รายงาน: จับตาสถานการณ์ข้าว (ตอนที่ 1) ความเกรงกลัวนายทุนข้ามชาติบุกที่นา

วิทยากร บุญเรือง

 

กลายเป็นประเด็นปลุกใจให้เลือดรักชาติสูบฉีดร้อนแรงขึ้นมาอีกครั้งในสังคมไทย เมื่อมีข่าวเกี่ยวกับทุนข้ามชาติกับการลงทุนในอุตสาหกรรมข้าวของไทยในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา ภายใต้สภาวะวิกฤตราคาอาหารแพงทั่วโลก รวมถึงราคาข้าวของไทยที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้นักลงทุนต่างก็สนใจในอุตสาหกรรมนี้

 

เรื่องนี้เริ่มเป็นเรื่องเมื่อ กลุ่มทุนยักษ์จากตะวันออกกลาง อาทิ บริษัท ซาอุดีซีเมนต์ (SCC) กลุ่มบริษัท EA Juffali & Brother และกลุ่มบริษัท ดูไบเวิลด์ เดินทางมาดูลู่ทางการลงทุนในประเทศ ตามคำเชิญของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และตกเป็นข่าวอื้อฉาวเมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 20 พฤษภาคม อนุมัติให้กลุ่มบริษัท ดูไบเวิลด์ ศึกษาความเหมาะสมแนวทางการพัฒนาท่าเรือฝั่งทะเลอันดามันและสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงท่าเรือฝั่งอ่าวไทย (แลนด์บริดจ์) และต่อมาวันรุ่งขึ้น พ.ต.ท.ทักษิณนำคณะผู้บริหารบริษัท ซาอุดีซีเมนต์ กลุ่มบริษัท EA Juffali & Brother เดินทางไปจังหวัดสุพรรณบุรี ดูพื้นที่ปลูกข้าว โดยสื่อมวลชนอ้างว่าเป็นการเตรียมลงทุนทำนาปลูกข้าวส่งขายต่างประเทศ [1]

 

จากนั้นกระแสต่อต้านการลงทุนจากต่างชาติในอุตสาหกรรมข้าวไทยก็เริ่มขึ้น แต่แทบที่จะไม่มีใครให้รายละเอียดเรื่องที่ว่าการลงทุนนั้นมีลักษณะอย่างชัดเจนมากนัก นอกเหนือจาก 2 กรณีก็คือ หนึ่งการเข้ามาทำลายวิธีชาวนาไทย และสอง คือการเพิ่มผู้เล่นใหม่ในอุตสาหกรรม

 

ทำลายวิถีชาวนาไทย

จากการคาดการณ์ของสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รมว.เกษตรและสหกรณ์ เขาพบว่ามีความพยายามการใช้ตัวแทนหรือนอมินีใช้ประโยชน์จากที่นา โดยออกมาในรูปของการหลีกเลี่ยงการซื้อที่นา แต่จะอยู่ในรูปของการประกอบธุรกิจร่วมทุน โดยทุนใหญ่จากซาอุดิอาระเบียและสหรัฐฯ

 

ทั้งนี้สมศักดิ์ ได้ออกมาต่อต้านแนวคิดนี้อย่างเต็มที่ โดยกล่าวว่าทางกระทรวงเกษตรฯ ไม่เห็นด้วย และจะต่อต้านให้ถึงที่สุด เพราะแนวคิดดังกล่าวเป็นแนวคิดของนายทุนขายชาติที่มุ่งทำลายวิถีชาวนาไทย โดยกระทรวงเกษตรฯ เตรียมใช้กฎหมายคุ้มครองอาชีพคนไทย มาคัดค้าน สมศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า การเข้ามาลงทุนของนักธุรกิจต่างชาติ ควรเข้ามาลงทุนในรูปแบบของภาคอุตสาหกรรมมากกว่าเข้ามาทำลายภาคเกษตรกรไทย [2]

 

ต่อกรณีนี้นอกจาก รมว.เกษตรและสหกรณ์แล้ว หลายฝ่ายได้ให้ความเห็นดังนี้ [3]

 

นางกัญญา อ่อนศรี ประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอาชีพทางเลือก บ้านทัพไทย จ.สุรินทร์ ชาวนาที่ปลูกข้าวนาปีแบบอินทรีย์ กล่าวว่า เรื่องแบบนี้หัวอกชาวนาได้รับผลกระทบแน่นอน 100% เพราะเมื่อการทำนาเป็นเรื่องของธุรกิจแล้ว ย่อมหวังผลกำไรอย่างสูงสุดแน่นอน ทำทุกวิถีทางที่ทำให้ได้ผลผลิตมากที่สุด ทั้งใส่ปุ๋ยเคมีจำนวนมากเร่งผลผลิต ไม่สนใจสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ไม่สนใจประชาชนที่อยู่โดยรอบว่าจะได้รับสารพิษตกค้างหรือไม่ ดินจะเป็นอย่างไรต่อไป ไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเหมือนกับที่ชาวนาในพื้นที่ทำอยู่ทุกวันนี้ และทำให้ชาวนาหมดอาชีพ

 

นางกิมอั้ง พงษ์นารายณ์ ผู้ประสานสภาเครือข่ายองค์กรประชาชนเกษตรกรทำข้าวนาปรัง จ.ชัยนาท กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะมีบริษัทมาจัดการข้าว เพราะการทำนาของชาวนา ไม่ใช่เพียงอาชีพ แต่เป็นวัฒนธรรม ถ้าบริษัทเอกชนเข้ามาทำธุรกิจข้าว จะไม่เป็นแบบที่ชาวนาที่เป็นคนในพื้นที่ทำ จะหวังแต่กอบโกยให้ได้มากที่สุด ใช้สารเคมีอะไรก็ได้เพื่อให้ได้ผลผลิตมากสุด เพื่อผลกำไรสูงสุด และกระบวนการของการบีบขายที่ดินจะเกิดขึ้น และนายทุนก็จะมาซื้อที่ดิน อาชีพทำนาก็จะไม่ใช่ของชาวนาต่อไป แต่เป็นของนายทุนแทน

 

นายปราโมทย์ วานิชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า เป็นแนวคิดที่น่าอดสูและเป็นการตบหน้าตัวเอง เพราะสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลหลายยุคที่ผ่านมา ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการทำนาและปลูกข้าวของประเทศไทย

 

นายสุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า อาชีพทำนาปลูกข้าวเป็นอาชีพสงวนสำหรับคนไทย จึงไม่เคยคิดว่าจะมีใครไปดึงต่างชาติมาทำ เรื่องนี้ต้องไปถามนายประภัตร โพธสุธน ว่าคิดอะไรอยู่ เพราะท่านก็อยู่ในแวดวงอาชีพนี้มาทั้งชีวิต ย่อมรู้ดีว่าทำได้หรือไม

 

สรุปรวบยอดประเด็นการออกมาคัดค้านจากหลายๆ ฝ่าย จะเห็นได้ว่ามีแนวคิดชาตินิยมและชุมชนนิยมที่ปฏิเสธระบบการค้าเสรีจากหลายฝ่ายผสมโรงกัน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการยึดครองที่นาโดยชาวต่างชาติ  หรือมุมมองชุมชนนิยมจ๋าที่ให้ภาพว่า การทำนาของเกษตรกรไทยในปัจจุบันไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจเสรีนิยม การเข้ามาของผู้ลงทุนใหม่ๆ จะทำให้วิถีชีวิตชาวนาไทยเปลี่ยนไป

 

แต่เอาเข้าจริงแล้ว ถึงแม้ทุนข้ามชาติยังไม่เข้ามา แน่ใจหรือว่าในปัจจุบันนี้ชาวนาไทยไม่ได้มีปัญหา? แน่ใจหรือว่าวิถีชาวนาไทยยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป?

 

แม้แต่ภาพรวมอุตสาหกรรมนี้ สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล เองก็ยังได้กล่าวประเมินผิดพลาดว่าสถานการณ์ข้าวไทย ปี 2549-2550 มี 29.2 ล้านตันข้าวเปลือก แต่ปีนี้มีการผลิตถึง 31.4 ล้านตันข้าวเปลือก เป็นสิ่งที่บ่งบอกให้เห็นว่าเกษตรใช้พื้นที่ทำการเกษตรเพิ่มขึ้น ผลผลิตก็เพิ่มขึ้น [4]

 

ซึ่งเป็นข้อมูลที่ขัดแย้งกับผลวิจัยของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ให้ข้อมูลว่าผลผลิตข้าวในปี 2550/51 รวมทั้งประเทศมีประมาณ 29.902 ล้านตันข้าวเปลือก จากเนื้อที่ปลูก 66.95 ล้านไร่ โดยแยกเป็นข้าวนาปี 23.387 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 เนื้อที่เพาะปลูกข้าวนาปีอยู่ที่ระดับ 57.42 ล้านไร่ ลดลงร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการแปรสภาพพื้นที่ทำนาไปปลูกพืชชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะพืชพลังงาน [5]

 

รวมถึงการประเมินภาพรวมที่ผิดจะส่งผลต่อความเข้าใจผิดๆ ที่ว่าปัจจุบันนี้อุตสาหกรรมข้าวไทยไม่ได้ผูกติดกับการค้าเสรีในตลาดโลก ทั้งนี้สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็คือราคาข้าวในโลกถูกกำหนดราคาโดยตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโกหรือตลาดล่วงหน้าซีบีที

 

อย่าได้ปฏิเสธเลยว่าปัจจุบันนี้วิถีชาวนาไทยส่วนใหญ่ถูกทำลายไปแล้ว จุดประสงค์หลักก็คือการปลูกข้าวเพื่อการค้าขาย แต่กระนั้นชาวนาเองก็ยังประสบปัญหา ซึ่งเป็นปัญหาภายในอุตสาหกรรม ที่มีการผูกขาดโดยเฉพาะนายทุนไทยเอง

 

เพิ่มผู้เล่นใหม่ในอุตสาหกรรม

ประสิทธิ์ โพธสุธน ส.ว.สุพรรณบุรี ได้แถลงถึง กรณีประภัตร โพธสุธน เลขาธิการพรรคชาติไทย เชิญ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และนักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบียมาดูกระบวนการผลิตข้าวจนถูกหาว่าขายชาตินั้น ว่าในฐานะเป็น ส.ว.จังหวัดที่เป็นศูนย์กลางการทำนาและเป็นคนในครอบครัวโพธสุธน ขอชี้แจงว่า นายประภัตร ไม่ได้พยายามจะให้นายทุนต่างชาติมาทำนาแทนคนไทย แต่เป็นการตกลงซื้อล่วงหน้า โดยชาวนาจะขายได้ตันละ 15,000 บาท เป็นเวลา 5 ปี และจะขายปุ๋ยยูเรียให้เกษตรกรราคาตันละ 15,000 บาท [6]

 

ในกรณีนี้อาจจะมองได้ว่าเหมือนกับเป็นการทำเกษตรพันธะสัญญา (contract farming) แต่ปัจจุบันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในภาคอุตสาหกรรมการเกษตรทั้งหลายนั้น เกษตรพันธะสัญญานี้ได้แทรกซึมเข้าไปในหลายภาคส่วนแล้ว

 

ถ้าหากทุนข้ามชาติเข้ามาดำเนินกิจการในลักษณะนี้ จะพบได้ว่าจะเกิดความขัดแย้งกับ ผู้ค้าคนกลาง และรัฐ เนื่องจากผู้ค้าคนกลางและรัฐนั้นคือผู้กำหนดราคาสินค้าขั้นต้น (จากนาข้าว, หรือจากโรงสี) คนเหล่านี้ไม่ใช่หรือที่ทำให้ชาวนาไทยยากจนอยู่ในปัจจุบัน

 

ตลาดการค้าข้าวในประเทศไทย แม้โดยภาพรวมแล้วจะเป็นการค้าเสรีที่มีการแข่งขัน แต่ในความเป็นจริงแล้วการผูกขาดโดยคนบางกลุ่มยังมีอยู่ โดยเฉพาะรัฐและพ่อค้าคนกลางรายเก่าที่มีอิทธิพลในตลาด ทั้งนี้ข้าวในด้านหนึ่งเปรียบเสมือนเป็นพืชเศรษฐกิจในระบบค้าขาย แต่อีกด้านหนึ่งมันถูกผูกติดไว้กับเรื่องยุทธศาสตร์ความมั่นคง คือเป็นสินค้ายุทธปัจจัยและอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติการค้าข้าว พ.. 2489 ทำให้รัฐมีหน้าที่เข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด

 

ในตลาดค้าข้าวนั้นจึงไม่ใช่แค่ว่า คุณมีทุนพอสมควรแล้วจะสามารถลงไปแข่งขันกับรายที่มีอยู่แล้วได้อย่างสะดวกโยธิน

 

โดยผู้มีบทบาทในการค้าข้าวในประเทศได้แก่ [7]

 


  • โรงสี ทำหน้าที่หลักในการแปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวสารเพื่อส่งต่อไปขายให้กับผู้บริโภค ทั้งนี้รัฐมีการกำหนดอัตราแปลงสภาพข้าวไว้ที่อัตราสูงสุด 42% (คือข้าวเปลือก 100 กรัม เมื่อผ่านกระบวนการสีแล้วจะได้ข้าวสารเต็มเมล็ดหรือต้นข้าว 42 กรัม) ถ้าต่ำกว่านั้นจะมีการหักตามสัดส่วนที่ลดลง แต่หากสูงกว่าอัตราที่กำหนดกลับไม่มีการเพิ่มราคาให้กับชาวนา ด้วยเหตุนี้ชาวนาจึงขาดแรงจูงใจในการปรับปรุงคุณภาพข้าว เนื่องจากเห็นว่าส่วนที่เพิ่มขึ้นเป็นผลกำไรของโรงสีเพียงฝ่ายเดียว

 


  • พ่อค้าส่ง เป็นพ่อค้าที่รับซื้อข้าวจากโรงสีครั้งละมากๆ เพื่อนำมาจำหน่ายให้แก่พ่อค้าปลีก หรือเพื่อส่งขายเป็นวัตถุดิบให้กับภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้พ่อค้าส่งยังต้องทำหน้าที่ให้ข่าวสารการตลาดแก่พ่อค้าปลีก และต้องมีโกดังเก็บสินค้า รวมถึงมีทุนสูงพอสมควร

 


  • พ่อค้าปลีก คือพ่อค้าที่ซื้อข้าวสารจากพ่อค้าส่งเพื่อนำมาขายให้แก่ผู้บริโภค

 


  • หยง หรือ นายหน้า คือบุคคลหรือบริษัทที่ทำหน้าที่ขายข้าวให้แก่พ่อค้าส่งและพ่อค้าส่งออกแทนโรงสี โดยไม่ต้องซื้อข้าวมาเป็นกรรมสิทธิ์ของตน แต่จะได้รับอำนาจจากโรงสีในการนำข้าวตัวอย่างมาเสนอขายและมีอำนาจในการเจรจาต่อรองกับผู้ซื้อ โดยรับค่านายหน้าของราคาข้าวที่ขายได้ด้วย

 


  • ผู้ส่งออก คือพ่อค้าที่ด้านหนึ่งต้องเจรจาเพื่อขายข้าวให้กับผู้ซื้อในต่างประเทศ อีกด้านหนึ่งก็ต้องรวบรวมข้าวในประเทศเพื่อเตรียมส่งออก โดยติดต่อซื้อข้าวจากโรงสีโยตรงหรือซื้อผ่านนายหน้า(หยง) อย่างไรก็ดี ผู้ส่งออกไทยหลายรายได้ขยายธุรกิจเพื่อทำธุรกรรมเกี่ยวกับข้าวแบบครบวงจร คือ การลงทุนทำโรงสีและโรงงานผลิตข้าวนึ่ง

 

เอาเรื่องการลงทุนจากนายทุนข้ามชาติไว้ก่อน เพราะเขายังไม่มา มาดูถึงสภาพที่นายทุนไทยกำลังเป็นตัวเองในอุตสาหกรรมนี้ ชาวนาประสบปัญหาไหม?

 

ซึ่งจะพบได้ว่า ถึงแม้วิกฤตราคาน้ำมันทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้นตามไปด้วย ราคาข้าวสารในตลาดโลก 1,200-1,300 ดอลลาร์ หรือ 38,000 - 41,275 บาทต่อตัน (อัตราแลกเปลี่ยนคิดที่ 31.75 บาทต่อดอลลาร์) ส่วนราคาข้าวเปลือกในประเทศที่ชาวนาได้รับ 350-400 ดอลลาร์ หรือ 11,000-13,000 บาทต่อตัน เมื่อเทียบส่วนแบ่งจากราคาของผู้ที่ได้รับในสายการผลิตข้าว ระหว่างชาวนาต่อพ่อค้าส่งออกและโรงสี จะได้สัดส่วน 30:70 หมายความว่า ราคาข้าว 100 บาท ชาวนาจะได้ 30 บาท ส่วนพ่อค้าส่งออกและโรงสีจะได้ 70 บาท [8]

 

วิธีการแก้ไขปัญหาของชาวนาที่ได้รับส่วนแบ่งจากหยาดเหงื่อของตนเองน้อยกว่าโรงสี, พ่อค้าคนกลาง, นายหน้า และผู้ส่งออก ก็คือการเพิ่มการแข่งขัน เพิ่มผู้เล่นใหม่ๆ เข้าไป ไม่ว่าจะเป็นทุนไทยหรือทุนข้ามชาติ แต่ควรมีกฎระเบียบข้อบังคับที่เอื้อต่อการแข่งขัน การเก็บภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย การใส่ใจต่อสังคม เป็นต้น เพราะสิ่งเหล่านี้คือข้อสำคัญในระบบเศรษฐกิจเสรี

 

โดยเฉพาะในกรณีของผู้ส่งออก ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่สามารถกำหนดราคาข้าวทั้งในและนอกประเทศได้ พบว่าการส่งออกข้าวของไทยถูกผูกขาดเพียงไม่กี่บริษัท

 

เมื่อปี 2550 ที่ผ่านมา 10 บริษัทแรกที่ส่งออกข้าวมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มนครหลวงค้าข้าว 1,671,783 ตัน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 17.60% ของการส่งออกรวมทั้งประเทศปี 2550 ที่มียอดส่งออกรวม 9,497,105 ตัน กลุ่มเอเชียโกลเด้นไรซ์ 1,530,222 ตัน สัดส่วน16.11% กลุ่มข้าวไชยพร 689,213 ตัน สัดส่วน 7.26% กลุ่มพงษ์ลาภ 523,633 ตัน สัดส่วน 5.51% กลุ่มไทยฟ้า 389,293 ตัน สัดส่วน 4.10% กลุ่มกมลกิจ 380,629 ตัน สัดส่วน 4.01 % กลุ่มไรซ์แลนด์อินเตอร์เนชั่นแนล 379,300 ตัน สัดส่วน 3.99% กลุ่มไทยมาพรรณเทรดดิ้ง 362,615 ตัน สัดส่วน 3.82% กลุ่ม ซี.พี.อินเตอร์เทรด 357,537 ตัน สัดส่วน 3.76% กลุ่มเจียเม้ง 312,900 ตัน สัดส่วน 3.29% [9]

 

ทั้งนี้ 10 บริษัทส่งออกรายใหญ่ที่ได้กล่าวไปนั้น มีปริมาณการส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 70% ของปริมาณการส่งออกทั้งประเทศ

นอกจากนี้พวกเขายังคงมีอิทธิพลต่อตลาดข้าวในประเทศ และพยายามที่จะทำกำไรให้ได้มากที่สุดทั้งในและนอกประเทศ ล่าสุดมีความพยายามโจมตีรัฐบาลในช่วงที่ขายข้าวสารแก่ชาวเมืองในราคาถูก และต่ำกว่าราคาข้าวส่งออกถึง 10-20% ว่าเป็นการแทรกแซงกลไกตลาด ทำให้ราคาข้าวชาวนาตกต่ำ

 

โดยธนินท์ เจียรวนนท์ ซึ่งเป็นนายทุนใหญ่การเกษตรเครือ ซี.พี. และในธุรกิจส่งออกข้าวนี้มี ซี.พี. อินเตอร์เทรด ร่วมวงไพบูลย์ ได้กล่าวโจมตีการกระทำเช่นนี้ของรัฐบาลว่า ทำให้ราคาข้าวชาวนาตกต่ำ

 

แต่กลุ่มผูกขาดในอุตสาหกรรมข้าว ต้องการให้ราคาข้าวสารในประเทศสูงเท่ากับราคาข้าวสารต่างประเทศ  พร้อมทั้งขู่กันไม่ให้รัฐบาลเสนอใครเข้ามาแย่งการค้าข้าวที่พวกตนผูกขาดอยู่ เพื่อจะได้รวบกำไรจากการขายข้าวในประเทศ 9 ล้านตัน และการขายข้าวในต่างประเทศอีก 9 ล้านตัน เป็น 18 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าที่มหาศาล

 

ข้าวจำนวน 18 ล้านตัน ซึ่งมีมูลค่ารวม 21,600-23,400 ล้านดอลลาร์ หรือ 685,800-743,000 ล้านบาท เมื่อคิดสัดส่วนการแบ่งผลประโยชน์จากราคาข้าวเปลือกและข้าวสารข้างต้น ชาวนาจะได้ส่วนแบ่ง 30% เป็นเงิน 214,320 ล้านบาท เฉลี่ยครอบครัวละ 21,432 บาทต่อปี ส่วนพ่อค้าข้าวที่มีอยู่ 10 ราย จะได้ส่วนแบ่ง 70% เป็นเงิน 500,000 ล้านบาท เฉลี่ยรายละถึง 50,000 ล้านบาท [10]

 

ดังนั้นการเข้ามาของผู้เล่นใหม่ๆ ที่มีทุนสูงอย่างทุนข้ามชาติ รับซื้อในราคาสูงกว่าและส่งออกไปยังต่างประเทศโดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางไทย หรือทุนเก่าแก่ของไทยในตลาดค้าข้าว พวกเขาย่อมประสบกับปัญหา …ไม่ใช่ชาวนาที่จะประสบปัญหาดังคำกล่าวอ้างชาตินิยมมอมเมา เพ้อฝันไม่มองความจริงของสังคม

 

การต่อต้านทุนข้ามชาติในอุตสาหกรรมข้าว จงอย่าเอาชาวนามาอ้าง เพราะมันเป็นเพียงการปกป้องทุนที่ผูกขาดในอุตสาหกรรมนี้อยู่แล้ว และก็เป็นทุนสัญชาติเดียวกับชาวนาไทยนี่แหละ! ที่พยายามเหยียบชาวนาไว้ใต้ฝ่าเท้าไม่ให้ขยับตัวงอกเงยไปไหน

 

 

………

อ้างอิง

 

[1] ไทยโพสต์ 25 พฤษภาคม 2551 - NGOจับตาส่ง 'นอมินี' ทำนา

 

[2] ผู้จัดการออนไลน์ 23 พฤษภาคม 2551 - กษ.ไม่เห็นด้วยอย่างแรง ปล่อยต่างชาติลงทุนทำนาในไทย

 

[3] มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) - ลำดับสถานการณ์วิกฤตข้าวไทย ปี 2551 วิกฤตชาวนา-ผู้บริโภค: โอกาสของทองใคร?

 

[4] ไทยโพสต์ 10 มิถุนายน 2551 - อาหรับจ้องฮุบที่นา 130 ไร่ไทยใกล้ทาส

 

[5] ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, บจ. 25 มีนาคม 2551 - ราคาข้าวพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์: ปัจจัยตลาดโลกเอื้อ...ผู้ส่งออกเผชิญความเสี่ยง

 

[6] พิมพ์ไทย 27 พฤษภาคม 2551 - "โพธสุธน" เดือดข้อหา "ขายชาติ"ขู่แฉเกษตรฉาว

 

[7] ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ และคณะ กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์, พ.ศ.2548 - การเมืองเรื่องข้าว ภายใต้อำนาจรัฐทุนผูกขาด

 

[8] โลกวันนี้ 12 มิถุนายน 2551 - คอลัมน์: โต๊ะกลมระดมความคิด: นิมิตใหม่ชาวนาไทย ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมข้าว

 

[9] เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ 18 พฤษภาคม 2551 - พ่อค้าข้าวพุงปลิ้น! ฟันกำไร 6พัน / ตัน ออร์เดอร์มาเลเซีย

 

[10] โลกวันนี้ 12 มิถุนายน 2551 - คอลัมน์: โต๊ะกลมระดมความคิด: นิมิตใหม่ชาวนาไทย ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมข้าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท