ่งก็ยังอ้างความชอบธรรมมาจากการเลือกตั้ง ฝ่ายหนึ่งก็โจมตีว่าการเลือกตั้งก็อาจจะไม่ชอบธรรม  แต่ว่าในความเป็นจริงสิ่งที่พูดในปัจจุบัน  คือการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรม เป็นประเด็นใหญ่มากที่ถูกตรวจสอบในสังคมไทย หมายความว่าการเมืองไม่เพียงแต่เลือกตั้งแล้วจบสิ้น  กระบวนการทางการเมืองมันควรมีมากกว่านั้น"

    

ในทัศนะเขา รัฐธรรมนูญปี 2540 คือการสถาปนาการเมืองภาคประชาสังคม

    

"ที่จริงไม่ใช่ผลผลิตจากปี 2540 แต่เป็นผลพวงของการต่อสู้ของสังคมไทยที่ยาวนาน ที่การเมืองภาคประชาสังคมต้องการมีบทบาท มีพื้นที่ทางอำนาจการมีพื้นที่ทางอำนาจมันถูกสถาปนาโดยรัฐธรรมนูญปี 2540 ว่าให้ประชาชนมีบทบาท อย่างน้อยมี 4 เรื่องที่สำคัญคือ การให้พื้นที่ประชาชนเข้ามาตรวจสอบโครงการและกิจกรรมของรัฐ เดิมการตรวจสอบมีอยู่เสมอๆ เช่นเวลาประชาชนเดือดร้อนก็ลุกขึ้นมาโต้แย้ง มาเดินขบวน แต่มันไม่ได้สถาปนายอมรับโดยกฎเกณฑ์ของสังคม ปี 2540 ยอมรับว่าสามารถตรวจสอบ มีความชอบธรรมที่จะตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ  จะเห็นว่าหลังปี 2540 เป็นต้นมา  มีการตรวจสอบโครงการของรัฐเต็มไปหมด บ่อนอก, หินกรูด, คลองด่าน  รวมทั้งท่อก๊าซจะนะ  ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ให้บทบาทสำคัญในการจัดการทรัพยากร ซึ่งปัญหาการจัดการทรัพยากรเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมที่ถูกรวบอำนาจโดยภาครัฐมาโดยตลอด ปี 2540 เปิดพื้นที่เรื่องการสามารถถอดถอน  อันนี้ก็เป็นหลักการใหม่ ถ้าคุณใช้อำนาจผิดพลาดแม้ว่าคุณได้รับเลือกมา แต่ก็มีสิทธิ์ที่จะถูกถอดถอน หรือมีอำนาจถึงขั้นเสนอกฎหมาย ซึ่งเดิมระบบตัวแทนเท่านั้นที่เป็นคนเสนอ ก็เปิดให้ประชาชนเสนอ  ผมว่านี่คือการขยายพื้นที่ที่เป็นผลของการต่อสู้ยาวนาน แต่มันสุกงอม  มันตกผลึกสถาปนาเมื่อปี 2540 โดยใช้คำว่าการเมืองภาคประชาชนหรือการเมืองภาคพลเมือง"

    

"มันก็เลยเป็นการเมือง 2 คู่ขนาน คือการเมืองแบบตัวแทนกับระบบการเมืองแบบมีส่วนร่วมหรือทางตรง เกิดขึ้นในปี 2540 รัฐธรรมนูญปี 2540 ได้กำหนดพื้นที่เหล่านี้ไว้ชัดเจน  ดังนั้นพอการเมืองที่เป็นตัวแทนได้อำนาจโดยชอบธรรม  แต่คุณไปขัดแย้งกับสิ่งที่ต้องถูกตรวจสอบตลอดเวลา  มันก็เลยเกิดกระแสคัดค้านขึ้นมา อันนี้เราไม่พูดว่ามันมีความไม่พอใจในความขัดแย้งอื่นๆ คุณทักษิณขึ้นมาด้วยการรวบอำนาจ มันก็เกิดความขัดแย้งกับกลุ่มอื่นๆ ในทางเศรษฐกิจเขาก็ขัดแย้งกับกลุ่มทุนอื่น  ในทางการเมืองเขาไม่เปิดโอกาสให้การเมืองแบบมีส่วนร่วมได้พัฒนา มันถูกรวบเข้ามาจัดการหมด  มันจึงเป็นความขัดแย้งที่ตึงเครียด การใช้อำนาจที่ถูกกล่าวหาว่าฉ้อฉลไม่ได้รับการตรวจสอบเลย ระบบที่วางการตรวจสอบโดยกลไกต่างๆไม่สามารถดำเนินการได้ มันก็เลยเกิดความขัดแย้งขึ้น นี่เป็นเงื่อนไขที่ทำให้ขบวนการของพันธมิตรฯ เกิดขึ้น"

    

"ที่แปลกก็คือพันธมิตรฯ มีทั้งฝ่ายที่ตื่นตัวก้าวหน้าทางการเมือง กับฝ่ายที่อาจจะเรียกว่าอนุรักษนิยม  ทำไมมารวมกันได้ เพราะว่าคุณทักษิณเบียดขับ 2 ส่วนนี้ มันเลยเกิดการร่วมกัน  ขณะเดียวกันสิ่งที่คุณทักษิณทำก็คือการสร้างพันธมิตรชาวบ้าน  เชื่อมโยงกับคนข้างล่างโดยนโยบายประชานิยม  เขาก็คิดว่าแข็งแกร่งพอที่จะสามารถดำรงความเข้มแข็งทางการเมืองได้ จะเห็นว่าเกิดเป็นแนวสู้ 2 แนวนี้ขึ้นมา พันธมิตรฯ กับคนที่ปกป้องระบอบทักษิณ ก็เห็นได้ชัดคู่นี้ต่อสู้กันมาจนถึงปัจจุบัน"

    

ฮิตเลอร์ในนิสัยคนไทย

    

"สังคมไทยเคยต่อสู้แบบนี้มาหลายครั้ง แต่ยังไม่กว้างขวางขนาดนี้ ครั้งนี้ถ้าพูดในมุมก้าวหน้าทางการเมือง ถือเป็นการตื่นตัวทางการเมืองที่กว้างขวางที่สุดเท่าที่สังคมไทยเคยมี คือมันตื่นตัวลงลึกไปถึงระดับครอบครัว ข้อถกเถียงเข้าไปสู่ครอบครัว อาจจะมองว่าขัดแย้งแต่มิติทางการเมืองมันถูกถกเถียงลงไปถึงระดับครอบครัว ระดับหมู่บ้าน ระดับผู้คน ในสื่อ ในทุกสถาบันด้วย  แม้แต่สถาบันตุลาการ  ซึ่งเป็นความขัดแย้ง  แต่ในมุมที่ก้าวหน้านี่เป็นการตื่นตัวครั้งใหญ่สุดของการเมืองไทย"

     

"ปัญหาใหญ่คือเราจะจัดการความขัดแย้งนี้อย่างไร เรื่องใหญ่ที่สุด ถ้าผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองกับความขัดแย้งมากอย่างนี้  จะพัฒนาไปอย่างไรที่ไม่ก่อให้เกิดการแตกร้าว  จนไม่สามารถพัฒนาข้ามพ้นความขัดแย้งเดิม วิธีจัดการกับความขัดแย้งเดิมในสังคมไทยก็คือ  ถ้ารัฐขัดแย้งกับฝ่ายอื่นในสังคม  รัฐก็กำจัดความเห็นที่แตกต่างออกไปจากสังคมเลย ใช้วิธีกำจัด  พอกำจัดก็ไม่มีพื้นที่ให้คนอื่น  ไม่มีพื้นที่ให้ความเห็นที่ต่าง ประสบการณ์เป็นอย่างนี้มาตลอด เหตุการณ์ 14 ตุลา, 6 ตุลา คือกำจัดความเห็นที่ต่างออกไปจากสังคมด้วยการฆ่าทิ้ง พฤษภาก็เหมือนกัน การจัดการในปี 2549 ดูเหมือนไม่มีความรุนแรงทางกายภาพ คือพอเกิดความขัดแย้งจัดการด้วยการเข้ามายึดอำนาจ ในเชิงกายภาพไม่มีการสูญเสีย  แต่ในเชิงโครงสร้างมันรุนแรง เพราะทำให้สิ่งที่เราสร้างไว้-ประชาธิปไตย 2 แบบที่คู่ขนานมาในปี 2540 มันชะงักลง  ที่ว่าสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมกับประชาธิปไตยตัวแทนคู่กันมา มันชะงักลง ในปี 2549 มันมีตัวแทนเข้ามาแทรกแซงความขัดแย้งนั้น  และพยายามจะจัดการความขัดแย้ง"

    

"เพียงแต่การจัดการความขัดแย้งครั้งนี้  มีอยู่จุดหนึ่งที่พยายามจะใช้สถาบันตุลาการเข้ามาพยายามจะยุติความขัดแย้งด้วยสถาบันตุลาการเพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า  ตอนนี้สถาบันตุลาการต้องแบกรับความขัดแย้งทางการเมืองสูงมาก อันนี้จะถือว่าพัฒนาไหม ผมมองว่าพัฒนา แต่ปัญหาคือว่าสถาบันตุลาการจะสามารถดำรงความเป็นอิสระ ปลอดจากการแทรกแซงจากฝ่ายต่างๆ ได้ไหม  เพราะถ้าเขาตัดสินผิดถูกออกมาทางใดทางหนึ่ง มีผลได้เสียทางการเมือง เขาเข้ามาแก้ไขความขัดแย้งทางการเมือง  ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างบุคคล มันไม่ใช่ความขัดแย้งเดิมๆ แต่เป็นความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งต้องเข้ามามีบทบาท ตั้งแต่ตัดสินการเลือกตั้ง ตัดสินยุบพรรค  จนถึงการตัดสินคดีคุณทักษิณที่จะเกิดขึ้น  หรือคดีอื่นๆที่จะตามมา  ไม่ว่าฝ่ายไหนจะถูกตัดสิน  นี่เป็นความขัดแย้งทางการเมือง  ซึ่งเป็นมิติที่น่าห่วงอยู่ด้วย  เพราะถ้าสถาบันตุลาการไม่สามารถธำรงความเป็นตัวของตัวเองได้ หรือถูกสงสัยในความเที่ยงธรรม  สถาบันนี้ก็จะสั่นคลอน-ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ขณะที่สถาบันอื่นถูกสั่นคลอนหมดแล้ว เพราะฉะนั้นการธำรงความเป็นอิสระของตัวเองสำคัญมากเพื่อไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้าไปกดดันให้เป็นไปตามทิศทางของตัวเอง ตามผลประโยชน์ของการเมืองของกลุ่มตัวเอง  ในอนาคตผมเห็นว่าสถาบันตุลาการกำลังจะถูกท้าทาย  อาจจะเข้มแข็งขึ้นหรืออาจจะอ่อนแอลง"

    

"แต่อีกด้านหนึ่งของการต่อสู้ครั้งนี้ ที่ผมคิดว่าสังคมไทยยังข้ามไม่พ้น คือในการกำจัดความเห็นที่แตกต่างก็ต้องใช้ความเกลียดชัง ใช้ความเคียดแค้นเป็นตัวนำเพื่อกำจัดความเห็นต่าง ก็ยังถูกใช้อยู่ในขณะนี้ และเป็นการใช้ที่ไม่ใช่ภาครัฐอย่างเดียว ภาคการต่อสู้ใช้ด้วยกัน พันธมิตรฯ ก็ใช้เงื่อนไขนี้ ที่สนามหลวงก็ใช้ ภาษาพูด-เนื้อหาที่ให้ต่อกลุ่มต่างๆ ในสังคมออกมาในโทนนี้ คือใช้เงื่อนไขความเกลียดชัง เงื่อนไขให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกที่เป็นศัตรูกับอีกฝ่าย ซึ่งอันนี้ก็แฝงมา แล้วมันไปด้วยกันกับความคิดลึกๆ ของสังคมไทย  ความคิดของผู้คนที่ไม่เป็นประชาธิปไตย  คือมีลักษณะเป็นอำนาจนิยม  กำจัดคนอื่น  มันมีอยู่โดยพื้นฐานทางวัฒนธรรมของสังคมไทย  พอใช้กันก็ทำให้ขยายวงได้ง่าย  ฉะนั้นจะเห็นได้ว่ามองในด้านที่ขัดแย้ง  มันขยายความตื่นตัวทางการเมือง  แต่ขณะเดียวกันก็ขยายความเกลียดชังลงไปทั่ว"

    

ไม่เฉพาะเรื่องการใช้สถาบันใช่ไหม

    

"ใช้กันทุกอย่าง ภาษาที่พูดกับอีกฝ่ายหนึ่ง ผมนั่งแท็กซี่ฟังที่เขาเปิดชมรมแท็กซี่ ภาษาที่เขาใช้ก็เหมือนกัน"

    

"ภาษาที่ใช้กำจัดคู่ต่อสู้ คือโฆษณาให้เข้าใจว่าคนคนนั้นไม่เหลือความเป็นคน ทำให้อีกฝ่ายไม่เหลือความเป็นคน เช่น คุณเป็นศัตรูกับสิ่งที่รักที่สุดในประเทศ กับสถาบัน  คุณจะเป็นคนทำลาย  คุณเป็นคนชั่วของสังคม  หรืออีกฝ่ายพูดเรื่องฆ่าคน 2,500 ศพ ก็บอกว่าคนพวกนี้เป็นคนชั่วของแผ่นดิน  มันสมควรตาย คือต้องลดทอนคู่ต่อสู้ ให้มันไม่มีความเป็นมนุษย์อีกต่อไป ให้เหมือนกับสิ่งของที่ต้องกำจัดทิ้ง มันต้องทำขนาดนั้น เหมือนกับที่ฮิตเลอร์ทำในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เขายกยิวเป็นศัตรูของเยอรมัน  คนเยอรมันก็เห็นว่าควรกำจัดทิ้ง ตอนนี้เราก็มีแนวโน้มนี้อยู่ ที่จะกำจัดทิ้งคนที่เห็นแตกต่าง ซึ่งเราเห็นจากการสื่อสารที่ใช้กัน มันไปสอดรับกับความคิดทางวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยม อันนี้เป็นสิ่งที่เรายังไม่ข้ามไป ซึ่งเราไม่รู้ว่ามันจะไปทางไหน แต่การวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งกันและกันก็ทำให้ดีขึ้นได้ อย่างพันธมิตรฯ ถูกวิจารณ์เขาก็พยายามปรับตัว"

    

อดกลั้น!

    

แม้ไม่ได้ร่วมกับฝ่ายใด  ประธาน กป.อพช.ก็ยืนยันว่าสิ่งที่ต้องปกป้องคือสิทธิในการชุมนุม

    

"เรื่องที่ถกเถียงกันอย่างสำคัญในสังคมไทยตอนนี้คือการชุมนุม นอกจากจะกำจัดฝ่ายตรงข้ามแล้ว  การให้แสดงออกทางความเห็นด้วยการชุมนุมก็เป็นประเด็นถกเถียงกันในสังคม"

    

"ผมเชื่อว่าการชุมนุมเป็นเครื่องมือหรือเป็นฐานสำคัญของคนที่มีความเห็นต่างกับรัฐ  หรือความเห็นต่างกับคนข้างมาก  ให้เสียงข้างน้อยได้รับการประกันในการแสดงออก  เพราะถ้าไม่มีสิ่งนี้มันไม่มีหลักประกันเลย จะบอกว่าเป็นประชาธิปไตยไม่ได้ นอกจากเป็นวิธีการแล้วมันมีเป้าในตัวมันเอง ตัวมันอธิบายว่านี่คือประชาธิปไตย นี่คือการประกันว่าคนที่มีความเห็นต่างแสดงออกได้ไม่ว่าจะเป็นใคร  มันเป็นทั้งเครื่องมือและเป็นเป้าหมายในตัวเอง แต่สังคมไทยยังข้ามไม่พ้นในเรื่องนี้  ในสังคมไทยการชุมนุมจะถูกตั้งคำถามว่ามีเบื้องหลังไหม  ถ้ามีเบื้องหลังก็ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม"

    

"อย่างพันธมิตรฯ ชุมนุมครั้งนี้กับครั้งที่แล้วแตกต่างกันมากนะจะเห็นได้ว่าการชุมนุมครั้งที่แล้วมีความชอบธรรมสูง  จะไม่ถูกตั้งคำถามเรื่องปิดถนนเลย  ทั้งที่ชุมนุมยาวกว่านี้ 34 วัน แต่สิ่งที่เขาเสนอมันชอบธรรม เขาตรวจสอบคุณทักษิณในตอนนั้น  คนยอมรับได้ว่าชอบธรรมที่จะใช้เสรีภาพปิดถนนเพื่อบรรลุเป้าหมาย  หรือสิ่งที่ใหญ่กว่าการใช้เสรีภาพในการเดินทาง แต่ครั้งนี้พอเขาเสนอขึ้นมาปรากฏว่าคนตั้งคำถามเยอะ แน่นอนอีกฝ่ายก็ไม่เห็นด้วย  ต้องการลดความชอบธรรม  แต่มันถูกตั้งคำถาม  กลายเป็นเรื่องที่ปิดถนนเป็นเรื่องใหญ่  การใช้เสรีภาพในการเดินทางใหญ่กว่าเสรีภาพในการชุมนุม  ซึ่งที่จริงมิติเรื่องประกันเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความเห็นเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด มันเป็นจิตวิญาณของประชาธิปไตย  เสรีภาพในการเดินทางต้องหลีกทางให้"

    

"เรากำลังตั้งคำถามกับเสรีภาพในการชุมนุม  หรือตั้งคำถามกับสิ่งที่เขาเรียกร้อง ในความเห็นผม  เสรีภาพการชุมนุมต้องประกันให้ทุกคนทำได้ แต่เราอาจจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาเรียกร้อง แต่ถามว่าเราจะกำจัดการชุมนุมไหม-ไม่ใช่ เราไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาเรียกร้อง  แต่เราต้องให้ชุมนุม-ให้เขาแสดงออกไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน สังคมไทยเวลาเกิดสิ่งเหล่านี้ไม่เคยใช้หลักกฎหมายที่ตรงไปตรงมา  ผิดเป็นผิด-ถูกเป็นถูก ถ้าเกิดความรุนแรงในการชุมนุมใครทำผิด ทำร้ายคนอื่น  ไม่วาจะเป็นเจ้าหน้าที่หรือผู้ชุมนุมต้องถูกลงโทษ  แต่วิธีคิดของรัฐคือถ้าเกิดความรุนแรงก็จะสลายม็อบ อย่างการสลายม็อบ นปก. เป็นการทำลายเสรีภาพในการชุมนุม แทนที่จะจับกุมคนที่ก่อให้เกิดความรุนแรง  ตรงนี้ทำให้เกิดความกังวลว่าถ้าเกิดการปะทะขึ้นมาเมื่อไหร่  ก็จะเป็นเงื่อนไขก่อให้เกิดการแทรกแซงด้วยอย่างอื่นเข้ามา"

    

"องค์ประกอบของการชุมนุมคือ 1.ต้องใช้ที่สาธารณะ 2.ต้องเดินขบวน  3.ต้องใช้เสียง เป็นองค์ประกอบพื้นฐาน ของเรามีกฎหมายห้ามการใช้เสียง กฎหมายเราเดินขบวนในถนนไม่ได้  กฎหมายเราอยู่บนบาทวิถีก็ผิดกฎหมาย คุณสมัครก็เคยใช้กฎหมายการรักษาความสะอาดบนทางเท้าสลายม็อบสมัชชาคนจน  ขนขึ้นรถ  ในสังคมไทยถ้ายึดแบบนี้ก็เท่ากับเราชุมนุมไม่ได้เลย  ถามว่าจะจัดการอย่างไร  วิธีจัดการก็คือว่าถ้ามีคนจะใช้ที่สาธารณะตรงนี้ จะต้องชุมนุมแน่นอน เจ้าหน้าที่ก็ต้องมีหน้าที่ต้องบอกคนที่ใช้เส้นทางนี้ว่าคุณต้องไปใช้ทางอื่น  ต้องอำนวยความสะดวกให้ไปใช้ทางอื่น  ไม่ใช่มาทำลายการชุมนุม  เพื่อให้ประกันว่าเสรีภาพการชุมนุมยังดำรงอยู่"

    

"ผมยกตัวอย่างการชุมนุมที่เราอาจจะไม่เห็นว่าเป็นการชุมนุม เช่น ถ้ามีการปิดถนนในวันปีใหม่ปิดยาวเลย ใช้ที่สาธารณะเหมือนกับการชุมนุม แต่ไม่ได้เป็นประเด็นทางการเมือง เป็นเรื่องประเพณี  พอประเด็นประเพณีสังคมไทยเรารับได้  แต่ว่าพอปิดถนนด้วยประเด็นทางการเมือง  ความเห็นแตกต่างกัน-เรารับไม่ได้  ถามว่ามันต่างกันตรงไหน  ที่จริงมันไม่ได้ต่างกัน"

   

มีคนตั้งคำถามว่าถ้าพันธมิตรฯ ไม่พอใจรัฐบาลชุดนี้ ลาออกหรือเลือกตั้งใหม่กี่ครั้งก็จะชุมนุมอยู่ตลอด  เป็นการใช้สิทธิ์เกินเลยไหม

    

"แล้วเราจะจัดการอย่างไร เราจะให้คนที่เห็นต่างกับรัฐบาลทำอย่างไรล่ะ เพราะอันนี้มันคือความเห็นต่างจากรัฐบาล ที่เราให้เสรีภาพในการชุมนุมคือการแสดงออก  ซึ่งความเห็นต่างเขามีเสรีภาพที่จะชุมนุม แต่ก็ขึ้นกับว่าคนจะร่วมไม่ร่วม  มันเป็นเรื่องของข้อเรียกร้อง  ว่าเขามีความชอบธรรมที่จะรณรงค์ให้คนเห็นด้วยไหม  ถ้าถึงที่สุดคนไม่เห็นด้วยเขาก็อยู่ไม่ได้นาน"

    

แต่ตอนนี้มันเป็นสถานการณ์พิเศษ  เพราะเกลียดชังกันมากจนพร้อมจะอยู่เป็นเดือนเป็นปี

    

"อีกฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าควรจะออกไปเดี๋ยวนี้ มันเป็นสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งสูง  สังคมไทยกำลังถูกทดสอบว่าเรามีหลักประชาธิปไตยจริงหรือเปล่า อันนี้เหมือนเป็นประชาธิปไตยทางสังคม สังคมไทยเป็นประชาธิปไตยหรือเปล่าที่จะยอมรับหลักการนี้  ไม่ใช่เรื่องกติกาในรัฐธรรมนูญ  แต่มันเป็นเรื่องที่อยู่ในวิถีชีวิตเราจริงหรือเปล่า  ยกตัวอย่างเราไม่เห็นด้วยกับคุณสมัครเลย  แต่เราต้องอยู่กับคุณสมัครได้เพราะคุณสมัครมาจากการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันเราอาจจะไม่เห็นด้วยกับพันธมิตรฯ เลย แต่เรายอมรับการชุมนุมที่เขาจะเสนอความเห็นเขา  ตรงนี้ต่างหากที่ต้องสร้าง  เพราะฉะนั้นเราจะจัดการความขัดแย้งด้วยวิธีไหน  มันกำลังทดสอบเรา"

    

"ถ้าเราผ่านตรงนี้ไปได้เราจะพัฒนาไปอีกก้าวหนึ่ง เป็นก้าวใหญ่ที่สำคัญ เพราะมันทำให้เรารู้จักอดกลั้นกับความเห็นที่แตกต่างและไม่กำจัดความเห็นที่แตกต่าง พร้อมจะให้ความเห็นที่แตกต่างแสดงออก อย่างสันติเปิดเผย โดยใช้ความอดทนพิสูจน์กันว่ามันใช่หรือไม่ใช่ ถ้าครั้งนี้ผ่านได้เราจะก้าวพ้น แต่ก็ต้องทำตอกย้ำซ้ำแล้วซ้ำอีก  จนฝังอยู่ในจิตวิญญาณกลายเป็นความเคยชิน  เช่นถ้ามีการชุมนุมเราก็จะรู้สึก  เออ-เราจะต้องรถติด  เพราะนี่เป็นสังคมประชาธิปไตย  เราต้องอยู่ร่วมกับการชุมนุมหลายๆ แบบ หลายๆ ความเห็น  เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่การเมืองภาคประชาชนจะไม่มีการชุมนุม  นี่เป็นเครื่องมือของการแสดงออกของภาคประชาชนหรือการเมืองแบบมีส่วนร่วมไม่อย่างนั้นแล้วเราไม่มีทางแสดงออกอย่างอื่นเลยต่อไปก็ต้องบอกว่าเราต้องอยู่ร่วมกับการชุมนุม ปิดถนนเรียกร้องราคาข้าว  เรียกร้องความทุกข์ยาก ฯลฯ นี่เป็นสิ่งที่ต้องสร้างขึ้นในสังคม"

    

ให้ขัดแย้งอย่าเร่งตัดสิน

    

มองว่าการเผชิญหน้าครั้งนี้จะคลี่คลายอย่างไร เพราะคงไม่จบง่ายๆ

    

"ผมเห็นด้วย ข้อเสนอเราคือปมขัดแย้งใหญ่จริงๆ อยู่ที่ตัวกติกาของสังคมคือรัฐธรรมนูญ มันจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจยังไม่ลงตัว รัฐธรรมนูญปี 2550 ไปจำกัดบทบาทของพรรคการเมืองอย่างเข้มงวดมากเพราะตั้งสมมติฐานว่าการขึ้นสู่อำนาจก่อนหน้านี้ของทักษิณ ของไทยรักไทย  มันใช้กลไกอะไรตรวจสอบไม่ได้ ก็เลยไปเขียนมัดให้ตรวจสอบเข้มงวดกวดขัน ลดทอนความเข้มแข็งลง จนเกิดมาตรการยุบพรรค พอเข้มงวดอย่างนี้มันไปกดดันอีกฝ่ายหนึ่ง เหมือนไม่มีที่ยืน แม้จะได้เสียงข้างมากมาแต่จะถูกตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา ปมนี้เป็นปมใหญ่  ถ้าเป็นอย่างนี้ก็หมายความว่าการสร้างกติกาแบบนี้ไม่เป็นที่ยอมรับได้ มันไม่มีความชอบธรรมเพียงพอกับฝ่ายต่างๆ อย่างที่ควรจะเป็น ที่จะอยู่ร่วมกัน หรือการขยายบทบาทตุลาการ โดยตั้งสมมติฐานว่าจะทำให้การตรวจสอบ การคานดุลกันในระบบการเมืองเป็นไปได้ จะทำให้การเมืองสะอาดขึ้น  ตรงนี้เป็นปมขัดแย้งปมหนึ่ง กับปมที่ 2 ก็คือเรื่องการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม นี่เป็นปมใหญ่ที่สุด การตรวจสอบด้วยกระบวนการยุติธรรมมันทำได้ไหม  กระบวนการยุติธรรมทั้งกระบวนสามารถตัดสินความขัดแย้งทางการเมืองได้หรือเปล่า  เพราะ 2 อย่างนี้มันมารามกันในที่เดียวกัน เป็นความขัดแย้งอยู่ตอนนี้ จะเห็นว่าพันธมิตรฯ ตอกย้ำเรื่องนี้ว่าคุณทักษิณต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม  จึงจะแก้รัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันฝ่ายโน้นก็บอกรัฐธรรมนูญมาจากความไม่ชอบธรรม  กีดกันพรรคการเมือง  มันสร้างระบบข้าราชการเป็นใหญ่ขึ้นมา  ทำไมไม่แก้ให้เป็นประชาธิปไตย"

    

"เพราะฉะนั้นเราก็เสนอว่าจะฝ่าอย่างไรเราเห็นว่ากติการัฐธรรมนูญเป็นกติกาสำคัญรัฐธรรมนูญ 2540 พยายามจะสร้างระบบการเมือง 2 แบบ ระบบการเมืองแบบมีส่วนร่วมของภาคประชาชนกับระบบตัวแทนคู่ขนานกันมา และมันชะงักงันเพราะความขัดแย้ง  แต่รัฐธรรมนูญ 2540 แม้จะเปิดการเมืองภาคประชาชนแต่มีข้อจำกัดเยอะมากที่ทำไม่ได้เราก็คาดหวังว่ารัฐธรรมนูญ2550 ต้องขยายบทบาทการเมืองภาคประชาชนเพิ่มขึ้น แต่ตรงนี้มันไม่ได้  ต้องมาแก้  เราต้องมาตั้งต้นว่าจะจัดความสัมพันธ์กันใหม่อย่างไร ฝ่ายพรรคการเมือง ฝ่ายข้าราชการ ควรจะมีบทบาทอยู่ตรงไหน ฝ่ายภาคประชาชนควรจะมีบทบาทในโครงสร้างรัฐธรรมนูญอย่างไร สถาบันต่างๆ 2535 เราตั้งเป้าว่าจะปฏิรูปการเมือง ดังนั้น ถ้าความสัมพันธ์ไม่ลงตัวเราต้องตั้งต้นด้วยการปฏิรูปการเมืองอีกรอบ  ก็ต้องใช้เครื่องมือรัฐธรรมนูญเป็นตัวตั้ง จะต้องเปิดบทบาทให้ทุกคนมาร่วมคิด เราจึงเสนอเป็น ส.ส.ร.3 ขึ้นมา เพราะเราคิดว่าจะเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้ถกเถียง ออกความเห็นร่วมกันว่าจะเดินไปทางไหน สถาบันพรรคการเมืองคืออะไร สถาบันรัฐสภามีปัญหาอะไร องค์กรอิสระ ภาคประชาชนควรจะมีบทบาทอย่างไร และอะไรคือปัญหา เราจะแก้จุดไหน  ซึ่งมันต้องใช้เวลา ต้องใช้การระดมความเห็น  ลงความเห็นร่วมกันที่เรียกว่าประชามติ  เราเห็นว่านี่คือทางไป"

    

ปัญหาคือในวันนี้ทั้ง 2 ฝ่ายคงไม่เอาด้วย

"ถ้าเราต้องการคลี่คลายให้สังคมไปสู่สันติ ไม่เกิดความรุนแรงอีกรอบ  เกิดการกำจัดความเห็นที่แตกต่าง ก็ต้องเดินทางนี้  เราต้องมองการเมืองไม่ใช่ความขัดแย้งของ 2 กลุ่ม  แต่เป็นเรื่องที่สังคมทั้งสังคมจะต้องกำหนด  กำหนดอะไรล่ะ  ก็ปัญหาอยู่ที่กำหนดกติกาของสังคม  ว่าจะจัดโครงสร้างอำนาจใหม่อย่างไร ต้องเอาคนในสังคมมาคิดร่วมกัน ถ้ารอให้เผชิญหน้ากันแล้วเกิดความรุนแรงแล้วมีการแทรกแซงอีกรอบหนึ่ง มันก็ทำลายการพัฒนาโดยรวมของประชาธิปไตย มันอาจจะกำจัดคู่ต่อสู้ได้  แต่มันไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยที่พัฒนาขึ้นได้"

     

พันธมิตรฯ ก็บอกว่าเขานี่แหละต่อสู้เพื่อประชาชน เขาไม่ฟัง

    

"เขาจะฟังหรือไม่ขึ้นอยู่กับเสียงที่เราส่งไปว่าได้รับการตอบรับจากสังคมไหม ว่ามันจะแก้ไขได้ไหม  ทางแบบนี้ไปได้หรือไม่  ที่ผ่านมาคุณสมัครประกาศจะใช้กำลังสลายม็อบ  เสียงสังคมโหมลงมาเลยว่าไม่ได้-ก็หยุด  ผมว่าพลังแบบนี้มีอยู่  เพียงแต่ไม่ได้แสดงตัว  ไม่ได้อยู่ในฐานะที่ขึ้นมามีบทบาทจริง"

    

"ทางที่เราเสนอเป็นเงื่อนไขทางการเมืองอย่างหนึ่งถ้าพันธมิตรฯ ไม่รับ คิดว่าเขาจะได้รับการยอมรับต่อไปขนาดไหน เขาจะรณรงค์ประเด็นของเขาได้ไปไกลขนาดไหน  ถ้ารัฐบาลไม่รับคุณก็ต้องเผชิญหน้าอีกอย่างแล้วคุณจะยอมรับเงื่อนไขนี้ได้ไหม เป็นเรื่องที่พันธมิตรฯ ต้องตัดสินใจเอาเองในอนาคต พันธมิตรฯ จะรณรงค์ให้คุณสมัครลาออก ยุบสภาฯ รัฐบาลจะยืนยันแก้รัฐธรรมนูญ  ไปทิศทางนี้ก็ยิ่งเผชิญหน้ากัน  ซึ่งคนก็รับไม่ได้ที่จะแก้เพื่อคุณทักษิณ ทั้ง 2 ฝ่ายก็มีจุดอ่อนในความชอบธรรมอยู่ทั้งคู่  เพราะฉะนั้นการรณรงค์ขึ้นอยู่กับสังคมจะไปทางไหน แน่นอน กป.อพช.ไม่ใช่ตัวกำหนดเงื่อนไขทางการเมือง  เพียงแต่เราอยู่ในการเมืองแบบนี้ แล้วเราก็ควรที่จะมีสิทธิ์ในการรณรงค์ความเห็นของเราเป็นทางออกหนึ่งของสังคม"

     

ทั้ง 2 ฝ่ายไม่ฟังเพราะเขาคิดว่าเขายังจะชนะ

    

"ถูก-เขาคิดว่าเขาชนะเพราะมีกำลัง  เขามีความชอบธรรมทั้งคู่  พรรคพลังประชาชนก็เชื่อว่าเขาชอบธรรม มาจากการเลือกตั้ง พันธมิตรฯ ก็เห็นว่าการทุจริต การที่รัฐบาลไม่แก้ปัญหาประชาชนก็ไม่มีความชอบธรรมหรือการที่จะแก้รัฐธรรมนูญไปเพื่อแก้ปัญหาของพรรคพลังประชาชนมันไม่มีความชอบธรรมเพียงพอหรือการที่เข้าไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมมากขึ้นก็ยิ่งทำให้ไม่ชอบธรรมมากขึ้น ทั้ง 2 ฝ่ายเชื่อมั่นในเหตุผลของตัวเอง  ยืนยันอยู่ตรงนี้  เขาเชื่อมั่นว่าจะสามารถระดมความคิดเห็นจากสังคมจนสามารถเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่งได้ แต่อย่างที่ผมเรียนแล้วว่าทั้ง 2 ฝ่ายมีจุดอ่อนในเรื่องความชอบธรรม มีความชอบธรรมอยู่บางระดับ ขึ้นอยู่กับว่าการรณรงค์ของทั้ง 2 ฝ่าย สามารถทำให้คนเข้าใจเนื้อหาที่ตัวเองบอกเพียงไร"

    

"พลังประชาชนก็อธิบายได้ว่าพันธมิตรฯ ไม่มีความชอบธรรมอะไร และเขามีความชอบธรรมอะไรที่จะเป็นรัฐบาลอยู่ หรือที่จะแก้รัฐธรรมนูญตอนนี้เขาถอยเรื่องรัฐธรรมนูญไป แต่เขายืนยันว่าเขามีความชอบธรรมที่จะเป็นรัฐบาลอยู่ ขณะเดียวกันพันธมิตรฯ ก็ต้องยืนยันว่าตัวเองมีความชอบธรรรมที่จะให้นายกฯ คนนี้ลาออก หรือให้คุณทักษิณเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพียงแต่การรณรงค์ของทั้ง 2 ฝ่ายมันไม่สมควรนำไปสู่ความรุนแรง ซึ่งผมคิดว่าตรงนี้สังคมน่าจะรับได้ ถ้าไม่ไปสู่การเผชิญหน้าเกิดความรุนแรงขึ้น  หรือเกิดการแทรกแซงโดยการรัฐประหาร"

    

"ถ้าใครก็ตามสร้างเงื่อนไขความรุนแรง  มันมีความเป็นได้ที่จะเกิดการรัฐประหาร เพราะเหมือนกับว่ารัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ มันไม่มีใครที่จะรักษาความสงบของสังคมให้เดินต่อไปได้  ตรงนี้เป็นความชอบธรรมที่ทหารจะเข้ามารัฐประหาร เกิดขึ้นได้ถ้า 2 ฝ่ายยังเดินอยู่ในแบบนี้  เพราะฉะนั้นต้องมีเสียงเรียกร้องว่า 1.รัฐบาลไม่ควรจะใช้มาตรการรุนแรงอะไรเด็ดขาด  ขณะเดียวกันพันธมิตรฯ หรือกลุ่มอื่นๆ ที่ชุมนุมอยู่ตอนนี้ก็ไม่ควรจะสร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรง  ให้เกิดการเผชิญหน้าไปสู่ความรุนแรง ถ้า 2 ฝ่ายมีกติกามารยาทได้แบบนี้  และสังคมคอยกระตุ้นเตือนตลอดเวลา  แบบริบบิ้นสีขาวกระตุ้นออกไปอย่างนี้ว่าอย่าใช้ความรุนแรงต่อกัน ผมว่ามันก็จะทำให้สังคมได้ตระหนักที่จะกำกับความขัดแย้ง"

    

"หมายถึงสังคมได้กำกับความขัดแย้งนี้  ตรวจสอบความขัดแย้งนี้  ที่มันไม่ควรจะไปในทางที่เลยเถิดมากกว่านี้ แต่ยอมรับให้เขาสามารถขัดแย้งกันได้ และรณรงค์ความเห็นของตัวเองได้อย่างเต็มที่  และความชอบธรรมขึ้นอยู่กับการรณรงค์ของทั้ง2 ฝ่าย ก็อาจจะมีทางออก เช่นรัฐบาลอาจจะยุบสภาฯ คุณสมัครอาจจะลาออก ก็เป็นทางออกโดยวิถีประชาธิปไตย หรือพันธมิตรฯ ทำไปทำมา ถ้ารัฐบาลประกาศบางอย่าง-ไม่แก้รัฐธรรมนูญ กระบวนการยุติธรรมก็ว่าไป พันธมิตรฯ ก็ไม่มีเงื่อนไขที่จะทำอะไรมากกว่านี้  เขาก็ไม่สามารถจะหาความสนับสนุนได้มากกว่านี้  นี่คือสิ่งที่มันไปได้"

    

"สิ่งที่ กป.อพช.พูดก็คือว่า เราเห็นด้วยกับการแสดงออกไม่ว่าพันธมิตรฯ หรือกลุ่มสนามหลวง  ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็รณรงค์ไป  รัฐบาลก็แสดงความชอบธรรมของตัวเองไป และก็ให้อยู่ในกรอบ  ไม่ปะทะกัน  ไม่เกิดการเผชิญหน้า ไม่นำไปสู่ความรุนแรงจะรณรงค์อย่างไรก็ตาม และสังคมช่วยกันกำกับสังคมพยายามหาทางออกอย่างอื่น เหมือนที่เราเสนอทางออกเป็น ส.ส.ร.3 ก็จะมีทางออกอื่นให้มันไปได้"

    

"ถ้าสามารถอยู่ในวิสัยแบบนี้ได้การเมืองไทยจะพัฒนา  ที่เราสามารถจัดการความเห็นที่แตกต่างขัดแย้งกันได้ โดยสามารถมีทางออกกับมันได้ และเราอดทนอดกลั้นได้พอ เราไม่ต้องถึงขั้นต้องประหารประชาธิปไตยหรือยึดอำนาจ  เราก็สามารถมีทางออกแม้ว่าอาจจะยาวออกไปอีกสักหลายเดือน  แต่มันก็เป็นแรงเร่งเร้าให้ฝ่ายต่างๆ สูญเสียความชอบธรรมไปด้วย ถ้ามันไปเรื่อยๆ อย่างนี้  แรงเร่งเร้าที่สำคัญตอนนี้ที่จะทำให้ทุกฝ่ายสูญเสียความชอบธรรมคือ เรื่องปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าผู้คนอยู่ มันจะเป็นเงื่อนไขที่ตัดสินให้ทั้ง 2 ฝ่ายอาจจะเสียความชอบธรรมพอสมควร"

    

พันธมิตรฯ เขาก็มองว่ารัฐบาลเสีย

    

"พันธมิตรฯ อาจจะมองว่ารัฐบาลเสีย แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็กล่าวหาว่าเพราะพันธมิตรฯ ชุมนุมทำให้หุ้นตก  พันธมิตรฯ ก็บอกว่ารัฐบาลไม่แก้ปัญหามันก็เป็นอย่างนี้ ก็ไม่ควรมีความชอบธรรมที่จะอยู่ นี่คือสิ่งที่2 ฝ่ายพยายามเสนอเหตุผล นี่คือสิ่งที่เขาทำกันอยู่  มันยังอยู่ในกติกา  แต่สังคมไม่ควรอนุญาตให้มันเลยเถิดไปสู่ความรุนแรง ซึ่งตรงนี้มันต้องเป็นความอดกลั้นของสังคมเหมือนกันไม่ใช่เพียงแต่ 2 ฝ่าย  กองเชียร์หรือฝ่ายอื่นๆ ก็ไม่ควรอยากจะให้ตัดสินเร็วๆ คนไทยไม่อดทนพอที่จะเห็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ จะรู้สึกว่าทำไมไม่จัดการเสียที ทำไมรัฐบาลไม่จัดการเสียที  หรือทำไมพันธมิตรฯ ไม่ชนะเสียที  แรงแบบนี้มันเข้ามากระทบทั้ง 2 ฝ่าย"

    

สื่อด้วยที่เป็นตัวเร่งเร้า

    

"ถ้าเราตระหนักตรงนี้ได้ หมายความว่าสื่อ สถาบันการศึกษา องค์กรต่างๆ ในสังคมคอยกำกับวามขัดแย้ง อยู่ในครรลองด้วยกัน ไม่ไปเร่งเร้า  ไม่ให้รีบตัดสิน เพราะมันยังไม่ถึงเวลาการตัดสินใจ ทั้ง 2 ฝ่ายกำลังแสวงหาความชอบธรรม  แสวงหาการสนับสนุนอยู่  โฆษณาหาความชอบธรรมอยู่  แต่มันต้องจุดหนึ่งที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องเห็น  ผมคิดว่ามันมีทางออกที่มันไปได้โดยไม่ต้องใช้การยึดอำนาจ"--จบ--

 

……

ที่มา:

http://www.thaipost.net

 

ที่มาของภาพประกอบหน้าเว็บ

http://www.flickr.com/photos/pittaya/251401050/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net